ThaiPublica > เกาะกระแส > คาดคนขายหวยตัวจริง 3 หมื่นรายเปิดบัญชี KTB โครงการจัดสรรให้ผู้ซื้อโดยตรง แนะกองสลากฯ เปิดข้อมูลออร์เดอร์ซื้อล่วงหน้า

คาดคนขายหวยตัวจริง 3 หมื่นรายเปิดบัญชี KTB โครงการจัดสรรให้ผู้ซื้อโดยตรง แนะกองสลากฯ เปิดข้อมูลออร์เดอร์ซื้อล่วงหน้า

13 กันยายน 2015


จากการดำเนินมาตรการแก้ปัญหาสลากเกินราคาระยะที่ 1 เพิ่มส่วนลดให้กับผู้ค้าสลาก ควบคู่ไปกับการบังคับใช้กฎหมายตรึงราคาขายสลากปลายทางคู่ละ 80 บาท อย่างเข้มงวด ขณะเดียวกัน ทางคณะกรรมการสลากกินแบ่งรัฐบาล (บอร์ดสลาก) ได้มอบหมายให้ “คณะกรรมการบริหารจัดการสลาก” ลงพื้นที่สำรวจราคาสลาก และรับฟังความคิดเห็นผู้ค้าสลากทั่วประเทศ พบว่าราคาขายส่งสลากตัวปรับตัวสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องตลอด 3 เดือนที่ผ่านมา จากราคาคู่ละ 72 บาท เป็นคู่ละ 78 บาท ทำให้คนขายหวยตัวจริงมีส่วนต่างเพียงคู่ละ 2 บาท และในระหว่างที่คณะกรรมการบริหารจัดการสลากลงพื้นที่สำรวจความคิดเห็นผู้ค้าสลาก ปรากฏว่าเสียงส่วนใหญ่ต้องการให้สำนักงานสลากฯ จัดสรรโควตาสลากเพิ่มให้กับผู้ค้าสลากรายย่อยโดยตรงตามความต้องการหรือความสามารถในการขายแต่ละงวด ภายใต้ส่วนลดที่กระทรวงการคลังกำหนดคู่ละ 9.60 บาท

นายทรงพล ชีวะปัญญาโรจน์ รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ ผู้บริหารสายงาน สายงานบริหารจัดการทางการเงินเพื่อธุรกิจ ธนาคารกรุงไทย
นายทรงพล ชีวะปัญญาโรจน์ รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ ผู้บริหารสายงาน สายงานบริหารจัดการทางการเงินเพื่อธุรกิจ ธนาคารกรุงไทย

เมื่อวันที่ 2 กันยายน 2558 ที่ประชุมคณะกรรมการสลากกินแบ่งรัฐบาล ครั้งที่ 13/2558 มีมติให้สำนักสลากฯ จัดทำ “โครงการสั่งซื้อ-จองล่วงหน้าสลากกินแบ่งรัฐบาล” (พิมพ์สลากเพิ่ม) โดยเปิดให้ผู้ค้าสลากรายย่อยซื้อสลากหรือสั่งจองสลากล่วงหน้าขั้นต่ำ 5 เล่มต่อราย สูงสุด 50 เล่มต่อราย ผ่านสาขาธนาคารกรุงไทย (KTB) ทั่วประเทศ โดยมีบริษัท ไปรษณีย์ไทย จำกัด ดำเนินการจัดส่งสลากให้กับผู้ค้าสลากรายย่อย

นายทรงพล ชีวะปัญญาโรจน์ รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ ผู้บริหารสายงาน สายงานบริหารจัดการทางการเงินเพื่อธุรกิจ ธนาคารกรุงไทย เปิดเผยว่า ที่ผ่านมาธนาคารกรุงไทยได้รับการทาบทามจากสำนักงานสลากฯ ให้เข้าร่วมโครงการซื้อ-จองล่วงหน้าสลากกินแบ่งรัฐบาลมาประมาณ 1 เดือน โครงการนี้มีเป้าหมายสำคัญคือ การจัดสรรสลากให้ถึงมือผู้ค้าสลากรายย่อยโดยตรงอย่างทั่วถึงและเป็นธรรม ในส่วนของธนาคารกรุงไทยรับผิดชอบเรื่องการลงทะเบียนและชำระเงินค่าสลากผ่านตู้เอทีเอ็มและสาขาของธนาคารทั่วประเทศ รวมทั้งระบบ Netbank หรืออินเทอร์เน็ตของธนาคารกรุงไทย โดยมีบริษัทไปรษณีย์ไทยทำหน้าที่จัดส่งสลากไปยังที่ทำการไปรษณีย์ตามที่ลูกค้าแจ้งความประสงค์ไว้ในช่วงที่ลงทะเบียน ธนาคารกรุงไทยคาดว่าจะมีผู้ค้าสลากรายย่อยมาเปิดบัญชีเงินฝากหรือลงทะเบียนกับธนาคารกรุงไทยไม่น้อยกว่า 30,000 ราย (คลิกที่ภาพเพื่อขยาย)

