ThaiPublica > เกาะกระแส > คลังปลื้ม “โครงการพัฒนาคุณภาพชีวิตฯ” ช่วยชาวบ้านแก้จนสำเร็จกว่าล้านราย เตรียมงบฯ 18,000 ล้าน ฝึกอบรมต่อ 6 เดือน

คลังปลื้ม “โครงการพัฒนาคุณภาพชีวิตฯ” ช่วยชาวบ้านแก้จนสำเร็จกว่าล้านราย เตรียมงบฯ 18,000 ล้าน ฝึกอบรมต่อ 6 เดือน

14 มกราคม 2019


นายอภิศักดิ์ ตันติวรวงศ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง

นายอภิศักดิ์ ตันติวรวงศ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เปิดเผยถึงความคืบหน้าของโครงการพัฒนาคุณภาพชีวิตผู้มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐว่า หลังจากกระทรวงการคลังเปิดให้ผู้ถือบัตรสวัสดิการแห่งรัฐเข้าร่วมโครงการฝึกอบรมอาชีพเพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิต มีผู้แสดงความประสงค์เข้าร่วมโครงการนี้ประมาณ 4,145,397 ราย ณ เดือนธันวาคม 2561 มีผู้ถือบัตรฯ ที่ผ่านการฝึกอบรมแล้ว 2,607,195 ราย ในจำนวนนี้เป็นกลุ่มคนที่มีรายได้ต่ำกว่า 30,000 บาท/ปี หรือ เป็นกลุ่มคนที่อยู่ใต้เส้นความยากจนประมาณ 2,053,569 คน หลังจากที่ผ่านการฝึกอบรมและไปประกอบอาชีพมีรายได้เพิ่มขึ้น ปรากฏว่าเหลือผู้ที่มีรายได้ต่ำกว่า 30,000 บาท/ปี ประมาณ 1,040,842 ราย ลดลง 1,012,727 ราย หรือลดลง 49.31% ของจำนวนกลุ่มคนที่อยู่ใต้เส้นความยากจน

สำหรับกลุ่มคนที่ผ่านการฝึกอบรม แต่ยังมีรายได้ต่ำกว่า 30,000 บาท/ปี ได้มอบหมายให้ธนาคารออมสินและธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธกส.) ไปพัฒนาต่อจนกว่าจะมีรายได้มากกว่า 30,000 บาท/ปี ส่วนกลุ่มคนที่มีรายได้ 30,000-100,000 บาท/ปี ก่อนเข้ารับการฝึกอบรมมีจำนวน 553,626 ราย หลังจากที่ผ่านการฝึกอบรมและไปประกอบอาชีพ พบว่ากลุ่มนี้มีจำนวน 1,451,237 ราย เพิ่มขึ้น 897,611 ราย หรือเพิ่มขึ้น 162.13% และที่น่าสนใจหลังจากที่ผ่านการฝึกอบรมมีกลุ่มคนที่มีรายได้เกิน 100,000 บาท/ปี จำนวน 115,116 ราย เพิ่มขึ้นมาจากเดิมไม่มี

“มาตรการพัฒนาคุณภาพชีวิตผู้มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ เป็นโครงการมีประโยชน์มาก ช่วยยกระดับรายได้ของคนจนให้หลุดพ้นจากความยากจน แต่สิ้นสุดไปแล้วในช่วงเดือนธันวาคม 2561 ดังนั้น ทางกระทรวงการคลังจึงเตรียมขยายโครงการนี้ต่อไปอีก 6 เดือน เริ่มตั้งแต่เดือนมกราคมไปจนถึงเดือนมิถุนายน 2562 ซึ่งเป็นช่วงที่รัฐบาลชุดใหม่เข้าบริหารประเทศ ผู้ที่ถือบัตรฯ รายใดยังไม่ได้เข้ารับการอบรม ขอให้สมัครเข้ามา ส่วนผู้ที่ผ่านการอบรมไปแล้วสามารถเข้ารับการอบรมต่อไปได้อีก ทางรัฐบาลยังคงให้การสนับสนุนค่าใช้จ่ายเดือนละ 200 บาท สำหรับผู้ที่มีรายได้ไม่เกิน 30,000 บาท และเดือนละ 100 บาท สำหรับผู้ที่มีรายได้ 30,000-100,000 บาทต่อไป ใช้งบประมาณสนับสนุนเดือนละ 3,000 ล้านบาท เป็นระยะเวลา 6 เดือน เมื่อสิ้นสุดโครงการนี้แล้วคงต้องรอรัฐบาลชุดต่อไปจะสานต่อโครงการนี้หรือไม่” นายอภิศักดิ์กล่าว

