ThaiPublica > เกาะกระแส > ครม.อนุมัติเยียวยากว่า 2.25 แสนล้าน จ่าย “เราชนะ-ม.33 เรารักกัน” เพิ่มคนละ 2,000 บาท

ครม.อนุมัติเยียวยากว่า 2.25 แสนล้าน จ่าย “เราชนะ-ม.33 เรารักกัน” เพิ่มคนละ 2,000 บาท

5 พฤษภาคม 2021


พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม
ที่มาภาพ : www.thaigov.go.th

ครม.อนุมัติวงเงินเยียวยาประชาชนกว่า 2.25 แสนล้านบาท จ่าย “เราชนะ-ม.33 เรารักกัน” เพิ่มคนละ 2,000 บาท – คนละครึ่งอีก 3,000 บาท พร้อมแจก e-Voucher อีก 5,000-7,000 บาท

เมื่อวันที่ 5 พฤษภาคม 2564 ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี ได้มีมติเห็นชอบมาตรการบรรเทาภาระค่าใช้จ่ายของประชาชนในระยะเร่งด่วนจะมี 2 มาตรการ คือ 1. โครงการเราชนะ มีกลุ่มเป้าหมายประมาณ 32.9 ล้านคน ภายใต้กรอบวงเงิน 67,000 ล้านบาท โดยขยายวงเงินช่วยเหลือประชาชนเพิ่มอีกสัปดาห์ละ 1,000 บาท เป็นระยะเวลา 2 สัปดาห์ โดยมีระยะเวลาการใช้จ่ายเงินสิ้นสุดในวันที่ 30 มิถุนายน 2564 และ 2. โครงการ ม33 เรารักกัน มีกลุ่มเป้าหมาย 9.27 ล้านคน ภายใต้กรอบวงเงินรวม 18,500 ล้านบาท โดยขยายวงเงินช่วยเหลือผู้ประกันตน ม.33 อีกสัปดาห์ละ 1,000 บาท เป็นเวลา 2 สัปดาห์ โดยมีระยะเวลาการใช้จ่ายเงินสิ้นสุดในวันที่ 30 มิถุนายน 2564

นอกจากนี้ที่ประชุม ครม.ยังมีมติเห็นชอบมาตรการบรรเทาภาระค่าใช้จ่ายของประชาชนในระยะต่อไป หลังจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัส โควิด-19 ระลอกใหม่คลี่คลายลง (เมษายน 2564) อีก 2 มาตรการ ภายใต้กรอบวงเงินกู้เบื้องต้น 140,000 ล้านบาท มีรายละเอียดดังนี้
1.โครงการเพิ่มกำลังซื้อให้กับผู้มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ ระยะที่ 3 กลุ่มเป้าหมาย 13.65 ล้านคน โดยการให้ความช่วยเหลือลดภาระค่าครองชีพให้แก่ผู้มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐเพิ่มเติมเดือนละ 200 บาท ระยะเวลา 6 เดือน (กรกฎาคม-ธันวาคม 2564)
2.โครงการเพิ่มกำลังซื้อให้กับผู้ที่ต้องการความช่วยเหลือเป็นกรณีพิเศษ มีกลุ่มเป้าหมาย 2.5 ล้านคน โดยให้ความช่วยเหลือด้วยการลดภาระค่าครองชีพให้แก่ผู้ที่ต้องการความช่วยเหลือพิเศษ เพิ่มเติมเดือนละ 200 บาท เป็นระยะเวลา 6 เดือน (กรกฎาคม-ธันวาคม 2564)
3. โครงการคนละครึ่ง ระยะที่ 3” เพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจจนถึงฐานราก เพิ่มอุปสงค์ในการบริโภคภายในประเทศ โดยลดภาระค่าใช้จ่ายขงประชาชนในส่วนของค่าอาหาร เครื่องดื่ม และสินค้าทั่วไป ในลักษณะร่วมจ่าย (Co-pay) ร้อยละ 50 ของราคาสินค้า ระหว่างรัฐบาลกับประชาชนผู้ได้สิทธิตามโครงการไม่เกิน 150 บาทต่อคนต่อวัน หรือไม่เกิน 3,000 บาท คาดว่าจะมีประชาชนเข้าร่วมโครงการ ฯประมาณ 31 ล้านคน
4. โครงการ “ยิ่งใช้ยิ่งได้” โดยรัฐจะสนับสนุน e-Voucher ให้กับประชาชนที่ใช้จ่ายซื้อสินค้า อาหาร เครื่องดื่มและค่าบริการกับผู้ประกอบการที่จดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มไม่เกิน 5,000 บาทต่อวัน สูงสุดไม่เกิน 7,000 บาทต่อคน โดยเมื่อประชาชนใช้จ่ายดังกล่าวจะได้รับการสนับสนุน e-Voucher จากภาครัฐ ในช่วงเดือนกรกฎาคม-กันยายน 2564 และสามารถนำ e-Voucher จากภาครัฐไปใช้จ่ายในเดือนสิงหาคม-ธันวาคม 2564 คาดว่าจะมีประชาชนร่วมโครงการ 31 ล้านคนเช่นกัน

นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง

ด้านนายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า นอกจากนี้ที่ประชุม ครม.ยังมีมติเห็นชอบมาตรการด้านการเงินเพื่อช่วยเหลือและบรรเทาผลกระทบการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) ระลอกใหม่ โดยมีรายละเอียดดังนี้

1. มาตรการสินเชื่อสู้ภัย COVID-19 วงเงินรวม 20,000 ล้านบาท เพื่อเพิ่มสภาพคล่องชั่วคราวในการดำรงชีวิตให้แก่ประชาชนและบรรเทาความเดือดร้อนสำหรับผู้ได้รับผลกระทบจาก COVID-19 ทั้งผู้ที่มีรายได้ประจำผู้ประกอบอาชีพอิสระผู้ประกอบการรายย่อยรวมไปถึงเกษตรกรรายย่อย โดยธนาคารออมสินและธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร หรือ ธ.ก.ส. ให้สินเชื่อแก่ประชาชนรายละ 10,000 บาท ด้วยหลักเกณฑ์ที่ผ่อนปรนกว่าสินเชื่อปกติดอกเบี้ยร้อยละ0.35ต่อเดือนเป็นระยะเวลา 3 ปีปลอดชำระทั้งเงินต้นและดอกเบี้ยใน 6 เดือนแรก

2. มาตรการพักชำระหนี้ของสถาบันการเงินเฉพาะกิจ โดยให้สถาบันการเงินเฉพาะกิจขยายระยะเวลาพักชำระหนี้โดยการพักชำระเงินต้นให้แก่ลูกหนี้ตามความสมัครใจออกไปจนถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2564 เพื่อลดภาระการชำระหนี้เป็นการชั่วคราวให้แก่ลูกหนี้หรือนำเงินที่จะต้องชำระหนี้ไปเป็นสภาพคล่องเพื่อใช้จ่ายในชีวิตประจำวันหรือประกอบธุรกิจในช่วงที่มีความไม่แน่นอนสูงโดยจะต้องไม่เป็นการเพิ่มภาระให้แก่ลูกหนี้มากจนเกินไปและพิจารณาจัดลำดับความสำคัญของลูกหนี้ที่ได้รับผลกระทบตั้งแต่มากไปหาน้อยเพื่อดูแลลูกหนี้ในแต่ละกลุ่มได้อย่างเหมาะสมโดยคำนึงถึงประโยชน์ของลูกหนี้เป็นสำคัญ

ทั้งนี้ กระทรวงการคลังขอความร่วมมือให้ผู้ให้บริการทางการเงินอื่นๆ เช่น Non-bank เป็นต้น เร่งให้ความช่วยเหลือลูกหนี้ โดยคำนึงถึงความสามารถในการชำระหนี้ของลูกหนี้เป็นหลัก ทั้งนี้ อาจให้ความสำคัญกับลูกหนี้ที่ได้รับผลกระทบตั้งแต่มากไปน้อยในลักษณะเช่นเดียวกันกับสถาบันการเงินเฉพาะกิจต่อไป

นอกจากนี้ ยังมีมาตรการด้านการเงินที่อยู่ระหว่างดำเนินการได้แก่ 1) พระราชกำหนดการให้ความช่วยเหลือและฟื้นฟูผู้ประกอบธุรกิจที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 พ.ศ. 2564 ซึ่งประกอบด้วยมาตรการสินเชื่อฟื้นฟูและมาตรการพักทรัพย์พักหนี้ 2) โครงการค้ำประกันสินเชื่อ PGS9 ของบรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม 3) มาตรการช่วยเหลือลูกหนี้ที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์ระบาดของโรคโควิด 19 ระลอกใหม่ ของธนาคารแห่งประเทศไทย 4) มหกรรมไกล่เกลี่ยหนี้บัตรเครดิตและสินเชื่อส่วนบุคคล 5) การปรับวิธีคำนวณดอกเบี้ยผิดนัดชำระหนี้ และ 6) การแก้ไขเพิ่มเติมอัตราดอกเบี้ยในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

กระทรวงการคลังจะมีการติดตามสถานการณ์การแพร่ระบาดของ COVID-19 อย่างใกล้ชิดและพร้อมที่จะออกมาตรการที่เหมาะสมมาดูแลประชาชนและผู้ประกอบการที่ได้รับผลกระทบอย่างทันท่วงที รวมไปถึงการออกมาตรการเพื่อดูแลและฟื้นฟูเศรษฐกิจไทยเมื่อสถานการณ์ต่าง ๆได้คลี่คลายลงในระยะต่อไป