ThaiPublica > ประเด็นสืบสวน > “รัฐบาลลุงตู่” 4 ปี 4 แสนล้าน แจกเงินอุดหนุนประชาชนกว่า 17 ล้านราย

“รัฐบาลลุงตู่” 4 ปี 4 แสนล้าน แจกเงินอุดหนุนประชาชนกว่า 17 ล้านราย

4 มกราคม 2019


พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.)
ที่มาภาพ: www.thaigov.go.th

4 ปี ของรัฐบาลพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีกับการบริหารประเทศ ภายใต้สโลแกน “มั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน” เพื่อยกระดับเศรษฐกิจฐานราก รัฐบาลได้ออกนโยบาย และมาตรการต่างๆ เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจไทยที่ชะลอตัวตั้งแต่ปี 2557 จากวิกฤตการเมืองและปัญหาด้านราคาผลิตทางการเกษตรตกต่ำ พ่วงกับปัญหาจากภาวะเศรษฐกิจโลก ด้วยการอัดฉีดงบประมาณ อนุมัติวงเงิน 473,968 ล้านบาท (รวบรวมโดยไทยพับลิก้า) เฉลี่ยปีละกว่า 1 แสนล้านบาทส่งตรงแก่ประชาชนฐานรากกว่า 17 ล้านราย ทั้งเกษตรกร ผู้มีรายได้น้อย รวมทั้งการเพิ่มเบี้ยบำนาญให้แก่ข้าราชการเกษียณ ซึ่งวงเงินทั้งหมดไม่รวมค่าดำเนินโครงการ หรือเงินชดเชยต่างๆ แก่หน่วยงานที่ดำเนินการ

4 ปี 3 แสนล้าน อุดหนุนเกษตรกร

โดยงบประมาณส่วนใหญ่ที่มีการอนุมัติอยู่ที่ภาคเกษตร เป็นวงเงินรวมกว่า 300,198 ล้านบาท เนื่องจากกว่าครึ่งของเศรษฐกิจฐานรากประเทศอยู่ในภาคเกษตร ตั้งแต่ปี 2557 ที่รัฐบาลเริ่มเข้าบริหารประเทศ กำลังซื้อของภาคครัวเรือนถูกจำกัดจากรายได้เกษตรกรที่อ่อนแอจากราคาสินค้าเกษตรที่ตกต่ำ และภาระหนี้ที่อยู่ในระดับสูง ตามด้วยผลกระทบจากภัยแล้งในปี 2558 ในช่วงปีกว่าที่รัฐบาลเข้าบริหารประเทศจึงมีการอนุมัติวงเงินเพื่อจ่ายให้แก่เกษตรกร รวม 71,426 ล้านบาท

ในปี 2559 แม้ผลิตภาพด้านการเกษตรจะค่อยๆ ฟื้นตัว แต่เหตุอุทกภัยจากพายุตาลัส พายุเซินกา และพายุซูรี ที่เกิดขึ้นปลายปีต่อเนื่องตลอดปี 2560 โดยมีรายงานว่าเกิดความเสียหายต่อประชาชนและเกษตรกรคิดเป็นพืชผลกว่า 1,095,302 ไร่ ด้านประมง 96,114 ตารางเมตร และสร้างความเสียหายให้กับด้านปศุสัตว์ 8,882,014 ตัว

ดังนั้นนอกจากเงินเยียวยาผู้ประสบอุทกภัยที่ต้องได้รับครัวเรือนละ 3,000 บาทและเงินช่วยเหลือเกษตรกรที่ได้รับความเสียหายอย่างสิ้นเชิง ตลอดทั้งปีรวม 13,934 ล้านบาท (ไม่นำมาคำนวณรวม) รัฐบาลนำโดยกระทรวงเกษตรและสหกรณ์จึงได้สนับสนุนเงินให้แก่เกษตรกรครัวเรือนละ 5,000 บาท วงเงินรวม 2,295 ล้านบาท เพื่อดำเนินโครงการ 9101 ตามรอยเท้าพ่อ ภายใต้ร่มพระบารมีเพื่อการการเกษตรกรที่ยั่งยืน โดยการฟื้นฟูอาชีพด้านการเกษตร ที่ประสบอุทกภัย ซึ่งโครงการดังกล่าวมีการร้องเรียนเรียนและกระแสข่าวการทุจริต นายกรัฐมนตรีคาดโทษหนัก จนกระทรวงเกษตรฯ ต้องเร่งตรวจสอบ

