ThaiPublica > เกาะกระแส > “คริสตีน ลาการ์ด”ประธานไอเอ็มเอฟ มองความเป็นไปได้ “ธนาคารกลาง” ออกสกุลเงินดิจิทัล – ชี้เรากำลังอยู่ที่จุดเปลี่ยนของประวัติศาสตร์

“คริสตีน ลาการ์ด”ประธานไอเอ็มเอฟ มองความเป็นไปได้ “ธนาคารกลาง” ออกสกุลเงินดิจิทัล – ชี้เรากำลังอยู่ที่จุดเปลี่ยนของประวัติศาสตร์

15 พฤศจิกายน 2018


นางคริสตีน ลาการ์ด กรรมการผู้จัดการและประธาน กองทุนการเงินระหว่างประเทศ หรือ ไอเอ็มเอฟ

เมื่อวันที่ 14 พฤศจิกายน 2561 นางคริสตีน ลาการ์ด กรรมการผู้จัดการและประธาน กองทุนการเงินระหว่างประเทศ(International Monetary Fund) หรือ ไอเอ็มเอฟ กล่าวสุนทรพจน์ในงาน “Singapore Fintech Festival 2018” ณ ประเทศสิงคโปร์ ซึ่งเป็นงานนิทรรศการฟินเทคที่ใหญ่ที่สุดในโลกครอบคลุมเวลา 3 วันตั้งแต่ 12-14 พฤศจิการยน 2561 ด้วยวิทยากร 250 คน ผู้จัดนิทรรศการกว่า 450 แห่ง และคนเข้าร่วมกว่า 40,000 ราย ในหัวข้อ “Winds of Change: The Case for New Digital Currency” รายละเอียดดังนี้

สิงคโปร์เป็นประเทศที่ลมมักแรง ลมที่นำมาซึ่งการเปลี่ยนแปลงและโอกาส จากประวัติศาสตร์ ลมได้พัดเรือต่างๆเข้าสู่ท่าเรือของสิงคโปร์และเติมเสบียงเตรียมพร้อมรอให้มรสุมผ่านไป และรอให้ฤดูกาลเปลี่ยนผ่านไปเช่นกัน

“การเปลี่ยนแปลงเป็นสิ่งที่เดียวที่แน่นอน” เป็นคำพูดของนักปรัชญากรีกโบราณนามว่าเฮราคลิตุสแห่งเอฟิซัส (Heraclitus of Ephesus) เช่นเดียวกัน สิงคโปร์รู้ถึงสิ่งนี้และพวกคุณก็รู้ถึงสิ่งนี้ ซึ่งนี่คือจิตวิญญาณที่แท้จริงของนิทรรศการฟินเทค ที่ซึ่งเปิดประตูไปสู่อนาคตของดิจิทัล และชักใบเรือขึ้นเพื่อแล่นออกไปสู่ลมแห่งการเปลี่ยนแปลง

การเปลี่ยนแปลงสามารถเป็นสิ่งที่น่ากลัวยากจะคาดการณ์ ไม่มีเสถียรภาพ และแม้แต่เป็นภัยคุกคาม สิ่งนี้ยิ่งเป็นความจริงสำหรับการเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยี ที่ปั่นป่วนพฤติกรรมนิสัย งาน และปฏิสัมพันธ์ทางสังคมของพวกเรา แต่กุญแจคือการกุมบังเหียนของผลประโยชน์ที่จะเกิดขึ้น ขณะที่หาทางจัดการความเสี่ยงต่างๆไปพร้อมๆกัน

และเมื่อเป็นเรื่องของฟินเทค สิงคโปร์ได้แสดงให้เห็นวิสัยทัศน์อย่างยอดเยียม นึกถึงกะบะทรายทดลองนโยบาย หรือ Regulartory Sandbox ที่แนวคิดใหม่จะถูกทดสอบ นึกถึงห้องทดลองฟินเทคและนวัตกรรม และความร่วมมือกับธนาคารกลางประเทศต่างๆเรื่องการชำระเงินระหว่างประเทศ

