ThaiPublica > เกาะกระแส > ไอเอ็มเอฟหั่นคาดการณ์ศก.โลกมาที่ 3.5% ชี้ปัจจัยเสี่ยง “จีน – No-deal Brexit” – ยูเอ็นระบุกระทบเป้าหมาย SDG 2030

ไอเอ็มเอฟหั่นคาดการณ์ศก.โลกมาที่ 3.5% ชี้ปัจจัยเสี่ยง “จีน – No-deal Brexit” – ยูเอ็นระบุกระทบเป้าหมาย SDG 2030

22 มกราคม 2019


ที่มาภาพ:https:// www.imf.org/en/Publications/WEO/Issues/2019/01/11/weo-update-january-2019

กองทุนการเงินระหว่างประเทศ(International Monetary Fund:IMF) ปรับลดคาดการณ์การเติบโตของเศรษฐกิจโลกปี 2562 มาที่ 3.5% จาก 3.7% และปี 2563 ที่ 3.6% จาก 3.7% จากที่ประมาณการณ์ไว้ในเดือนตุลาคม 2561 ซึ่งเป็นการปรับลดครั้งที่สองในรอบ 3 เดือน

นางคริสตีน ลาการ์ด ผู้อำนวยการไอเอ็มเอฟเปิดเผยตัวเลขคาดการณ์ในที่ประชุม เวิล์ด อิโคโนมิก ฟอรัมที่ดาวอส ว่า เศรษฐกิจโลกขยายตัวในอัตราที่ชะลอตัวต่ำกว่าคาดจากที่ขยายตัวต่อเนื่องมา 2 ปี ขณะเดียวกันความเสี่ยงก็เพิ่มขึ้นด้วย แม้เศรษฐกิจยังคงเดินหน้า แต่ก็เผชิญกับความเสี่ยงที่เพิ่มขึ้นอย่างมาก อย่างไรก็ตามเศรษฐกิจโลกยังไม่เข้าสู่ภาวะถดถอย ความเสี่ยงที่เศรษฐกิจโลกจะลดลงเพิ่มสูงขึ้น

นางคริสตีน กล่าวกับผู้สื่อข่าวว่า ผู้กำกับนโยบายควรเตรียมพร้อมรับมือกับการชะลอตัวของเศรษฐกิจ ซึ่งจะมีผลกระทบอย่างมาก หากไม่มีความร่วมมืออย่างเหนียวแน่น และต้องลดภาระหนี้รัฐลง ขณะเดียวกันการดำเนินนโยบายการเงินต้องอยู่บนพื้นฐานข้อมูลมากขึ้น(Data Dependent) รวมทั้งการปฏิรูปเศรษฐกิจต้องมีเป้าหมายเพื่อการเติบโตและครอบคลุมตลาดแรงงาน

นางคริสตีน ลาการ์ด ผู้อำนวยการกองทุนการเงินระหว่างประเทศ ที่มาภาพซhttp://www.arabnews.com/node/1439316/business-economy

ในเดือนตุลาคมปีก่อน ไอเอ็มเอฟได้ปรับลดคาดการณ์การเติบโตของเศรษฐกิจโลกลงมาแล้ว จากการเก็บภาษีสินค้านำเข้าระหว่างกันของสหรัฐและจีน ส่วนการปรับลดครั้งนี้เป็นผลต่อเนื่องจากปีที่แล้ว รวมไปถึงความกังวลในตลาดการเงินและการหดตัวของตุรกีที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นมากกว่าคาด

ไอเอ็มเอฟระบุว่า เศรษฐกิจของประเทศที่พัฒนาแล้วชะลอตัวเร็วกว่าที่คาด อัตราการเติบโตเฉลี่ยของกลุ่มนี้ในปี 2562 คาดไว้ที่ 2% และจะขยายตัว 1.7% ในปี 2563 ส่วนใหญ่เป็นผลจากการปรับลดคาดการณ์การเติบโตของกลุ่มประเทศยุโรป โดยเฉพาะเยอรมนีที่อุตสาหกรรมยานยนต์ได้รับผลกระทบจากมาตรฐานสิ่งแวดล้อมใหม่เกณฑ์การปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ รวมไปถึงความต้องการในประเทศที่ลดลง ขณะเดียวกันอิตาลียังมีความเสี่ยงด้านการคลังและการเงิน

