ThaiPublica > คนในข่าว > คนค้าหวยเล่าตำนานหวย ”ผู้กองธรรมนัส” 1 ใน 4 เสือกองสลาก …ขายหวยก็เจ๊งได้

คนค้าหวยเล่าตำนานหวย ”ผู้กองธรรมนัส” 1 ใน 4 เสือกองสลาก …ขายหวยก็เจ๊งได้

5 พฤศจิกายน 2015


หลังจากที่ประชุมคณะกรรมการสลากกินแบ่งรัฐบาล (บอร์ดสลาก) มีมติไม่ต่อสัญญาให้ผู้ค้าสลากรายใหญ่ 2,495 ราย ที่ไม่เกี่ยวข้องกับคนพิการ โดยนำโควตาสลากลอตนี้จำนวน 7.9 ล้านฉบับคู่ หรือ 15.8 ล้านฉบับ มาขายผ่านธนาคารกรุงไทยตั้งแต่วันที่ 3 ธันวาคม 2558 เป็นต้นไป

การตัดสินใจไม่ต่อสัญญาให้ผู้ค้าสลากรายใหญ่ครั้งนี้ เป็นการปิดตำนาน 5 เสือ ตามที่ พล.ท. อภิรัชต์ คงสมพงษ์ ประธานบอร์ดสลากให้สัมภาษณ์จริงหรือไม่

ตำนาน 5 เสือเป็นใคร วันนี้หนึ่งใน 5 เสือ โดย ร.อ. ธรรมนัส พรหมเผ่า หรือ “ผู้กองธรรมนัส” เจ้าของห้างหุ้นส่วนจำกัด ขวัญฤดี ตัวแทนจำหน่ายสลากรายใหญ่ เปิดตัวเป็นครั้งแรกหลังการรื้อโควตาสลากกินแบ่งรัฐบาล

ร.อ. ธรรมนัส พรหมเผ่า กรรมการผู้จัดการ ห้างหุ้นส่วนจำกัด ขวัญฤดี
ร.อ. ธรรมนัส พรหมเผ่า กรรมการผู้จัดการ ห้างหุ้นส่วนจำกัด ขวัญฤดี

ผู้กองธรรมนัสกล่าวถึง ฉายา 5 เสือ ว่า “ปัจจุบันเหลือแค่ 4 เสือเท่านั้น คือ 1. มูลนิธิสำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาล 2. บริษัท สลากมหาลาภ จำกัด ของ น.ส.สะเรียง อัศววุฒิพงษ์ หรือ “เจ๊สะเรียง” 3. บริษัท หยาดน้ำเพ็ชร จำกัด ของนางปลื้มจิตต์ กนิษฐสุต และ 4. ห้างหุ้นส่วนขวัญฤดีของผม”

พร้อมเล่าว่า”พวกเราอยู่ในวงการค้าสลากมานาน อย่างคุณปลื้มจิตต์ทำอาชีพนี้มา 40 ปี คุณสะเรียง ทำมา 30 ปี ส่วนผมทำมา 10 ปี”

ในอดีตสลากที่พิมพ์ออกขายมี 2 ประเภท คือ สลากกินแบ่งรัฐบาล กับ สลากบำรุงการกุศล สำหรับยี่ปั๊วรายใหญ่ได้รับการแต่งตั้งให้เป็นตัวแทนจำหน่ายสลากบำรุงการกุศล

สลากประเภทนี้ มูลนิธิหรือองค์กรสาธารณกุศลทำเรื่องขอให้สำนักงานสลากฯ ออกสลากบำรุงการกุศล เพื่อนำเงินรายได้จากการขายส่วนหนึ่งใช้ในกิจการสาธารณกุศล สมมติ สภากาชาดไทยต้องการเงิน 3,000 ล้านบาท ก็ทำเรื่องถึงสำนักงานสลากฯ ขอออกสลากบำรุงการกุศลผ่านกระทรวงการคลังนำเสนอคณะรัฐมนตรีอนุมัติ