ภายใต้บริบทเหล่านี้ อยากจะพูดถึง 3 เรื่อง

  • ประการแรก วางกรอบความคิดเกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงโดยโดยธรรมชาติของเงินและการปฏิวัติของฟินเทค
  • ประการที่สอง ประเมินบทบาทของธนาคารกลางในภูมิทัศน์ทางการเงินใหม่ โดยเฉพาะการให้บริการสกุลเงินดิจิทัล
  • ประการสุดท้าย มองหาจุดด้อยบางประเทศที่อาจจะเกิดขึ้นและพิจารณาหนทางที่ลดผลกระทบที่เกิดขึ้นให้มากที่สุด

1.การเปลี่ยนโดยธรรมชาติของเงินและการปฏิวัติฟินเทค

เริ่มต้นจากประเด็นใหญ่ที่ถูกพูดถึงอย่างมากในทุกวันนี้ ธรรมชาติของการเปลี่ยนแปลงของเงิน ย้อนกลับไปเมื่อการค้าขายอยู่เฉพาะท้องถิ่น รอบๆศูนย์กลางเมือง เงินในรูปของเหรียญโลหะถือว่าเพียงพอและมีประสิทธิภาพ การเปลี่ยนมือของเงินสามารถชำระหนี้และธุรกรรมต่อกันได้ และตราบใดที่เหรียญยังถูกยอมรับว่าเป็นของจริง ไม่ว่าจะการส่องดู การขูด หรือกัดเหรียญ มันก็ไม่ได้สำคัญว่าใครจะถือมัน

แต่เมื่อการค้าย้ายลงไปสู่ทะเลและเรือ เหมือนกับเรือจำนวนมากที่ผ่านเข้ามายังสิงคโปร์ และครอบคลุมระยะทางการค้าที่กว้างขึ้นอยางมาก การแบกเหรียญไปชำระหนี้กลายเป็นสิ่งที่มีต้นทุนแพง เสี่ยง และวุ่นวาย แม้ว่าจีนได้ประดิษฐ์เงินกระดาษขึ้นในศตวรรษที่ 9 ซึ่งก็ช่วยได้ แต่ยังไม่เพียงพอ

นวัตกรรมที่มาแก้ไขปัญหาคือตั๋วแลกเงิน หรือ Bill of Exchange หมายถึงแผ่นกระดาษที่อนุญาตให้พ่อค้าที่มีบัญชีธนาคารในเมืองต้นทางสามารถถอนเงินออกจาเงินที่อยู่ในธนาคารในปลายทางได้ ชาวอาหรับเรียกสิ่งนี้ว่า ซักกส์ (Sakks) ซึ่งจะกลายเป็นที่มาของคำว่า “เชค” ในปัจจุบัน เชคเหล่านี้และธนาคารที่ตามไปกับพวกเขาได้กระจายไปทั่วโลก นำโดยนายธนาคารชาวอิตาลีและพ่อค้าแห่งยุคเรเนซองส์

ทันใดนั้น สิ่งที่สำคัญคือใครที่คุณกำลังพูดคุยอยู่ พ่อค้าชาวเปอร์เชียนี้มีสิทธิที่แท้จริงของตั๋วแลกเงินหรือไม่? ตั๋วแลกเงินนี้เชื่อถือได้หรือไม่? ธนาคารที่อยู่ในจีนจะรับมันหรือไม่? ความเชื่อใจ หรือ Trust กลายเป็นสิ่งสำคัญ และรัฐกลายเป็นผู้รับประกันความเชื่อใจเหล่านั้น ด้วยผลิตเงินรองรับสภาพคล่องที่จะเกิดขึ้นเหล่านั้นและรวมไปถึงการให้คำแนะนำต่างๆ ทำไมประวัติศาสตร์เหล่านี้ถึงเกี่ยวข้องกับโลกดิจิทัล? เพราะการปฏิวัติฟินเทคกำลังตั้งคำถามกับเงิน 2 รูปแบบที่เราพูดถึงไป เงินเหรียญและเงินฝากธนาคาร  รวมทั้งมันยังตั้งคำถามไปถึงบทบาทของรัฐในการผลิตเงิน

