ThaiPublica > เกาะกระแส > “บิ๊กตู่” ไม่ทิ้ง พปชร. ที่เสนอชื่อชิงนายกฯ-มติ ครม.เปิดตัวทะเบียนรถแบบใหม่ ใช้คำผสมเลข 4 หลัก

“บิ๊กตู่” ไม่ทิ้ง พปชร. ที่เสนอชื่อชิงนายกฯ-มติ ครม.เปิดตัวทะเบียนรถแบบใหม่ ใช้คำผสมเลข 4 หลัก

23 พฤศจิกายน 2021


พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม
ที่มาภาพ : www.thaigov.go.th

“บิ๊กตู่” ไม่ทิ้ง พปชร. ที่เสนอชื่อชิงนายกฯ-ยัน “ไม่คิด ยุบสภา”-ปัดตอบ “บัตรเลือกตั้ง 2 ใบ” — มติ ครม. ไฟเขียวออมสินปล่อยสินเชื่อสร้างงาน 1,500 ล้าน-เปิดตัวทะเบียนรถแบบใหม่ ใช้คำผสมเลขไม่เกิน 4 หลัก-แก้ กม.ให้นักท่องเที่ยวต่างชาติรูดบัตรเครดิตแลกเงินบาทได้-อนุมัติงบฯ 1,169 ล้าน ผลิตสร้างช่างฝีมือ 10 ปี 9,000 คน

เมื่อวันที่ 23 พฤศจิกายน 2564 พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม เป็นประธานการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ณ ตึกสันติไมตรี (หลังนอก) ทำเนียบรัฐบาล ภายหลังการประชุม นายกรัฐมนตรียังคงมอบหมายให้ ดร.ธนกร วังบุญคงชนะ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี รายงานข้อสั่งการของนายกรัฐมนตรีและตอบคำถามสื่อมวลชนแทน

ดร.ธนกรกล่าวถึงข้อสั่งการของนายกรัฐมนตรีว่า พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้แสดงความเป็นห่วงเรื่องโภชนาการของนักเรียน รัฐบาล โดยกระทรวงศึกษาธิการจึงได้ริเริ่มโครงการอาหารเช้าเพื่อน้องในบางพื้นที่ต่างจังหวัด โดยเฉพาะจังหวัดชายแดนภาคใต้ นอกจากนี้ ยังส่งเสริมให้เด็กเข้าใจเรื่องพืชและการปลูกต้นไม้ เพื่อให้มีความรู้สึกภูมิใจที่ได้เฝ้าดูการเติบโต

สั่ง กสทช. นำสายสื่อสารลงดิน

ดร.ธนกรกล่าวต่อว่า นายกฯ ได้สั่งการให้ กสทช. ประสานงานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อ จัดระเบียบสายสื่อสาร ทั้งสารสื่อสารและสายไฟลงใต้ดินทั้งหมด และให้มีสายหลักเข้าบ้านเพียงสายเดียว

แจงลงทะเบียนบัตรคนจนเพิ่ม เก็บตกคนเข้าไม่ถึง

ดร.ธนกรตอบคำถามสื่อมวลชนเรื่องการเปิดลงทะเบียนบัตรสวัสดิการแห่งรัฐเพิ่มอีก 15 ล้านคน รวมถึงการเพิ่มสิทธิต่างๆ สะท้อนให้เห็นว่าผู้มีรายได้น้อยมีจำนวนเพิ่มขึ้นใช่หรือไม่ ดร.ธนกรชี้แจงว่า การดำเนินการในเรื่องนี้ได้ดำเนินตามระยะงบประมาณและข้อมูลที่มีอยู่เดิม เพราะมีคนที่เข้าไม่ถึงจำนวนมาก จึงจำเป็นต้องเพิ่มต่อเนื่อง ทั้งนี้การเพิ่มสิทธิให้บัตรสวัสดิการ ไม่ได้หมายความว่าคนรายได้น้อยจะหมดไป เนื่องจากการทำบัตรเป็นเพียงการหาทางดำรงชีวิตในลักษณะพอเพียงเท่านั้น

มอบ ศบค. หามาตรการช่วยนักดนตรี

คำถามว่า วันนี้มีกลุ่มนักดนตรีกลางคืนมายื่นหนังสือที่ทำเนียบ แต่มีการสกัด-ปิดถนน จะทำให้ถูกมองว่า ‘รัฐบาลมีกำแพง’ ไม่รับฟังปัญหาหรือไม่ โดย ดร.ธนกรตอบประเด็นนี้ว่า “นายกรัฐมนตรีทราบแล้วและให้ ศบค. พิจารณาหามาตรการที่เหมาะสม ซึ่งฝ่ายผู้ประกอบการต้องร่วมรับผิดชอบ เน้นเรื่องการป้องกันการแพร่ระบาด การฉีดวัคซีน และรักษามาตรการของสถานประกอบการ”

หารือคมนาคม ปมปิดหัวลำโพง

ถามว่า นายกรัฐมนตรีมีดำริเรื่องการปิดใช้งานสถานีหัวลำโพงอย่างไร ดร.ธนกรตอบว่า นายกรัฐมนตรีได้หารือและให้แนวทางกับกระทรวงคมนาคม เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดในทุกมิติ และรับฟังความคิดเห็นของประชาชน เพื่อให้เกิดมูลค่าสูงสุดของการใช้พื้นที่ นายกฯ ปัดตอบประเด็นการเมือง

ชี้ส่งผู้ลี้ภัยกลับกัมพูชา ยึดหลัก กม.-ไทยไม่เสียประโยชน์

ดร.ธนกรตอบคำถามประเด็นการส่งผู้ลี้ภัยทางการเมืองกลับประเทศกัมพูชาว่า ประเด็นนี้เป็นหลักการด้านการต่างประเทศ ต้องคำนึงถึงกฎหมายและกระบวนการยุติธรรมไทย ซึ่งได้มีการดำเนินการหลายประเทศ โดยที่ไทยต้องไม่เสียผลประโยชน์ใดๆ

ปัดตอบ “บัตรเลือกตั้ง 2 ใบ”

ดร.ธนกรกล่าวถึงประเด็นบัตรเลือกตั้ง 2 ใบว่า “เป็นความเห็นของนักการเมืองเสนอเข้าในสภา นายกรัฐมนตรีไม่มีความเห็นในเรื่องนี้ หวังว่าจะได้ ส.ส. ที่มีคุณภาพ ทำงานเพื่อประชาชนที่ได้เลือกตั้งเข้ามา ซึ่งขึ้นอยู่กับประชาชนที่เลือก”

ไม่ทิ้ง พปชร. ที่เสนอชื่อชิงนายกฯ

ส่วนคำถามว่า นายกฯ จะชี้แจงอย่างไรกับข่าวว่าจะเข้าไปสังกัดพรรคไทยสร้างสรรค์ที่ตั้งขึ้นมาใหม่ และรองรับโดยพลเอก ประยุทธ์ โดย ดร.ธนกรตอบแทนนายกฯ ว่า “นายกฯ ไม่มีความคิดในเรื่องนี้ เป็นเรื่องการเสนอข่าวจากสื่อโซเชียล นายกฯ ยังคงอยู่กับพรรคพลังประชารัฐในฐานะที่พรรคพลังประชารัฐเสนอชื่อเป็นนายกฯ ในช่วงที่ผ่านมา”

ยัน “ไม่คิดยุบสภา”

คำถามสุดท้ายถึงประเด็นการแก้รัฐธรรมนูญ ในส่วนที่เกี่ยวกับการเลือกตั้งว่าหลังจากออกกฎหมายลูก 2 ฉบับแล้วจะมีการประกาศยุบสภาและให้มีการเลือกตั้งใหม่ ดร.ธนกรตอบเพียงแค่ว่า “ยังไม่มีแนวคิดในเรื่องนี้”

มติ ครม. มีดังนี้

ดร.รัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี, ดร.ธนกร วังบุญคงชนะ โฆษกฯ และ น.ส.ไตรศุลี ไตรสรณกุล รองโฆษกฯ (ซ้าย-ขวา)
ที่มาภาพ : www.thaigov.go.th/

ไฟเขียวออมสินปล่อยสินเชื่อสร้างงาน 1,500 ล้านบาท

ดร.ธนกร วังบุญคงชนะ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เห็นชอบให้ธนาคารออมสินดำเนินมาตรการสินเชื่อสร้างงาน สร้างอาชีพ โดยอนุมัติวงเงิน 1,500 ล้านบาท ในส่วนที่ธนาคารออมสินขอชดเชยความเสียหายที่เกิดจากหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ หรือ NPL ร้อยละ 30 ของวงเงินสินเชื่อที่อนุมัติทั้งหมด 5,000 ล้านบาท ทั้งนี้ เพื่อให้ธนาคารออมสินสนับสนุนสินเชื่อเพื่อเป็นเงินเริ่มทุนเริ่มต้นในการประกอบอาชีพ หรือเสริมสภาพคล่องให้สามารถกลับมาประกอบอาชีพหรือดำเนินธุรกิจต่อไปได้ ทั้งยังช่วยลดการพึ่งพาสินเชื่อที่มีอัตราดอกเบี้ยสูงหรือสินเชื่อนอกระบบ โดยมีรายละเอียดมาตรการฯ ดังนี้