เศรษฐกิจเยอรมนีจะขยายตัว 1.3% ในปีนี้ ลดลง 0.6% ก่อนที่จะฟื้นตัวมาที่ 1.6% ในปี 2563 ส่วนเศรษฐกิจอิตาลีจะหดตัว 0.4% มาที่ 0.6% ในปีนี้และจะฟื้นตัวไปที่ 0.9% ในปี 2563

ด้านสหรัฐยังคงขยายตัวได้แต่ก็ปรับคาดการณ์การเติบโตลง ทำให้ปี 2562 เศรษฐกิจสหรัฐคาดว่าจะขยายตัว 2.5% จาก 2.9% ในปี 2561 และเติบโต 1.8% ในปี 2663 การชะลอตัวของเศรษฐกิจมีผลต่อเงินเฟ้อเล็กน้อย โดยปัจจัยเสี่ยงคือ การปิดทำการหน่วยงานรัฐบางส่วน

ส่วนประเทศเศรษฐกิจเกิดใหม่ หรือ Emerging country ก็ชะลอตัวเช่นกัน โดยอัตราการเติบโตเฉลี่ยของปีนี้ปรับลดจาก 4.7% ประมาณการณ์เดิมเดือนตุลาคม มาที่ 4.5% จาก 4.6% ในปีที่แล้ว โดยสาเหตุหลักมาจากการหดตัวของเศรษฐกิจตุรกี และการอ่อนตัวของเศรษฐกิจเม็กซิโก แต่จะกลับมาขยายตัว 4.9% ในปี 2563 ด้วยการฟื้นตัวของเศรษฐกิจอาร์เจนตินาและตุรกี

ความเสี่ยง : No-deal Brexit กับจีนชะลอตัวแรง

รายงานของไอเอ็มเอฟที่เผยแพร่ในที่ประชุม เวิล์ด อิโคโนมิก ฟอรัม ระบุว่า มีปัจจัยลบที่จะทำให้เศรษฐกิจโลกมีโอกาสที่จะชะลอตัวลงได้อีก ได้แก่ ความขัดแย้งทางการค้าที่ยืดเยื้อ ซึ่งเพิ่มความเสี่ยงต่อการขยายตัวและมีนัยะสำคัญต่อระดับหนี้ของภาครัฐและภาคเอกชน รวมไปถึงการถอนตัวของอังกฤษออกจากสหภาพยุโรป(อียู)แบบไม่มีเงื่อนไข(no-deal Brexit) และการชะลอตัวอย่างรุนแรงของเศรษฐกิจจีน

การถอนตัวของอังกฤษออกจากอียูยังมีความไม่แน่นอนสูง แม้ระยะเวลาการถอนตัวจะใกล้เข้ามาทุกขณะและเหลือเพียงไม่ถึง 3 เดือน เนื่องจากฝ่ายบริหารนำโดยนายกรัฐมนตรีเทเรเซา เมย์และรัฐสภายังไม่สามารถบรรลุข้อตกลงกันได้ จึงคาดการณ์กันว่ามีความเป็นไปได้มากที่อังกฤษจะถอนตัวออกจากอียูแบบไม่มีเงื่อนไข หรือ no-deal ซึ่งหมายถึงว่าอังกฤษและสหรัฐอเมริกาต้องใช้กติกาการค้าขององค์กรการค้าโลก(World Trade Organization)

รายงานไอเอ็มเอฟคาดจีดีพีของอังกฤษจะขยายตัว 1.5% ในปีนี้ หากสามารถถอนตัวออกจากอียูแบบมีข้อตกลงและจะเติบโต 1.6% ในปี 2563 เพิ่มขึ้น 0.1% จากที่คาดการณ์ไว้ก่อนหน้า

กีตา โกพินาท หัวหน้าเศรษฐกร ของไอเอ็มเอฟ เตือนให้อังกฤษหลีกเลี่ยงการออกจากอียูแบบไม่มีเงื่อนไข เพราะจะมีผลให้จีดีพีลดลง 5-8% ในระยะต่อไป

