ThaiPublica > คอลัมน์ > แก้ พ.ร.บ.สลากกินแบ่งฯ: เกาผิดที่คัน

แก้ พ.ร.บ.สลากกินแบ่งฯ: เกาผิดที่คัน

14 มกราคม 2019


ดร.เจิมศักดิ์ ปิ่นทอง ศาสตราภิชาน มหาวิทยาลัยรังสิต

ปัญหาของการจัดจำหน่ายสลากกินแบ่งของรัฐบาลในปัจจุบัน คือ 1) มีการขายสลากกินแบ่งรัฐบาลเกินราคาที่กำหนด เพิ่มจำนวนสลากในยุค คสช. จาก 37 ล้านฉบับเป็น 90 ล้านฉบับต่องวด แล้วก็ไม่ได้ผล 2) การเพิ่มปริมาณสลากกินแบ่งในยุค คสช. ถึงเกือบ 3 เท่าตัว ทำให้ถูกกล่าวหาว่าเป็นการมอมเมาประชาชนที่มีรายได้น้อย 3) คสช. ได้ออกคำสั่งลดส่วนแบ่งรายได้ที่เป็นรายได้แผ่นดิน จาก 28% ของรายรับจากการขาย เหลือเพียง 20% นำ 8% ที่คลังสูญเสียรายได้ไปเพิ่มเป็นค่าการตลาดสำหรับการจัดพิมพ์และจำหน่ายอีก 5% ส่วนอีก 3% นำไปเข้ากองทุนสำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาลพัฒนาสังคม

การแก้ไข พ.ร.บ.สำนักงานสลากฯที่ สนช. (สภานิติบัญญัติแห่งชาติ) กำลังพิจารณา พ.ร.บ.สำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาลที่คณะรัฐมนตรีเสนอ มีประเด็นที่ควรพิจารณาด้วยความระมัดระวัง คือ

(1) การแก้ไข พ.ร.บ. ที่เสนอเป็นการเปิดโอกาสให้สำนักงานสลากกินแบ่งฯ ออกผลิตภัณฑ์รูปแบบใหม่ที่เป็นการพนันได้มากขึ้น ซึ่งรวมถึงการออก lotto หรือหวยออนไลน์รูปแบบต่างๆ เพื่อดึงดูดเร้าใจผู้บริโภคได้มากขึ้น

ข้ออ้าง คือ มีไว้เพื่อสู้และแข่งขันกับหวยใต้ดิน หวยเถื่อนที่รัฐไม่สามารถปราบปรามได้ และอ้างว่าสำนักงานสลากกินแบ่งฯ จะต้องขออนุมัติจากคณะรัฐมนตรีอยู่แล้ว แต่การแก้กฎหมายลักษณะนี้ก็คือ การให้เช็คเปล่ากับรัฐบาลในการออกผลิตภัณฑ์สินค้าการพนันที่รัฐเป็นเจ้าของ

(2) การแก้ไข พ.ร.บ. ฉบับนี้ตามที่คณะรัฐมนตรีเสนอ เป็นการปรับโครงสร้างส่วนแบ่งรายได้เข้าแผ่นดินครั้งใหญ่ โดยลดรายได้เข้าแผ่นดินไปเพิ่มรายได้สำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาลอีก 5% จากเดิมรายรับจากการขายสลากฯ 60% นำมาเป็นรางวัล 28% นำมาเป็นรายได้เข้าแผ่นดิน 12% เป็นค่าใช้จ่ายการตลาด เปลี่ยนมาเป็น 60% นำมาเป็นรางวัลเหมือนเดิม 23% นำมาเป็นรายได้เข้าแผ่นดิน และ 17% เป็นค่าใช้จ่ายการตลาด เท่ากับว่า รายได้ของแผ่นดินจะลดลงประมาณเกือบ 9 พันล้านบาทต่อปี และสำนักงานสลากฯ จะมีรายได้เพิ่มขึ้นปีละเกือบ 9 พันล้านบาท เขาเอาไปทำอะไรบ้าง น่าติดตาม!