  • กลุ่มเป้าหมาย ได้แก่ 1) ผู้เริ่มประกอบอาชีพและผู้ประกอบการรายย่อย เช่นผู้ผ่านการอบรมอาชีพ “ช่าง” ทุกประเภท เช่น ช่างปูน ช่างแอร์ ช่างไฟฟ้าช่างเชื่อม ช่างซ่อมอุปกรณ์ เป็นต้น และผู้ที่ไม่ใช่ช่าง เช่น เสริมสวยหรือตัดผมชาย คนขายของออนไลน์ เป็นต้น โดยมีใบประกาศนียบัตรหรือวุฒิบัตรที่ผ่านการอบรมจากหน่วยงานภาครัฐหรือเอกชนหรือเอกสาร อื่นๆตามประเภทของอาชีพหรือมีประสบการณ์ ในการประกอบอาชีพดังกล่าว 2) ผู้ประกอบการขนาดย่อม ที่มีสถานที่จำหน่ายแน่นอน เช่นค้าปลีก ค้าส่ง โชห่วย แฟรนไชส์ เป็นต้น โดยมีทะเบียนพาณิชย์ ทะเบียนการค้า สัญญาแฟรนไซส์ หรือเอกสารแสดงความเป็นเจ้าของอื่นๆ และ 3) ผู้ขับขี่รถสาธารณะ เช่น ผู้ขับขี่รถแท็กซี่ รถตู้สาธารณะ รถขนส่งสินค้า รถบรรทุก โดยมีใบอนุญาตขับขี่รถสาธารณะหรือเอกสาร อื่นๆตามประเภทของอาชีพ
  • วงเงินรวม 5,000 ล้านบาท
  • วงเงินสินเชื่อ ไม่เกินรายละ 300,000 บาท
  • ระยะเวลาการขอยื่นสินเชื่อ ตั้งแต่วันที่คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบถึง 30 กันยายน 2565
  • ระยะเวลาการกู้ รวมระยะเวลาทั้งสิ้นต้องไม่เกิน 5 ปี (ปลอดชำระเงินต้นและดอกเบี้ย 6 งวดแรก)
  • อัตราดอกเบี้ยร้อยละ 3.99 ต่อปี
  • “แม้สถานการณ์โควิด-19 ในไทยจะคลี่คลายแต่ ยังมีประชาชนและผู้ประกอบการที่ได้รับผลกระทบทั้งรายได้ลดลง ขาดเงินทุนสำหรับการมาเริ่มประกอบอาชีพใหม่ หรือต้องการเสริมสภาพคล่องให้ธุรกิจเดินต่อไปได้ ดังนั้น คณะรัฐมนตีจึงเห็นชอบให้ ธนาคารออมสินดำเนิน มาตรการสินเชื่อสร้างงาน สร้างอาชีพ ซึ่งธนาคารออมสินยังจะจัดให้มีการฝึกอบรม เพื่อส่งเสริมความรู้ทางการเงินละยกระดับทักษะในการประกอบอาชีพให้กับลูกค้า รวมทั้งจัดหาอุปกรณ์การค้าและสถานที่จำหน่ายสินค้า ซึ่งคาดว่าจะช่วยเหลือประชาชนให้สามารถกลับมาประกอบอาชีพหรือดำเนินธุรกิจต่อไปได้ประมาณ 60,000 รายด้วย” ดร.ธนกร กล่าว

    ซื้อไฟเซอร์เพิ่ม 30 ล้านโดส ส่งมอบ Q1/65

    ดร.ธนกร กล่าวว่า ที่ประชุม ครม. มีมติรับทราบการจัดซื้อวัคซีนป้องกันโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) สำหรับปี 2565 จาก บริษัท ไฟเซอร์ จำกัด (Pfizer) เพิ่มเติม จำนวน 30 ล้านโดส และเห็นชอบการลงนามในสัญญา Third Amendment to Manufacturing and Supply Agreement ระหว่างกรมควบคุมโรคและ บริษัท ไฟเซอร์ จำกัด โดยให้อธิบดีกรมควบคุมโรคเป็นผู้มีอำนาจลงนามในสัญญาดังกล่าว ตามที่กระทรวงสาธารณสุข เสนอ

    โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ที่ผ่านมากรมควบคุมโรคได้ดำเนินการเจรจาจัดหาวัคซีนเพิ่มเติมอย่างต่อเนื่อง โดย บจ.ไฟเซอร์ จะจัดหาวัคซีน Pfizer เพิ่มเติมจำนวน 30 ล้านโดส โดยมีกำหนดส่งมอบในไตรมาสที่ 1 – 3 ของปี 2565 ซึ่งครอบคลุมกรณีที่ บจ.ไฟเซอร์ได้รับอนุญาตให้เปลี่ยนแปลงวัคซีนในประเทศไทย (Adapted Product) จากวัคซีนที่ใช้อยู่ในปัจจุบันให้เป็นวัคซีนที่มีการพัฒนาใหม่เมื่อมีการพัฒนาสำเร็จ เป็นวัคซีน Gen ใหม่ที่เป็นวัคซีนสำหรับเด็ก ทั้งนี้ การดำเนินการจัดซื้อวัคซีนเป็นตามสัญญา Manufacturing and Supply Agreement ที่เป็นสัญญาหลัก ทำให้มีจำนวนวัคซีนที่ประเทศไทยจัดซื้อจาก บจ.ไฟเซอร์ รวมทั้งสิ้น 60 ล้านโดส

    “การดำเนินการจัดซื้อวัคซีน Pfizer เพิ่มเติมเป็นไปตามแผนการจัดหาวัคซีนของประเทศไทย ที่ผ่านความเห็นชอบจาก ศบค. ด้วยแล้ว” ดร.ธนกร กล่าว

    นายกฯ ขอบคุณ “ไบเดน” มอบ Moderna 1 ล้านโดส

    ดร.ธนกร กล่าวต่อว่า วันนี้ นายไมเคิล ฮีต อุปทูตรักษาราชการชั่วคราว สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศสหรัฐอเมริกาประจำประเทศไทย เข้าเยี่ยมคารวะพลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม เพื่อมอบวัคซีนป้องกันโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) ของบริษัท Moderna จากรัฐบาลสหรัฐฯ (ครั้งที่ 2) อย่างเป็นทางการ โดยมีนายอนุทิน ชาญวีรกุล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เข้าร่วมในพิธีด้วย ซึ่งนายธนกร วังบุญคงชนะ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยสาระสำคัญ ดังนี้

    นายกรัฐมนตรีกล่าวขอบคุณรัฐบาลสหรัฐฯ ประธานาธิบดีไบเดน และอุปทูตฯ สำหรับการมอบวัคซีนครั้งนี้ เป็นครั้งที่ 2 ที่ไทยได้รับความช่วยเหลือวัคซีนจาก สหรัฐฯ ซึ่งสะท้อนถึงความเป็นมิตรแท้ในยามยาก โดยการมอบให้ในครั้งแรกนั้นมีส่วนช่วยสนับสนุนมาตรการเร่งฉีดวัคซีนของไทย ซึ่งได้ช่วยเพิ่มศักยภาพในการรับมือกับการแพร่ระบาดของโควิด-19 จนสถานการณ์ดีขึ้น และสามารถเปิดประเทศได้อีกครั้ง ทั้งนี้ ในหลายประเทศยังต้องเผชิญกับผู้ติดเชื้อที่ยังมีจำนวนสูง ซึ่งไทยไม่ต้องการที่จะกลับไปเผชิญสถานการณ์นั้นอีก นายกรัฐมนตรีจึงได้ย้ำว่าจะนำวัคซีนที่ได้รับมอบในครั้งนี้ไปกระจายฉีดให้อย่างทั่วถึงเพื่อให้เกิดภูมิคุ้มกันและเพื่อความปลอดภัยของประชาชนไทย

    ด้านอุปทูตฯ สถานเอกอัครราชทูตสหรัฐฯ กล่าวยินดีที่มีส่วนสำคัญในการมอบวัคซีนจากสหรัฐฯ และภูมิใจที่ได้มีส่วนร่วมสนับสนุนประเทศไทยในการรับมือกับการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19ในไทย จนมีส่วนช่วยให้ไทยกลับมาเปิดประเทศ และดำเนินกิจกรรมทางเศรษฐกิจอย่างมีประสิทธิภาพ และปลอดภัยมากยิ่งขึ้น โดยกล่าวเพิ่มเติมอีกว่านอกจากการฉีดวัคซีนที่จะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการรับมือกับการแพร่ระบาดของโควิด-19 แล้วการรักษาก็มีความสำคัญเช่นกัน ซึ่งสหรัฐฯ พร้อมพิจารณาให้การสนับสนุนเช่นกัน ทั้งนี้ สหรัฐฯให้ความสำคัญกับการกระชับความสัมพันธ์กับประเทศไทยเป็นอย่างมาก โดยจะเห็นได้จากการแลกเปลี่ยนหารือระหว่างกัน ทั้งภาครัฐและภาคเอกชน

    ในตอนท้าย นายกรัฐมนตรีกล่าวขอบคุณรัฐบาลสหรัฐฯ อีกครั้งสำหรับความปรารถนาดีในช่วงเวลาแห่งความท้าทายนี้ และหวังว่าทั้งสองประเทศจะสามารถก้าวผ่านวิกฤตไปด้วยกัน

    อนึ่ง การรับมอบวัคซีนจากรัฐบาลสหรัฐฯ ครั้งที่ 2 ในวันนี้ เป็นไปตามที่รัฐบาลสหรัฐฯ ได้ประกาศว่า จะมอบวัคซีนกว่า 2.5 ล้านโดส ให้กับไทย

    นายไมเคิล ฮีธ (Mr. Michael G. Health) อุปทูตรักษาราชการชั่วคราว สถานเอกอัครราชทูตสหรัฐอเมริกาประจำประเทศไทย เข้าพบนายกรัฐมนตรีเพื่อมอบวัคซีนป้องกันโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) จากรัฐบาลสหรัฐอเมริกา (ครั้งที่ 2) อย่างเป็นทางการ ณ ห้องสีม่วง ตึกไทยคู่ฟ้า ทำเนียบรัฐบาล
    ที่มาภาพ : www.thaigov.go.th

    แก้ กม.ให้นักท่องเที่ยวต่างชาติรูดบัตรเครดิตแลกซื้อธนบัตรได้

    ดร.รัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่าที่ประชุม ครม. อนุมัติแก้ไขเพิ่มเติมกฎกระทรวง ฉบับ 13 (พ.ศ.2497) และที่แก้ไขเพิ่มเติม ออกตามความในพระราชบัญญัติควบคุมการแลกเปลี่ยนเงิน พ.ศ.2485 และที่แก้ไขเพิ่มเติม เพื่ออำนวยความสะดวกและเพิ่มประสิทธิภาพของการประกอบธุรกิจซื้อขายแลกแปลี่ยนเงินตราต่างประเทศ (ธุรกิจปัจจัยชำระเงินต่างประเทศ) ของไทย รวมทั้งให้การดำเนินธุรกิจสอดคล้องกับหลักธรรมาภิบาล (Good Governance) และมาตรฐานสากลเกี่ยวกับการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงินและการก่อการร้าย ตามที่กระทรวงการคลังเสนอ โดยเป็นการแก้ไขเพิ่มเติมรูปแบบการอนุญาตให้แก่ผู้ประกอบการที่ประสงค์จะประกอบธุรกิจปัจจัยชำระเงินต่างประเทศที่มีรูปแบบเป็นนวัตกรรม ซึ่งนำเทคโนโลยีใหม่มาใช้ และผ่อนคลายหลักเกณฑ์เกี่ยวกับการทำธุรกรรมเงินตราต่างประเทศให้แก่ผู้ประกอบการที่ได้รับอนุญาตหรือได้ขึ้นทะเบียนเพิ่มเติม รวมถึงเพิ่มเติมลักษณะต้องห้ามของกรรมการ ผู้มีอำนาจในการจัดการและผู้ถือหุ้นรายใหญ่ของผู้ประกอบธุรกิจปัจจัยชำระเงินต่างประเทศ ซึ่งมีสาระสำคัญดังนี้

      1.ขยายขอบเขตการประกอบธุรกิจของบุคคลที่ได้รับอนุญาต โดยให้สามารถบริการแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศในรูปแบบอื่น ที่ไม่ใช่เฉพาะธนบัตรเงินตราต่างประเทศได้ เช่น นักท่องเที่ยวต่างชาติสามารถชำระเงินค่าซื้อธนบัตรเงินบาท ด้วยบัตรเครดิตหรือบัตรเดบิตที่ออกโดยธนาคารในต่างประเทศได้ จากเดิมที่ให้บริการแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศได้เฉพาะธนบัตรเงินตราต่างประเทศ
      2.เพิ่มประเภทการอนุญาตให้ประกอบธุรกิจปัจจัยชำระเงินต่างประเทศ โดยให้สามารถประกอบธุรกิจในรูปแบบการขึ้นทะเบียน (Register) จากธนาคารแห่งประเทศไทยได้ จากเดิมที่มีเฉพาะรูปแบบการให้ใบอนุญาต (License) จากรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังเท่านั้น
      3.ขยายขอบเขตของการให้ใบอนุญาตและใบขึ้นทะเบียน โดยให้ใบอนุญาตที่ได้รับ สามารถใช้ได้กับทั้งสานักงานใหญ่ สาขา และช่องทางการให้บริการอื่น (One-to-Many) ได้ จากเดิมที่ใบอนุญาตสามารถใช้ได้กับสถานประกอบการที่ยื่นขออนุญาต (One-to-One) เท่านั้น หากมีหลายสาขาต้องขอใบอนุญาตทุกสาขา
      4.ผ่อนคลายหลักเกณฑ์การทำธุรกรรมที่เกี่ยวข้องกับรายได้สกุลเงินตราต่างประเทศที่ได้รับมาจากต่างประเทศ ทั้งรายได้ที่เป็นค่าของส่งออกและรายได้ประเภทอื่น โดยสามารถนำรายได้จากสกุลเงินตราต่างประเทศไปใช้ในการทำธุรกรรมประเภทอื่นได้ เช่น การชำระหนี้การค้า หรือนำรายได้สกุลเงินตราต่างประเทศไปขาย จากเดิมที่อนุญาตเพียงการขายหรือฝากเงินตราต่างประเทศกับธนาคารพาณิชย์
      5.ปรับปรุงคุณสมบัติของผู้ขออนุญาต โดยกำหนดให้ผู้ขออนุญาตประกอบธุรกิจปัจจัยชำระเงินต่างประเทศต้องเป็นนิติบุคคลเท่านั้น จากเดิมเป็นบุคคลธรรมดาได้ สำหรับบุคคลธรรมดาจะสามารถประกอบธุรกิจต่อไปได้อีก 3 ปี นับแต่วันที่ร่างกฎกระทรวงมีผลบังคับใช้ โดยกำหนดไว้ในบทเฉพาะกาล
      6.เพิ่มเติมข้อกำหนดเกี่ยวกับลักษณะต้องห้ามของกรรมการ ผู้ซึ่งมีอำนาจในการจัดการและผู้ถือหุ้นรายใหญ่ โดยผู้ประกอบธุรกิจหรือกรรมการต้องไม่เคยได้รับโทษจำคุก ซึ่งมีคำพิพากษาถึงที่สุดให้จำคุก ในความผิดเกี่ยวกับการประกอบปัจจัยชำระเงินต่างประเทศ โดยไม่ได้รับอนุญาตหรือได้รับการขึ้นทะเบียน เพื่อให้สอดคล้องกับมาตรฐานสากลเกี่ยวกับการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงินและการก่อการร้าย

    ทั้งนี้ ในลำดับต่อไปจะส่งให้สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจพิจารณาแล้วดำเนินการต่อไปได้

    ไฟเขียวไทยเป็นหุ้นส่วนด้านพลังงานกับจีน

    ดร.รัชดา กล่าวว่าที่ประชุม ครม. เห็นชอบให้ประเทศไทยเข้าร่วมเป็นประเทศหุ้นส่วนด้านพลังงานภายใต้ยุทธศาสตร์สายแถบ และเส้นทาง (The Belt And Road Energy Partnership: BREP) ของสำนักงานพลังงานแห่งชาติจีน ตามที่กระทรวงพลังงานเสนอ ซึ่งความร่วมมือในครั้งนี้ มีวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริมความร่วมมือด้านพลังงานและช่วยเหลือประเทศที่เข้าร่วมเป็นสมาชิกในการแก้ไขปัญหาด้านการพัฒนาพลังงานในรูปแบบต่างๆ ซึ่งปัจจุบันมี 30 ประเทศที่เข้าร่วมเป็นหุ้นส่วนด้านพลังงาน (BREP) เช่น อัฟกานิสถาน คูเวต อิรัก ปากีสถาน เวเนซุเอลา ลาว เมียนมา เนปาล เป็นต้น พร้อมกันนี้ ครม. ได้มีมติเห็นชอบเอกสาร 2 ฉบับเกี่ยวกับการเข้าร่วมเป็นหุ้นส่วนด้านพลังดังนี้

      1.ปฏิญญาร่วมการจัดตั้งความเป็น BREP (Joint Declaration on Building the BREP) เป็นเอกสารที่แสดงเจตนารมณ์ของประเทศที่เข้าร่วมเป็นสมาชิกในการส่งเสริมความร่วมมือระหว่างประเทศด้านพลังงานร่วมกันภายใต้การเปลี่ยนแปลงด้านพลังงานของโลก เช่น การส่งเสริมการลงทุนด้านพลังงาน การพัฒนาพลังงานที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม การดำเนินการด้านการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ และการพัฒนาที่ยั่งยืน
      2.หลักการความร่วมมือและการดำเนินการอย่างเป็นรูปธรรมของหุ้นส่วน ด้านพลังงาน (Cooperation Principles and Concrete Actions of the BREP) เป็นเอกสารที่แสดงถึงแนวทางการดำเนินการ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่ออำนวยความสะดวกในการประสานงานระหว่างประเทศด้านพลังงาน เช่น 1) ส่งเสริมการค้า การลงทุน และการเชื่อมโยงโครงสร้างพื้นฐาน 2) ส่งเสริมการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ด้านนวัตกรรมพลังงานสะอาด และการใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพ 3) ส่งเสริมการพัฒนาศักยภาพบุคลากรด้านพลังงานร่วมกัน ซึ่งจะดำเนินการในรูปแบบการฝึกอบรม การแลกเปลี่ยนเรียนรู้ การส่งเสริมความสัมพันธ์กับองค์กรระหว่างประเทศด้านพลังงาน โดยมุ่งเน้นการพัฒนาพลังงานทดแทน ระบบพลังงานอัจฉริยะ การใช้เชื้อเพลิงฟอสซิลสะอาด และการพัฒนาระบบพลังงานแบบกระจายศูนย์

    สำหรับประโยชน์ที่ประเทศไทยจะได้รับจากการเข้าร่วมเป็นประเทศหุ้นส่วนด้านพลังงานในครั้งนี้ จะช่วยส่งเสริมการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน ความพร้อมด้านทรัพยากรมนุษย์และสร้างโอกาสในการพัฒนาตลาดและโครงข่ายพลังงาน ซึ่งจะทำให้ประเทศไทยสามารถเข้าถึงเทคโนโลยีและระบบการจัดการที่หลากหลาย สามารถเป็นเจ้าของเทคโนโลยีและมีทางเลือกในการพัฒนาพลังงานโดยที่ไม่ต้องพึ่งพาประเทศใดประเทศหนึ่งมากเกินไป

    ดร.รัชดา กล่าวต่อว่า ปัจจุบันกระทรวงพลังงานของไทยและสำนักงานพลังแห่งพลังงานแห่งชาติจีน ได้ดำเนินการความร่วมมือด้านพลังงานในกรอบทวิภาคีอย่างต่อเนื่อง ผ่านการประชุม China-Thailand Energy working Group (CTEWG) โดยในปี 2563 ทั้งสองฝ่ายได้ร่วมกันหารือแนวทางความร่วมมือที่ครอบคลุมทุกสาขาพลังงาน ได้แก่ 1) สาขาปิโตรเลียม ไทยเสนอความร่วมมือกับจีนผ่าน 4 โครงการ เช่น การจัดเก็บและการขนส่งก๊าซโดยใช้เรือขนาดเล็ก การลงทุนร่วมกันในโครงสร้างพื้นฐานสำหรับ LNG และโรงไฟฟ้า 2) สาขาไฟฟ้า เช่น ลงนามสัญญาซื้อขายไฟฟ้าร่วมกัน จัดประชุมความร่วมมือด้านพลังงานใหม่ (New Energy) และ Smart Grid 3) สาขาพลังงานทดแทน แลกเปลี่ยนความรู้ การพัฒนาเทคโนโลยี และส่งเสริมการลงทุนในอุปกรณ์ด้านการอนุรักษ์พลังงาน และ 4) สาขาพลังงานนิวเคลียร์ แลกเปลี่ยนข้อมูลนโยบายและความคิดเห็นในเรื่องการพัฒนาเทคโนโลยีนิวเคลียร์ร่วมกัน ผ่านการประชุม JCCT-PNE (Joint Commission of China – Thailand Cooperation in the Peaceful Uses of Nuclear Energy Meeting)

    เห็นชอบท่าทีไทยต่อที่ประชุมรัฐมนตรี WTO ครั้งที่ 12

    ดร.รัชดา กล่าวว่าที่ประชุม ครม. เห็นชอบท่าทีไทยในการประชุมรัฐมนตรีองค์การการค้าโลกสมัยสามัญครั้งที่ 12 (the Twelfth Ministerial Conference: MC12) และการประชุมที่เกี่ยวข้อง ซึ่งจะมีการประชุมระหว่างวันที่ 30 พ.ย. – 3 ธ.ค.2564 ณ นครเจนีวา สมาพันธรัฐสวิส ตามที่กระทรวงพาณิชย์เสนอ ซึ่งการประชุมรัฐมนตรีองค์การการค้าโลกสมัยสามัญ ถือเป็นกลไกการดำเนินงานระดับสูงสุดขององค์การการค้าโลก ทำหน้าที่ตัดสินใจในนโยบายและกิจกรรมสำคัญขององค์การการค้าโลก โดยจะจัดประชุมทุก 2 ปี สำหรับท่าทีประเทศไทยประกอบด้วย 10 ด้าน ดังนี้

      1.ภาพรวม ไทยจะรักษาไว้ซึ่งระบบการค้าพหุภาคี ตระหนักถึงความสำคัญของสิทธิการปฏิบัติที่เป็นพิเศษและแตกต่าง (Special and Differential Treatment: S&DT) สำหรับประเทศกำลังพัฒนาและประเทศที่พัฒนาน้อยที่สุด และให้ความสำคัญกับการเปิดเสรีการค้าบริการอย่างค่อยเป็นค่อยไป รวมถึงสนับสนุนความร่วมมือเพื่อรองรับการฟื้นฟูเศรษฐกิจภายหลังการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19
      2.ความตกลงว่าด้วยการอุดหนุนประมง ท่าทีไทยคือ 1) ห้ามให้การอุดหนุนการทำประมง IUU Fishing 2) ให้การบริหารจัดการทรัพยากรสัตว์น้ำที่ดี ซึ่งเป็นปัจจัยหนึ่งที่ใช้ในการพิจารณาว่าประเทศสมาชิกสามารถให้การอุดหนุนแก่ภาคประมงได้ต่อไป 3) ให้มีการปฏิบัติที่เป็นพิเศษและแตกต่าง (S&DT) แก่ประเทศกำลังพัฒนา (รวมถึงไทย) เพื่อให้ความตกลงมีความยืดหยุ่นแก่ประเทศกำลังพัฒนาในประเด็นต่างๆ เช่น การไม่บังคับใช้หรือให้มีข้อยกเว้นความตกลงในบางกรณี โดยเฉพาะการอุดหนุนประมงพื้นบ้านของไทย
      3.ความตกลงเกษตร ท่าทีไทยคือ 1) สนับสนุนการเปิดตลาดสินค้าเกษตร 2) การลดการอุดหนุนภายในที่บิดเบือนตลาด 3) การเพิ่มความโปร่งใสและกฎเกณฑ์ที่ชัดเจนในการใช้มาตรการต่างๆ เช่น การเปลี่ยนแปลงอัตราภาษี การอุดหนุนการส่งออก 4) สนับสนุนไม่ให้ใช้มาตรการห้ามหรือจำกัดการส่งออกสินค้าเกษตรที่เกี่ยวข้องกับโครงการอาหารโลก เพื่อวัตถุประสงค์ด้านมนุษยธรรมที่ไม่ใช่เชิงพาณิชย์ ส่วนท่าทีไทยสำหรับการประชุมรัฐมนตรีกลุ่มเครนส์ ไทยเห็นชอบในหลักการแถลงการณ์ประชุมรัฐมนตรีกลุ่มเครนส์ ครั้งที่ 42 ซึ่งมีสาระสำคัญ เป็นการผลักดันการเจรจาจัดทำกฎระเบียบระหว่างประเทศในเรื่องการค้าสินค้าเกษตรภายใต้ WTO อย่างเป็นรูปธรรม เพื่อให้เกิดการค้าสินค้าเกษตรที่เป็นธรรม โดยเฉพาะการลดการอุดหนุน การลดอุปสรรคทางการค้าและการบิดเบือนตลาด
      4.แผนการดำเนินการด้านพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ ไทยจะสานต่อแผนการดำเนินการด้านพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ และสนับสนุนการต่ออายุการยกเว้นภาษีศุลกากร สำหรับการส่งผ่านทางอิเล็กทรอนิกส์เป็นการชั่วคราว
      5.การต่ออายุการยกเว้นการฟ้องร้อง กรณีได้รับความเสียหายหรือเสียประโยชน์อันพึงได้รับจากพันธกรณี แม้ไม่ได้มีการละเมิดความตกลงว่าด้วยสิทธิในทรัพย์สินทางปัญญาที่เกี่ยวกับการค้า (TRIPS) ไทยสนับสนุนการต่ออายุการยกเว้นการฟ้องร้องดังกล่าว และให้คณะมนตรี TRIPS พิจารณาหารือในเรื่องขอบเขตและรูปแบบของการฟ้องร้องด้วย
      6.แนวทางการเสริมสร้างบทบาทขององค์การการค้าโลก (WTO) ในการรับมือกับโรคโควิด-19 ไทยสนับสนุนบทบาทของ WTO และสนับสนุนการจัดทำแผนการดำเนินงานต่างๆ อาทิ การลดอุปสรรคและอำนวยความสะดวกทางการค้า การพัฒนาหรือยกระดับศักยภาพและขีดความสามารถ องประเทศในการผลิตและกระจายสินค้าจำเป็นทางการแพทย์เพื่อการเข้าถึง
      7.การค้ากับสิ่งแวดล้อม ไทยสนับสนุนร่างถ้อยแถลงรัฐมนตรีเรื่องมลภาวะจากขยะพลาสติกและการค้าพลาสติกที่ยั่งยืนต่อสิ่งแวดล้อม
      8.การค้ากับการพัฒนา ไทยสนับสนุนให้ประเทศที่พัฒนาน้อยที่สุดข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของระบบการค้าพหุภาคี
      9.การปฏิรูปองค์การการค้าโลก ท่าทีไทยคือ 1) เร่งรัดแก้ไขปัญหาการแต่งตั้งสมาชิกองค์กรอุทธรณ์ 2) สนับสนุนการหาข้อสรุปการปฏิรูป WTO ในประเด็นต่างๆ เช่น การเจรจากฎเกณฑ์ทางการค้า การกำกับดูแลทางการค้าและความโปร่งใส และการปฏิบัติที่เป็นพิเศษและแตกต่างที่มีต่อประเทศกำลังพัฒนา (S&DT)
      10.การประชุมภายใต้กรอบการหารือหลายฝ่าย ซึ่งไทยพร้อมสนับสนุนในประเด็นต่างๆ ได้แก่ 1) การจัดทำกฎเกณฑ์ด้านพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ 2) การจัดทำวินัยเพื่อกากับดูแลการใช้กฎระเบียบภายในประเทศด้านการค้าบริการ 3) การจัดทาความตกลงว่าด้วยการอานวยความสะดวกทางการลงทุน 4) วิสาหกิจขนาดกลาง ขนาดย่อม และรายย่อย และ 5) การค้ากับเพศสภาวะ