ขณะเดียวกันปัญหาราคายางพาราตกต่ำ และผลผลิตเกินความต้องการของตลาด ยังทำให้รัฐบาลต้องออกมาตรการเพื่อกระตุ้นราคายาง โดยการรับซื้อยางพาราจากเกษตรกรโดยตรงจำนวน 100,000 ตัน เป็นวงเงินกว่า 5,700 ล้านบาท และยังคงต้องจ่ายเงินช่วยเหลือเกษตรกรผู้ปลูกข้าวผ่านโครงการต่างๆ อย่างต่อเนื่อง ทั้งเงินช่วยเหลือด้านปัจจัยการผลิต การปลดหนี้ให้เกษตรที่มีเหตุผิดปกติ ตลอดจนเงินจ่ายขาดสำหรับจูงใจเกษตรกรเข้าร่วมโครงการสินเชื่อเพื่อชะลอการขายข้าวนาปี ทำให้ในปี 2559-2560 วงเงินที่รัฐบาลอนุมัติเพื่อเบิกจ่ายให้แก่เกษตรกรคิดเป็นจำนวน 129,136 ล้านบาทท

ในปี 2561 แม้รัฐบาลจะมุ่งเป้าในการให้ความช่วยเหลือแก่ผู้มีรายน้อยโดยการจัดทำรัฐสวัสดิการ ผ่านนโยบาย “บัตรสวัสดิการแห่งรัฐ” ซึ่งเป็นนโยบายสวัสดิการแบบเจาะจงเป็นครั้งแรกของประเทศไทย แต่ปัญหายางพาราราคาตกต่ำยังไม่สามารถคลี่คลายได้ ประกอบกับพืชเกษตรสำคัญอื่นต่างเริ่มประสบปัญหา อาทิ ปาล์มน้ำมัน และยาสูบ ขณะเดียวกันมีการเพิ่มวงเงินจ่ายขาดช่วยเหลือค่าเก็บเกี่ยวแก่ชาวนาจาก 1,200 บาทต่อไร่ เป็น 1,500 บาทต่อไร่ วงเงินอนุมัติเพื่อจ่ายให้แก่เกษตรกรจึงยังคงสูงถึง 99,635 ล้านบาท แม้บางมาตรการ อาทิ โค่นยางแจกฟรี 4,000 บาท จะได้รับการวิพากษ์วิจารณ์ถึงความเหมาะสมอย่างหนัก และมีกระแสโจมตีรัฐบาลถังแตก นายกรัฐมนตรี อย่าง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ก็ไม่หวั่นพร้อมยืนยันสถานะการคลังยังแข็งแรง

เพิ่มเบี้ยคนพิการ – อุดหนุนเด็กแรกเกิด สู่สวัสดิการแห่งรัฐ

เนื่องจากไทยกำลังเผชิญปัญหาประชากรแรงงานมีแนวโน้มลดลงจากการเข้าสู่สังคมสูงอายุ โดยในปี 2560 มีกำลังแรงงาน 38.08 ล้านคน ลดลงจาก 38.64 ล้านคน ในปี 2553 และแม้รายงานสถานะความยากจนไทย ปี 2559 ของสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ระบุว่า ในช่วง 30 ปีที่ผ่านมา ปัญหาความยากจนของไทยลดลงมาก โดยจำนวนคนจนได้ลดลงประมาณ 28 ล้านคน จากจำนวนผู้ยากจน 34.1 ล้านคนในปี 2531 เหลือ 5.81 ล้านคนในปี 2559 แต่เพื่อลดช่องว่างความเหลื่อมล้ำและขจัดความยากจนให้ได้รัฐบาลชุดนี้จึงออกนโยบายรัฐสวัสดิการใหม่ๆ เพื่อช่วยเหลือเศรษฐกิจฐานราก ซึ่งไม่ใช่เพียงแต่ “บัตรสวัสดิการแห่งรัฐ” อย่างที่ทราบกันเท่านั้น

เริ่มตั้งแต่ช่วงแรกของการบริหารงาน รัฐบาลได้มีมติ เมื่อวันที่ 25 พฤศจิกายน 2557 เพิ่มอัตราเบี้ยความพิการ ให้กับคนพิการจากเดิม รายละ 500 บาท เป็น 800 บาทต่อเดือน ตั้งแต่ปีงบประมาณ 2558 เป็นต้นไป ทั้งนี้มีผู้พิการที่ขอรับเบี้ยความพิการจำนวน 1.41 ล้านคน โดยใช้งบประมาณ 12,880.75 ล้านบาท เพิ่มจากปี 2557 ราว 3,000 ล้านบาท ที่จ่าย 500 บาทต่อเดือนมีผู้พิการขอรับเบี้ย 1.32 ล้านคน และเพิ่มขึ้นเล็กน้อยเป็นลำดับ จากจำนวนผู้พิการที่ขอรับสิทธิเพิ่มขึ้นในปี 2559 อยู่ที่ 1.41 ล้านคน เป็นเงิน 13,512.58 ล้านบาท ปี 2560 อยู่ที่ 1.49 ล้านคน เป็นเงิน 14,322.69 ล้านบาท และปี 2561 อยู่ที 1.61 ล้านคน เป็นเงิน 15,347.24 ล้านบาท

ตามด้วยการอนุมัติส่งท้ายปี จากมติ ครม.เมื่อวันที่ 30 ธันวาคม 2557 เพิ่มค่าครองชีพให้แก่ข้าราชการบำนาญ ที่เกษียณอายุราชการไปแล้ว ในระดับซี 7 ลงมา (ชั้นยศพันโทลงมา) รวม 533,328 ราย ในอัตรา 4% เพื่อให้มีรายได้ที่เหมาะสมสอดคล้องการปรับเงินเดือนข้าราชการและเจ้าหน้าที่ชั้นผู้น้อย ซึ่งจะมีผลย้อนหลังตั้งแต่วันที่ 1 ธันวาคม2557 เป็นต้นไป โดยใช้เงินจากงบกลาง รายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น จำนวน 5,139 ล้านบาท

ต่อมาในปี 2558 รัฐบาลได้จัดทำโครงการสวัสดิการรัฐใหม่ คือ “มาตรการเงินอุดหนุนเพื่อเลี้ยงดูเด็กแรกเกิด” เริ่มตั้งแต่ปีงบประมาณ 2559 จนถึงปัจจุบัน โดยในปีงบประมาณ 2559 มีจำนวนเด็กแรกเกิดได้รับการอุดหนุน 115,534 คน คนละ 400 บาทต่อเดือนเป็นระยะเวลา 1 ปี ใช้เงินงบประมาณ 554.56 ล้านบาท ต่อมาในปีงบประมาณ 2560-2561 รัฐบาลได้เพิ่มวงเงินเป็น 600 บาทต่อเดือน รวมทั้งเพิ่มระยะเวลาเป็น 3 ปี โดยในปีงบประมาณ 2560 มีจำนวนเด็กแรกเกิด 142,154 คน เป็นวงเงิน 3 ปี 3,070.53 ล้านบาท ปีงบประมาณ 2561 อนุมัติวงเงินไว้ที่ 3,702 ล้านบาท และปีงบประมาณ 2562 อนุมัติวงเงินไว้ที่ 3,485 ล้านบาท

ปี 2559 จึงเริ่มต้นนโยบายประชารัฐสวัสดิการ โดยได้เปิดให้ผู้มีรายได้น้อยได้ลงทะเบียนเพื่อจัดทำ “บัตรสวัสดิการแห่งรัฐ” โดยมุ่งหวังให้บัตรดังกล่าวช่วยให้ประชาชนเข้าถึงสวัสดิการสังคมได้ง่ายขึ้นรวมทั้งกำกับติดตามค่าใช้จ่ายสวัสดิการต่างๆ ได้อย่างเป็นระบบ ซึ่งการดำเนินโครงการระหว่างปี 2559-2561 มีการอุดหนุนเงินไปแล้วรวม 128,022 ล้านบาท

โดยการเปิดลงทะเบียนครั้งแรกในรอบปี 2559 มีจำนวนผู้ได้รับเงินอุดหนุนจากประชารัฐสวัสดิการจำนวน 7.5 ล้านคน เป็นเงิน 27,469 ล้านบาท โดยรับเงินผ่านธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร ธนาคารออมสิน และธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) ที่ผู้มีรายได้น้อยเปิดบัญชีไว้ผูกโยงกับบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ และเปิดลงทะเบียนอีกครั้งในปี 2560 มีผู้ผ่านเกณฑ์ 11.67 ล้านคน ได้รับเงินอุดหนุนผ่านบัตรฯ 41,940 ล้านบาท ซึ่งเงินที่โอนให้นั้นไม่สามารถเบิกออกมาใช้ได้