แต่ที่เป็นประเด็นสำคัญมาก คือ ที่ผ่านมา สำนักงานสลากฯ ทำหน้าที่พิมพ์สลากเท่านั้น ไม่มีช่องทางการจัดจำหน่ายเมื่อพิมพ์สลากเสร็จ ต้องขายผ่านยี่ปั๊วโดยเปิดประมูล ดังนั้น ผู้ค้าสลากรายใหญ่อย่างพวกผมจึงได้เปรียบ เพราะการประมูลแต่ละครั้งต้องวางหลักประกัน 100% ยกตัวอย่างเช่น สำนักงานสลากฯ ขายสลากบำรุงการกุศล 3,000 ล้านบาท ก็ต้องหาเงินมาวางเป็นหลักประกัน 3,000 ล้านบาท สำหรับผู้ค้าสลากรายย่อยหมดสิทธิ เพราะสำนักงานสลากฯ ต้องการรายได้ที่แน่นอน และนี่คือที่มาคำว่า 5 เสือ”

ไทยพับลิก้า: ผู้กองธรรมนัสเข้าสู่วงการค้าสลากได้อย่างไร

คือมียี่ปั๊วรายใหญ่รายหนึ่งมากู้เงินผม พอถึงเวลาไม่มีเงินชำระหนี้ ก็เอาโควตาสลากมาให้ผมแทน ผมจำได้ ครั้งแรก ยี่ปั๊วรายนี้นำโควตาสลากมาให้ผม 20,000 เล่ม ตอนนั้นผมเข้าวงการใหม่ๆ ไม่รู้ว่าเอาสลากไปขายใคร พอผ่านวันที่สำนักงานสลากฯ ออกรางวัล โควตากลายเป็นเศษกระดาษกองอยู่ที่ออฟฟิศเก่าของผม จากบทเรียนวันนั้นถึงวันนี้ ทำให้ผมได้เรียนรู้วิธีการขายหวย หัวใจสำคัญที่สุดคือ ต้องมีเครือข่ายตัวแทนจำหน่ายสลาก ในส่วนของผมมีลูกค้า หรือตัวแทนจำหน่ายแผงย่อยๆ ในกรุงเทพมหานคร (กทม.) 500 แผง และมีตัวแทนจำหน่ายประจำจังหวัดทั้งประเทศ 77 แห่ง

ปัญหาของตัวแทนจำหน่ายสลาก คือ ขาดเงินทุนสนับสนุน ดังนั้น ผู้ค้าสลากรายใหญ่ จึงมีหน้าที่ให้การสนับสนุนเงินทุนหมุนเวียนให้ผู้ค้าสลากที่เป็นเครือข่าย โดยปล่อยเครดิตให้ทุกงวด (15 วัน) รูปแบบของการค้าสลากเป็นแบบอุปถัมภ์กันมาตลอด

ไทยพับลิก้า: ผู้ค้าสลากฯ แต่ละรายได้ครองโควตาสลากจำนวนเท่าไหร่

มูลนิธิสำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาลได้โควตาสลาก 40,000 เล่มต่องวด ส่วนคุณสะเรียง คุณปลื้มจิตต์ และผม ได้โควตาสลากรายละ 5,600 เล่มต่องวด

ไทยพับลิก้า: หลังจากสำนักงานสลากฯ ขายหวยผ่านแบงก์กรุงไทย ยี่ปั๊วปรับกลยุทธ์อย่างไร

1.ต้องขอรอดูทิศทางตลาดในช่วง 1-2 เดือนข้างหน้าว่าเป็นอย่างไร ทั้งนี้เนื่องจากสลากเป็นสินค้าที่ขายความหวังของคนรากหญ้าทั่วประเทศ การบริโภคมีความไม่แน่นอน

2.สำหรับลูกค้าที่เคยมารับสลากจากผม วันนี้เปลี่ยนไปรับสลากจากธนาคารกรุงไทย แต่ลูกค้าของผมมีปัญหาขาดเงินทุนหมุนเวียน ตรงนี้ผมยังคงให้การสนับสนุนเงินทุนเหมือนเดิม เฉพาะลูกค้าของผมเท่านั้น แต่ไม่เข้าไปยุ่งเกี่ยวกับเรื่องกำไร

“หลายคนมักเข้าใจผิด คิดว่าขายสลากได้กำไรเป็นกอบเป็นกำ แต่ข้อเท็จจริงไม่ใช่ พวกผมหรือยี่ปั๊วเป็นผู้ค้าสลากทอดแรกได้กำไรจากการขายส่งไม่เกิน 200 บาทต่อเล่ม (1 เล่มมี 100 ฉบับคู่) แต่ต้นเหตุของปัญหาขายสลากเกินราคาคือมีการบวกกำไรกันหลายทอด”