    อนุมัติกรอบหารือ กมธ.แม่น้ำโขง พัฒนาไฟฟ้าพลังน้ำ

    ดร.รัชดา กล่าวว่าที่ประชุม ครม. อนุมัติกรอบการหารือในการประชุมคณะมนตรี คณะกรรมาธิการแม่น้ำโขง ครั้งที่ 28 และการประชุมระหว่างคณะมนตรี คณะกรรมาธิการแม่น้ำโขงกับกลุ่มหุ้นส่วนการพัฒนา ครั้งที่ 26 ตามที่สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติเสนอ โดยประเทศไทยเป็นเจ้าภาพจัดประชุมในวันที่ 25 พฤศจิกายนนี้ ผ่านรูปแบบผสมผสานระหว่างระบบประชุมทางไกลกับผู้เข้าร่วมประชุมบางส่วน ซึ่งประกอบด้วย 4 ประเทศสมาชิกได้แก่ ไทย ลาว กัมพูชา เวียดนาม และผู้เข้าร่วมประชุมจาก 1) กลุ่มหุ้นส่วนการพัฒนา คือ ประเทศหรือองค์กรที่สนับสนุนเงินทุนในการดำเนินกกิจกรรมของคณะกรรมการธิการแม้น้ำโขง เช่น ออสเตรเลีย เบลเยียม ฝรั่งเศส ญี่ปุ่น สหภาพยุโรป เป็นต้น และ 2) องค์การระหว่างประเทศและผู้แทนหน่วยงานที่ดำเนินความร่วมมือกับคณะกรรมาธิการแม่น้ำโขงในฐานะผู้สังเกตุการณ์ เช่น จีน เมียนมา สมาคมประชาชาติแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (ASEAN) องค์การความร่วมมือระหว่างประเทศแห่งญี่ปุ่น (JICA) สำนักงานน้ำระหว่างประเทศ (OIEau) โครงการสิ่งแวดล้อมแห่งสหประชาติ (UNEP) ธนาคารโลก เป็นต้น

    สำหรับกรอบการหารือในการประชุมครั้งนี้ มีประเด็นสำคัญที่จะขับเคลื่อน คือ แผนยุทธศาสตร์การพัฒนาไฟฟ้าพลังน้ำอย่างยั่งยืนในลุ่มน้ำโขงตอนล่าง (The Sustainable Hydropower Development Strategy (HSDS 2021) for the Lower Mekong Basin) มีวัตถุประสงค์เพื่อบริหารจัดการเขื่อนไฟฟ้าพลังน้ำในลุ่มน้ำโขงร่วมกัน เพื่อลดผลกระทบข้ามพรมแดน รวมทั้งรักษาสมดุลความมั่นคงในด้านน้ำ พลังงาน อาหาร สิ่งแวดล้อม และการดำรงชีวิตของผู้คนที่อยู่อาศัยตามริมฝั่งแม่น้ำโขง ประกอบด้วย 5 ยุทธศาสตร์ ดังนี้

    ยุทธศาสตร์ที่ 1 การบูรณาการอย่างยั่งยืนในการบริหารจัดการเขื่อนไฟฟ้าพลังน้ำ ตั้งแต่ขั้นตอนการวางแผน การเตรียมการ การออกแบบ การก่อสร้าง และการบริหารจัดการ

    ยุทธศาสตร์ที่ 2 การส่งเสริมการมีส่วนร่วมในการดำเนินการและการบริหารจัดการเขื่อนไฟฟ้าพลังน้ำในลักษณะการบริหารจัดการแบบขั้นบันได (เขื่อนพลังงานน้ำแบบขั้นได คือ การสร้างเขื่อนตั้งแต่ 2 แห่งขึ้นไป เรียงต่อกันภายในลำน้ำเดียวกัน) โดยจะดำเนินการ เช่น การแลกเปลี่ยนข้อมูลและศึกษาผลกระทบเกี่ยวกับการบริหารจัดการเขื่อนไฟฟ้าพลังน้ำแบบขั้นบันไดกับจีนและเมียนมา เป็นต้น

    ยุทธศาสตร์ที่ 3 การส่งเสริมการแลกเปลี่ยนข้อมูลระดับภูมิภาคและส่งเสริมความร่วมมือเกี่ยวกับแผนด้านน้ำและพลังงาน เช่น บริหารจัดการการใช้ทรัพยากรน้ำบริเวณลุ่มแม่น้ำโขงอย่างเท่าเทียมกันระหว่างประเทศสมาชิก

    ยุทธศาสตร์ที่ 4 การส่งเสริมความเป็นอยู่ของประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากการบริหารจัดการเขื่อนไฟฟ้าพลังน้ำ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเด็ก สตรี และชนกลุ่มน้อย เช่น สร้างอาชีพให้กับสมาชิดในครอบครัวที่ได้รับผลกระทบ

    ยุทธศาสตร์ที่ 5 การศึกษาวิจัยร่วม เพื่อเพิ่มพูนองค์ความรู้และพัฒนาเครื่องมือเพื่อการบริหารจัดการเขื่อนไฟฟ้าพลังน้ำอย่างยั่งยืน โดยจัดให้มีการศึกษาวิจัยในเรื่องต่างๆ ที่จะช่วยพัฒนาการบริหารจัดการเขื่อนไฟฟ้าพลังน้ำ เช่น การประเมินผล การบริหารจัดการเขื่อนไฟฟ้าพลังน้ำอย่างยั่งยืน

    ขยายเวลาลงทะเบียนนายจ้าง รับ 3,000 บาทถึง 20 ธ.ค.นี้

    น.ส.ไตรศุลี ไตรสรณกุล รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ที่ประชุม ครม. เห็นชอบให้มีการปรับปรุงโครงการส่งเสริมและรักษาระดับการจ้างงานในธุรกิจ SMEs เพื่อให้การดำเนินโครงการฯ บรรลุวัตถุประสงค์ รวมทั้งธุรกิจ SMEs สามารถดำเนินการได้ต่อเนื่อง รายละเอียดในการปรับปรุงโครงการ ดังนี้

    1. เงื่อนไขการจ่ายเงินอุดหนุน

  • นายจ้างที่ประสงค์เข้าร่วมโครงการต้องลงทะเบียนนำส่งข้อมูลเงินสมทบผ่านระบบ e-Service ของสำนักงานประกันสังคม ภายในวันที่ 15 ของเดือนถัดไปโดยให้มีผลในงวดเงินสมทบเดือนพฤศจิกายน นี้เป็นต้นไป (นำส่งข้อมูลเงินสมทบผ่านระบบ e-Service ภายในวันที่ 15 ธันวาคม 2564)
  • 2. วิธีดำเนินงาน

  • เพิ่มช่องทางการลงทะเบียน ทั้งผ่านเว็บไซต์ส่งเสริมการจ้างงาน เอสเอ็มอี.doe.go.th และยื่นแบบฟอร์มพร้อมหลักฐาน ณ สำนักงานจัดหางานหรือหน่วยเคลื่อนที่ของสำนักงานจัดหางาน เพื่อให้เจ้าหน้าที่บันทึกข้อมูลลงในระบบแทนนายจ้าง
  • ขยายระยะเวลาการลงทะเบียน โดยผู้ลงทะเบียนรอบที่ 2 ตั้งแต่วันที่ 21 พฤศจิกายน – 20 ธันวาคม 2564 จะได้รับเงินอุดหนุนตามจำนวนการจ้างงานลูกจ้างสัญชาติไทย ไม่เกิน 200 คน ระยะเวลา 2 เดือน (ธันวาคม 2564 และมกราคม 2565)
  • ปรับปรุงรูปแบบการจ่ายเงินอุดหนุน หลังจากวันที่ 15 ของเดือนถัดไป หากรัฐยังจ่ายเงินอุดหนุนยังไม่ครบถ้วนอีก ให้สามารถจ่ายเงินเพิ่มเติมได้จนกว่าจะครบถ้วนตามสิทธิ์ที่นายจ้างพึงได้รับ
  • 3. มาตรการทางภาษี

  • เงินอุดหนุนที่รัฐจ่ายให้นายจ้างจะได้รับการยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลและภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาแล้วแต่กรณี โดยนายจ้างจะต้องไม่มานำเงินอุดหนุนดังกล่าวไปคำนวณเป็นรายได้และรายจ่ายในการหักภาษี
  • ทั้งนี้ กรมสรรพากรยังได้รับมอบหมายให้ดำเนินการในส่วนที่เกี่ยวข้องเกี่ยวกับมาตรการภาษี ต่อไป

    น.ส.ไตรศุลี กล่าวว่า ผลการดำเนินงานโครงการฯ ตั้งแต่ 20 ตุลาคม – 10 พฤศจิกายน 2564 นายจ้างเข้าร่วมโครงการจำนวน 127,613 แห่ง คิดเป็นร้อยละ 32.34 ของเป้าหมายในจ้าง ลูกจ้างสัญชาติไทย จำนวน 2,062,356 คน คิดเป็นร้อยละ 51.12 ของเป้าหมายลูกจ้างสัญชาติไทย ทั้งนี้ นายจ้างที่ได้รับการอนุมัติแล้ว จำนวน 47,742 แห่ง คิดเป็นร้อยละ 37.41 ของนายจ้างที่ลงทะเบียน ที่เหลืออยู่ระหว่างรอเจ้าหน้าที่อนุมัติเข้าร่วมโครงการ หรืออยู่ระหว่างการปรับปรุงแก้ไขข้อมูล

    ทั้งนี้ ขอให้นายจ้างที่ประสงค์ จะเข้าร่วมโครงการฯ มั่นใจได้ว่า เงินอุดหนุนจากโครงการฯ นายจ้างจะไม่ต้องเสียภาษีเพิ่มขึ้น เพราะจะไม่ถูกคำนวณเป็นรายได้หรือรายจ่ายในการหักภาษี

    รับทราบฐานะการคลังปี’64 กู้ปิดงบฯ 7.35 แสนล้าน

    น.ส.ไตรศุลี กล่าวว่า ที่ประชุม ครม. รับทราบรายงานการรับจ่ายเงินงบประมาณประจำปีงบประมาณ 2564 และให้เสนอต่อรัฐสภาต่อไป โดยสาระสำคัญของผลการดำเนินงานรับจ่ายเงินงบประมาณสิ้นสุดวันที่ 30 กันยายน 2564 ที่สำคัญได้แก่ รายรับประเภทรายได้แผ่นดิน มีการประมาณการจัดเก็บรายได้ทั้งสิ้น 2.677 ล้านล้านบาท ซึ่งมีการจัดเก็บรายรับจริงเข้าเงินคงคลัง 2.438 ล้านล้านบาท แต่รัฐบาลสามารถจัดเก็บรายได้จากรัฐพาณิชย์และรายได้อื่นสูงกว่าประมาณการ โดยรายรับที่มาจากรายได้แผ่นดินต่ำกว่าที่ประมาณการไว้ 0.239 ล้านล้านบาท สำหรับรายรับประเภทเงินกู้ที่ได้ประมาณการไว้ 0.609 ล้านล้านบาท แต่มีการกู้จริง 0.735 ล้านล้านบาท