ขณะเดียวกันจีนเผยแพร่ตัวเลขเศรษฐกิจล่าสุดเมื่อวานนี้ โดยเศรษฐกิจจีนใน 2561 ขยายตัว 6.6% ซึ่งเป็นการเติบโตที่ชะลอตัวที่สุดในรอบ 28 ปี นับจากปี 2533 แต่ก็เป็นไปตามที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ ส่วนในไตรมาส4 ปีจีดีพีขยายตัว 6.4% จาก 6.5% ในไตรมาสก่อนหน้า ส่วนในปี 2560 เศรษฐกิจจีนขยายตัว 6.8%

เศรษฐกิจจีนจะชะลอตัวเร็วกว่าที่คาดหากความขัดแย้งทางการค้ายืดเยื้อ และอาจจะมีผลให้เกิดแรงเทขายในตลาดเงินเหมือนที่เคยเกิดขึ้นในปี 2558-2559

รายงาน World Economic Outlookของไอเอ็มเอฟ ระบุว่า แม้การเติบโตของเศรษฐกิจโลกจะอยู่ในระดับใกล้เคียงกับช่วงก่อนวิกฤติการเงินสหรัฐแต่การขยายตัวชะลอลงในอัตราที่เร็วกว่าคาด แม้มีการปรับลดคาดการณ์การเติบโตลงเล็กน้อย แต่เชื่อว่าความเสี่ยงที่จะทำให้เศรษฐกิจชะลอตัวลงอีกเพิ่มขึ้น นอกจากนี้แม้ตลาดเงินโลกจะไม่ได้รับผลจากความตึงเครียดทางการค้าในปี 2561 แต่ปีนี้เริ่มมีความสัมพันธ์กันมากขึ้น จากภาวะการเงินที่ตึงตัวและความเสี่ยงที่เพิ่มขึ้น

โดยรวมวัฎจักรการเติบโตพร้อมกันที่เริ่มขึ้นในครึ่งหลังของปี 2560 ได้อ่อนตัวลงเร็วกว่าคาด การค้าและการลงทุนชะลอตัว ผลผลิตอุตสา หกรรมนอกสหรัฐลดลง ขณะที่ความขัดแย้งทางการค้าที่ยืดเยื้อและภาวะการเงิน คือปัจจัยเสี่ยงหลักที่มีผลต่อการเติบโต ความไม่แน่นอนทางการค้าโลกจะมีผลต่อการลงทุนและทำให้ supply chain ของโลกชะงัก ส่วนภาวะการเงินมีผลต่อภาระหนี้ของภาครัฐและภาคเอกชน

ไอเอ็มเอฟชี้ว่า ผู้กำกับนโยบายต้องหาทางเตรียมความพร้อมรับมือกับการชะลอตัว โดยนโยบายหลักคือการร่วมมือแก้ไขความขัดแย้งทาง การค้าอย่างรวดเร็ว มากกว่าที่จะสร้างกำแพงกีดกันการค้า เพราะจะมีผลให้เศรษฐกิจโลกไม่มีเสถียรภาพและความไม่แน่นอน รวมทั้งต้องเดินหน้าปฏิรูป WTO ให้สำเร็จตามที่ให้คำมั่นไว้ในการประชุมผู้นำกลุ่มประเทศ G-20 ที่บัวโนสไอเรส เมื่อปลายปีก่อน

ส่วนนโยบายการคลัง หากมีความสามารถในการดำเนินนโนบายต่ำก็ต้องปรับให้สนับสนุนการเติบโต เพื่อให้มีความยั่งยืนของภาระหนี้และต้องรักษาเสถียรภาพควบคู่กัน ทางด้านการดำเนินนโยบายการเงินในประเทศพัฒนาแล้วต้องมีการปรับให้เข้าสู่ภาวะปกติต่อเนื่อง และต้องมีการใช้เครื่องมือเชิงนโยบาย (Macro prudential หากความผันผวนทางการเงินมีมากขึ้น และสำหรับประเทศที่มีความสามารถในการดำเนินนโยบายต่ำ(policy space) กว่าปี 2551 ความร่วมมือของหลายองค์กรมีความสำคัญมากขึ้น หากเศรษฐกิจโลกร่วงลงแรง

ที่มาภาพ:https:// blogs.imf.org/2019/01/21/a-weakening-global-expansion-amid-growing-risks/