ถามว่าต้องปรับตัวอย่างไร ผมต้องปรับให้ลูกค้าของผมทั้ง 500 แผง แปลงเป็นผู้ค้าสลากรายย่อย เข้าไปจองสลากกับธนาคารกรุงไทย ถ้าปล่อยให้ตลาดเกิดการแข่งขันได้ในระดับหนึ่ง ผมเชื่อว่าผู้ค้าสลากรายย่อยที่ได้เลขไม่สวยไปทำอะไรไม่ได้ ถึงจุดหนึ่งต้องทิ้งสลาก เมื่อถึงวันนั้นสลากขายไม่ได้ ในที่สุดสำนักงานสลากฯ ก็ต้องนึกถึงพวกผม

ที่ผ่านมา มีลูกค้ามารับสลากจากผมไปขายแผงละไม่เกิน 50 เล่ม แต่ในขณะนี้สำนักงานสลากฯ เปิดให้จองสลากได้ไม่เกิน 15 เล่มเท่านั้น ขณะที่ลูกค้าของผม ก็ไม่กล้าลงทุนมาก เพราะไม่รู้ว่าราคาสลากจะเป็นอย่างไร คนไทยมี 67 ล้านคน แต่สำนักงานสลากฯ พิมพ์สลากออกมาขาย 50 ล้านคู่ หรือ 100 ล้านฉบับ อย่าลืมว่าคนที่อยู่ในวัยทำงานซื้อหวยได้มีไม่กี่ล้านคน ถามว่าพิมพ์มากขนาดนี้จะขายให้ใคร ขายให้คนทั่วประเทศคงเป็นไปไม่ได้ ผมเกรงว่าสลากมันเฟ้อ ลูกค้าของผมจองได้ไม่เกิน 15 เล่ม พออยู่ได้ แต่ไม่กล้าลงทุนมาก ส่วนคนที่จองไม่ได้ผมก็หาทางสนับสนุน แต่ก็มีบางมูลนิธิที่ไม่ได้ค้าสลากจริงอย่างองค์การสงเคราะห์ทหารผ่านศึก

ไทยพับลิกา: ยี่ปั๊วยังรับซื้อสลากจากมูลนิธิที่ไม่ได้ขายจริงอยู่หรือเปล่า

ตอนนี้ยี่ปั๊วรายใหญ่ทั้ง 4 ราย พวกเราตกลงกันแล้วจะไม่รับซื้อสลาก ปล่อยให้กลไกตลาดทำงาน และคอยดูว่าตลาดเป็นอย่างไร ขอให้คอยสังเกตหลังงวดวันที่ 16 ธันวาคม 2558 ขณะนี้แผงของพวกผมไม่ค่อยมีสลาก ผมไม่เข้าไปแทรกแซง หากมองย้อนกลับไปในสมัยรัฐบาลทักษิณ ชินวัตร ออกหวยบนดิน ตัวแทนจำหน่ายสลากทิ้งโควตาสลากเป็นจำนวนมาก รัฐบาลก็มาขอให้พวกผมมาช่วยซื้อสลาก มิฉะนั้นสำนักงานสลากฯ เจ๊ง เพราะสลากขายไม่ได้ ก็เป็นกระดาษเปล่า ผมคาดว่าผู้ค้าสลากน่าจะทิ้งโควตาสลากอีกครั้งเร็วๆ นี้ ซึ่งมันเคยเกิดขึ้นมาหลายครั้งแล้ว

ไทยพับลิก้า: มูลนิธิที่ได้โควตา แต่ไม่ได้ขายจริง วันนี้นำสลากขายใคร

นี่คือปัญหา ถ้าเป็นลูกค้าของผม ผมดูแล แต่ถ้าเป็นของชาวบ้านทั่วไป ผมไม่ เพราะสำนักงานสลากฯ ขอร้องผม ไม่ให้เข้าไปแทรกแซงกลไกตลาด ชาวบ้านต้องเรียนรู้เอง การขายหวยมีปัญหาอะไรบ้าง