เราอยู่ที่จุดเปลี่ยนของประวัติศาสตร์ พวกคุณ ผู้ประกอบการเด็กและไฟแรงได้มารวมกันวันนี้ ไม่ใช่แค่ประดิษฐ์บริการ แต่คุณมีศักยภาพที่จะปั้นประวัติศาสตร์ขึ้นมา และเราทั้งหมดกำลังอยู่ในกระบวนการของการปรับตัว ลมใหม่ได้พัดแล้ว ลมของดิจิทัล ในโลกแห่งใหม่นี้ เราพบปะกันได้ทุกที่ทุกเวลา ศูนย์กลางเมืองได้อยู่ที่หลังมือของเรา ผ่านมือถือสมัยใหม่อย่างเห็นชัดๆ เราแลกเปลี่ยนข้อมูล บริการ อิโมจิ อารมณ์ ทันที่ จากเพื่อนสู่เพื่อน จากผู้คนสู่ผู้คน พวกเรากำลังลอยอยู่ในโลกของของข้อมูล เมื่อข้อมูลกลายเป็น “ทองคำ” ในยุคสมัยใหม่ แม้ว่าจะมีความกังวลที่เพิ่มขึ้นเกี่ยวกับความเป็นส่วนตัว ความปลอดภัย เราอยู่ในโลกที่คนรุ่นใหม่กำลังสร้างวิธีที่เศรษฐกิจทำงาน ด้วยมือถือในมือ

และนี่คือจุดสำคัญ เงินด้วยมันเองกำลังเปลี่ยนแปลง เราคาดหวังว่ามันจะสะดวกขึ้น เป็นมิตรกับคนใช้มากขึ้น และบางทีอาจจะดูไม่จริงจังนัก เราคาดหวังว่ามันจะรวมเข้ากับสื่อสังคมออนไลน์ต่างๆ พร้อมที่จะให้ใช้จ่ายผ่านออนไลน์และระหว่างผู้คน รวมไปถึงเงินเล็กน้อยๆด้วย และแน่นอน เราคาดหวังว่ามันจะถูก ปลอดภัย ถูกปกป้องจากอาชญากรรมและตาที่สอดรู้สอดเห็นของนักจารกรรม

คำถามคือจะเหลือบทบาทอะไรให้เงินสดอีกในโลกดิจิทัลนี้? ทุกวันนี้ก็เห็นชัดในบางร้านค้าที่ติดป้าย “ไม่รับเงินสด” แล้วไม่ใช่แค่ในประเทศกลุ่มสแกนดิเนเวีย ที่เป็นสัญลักษณ์ของโลกไร้เงินสด แต่ในอีกหลายประเทศด้วย อุปสงค์ความต้องการเงินสดกำลังลดลงจากงานวิจัยเร็วๆนี้ของไอเอ็มเอฟ และในอีก 10 ปี 20 ปี หรือ 30 ปี ใครจะยังใช้เงินเป็นสื่อกลางแลกเปลี่ยน

เช่นเดียวกับเงินฝากธนาคารที่ได้รับแรงกดดันจากรูปแบบใหม่ของเงิน นึกถึงผู้บริการชำระเงินที่เชี่ยวชาญใหม่ๆที่นำเสนอบริการ e-Money ตั้งแต่ AliPay และ WeChat ในจีน จนถึง PayTM ในอินเดีย และ M-Pesa ในเคนยา รูปแบบของเงินเหล่านี้ถูกออกแบบมาโดยกรอบแนวคิดของเศรษฐกิจดิจิทัลในใจ พวกเขาตอบสนองกับสิ่งที่คนอยากได้ และอะไรที่เศรษฐกิจต้องการ

แม้แต่คริปโตเคอเรนซี่อย่าง บิทคอยน์ อีเธอเรียม และริปเปิล ต่างกำลังแข่งขันกันชิงพื้นที่ในโลกไร้เงินสด พร้อมทั้งประดิษฐ์พัฒนาตัวเองอย่างต่อเนื่อง ด้วยความหวังว่ามันจะนำเสนอบทบาทการรักษามูลค่าที่เสถียรมากขึ้น เร็วขึ้น และถูกลงในการทำธุรกรรม