(3) การแก้ไข พ.ร.บ. สำนักงานสลากฯ ครั้งนี้ เท่ากับว่าเป็นการแก้กฎหมายเพื่อสร้างความชอบธรรมให้แก่คำสั่ง คสช. ที่ 11/2558 (1 พฤษภาคม 2558) ที่ได้เคยสั่งให้ลดรายรับจากแผ่นดินไปให้แก่สำนักงานสลากกินแบ่งอย่างถาวร

แต่ยกเลิกคำสั่งของ คสช. ฉบับเดียวกัน ที่นำเงิน 3% ของรายรายรับจากการขายสลากฯ ไปตั้งกองทุนพัฒนาสังคมเพื่อช่วยรณรงค์ให้ลด-เลิกการพนัน และให้ยุบกิจการของกองทุนเพื่อลดการพนันของสังคม นำเงินคงเหลือคืนคลัง

ในความเป็นจริง หาก คสช. จะยกเลิกคำสั่งที่ 11/2558 ที่อ้างเพื่อแก้ไขการจำหน่ายสลากกินแบ่งเกินราคา แล้วไม่ประสบความสำเร็จ ยังดีกว่าและเหมาะสมกว่าการขอให้ สนช. แก้ไขพระราชบัญญัติสำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาลในครั้งนี้

การปฏิรูประบบจำหน่ายสลากฯ ด้วยเทคโนโลยีใหม่ ข้อเสนอต่อไปนี้ไม่จำเป็นต้องแก้ไข พ.ร.บ.สำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาล และเป็นข้อเสนอที่สอดคล้องกับข้อเสนอของมหาวิทยาลัยรังสิต และองค์กรพัฒนาเอกชน 4 องค์กร ดังนี้

1. การเพิ่มจำนวนสลากฯ จาก 37 ล้านฉบับ เป็น 90 ล้านฉบับ ไม่สามารถแก้ปัญหาการขายสลากเกินราคาได้ เพราะพฤติกรรมของคนซื้อสลากฯ มองด้วยมายาคติว่า สลากฯ ทุกใบมีโอกาสถูกรางวัลไม่เท่ากัน เลขตองหรือเรียงเบอร์จะมีโอกาสถูกรางวัลต่ำกว่าเลขทั่วๆ ไป ทั้งๆ ที่เลข 6 หลักที่กำหนดขึ้นทุกตัว ไม่ว่าจะเป็นตัวอย่างเลข 367213 หรือ 333333 มีโอกาสถูกรางวัลหรือถูกกินเท่ากัน เพราะเลขเจาะจง 367213 ก็มีโอกาสน้อย เนื่องจากเป็นการเจาะจงตัวเลขเช่นกัน

แต่ด้วยมายาคตินี้ จึงทำให้เลขสลากฯ จำนวนหนึ่งมีความต้องการน้อย เลขอีกจำนวนหนึ่งมีความต้องการมาก โดยเฉพาะเมื่อมีผู้ทรงเจ้าใบ้หวย จึงเกิดข่าวลือในตัวเลขขึ้น รวมทั้งทะเบียนรถยนต์ของผู้มีอำนาจที่เปลี่ยนรถยนต์ใช้ และสื่อมวลชนประโคมข่าวเน้นย้ำตัวเลขบรรดาตัวเลขที่ต้องการเหล่านี้ ทำให้คนเดินขายสลากฯ (คนเดินหวย) สามารถหากำไรพิเศษได้ด้วยการขึ้นราคา

2. เทคโนโลยีที่ก้าวหน้า โลกที่เปลี่ยนไป แอปพลิเคชันที่ปรากฏในโทรศัพท์มือถือปัจจุบันสามารถช่วยได้ โดยไม่ใช่เป็นหวยออนไลน์ ที่ให้เอกชนสัมปทานผูกขาด กล่าวคือ