ยูเอ็นชี้เศรษฐกิจไม่โตไปด้วยกัน

ทางด้านเอลเลียต แฮร์ริส หัวหน้าเศรษฐกิจของสหประชาชาติหรือยูเอ็นคาดว่า เศรษฐกิจโลกปีนี้และปี 2563 จะเติบโต 3% ทรงตัวจาก 3.1% ในปีก่อน แต่เป็นการขยายตัวที่ไม่พร้อมกัน เนื่องจากมีความเสี่ยงเพิ่มขึ้น และมีโอกาสสร้างผลกระทบได้สูง ดังเห็นได้แล้วจากความขัดแย้งทางการค้าที่ยืดเยื้อที่มีผลต่อการค้าโลกและการจ้างงาน

นอกจากนี้ภาระหนี้ที่สูงขึ้นทำให้ความสามารถของประเทศในการจัดให้มีบริการสาธารณูปโภคพื้นฐานลดลง แต่ความเสี่ยงนี้และความเสี่ยงอื่น เช่น การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ สามารถหลีกเลี่ยงหรือลดลงได้หากมีความร่วมมือกัน เพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน และยิ่งแรงกดดันทาง การค้าระหว่างประเทศเพิ่มมากขึ้นความร่วมมือในระดับนานาชาติยิ่งทวีความสำคัญมากกว่าเดิม

ความเห็นของนายแฮร์ริส สอดคล้องกับการประเมินภาวะเศรษฐกิจในรายงาน World Economic Situation and Prospects 2019 ที่จัดทำโดย สำนักงานกิจการเศรษฐกิจและสังคมแห่งสหประชา ชาติ(UN Department of Economic and Social Affairs:UNDESA)

ที่มาภาพ: https:// www.un.org/development/desa/en/news/policy/world-economic-situation-and-prospects-wesp-2019.html

รายงาน WESP ระบุว่า ประเทศในโลกนี้จำนวนมากกว่าครึ่งเศรษฐกิจมีการขยายตัวในปี 2560 และ 2561 โดยกลุ่มประเทศพัฒนาแล้วเติบโต 2.2% ในช่วง 2 ปีนั้น แต่การจ้างงานลดลง ส่วนกลุ่มประเทศกำลังพัฒนาปี 2561 เอเชียตะวันออกและเอเชียตะวันออกเฉียงใต้มีการเติบโตที่แข็งแกร่งสุด ในระดับ 5.8% และ5.6% ตามลำดับ ขณะที่ประเทศผู้ส่งออกสินค้าโภคภัณฑ์ฟื้นตัวอย่างค่อยเป็นค่อยไป ส่วนหนึ่งมาจากประเทศที่ส่งออกน้ำมัน แม้ยังคงมีภาระหนี้สูงจากการร่วงลงของราคาในปี 2557-2558

เศรษฐกิจสหรัฐปี 2562 คาดว่าจะขยายตัว 2.5% และ 2% ในปี 2563 เพราะผลของนโยบายการคลังอ่อนลง ส่วนอียูเศรษฐกิจจะขยายตัวในระดับ 2% แม้มีความเสี่ยงด้านต่ำจาก Brexit ขณะที่คาดว่าจีนจะเติบโต 6.3% ในปีนี้ จากการดำเนินนโยบายสนับสนุนที่ช่วยบรรเทาผลกระทบจากสงครามการค้า

ความขัดแย้งทางการค้าส่งผลให้การค้าโลกปี 2561 ลดลงจาก 5.3%ในปีก่อน มาที่ 3.8% และคาดว่าปริมาณการค้าโลกปี 2562 จะลดลงอีก ซึ่งจะยิ่งส่งผลให้ประเทศกำลังพัฒนาได้รับผลกระทบมากขึ้น จนกว่าสหรัฐและจีนจะสามารถบรรลุข้อตกลงกันได้ เพราะประเทศกำลังพัฒนาเติบโตและพัฒนามาได้จากการเข้าเป็นส่วนหนึ่งของการค้าโลกที่ขยายตัว

การปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยของสหรัฐ ซึ่งมีผลให้ค่าเงินดอลลาร์แข็งค่า ก็มีผลต่อประเทศ Emerging ที่เปราะบาง โดยประเทศที่มีรายได้ต่ำ เช่น ศรีลังกา เลบานอน ที่ภาระหนี้ของรัฐมากกว่า 40% ของรายได้ ได้รับผลกระทบแล้ว จากค่าใช้จ่ายดอกเบี้ยที่เพิ่มขึ้นจากภาระหนี้ เช่นเดียวกับปากีสถาน จาไมก้า ที่ งบประมาณรายได้ 1 ใน 4 ต้องนำไปชำระดอกเบี้ย

สำหรับกรณี Brexit นั้นรายงาน WESP คาดว่า อังกฤษจะขยายตัว 1.4% เนื่องจากความไม่แน่นอนทางการค้าทำให้ธุรกิจมีการโยกย้ายทรัพย์สินหรือโยกการลงทุนออกจากอังกฤษมาที่อียู และการถอนตัวออกจากอียูของอังกฤษจะมีผลต่อประเทศอื่นนอกอียูด้วย โดยจะทำให้เงินทุนจากอียูลดลง 10-15%

การชะงักงันของภาวะการเงินที่ตึงตัวอาจจะมีผลให้เกิดความปั่นป่วนในตลาดเงินอีกรอบ เพราะปัจจุบันภาวะการเงินตึงตัวขึ้นแล้ว การปรับอัตราดอกเบี้ยหรือการแข็งค่าของเงินดอลลาร์ จะซ้ำเติมตลาดประเทศเกิดใหม่ เพราะมีผลต่อภาระหนี้ รวมทั้งอาจจะถูกผลกระทบจากความตึงเครียดทางการค้า การดำเนินนโยบายการเงินของประเทศพัฒนาแล้ว ราคาสินค้าโภคภัณฑ์ปรับเปลี่ยนเร็ว

เศรษฐกิจชะลอทำเป้าหมาย SDG 2030 ไกล

การที่เศรษฐกิจโลกเติบโตแบบทรงตัว ได้ทำให้เกิดความเสี่ยงระยะสั้น ซึ่งจะมีผลให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจหยุดชะงักและมีผลต่อการพัฒนาระยะยาว จะทำให้โลกไม่สามารถบรรลุเป้าหมายความยั่งยืนตามวาระ 2030 ทั้งหมด 17 ข้อได้ ประเทศที่มีความเปราะบาง เช่น ความไม่สมดุลของเศรษฐกิจ และมีภาระหนี้ต่างประเทศสูง ความสามารถในการดำเนินนโยบายต่ำทั่วโลก หากเกิดเหตุการณ์รุนแรง ก็จะยิ่งมีผลต่อการเติบโตของเศรษฐกิจโลกและภาวะเศรษฐกิจสังคม

โลกก้าวหน้าไปมากในช่วงมากกว่า 2 ทศวรรษ แต่ยังมีประชากรจำนวนมาก ที่ยังยากจนข้นแค้น โดยมีประชากรมากกว่า 700 ล้านคนอยู่ภายใต้เส้นความยากจน ซึ่งครึ่งหนึ่งของจำนวนนี้อยู่ในอัฟริกา

โดยรวมประเทศกำลังพัฒนาจะดูดี แต่การขยายตัวนั้นไม่ได้ส่งผลที่เท่าเทียมกันในแต่ละประเทศ เพราะรายได้ประชากรต่อหัวในหลายประ เทศลดลง รายงาน WESP คาดว่า ปี 2562 รายได้ประชากรต่อหัวจะเพิ่มขึ้นเพียงเล็กน้อยหรือลดลงอีกในบางประเทศ โดยเฉพาะอัฟริกา เอเชียตะวันตก ลาตินอเมริกาและแถบแคริบเบียน ซึ่งมีประชากร 1 ใน 4 ยากจนขั้นรุนแรง โลกก้าวหน้าไปมากในช่วงมากกว่า 2 ทศวรรษ แต่ยังมีประชากรจำนวนมาก ที่ยังยากจนข้นแค้น โดยมีประชากรมากกว่า 700 ล้านคนอยู่ภายใต้เส้นความยากจน ซึ่งครึ่งหนึ่งของจำนวนนี้อยู่ในอัฟริกา