2.บทบาทของธนาคารกลางกับสกุลเงินดิจิทัล

มาสู่ประเด็นที่ 2 บทบาทของรัฐ โดยเฉพาะของธนาคารกลาง ในภูมิทัศน์ทางการเงินใหม่แบบนี้ บางความเห็นคิดว่ารัฐควรจะถอยไป ผู้ให้บริการทางการเงินระบุว่าตนเองเสี่ยงน้อยกว่าธนาคาร เพราะพวกเขาไม่ได้ให้กู้ยืมเงิน แต่พวกเขาแค่ถือเงินทุนของลูกค้าในบัญชีและทำหน้าที่ดูแลการชำระเงินระหว่างกันในเครือข่าย ในมุมมนี้ คริปโตเคอเรนซีมองหาการวางรากฐานความเชื่อใจลงในเทคโนโลยีใหม่นี้ ตราบใดที่มันยังโปร่งใส และคุณก็เป็นพวกบ้าเทคโนโลยี คุณก็อาจจะเชื่อมั่นการให้บริการของพวกเขา

อย่างไรก็ตาม ตนยังไม่เชื่อแบบนั้นทั้งหมด การกำกับดูแลองค์กรเหล่านี้ที่เหมาะสมยังคนเป็นเสาหลักของความเชื่อใจเหล่านี้ คำถามคือเราควรไปต่อมากกว่านี้หรือไม่? ไปเหนือจากการกำกับดูแล เรายังควรให้รัฐเป็นผู้เล่นหลักในตลาดสำหรับเงินหรือไม่? เราควรแค่ปิดช่องว่างในระบบที่อาจจะเกิดขึ้นจากการหายไปของเงินสดเท่านั้นหรือไม่? หรือให้ชัดเจนกว่านั้น “ธนาคารกลางควรจะผลิตสกุลเงินดิจิทัลหรือไม่?”

อาจจะเป็นเหรียญโทเคนที่รัฐรับประกันหรือบัญชีโดยตรงไปยังธนาคารกลาง เปิดช่องให้ผู้คนและธุรกิจสามารถชำระเงินรายย่อยกันโดยตรงผ่านธนาคารกลาง?

จริงอยู่ว่าเงินฝากในธนาคารพาณิชย์ปัจจุบันก็เป็นดิจิทัลแล้ว แต่สกุลเงินดิจิทัลจะมีฐานะเป็นเจ้าหนี้ของรัฐ เหมือนกับเงินสดในปัจจุบัน แทนที่จะเป็นเจ้าหนี้กับธนาคารหรือธุรกิจเอกชนอย่างที่บัญชีเงินฝากเป็น และนี่ไม่ใช่นิยายวิทยาศาสตร์ หลายธนาคารกลางทั่วโลกกำลังพิจารณาแนวคิดนี้ ไม่ว่าจะเป็นแคนาดา จีน สวีเดน และอุรุกกวัย พวกเขากำลังเปิดรับการเปลี่ยนแปลงและแนวคิดใหม่ ซึ่งจริงๆก็รวมไปถึงไอเอ็มเอฟด้วย วันนี้ไอเอ็มเอฟเผยแพร่งานวิจัยใหม่เกี่ยวกับข้อดีและเสียของสกุลเงินดิจิทัลของธนาคารกลาง ที่มันจะมีบทบาทหลักอยู่ที่การใช้ภายในประเทศ

เชื่อว่าพวกเราควรจะพิจารณาความเป็นไปได้ที่จะออกสกุลเงินดิจิทัล และมันอาจจะมีบทบาทของรัฐในการผลิตเงินเหล่านี้เข้าสู่เศรษฐกิจดิจิทัล เพราะเงินเหล่านี้จะสามารถบรรลุเป้าหมายสาธารณะ 3 ประการ 1) การเข้าถึงระบบการเงินอย่างทั่วถึง 2) ความปลอดภัยและการดูแลผู้บริโภค ที่เอกชนยังไม่สามารถทำได้ 3) ความเป็นส่วนตัวของการชำระเงิน