ต่อมารัฐบาลได้เพิ่มวงเงินค่าซื้อสินค้าอุปโภคบริโภคที่จำเป็นรายเดือนอีก 100-200 บาทต่อคนต่อเดือน เป็นระยะเวลา 10 เดือน (มีนาคม 2560 – ธันวาคม 2560) เป็นจำนวนทั้งสิ้น 13,872 ล้านบาท ก่อนจะไฟเขียวให้ผู้มีรายได้น้อยสามารถถอนเงินดังกล่าวมาใช้ได้ นอกจากนี้ยังมีการชดเชย VAT คืนแก่ผู้มีรายได้น้อย เพิ่มเบี้ยยังชีพแก่ผู้สูงอายุที่ถือบัตรสวัสดิการแห่งรัฐอีก 50-100 บาท รวมเป็นเงิน 6,011 ล้านบาท แลและมติ ครม.วันที่ 20 พฤศจิกายน 2561 ที่ผ่านมา ได้มีการอนุมัติวงเงินอีก 38,73 ล้านบาท สำหรับมาตรการช่วยเหลือผู้มีรายได้น้อยเพิ่มเติมผ่านบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ

ก่อนทิ้งทวนส่งท้ายปีเมินกระแสครหาหวังผลการเมืองให้ข้าราชการเกษียณอายุได้ยิ้มออกด้วยการอนุมัติให้ข้าราชการบำนาญสามารถนำบำเหน็จตกทอด 30 เท่าของเงินเดือน มาใช้เป็นบำเหน็จดำรงชีพได้เป็นครั้งที่ 3 ได้อีก 1 แสนบาท มีผู้ได้สิทธิ 6.59 แสนคน เป็นเงิน 2 หมื่นล้านบาท นอกจากนี้ยังเติมเงินข้าราชบำนาญที่ได้บำเหน็จน้อยต่ำกว่าเดือนละ 1 หมื่นบาท ให้เป็น 1 หมื่นบาท จำนวน 5.27 หมื่นคน ใช้เงิน 558 ล้านบาท พร้อมเอาใจชนชั้นกลางด้วยมาตรการใช้จ่ายผ่านเดบิท คืน VAT 5% (1-15 กุมภาพันธ์ 2562) วงเงินจ่ายคืน 9,024 ล้านบาท

เมื่อรวมวงเงินทั้งหมดที่รัฐบาลอุดหนุนผ่านนโยบายสวัสดิการแห่งรัฐ 173,770 ล้านบาท ทั้งนี้ยังไม่รวมสวัสดิการปกติ อาทิ เงินอุดหนุนประกันสุขภาพ เบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ เบี้ยยังชีพผู้ป่วยเอดส์ และเบี้ยยังชีพคนพิการ ที่มีการจัดสรรงบประมาณในแต่ละปีให้แก่ประชาชนกว่า 500,000 ล้านบาท

  • 24 ปีสวัสดิการรัฐ 6.7 แสนล้านบาท จาก “เบี้ยคนชรา-เบี้ยพิการ-เบี้ยเอดส์-รถเมล์ฟรี-รถไฟฟรี-ไฟฟ้าฟรี” ถึง “บัตรสวัสดิการแห่งรัฐ-อุดหนุนเด็กแรกเกิด”
  • ที่มาภาพ: www.thaigov.go.th