แม้รายได้ประชากรต่อหัวจะเพิ่มขึ้นแต่ กิจกรรมทางเศรษฐกิจส่วนใหญ่อยู่ในเขตเมือง ทำให้ชนบทถูกทิ้งห่าง ดังนั้นการขจัดความยากจนตามเป้าหมาย SDG 2030 เศรษฐกิจในภูมิภาคนี้ต้องเติบโตในอัตราเลขสองหลักและต้องลดไม่เท่าเทียมกันของรายได้อย่างมาก

ที่มาภาพ:https:// www.un.org/development/desa/dpad/wp-content/uploads/sites/45/WESP2019_BOOK-web.pdf

นอกจากนี้การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ(Climate Change) ก็มีผลต่อแนวโน้มการขยายตัวทางเศรษฐกิจ โดยเฉพาะประเทศหมู่เกาะที่กำลังพัฒนา ในรอบ 6 ปีที่ผ่านมากเหตุการณ์เลวร้ายทางอากาศเกิดจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ มีผลทั้งประเทศกำลังพัฒนาและประเทศพัฒนาแล้ว แต่ที่ได้รับมากที่สุดคือประเทศรายได้ต่ำ และประเทศรายได้ต่ำถึงปานกลาง

ประเทศหมู่เกาะที่มีความเสี่ยงต่อการเผชิญ Climate Change การคมนามจะหยุดชะงักหากเหตุการณ์เกิดขึ้น สนามบิน ท่าเรือได้รับผลกระทบ ซึ่งมีผลต่อเนื่องถึงการค้าระหว่างประเทศ และการพัฒนาระยะยาว รวมทั้งความเสี่ยงจากน้ำทะเลเอ่อท่วมจากการสร้างโครงการสาธารณูปโภคชายฝั่งก็จะยิ่งมากขึ้น เมื่ออุณหภูมิโลกเพิ่มขึ้น 1.5 องศาเซลเซียสเร็วขึ้นในปี 2030

รายงาน WESP ระบุว่า การดำเนินนโยบายหรือการตัดสินใจด้านเศรษฐกิจ ควรคำนึงถึงและรวมความเสี่ยงของ Climate Change ไว้ด้วย โดยเฉพาะการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ ซึ่งสามารถแก้ไขได้ด้วยมาตรการกำหนดราคาคาร์บอน กฎระเบียบพลังงานที่มีประสิทธิภาพ รัฐบาลควรสนับสนุนให้มีการวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีที่ประหยัดพลังงานมากขึ้น

เพื่อหลีกเลี่ยงไม่ให้ระบบธรรมชาติและมนุษย์เปลี่ยนแปลงไป การปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์จะต้องลดลงให้ได้มากก่อนปี 2030 เพราะแม้มีความคืบหน้าในการลดการกระจุกตัวของก๊าซเรือนกระจก แต่การส่งผ่านไปยังการผลิตและการบริโภคที่ยั่งยืนยังไม่เกิดขึ้นเร็ว ทำให้การปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์เพิ่มขึ้นและมีผลต่อ Climate Change ดังนั้นแนวทางการเติบโตของประเทศมหาอำนาจจะต้องปรับเปลี่ยนให้เกิดขึ้นเร็ว เพื่อเลี่ยงผลเสียหายต่อระบบนิเวศและความเป็นอยู่ เช่น การเปลี่ยนแปลงพฤติกรรม

รายงาน WESP ระบุว่า ความร่วมมือระดับโลกที่เข้มแข็งคือหัวใจหลักในการก้าวสู่การพัฒนาที่ยั่งยืน แนวทางการร่วมมือกันหลายฝ่ายในการวางกรอบนโยบายระดับโลกกำลังสั่นคลอน เพราะมีการใช้แนวทางอื่นมากขึ้น เช่น การลงมือปฏิบัติฝ่ายเดียว ขณะที่ความเสี่ยงชัดเจนขึ้น เช่น ด้านการค้าระหว่างประเทศ การพัฒนาทางการเงินและด้านแก้ไขสิ่งแวดล้อม การร่วมมือกันนี้มีความสำคัญและจำเป็นมากขึ้น เพราะความท้าทายบางด้านอยู่ในเป้าหมาย SDG 17 ข้อ