ในประเด็นแรก การเข้าถึงระบบการเงินอย่างทั่วถึง หรือ Financial inclusion ที่ซึ่งสกุลเงินดิจิทัลได้นำเสนอบทบาทที่เด่นที่สุดของมัน ผ่านความสามารถที่จะเข้าถึงผู้คนและธุรกิจในพื้นที่ห่างไกลและชายขอบต่างๆ เรารู้ว่าปัจจุบันธนาคารพาณิชย์ก็ไม่ได้อยากวิ่งเข้าไปให้บริการคนยากจนและคนชายขอบเหล่านี้ และนี่จึงเป็นจุดที่สำคัญ เพราะเงินสดอาจจะไม่ได้เป็นทางเลือกในโลกอนาคตอีกต่อไป ถ้าหากคนส่วนใหญ่เริ่มหันมาใช้เงินดิจิทัล โครงสร้างพื้นฐานที่รองรับเงินสดในปัจจุบันจะค่อยๆหายไป และทำให้คนชายขอบเหล่านี้ถูกทิ้งเอาไว้

แล้วถ้าบอกว่าอุดหนุนคนเหล่านั้น ด้วยการคงระบบเงินสดเอาไว้? แต่นั้นหมายความว่าชีวิตทางเศรษฐกิจของคนเหล่านั้นจะถูกตัดขาดจากศูนย์กลางทันที แน่นอนว่าการนำเสนอสกุลเงินดิจิทัลไม่จำเป็นต้องเป็นเพียงคำตอบเดียว มันอาจจะมีหนทางสำหรับรัฐบาลที่จะกระตุ้นให้เกิดคำตอบขึ้นในภาคเอกชน ด้วยการให้ทุนและพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานที่ดี

ในประเด็นที่ 2 ความปลอดภัยและการดูแลผู้บริโภค นี่เป็นเหมือนข้อโต้แย้งของเดวิตและยักษ์โกไลแอท ในวันเก่าๆ เหรียญและธนบัตรอาจจะเป็นตัวตรวจสอบและจำกัดอำนาจของธุรกิจขนาดใหญ่และธุรกิจข้ามชาติ เช่น ธนาคาร บริษัทชำระเงิน ผู้ให้บริการโครงข่ายต่างๆ ง่ายๆด้วยการเสนอตัวเงินสดเป็นทางเลือกของการบริการที่ต้นทุนต่ำและใช้ได้ทุกที่ในพื้นที่นั้นๆ

แต่เมื่อเงินสดหายไป อำนาจที่มากเกินไปเหล่านี้อาจจะตกลงไปอยู่ในมือของเอกชนรายใหญ่เพียงไม่กี่รายและทำให้ระบบการชำระเงินค่อยๆเข้าสู่ระบบผูกขาดในที่สุด เพราะยิ่งคุณให้บริการลูกค้ามากเท่าไหร่ การให้บริการนั้นก็ยิ่งถูกและมีประโยชน์มากขึ้น  อย่างไรก็ตาม ในช่วงเริ่มต้น เอกชนเหล่านี้อาจจะลงทุนเกี่ยวกับความปลอดภัยต่ำไป เพราะพวกเขาก็ไม่ได้คำนึงถึงต้นทุนที่แท้จริงของสังคมหากระบบการชำระเงินล่ม ความยืดหยุ่นของระบบชำระเงินก็อาจจะไม่รับผลกระทบ เพราะกระบวนการชำระเงินที่เกิดขึ้นสั้นลงและอาจจะหยุดทำงานได้ง่ายๆหากกระบวนการใดกระบวนการหนึ่งมีปัญหา ลองนึกถึงการโจมตีทางไซเบอร์ การล้มละลาย หรือธุรกิจที่ถอนเงินออกจากพื้นที่

การกำกับดูแลอาจจะไม่สามารถดูแลข้อเสียเหล่านีไ้ด้ แต่สกุลเงินดิจิทัลเสนอข้อได้เปรียบในฐานเป็นสื่อกลางการแลกเปลี่ยนสำรองของระบบเศรษฐกิจ และมันอาจจะสามารถเร่งการแข่งขันของระบบด้วยการนำเสนอบริการที่ต้นทุนต่ำและมีประสิทธิภาพกว่า เหมือนกับที่เงินกระดาษเคยทำมาก่อนหน้านี้

