ThaiPublica > ประเด็นสืบสวน > แก้กฎหมายหวย ให้อำนาจบอร์ดฯ ออกสลากรูปแบบใหม่ – แจกรางวัล “แจ๊กพอต” – ยุบเลิกกองทุนสลากฯ พับเงินเข้าคลัง

แก้กฎหมายหวย ให้อำนาจบอร์ดฯ ออกสลากรูปแบบใหม่ – แจกรางวัล “แจ๊กพอต” – ยุบเลิกกองทุนสลากฯ พับเงินเข้าคลัง

7 มกราคม 2019


ก่อนหน้านี้ไม่นานนักศูนย์วิเคราะห์ Customer Insights by TMB Analytics เผยผลการศึกษาพฤติกรรมการซื้อลอตเตอรรี่และหวย(ใต้ดิน)คนไทย ชี้ความเชื่อ “คนจนเล่นหวยคนรวยเล่นหุ้น”…. ไม่จริง

“1 ใน 4 ของคนไทยซื้อลอตเตอรี่และหวย รวมเป็นจำนวนเงินกว่า 2.5 แสนล้านบาทต่อปี” ขยายให้เห็นภาพชัดเจนขึ้นคือ คนไทยราว 20 ล้านคนซื้อลอตเตอรี่และหวย เป็นมูลค่าในแต่ละปีเทียบเท่ากับ 3 เท่าของมูลค่าการซื้อกองทุน LTF และ RMF หรือเทียบได้กับเงินลงทุนโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบินที่เพิ่งเปิดประมูลไป

  • ทีเอ็มบีเผยคนไทยเสพติดลอตเตอรี่และหวย “รวย – จนไม่เกี่ยว” – คนไทยซื้อลอตเตอรี่และหวย กว่า 2.5 แสนล้านบาทต่อปี
  • ล่าสุดหลังจากเลขาธิการสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ออก หนังสือด่วนมากที่ สว(สนช) ๐๐๐๗/(น​๑) เรียกประชุมสมาชิก สนช. ครั้งที่ 1/2562 ในวันที่ 10 มกราคม 2562 เพื่อพิจารณาร่างกฎหมายเร่งด่วนของรัฐบาล 13 ฉบับ ในจำนวนนี้มีร่างกฎหมายที่เป็นไฮไลต์สำคัญ คือ ร่างพระราชบัญญัติสำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาล (ฉบับที่ ..) พ.ศ. …. บรรจุไว้ในระเบียบวาระการประชุม เรื่องเร่งด่วนที่ 10 ตามที่คณะรัฐมนตรีนำเสนอ โดยตั้งเป้าหมายผ่านร่างกฎหมายฉบับนี้ให้แล้วเสร็จ ก่อนที่คำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติที่ 11/2558 ถูกยกเลิก

    เพิ่มอำนาจบอร์ดฯ ออกหวยออนไลน์ – ลอตโต้

    การยกร่างกฎหมายแก้ไขเพิ่มเติม พ.ร.บ.สำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาล พ.ศ. 2517 ครั้งนี้ มีประเด็นที่น่าสนใจ คือ ร่างกฎหมายฉบับใหม่มีการเพิ่มอำนาจให้คณะกรรมการสลากกินแบ่งรัฐบาล (บอร์ดสลากฯ) ออกสลากรูปแบบใหม่ไว้อย่างกว้าง ไม่ว่าจะเป็นสลากเลขท้าย 2 -3 ตัว, สลากประเภทสะสมรางวัล หรือ “แจ๊กพอต” รวมไปจนถึงหวยลอตโต้ บัญญัติไว้ในร่างกฎหมายสลากฯ ฉบับใหม่ มาตรา 7/1 ให้อำนาจบอร์ดสลากฯ กำหนดประเภท และรูปแบบสลากได้ แต่ต้องเสนอคณะรัฐมนตรีให้ความเห็นชอบ สอดรับกับร่างกฎหมายสลากฯ ฉบับใหม่ มาตรา 7/2 ที่ให้อำนาจบอร์ดสลากฯ กำหนดสัดส่วนเงินนำส่งคลัง และค่าใช้จ่ายบริหารงาน เพราะเมื่อรูปแบบสลากเปลี่ยน เกมการเล่นเปลี่ยน การจ่ายเงินรางวัลก็ต้องเปลี่ยนตาม จึงต้องให้อำนาจบอร์ดสลากฯ กำหนดสัดส่วนเงินนำส่งคลังและค่าใช้จ่ายในการบริหารได้ เปรียบเทียบกับกฎหมายสลากฯ ฉบับเดิม ให้อำนาจบอร์ดสลากฯ กำหนดราคา วิธีการจำหน่าย และการคัดเลือกตัวแทนจำหน่ายเท่านั้น [มาตรา 13 (7)] แต่ไม่ได้ให้อำนาจบอร์ดสลากฯออกสลากรูปแบบใหม่ๆได้อย่างหลากหลาย