    ในภาพรวมตลอด 4 ปี ของรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ ได้จ่ายเงินอุดหนุนส่วนใหญ่ไปกับมาตรการ/โครงการด้านการเกษตร เท่าที่รวบรวมได้จำนวน 26 โครงการ คิดเป็นร้อยละ 63 ของเงินอุดหนุนทั้งหมด หรือเป็นจำนวนเงิน 300,198 ล้านบาท รองลงมาคือเงินอุดหนุนรัฐสวัสดิการแก่ผู้มีรายได้น้อย จำนวน 6 โครงการ คิดเป็นร้อยละ 27 ของเงินอุดหนุนทั้งหมด หรือเป็นจำนวนเงิน 128,022 ล้านบาท ตามด้วยเงินอุดหนุนรัฐสวัสดิการที่เพิ่มเติมให้แก่ข้าราชการเกษียณอายุ จำนวน 2 โครงการ คิดเป็นร้อยละ 5 ของเงินอุดหนุนทั้งหมด หรือเป็นจำนวนเงิน 25,697 ล้านบาท ตามด้วยเงินอุดหนุนรัฐสวัสดิการแก่เด็ก 4 โครงการ จำนวนเงิน 10,811 ล้านบาท และเงินอุดหนุนแก่ผู้มีรายได้ปานกลาง 1 โครงการ จำนวนเงิน 9,240 ล้านบาท

    แต่อย่างไรก็ตามเมื่อคำนวณวงเงินเฉลี่ยต่อโครงการพบว่า เงินอุดหนุนรัฐสวัสดิการแก่ผู้มีรายได้น้อยสูงที่สุด เฉลี่ย 21,000 ล้านบาทต่อโครงการ รองลงมาเป็นเงินอุดหนุนรัฐสวัสดิการเพิ่มเติมแก่ข้าราชการเกษียณอายุ เฉลี่ย 12,000 ล้านบาทต่อโครงการ และเงินอุดหนุนด้านการเกษตร เฉลี่ย 11,000 ล้านบาทต่อโครงการ เงินอุดหนุนแก่ผู้มีรายได้ปานกลาง และเงินอุดหนุนรัฐสวัสดิการแก่เด็กตามลำดับ

    แกะรอยบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ อุ้มคนจน 1.7 แสนล้าน

    • นโยบายบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ เริ่มเปิดให้ประชาชนลงทะเบียน ระหว่างวันที่ 15 กรกฎาคม 2559 – 15 สิงหาคม 2559 มีผู้มีรายได้น้อยที่มีคุณสมบัติที่จะได้รับประชารัฐสวัสดิการจำนวน 8.3 ล้านคน เป็นเกษตรกร 2.9 ล้านคน และไม่ใช่เกษตรกร 5.4 ล้านคน ซึ่งมติ ครม.วันที่ 27 กันยายน 2559 และมติ ครม.วันที่ 22 พฤศจิกายน 2559 ได้เห็นชอบมาตรการเพิ่มรายได้ให้แก่ผู้มีรายได้น้อย โดยแบ่งเป็น 1) ผู้ไม่มีรายได้ หรือมีรายได้ไม่เกิน 30,00 บาทต่อปี จ่าย 3,000 บาทต่อคน 2) ผู้มีรายได้กว่า 30,000 บาทต่อปีแต่ไม่เกิน 100,000 บาทต่อปี จ่าย 1,500 บาท มีผู้ได้รับเงินเป็นจำนวน 7.5 ล้านคน เป็นเงิน 27,469 ล้านบาท 

    การจ่ายเงินดำเนินการผ่านธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร ธนาคารออมสิน และธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) ซึ่งเงินทั้งหมดธนาคารทั้ง 4 แห่งได้สำรองจ่ายค่าใช้จ่ายไปก่อน โดยรัฐบาลจะชำระคืนเงินต้นและต้นทุนเงินให้กับธนาคารดังกล่าวในอัตราดอกเบี้ยเงินฝากประจำ 6 เดือน ประเภทบุคคลธรรมดาของ ทั้ง 4 ธนาคาร ในอัตรา FDR+1

    • ในปี 2560 รัฐบาลได้เปิดลงทะเบียนเพื่อสวัสดิการแห่งรัฐอีกครั้ง ระหว่างวันที่ 3 เมษายน-15 พฤษภาคม 2560 มีผู้ลงทะเบียน 14.12 ล้านคน ตรวจสอบคุณสมบัติแล้วมีผู้มีคุณสมบัติตรงตามกำหนดที่จะได้รับประชารัฐสวัสดิการจำนวน 11.67 ล้านคน โดยให้การช่วยเหลือผ่านการเติมเงินเข้าบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ จำนวน 41,940 ล้านบาท  จากวงเงินอนุมัติ 57,000 ล้านบาท โดยใช้จากเงินงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2561 จำนวน 46,000 ล้านบาท และขอสำนักงบประมาณจัดสรรงบประมาณเพิ่มเติมอีก 11,000 ล้านบาท ตาม มติ ครม.วันที่ 29 กันยายน 2560