ประเด็นสุดท้ายคือเรื่องความเป็นส่วนตัว อยากจะเน้นให้เห็นบบางประเด็นที่มีอยู่ในเรื่องความเป็นส่วนตัว เงินสดแน่นอนเปิดช่องให้เราชำระเงินโดยไม่ต้องเปิดเผยตัวตน เราใช้เงินสดเพราะมันปกป้องความเป็นส่วนตัวของเรา รวมไปถึงการเปิดช่องให้เกิดการจารกรรมออนไลน์ด้วย ลองนึกถึงตัวอย่างง่ายๆว่าหากมีข้อมูลจากการใช้จ่ายออนไลน์ว่าคนที่ซื้อเบียร์และพิซซ่าเป็นโหลๆมักจะผิดนัดชำระหนี้มากกว่าประชาชนที่ซื้อบลอกคอรี่และน้ำแร่ คุณจะทำอย่างไรที่จะซื้อเบียร์และพิซซ่ามารับประทานโดยไม่ต้องการให้คะแนนเครดิตลดลงไป? ทุกวันนี้เราชักเงินสดออกมา แต่พรุ่งนี้ละ? ระบบชำระเงินดิจิทัลจะผลักคุณไปหาตู้ผักแทนหรือไม่? และธนาคารจะสามารถกระโดดเข้ามาช่วยเหลือและให้บริการสกุลเงินดิจิทัลที่ปิดบังตัวตนได้อย่างสมบูรณ์หรือไม่ แน่นอนว่าทำไม่ได้ ถ้าทำแบบนั้นคงเป็นบ่อเงินบ่อทองของพวกอาชญากร

3.ข้อบกพร่องของสกุลเงินดิจิทัลของธนาคารกลาง

นี่นำมาสู่ประเด็นสุดท้ายถึงข้อบกพร่องของสกุลเงินดิจิทัลของธนาคารกลาง ที่ชัดเจนอย่างแรกคือความโปร่งใสทางการเงินและเสถียรภาพระบบการเงิน อีกประการคือความเสี่ยงที่อาจจะเกิดขึ้นจากนวัตกรรม แต่ก่อนจะลงรายละเอียด ประเด็นสำคัญในเรื่องนี้คือพวกเราควรจะต้องเผชิญหน้าความเสี่ยงเหล่านี้อย่างสร้างสรรค์ และเราควรจะถามถึงวิธีการที่จะลดผลกระทบของความเสี่ยงเหล่านี้ด้วยการออกแบบสกุลเงินดิจิทัลในทิศทางที่ใหม่และสร้างสรรค์ได้อย่างไร

กลับมาในประเด็นแรกเรื่องวินัยทางการเงินที่ซึ่งเราต้องเลือกระหว่างความเป็นส่วนตัวกับความโปร่งใสทางการเงิน และเราจะหาทางสายกลางได้หรือไม่?

ธนาคารกลางอาจจะออกแบบสกุลเงินให้ตัวตนของผู้ใช้บริการได้รับการยืนยันจากตัวผู้ใช้บริการเองเท่านั้นผ่านกระบวนการตรวจสอบและธุรกรรมที่เคยทำไปต่างๆ และตัวตนเหล่านี้จะต้องไม่ถูกเปิดเผยให้แก่บุคคลที่ 3 หรือรัฐบาล ยกเว้นแต่จะมีความจำเป็นทางกฎหมาย ดังนั้นเมื่อพวกเราซื้อพิซซ่าหรือเบียร์ ร้านค้า ธนาคาร นักการตลาด จะต้องไม่รู้ว่าพวกเราคือใคร และรัฐบาลก็ควรจะไม่รู้ด้วยอย่างน้อยในเบื้องต้น แต่เพื่อควบคุมการฟอกเงินและอาชญากรต่างๆ ระบบควรจะทำงานอยู่เบื้องหลัง และถ้ามีข้อสงสัยเกิดขึ้นก็เป็นไปได้ที่จะสามารถเปิดเผยตัวตนเพื่อตรวจสอบ โดยอาศัยอำนาจทางกฎหมายเป็นหลัก

การสร้างระบบแบบนี้เป็นเรื่องที่ดีสำหรับผู้ใช้บริการ แย่สำหรับอาชญากร และดีกว่าสำคัญรัฐ เมื่อเทียบกับการใช้เงินสด แต่แน่นอนว่าความท้าทายยังคงอยู่ แต่สิ่งที่อยากจะเน้นย้ำคือเราควรจะสำรวจความเป็นไปได้ต่างๆเหล่านี้