  • ผู้ซื้อสามารถซื้อตรงจากสำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาล โดยให้ผู้ซื้อสลากโหลดแอปพลิเคชันของสำนักงานสลากฯ และสามารถเข้าไปเลือกสลากกินแบ่งว่าชอบใบไหน (1 ใบ มีตัวเลข 6 หลัก แต่ละใบมีตัวเลขไม่ซ้ำกัน) เมื่อมีคนกดเลือกใบใดและจ่ายโอนเงินแล้ว ก็ระบุเลขบัตรประชาชนหรือสแกนลายมือผู้ซื้อก็ได้ แล้วผู้ซื้อก็จะได้รูปถ่ายการซื้อสลากฯ เป็นหลักฐาน (เหมือนการโอนเงินธนาคารในปัจจุบัน)
  • เมื่อถูกรางวัล สำนักงานสลากฯ จะโอนเงินรางวัล (หักภาษี) มาให้ตามเลขบัญชีธนาคารที่โอนไปซื้อสลาก จึงเป็นการโอนเงินรางวัลให้ไม่ผิดตัว ป้องกันการแอบอ้างความเป็นเจ้าของอย่างที่เคยเกิดขึ้นระหว่างครูกับตำรวจ
  • สามารถจำกัดผู้ซื้อที่เป็นเยาวชนอายุน้อยได้ เพราะเลขประจำตัวในบัตรประชาชนจะบอกข้อมูลถึงอายุผู้ซื้อสลาก
  • ผู้ซื้อสลากสามารถเลือกใบสลากได้ง่าย ไม่ต้องเชื่อข่าวลือว่าผู้ขายสลากที่มหาชัยมีรางวัลเด็ด เคยถูกรางวัลที่หนึ่งมาแล้วถึง 15 ใบ ผู้ซื้อจะซื้อเลขอะไรก็ค้นหาจากแอปพลิเคชันได้ในราคาคงที่
  • นอกจากสำนักงานสลากฯ จะควบคุมราคา ควบคุมเยาวชน ไม่ให้ซื้อได้แล้ว ยังมีข้อมูลและสถิติเพื่อรวบรวมวิเคราะห์ได้ว่าผู้ซื้อสลากฯ เป็นคนกลุ่มไหน อาชีพและเพศใด อยู่ในสถานะทางสังคมและเศรษฐกิจระดับไหน กลุ่มคนที่ถูกหวยและถูกกินคือใคร นำเงินรางวัลไปทำอะไร ผู้ซื้อหวยเป็นคนเดียวกันกับผู้ที่มาลงทะเบียนเป็นผู้มีรายได้น้อย มากน้อยแค่ไหน ความรู้ทางวิชาการถึงผลกระทบทั้งทางบวกและลบจากการออกสลากกินแบ่งฯ จะทำให้เราพัฒนาแก้ไขในอนาคตได้
  • รัฐบาลสามารถลดปริมาณสลากกินแบ่งฯ ให้อยู่ในระดับที่เหมาะสม อาจเหลือเท่าเดิม คือ 37 ล้านฉบับ หรือจะลดลงจากเดิมก็ได้ และไม่ถูกกล่าวหาว่าเป็นรัฐบาลที่มอมเมาประชาชน
  • ประเด็นที่อาจจะมีผลกระทบอยู่บ้างก็คือ ผู้ขายสลากฯ

    ผู้ขายสลากฯ ที่เคยได้รับจัดสรรโควตาและมีกำไรพิเศษจากโควตาจะได้รับผลกระทบและมักจะนำเอาผู้พิการออกหน้า ในความจริงผู้พิการเหล่านี้ต้องการรายได้จากการขาย ไม่ใช่ต้องการขายสิ่งพนัน ดังนั้น หากจะนำเงินที่ประหยัดได้จากค่าการตลาดที่ลดลงด้วยการซื้อ-ขายตรง (ตัดพ่อค้า/คนกลาง) มาช่วยกันสร้างรายได้จากการทำงานที่สร้างสรรค์ หาเงินที่ก่อให้เกิดการผลิตและบริการที่สร้างสรรค์สังคมได้ ก็เชื่อได้ว่าคนที่ได้รับผลกระทบเหล่านี้ก็น่าจะพอใจ

    ในระยะแรกที่ผู้บริโภคบางคนอาจไม่คุ้นเคยกับการซื้อสลากผ่านแอปพลิเคชัน ก็ให้มีผู้ค้าปลีกที่ขายสลากผ่านแอปพลิเคชันในบางพื้นที่ ซึ่งจะสะดวก รวดเร็ว และปลอดภัยกว่า ขณะนี้เจ้ามือหวยเถื่อนก็มีการขายหวยเถื่อนผ่านแอปพลิเคชันมาก่อนหน้าแล้ว