การลงทะเบียน

“ทั้งนี้ ธนาคารจะเริ่มเปิดให้ผู้ค้าสลากรายย่อยมาลงทะเบียนได้ตั้งแต่วันที่ 15 กันยายนนี้ หลังจากลงทะเบียนเสร็จเรียบร้อยจะเริ่มสั่งซื้อหรือสั่งจองสลากล่วงหน้าได้ตั้งแต่วันที่ 3-7 ตุลาคม 2558 ขณะนี้ธนาคารได้รับรายงานจากผู้จัดการสาขาทั่วประเทศว่ามีผู้ค้าสลากรายย่อยเข้ามาติดต่อขอเปิดบัญชีเงินฝากกับธนาคารกรุงไทยแล้วกว่า 2,000 ราย” นายทรงพลกล่าว

นายทรงพลกล่าวต่อไปว่า ก่อนอื่นต้องทำความเข้าใจก่อนว่าสลากที่นำมาขายให้กับผู้ค้าสลากรายย่อยที่เข้าร่วมโครงการนี้แบ่งเป็น 2 ประเภท มีรายละเอียดดังนี้ 1. สลากสั่งซื้อ คือ โควตาสลากเดิม (74 ล้านฉบับ) ที่เหลือจากการจัดสรรให้ตัวแทนจำหน่ายสลาก ตนได้รับรายงานจากสำนักงานสลากฯ ว่าแต่ละงวดมีโควตาสลากเหลือประมาณ 1 แสนฉบับ โดยให้ธนาคารกรุงไทยนำสลากส่วนนี้มาขายให้กับลูกค้า 2. สลากสั่งจองล่วงหน้า คือ สลากใหม่ที่สำนักงานสลากฯ จะพิมพ์เพิ่ม ตามจำนวนที่จองไว้สำหรับขายในงวดถัดไป

“การจัดสรรสลากครั้งนี้มีเงื่อนไขสำคัญมาก คือ ธนาคารต้องขายสลากสั่งซื้อให้หมดก่อน ถึงจะเปิดให้สั่งจองสลากล่วงหน้า ยกตัวอย่าง สำนักงานสลากฯ จัดสรรโควตาสลากเดิมให้ธนาคารขาย 100,000 ฉบับ ปรากฏว่ามีคนมาซื้อสลากผ่านธนาคารกรุงไทยแค่ 80,000 ฉบับ มีสลากเหลือ 20,000 ฉบับ ธนาคารกรุงไทยจะไม่เปิดให้จองซื้อสลากล่วงหน้าสำหรับขายในงวดถัดไป แต่ถ้าธนาคารขายสลากสั่งซื้อหมดเกลี้ยง แสดงว่ามีความต้องการสลากมาก โปรแกรมคอมพิวเตอร์ก็จะเปิดให้ผู้ค้าสลากสั่งจองสลากล่วงหน้าทันที ตรงนี้มีเงื่อนไขสำคัญอีก คือ ลูกค้าจะได้รับการจัดสรรสลากก็ต่อเมื่อมียอดสั่งซื้อครบทุก 10,000 เล่ม หรือ 1 ล้านฉบับ หากยอดสั่งซื้อครบ 10,000 เล่ม ธนาคารจะส่ง SMS แจ้งลูกค้าทราบว่าท่านได้รับการจัดสรรสลากงวดนี้ แต่ถ้ายอดสั่งซื้อไม่ครบ 10,000 เล่ม ธนาคารกรุงไทยจะคืนเงินค่าสลากพร้อมค่าธรรมเนียม 10 บาท โอนเข้าบัญชีลูกค้าภายในวันสุดท้ายของการจองซื้อล่วงหน้า” นายทรงพลกล่าว (คลิกที่ภาพเพื่อขยาย)

รูปแบบการซื้อ-จองล่วงหน้า

นายทรงพลกล่าวต่อว่า หลังจากที่ลูกค้าลงทะเบียนเสร็จเรียบร้อยแล้ว ตั้งแต่วันที่ 3-7 ตุลาคม 2558 ธนาคารจะเปิดให้ผู้ค้าสลากรายย่อยมาสั่งซื้อสลากงวดประจำวันที่ 16 ตุลาคม 2558 ก่อน (ขายสลากตรงงวด) หากขายสลากส่วนนี้หมดแล้ว ระบบคอมพิวเตอร์ของธนาคารจะเปิดให้ผู้ค้าจองซื้อสลากงวดประจำวันที่ 1 พฤศจิกายน 2558 (ขายสลากล่วงหน้า) สรุปว่านับจากนี้ไปจะมีการเปิดขายสลากสั่งซื้อตรง กับขายสลากล่วงหน้าทุกงวด โดยผู้ค้าสลากสามารถเลือกซื้อสลากได้ครั้งละ 5, 15, 20, 25, 30, 40 และสูงสุดไม่เกิน 50 เล่ม คาดว่าจะมีผู้ค้าสลากรายย่อยมาจองซื้อสลากประมาณ 1 ล้านฉบับ

