ThaiPublica > Sustainability > Global Issues > IMF แนะใช้นโยบายการคลังรับมือโลกร้อน – ชี้หลากทางเลือกลดการปล่อยก๊าซคาร์บอน

IMF แนะใช้นโยบายการคลังรับมือโลกร้อน – ชี้หลากทางเลือกลดการปล่อยก๊าซคาร์บอน

12 ตุลาคม 2019


ภาวะโลกร้อนที่เกิดขึ้นอย่างชัดเจนและกลายเป็นภัยคุกคามของโลก อีกทั้งการดำเนินการและการให้คำมั่นต่างพลาดเป้าหมาย หากยิ่งปล่อยไว้แบบนี้ต่อไป ความสูญเสียที่จะเกิดขึ้นกับชีวิตและความเสียหายของโลกก็จะมีมากขึ้น กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (International Monetary Fund – IMF) เสนอแนะว่า รัฐมนตรีกระทรวงการคลังควรมีบทบาทในการเป็นศูนย์กลางของการบรรลุเป้าหมายลดโลกร้อนและ ใช้นโยบายการคลังเพื่อลดการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ โดยกระทรวงการคลังต้องปรับปรุงระบบภาษี และใช้นโยบายการคลังในการลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์จากการใช้ถ่านหินและเชื้อเพลิงฟอสซิลที่มีผลต่อสิ่งแวดล้อม

รายงาน Fiscal Monitor Reportของ IMF ระบุว่า การทำให้โลกนี้น่าอยู่มากขึ้นมีความเป็นไปได้ โดยรัฐบาลจำเป็นต้องเพิ่มต้นทุนการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ให้สูงขึ้น เพื่อสร้างแรงจูงใจให้ประชาชนทั่วไปและภาคธุรกิจลดการใช้พลังงานและหันไปใช้พลังงานสะอาดมากขึ้น การเก็บภาษีคาร์บอนเป็นเครื่องมือที่มีประสิทธิภาพสูง แต่ต้องนำมาใช้ในแนวทางที่เป็นธรรมและไม่มีผลกระทบต่อการขยายตัวของเศรษฐกิจ

สำหรับแนวทางการเก็บภาษีคาร์บอนมีความเป็นไปได้และมีประสิทธิภาพทางเศรษฐกิจ รัฐบาลต้องเลือกวิธีการใช้รายได้จากแหล่งใหม่ที่เก็บได้อย่างเหมาะสม ทางเลือกหนึ่งคือ การลดการเก็บภาษีรูปแบบอื่น การสนับสนุนครัวเรือนและชุมชนที่มีความเปราะบาง การเพิ่มการลงทุนในพลังงานสีเขียว หรือจ่ายเงินปันผลคืนให้กับประชาชน

นอกจากนี้ การจำกัดการเพิ่มขึ้นของอุณหภูมิโลกไม่ให้เกิน 2 องศาเซลเซียสหรือน้อยกว่านี้ ประเทศที่ปล่อยก๊าซคาร์บอนรายใหญ่ต้องดำเนินการด้วยเป้าหมายที่สูงขึ้น ตัวอย่างเช่น ควรที่จะเริ่มนำภาษีคาร์บอนมาใช้และเพิ่มอัตราการเก็บภาษีให้สูงขึ้นอย่างรวดเร็วเป็น 75 ดอลลาร์ต่อตันภายในปี 2030

แนวทางนี้จะทำให้ค่าไฟฟ้าครัวเรือนในประเทศที่ยังคงใช้ถ่านหินอย่างมากในการผลิตกระแสไฟฟ้าเพิ่มขึ้น 43% โดยเฉลี่ยหรือมากกว่านี้ในทศวรรษหน้า แต่ประเทศอื่นที่ไม่ไช้ถ่านหินค่าไฟฟ้าจะเพิ่มขึ้นน้อยกว่า ขณะที่ราคาน้ำมันจะเพิ่มขึ้นโดยเฉลี่ย 14% หรือมากกว่านี้

แต่รายได้จากการเก็บภาษี ระหว่าง 0.50% และ 4.50% ของจีดีพี (ขึ้นอยู่กับแต่ละประเทศ) จะสามารถนำไปลดการเก็บภาษีรูปแบบอื่น เช่น ภาษีเงินได้ ที่ไม่สร้างแรงจูงใจในการทำงานและการลงทุน

รัฐบาลยังสามารถนำเงินที่เก็บภาษีได้ไปสนับสนุนแรงงานและชุมชน เช่น ในพื้นที่ที่มีการทำเหมืองถ่านหิน หรือจ่ายปันผลคืนให้กับประชากรโดยรวม หรืออีกทางเลือกหนึ่งคือชดเชยให้กับครัวเรือนที่ยากจนสุดในกลุ่ม 40% ล่างของกลุ่มประชากร ชดเชยแล้วก็จะยังคงมีเงินเหลือ 3 ใน 4 ซึ่งมากพอที่จะนำไปลงทุนในพลังงานสีเขียว การสร้างนวัตกรรม หรือเป็นเงินสนับสนุนเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืน

เงินที่เก็บจากผู้เสียภาษีจะนำไปช่วยเหลือประชากรได้ราว 700,000 คนในประเทศเศรษฐกิจก้าวหน้าและประเทศเศรษฐกิจเกิดใหม่ (emerging market economies) ที่มีผู้เสียชีวิตจากมลภาวะทางอากาศ และยังนำเงินไปลดการเพิ่มขึ้นของอุณหภูมิโลกตามที่นานาชาติได้มีข้อตกลงกันไว้ได้ด้วย

ปัจจุบันมี 50 ประเทศที่มีการเก็บภาษีคาร์บอน (carbon pricing scheme) ในรูปแบบที่ต่างกัน แต่โดยเฉลี่ยทั่วโลกภาษีคาร์บอนมีอัตราต่ำ 2 ดอลลาร์ต่อตันเท่านั้น ความท้าทายของประเทศอื่นๆ คือต้องนำภาษีคาร์บอนมาใช้ และประเทศที่มีภาษีคาร์บอนอยู่แล้วต้องเพิ่มอัตราภาษีขึ้นอีก

สวีเดนเป็นตัวอย่างที่ดี เก็บภาษีคาร์บอนที่ 127 ดอลลาร์ต่อตัน และลดการปล่อยก๊าซลง 25% นับตั้งแต่ปี 1995 ขณะที่เศรษฐกิจขยายตัว 75% นับตั้งแต่นั้น

เมื่อพิจารณารายประเทศแล้ว รายงานประเมินว่าหลายประเทศลังเลที่จะให้คำมั่นในการนำระบบภาษีคาร์บอนมาใช้ เพราะกังวลเรื่องผลกระทบต่อขีดความสามารถในการแข่งขันของภาคอุตสาหกรรม แต่รัฐบาลสามารถแก้ไขได้ด้วยการทำข้อตกลงอัตราภาษีขั้นต่ำสำหรับประเทศที่ปล่อยก๊าซในปริมาณสูง และเพื่อความเท่าเทียมกับอัตราขั้นต่ำที่กำหนดอย่างเข้มงวดของประเทศเศรษฐกิจพัฒนา

ตัวอย่างเช่น ราคาคาร์บอนขั้นต่ำอยู่ที่ 50 ดอลลาร์ และ 25 ดอลลาร์ต่อตันภายในปี 2030 สำหรับประเทศเศรษฐกิจก้าวหน้าและกลุ่มประเทศกำลังพัฒนา G-20 ตามลำดับ ซึ่งจะช่วยลดการปล่อยก๊าซลงได้ 100% มากกว่าประเทศที่ได้ยอมรับข้อตกลงปารีสในปี 2015

ประเทศที่ต้องการใช้นโยบายที่แตกต่างกันออกไป เช่น การออกหลักเกณฑ์การลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนหรือลดการใช้ถ่านหิน ก็เข้าร่วมข้อตกลงกำหนดราคาขั้นต่ำนี้ได้ หากมองว่าราคาขั้นต่ำนี้พอๆ กับการใช้นโยบายของประเทศตัวเอง

นอกจากนี้ยังสามารถใช้ระบบคืนเงินหรือ feebate ได้ feebate คือระบบที่รัฐบาลเก็บภาษีจากผู้ที่สร้างมลภาวะและจ่ายคืนให้กับการใช้พลังงานที่มีประสิทธิภาพและมีการปฏิบัติที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม

feebate ยังส่งเสริมให้ประชาชนลดการปล่อยก๊าซ ด้วยการหันมาใช้รถยนต์ไฟฟ้าหรือรถยนต์ที่มีเครื่องยนต์ 2 ระบบทั้งไฟฟ้าและน้ำมัน หรือใช้พลังงานโซลาร์ พลังลม แทนการใช้ถ่านหิน

อย่างไรก็ตาม การใช้นโยบายนี้ต้องไม่เป็นเพียงการเพิ่มอัตราหรือราคาการปล่อยก๊าซคาร์บอนจากการผลิตไฟฟ้า หรือการขนส่งในประเทศเท่านั้น แต่ต้องเริ่มใช้กับทุกภาคส่วนที่มีการปล่อยก๊าซ เช่น อุตสาหกรรมปูนซีเมนต์ การเกษตร การป่าไม้ ธุรกิจที่นำทรัพยากรธรรมชาติมาใช้เป็นวัตถุดิบในการผลิตสินค้า

รัฐบาลต้องมีมาตรการในการสนับสนุนการลงทุนเทคโนโลยีสะอาด รวมไปถึงสายส่งไฟฟ้าที่รองรับพลังงานหมุนเวียน การวิจัยและการพัฒนา และแรงจูงใจในการนำเทคโนโลยีใหม่มาใช้

การเปลี่ยนผ่านไปสู่พลังงานสะอาดอาจจะดูน่าวิตก แต่ผู้กำหนดนโยบายสามารถดำเนินการเพื่อเปลี่ยนทิศทางการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศได้