ThaiPublica > เกาะกระแส > IMF มองเศรษฐกิจไทยปีนี้โต 2.9% ชี้นโยบายการคลัง-การเงินยังมีช่องผ่อนคลายได้อีก หนุนการขยายตัว

IMF มองเศรษฐกิจไทยปีนี้โต 2.9% ชี้นโยบายการคลัง-การเงินยังมีช่องผ่อนคลายได้อีก หนุนการขยายตัว

25 ตุลาคม 2019


จากซ้าย นายเฮรัลด์ ฟิงเกอร์ หัวหน้าส่วนภูมิภาคศึกษา เอเชียแปซิฟิก นายโจนาทาน ออสทรี รองผู้อำนวยการฝ่ายเอเชียและแปซิฟิก นางสาวเคอิโกะ อัตสึโนมิยะ เจ้าหน้าอาวุโสฝ่ายสื่อสารองค์กร

วันนี้ (25 ตุลาคม 2562) กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (International Monetary Fund – IMF) ได้บรรยายสรุปภาวะเศรษฐกิจโลกและเศรษฐกิจไทยที่ IMF ได้ทำการประเมินโดย นายโจนาทาน ออสทรี รองผู้อำนวยการฝ่ายเอเชียและแปซิฟิก นายเฮรัลด์ ฟิงเกอร์ หัวหน้าส่วนภูมิภาคศึกษา เอเชียแปซิฟิก และนางสาวเคอิโกะ อัตสึโนมิยะ เจ้าหน้าอาวุโสฝ่ายสื่อสารองค์กร

เศรษฐกิจโลกชะลอตัวในทิศทางเดียวกัน

นายโจนาทานกล่าวว่า เศรษฐกิจโลกปี 2019 มีทิศทางเติบโตชะลอลง (synchronized slowdown) จากความขัดแย้งทางการที่รุนแรงขึ้น ซึ่งส่งผลต่อการลงทุนและการค้าในวงกว้าง ส่วนในปีหน้ามีแนวโน้มขยายตัวดีขึ้น แต่ยังคงประสบกับภาวะความไม่แน่นอนทั่วโลกที่ต่อเนื่อง จากนโยบายการค้าระหว่างประเทศ เศรษฐกิจโลกปีนี้คาดว่าจะขยายตัว 3% ในปีนี้ และเติบโต 3.4% ในปีหน้า

สำหรับภูมิภาคเอเชียซึ่งเป็นศูนย์กลางของการเติบโตของเศรษฐกิจโลกได้รับผลกระทบจากปัจจัยเหล่านี้ โดยเศรษฐกิจในครึ่งแรกของปีนี้ชะลอตัวลงแล้ว เพราะการลงทุนในสินทรัพย์ถาวรที่ลดลงและการส่งออกหดตัว ขณะที่การบริโภคยังขยายตัวได้ดีจากแรงหนุนของนโยบายการคลังและการเงิน

การชะลอตัวของเศรษฐกิจโลก ความไม่แน่นอนของนโยบายเศรษฐกิจโลกที่ยืดเยื้อ มาตรการกีดกันทางการค้า และการชะลอตัวของเศรษฐกิจประเทศคู่ค้าหลัก ทำให้ความเสี่ยงด้านต่ำของเศรษฐกิจเพิ่มมากขึ้น IMF จึงได้ปรับประมาณการณ์การเติบโตของเศรษฐกิจเอเชียปี 2019 ลงมาที่ 5% ส่วนปีหน้าจะขยายตัว 5.1% ซึ่งเป็นการลดลง 0.3-0.4% จากประมาณการณ์เดิมในรายงานแนวโน้มเศรษฐกิจโลกของกองทุนการเงินระหว่างประเทศ เดือนเมษายน 2562 (April 2019 World Economic Outlook)

“ประมาณการณ์การเติบโตเศรษฐกิจเอเชียครั้งนี้ ถือเป็นการขยายตัวที่ต่ำสุดของเอเชียนับตั้งแต่วิกฤติการเงินโลก ปี 2008 ซึ่งมีความสำคัญเพราะภูมิภาคเอเชียและแปซิฟิกถือว่าเป็นภูมิภาคที่มีอัตราการเติบโตสูงที่สุดในโลก สนับสนุนการขยายตัว ของเศรษฐกิจโลกมากถึง 70%” นายโจนาทานกล่าว

ที่มาภาพ: https://www.imf.org/en/News/Articles/2019/10/18/na102319-prolonged-uncertainty-weighs-on-asias-economy

สำหรับเศรษฐกิจจีนจะขยายตัวเล็กน้อยในอัตรา 6% ในปีนี้และอ่อนตัวลงอีกในระดับ 5.8% ในปี 2020 จากผลกระทบของความขัดแย้งของนโยบายทางการค้ากับสหรัฐฯ

เศรษฐญี่ปุ่นปีนี้จะขยายตัว 0.9% ในปีนี้และเติบโตเพียง 0.5% ในปี 2020 เนื่องจากแรงหนุนของมาตรการทางการคลังระยะสั้นไม่เพียงพอที่จะหักล้างผลทางลบจากอัตราภาษีบริโภคที่ปรับเพิ่มขึ้น

อินเดียซึ่งเป็นประเทศใหญ่มีผลต่อเศรษฐกิจของภูมิภาคคาดว่าเศรษฐกิจในปีนี้จะขยายตัว 6.1% ในปี 2019 และขยายตัว 7% ในปี 2020 จากแรงหนุนของมาตรการทางการเงินเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจและการลดอัตราภาษีเงินได้นิติบุคคล

สำหรับภูมิภาคอาเซียน โมเมนตัมการขยายตัวของเศรษฐกิจได้ลดลงในครึ่งแรกของปีนี้ จากการส่งออกที่หดตัวจากสงครามการค้า ดังนั้นในปีนี้เศรษฐกิจคาดว่าจะขยายตัว 4.6% และเติบโต 4.8% ในปี 2020

“การดำเนินนโยบายการคลังและการเงินมีความจำเป็นที่จะจำกัดการชะลอตัวของเศรษฐกิจในภูมิภาค ซึ่งประสบกับความเสี่ยงด้านต่ำที่มากขึ้น จากปัจจัยคือ ความขัดแย้งทางการค้า ที่มีผลต่อการลงทุน การค้าและการขยายตัวของเศรษฐกิจต่อเนื่อง แม้การเจรจาเพื่อแก้ไขความขัดแย้งทางการค้าครั้งล่าสุดในวันที่ 10-11 ตุลาคมที่ผ่านมาของสหรัฐฯกับจีนอาจจะส่งผลให้มีการเลื่อนการเก็บภาษีสินค้านำเข้าออกไป แต่ไม่สามารถบอกได้ว่าความขัดแย้งทางการค้าจะแก้ไขได้หรือไม่”นายโจนาทานกล่าว

นอกจากนี้ผลกระทบจากจีนจะขยายวงออกไปยังการลงทุนและการค้าของหลายประเทศในภูมิภาค เนื่องจากการค้าของภูมิภาคมีความเชื่อมโยงกันมาก และยังอยู่ในห่วงโซ่การผลิตของการค้าโลกอีกด้วย

ประเด็นที่ภูมิภาคนี้ต้องระวังคือการไหลออกของกระแสเงินทุนเคลื่อนย้าย โดยเริ่มเห็นกระแสเงินไหลออกในเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา เมื่อมีการประกาศมาตรการการค้าของสหรัฐฯ และจีน แม้โดยทั่วไปแล้ว เงินทุนเคลื่อนย้ายระหว่างประเทศจะก่อให้เกิดประโยชน์ แต่เงินทุนเคลื่อนย้ายที่มีปริมาณมากและมีความผันผวนอาจก่อให้เกิดปัญหาทางเศรษฐกิจให้แก่ประเทศผู้รับ

ตลาดอาจจะประเมินว่าภาวะการเงินที่ตึงตัวขึ้นและกระแสเงินไหลออก จะมีผลให้เศรษฐกิจชะลอตัว ขณะเดียวกันต้นทุนทางการเงินจากอัตราแลกเปลี่ยนที่เพิ่มขึ้นอาจจะกระทบงบดุลของประเทศ ดังนั้นการดำเนินนโยบาย ต้องรอบคอบและระวังเพื่อไม่ให้เกิดผลกระทบต่ออัตราแลกเปลี่ยนแทนที่จะรองรับผลที่เกิดขึ้น

“ผู้กำหนดนโยบายจึงใช้มาตรการ แทรกแซงค่าเงิน เพื่อบรรเทาผลกระทบที่อาจเกิดขึ้น จากความผันผวนของเงินทุนเคลื่อนย้ายระหว่างประเทศ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในภาวะที่งบดุลไม่สอดคล้องกันและตลาดการเงินยังไม่พัฒนา รวมไปถึงการใช้นโยบายการเงินเพื่อรับมือกับการเปลี่ยนแปลงของอัตราดอกเบี้ย อัตราแลกเปลี่ยนและการขยายตัวของสินเชื่อของสหรัฐฯ ที่ส่งผลกระทบต่ออัตราเงินเฟ้อและการขยายตัวทางเศรษฐกิจของประเทศในเอเชีย ตลอดจนการใช้มาตรการ macroprudential และมาตรการดูแลเงินทุนเคลื่อนย้าย เพื่อตอบสนองต่อเศรษฐกิจภายในและภายนอกประเทศ รวมถึงเสถียรภาพทางการเงินภายในประเทศ”

นอกจากนี้ IMF ยังสนับสนุนการปฏิรูปเชิงโครงสร้างทั้งในด้านทุนมนุษย์ การศึกษา แรงงาน เพื่อการเติบโตแบบยั่งยืน

ที่มาภาพ: https://www.imf.org/en/News/Articles/2019/10/18/na102319-prolonged-uncertainty-weighs-on-asias-economy

นโยบายการคลัง-การเงินไทยมีช่องให้ผ่อนคลาย

สำหรับเศรษฐกิจไทยหลังจากที่ชะลอตัวติดต่อกันสองไตรมาส ทำให้คาดการณ์ว่าจะขยายตัว 2.9% ในปีนี้ และจะขยายตัว 3% ในปี 2020 ซึ่งสะท้อนการส่งออกที่อ่อนตัว

นายโจนาทานกล่าวว่า ในการประเมินภาวะเศรษฐกิจของไอเอ็มเอฟครั้งล่าสุดนี้ได้ครอบคลุมไปถึงการดำเนินนโยบายการคลังการเงินในปัจจุบันรวมทั้ง policy space (พื้นที่นโยบาย) หรือขีดความสามารถในการดำเนินนโยบายของไทยด้วย เพื่อรับมือและสนับสนุนการเติบโตในช่วงเศรษฐกิจขาลง (counter-cyclical)

“จากการประเมินพบว่า ยังมีไทยยังมี policy space ระดับหนึ่งทั้งด้านการคลังและการเงินที่จะสนับสนุนการขยายตัวในระยะปานกลาง โดยนโยบายการคลังยังสามารถใช้มาตรการเสริมเพื่อกระตุ้นการบริโภคในประเทศ และดึงการลงทุนจากภาคเอกชน ซึ่งจะส่งเสริมการลงทุนให้ขยายตัว ขณะเดียวกันนโยบายการเงินก็ยังสามารถผ่อนคลายได้อีก แต่ต้องสอดคล้องกับเงินเฟ้อและคงเสถียรภาพไว้ได้” นายโจนาทานกล่าว

นอกจากนี้ ควรดำเนินมาตรการทางการคลังเพื่อสนับสนุนการออมในประเทศ และการสร้างสวัสดิการสังคม แต่เมื่อใช้มาตรการคลังต้องคำนึงว่า เป็นการวางรากฐานให้กับการเติบโตอย่างเท่าเทียมและยั่งยืนในระยะปานกลาง

ในด้านนโยบายอัตราแลกเปลี่ยนนั้น นายโจนาทานกล่าวว่า IMF มองในแง่นโยบายเศรษฐกิจมหภาค ที่กำหนดไว้นั้นมีความเหมาะสมหรือไม่ และเมื่อถึงรอบการประเมินประเทศประจำปีในหลายด้านหลายระดับ ได้มองไปที่นโยบายเศรษฐกิจมหภาคในภาพกว้าง เพื่อประเมินว่า ฐานะระหว่างประเทศนั้น (external position) สอดคล้องกับนโยบายเศรษฐกิจในประเทศหรือไม่ จากนั้นมาดูว่าต้องมีการปรับนโยบายหรือไม่ เช่น ในด้านการคลัง ซึ่งการดำเนินการตามลำดับขั้นตอนปกติ เพื่อดูว่า มีอะไรที่จำเป็นที่เกี่ยวข้องกับค่าเงินบาทอีกหรือไม่

“นั่นเป็นเหตุผลที่เห็นว่า นโยบายการคลังสามารถผ่อนคลายได้อีก โดยนโยบายการคลังต้องสอดคล้องกับเป้าหมายในประเทศ ซึ่งเราประเมินว่าไทยยังมีขีดความสามารถที่จะใช้นโยบายการคลังการเงินแบบผ่อนคลายร่วมกัน และมองว่าไทยยังลดการเกินดุลบัญชีเดินสะพัดลงได้ ซึ่งเป็นปัจจัยหลักของค่าเงินบาทแข็งค่า” นายโจนาทานกล่าว

สำหรับเงินทุนสำรองระหว่างประเทศของไทย นายโจนาทานกล่าวว่า เงินทุนสำรองระหว่างประเทศเป็นด้านหนึ่งที่ IMF มองในการประเมินฐานะระหว่างประเทศ ซึ่งจากการประเมินพบว่า ไทยมีเงินทุนสำรองทางการจำนวนมาก และมากกว่าที่ประเมินไว้ ซึ่งความเพียงพอของเงินทุนมีความสำคัญในการรับมือกับความผันผวนจากภายนอก แต่การบริหารเงินทุนสำรองอย่างไรเป็นเรื่องที่ไทยต้องพิจารณาเอง

ทางด้านความขัดแย้งทางการค้าและการกีดกันทางการค้าที่เกิดขึ้นในการค้าโลกขณะนี้ นายโจนาทานได้ให้ความเห็นว่า เพื่อป้องกันการถดถอยของเศรษฐกิจโลกและการรวมตัวทางเศรษฐกิจของทุกภูมิภาค เป็นเรื่องของทุกประเทศที่เป็นสมาชิก เพราะทุกประเทศได้ประโยชน์ด้านการเติบโตของเศรษฐกิจ จากการค้าโลกที่รุ่งเรืองในหลายทศวรรษที่ผ่านมา และยังช่วยขัดความยากจนอีกด้วย จากการค้าโลกที่เปิดกว้างและการรวมตัวทางเศรษฐกิจ

ไม่ว่าโอกาสการรวมตัวทางเศรษฐกิจยังมีอีกหรือไม่ และไม่ว่าประเทศเล็กหรือประเทศใหญ่ควรทำให้เป็นตัวอย่าง ซึ่งอาเซียนได้มีการดำเนินการมาต่อเนื่องในหลายด้านนับตั้งแต่มีการก่อตั้ง มีการรวมตัวทางเศรษฐกิจ แต่ก็ยังมีอีกหลายด้านที่ยังต้องทำต่อเนื่อง ทั้งการค้า การลงทุน การเคลื่อนย้ายแรงงาน

“ในการศึกษาของ IMF ปีก่อนพบว่า ซึ่งหากทำได้ใน 3 ด้านจะช่วยให้เศรษฐกิจได้รับประโยชน์อย่างมาก โดยจีดีพีเติบโตในอัตราเลขสองหลักในระยะปานกลาง ได้แก่ 1) การรวมตัวที่ลึกขึ้น 2) เชื่อมโยงการค้าและการบริการแบบเบ็ดเสร็จ และ 3) กรอบกติการการลงทุนจากต่างประเทศ ซึ่งทั้ง 3 ด้านนี้มีสัดส่วนถึง 30% ของจีดีพีและจะเพิ่มการบริโภคและสวัสดิการอย่างมหาศาลให้กับอาเซียน อย่างไรก็ได้เห็นความคืบหน้าในการดำเนินการ” นายโจนาทานกล่าว

สำหรับโอกาสที่เศรษฐกิจโลกและเศรษฐกิจเอเชียจะเข้าสู่ภาวะถดถอยจากภาวะความไม่แน่นอนของโลกที่เกิดขึ้น นั้นนายโจนาทานกล่าวว่า การประเมินเศรษฐกิจของ IMF ทำเป็นรอบๆ ในกรอบระยะเวลาหนึ่ง ซึ่งในการประเมินครั้งนี้มีความไม่แน่นอนจากนโยบายการค้า มีโอกาสที่จะลดลงการลงทุนในเอเชียลงราว 1.5% ของจีดีพี ซึ่งถือว่าเป็นตัวเลขที่สูง แต่หากความไม่แน่นอนนี้หายไป เศรษฐกิจจะได้รับประโยชน์อย่างมาก