    ด้านรายจ่าย มีการประมาณการประเภทรายจ่ายงบประมาณไว้ 3.217 ล้านล้านบาท แต่มีการเบิกจ่ายจริงและกันเงินไว้เบิกเหลื่อมปี 3.181 ล้านล้านบาท ทั้งนี้งบประมาณปี 2564 ไม่มีรายจ่ายตามกฎหมายว่าด้วยเงินคงคลัง ส่วนดุลของงบประมาณประจำปี เมื่อเปรียบเทียบรายได้แผ่นดินที่นำส่งคลังกับยอดรวมรายจ่ายประจำปีพบว่า รายได้แผ่นดินต่ำกว่ารายจ่ายตามงบประมาณ 0.575 ล้านล้านบาท โดยต่ำกว่าที่ประมาณการไว้ 0.204 ล้านล้านบาท ส่วนดุลการรับ-จ่ายเงิน เมื่อเปรียบเทียบรายรับรวมทั้งสิ้นกับรายจ่ายตามงบประมาณประจำปี และรายจ่ายจากเงินกันไว้เบิกเหลื่อมปี ส่งผลให้ดุลรายรับต่ำกว่ารายจ่ายทั้งสิ้น 0.036 ล้านล้านบาท

    เห็นชอบแผนพัฒนาตามปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง 590 ล้านบาท

    น.ส.ไตรศุลี กล่าวว่า ที่ประชุม ครม. เห็นชอบในหลักการสนับสนุนการดำเนินการตามแผนปฏิบัติการด้านบูรณาการขับเคลื่อนการพัฒนาตามปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงระยะที่ 4 (ปี 2566-2570) ของมูลนิธิปิดทองหลังพระสืบสานแนวพระราชดำริและสถาบันส่งเสริมและพัฒนากิจกรรมปิดทองหลังพระ สืบสานแนวพระราชดำริ พร้อมรับทราบผลการดำเนินงานตามแผนปฏิบัติการด้านการขับเคลื่อนการพัฒนาตามปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงระยะที่ 1-3 (ปี 2554-2564)

    สำหรับงบประมาณที่จะใช้ดำเนินการนั้นจะใช้เงินงบประมาณของมูลนิธิปิดทองหลังพระฯปี 2566-2570 กรอบวงเงิน 590 ล้านบาท และขอรับการสนับสนุนงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2566-2570 ในหมวดเงินอุดหนุนทั่วไป โดยตั้งไว้ที่ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ตามแนวทางการพัฒนาที่ 3 กรอบวงเงิน 200 ล้านบาท และกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ตามแนวทางการพัฒนาที่ 4 กรอบวงเงิน 66 ล้านบาท รวม 266 ล้านบาท

    ทั้งนี้แผนปฏิบัติการด้านบูรณาการขับเคลื่อนการพัฒนาตามปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงระยะที่ 4 มีเป้าหมายเพื่อขยายผลแบบแผนการพัฒนาเชิงพื้นที่ให้เกิดการดำเนินการในพื้นที่อื่นอย่างกว้างขวาง ภายใต้ความร่วมมือกับทุกภาคส่วนที่สอดคล้องกับสถานการณ์และสนับสนุนนโยบายรัฐบาล เพื่อสร้างความเข้มแข็งให้กับเศรษฐกิจสังคมระดับฐานราก มีตัวชี้วัดคือ มีการขยายผลแบบแผนการพัฒนาเชิงพื้นที่ไปดำเนินการในพื้นที่อื่น อย่างน้อย 5 พื้นที่, มีการขยายผลการซ่อมแซมเสริมศักยภาพแหล่งน้ำขนาดเล็กในพื้นที่ที่มีปัญหาแล้งซ้ำซาก 625 โครงการ, มีหมู่บ้านในพื้นที่ที่มีสถานการณ์ยาเสพติด 8 หมู่บ้าน และมีการประกอบสัมมาชีพพึ่งพาตนเองเป็นแหล่งเรียนรู้ในการป้องกันและเฝ้าระวังยาเสพติด, เกิดเครือข่ายผู้ประกอบการในพื้นที่โครงการเศรษฐกิจฐานรากตามแนวทางเศรษฐกิจชีวภาพ เศรษฐกิจหมุนเวียน และเศรษฐกิจสีเขียว (BCG) ไม่น้อยกว่า 27 เครือข่าย และมีระบบข้อมูลและเทคโนโลยีที่ทันสมัย ทำให้การทำงานมีประสิทธิภาพ ส่งผลให้การวิเคราะห์ตัดสินใจของผู้บริหารทันต่อการแก้ไขปัญหา

    ส่วนผลการดำเนินงานตามแผนปฏิบัติการฯระยะที่ 1-3 นั้น สามารถขับเคลื่อนพันธกิจให้ไปสู่เป้าหมายการพัฒนาตามแนวพระราชดำริ รวมทั้งได้ให้ความสำคัญกับการประยุกต์ใช้แนวพระราชดำริในพื้นที่ที่มีปัญหาด้านความมั่นคงเพื่อให้สอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี โดยในด้านเศรษฐกิจ มีผลดำเนินการ พัฒนาระบบน้ำเพื่อการเกษตร 514,420 ไร่ มีประชาชนได้รับประโยชน์ 148,886 ครัวเรือน ก่อให้เกิดรายได้ต่อประชาชน 4,6831 ล้านบาท

    ด้านสังคมและวัฒนธรรม สามารถพัฒนาพื้นที่ต้นแบบ 9 จังหวัด และขยายผลการพัฒนาไปยังพื้นที่ต่างๆ ส่งผลให้เกิดการบริหารจัดการโดยชุมชนในลักษณะกลุ่มวิสาหกิจชุมชนและสหกรณ์ 85 กลุ่ม มีแผนพัฒนาหมู่บ้านที่มีคุณภาพในหมู่บ้านที่มีสถานการณ์ยาเสพติดพื้นที่ชายแดนภาคเหนือ 52 หมู่บ้าน นอกจากนี้ยังมีการเสริมสร้างความเข้มแข็งและสันติสุขในสังคมพหุวัฒนธรรมจังหวัดชายแดนใต้จากโครงการทุเรียนคุณภาพ

    ด้านสิ่งแวดล้อม ทำให้มีพื้นที่ป่าเพิ่มขึ้น 106,580 ไร่ ด้วยการลดการปลูกพืชเชิงเดี่ยว และลดการเกิดไฟป่าในพื้นที่จังหวัดน่านได้ร้อยละ 99 ดำเนินการอนุรักษ์ป่าด้วยการสร้างฝายอนุรักษ์ในพื้นที่ต่างๆ 6,694 แห่ง พร้อมกับพัฒนาฐานข้อมูลภูมิสารสนเทศและแผนที่ภาพถ่ายความละเอียดสูงโดยอากาศยานไร้คนขับที่จังหวัดอุทัยธานี ทำให้ประชาชนมีความมั่นใจในการประกอบอาชีพ และคณะอนุกรรมการนโยบายที่ดินแห่งชาติมอบใบรับรองสิทธิ์ทำกินพื้นที่ 13,044 ไร่ ส่วนด้านองค์ความรู้ มีการสร้างหลักสูตร 11 หลักสูตร และครูภูมิปัญญา 115 คน รวมทั้งสามารถฝึกอบรมด้านการพัฒนาตามแนวพระราชดำริให้ผู้นำชุมชน นักศึกษา บุคลากรภาครัฐ 17,467 คน และนำนวัตกรรม เทคโนโลยีมาใช้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการพัฒนา

    ผ่านร่าง กม.ให้ จนท.รังวัดสอบเขตที่ดินข้างเคียง

    น.ส.ไตรศุลี กล่าวว่า ที่ประชุม ครม. อนุมัติหลักการร่างกฎกระทรวงการติดต่อหรือการแจ้งผู้มีสิทธิในที่ดินข้างเคียงในการรังวัดสอบเขตโฉนดที่ดิน ซึ่งเป็นการปรับปรุงกฎกระทรวงฉบับที่ 31 (พ.ศ. 2521) ซึ่งใช้บังคับมาเป็นเวลานาน ทำให้การตรวจสอบที่อยู่เจ้าของที่ดินข้างเคียง การติดต่อหรือการแจ้งไม่สามารถดำเนินการให้เจ้าของที่ดินผู้ยื่นคำขอรังวัดได้อย่างรวดเร็ว ประกอบกับในปัจจุบันหน่วยงานได้นำระบบเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารมาใช้ในการปฏิบัติราชการ จึงเห็นสมควรที่จะปรับปรุงกฎกระทรวงฉบับเดิม สำหรับสาระสำคัญของร่างกฎกระทรวงที่ปรับปรุงใหม่ประกอบด้วย