    เมื่อเทคโนโลยีใหม่ในยุค 4.0 ได้พัฒนาขึ้น ธุรกรรมการซื้อขายสลากกินแบ่งฯ ก็น่าจะพัฒนา เพื่อแก้ปัญหาการเอารัดเอาเปรียบผู้บริโภค ประสิทธิภาพการดำเนินการ และการกระจายสลาก ต้นทุนทางการตลาดที่มีมูลค่า 17% ของรายได้จากการขายสลากฯ คิดเป็นเงินเกือบ 3 หมื่นล้านบาทต่อปี (คำนวณจากสลากฯ งวดละ 90 ล้านฉบับ) ที่ต้องละลายไปกับระบบพิมพ์กับระบบจัดจำหน่ายที่ล้าหลัง ซึ่งเป็นจำนวนเงินมหาศาล สามารถนำมาพัฒนาจ้างงานรองรับคนขายสลากเดิมและยังเหลือเพื่อพัฒนาประเทศ

  • วิธีการซื้อสลากกินแบ่งฯ ผ่านแอปพลิเคชันและการโอนเงินทางระบบอินเทอร์เน็ต อาจจะเป็นปัจจัยเสริมสำคัญในการพัฒนาการโอนเงิน จ่ายเงินที่ไม่ใช้ธนบัตรและเหรียญ เป็นประเทศก้าวหน้า พัฒนาสังคมไร้เงินสด จากวัฒนธรรมการซื้อขายสลากกินแบ่งฯ (หวยรัฐบาล) ที่อยู่กับสังคมไทยมานาน เพราะแม้แต่ “หวยเถื่อน” ในปัจจุบันก็มีออนไลน์ไปเรียบร้อยก่อนหน้าแล้ว
  • การซื้อขายสลากฯ ผ่านแอปพลิเคชันโดยมิได้ขายเหมาสลากฯ ทุกใบให้กับพ่อค้าผู้ได้รับจัดสรรโควตา อาจจะทำให้สลากฯ บางเลขขายไม่ได้ จำเป็นต้องมีกองทุนรับซื้อคืนสลากฯ โดยนำเงินที่ประหยัดจากการบริหารจัดการในข้อ 2.7 มาสนับสนุนกองทุน และกองทุนก็อาจถูกรางวัลจากสลากฯ ที่ซื้อคืนเองด้วย
  • ข้อจำกัด หรือข้อห่วงใยที่อาจเกิดขึ้น ผู้ซื้อสลากฯ บางส่วนที่อยู่ไกลมากๆ ไม่มีอินเทอร์เน็ตในการใช้แอปพลิเคชัน ยังต้องเดินทางเพื่อซื้อสลากฯ ในพื้นที่ที่มี Wi-Fi แต่เมื่อพิจารณาเปรียบเทียบกับสลากฯ ที่เป็นใบก็ไม่แตกต่างกัน เพราะต้องเดินทางไปซื้อสลากฯ ในพื้นที่ที่มีสลากฯ จำหน่าย

ผู้สูงอายุบางส่วนอาจไม่คุ้นเคยต่อการใช้แอปพลิเคชัน ต้องไหว้วานลูกหลานซื้อสลากฯ ซึ่งไม่ต่างจากปัจจุบันที่ผู้สูงอายุบางส่วนใช้ลูกหลานไปซื้อใบล็อตเตอรี่ แต่การไหว้วานลูกหลานซื้อผ่านแอปพลิเคชันมีข้อดีกว่า คือ ต้องระบุหมายเลขบัตรประชาชน 13 หลักของผู้ฝากซื้อ

แต่เมื่อพิจารณาว่าสลากกินแบ่งรัฐบาลเป็นสินค้าสิ่งไม่พึงจะส่งเสริม ที่จะแพร่ขยายการบริโภคและการจำหน่าย การจำกัดการเข้าถึงอย่างสะดวกในพื้นที่ห่างไกล ก็ไม่น่าจะส่งผลกระทบมากนัก