ความไม่แน่นอนมีผลกระทบต่อเศรษฐกิจในด้านการลงทุน และผลกระทบไม่ได้เกิดขึ้นโดยตรงจากการใช้มาตรการทางภาษี แต่เกิดจากความไม่เชื่อมั่น เป็นปัญหาสำคัญของเอเชีย

กรรมการผู้จัดการใหญ่เยือนไทยต้น พ.ย.

นายเดวิด โคเวน ผู้อำนวยการ สำนักงาน Capacity Development ของ IMF ประจำประเทศไทย

นายเดวิด โคเวน ผู้อำนวยการ สำนักงาน Capacity Development ของ IMF ประจำประเทศไทย ซึ่งมีที่ทำการภายในธนาคารแห่งประเทศไทย เปิดเผยว่า ในช่วงต้นเดือนพฤศจิกายนนี้ นางคริสตาลีนา กอร์เกียวา กรรมการผู้จัดการใหญ่คนใหม่ ทีเริ่มทำหน้าที่ในวันที่ 1 พฤศจิกายนจะเดินทางเยือนไทยเป็นประเทศแรกนอกสหรัฐฯ

โดยนางคริสตาลีนา จะเข้าร่วมพบปะกับผู้นำอาเซียนในการประชุมสุดยอดอาเซียนครั้งที่ 35 ระหว่างวันที่ 31 ตุลาคม – 4 พฤศจิกายน 2562 ที่ไทยเป็นเจ้าภาพ และจะพบปะกับผู้บริหาร ธนาคารแห่งประเทศไทย เพื่อหารือเกี่ยวกับผลการประเมินภาวะเศรษฐกิจประเทศไทยภายใต้พันธะข้อ 4 (Article IV Consultation) ของข้อตกลงว่าด้วยกองทุนการเงินฯ ที่มีขึ้นประจำปี และในปีนี้การประเมินเพิ่งเสร็จสิ้นไป

นายเดวิดให้ข้อมูลว่า ปัจจุบัน IMF มีสมาชิก 189 ประเทศ สำหรับประเทศไทยเข้าเป็นสมาชิกในปี 1949 โดยมีธนาคารแห่งประเทศไทย เป็นตัวแทนของประเทศไทยในกองทุนการเงินฯ

IMF ก่อตั้งขึ้นปี 1944 จากการประชุม United Nations Monetary and Financial Conference หรือที่รู้จักดีในนามของ Bretton Woods Conference โดยมีสำนักงานใหญ่อยู่ที่กรุงวอชิงตัน ดี.ซี. สหรัฐอเมริกา และและมีฐานะเป็นทบวงการชำนัญพิเศษของสหประชาชาติ ปัจจุบันมีพนักงานราว 3,000 ราย มีสำนักงานกระจายในหลายภูมิภาคเพื่อให้ความช่วยเหลือทางวิชาการ โดยในเอเชีย มีที่ไทย อินเดีย และสิงคโปร์

IMF มีบทบาทหลักในการดูแลเศรษฐกิจ รวมทั้งให้ความช่วยเหลือทางการเงิน และความช่วยเหลือทางวิชาการแก่ประเทศสมาชิก เพื่อให้ระบบการเงินระหว่างประเทศมีเสถียรภาพ

สำหรับผู้บริหารรองจาก นางคริสตาลีนา ซึ่งเป็นตำแหน่ง First Deputy Managing Director เป็นชาวสหรัฐฯ ขณะที่ผู้บริหารระดับ Deputy Managing Director ประกอบด้วยตัวแทนจาก จีน บราซิลและญี่ปุ่น

ในปี 2016 กองทุนการเงินระหว่างประเทศได้มีมติเป็นเอกฉันท์แก้ไขโควต้าและสิทธิในการออกเสียงของประเทศสมาชิก เพื่อสะท้อนถึงความสำคัญทางเศรษฐกิจที่มากขึ้น และสอดคล้องกับแผนระดมทรัพยากรของ IMF