    ทั้งนี้แบ่งเป็นการอุดหนุนค่าใช้จ่ายในสินค้าประจำวัน 200 บาทต่อคนต่อเดือนสำหรับผู้มีรายได้สูงกว่า 30,000 บาทต่อปี และ 300 บาทต่อคนต่อเดือนสำหรับผู้มีรายได้ต่ำกว่า 30,000 บาทต่อปี, อุดหนุนค่าก๊าซหุงต้ม 45 บาทต่อ 3 เดือน, อุดหนุนค่าใช้จ่ายในการเดินทางสำหรับรถเมล์/รถไฟฟ้า สำหรับรถไฟ และสำหรับรถ บขส. ประเภทละ 500 บาทต่อเดือน ตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2560 – 30 กันยายน 2561

    • ต้นปี 2561 รัฐบาลได้เพิ่มวงเงินค่าซื้อสินค้าอุปโภคบริโภคที่จำเป็นรายเดือน สำหรับผู้มีรายได้น้อยที่มีรายได้ได้ไม่เกิน 30,000 บาท วงเงินเพิ่ม 200 บาทต่อคนต่อเดือน และผู้มีรายได้เกิน 30,000 บาท เพิ่มวงเงิน 100 บาทต่อคนต่อเดือน ระยะเวลา 10 เดือนตั้งแต่มีนาคม – ธันวาคม 2561 เป็นเงินทั้งสิ้น 13,872 ล้านบาท ซึ่งต่อมารัฐบาลปรับมาตรการให้ผู้มีรายได้น้อยสามารถถอนเงินดังกล่าวเป็นเงินสดได้จากตู้เอทีเอ็มของธนาคารกรุงไทย
    • นอกจากนี้รัฐบาลยังได้ได้ออกมาตรการชดเชยเงินให้แก่ผู้มีรายได้น้อยผ่านบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ (คืน VAT) เป็นวงเงินจำนวน 5,000 ล้านบาท ซึ่งผู้มีรายได้น้อยจะได้รับเงินชดเชยจากข้อมูลตั้งแต่วันที่ 1 พฤศจิกายน 2561- 30 เมษายน 2562 ขณะที่ผู้สูงอายุที่ถือบัตรสวัสดิการแห่งรัฐได้รับเงินช่วยเหลือเพิ่มอีก 50-100 บาท ตามหลักเกณฑ์รายได้ โดยระยะแรกจะจัดสรรให้ 3 เดือน ตั้งแต่เดือนกรกฎาคม-กันยายน 2561 คิดเป็นเงิน 1,011 ล้านบาท มีผู้สูงอายุได้รับประโยชน์ราว 3,600 คน
    • และมติ ครม.วันที่ 20 พฤศจิกายน 2561 ที่ผ่านมา ได้มีการอนุมัติวงเงินอีก 38,73 ล้านบาท สำหรับมาตรการช่วยเหลือผู้มีรายได้น้อยเพิ่มเติมผ่านบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ แบ่งเป็น มาตรการบรรเทาค่าไฟฟ้าและน้ำประปา มาตรการสนับสนุนค่าใช้จ่ายช่วงปลายปี มาตรการช่วยเหลือค่าเดินทางไปรักษาพยายบาลและค่าใช้จ่ายอื่นเกี่ยวกับสุขภาพสำหรับผู้สูงอายุที่มีรายได้น้อย และมาตรการช่วยเหลือค่าเช่าบ้านสำหรับผู้สูงอายุที่มีรายได้น้อย

    อนึ่งวงเงินทั้งหมดไม่รวมการสนับสนุนงบประมาณเพื่อจัดทำโครงการที่ไม่มีการจ่ายเงินให้แก่ประชาชน อาทิ อินเตอร์เน็ตประชารัฐ และไม่นับรวมค่าดำเนินโครงการพร้อมมาตรการสนับสนุน ค่าจัดทำบัตรฯ ติดตั้งระบบชำระเงินอิเล็กทรอนิกส์ (EDC) และวงเงินชดเชยต่างๆ ที่รัฐบาลจ่ายให้กับธนาคาร ซึ่งอาจมียอดสูงกว่า 30,000 ล้านบาท