    พ.ต.อ. บุญส่ง จันทรีศรี
    ผู้อำนวยการสำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาลคนใหม่

    ย้ำหวยรูปแบบใหม่ ยึดตามกรอบ กม. มาตรา 22

    ด้าน พ.ต.อ. บุญส่ง จันทรีศรี ผู้อำนวยการสำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาลคนใหม่ ยอมรับว่า ร่าง พ.ร.บ.สำนักงานสลากฯฉบับใหม่ ได้ให้อำนาจบอร์ดสลากฯ สามารถออกสลากรูปแบบใหม่ได้ แต่จะต้องผ่านความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรีด้วย และที่สำคัญ การออกสลากรูปแบบใหม่นั้น ต้องเป็นไปตามสัดส่วนที่กำหนดไว้ในร่างมาตรา 22 กล่าวคือ เงินรายได้จากการจำหน่ายสลากทั้งหมด สำนักงานสลากฯ ต้องกันรายได้ส่วนนี้ไว้จ่ายเป็นเงินรางวัล 60% นำส่งเป็นรายได้แผ่นดินไม่น้อยกว่า 23% และค่าใช้จ่ายในการบริหารและจัดจำหน่ายสลากฯ ไม่เกิน 17% ของรายได้จากยอดขายทั้งหมด

    เปรียบเทียบกับมาตรา 22 ของ คำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติที่ 11/2558 ซึ่งเป็นกฎหมายพิเศษ กำหนดให้สำนักงานสลากฯ จัดสรรเงินรายได้จากยอดขาย 60% เป็นเงินรางวัล, นำส่งเป็นรายได้แผ่นดินไม่น้อยกว่า 20% และค่าใช้จ่ายในการบริหารและจัดจำหน่ายของสำนักงานสลากฯ ไม่เกิน 17% ที่เหลือ 3% ส่งเป็นเงินกองทุนสลากกินแบ่งรัฐบาลเพื่อพัฒนาสังคม ขณะที่ พ.ร.บ.สำนักงานสลากฯ ปี 2517 ก่อนที่จะมีคำสั่งหัวหน้า คสช. กำหนดให้จัดสรรเป็นเงินรางวัล 60%, นำส่งเป็นรายได้แผ่นดินไม่น้อยกว่า 28% และกันไว้เป็นค่าใช้จ่ายในการบริหารและจัดจำหน่ายไม่เกิน 12%

    โยกเงินนำส่งคลัง 5% โป๊ะงบบริหารกองสลากฯ

    ปัจจุบันสำนักงานสลากฯ พิมพ์สลากออกขายงวดละ 90 ล้านฉบับ ราคาใบละ 80 บาท แต่ละงวดมีรายได้จากการขายสลากประมาณ 7,020 ล้านบาท ใน 1 ปี มีการพิมพ์สลากออกขายทั้งหมด 24 งวด (เดือนละ 2 ครั้ง) คิดเป็นรายได้รวมประมาณ 172,800 ล้านบาท ตามร่างกฎหมายสลากฯฉบับใหม่ มาตรา 22 กำหนดให้สำนักงานสลากฯ ต้องกันเงินรายได้จากยอดขาย 60% ไว้จ่ายเป็นรางวัล 103,680 ล้านบาท นำส่งเป็นรายได้แผ่นดินไม่น้อยกว่า 23% คิดเป็นเงิน 39,744 ล้านบาท เปรียบเทียบกับกฎหมายสลากฯปี 2517 กำหนดให้นำส่งเป็นรายได้แผ่นดินไม่น้อย 28% คิดเป็นเงิน 48,384 ล้านบาท ลดลงจากเดิม 8,640 ล้านบาท นอกจากนี้ตามร่างกฎหมายสลากฯฉบับใหม่ กำหนดให้กันเงินรายได้จากการขายสลากไม่เกิน 17% เป็นค่าใช้จ่ายในการบริหารและจัดจำหน่ายของสำนักงานสลากฯ 29,376 ล้านบาท ขณะที่กฎหมายสลากฯปี 2517 กำหนดให้กันรายได้ส่วนนี้เป็นค่าใช้จ่ายของสำนักงานสลากฯไม่เกิน 12% คิดเป็นเงิน 20,736 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากเดิม 8,640 ล้านบาท จะเห็นได้ว่า การแก้ไขกฎหมายสลากฯครั้งนี้มีการปรับลดสัดส่วนรายได้ที่ต้องนำส่งคลังลง 5% เพื่อไปเพิ่มเป็นค่าใช้จ่ายในการบริหารของสำนักงานสลากฯ