ไทยพับลิก้า: นานแค่ไหนจึงเห็นผลกระทบชัดเจน

ผมคาดว่าไม่เกินงวดเดือนกุมภาพันธ์ 2559 จะเห็นผลกระทบ เริ่มมีการทิ้งโควตาสลากกันมาก เพราะการค้าขายสลากขึ้นอยู่กับฤดูกาลด้วย ช่วงเปิดเทอม หรือหน้าฝน ขายไม่ได้ แต่ตรุษจีน ปีใหม่ ขายดี อย่างช่วงปี 2553 เกิดปัญหาอุทกภัยครั้งใหญ่ เป็นช่วงที่ผมขาดทุนมากที่สุด เพราะมีโควตาสลากในมือ 20,000 เล่มต่องวด ในปีนั้นมียี่ปั๊วบางรายขาดทุน 300-400 ล้านบาท การค้าขายสลากมองสวยหรูด้านเดียวไม่ได้ คนส่วนใหญ่คิดว่าเป็นเสือนอนกิน สมมติ สลากราคา 100 บาท ผมได้กำไรไม่เกิน 12% เมื่อก่อนได้ 9% แต่รายได้ส่วนใหญ่ส่งเข้ารัฐ ไม่ได้ส่งพวกผม”

ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า กรรมการผู้จัดการ ห้างหุ้นส่วนจำกัด ขวัญฤดี
ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า กรรมการผู้จัดการ ห้างหุ้นส่วนจำกัด ขวัญฤดี

ไทยพับลิก้า: มีความคิดเห็นอย่างไรกับมาตรการแก้ปัญหาสลากเกินราคา

ประธานบอร์ดสลากฯ ชี้แจงว่ามี 3 มาตรการ คือ 1. ควบคุมราคาสลากไม่เกิน 80 บาท 2. กระจายสลากให้ถึงมือผู้ค้าสลากรายย่อยมากที่สุด ขั้นตอนที่ 1 และ 2 ผ่านมาแล้ว เหลือเฟสที่ 3 สำนักงานสลากฯ เตรียมออกหวยออนไลน์ในช่วงกลางปี 2559

ไทยพับลิก้า: มีความเห็นอย่างไรกับการนำหวยออนไลน์มาแก้ปัญหา

หวยออนไลน์นำมาใช้เมื่อไหร่ ผู้ค้าสลากก็ต้องทิ้งโควตาสลาก เพราะคนไทยชอบลองของใหม่ แห่ไปซื้อหวยออนไลน์ และเท่าที่ผมทราบข่าวจากวงใน สำนักงานสลากฯ จะขายสลากผ่านตู้เอทีเอ็มของธนาคาร ไม่ได้ขายผ่านเครื่องจำหน่ายสลากอัตโนมัติของบริษัทล็อกซเลย์ ซึ่งจะทำให้ผู้ค้าสลากขายหวยยากขึ้น และต้องทิ้งโควตาสลาก เมื่อถึงวันนั้นต้องเรียกพวกยี่ปั๊วมาช่วยทำตลาดเหมือนสมัยรัฐบาลคุณทักษิณ (ชินวัตร) เพราะการตลาดอยู่ในมือพวกเรา

“แต่ที่น่าเป็นห่วงก็คือ ผู้ค้าสลากรายใหม่ที่ไม่มีประสบการณ์ การขายสลากไม่ได้ขายกันง่ายๆ อย่างที่คิด เหมือนขายปู ขายปลา ขายไม่หมดก็ใส่ตู้เย็น สลากมีระยะเวลาขายไม่ถึง 15 วัน ถ้าขายไม่หมดเลยวันที่ออกรางวัลไปแล้วคือเศษกระดาษ เตรียมตัวเจ๊งได้เลย”

ไทยพับลิก้า: สลากเลขไม่สวย ขายไม่ได้ ผู้ค้าสลากเป็นผู้รับภาระใช่หรือไม่

นี่คือปัญหาใหญ่ที่จะนำไปสู่การทิ้งโควตาสลาก เพราะรับมาขายก็ขาดทุน ข้อเท็จจริงคือสลากไม่ได้ขายได้ทุกใบ อย่างเช่น สลากที่ขึ้นต้นด้วยเลข 000 หรือลงท้ายด้วย 00 สลากกลุ่มนี้ไม่มีราคา ตั้งราคาขายที่ 60 บาทก็ขายไม่ได้ ซึ่งผู้ค้าสลากกรายย่อยที่จองซื้อสลากกับธนาคารกรุงไทยไม่มีทางทราบว่าสลากที่จองเป็นเลขหมวดใด ผู้ค้าสลากบางรายได้เลขไม่สวยยกเล่มก็เตรียมตัวขาดทุนได้เลย ผมเชื่อว่าสำนักงานสลากฯ คงเตรียมหามาตรการแก้ปัญหาผู้ค้าสลากรายย่อยทิ้งสลากไว้แล้ว