นายอภิศักดิ์กล่าวว่า นอกจากนี้ ทางกระทวงการคลังยังเตรียมโครงการรณรงค์ให้คนชราที่มีรายได้ดีสละสิทธิรับเบี้ยยังชีพคนชรา ซึ่งปัจจุบันรัฐบาลมีภาระในการจัดงบประมาณมาจ่ายเป็นเบี้ยยังชีพให้กับผู้สูงอายุประมาณ 7-8 ล้านคน ในจำนวนนี้มีผู้สูงอายุมาลงทะเบียนขอรับบัตรสวัสดิการแห่งรัฐประมาณ 3 ล้านคน ซึ่งเป็นผู้สูงอายุที่มีรายได้น้อยจริงๆ และได้รับเงินช่วยเหลือจากรัฐบาลเดือนละ 600 บาท อาจไม่เพียงพอ หากมีผู้สูงอายุที่มีรายได้ดียอมสละสิทธิรับเบี้ยชีพคนชรา ก็จะทำให้กองทุนชราภาพมีงบประมาณเพิ่มขึ้น เพื่อที่จะนำไปช่วยเหลือคนชรามีรายได้น้อยให้ได้รับเบี้ยยังชีพเดือนละ 1,000 บาท

ขณะนี้กระทรวงการคลังได้รับความร่วมมือจากสมาคมธนาคารไทย เตรียมออกแคมเปญ ประชาสัมพันธ์ผ่านสาขาธนาคารพาณิชย์ทุกแห่ง โฆษณาผ่านตู้เอทีเอ็ม เพื่อรณรงค์ให้ผู้สูงอายุที่มีรายได้ดียอมสละสิทธิรับเบี้ยยังชีพคนชรา คาดว่าเริ่มในเดือนกุมภาพันธ์-มีนาคม 2562 ทางกระทรวงคลังได้เตรียมเหรียญพระคลัง หรือ “เจ้าพ่อคลัง” แจกแก่ผู้สูงอายุที่สละสิทธิ หากมีความจำเป็นต้องใช้เงินสามารถยื่นความจำนงของกลับมารับเบี้ยยังชีพคนชราได้เหมือนเดิม

  • “รัฐบาลลุงตู่” 4 ปี 4 แสนล้าน แจกเงินอุดหนุนประชาชนกว่า 17 ล้านราย
  • “ยอมรับว่าที่ผ่านมารัฐบาลมีการใช้จ่ายเงินงบประมาณจำนวนมากเพื่อแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำทางสังคม แต่ยังยึดมั่นวินัยการเงินการคลังค่อนข้างสูง หลายประเทศชมเชยประเทศไทยมีฐานะการคลังดีที่สุดในตลาดประเทศเกิดใหม่ ถือว่าอยู่ในระดับที่น่าพอใจ ขณะเดียวกัน รัฐบาลก็มีการปฏิรูปโครงสร้างภาษี เพื่อเพิ่มประสิทธิในการจัดเก็บรายได้ มีการผลักดันกฎหมายภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง และภาษีผู้ค้าออนไลน์ แต่ไม่ได้จัดเก็บในอัตราที่สูงจนเป็นภาระประชาชนและผู้ประกอบการรายย่อย” นายอภิศักดิ์กล่าว