ผู้สื่อข่าวถามว่า การจองสลากล่วงหน้าต้องให้ครบ 1 ล้านฉบับเท่านั้น ผู้ค้าสลากจึงจะได้รับการจัดสรรใช่ไหม นายทรงพลกล่าวว่า เป็นเพราะโครงสร้างการจัดสรรเงินรางวัลของสำนักงานสลากฯ หากยอดสั่งจองไม่ครบ 1 ล้านฉบับ จะทำให้สูตรการจ่ายเงินรางวัลไม่ลงตัวและไม่สามารถจ่ายเงินรางวัลได้ จึงมีความจำเป็นที่จะต้องกำหนดยอดสั่งจองล่วงหน้าไว้ที่ 1 ล้านฉบับ สำนักงานสลากฯ ถึงจะพิมพ์สลากตามคำสั่งจอง

เมื่อถามว่าหลักเกณฑ์การจัดสรรเป็นอย่างไร นายทรงพลกล่าวว่า “เรียงตามลำดับคำสั่งซื้อ โดยพิจารณาจากเวลาที่มีการพิมพ์คำสั่งซื้อเข้ามา ใครสั่งก่อนได้ก่อน พนักงานธนาคารจะไม่สามารถคีย์คำสั่งซื้อหลายๆ รายการทีเดียวพร้อมกัน คอมพิวเตอร์จะให้พิมพ์ทีละรายการ เมื่อครบ 1 ล้านฉบับ ก็ได้รับการจัดสรรสลากก่อน ไม่ได้ดูที่ปริมาณ ซื้อมากหรือน้อยไม่เกี่ยว แต่ถ้าไม่ได้รับการจัดสรร ธนาคารก็คืนเงินค่าสลากพร้อมค่าธรรมเนียม โอนเข้าบัญชีลูกค้า”

เมื่อถามต่อว่า โอกาสที่ผู้ค้าสลากจะจองครบ 10,000 เล่ม มีมากน้อยแค่ไหน นายทรงพลกล่าวว่า “ผมคิดว่ามีโอกาสมาก สลาก 10,000 เล่ม ถ้าจองขั้นต่ำ 5 เล่ม แค่ 2,000 รายเท่านั้น และถ้าสั่งจอง 50 เล่ม 200 ราย ก็ครบแล้ว ปกติผู้ค้าสลากรายย่อยต้องเสียค่าเดินทางไปรับสลากที่สำนักงานสลากฯ สนามบินน้ำ แต่ถ้าเข้าร่วมโครงการนี้เปิดบัญชีขั้นต่ำ 500 บาท เสียค่าธรรมเนียม 10 บาท บริษัทไปรษณีย์ไทยส่งสลากให้ถึงที่ทำการไปรษณีย์ใกล้บ้านลูกค้า ต้นทุนต่ำกว่าระบบเดิมมาก ขอเน้นย้ำว่าลูกค้าควรกรอกหมายเลขโทรศัพท์ให้ถูกต้อง เพราะธนาคารจะติดต่อลูกค้าผ่านทางโทรศัพท์หรือ SMS เท่านั้น”

ผู้สื่อข่าวถามว่าคำสั่งจองสลากซื้อสลากล่วงหน้าทุกๆ 10,000 เล่ม ธนาคารกรุงไทยสามารถเปิดเผยข้อมูลรายชื่อคนจองซื้อได้หรือไม่?

นายทรงพลกล่าวว่า “ตรงนี้คงต้องขอหารือสำนักงานสลากฯ เพราะระยะเวลาในการเปิดให้จองซื้อสลากล่วงหน้าสั้นมาก มีแค่ 3 วันครึ่งเท่านั้น ช่วงเที่ยงของวันสุดท้ายก็ต้องปิดทำการเพื่อเคลียร์คำสั่งซื้อล่วงหน้าทั้งหมด เพื่อส่งข้อมูลให้โรงพิมพ์สำนักงานสลากฯ”

ผู้สื่อข่าวถามต่อว่า ระหว่างที่มีการเปิดจองซื้อสลากล่วงหน้า สามารถเปิดเผยข้อมูลคำสั่งจองเป็นแบบ Realtime ได้หรือไม่ เพราะถ้ายอดคำสั่งซื้อไม่ถึง 10,000 เล่ม และยอดสั่งซื้อขาดอีกเล็กน้อย ผู้สั่งซื้อสามารถที่จะทำให้ยอดจองซื้อให้ครบ เพื่อจะมีการพิมพ์สลากตามคำสั่งซื้อได้หรือไม่ นายทรงพลกล่าวว่า “ผมว่าสำนักงานสลากฯ ควรเปิดข้อมูล เพราะมีโอกาสที่จะเกิดเหตุการณ์แบบนี้ขึ้นได้ สำนักงานสลากฯ ควรทำความเข้าใจผู้ค้าสลากรายย่อย ถึงแม้จะสั่งซื้อไม่มาก แต่ก็มีจำนวนรายเยอะมาก”