ไทยพับลิก้า: เลขไม่สวยมีจำนวนเท่าไหร่

สลากแต่ละเล่มมีเลขไม่สวยประมาณ 20% ซึ่งไม่เหมือนกับที่เคยเป็นข่าว ก่อนถึงวันหวยออกประมาณ 1-2 วัน ผมเรียกเลขไม่สวยจากลูกค้ากลับคืนมา เอามาทำการตลาด เพื่อให้ขายได้มากที่สุด แทนที่จะขายไม่ได้เลย ตั้งราคาขายคู่ละ 40-50 บาทก็ต้องขาย แต่ที่น่าสนใจคือ ก่อนถึงวันหวยออก 1 วัน มีชาวนามาเหมาซื้อสลากเลขไม่สวยราคาถูกไปขายต่อ

ในอดีตเคยมียี่ปั๊วคิดกลยุทธ์ทำลายคู่แข่งขันทางการค้า พวกรายใหญ่จะคุยกับพนักงานสลากที่ทำหน้าที่จ่ายสลาก โดยจ้างให้จ่ายเลขไม่สวยที่ขึ้นต้นด้วย 0000 ไปให้คู่แข่ง ใครได้ไปก็เจ๊งหมดเลย

ไทยพับลิก้า: วิธีการรวมเลขชุดทำอย่างไร ปัจจุบันยังทำอยู่หรือไม่

สลากทั้งหมดมีเลขซ้ำกัน 50 หมวด รวมเลขชุดคือเอาเลขซ้ำกันแต่ละหมวดมาจับคู่กัน หากโชคดี ผู้ถูกรางวัลได้รับเงินมากขึ้น ซึ่งการนำสลากมาจับคู่กันเป็นชุด เป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้สลากราคาแพง

ถามว่าวิธีการรวมชุดทำกันอย่างไร สมมุติว่าคุณปลื้มจิตต์ต้องการจัดชุดเลขอะไร ผมต้องการเลขหมวดไหน ก็จะนำเลขทั้งหมดมาแลกกัน ทำให้สลากมีมูลค่าหรือราคาแพงขึ้น ทั้งนี้เพื่อนำมาถัวเฉลี่ยกับสลากที่ขายไม่ได้ อย่างเช่น สลากเลขไม่สวย 60 บาทก็ยังขายไม่ได้ บางงวดขายแค่คู่ละ 40 บาทยังขายไม่ได้เลย เรามองเฉพาะขายหวยกำไรดีด้านเดียวไม่ได้ ข้อเท็จจริงต้องนำมาถัวเฉลี่ยกับเลขที่ขายไม่ได้ด้วย

“ถามว่าปัจจุบันยี่ปั๊วยังมีการรวมเลขชุดกันอีกหรือไม่ ตอนนี้ 4 เสือร่วมมือกันไม่ได้ ต่างคนต่างอยู่ ต่างคนต่างขาย เป็นมาอย่างนี้หลายงวดแล้ว ขายสลากยากขึ้น เพราะสำนักงานสลากฯ ไม่อนุญาตให้พวกเรารวมเลขชุด แต่ก็อาจจะมีบางรายรวมเลขชุดขาย แต่ไม่เกิน 5 ฉบับคู่ ขายส่งคู่ละ 72-73 บาท บางงวดขาย 75 บาท

ไทยพับลิก้า: ในอดีตพนักงานสลากมีการรวมเลขชุดให้จริงหรือไม่

เมื่อก่อนมีจริง แต่ตอนนี้ไม่มีมาหลายปีแล้ว พนักงานสลากเก่าๆ แสบ เหมือนคำพูดที่ว่า รถไฟ เรือเมล์ ลิเก ตำรวจ ควรจะเพิ่มพนักงานสลากเข้าไปด้วย

ไทยพับลิก้า: ในอดีตมีนักการเมืองได้ประโยชน์จากโควตาและสลากขายเกินราคาจริงหรือไม่

เป็นประเพณีปฏิบัติที่เราปฏิเสธไม่ได้ สมัยก่อนกว่าจะได้โควตาสลากก็ต้องแข่งขัน ไม่ว่าจะใช้วิธีใดก็ตาม ตรงจุดนี้ทำให้ผู้ค้าสลากมีต้นทุนเพิ่มขึ้น หลายรัฐบาลไม่สามารถควบคุมราคาสลากได้ เพราะต้นทุนสลากบางงวดคู่ละ 80 บาท บางงวดคู่ละ 100 บาท จนกระทั่งมาถึงยุคของรัฐบาล พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา มอบหมายให้ พล.ท. อภิรัชต์ (คงสมพงษ์ ประธานคณะกรรมการสลากกินแบ่งรัฐบาล) แก้ปัญหาขายสลากเกินราคาโดยไม่ให้ยุ่งเกี่ยวกับผลประโยชน์ใด ประกาศควบคุมราคาขายปลีกสลากไม่เกิน 80 บาท และลดต้นทุนสลากเหลือ 70.40 บาทต่อคู่

ไทยพับลิก้า: ปัญหาขายสลากเกินราคามีโอกาสเกิดขึ้นอีกหรือไม่

ผลจากการที่สำนักงานสลากฯ เปิดขายสลากโดยตรงแก่ผู้ค้าสลากรายย่อย ตรงนี้ทำให้ผู้ค้าสลากรายย่อยมีต้นทุนสลากลดลงจาก 74-75 บาท เหลือ 70.40 บาท ถ้าขายหมดได้กำไรเล่มละ 200-300 บาท แต่สภาพตลาดขณะนี้ อย่าว่าแต่ขายคู่ละ 80 บาทเลย แค่คู่ละ 74-75 บาท ก็ขายยากแล้ว สมัยก่อนซื้อสลากจากยี่ปั๊ว ซาปั๊ว บวกกำไรกันมาหลายทอด ต้นทุนมาแพงก็ขายแพง แต่วันนี้ผู้ค้าสลากรายย่อยรับสลากคู่ละ 70.40 บาท ทำให้กลุ่มยี่ปั๊ว ซาปั๊ว ตั้งราคาขายได้ไม่เกิน 74 บาท ถามว่าในอนาคตจะมีนักการเมืองเข้ามาแสวงหาผลประโยชน์จากการขายสลากเกินราคาอีกหรือไม่ ผมว่ายาก วันนี้ประชาชนทั้งประเทศซื้อสลากคู่ละ 80 บาท อยู่ดีๆ ให้เขากลับไปซื้อสลากราคาแพง นักการเมืองต้องตอบคำถามสังคมให้ได้ว่าทำไปเพื่ออะไร

ไทยพับลิก้า: ขณะนี้ถือว่าปิดตำนาน 5 เสือหรือยัง

ณ วันนี้ ต้องถือว่าปิดตำนาน 5 เสือแล้ว แต่ไม่แน่ใจว่าพวกผมจะกลับมาอีกรอบหรือเปล่า หากสำนักงานสลากฯ ร้องขอให้พวกเราเข้ามาช่วย จริงๆ ผู้ค้าสลากของผมทั่วประเทศไม่ได้เอากำไรอะไรมากมาย เราอยู่ได้ เขาอยู่ได้ การค้าสลาก อย่างที่กล่าว เป็นระบบอุปถัมภ์ ผมต้องดูแลลูกค้าของผม เพราะรัฐบาลไม่สามารถมาดูแลเขาได้ ลูกค้าของผมที่เคยปั่นจักรยานขายหวย ถึงวันนี้เขาเลิกขายกันหมดแล้ว

ไทยพับลิก้า: สรุปว่าขายหวยได้กำไรดีอย่างที่ทุกคนเข้าใจจริงหรือไม่

ผมได้กำไรเล่มละ 200 บาท ผมมีโควตาสลาก 5,600 เล่มต่องวด และรับซื้อสลากจากตัวแทนจำหน่ายสลากรายอื่นเพิ่มเติมอีก แต่ละงวดมีสลากในมือประมาณ 40,000 เล่ม หลายคนเข้าใจผิดคิดว่าสลากไม่ได้เสียภาษี ข้อเท็จจริงสลากบำรุงการกุศลทั้งหมดเสียภาษีการพนัน 0.5% แล้ว