      1.กำหนดให้ยกเลิกกฎกระทรวงฉบับที่ 31(พ.ศ.2521) ออกตามความในพระราชบัญญัติให้ใช้ประมวลกฎหมายที่ดิน พ.ศ.2497
      2.กำหนดให้การติดต่อผู้มีสิทธิในที่ดินข้างเคียงให้มาระวังแนวเขตให้แจ้งโดยส่งไปรษณีย์ลงทะเบียนตอบรับไปยังภูมิลำเนาตามที่อยู่ที่แจ้งไว้เป็นหนังสือต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ และตามที่อยู่ที่ตรวจสอบได้จากระบบสารสนเทศฐานข้อมูลทะเบียนประวัติราษฎร จากฐานข้อมูลทะเบียนกลาง กรมการปกครอง ส่วนกรณีที่เจ้าของที่ดินข้างเคียงเป็นนิติบุคคลให้ตรวจสอบจากระบบเชื่อมโยงข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์กับกรมพัฒนาธุรกิจการค้า
      3.ในกรณีที่ไม่สามารถติดต่อผู้มีสิทธิในที่ดินข้างเคียงได้ ให้พนักงานเจ้าหน้าที่ติดต่อโดยวิธีปิดประกาศเพื่อให้มาลงชื่อรับรองแนวเขตหรือคัดค้านการรังวัดไว้ในที่เปิดเผย ณ สำนักงานที่ดินและที่ทำการผู้ใหญ่บ้านซึ่งที่ดินนั้นตั้งอยู่ และให้ถือว่าผู้มีสิทธิในที่ดินข้างเคียงได้รับทราบหนังสือเมื่อล่วงพ้นระยะเวลา 15 วัน นับแต่วันปิดประกาศ
      4. กรณีที่ผู้มีสิทธิในที่ดินข้างเคียงได้รับการติดต่อให้มาระวังแนวเขตแล้ว แต่ไม่มารับรองแนวเขตโดยไม่คัดค้านการรังวัด ให้พนักงานเจ้าหน้าที่จัดทำเป็นหนังสือแจ้งเจ้าของที่ดินข้างเคียงให้มาลงชื่อรับรองแนวเขต หรือ คัดค้านการรังวัด โดยส่งทางไปรษณีย์ลงทะเบียนตอบรับไปยังภูมิลำเนาอีกครั้งหนึ่ง
      5.ในกรณีที่ผู้มีสิทธิในที่ดินข้างเคียงได้รับการติดต่อแล้ว แต่มาแล้วไม่ยอมลงชื่อรับรองแนวเขตหรือคัดค้านการรังวัด ให้พนักงานเจ้าหน้าที่บันทึกการไม่ยอมลงลายมือชื่อ และจัดทำเป็นหนังสือแจ้งเจ้าของที่ดินข้างเคียงให้มาลงชื่อรับรองแนวเขตหรือคัดค้านการรังวัด โดยส่งทางไปรษณีย์ลงทะเบียนตอบรับไปยังภูมิลำเนาหรือตามที่ผู้มีสิทธิในที่ดินข้างเคียงได้แจ้งไว้ในวันรังวัดอีกครั้งหนึ่ง
      6.กรณีที่สำนักงานที่ดินจังหวัดหรือสำนักงานที่ดินสาขาใดได้นำระบบเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารมาใช้ในการติดต่อหรือส่งหนังสือแจ้งการดำเนินการทางอิเล็กทรอนิกส์ดังกล่าวถือเสมือนเป็นต้นฉบับและให้ถือว่ามีผลนับแต่เวลาที่ข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์นั้นได้เข้าสู่ระบบข้อมูลของผู้รับข้อมูล และ
      7.กำหนดให้การติดต่อหรือการแจ้งที่อยู่ระหว่างการดำเนินการอยู่ในวันที่กฎกระทรวงนี้ใช้บังคับ ให้ดำเนินการต่อไปตามกฎกระทรวงฉบับที่ 31 (พ.ศ.2521) จนแล้วเสร็จ

    เปิดตัวทะเบียนรถแบบใหม่ ใช้คำผสมเลขไม่เกิน 4 หลัก

    น.ส.ไตรศุลี กล่าวว่า ที่ประชม ครม. อนุมัติหลักการร่างกฎกระทรวงกำหนดขนาด ลักษณะ และสี ของแผ่นป้ายทะเบียนรถ และการแสดงแผ่นป้ายทะเบียนรถและเครื่องหมายแสดงการเสียภาษีประจำปี (ฉบับที่ ..) พ.ศ. …. ตามที่กระทรวงคมนาคมเสนอ ซึ่งเป็นการแก้ไขจากร่างฯที่สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจพิจารณาแล้ว

    โดยมีสาระสำคัญเป็นการกำหนดลักษณะของแผ่นป้ายทะเบียนรถ สำหรับรถยนต์นั่งส่วนบุคคลไม่เกิน 7 คน ที่มีหมายเลขทะเบียน ซึ่งเป็นที่ต้องการหรือเป็นที่นิยม อาจมีตัวอักษรประจำหมวดมากกว่า 2 ตัวอักษร หรือ มีตัวอักษรผสมสระ หรือ วรรณยุกต์ก็ได้ เพื่อให้การกำหนดตัวอักษรประจำหมวดมีความหลากหลายและเหมาะสมยิ่งขึ้น ซึ่งแตกต่างไปจากร่างฯที่สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจพิจารณาแล้ว ตามที่ ครม. เคยมีมติอนุมัติหลักการไว้ โดยขอแก้ไขจากเดิมที่ให้ตัวอักษรประจำหมวดพิเศษใช้ได้เฉพาะกับหมายเลขทะเบียน 1 หลัก เป็น “ให้ใช้กับหมายเลขทะเบียน ซึ่งเป็นที่ต้องการ หรือ เป็นที่นิยม” (301 เลขหมาย) ที่มีทั้งหมายเลขทะเบียน 1 หลัก, 2 หลัก, 3 หลักและ 4หลักได้ด้วย

    สำหรับการแก้ไขเพิ่มเติมลักษณะแผ่นป้ายทะเบียนของรถยนต์นั่งส่วนบุคคลไม่เกิน 7 คน ในกฎกระทรวงกำหนดขนาด ลักษณะ และสีของแผ่นป้ายทะเบียนรถ และการแสดงแผ่นป้ายทะเบียนรถและเครื่องหมายแสดงการเสียภาษีประจำปี 2554 โดยกำหนดให้แผ่นป้ายทะเบียนรถแบ่งออกเป็น 2 บรรทัด ดังนี้คือ บรรทัดที่ 1 ประกอบด้วย ตัวอักษรประจำหมวดตัวที่ 1 ตัวอักษรประจำหมวดตัวที่ 2 และหมายเลขทะเบียนไม่เกิน 4 หลัก บรรทัดที่ 2 เป็นตัวอักษรแสดงชื่อกรุงเทพมหานคร หรือ จังหวัดที่จดทะเบียน เว้นแต่ กรณีจดทะเบียนที่อำเภอเบตง จังหวัดยะลา ให้ใช้คำว่า เบตง ทั้งนี้ตัวอักษรให้ใช้ตัวอักษรไทย และหมายเลขทะเบียนให้ใช้ตัวเลขอารบิค และทั้งตัวเลขและตัวอักษรให้อัดเป็นรอยดุน

    ทั้งนี้ แผ่นป้ายทะเบียนของรถยนต์นั่งส่วนบุคคลไม่เกิน 7 คน ให้มีลักษณะเช่นเดียวกับข้างต้น เว้นแต่กรณีบรรทัดที่ 1 มีหมายเลขทะเบียนซึ่งเป็นที่ต้องการหรือเป็นที่นิยม บรรทัดที่ 1 อาจประกอบด้วยตัวอักษรประจำหมวดมากกว่า 2 ตัวอักษร หรือมีตัวอักษรผสมสระหรือวรรณยุกต์ได้ ทั้งนี้ กรณีที่แผ่นป้ายทะเบียนรถมีอักษรประจำหมวดมากกว่า 2 ตัวอักษร หรือมีตัวอักษรผสมสระหรือวรรณยุกต์ ให้ขอบแผ่นป้ายทะเบียนรถดังกล่าวไม่ต้องอัดเป็นรอยดุน และเครื่องหมาย ตัวเลข และตัวอักษรใช้เป็นลายพิมพ์ โดยการกำหนดตัวอักษรประจำหมวดให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ที่อธิบดีประกาศกำหนด

    อนุมัติงบฯ 1,169 ล้าน ผลิตสร้างช่างฝีมือ 10 ปี 9,000 คน

    น.ส.ไตรศุลี กล่าวว่า ที่ประชุม ครม. เห็นชอบในหลักการโครงการอาชีวะ สร้างช่างฝีมือ ตามแนวทางโรงเรียนพระดาบสจำนวน 30 แห่ง เป็นระยะเวลา 10 ปี ตั้งแต่ปีงบประมาณ 2566-2575 โดย ครม. ได้อนุมัติเงินงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2566-2575 ในกรอบวงเงินทั้งสิ้น 1,169 ล้านบาท เพื่อใช้เป็นค่าใช้จ่ายในการดำเนินโครงการ โดยจากการประเมินผลโครงการที่ผ่านมาในโรงเรียน 12 แห่งที่นำร่องจัดการศึกษาหลักสูตรระยะสั้นด้านอาชีพระยะเวลา 1 ปี พบว่า ผู้สำเร็จการศึกษาผ่านการประเมินมาตรฐานอาชีพทุกคน และผู้สำเร็จการศึกษาได้กลับคืนถิ่นภูมิภาคของตนร้อยละ 100

    สำหรับโครงการอาชีวะ สร้างช่างฝีมือ ตามแนวทางโรงเรียนพระดาบส มีวัตถุประสงค์เพื่อ สร้างโอกาสทางการศึกษาให้แก่เด็ก เยาวชน และประชาชนในพื้นที่ห่างไกล ชายแดน ชายขอบ เขตชนบท และเขตเศรษฐกิจพิเศษที่มีฐานะยากจน ขาดโอกาสทางการศึกษาหรือว่างงาน ได้มีทักษะวิชาชีพติดตัว สามารถทำงานประกอบอาชีพได้ มีเป้าหมายจำนวน 900 คนต่อปี เป็นเวลา 10 ปี รวม 9,000 คน โดยเข้ารับการศึกษาหลักสูตรระยะสั้นด้านอาชีพ 1 ปี