ประเด็นที่ 2 คือความเสี่ยงต่อเสถียรภาพระบบการเงิน สกุลเงินดิจิทัลอาจจะสร้างแรงกดดันต่อเงินฝากอย่างที่เราได้พูดถึงไป แต่ถ้าสกุลเงินดิจิทัลสามารถทำตัวเหมือนกับเงินฝากได้เพียงพอ เพราะพวกมันปลอดภัยมาก สามารถถือครองได้อย่างไม่จำกัด จ่ายได้ทุกจำนวน และอาจจะเสนอดอกเบี้ยให้ด้วย ถ้าเป็นแบบนี้ทำไมต้องมีบัญชีเงินฝากต่อไป? แน่นอนว่าแบบนี้ธนาคารคงไม่ยืนดูเฉยๆไม่ทำอะไร พวกเขาย่อมแข่งขันด้วยการให้ดอกเบี้ยที่สูงขึ้นและบริการที่ดีขึ้นด้วยซ้ำ

แล้วในกรณีของการแห่ถอนเงิน? มันยังคงอยู่ แต่ลองพิจารณาถึงว่าปัจจุบันผู้คนแห่ไปถอนเงินเพราะพวกเขาเชื่อว่า เงินสดจะให้บริการแบบมาก่อนได้ก่อน แต่สกุลเงินดิจิทัลกลับให้ความปลอดภัยได้มากกว่า เนื่องจากมันกระจายและจัดการได้ง่ายกว่าเงินสด ยิ่งไปกว่านั้นหากผู้ฝากเงินหันไปหาสินทรัพย์ต่างประเทศ พวกเขาก็น่าจะระมัดระวังสกุลเงินดิจิทัลมากกว่า และในหลายประเทศก็มีทางเลือกที่จะให้เงินเหล่านี้หันไปหา เช่นกองทุนรวมที่ลงทุนในพันธบัตรรัฐบาลเท่านั้น ดังนั้น ประเด็นที่ยกมาว่าสกุลเงินดิจิทัลจะกระทบกับเสภียรภาพระบบการเงินก็อาจจะยังไม่มีมากนัก

ประเด็นสุดท้ายในเรื่องความเสี่ยงของนวัตกรรม ที่ระบุว่าถ้าสกุลเงินดิจิทัลกลายเป็นที่นิยมมากเกินไป มันอาจจะไปกีดกันนวัตกรรมทางการเงินใหม่ๆ นั้นคือบทบาทของเอกชนจะเป็นอะไร หากธนาคารกลางให้บริการทุกอย่างเต็มรูปแบบ ตั้งแต่กระเป๋าเงินไปจนถึงเงินและการชำระเงิน

แต่ถ้าหากธนาคารกลางหันมาหาความร่วมมือกับเอกชนแทน ทั้งธนาคารและสถาบันการเงินอื่นๆ และบอกว่าคุณทำหน้าที่ให้บริการลูกค้า เก็บรักษาความมั่งคั่งให้เขา เสนอดอกเบี้ยให้ ให้คำแนะนำ ให้สินเชื่อ แต่เมื่อเป็นเรื่องของการชำระธุรกรรม เราจะทำเอง

ความร่วมมือแบบนี้มีหลายรูปแบบ ธนาคารอาจจะบริหารจัดการสกุลเงินดิจิทัล เหมือนกับที่ธนาคารปัจจุบันทำกับเงินสดอย่างเหรียญและธนบัตร หรือประชาชนอาจจะมีบัญชีเงินฝากที่ธนาคาร แต่เมื่อเป็นเรื่องของการชำระเงินระหว่างกันค่อยเป็นการชำระผ่านสกุลเงินดิจิทัล เหมือนกับที่กำลังเป็นอยู่ในระบบชำระเงินปัจจุบัน แต่แค่เร็วกว่าในแค่ช่วงเสี้ยววินาที และแน่นอนทั้งหมดเกือบจะไม่มีค่าใช้จ่ายและทำได้ทุกเวลา