ไทยพับลิก้า: กรมสรรพากรเรียกยี่ปั๊วรายใหญ่ตรวจภาษีข้อเท็จจริงเป็นอย่างไร

ก่อนที่สำนักงานสลากฯ จะเริ่มมาตรการแก้ปัญหาสลากเกินราคา เฟส 1 ประธานคณะกรรมการสลากฯ เชิญยี่ปั๊วทั้งหมดมาหารือ และขอร้องไม่ให้ขายเกิน 80 บาท ทุกคนก็รับปาก แต่มียี่ปั๊วบางรายขายเกินราคา ถูกจับได้ จึงถูกตรวจสอบภาษีย้อนหลัง ประธานคณะกรรมการสลากฯ เตือนแล้วแต่ไม่ฟัง ส่วนผมไม่ถูกตรวจสอบภาษี เพราะผมคุมราคาไม่ให้เกิน 80 บาท หากแผงไหนขายเกินราคา ผมยึดแผงคืน ผมส่งลูกน้องไปคุมทั้งหมด

ถามว่านโยบายสั่งซื้อ-จองล่วงหน้าสลากดีหรือไม่ ตอบว่า ดี เพราะทำให้ชาวบ้านได้เรียนรู้การค้าขายสลากจริงทำอย่างไร ถ้าชาวบ้านขายสลากได้ก็ดี แต่ถ้าขายไม่ได้ สำนักงานสลากฯ ต้องทบทวน วันนี้พวกผมทุกคนไม่ได้มีอาชีพขายสลากอย่างเดียว ส่วนใหญ่ทำธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ ทั้งคุณสะเรียง คุณปลื้มจิตต์ อาชีพค้าสลากเป็นงานอดิเรกช่วยเหลือลูกน้องเก่าเท่านั้น

ตึกเจ๊สะเรียง2

ไทยพับลิก้า: มองอนาคตของสำนักงานสลากฯ อย่างไร

ขอเรียนตรงๆ สำนักงานสลากฯ ตอนนี้อาการน่าเป็นห่วงมาก เพราะที่ผ่านมาสำนักงานสลากฯ ไม่เคยขายสลาก สำนักงานสลากฯ มีหน้าที่พิมพ์สลากให้ตัวแทนจำหน่ายนำไปขาย ฉะนั้น กลไกตลาดจึงอยู่ในมือพวกผม จริงๆ พวกผมมีบุญคุณกับสำนักงานสลากฯ พวกผมทำหน้าที่กระจายสลาก ถึงวันนี้สำนักงานสลากฯ ไปใช้ธนาคารกรุงไทยขายแทน ผู้ที่มาจองซื้อสลากไม่รู้หรอกว่าจะเผชิญกับปัญหาอะไร ในอนาคตอาจจะเกิดปัญหาหนี้สินตามมาได้

ผมพบลูกค้าของผมที่เชียงใหม่ ลูกค้าผมมีปัญหาได้รับจัดสรรเลขไม่สวย ขายไม่ได้ ต้องรับผิดชอบเอง หลายคนเบื่อไม่อยากทำอาชีพนี้แล้ว คนขายหวยที่เข้ามาใหม่ไม่รู้หรอกว่ารสชาติของการค้าสลากเป็นอย่างไร อยากลอง เพราะคิดว่าขายง่าย

สำนักงานสลาก2

ไทยพับลิก้า: จะบอกอะไรกับคนขายหวยรายใหม่

ผมเป็นห่วงชาวบ้านที่จองซื้อสลากล่วงหน้าไปขาย ขอเตือน สลากเป็นสินค้าที่มีอายุขัยสั้นแค่ 15 วัน ถ้าไม่รู้จริงอย่าทำอาชีพนี้ สลากที่ไปรับมาขายมีทั้งเลขสวยและเลขไม่สวย สำหรับเลขสวยขายได้แต่กำไรไม่มาก เพราะสลากในท้องตลาดมีปริมาณมาก แต่เลขไม่สวย เช่น เลขที่ขึ้นต้นด้วย 0000 ต้นทุนเล่มละ 7,040 บาท ถ้าขายไม่ได้ก็ขาดทุน อย่างลูกค้าของผมที่อยู่จังหวัดเลย เดินทางมารับสลากจากผมขายเพื่อนำไปเดินขายที่จังหวัดเชียงใหม่หรือนราธิวาส ตอนนี้หายไปหมด หลังจากสลากคุมราคาไม่เกิน 80 บาท เขาอยู่ไม่ได้ หลายคนเลิกทำอาชีพนี้ และหลายคนมองเป็นอาชีพเสริม