    ทั้งนี้จะใช้หลักสูตรและการจัดการเรียนการสอนตามแนวทางโรงเรียนพระดาบสดังนี้คือ ระยะ 6 เดือนแรก จัดฝึกทักษะช่างพื้นฐาน 11 ทักษะอาชีพ เช่น ทักษะช่างยนต์ ช่างเชื่อม ช่างไฟฟ้ากำลัง ช่างอิเล็กทรอนิกส์ ช่างกลโรงงาน ช่างเขียนแบบ เป็นต้น ระยะเวลา 3 เดือน ผู้เรียนจะเลือกทักษะที่สนใจเพื่อฝึกเป็นทักษะเฉพาะทาง ระยะเวลา 2 เดือน ผู้เรียนออกฝึกงานในสถานประกอบการ เพื่อฝึกทักษะอาชีพที่แท้จริง และระยะเวลา 1 เดือนสุดท้าย ผู้เรียนเข้ารับการทดสอบมาตรฐานฝีมือแรงงานหรือมาตรฐานคุณวุฒิวิชาชีพ

    ตั้ง “สมพร ศรีเมือง” เป็น ผอ.องค์การส่งเสริมกิจการโคนมฯ

    น.ส.ไตรศุลี กล่าวว่า วันนี้ที่ประชุม ครม. มีมติเห็นชอบเรื่องการแต่งตั้ง โยกย้ายข้าราชการ และผู้บริหารระดับสูงของหน่วยงานของรัฐ ดังนี้

    1. เรื่อง การแต่งตั้งข้าราชการพลเรือนสามัญให้ดำรงตำแหน่งประเภทวิชาการระดับทรงคุณวุฒิ (กระทรวงสาธารณสุข)

    คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติตามที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขเสนอแต่งตั้งข้าราชการพลเรือนสามัญ สังกัดกระทรวงสาธารณสุข ให้ดำรงตำแหน่งประเภทวิชาการ ระดับทรงคุณวุฒิ จำนวน 2 ราย ตั้งแต่วันที่มีคุณสมบัติครบถ้วนสมบูรณ์ ดังนี้

      1. นายวิรัช ประวันเตา นักวิชาการสาธารณสุขเชี่ยวชาญ (ด้านวิจัย) กรมควบคุมโรค ดำรงตำแหน่ง นักวิชาการสาธารณสุขทรงคุณวุฒิ (ผู้ทรงคุณวุฒิด้านวิจัย) กรมควบคุมโรค ตั้งแต่วันที่ 16 กรกฎาคม 2564
      2. นางอัมพร จันทวิบูลย์ ผู้อำนวยการสำนัก (ผู้อำนวยการระดับสูง) สำนักสุขาภิบาลอาหารและน้ำ กรมอนามัย ดำรงตำแหน่ง นักวิชาการสาธารณสุขทรงคุณวุฒิ (ด้านสุขาภิบาล) กรมอนามัย ตั้งแต่วันที่ 29 กรกฎาคม 2564

    ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมแต่งตั้งเป็นต้นไป

    2. เรื่อง การแต่งตั้งข้าราชการพลเรือนสามัญให้ดำรงตำแหน่งประเภทบริหารระดับสูง (กระทรวงศึกษาธิการ)

    คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติตามที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการเสนอแต่งตั้ง นายธีร์ ภวังคนันท์ ที่ปรึกษาด้านพัฒนาระบบเครือข่ายและการมีส่วนร่วม (นักวิชาการศึกษาทรงคุณวุฒิ) สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน ให้ดำรงตำแหน่ง ผู้ตรวจราชการกระทรวง สำนักงานปลัดกระทรวง กระทรวงศึกษาธิการ เพื่อทดแทนตำแหน่งที่ว่าง ตั้งแต่วันที่ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมแต่งตั้งเป็นต้นไป

    3. เรื่อง การแต่งตั้งข้าราชการพลเรือนสามัญให้ดำรงตำแหน่งประเภทบริหารระดับสูง (สำนักนายกรัฐมนตรี)

    คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติตามที่สำนักงาน ก.พ. เสนอแต่งตั้ง นางสาวพัชรา เพ็ชรทวี ที่ปรึกษาระบบราชการ (นักทรัพยากรบุคคลทรงคุณวุฒิ) สำนักงาน ก.พ. ให้ดำรงตำแหน่ง รองเลขาธิการ ก.พ. สำนักงาน ก.พ. สำนักนายกรัฐมนตรี เพื่อทดแทนตำแหน่งที่ว่าง ตั้งแต่วันที่ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมแต่งตั้งเป็นต้นไป

    4. เรื่อง การแต่งตั้งประธานกรรมการในคณะกรรมการสถาบันคุ้มครองเงินฝาก

    คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบตามที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังเสนอแต่งตั้ง นายพรชัย ฐีระเวช เป็นประธานกรรมการในคณะกรรมการสถาบันคุ้มครองเงินฝาก แทนประธานกรรมการเดิมที่ลาออก ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ 23 พฤศจิกายน 2564 เป็นต้นไป และให้ผู้ที่ได้รับแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งแทน อยู่ในตำแหน่งเท่ากับวาระที่เหลืออยู่ของประธานกรรมการซึ่งตนแทน

    5. เรื่อง การแต่งตั้งกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิในคณะกรรมการสถาบันส่งเสริมความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสภาพแวดล้อมในการทำงาน เพื่อแทนตำแหน่งที่ว่าง

    คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติตามที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงานเสนอแต่งตั้ง นายอำนวย ภู่ระหงษ์ เป็นกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิในคณะกรรมการสถาบันส่งเสริมความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสภาพแวดล้อมในการทำงาน แทนนางสาวสุดธิดา กรุงไกรวงศ์ กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิเดิมที่พ้นจากตำแหน่งเนื่องจากมีอายุครบเจ็ดสิบปีบริบูรณ์ ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ 23 พฤศจิกายน 2564 เป็นต้นไป และให้ผู้ได้รับแต่งตั้งแทนตำแหน่งที่ว่างอยู่ในตำแหน่งเท่ากับวาระที่เหลืออยู่ของกรรมการซึ่งได้แต่งตั้งไว้แล้ว

    6. เรื่อง การแต่งตั้งประธานกรรมการและกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิในคณะกรรมการนวัตกรรมแห่งชาติ

    คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติตามที่กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมเสนอแต่งตั้งบุคคลเป็นประธานกรรมการ และกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิในคณะกรรมการนวัตกรรมแห่งชาติ แทนคณะกรรมการเดิมที่ครบวาระการดำรงตำแหน่ง ดังนี้

      1. นายสรนิต ศิลธรรม ดำรงตำแหน่ง ประธานกรรมการ
      2. นายยงวุฒิ เสาวพฤกษ์ ดำรงตำแหน่ง กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ
      3. นายสุพันธุ์ มงคลสุธี ดำรงตำแหน่ง กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ
      4. นายภุชงค์ อุทโยภาศ ดำรงตำแหน่ง กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ
      5. นายวีรชัย อาจหาญ ดำรงตำแหน่ง กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ
      6. นายแสงชัย ธีรกุลวาณิช ดำรงตำแหน่ง กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ
      7. นางสาวณัฐชา ทวีแสงสกุลไทย ดำรงตำแหน่ง กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ

    ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ 23 พฤศจิกายน 2564 เป็นต้นไป

    7. เรื่อง การแต่งตั้งประธานกรรมการและกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิในคณะกรรมการสถาบันวิจัยแสงซินโครตรอน

    คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติตามที่กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม เสนอแต่งตั้งประธานกรรมการและกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิในคณะกรรมการสถาบันวิจัยแสงซินโครตรอน แทนประธานกรรมการและกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิในคณะกรรมการสถาบันวิจัยแสงซินโครตรอนที่ครบวาระการดำรงตำแหน่ง ดังรายชื่อต่อไปนี้

      1. นายวีระพงษ์ แพสุวรรณ เป็นประธานกรรมการ
      2. นายกำจร ตติยกวี เป็นกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ
      3. นายชาตรี สุวรรณิน เป็นกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ
      4. นายรัตติกร ยิ้มนิรัญ เป็นกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ
      5. นายชูกิจ ลิมปิจำนงค์ เป็นกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ
      6. นายเอกนัฏ พร้อมพันธุ์ เป็นกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ
      7. นายธันยวัต สมใจทวีพร เป็นกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ
      8. นายอรรถสิทธิ์ กอชัยพฤกษ์ เป็นกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ

    ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ 23 พฤศจิกายน 2564 เป็นต้นไป

    8. เรื่อง การแต่งตั้งข้าราชการการเมือง (สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี)

    คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบตามที่สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรีเสนอแต่งตั้ง นายสุทธิ สุโกศล ให้ดำรงตำแหน่งข้าราชการการเมือง ตำแหน่งประจำสำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ 23 พฤศจิกายน 2564 เป็นต้นไป

    9. เรื่อง ขอความเห็นชอบแต่งตั้งผู้อำนวยการองค์การส่งเสริมกิจการโคนมแห่งประเทศไทย

    คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบตามที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์เสนอ แต่งตั้งนายสมพร ศรีเมือง เป็นผู้อำนวยการองค์การส่งเสริมกิจการโคนมแห่งประเทศไทย โดยให้ได้รับค่าตอบแทนคงที่ในอัตราเดือนละ 170,000 บาท และให้ได้รับสิทธิประโยชน์ตามที่กระทรวงการคลังให้ความเห็นชอบ ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ลงนามในสัญญาจ้างเป็นต้นไป

    อ่าน มติ ครม. ประจำวันที่ 23 พฤศจิกายน 2564 เพิ่มเติม

    ป้ายคำ :