ข้อได้เปรียบแบบนี้ชัดเจน การชำระเงินของคุณจะรวดเร็วทันที ปลอดภัย ถูก และกึ่งๆไม่เปิดเผยตัวตน เหมือนกับที่พวกคุณต้องการ โดยธนาคารกลางจะทำหน้าที่การชำระเงินเอาไว้ พร้อมกับดูแลระบบการชำระเงินได้ ขณะเดียวกัน ธนาคารกลางจะสามารถเพิ่มระดับการแข่งขันในตลาดได้อีกด้วย โดยเอกชนจะต้องแข่งขันกันสร้างประสบการณ์แก่ลูกค้าที่ดีขึ้นด้วยเทคโนโลยีที่ทันสมัยที่สุด และมองอีกมุม ธนาคารกลางควรจะเน้นบทบาทที่มีความได้เปรียบอยู่ในปัจจุบัน คือให้บริการระบบการชำระเงินหลังบ้าน (back-end settlement) ซึ่งจะทำให้ความร่วมมือของรัฐและเอกชนออกมาในรูปแบบที่ดีที่สุด

ประติมากรรม “Fearless Girl” และ “Charging Bull” ณ ถนนบรอดเวย์ ใกล้กับตลาดหลักทรัพย์นิวยอร์ก
ที่มาภาพ: https://www.marketwatch.com/story/wall-streets-bull-sculptor-threatens-to-sue-over-girl-statue-2017-04-12

“โดยสรุปแล้ว วันนี้ดิฉันได้พยายามจะประเมินกรณีต่างๆที่เป็นไปได้ของสกุลเงินดิจิทัลของธนาคารกลาง ทั้งในมุมของบทบาทใหม่ที่วิวัฒนาการมาของเงิน รวมไปถึงเป้าหมายสาธารณะต่างๆของเศรษฐกิจ สารที่อยากจะสื่อออกไปคือว่าถ้าหากประเด็นไหนยังไม่ชัดเจน เราควรจะศึกษามันมากขึ้น อย่างจริงจัง อย่างระมัดระวัง และอย่างสร้างสรรค์”

และพื้นฐานไปกว่านั้น นี่เป็นเรื่องของการเปลี่ยนแปลง ดังนั้นเปิดรับการเปลี่ยนแปลง ยอมรับการเปลี่ยนแปลง และฟูมฟักการเปลี่ยน เทคโนโลยีย่อมเปลี่ยนแปลง เช่นเดียวกันกับเรา ขณะที่เรากำลังกลัวเป็นใบไม้ใบสุดท้ายบนกิ่งของต้นไม้ที่ตายไปแล้ว คนอื่นๆได้ตัดสินใจที่บินไปกับลมแล้ว ในโลกของฟินเทค เราต้องกุมบังเหียนของการเปลี่ยนแปลง เพื่อให้มันยุติธรรม ปลอดภัย มีประสิทธิภาพ และมีพลวัตร

และนี่คือเป้าหมายของวาระฟินเทคที่บาลีในการประชุมร่วมกันของธนาคารโลกและไอเอ็มเอฟในเดือนตุลาคมที่ผ่านมา

เมื่อลมแห่งการเปลี่ยนแปลงพัดขึ้นมา อะไรจะเป็นตัวนำทางเราในการเดินทางครั้งนี้?

“ในโลกของการเดินเรือ กัปตันเรือที่กำลังแล่นเรือผ่านช่องแคบสิงคโปร์ยังคงแล่นเรือตามดาวเหนือ ในโลกการเงิน ดิฉันแนะนำควรจะตาม “เด็กผู้หญิง” เด็กผู้หญิงผู้อ่อนวัย เด็กผู้หญิงที่ปราศจากความกลัว “The Fearless Girl” และถ้าคุณโชคดี คุณอาจจะได้เจอเธอตัวเป็นๆที่ถนนวอล์สตรีทของนิวยอร์ก เธอช่างกล้าหาญ เธอมั่นใจ เธอมองมุ่งไปข้างหน้า ไปสู่อนาคต ด้วยความเพียรและความมุ่งมั่น อนาคตที่เธอเองเลือกจะปั้นขึ้นมาด้วยสายตาที่เปิดกว้าง แหลมคม และมั่นคง และฉันได้ยินเธอพูดว่ามาแล่นเรือไปข้างหน้ากัน ฉันไม่กลัวหรอก ฉันไม่กลัวหรอก”