    แก้ กม.พัฒนาสลากฯ รูปแบบใหม่ จ่ายรางวัล “แจ๊กพอต”

    นอกจากนี้ ในร่างกฎหมายสลากฯ ฉบับใหม่ยังเปิดช่องให้สำนักงานสลากฯ จัดทำรางวัล “แจ๊กพอต” โดยร่างมาตรา 10 กำหนดว่า “หากการออกรางวัลในงวดใดไม่มีผู้มารับเงินรางวัล ให้นำเงินดังกล่าวสมทบเพื่อจ่ายเป็นเงินรางวัลในงวดถัดไป” บทบัญญัติท่อนนี้ ทำให้สำนักงานสลากฯ สามารถพัฒนาสลากกินแบ่งรัฐบาลรูปแบบใหม่ประเภทที่มีการจ่ายรางวัลสมทบได้ ประเด็นนี้มีนักวิชาการหลายคนตั้งคำถาม หากงวดถัดไปยังไม่มีผู้มารับรางวัลอีก ก็ต้องนำเงินสมทบเพื่อจ่ายเป็นรางวัลต่อไปเรื่อยๆ มันคือ รางวัล “แจ๊กพอต” ใช่หรือไม่ อย่างไรก็ตาม ในร่างมาตรา 10 ระบุว่า หากสำนักงานสลากฯ ไม่นำเงินรางวัลดังกล่าวมาสมทบจ่ายเป็นเงินรางวัลในงวดถัดไป ให้นำเงินดังกล่าวส่งเป็นรายได้แผ่นดิน เปรียบเทียบกับกฎหมายสลากฉบับเดิม กรณีไม่มีผู้มารับรางวัล เกิน 2 ปี ต้องนำเงินส่งคลัง

    ผู้สื่อข่าวถามว่า การแก้ไขกฎหมายเพื่อเพิ่มอำนาจให้บอร์ดสลากฯ ออกสลากรูปแบบใหม่ อาจจะทำให้สำนักงานสลากฯ มีความเสี่ยงต่อการขาดทุน เหมือนกับกรณีสลากเลขท้าย 2 ตัว 3 ตัวในอดีต บางงวดสำนักงานสลากฯ ต้องจ่ายเงินให้กับผู้ถูกรางวัลมากกว่ารายได้จากการขายสลากฯ ใช่หรือไม่ พ.ต.อ. บุญส่ง ตอบว่า ไม่มีความเสี่ยง ยกตัวอย่าง กรณีสลากเลขท้าย 2 ตัว 3 ตัว ในอดีตมีอยู่ 2 งวดที่สำนักงานสลากฯ ขาดทุน คือมีรายจ่ายมากกว่ารายได้ แต่อีก 22 งวด กำไรมากกว่าส่วนที่ขาดทุนหลายเท่าตัว

    ยุบเลิกองทุนสลากฯ – พับเงินเข้าคลังภายใน 30 วัน

    สำหรับกองทุนสลากกินแบ่งรัฐบาลเพื่อพัฒนาสังคม พ.ต.อ. บุญส่ง กล่าวว่า เดิมทีถูกกำหนดอยู่ในร่าง พ.ร.บ.สำนักงานสลากฯ แต่เมื่อส่งให้สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจทาน ปรากฏว่าคณะกรรมการกฤษฎีกาไม่เห็นด้วย จึงให้ตัดกองทุนสลากกินแบ่งรัฐบาลเพื่อพัฒนาสังคมออก ดังนั้น ในร่าง พ.ร.บ.สำนักงานสลากฯ ฉบับใหม่จึงไม่มีกองทุนสลากฯ และในร่างกฎหมาย มาตรา 16 กำหนดให้สำนักงานสลากฯ นำเงินกองทุนสลากกินแบ่งรัฐบาลเพื่อพัฒนาสังคม ตามคำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ 11/2558 ส่วนที่เหลือ และไม่มีภาระผูกพันส่งคลังให้แล้วเสร็จภายใน 30 วันนับแต่วันที่คำสั่งหัวหน้า คสช. ดังกล่าวถูกยกเลิก นอกจากนี้ ในร่างกฎหมายสลากฉบับใหม่ยังมีการเพิ่มโทษ สำหรับผู้ที่ขายสลากฯ เกินราคา, ขายสลากฯ ในบริเวณสถานศึกษา และขายสลากฯ แก่ผู้ที่มีอายุต่ำกว่า 20 ปีบริบูรณ์ ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 1 เดือน หรือปรับไม่เกิน 10,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ขณะที่กฎหมายฉบับปัจจุบัน กำหนดบทลงโทษผู้ที่ขายสลากเกินราคาเป็นโทษปรับไม่เกิน 2,000 บาท

    อ่านรายละเอียดร่าง พ.ร.บ.สำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาลฉบับใหม่