การประชุมสุดยอดอาเซียน ครั้งที่ 35 และการประชุมสุดยอดที่เกี่ยวข้อง ในช่วงวันที่ 31 ตุลาคม ถึง 5 พฤศจิกายน 2562 ที่ประเทศไทยซึ่งทำหน้าที่ประธานอาเซียนได้จัดขึ้น นอกจากได้ต้อนรับผู้นำประเทศสมาชิกอาเซียนแล้ว ยังได้เชิญผู้นำองค์กรระดับโลก เช่น สหประชาชาติ กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (International Monetary Fund หรือ IMF) ธนาคารโลกเข้าร่วมด้วย
สำหรับ IMF นั้น นางคริสตาลินา กอร์เกียวา (Mrs. Kristalina Georgieva) กรรมการจัดการคนใหม่ ที่เพิ่งเข้ารับตำแหน่งเมื่อวันที่ 1 ตุลาคม ที่ผ่านมา ได้ตอบรับเข้าร่วมการประชุมสุดยอดอาเซียน
นางคริสตาลินา ชาวบัลแกเรีย เป็นกรรมการจัดการ IMF ที่มาจากกลุ่มประเทศเศรษฐกิจเกิดใหม่คนแรก และยังเป็นกรรมการจัดการ IMF คนแรกที่มาจากกลุ่มประเทศยุโรปตะวันออก
นางคริสตาลินาทำหน้าที่ซีอีโอธนาคารโลกตั้งแต่เดือนมกราคม 2017 ถึงเดือนกันยายน 2019 หลังจากที่มีตำแหน่งรองประธานคณะกรรมาธิการ ยุโรป รับผิดชอบด้านงบประมาณและทรัพยากรบุคคล
ตลอดระยะเวลา 17 ปีที่ร่วมงานกับธนาคารโลกหลังจากที่เริ่มงานในตำแหน่งนักเศรษฐศาสตร์สิ่งแวดล้อมปี 1993 นางคริสตาลินารับหน้าที่หลายด้าน เช่น ผู้อำนวยการด้านการพัฒนาอย่างยั่งยืน ผู้อำนวยการด้านสหพันธรัฐรัสเซียในมอสโก ผู้อำนวยการด้านสิ่งแวดล้อม และผู้อำนวยการด้านการพัฒนาสังคมและสิ่งแวดล้อมในภูมิภาคเอเชียตะวันออกและเอเชียแปซิฟิก
นอกจากนี้ยังได้ร่วมเป็นกรรมการในคณะกรรมการหลายชุด ซึ่งรวมถึงการเป็นประธานร่วม Global Commission on Adaptation to climate change ประธานร่วมในคณะกรรมการชุด High-Level Panel on Humanitarian Financing ของสหประชาชาติ และยังได้เขียนบทความและเป็นผู้เขียนร่วมกว่า 100 ชิ้นเกี่ยวกับนโยบายเศรษฐกิจและสิ่งแวดล้อม
วันที่ 24 กันยายน หนึ่งวันก่อนการประชุมของคณะกรรมการบริหาร IMF เพื่อพิจารณาคัดเลือกกรรมการจัดการคนใหม่ แทนนางคริสตีน ลาการ์ด ที่ได้ลาออกไปทำหน้าที่ประธานธนาคารกลางสหภาพยุโรป นางคริสตาลินาได้เขียนจดหมายถึงคณะกรรมการเพื่อชี้แจงว่า ทำไมเธอต้องการที่จะรับหน้าที่นี้ และเหตุผลที่คณะกรรมการควรพิจารณาลงมติเลือกเธอ ซึ่งมี 3 เหตุผลด้วยกัน
เหตุผลแรก “ฉันมีความเชื่อมั่นในบทบาทของกองทุนฯ ในการส่งเสริมความร่วมมือด้านการเงินและเสถียรภาพของระบบการเงินระหว่างประเทศ ส่งเสริมการค้านานาชาติ เพื่อสนับสนุนการพัฒนาเศรษฐกิจอย่างยั่งยืนและการจ้างงาน และขจัดความยากจน จากประสบการณ์ส่วนตัวฉันตระหนักดีถึงต้นทุนที่เกิดขึ้นต่อเศรษฐกิจและประชาชนจากการใช้นโยบายที่ไม่เหมาะสม ประเทศของฉันต้องผ่านห้วงเวลาแห่งความยากลำบากในการปรับตัวช่วงทศวรรษ 90 เมื่อต้องเข้าโครงการฟื้นฟูเสถียรภาพของเศรษฐกิจ ซึ่งเป็นรากฐานของการเติบโต การจ้างงาน และยกระดับมาตรการฐานความเป็นอยู่”
เหตุผลที่สอง “ฉันมีประสบการณ์ในการบริหารจัดการองค์กรระหว่างประเทศที่มีความซับซ้อนได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยได้ริเริ่มการปฏิรูปที่ธนาคารโลกและคณะกรรมาธิการยุโรป เพื่อเสริมสร้างประสิทธิภาพและเน้นที่ผลลัพธ์ ตลอดจนความเป็นอยู่ที่ดีของพนักงาน”
เหตุผลที่สาม “จากการทำงานทั้งในประเทศเศรษฐกิจก้าวหน้า ประเทศกำลังพัฒนาและประเทศเศรษฐกิจเกิดใหม่ ฉันเข้าใจดีถึงการให้ความสำคัญและมุมมองที่แตกต่างกัน เพื่อนร่วมงานขนานนามฉันว่าผู้เชื่อมสัมพันธ์ (bridge-builder) ในโลกที่ซับซ้อนมากขึ้น การทำให้ทุกคนเห็นพ้องมีฉันทามติต้องอาศัยความพยายามและความตั้งใจอย่างสูง ฉันมุ่งมั่นที่จะสร้างฉันทามติในประเด็นที่สำคัญต่อผู้ถือหุ้นของ IMF”
ในจดหมายนางคริสตาลินายังระบุถึงสิ่งสำคัญที่ IMF ควรดำเนินการ โดยนอกเหนือจากการลดความเสี่ยงของวิกฤติ ความพร้อมที่จะรับมือกับการชะลอตัว การปกป้องความแข็งแกร่งทางการเงินของ IMF และสนับสนุนผู้ถือหุ้นในการติดตามการปฏิรูปการกำกับดูแล ยังต้องสร้างความมั่นใจว่า IMF มีการพัฒนาอย่างต่อเนื่องเพื่อตอบสนองต่อความท้าทายในปัจจุบันและอนาคต
หลังจากที่ได้รับการคัดเลือกจากคณะกรรมการบริหาร IMF นางคริสตาลินาส่งถ้อยแถลงถึงคณะกรรมการบริหาร (Statement by Kristalina Georgieva on Her Selection as IMF Managing Director) โดยมีข้อความส่วนหนึ่งว่า
“นับเป็นความรับผิดชอบอย่างใหญ่หลวงในการเข้ารับหน้าที่ที่ IMF ในช่วงที่การเติบโตของเศรษฐกิจโลกไม่เป็นไปตามที่คาด ความตึงเครียดทางการค้าที่ยืดเยื้อ และภาระหนี้ที่อยู่ในระดับสูงเป็นประวัติการณ์ ดังที่ข้าพเจ้าได้ระบุไว้ในถ้อยแถลงถึงคณะกรรมการบริหารก่อนหน้า สิ่งที่ต้องดำเนินการเป็นอย่างแรกคือต้องช่วยเหลือให้ประเทศต่างๆ จำกัดความเสี่ยงที่จะเกิดวิกฤติและเตรียมพร้อมสำหรับขาลง แต่เราต้องไม่มองข้ามเป้าหมายระยะยาว คือส่งเสริมนโยบายการเงิน การคลังให้เข้มแข็ง และการปฏิรูป เพื่อเสริมความแข็งแกร่งของเศรษฐกิจและยกระดับชีวิตของประชาชน ซึ่งหมายความว่าจะต้องแก้ไขเรื่องความเหลื่อมล้ำ ความเสี่ยงที่มาจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วของเทคโนโลยี”
เศรษฐกิจโลกชะลอตัว แนะรัฐบาลต้องทำทุกอย่างกระตุ้นการเติบโต
วันที่ 5 พฤศจิกายน หลังเข้าร่วมการประชุมสุดยอดอาเซียน นางคริสตาลินา กอร์เกียวา ได้เข้าร่วมงาน BoT-IMF High level Conference ซึ่งธนาคารแห่งประเทศไทยและกองทุนการเงินระหว่างประเทศได้ร่วมกันจัดขึ้น ในหัวข้อ EM in the New Normal: Dealing with Rising Domestic Leverage and the International Financial Cycle
นางคริสตาลินาเดินเข้าห้องประชุมพร้อมกับยกมือไหว้สวัสดีผู้เข้าร่วมการเสวนา ก่อนขึ้นเวทีเพื่อกล่าวเปิดงานต่อจาก ดร.วิรไท สันติประภพ ผู้ว่าการ ธนาคารแห่งประเทศไทย
นางคริสตาลินากล่าวว่า “ขอบคุณผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทยที่ได้ดำเนินการเชิญผู้ว่าการกลางธนาคารของประเทศสมาชิกอาเซียนและทุกท่านให้เข้าร่วมการเสวนาครั้งนี้ ขอขอบคุณประเทศไทยที่ได้เชิญให้เข้าร่วมการประชุมสุดยอดอาเซียนและเข้าร่วมการเสวนา ซึ่งเป็นการเดินทางเยือนต่างประเทศของดิฉันนับตั้งแต่เข้ารับตำแหน่งที่ IMF และนับเป็นเกียรติอย่างยิ่งที่ได้เริ่มต้นที่อาเซียน เนื่องจากอาเซียนอยู่ในจุดสว่างของเศรษฐกิจโลกในรอบทศวรรษที่ผ่านมา”
ภูมิภาคนี้เติบโตอย่างรวดเร็วอย่างน่าประทับใจ และที่สำคัญที่สุด ได้มีการกระจายผลของความเจริญนั้นไปในวงกว้าง โดยเฉพาะอย่างยิ่งในกลุ่มเปราะบางและกลุ่มที่ยากจนที่สุดของสังคม
ในประเทศไทยนับตั้งแต่ช่วงปลายทศวรรษ 80 ความยากจนได้ลดลงอย่างมากจาก 67% ของประเทศลงมาอยู่ที่ 10% ในขณะนี้ แต่ไม่ได้หมายความว่างานเสร็จสิ้นลงแล้ว ยังมีงานอีกหลายด้านที่ผู้กำหนดนโยบายต้องทำ แต่ดิฉันก็พอใจที่ได้เห็นประเทศอาเซียนมีความก้าวหน้าอย่างมาก
ในปี 2019 อาเซียนมีส่วนในการเติบโตของเศรษฐกิจโลกถึง 10% ซึ่งมาจากการเติบโตของทั้ง 10 ประเทศ และใกล้เคียงกับสหรัฐฯ ที่มีส่วนในเศรษฐกิจโลก 12% ขณะที่ 19 ประเทศในยูโรโซนมีส่วน 11% ในเศรษฐกิจโลก ดังนั้น เห็นได้ว่าอาเซียนดำเนินการเพื่อประชาชนของตนเอง และยังมีผลต่อเสถียรภาพของเศรษฐกิจโลกด้วย
“ในการทำงานสัปดาห์แรกของดิฉัน ได้ให้คำเตือนอย่างจริงจังว่าเศรษฐกิจโลกกำลังชะลอ จาก 2 ปีก่อนที่เศรษฐกิจโลกขยายตัวในทิศทางเดียว (synchronized growth) เศรษฐกิจโลก 70% ขยายตัว แต่ขณะนี้เศรษฐกิจมีทิศทางเดียวกันมากขึ้นกว่าเดิม เพราะ 90% ของเศรษฐกิจโลกชะลอตัวลง”
ในปี 2019 เศรษฐกิจโลกคาดว่าจะขยายตัว 3% ต่ำสุดในรอบทศวรรษ แม้คาดว่าในปี 2020 จะขยายตัว 3.4% แต่มีความเสี่ยงด้านต่ำ เนื่องจากยังมีความไม่แน่นอนจากความตึงเครียดทางการค้า ความตึงเครียดของสถานการณ์การเมืองระหว่างประเทศ และการสะสมหนี้ในระดับที่สูง นักลงทุนไม่ลงทุนส่งผลให้การผลิตลดลง ดังที่เห็นจากประเทศไทย
การค้าไม่ใช่เครื่องยนต์ของการเติบโตทางเศรษฐกิจ การค้าโลกชะงักงัน ปีนี้ขยายตัวเพียง 1.2% เรายังเชื่อว่าผู้บริโภคมีความเชื่อมั่น แต่คำถามก็คือ จะอยู่ในระดับสูงไปได้อีกนานแค่ไหน หากการผลิตยังคงชะลอตัวและมีการลดพนักงาน
เรากำลังอยู่ในสถานการณ์ที่ล่อแหลม และสิ่งที่สรุปได้จากการประชุมประจำปีที่เพิ่งเสร็จสิ้นลง คือ สถานการณ์แบบนี้อาจจะลากยาวไปอีก และมีสัญญานบ่งชี้ว่าประเทศเศรษฐกิจก้าวหน้าอาจจะดำเนินนโยบายการเงินซึ่งมีทั้งดอกเบี้ยต่ำและดอกเบี้ยติดลบไปอีกระยะหนึ่ง
“จากการทำงานในเวลาไม่ถึงเดือนของดิฉัน ได้มีการประเมินในหลายสถานการณ์ และมีการถกเถียงกันจนพบว่า หากสถานการณ์เหล่านี้ยืดเยื้อไปไม่วันสิ้นสุด อัตราดอกเบี้ยก็จะอยู่ในระดับต่ำไปอย่างไม่มีวันสิ้นสุดเช่นกัน”
สิ่งเหล่านี้เป็นประเด็นที่น่ากังวล เพราะมีนัยสำคัญของการใช้อัตราดอกเบี้ยต่ำและดอกเบี้ยติดลบ นั่นคือ ผลผลิตที่อยู่ในระดับต่ำ ผสมกับการเป็นสังคมสูงวัยอย่างที่เห็นในประเทศไทย หลายประเทศจึงรีรอที่ปรับประมาณการณ์การเติบโตขึ้น และ ณ ขณะนี้ ยังหาทางออกไม่เจอ เพราะยังมีประเด็นการปฏิวัติทางเทคโนโลยี เทคโนโลยีเป็นปัจจัยใหม่ที่ทำให้การผลิตเพิ่มขึ้น แต่ต้องใช้เวลานาน
ปัจจุบันเราตกอยู่ในสถานการณ์ที่ทำให้อาศัยการตัดสินใจจากผู้กำหนดนโยบายมากขึ้นกว่าเดิม
ข้อแนะนำจาก IMF ก็คือ “เราแนะนำรัฐบาลให้ดำเนินการทุกอย่างเท่าที่ทำได้ หากว่ายังมีขีดความสามารถในการดำเนินนโยบาย (policy space) ของนโยบายการเงินก็ต้องพิจารณา เพราะประเทศที่มี policy space นั้นมีไม่มาก หลายประเทศได้ลดอัตราดอกเบี้ยอย่างมาก”
ประเทศในอาเซียนยังคงมี policy space รวมทั้งประเทศไทยด้วย และหากว่ามี policy space ด้านการคลัง ก็ต้องใช้จ่ายให้มากขึ้น เพื่อเติมพลังให้เศรษฐกิจ และทุกประเทศก็ต้องปฏิรูปเชิงโครงสร้าง เพื่อที่จะเจริญรุ่งเรือง
ในการประชุมประจำปีของเราก็ได้มีการหารือกันถึงว่า ปัจจัยใดจะทำให้เศรษฐกิจเติบโต และปัญหาที่ต้องแก้ไขไม่ว่าจะเป็นสถานการณ์ใด ซึ่งได้คำตอบที่เป็นประเด็นหลัก คือ การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (climate change)
การเปลี่ยนผ่านไปสู่การปล่อยก๊าซคาร์บอนต่ำ เศรษฐกิจที่สามารถรับมือกับ climate change จะเป็นภูมิคุ้มกันให้มีความสามารถในการแข่งขันและการเติบโต
เราได้เห็นความสนใจของธนาคารกลางที่เพิ่มขึ้นในการใช้เครื่องมือทางนโยบายในการสนับสนุนทางการเงินเพื่อลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนและเพิ่มความสามารถในการลงทุน
“ดิฉันขอเน้นย้ำว่า การจัดการกับความเหลื่อมล้ำ จะเปิดโอกาสให้เศรษฐกิจเติบโต การสร้างพลังให้กับผู้หญิง ก็เป็นโอกาสให้เติบโต สิ่งที่อยากจะบอกอาเซียนคือ หากแก้ไขความเหลื่อมล้ำได้ อาเซียนก็จะขยายตัวได้อีก 1.5%”
ในการประชุมประจำปีไทยกับ IMF เรายังได้มีการหารือกันในประเด็นหนึ่ง คือ สกุลเงินดิจิทัล ลิบรา (Libra) ซึ่งได้รับความสนใจจากธนาคารแห่งประเทศไทย และจากรัฐมนตรีของไทย สกุลเงินดิจิทัลกดดันให้เราต้องคำนึงถึงอนาคต ว่าเราจะจัดการอย่างไรกับอธิปไตย นโยบายความเป็นส่วนตัว ความปลอดภัยไซเบอร์ เพราะยังเกี่ยวข้องนโยบายการเงิน
สำหรับการดำเนินการของ IMF เองนั้น ผู้ถือหุ้นทุกรายได้ให้ความเห็นชอบที่จะสนับสนุนทางการเงิน 1 ล้านล้านดอลลาร์เพื่อให้ IMF มีทรัพยากรเงินทุนเพียงพอในการช่วยเหลือประเทศสมาชิก แต่เป็นเงินที่ได้ภายใต้ข้อตกลงเงินกู้ระหว่างกัน (General Arrangements to Borrow หรือ GAB) ไม่ใช่มาจากการชำระเงินค่าโควตาของประเทศสมาชิก
IMF ได้เพิ่มโควตาของประเทศสมาชิก โดยเพิ่มขึ้น 2 เท่าหลังวิกฤติการเงิน และได้รับอนุมัติให้กู้เงินเพิ่มจากประเทศสมาชิกด้วย ซึ่งเชื่อว่าจะมีการปรับโควตาเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง การทบทวนโควตาจะทำให้ประเทศเศรษฐกิจเกิดใหม่มีสัดส่วนมากขึ้น แต่ครั้งนี้เราได้รับการอนุมัติให้เพิ่มทรัพยากรผ่านข้อตกลงเงินกู้ ซึ่งเราก็ยังต้องดำเนินการอีกมากในเรื่องนี้
“ในฐานะที่ดิฉันเป็นกรรมการจัดการ IMF คนแรกที่มาจาก ประเทศ EM ดิฉันสัญญาว่า การทบทวนโควตาครั้งที่ 16 จะไม่เป็นเช่นนี้อีกแล้ว”
ใช้ policy space อย่างรอบคอบรับความไม่แน่นอน
ในช่วงให้สัมภาษณ์กับสื่อมวลชนไทยหลังพิธีเปิดงานเสวนา ก่อนที่จะเริ่มการซักถาม นางคริสตาลินา กล่าวว่า “มีคำพูด 2 คำ ที่ต้องการจะบอกกล่าว อย่างแรก ขอขอบคุณ ดร.วิรไท ที่ได้จัดการเสวนาครั้งนี้ ซึ่งเป็นหัวข้อที่มีความสำคัญต่อระบบการเงินของอาเซียน อย่างที่สอง ดิฉันได้รับความพึงพอใจมากที่การเยือนไทยครั้งแรกและการเยือนอาเซียน อาเซียนอยู่ในจุดสว่างในระบบเศรษฐกิจโลก มีการเติบโตสูง และผลที่ได้จากการขยายตัวสูงได้มีการกระจายแบ่งปันไปในสังคมของอาเซียน ดิฉันขอให้ข้อมูลเกี่ยวกับอาเซียนอย่างหนึ่ง ว่า ในปี 2019 อาเซียนทั้ง 10 ประเทศมีส่วนในการเติบโตเศรษฐกิจโลกถึง 10% ซึ่งเกือบจะเท่ากับสหรัฐฯ ที่มีส่วน 12% ขณะที่ยูโรโซน 19 ประเทศมีส่วนในเศรษฐกิจโลก 11% อาเซียนขยายตัวได้ดีมาก ประชาชนของอาเซียนก็มีส่วนทำให้ภูมิภาคมีพลวัต”
คำถามแรก ความประทับใจของคุณต่อประเทศไทยและอาเซียน จากการที่ได้เข้าร่วมประชุมสุดยอดอาเซียนและในภาพรวมทั่วไป
นางคริสตาลินากล่าวว่า “ขอบคุณสำหรับคำถาม ดิฉันได้มาเยือนประเทศไทยอีกครั้งหลังจากที่ไม่ได้มาเยือนหลายปี สิ่งแรกที่ประทับใจคือการประสบความสำเร็จทางเศรษฐกิจของไทย รายได้ประชากรของไทยได้เพิ่มสูงขึ้น และยังได้ลดความยากจนลงอย่างมาก นับตั้งแต่ปี 1987 อัตราความยากจนของไทยลดลง 67% มาที่ 10% ซึ่งไม่ใช่ความสำเร็จของคนไทยทุกคนเท่านั้น แต่เป็นความสำเร็จของผู้กำหนดนโยบายของไทยด้วย”
ประเทศไทยเป็นประเทศที่มีชีวิตชีวา มีความหลากหลาย และเป็นหนึ่งในประเทศที่ให้การต้อนรับอย่างอบอุ่นเป็นกันเองมากที่สุด ขอบคุณสำหรับการต้อนรับที่ยอดเยี่ยมของประเทศไทย
คำพูดของ นางคริสตาลีนาเรียกเสียงปรบมือจากเวทีแถลงข่าว พร้อมกับที่นางคริสตาลีนายกมือไหว้ขอบคุณแล้วขอบคุณอีก
นางคริสตาลินากล่าวต่อว่า อาเซียนเป็นภูมิภาคที่มีความก้าวหน้าอย่างมาก ประสบความสำเร็จในการบรรลุเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืน (Sustainable Development Goal หรือ SDGs) ในการลดความยากจน และลดความไม่เท่าเทียมทางเพศ พัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน ยกระดับการศึกษา และเสริมสร้างระบบบริการสาธารณสุขให้เข้มแข็งขึ้น
แต่เศรษฐกิจโลกชะลอตัว และเศรษฐกิจของภูมิภาคก็ชะลอตัวลงเช่นกัน ซึ่งก็เป็นเหตุผลที่เราขอให้ประเทศอาเซียนใช้เครื่องมือทางนโยบายมากขึ้นเพื่อกระตุ้นการเติบโตเศรษฐกิจ นอกจากนี้ยังมีความจำเป็นที่อาเซียนจะต้องรักษาความร่วมมือเพื่อกระตุ้นด้านการค้า เนื่องจากเศรษฐกิจอาเซียนนั้นพึ่งพาการค้าระหว่างกันเองและการค้ากับโลก ซึ่งได้เห็นจากการประชุมสุดยอดอาเซียนส่งเสริมความร่วมมือไม่เฉพาะประเทศสมาชิกเท่านั้นแต่กับนานาประเทศด้วย
อาเซียนส่วนใหญ่พึ่งพาทรัพยากรธรรมชาติอย่างมาก ซึ่งเปราะบางต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ดังนั้นการที่การประชุมสุดยอดอาเซียนครั้งที่ 35 ให้ความสำคัญกับการเป็นหุ้นส่วนด้านความความยั่งยืนเป็นเรื่องที่เหมาะสม รวมทั้งให้ความสำคัญต่อแนวคิดเศรษฐกิจหมุนเวียนหรือ circular economy ในด้านการจัดการเกี่ยวกับพลาสติก ที่มีผลต่อทะเล สัตว์น้ำ รวมทั้งการแก้ไข climate change
“ขอแสดงความยินดีต่อธนาคารแห่งประเทศไทย ซึ่งเป็นหนึ่งในหลายธนาคารกลางที่มีนโยบายร่วมแก้ไข climate change”
คำถามต่อมา คุณได้พูดถึงความยั่งยืน แต่ความยั่งยืนในแต่ละพื้นแต่ละประเทศแตกต่างกัน ในความเห็นของคุณ ความยั่งยืนในบริบทของอาเซียนหมายถึงอะไร และมองไปข้างหน้าอะไรเป็นเรื่องที่น่ากังวลในการส่งเสริมความยั่งยืนในภูมิภาค
นางคริสตาลินาตอบว่า เศรษฐกิจอาเซียนโดยรวมเติบโตไปพร้อมกัน รวมทั้งสร้างความยั่งยืนและการเติบโตอย่างทั่วถึงเท่าเทียม ซึ่งมีผลในการยกระดับความเป็นอยู่ของประชาชนให้ดีขึ้น และทำให้เศรษฐกิจเติบโต โดยที่ไม่ทำลายรากฐานการเติบโตอย่างยั่งยืน ซึ่งพูดได้ว่าอาเซียนให้ความสำคัญกับความยั่งยืนเศรษฐกิจ สังคม สิ่งแวดล้อม และวัฒนธรรมมากกว่าภูมิภาคอื่นของโลก เพราะเรื่องเหล่านี้ความสำคัญ และประทับใจที่ผู้นำของอาเซียนให้ความสำคัญอย่างจริงจังในการสร้างความยั่งยืนให้กับคนในปัจจุบันและคนรุ่นต่อๆ ไป
นอกจากนี้ การพัฒนาทางการเงินจะประสบความสำเร็จได้ ก็ต่อเมื่อคำนึงถึงความสำคัญของความยั่งยืนระยะยาว เพื่อวันนี้และเพื่ออนาคต
คำถามที่สาม ท่ามกลางความไม่แน่นอนของเศรษฐกิจโลก IMF จะมีบทบาทในการช่วยเหลือในการสร้างเสถียรภาพอย่างไร รวมทั้งคำแนะนำภูมิภาคอาเซียนและประเทศไทย
นางคริสตาลินากล่าวว่า เราตระหนักดีว่าเศรษฐกิจโลกที่ชะลอตัวในทิศทางเดียวกันเป็นความไม่แน่นอน และปัจจัยหลักที่ทำให้เกิดความไม่แน่นอนนี้คือ ความตึงเครียดทางการค้า รวมทั้งความตึงเครียดของสถานการณ์การเมืองโลก การถอนตัวของอังกฤษออกจากสหภาพยุโรป และภาระหนี้ที่อยู่ระดับสูง ซึ่งผลให้การลงทุนชะลอตัวและมีผลต่อเนื่องให้เศรษฐกิจชะลอตัวลง
การรับมือกับความไม่แน่นอนนี้ IMF แนะนำให้ ทุกประเทศร่วมมือกัน อาเซียนเป็นตัวอย่างที่ดีในการนำผู้นำมารวมกัน และเราขอแนะนำให้แต่ละประเทศใช้เครื่องมือทางนโยบายการเงิน เครื่องมือทางนโยบายการคลัง อย่างรอบคอบ ปฏิรูปโครงสร้าง เพื่อสร้างความแข็งแกร่งของเศรษฐกิจ
ในช่วงเวลาที่เต็มไปด้วยความไม่แน่นอนนี้ กันชนที่แข็งแกร่งมีความสำคัญ ดังเช่นใน กรณีของธนาคารแห่งประเทศไทย ที่มีกันชนคือเงินทุนสำรองระหว่างประเทศที่สูงถึง 250 พันล้านดอลลาร์ รวมทั้งต้องมีการลงทุนในทุนมนุษย์ที่เข้มแข็ง การลงทุนในโครงสร้างพื้นฐาน โดยเฉพาะโครงสร้างพื้นฐานด้านดิจิทัล หากมีการเตรียมพร้อมที่ดีก็จะช่วยให้เศรษฐกิจสามารถรับมือกับความไม่แน่นอนได้ดีขึ้น
ทางด้านการช่วยเหลือที่ IMF ให้กับประเทศสมาชิกนั้น คือการประเมินความเสี่ยงและให้ข้อมูลต่อผู้กำหนดนโยบายเพื่อที่จะรับมือได้อย่างดีที่สุดเท่าที่จะทำได้และผ่านพ้นสถานการณ์ได้อย่างดีที่สุด เช่น ความเสี่ยงจากความตึงเครียดการค้าโลก ซึ่งเรื่องนี้มีความสำคัญ และที่สำคัญยิ่งกว่าคือ การประเมินความเสี่ยงออกมา โดย IMF ได้คำนวณแล้วว่า ความตึงเครียดทางการค้าระหว่างสหรัฐฯ กับจีนมีผลกระทบต่อเศรษฐกิจโลก 700 พันล้านดอลลาร์ หรืออีกนัยหนึ่งคือ ในปี 2020 จีดีพีโลกจะหายไป 0.8% หรือลดลงในมูลค่า 700 พันล้านดอลลาร์ นั่นหมายความว่า ทุกคนเสียหาย
เมื่อ IMF สามารถประเมินและวัดความเสี่ยงออกมาได้ ก็ช่วยให้ผู้กำหนดนโยบายนำความเสี่ยงนี้ไปพิจารณา เพื่อดำเนินการตามความเหมาะสม
คำถามต่อมา คณะกรรมการนโยบายการเงินของไทยมีกำหนดการประชุมในวันพรุ่งนี้ (6 พฤศจิกายน 2562) เพื่อพิจารณาการปรับอัตราดอกเบี้ย คุณมีคำแนะนำให้กับไทยบ้างหรือไม่
นางคริสตาลินากล่าวว่า การที่จะให้ความเห็นก่อนที่การประชุมคณะกรรมการนโยบายเงินจะเริ่มขึ้น อาจจะเป็นเรื่องที่ไม่เหมาะสม แต่ควรให้คณะกรรมการพิจารณาได้อย่างเต็มที่
อย่างไรก็ตาม ในภาพรวมแล้วเราแนะนำประเทศสมาชิก คือ กัน policy space ด้านนโยบายการเงินสำหรับการดำเนินนโยบายการเงิน เพื่อที่จะใช้พื้นที่นโยบายนี้อย่างระมัดระวังและรอบคอบ เพื่อที่จะสามารถเพิ่มแรงส่งในการเติบโต
ทุกประเทศต้องพิจารณาว่าจะใช้ policy space อย่างไรให้เหมาะสม เมื่อถึงเวลาสำคัญ ดังคำกล่าวหนึ่งที่ว่าเก็บกระสุนไว้ แม้จะมีความไม่แน่นอนในปี 2020 เราก็อยู่ในสถานะที่ดีขึ้นในวันนี้ เพราะสหรัฐฯ และจีนมีความคืบหน้าในการตกลงการค้า ซึ่งลดความตึงเครียดลง แต่ความเสียหายก็เกิดขึ้นแล้ว จึงยังต้องระมัดระวังในการขับเคลื่อนการเติบโตของเศรษฐกิจ
ไทย ยังมี policy space ทั้งด้านการเงินและการคลัง รวมทั้งสามารถดำเนินการเพื่อการปฏิรูปให้มากขึ้น ซึ่งถือว่า เป็นสถานะที่ดีของไทย แต่การจะใช้ policy space นี้อย่างไร ขึ้นอยู่กับการตัดสินใจภายในของไทย
เราสามารถให้คำแนะนำได้ แต่จะตัดสินใจอย่างไรขึ้นอยู่กับการพิจารณาของผู้กำหนดนโยบาย
[อนึ่ง ในวันนี้ (6 พฤศจิกายน 2562) ที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) มีมติ 5 ต่อ 2 เสียงให้ลดอัตราดอกเบี้ยนโยบาย 0.25% ต่อปีจาก 1.50% เป็น 1.25% ต่อปี]คำถามสุดท้าย IMF สนับสนุนให้ใช้นโยบายการเงินการคลังในการกระตุ้นเศรษฐกิจ นอกจากผลดีแล้วยังมีผลเสี่ยงหรือผลด้านลบที่ต้องระมัดระวังอะไรบ้าง และจากการประชุมหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค (Regional Comprehensive Economic Partnership หรือ RCEP) ระหว่างการประชุมสุดยอดอาเซียนครั้งที่ 35 ซี่ง 15 ประเทศได้ออกแถลงการณ์ร่วมต่อข้อตกลง RCEP และอินเดียยังไม่เข้าร่วม มองว่ามีผลดีผลเสียอย่างไรต่ออาเซียนและเศรษฐกิจโลก
นางคริสตาลินากล่าวว่า ขอตอบคำถามแรกว่า ในการประมาณการณ์การเติบโตของเศรษฐกิจโลกปี 2020 นั้น IMF มองว่าเศรษฐกิจโลกจะขยายตัวเล็กน้อย โดยปีนี้เศรษฐกิจโลกจะขยายตัว 3% และ 3.4% ในปีหน้า ส่วนอาเซียนจะเติบโต 4.6% ปีนี้และ 4.8% ในปีหน้า ซึ่งการประมาณการณ์ทั้งเศรษฐกิจโลกและเศรษฐกิจอาเซียนนั้นได้ปรับการคาดการณ์ลง โดยลดการเติบโตเศรษฐกิจอาเซียนลงจาก 5% เป็น 4.6%
นั่นหมายความว่า เรากำลังประสบกับความเสี่ยงด้านต่ำ (downside risk) ที่มีนัยสำคัญ ทั้งนี้ การประมาณกาณ์เศรษฐกิจของเราอยู่บนพื้นฐานการใช้เครื่องมือนโยบายในการเพิ่มแรงส่งต่อการขยายตัวทางเศรษฐกิจ และหากไม่มีการใช้เครื่องมือนโยบาย เครื่องมือใดเครื่องมือหนึ่งแล้ว มีความเป็นไปได้ที่การขยายตัวของเศรษฐกิจปี 2020 จะต่ำกว่านี้ ดังนั้นประเทศสมาชิกไม่ควรจำกัดตัวเองมากเกินไป หากมี policy space ในการที่อัดฉีดมาตรการกระตุ้นการเติบโต เพราะนั้นจะทำให้มีความเสี่ยงมากขึ้น
เราไม่ได้อยู่ในสถานการณ์ที่ดีนัก เพราะการผลิตการลงทุนชะลอตัว แม้ความเชื่อมั่นผู้บริโภคยังอยู่ในระดับสูงตัว แต่หากสถานการณ์ยังคงเป็นอย่างนี้ต่อเนื่อง ก็อาจจะมีความเสี่ยง
สำหรับไทยการใช้มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจก็จะส่งผลดี ด้วยการใช้ policy space ทางการคลังที่มี และจะคุ้มค่าหากมีการลงทุนที่สร้างผลผลิตเพื่อรองรับการใช้จ่ายเงิน รวมทั้งมีการดูแลคุ้มครองสังคมที่ดี มีเป้าหมายชัดเจน รักษาผลประโยชน์ของประชาชน เพื่อกระตุ้นการใช้จ่าย โดยต้องดูว่าประชาชนมีปัญหาในการกระตุ้นใช้จ่ายหรือไม่ เพราะการใช้จ่ายเงินอย่างเดียวอาจจะไม่ประสบความสำเร็จในการผลักดันการขยายตัวของเศรษฐกิจ นี่คือความเสี่ยงของการใช้ policy space ทางการคลัง และการดำเนินการก่อนเวลาเหมาะสมโดยที่ไม่มีความก้าวหน้าในการใช้เงิน และไม่เกิดผลที่เป็นรูปธรรมต่อเศรษฐกิจในแง่การเติบโต
นี่คือสิ่งที่รัฐบาลต้องระวัง มองไปที่ว่า จะกระตุ้นเศรษฐกิจอย่างไร เวลาไหนที่เหมาะสมที่จะอัดฉีดเพื่อกระตุ้นความต้องการของผู้บริโภคให้เพิ่มขึ้น หรือการลงทุน
ประเทศไทยได้ดำเนินการลดดอกเบี้ยไปแล้วในเดือนสิงหาคม และมีขีดความสามารถที่จะดำเนินการต่อได้อีก และพรุ่งนี้คณะกรรมการนโยบายการเงินจะประชุมซึ่งจะใช้วิจารณญาณที่ดีที่สุดและจะตั้งใจพิจารณาอย่างจริงจัง ว่าจำเป็นที่จะลดดอกเบี้ยตอนนี้หรือพักการลดดอกเบี้ย
“อย่าลืมว่าธนาคารกลางสหรัฐฯ ได้ลดดอกเบี้ยลงแต่ก็แถลงว่าจะพักการลดดอกเบี้ย เนื่องจากเศรษฐกิจมีการเติบโตในทิศทางที่ต้องการ ดิฉันคิดว่าเราต้องคำนึงถึงข้อเท็จจริงด้วยว่า มีสัญญาณที่จะลดความตึงเครียดทางการค้าลงบางส่วนและยังมีความตึงเครียดอยู่บ้างจากสหรัฐฯ กับจีน แม้จะไม่ลงนามในข้อตกลง ส่วน Brexit ก็ยังไม่เกิดขึ้น แต่ก็ลดความไม่แน่นอนลงบางส่วน นี่เป็นสิ่งที่ทุกประเทศต้องคำนึงถึง”
ส่วนเรื่อง RCEP นั้น ความคืบหน้าใดๆ ที่เกิดจากความร่วมมือทางการค้าล้วนมีผลในทางบวก และหากว่าทั้ง 16 ประเทศร่วมอยู่ในข้อตกลงนี้ก็จะดีกว่า แต่ความคืบหน้าในการรวมตัวทางการค้าก็ถือว่าเป็นข่าวดี และเราต้องไม่ลืมว่า การขยายความร่วมมือทางการค้าระหว่างประเทศ มีมากกว่าการขายสินค้า ยังมีภาคบริการ อีคอมเมิร์ซ การเคลื่อนย้ายของแรงงาน ที่จะได้รับผลดีจากการรวมตัวทางเศรษฐกิจอีกด้วย
อาเซียนเผชิญ 3 ความท้าทาย
นอกจากนี้ในช่วง Fireside Conversation หัวข้อ Sustainability Thinking & Macroeconomic and Financial Challenges นางคริสตาลินาได้ร่วมแสดงความคิดเห็นโดยกล่าวว่า ทุกวันนี้เราไม่สามารถแยกโลกการเงินออกจากภาคเศรษฐกิจจริงได้ โลกเราวันนี้มั่งคั่งขึ้นและยังคงมั่งคั่งต่อเนื่อง โดยมีมูลค่าเศรษฐกิจกว่า 80 ล้านล้านดอลลาร์ ขณะเดียวกันมีความเสี่ยงมากขึ้น จากธนาคาร นอนแบงก์ รวมทั้งการดำเนินนโยบายของประเทศหนึ่งที่มีผลกระทบไปถึงประเทศอื่น จากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและความตึงเครียดของสถานการณ์การเมืองระหว่างประเทศ
ตัวอย่างของความตึงเครียดของสถานการณ์การเมืองระหว่างประเทศ คือ การใช้โดรนโจมตีโรงงานน้ำมัน 2 แห่งของซาอุดีอาระเบียที่มีผลให้ราคาน้ำมันดิบพุ่งขึ้นในข้ามคืน ซึ่งแสดงให้เห็นว่าเราพึ่งพากันและกันมากขึ้น และกระทบห่วงโซ่อุปทานมาจนถึงประเทศไทย และประเทศอื่นๆ หมายความว่า เราอยู่ในโลกที่เคลื่อนไหวอย่างรวดเร็วและอยู่ในภาวะแวดล้อมที่มีความเสี่ยงมากขึ้นกว่าเดิม และแสดงให้เห็นว่าเราต้องพึ่งพาความร่วมมือด้านนโยบายน้อยลง และดูเหมือนว่ามีการร่วมมือกันน้อยลง
ขณะที่ช่วงเหตุการณ์วิกฤติการเงินปี 2007-2008 โลกร่วมกันตอบสนองต่อวิกฤติการเงินในทันที ซึ่งให้ผลที่แตกต่างกัน มีผลต่อชีวิตประชาชนทั่วไปแตกต่างกัน โดยเฉพาะกลุ่มคนที่เปราะบาง วันนี้หากเราตกอยู่ในสถานการณ์ที่ต้องอาศัยความร่วมมือกันในทันที ก็ไม่แน่ว่าเราจะสามารถระดมความร่วมมือนั้นได้
นั่นคือเหตุผลที่ดิฉันชื่นชมการประชุมสุดยอดอาเซียน และภูมิภาคอื่น ที่มุ่งเน้นความร่วมมือระหว่างประเทศ และให้คำมั่นว่าจะดำเนินการหากมีความจำเป็น และเมื่อมองไปที่สถานการณ์เศรษฐกิจโลกในขณะนี้ที่ชะลอตัว ในการประชุมประจำปีของเรา ได้แนะนำให้เตรียมความพร้อม หากมีความจำเป็น แต่ขณะนี้ยังไม่มีความจำเป็นที่จะกระตุ้นการเติบโตของเศรษฐกิจด้วยมาตรการกระตุ้นที่ประสานกัน แต่หากมีความจำเป็นต้องทำ เราต้องพร้อมที่จะดำเนินการร่วมกัน
โลกเราทุกวันนี้พึ่งพากันมากขึ้นเมื่อเทียบกับ 30 ปีก่อน มีความเสี่ยงจากการส่งผ่านของผลกระทบ เช่น กรณีความขัดแย้งทางการค้าระหว่างสหรัฐฯ กับจีนที่กระทบต่อไทย ต่ออาเซียน ดังนั้นก็ต้องมีการช่วยเหลือระหว่างกัน หาทางที่จะก้าวข้ามความเสี่ยงนั้น
ความท้าทายของอาเซียนท่ามกลางการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลก มีด้วยกัน 3 ด้าน ด้านแรก อาเซียนเป็นภูมิภาคที่มีความแตกต่างหลากหลาย เช่น คุณภาพของทุนมนุษย์ ธนาคารโลกได้เคยประเมินคุณภาพทุนมุษย์ของโลกไว้ อันดับหนึ่งได้แก่ประเทศในอาเซียน คือ สิงคโปร์ อาเซียนอื่นก็ติดอยู่ในอันดับแรกๆ แต่ไม่ใช่ไทย ซึ่งเห็นได้ว่าอาเซียนยังมีความแตกต่างระหว่างกันมาก ความแตกต่างความหลากหลายด้านหนึ่งเป็นจุดแข็ง แต่ขณะเดียวกันเป็นความท้าทายของผู้กำหนดนโยบาย ดังนั้นอาเซียนต้องดำเนินการให้มากขึ้นในด้านเศรษฐกิจและสังคม
ด้านที่สอง อาเซียนเปราะบางต่อ climate change ซึ่งเป็นความเสี่ยงของกระแสโลกาภิวัตน์ ดังนั้น เพื่อประโยชน์ของโลกและของอาเซียนเอง จึงเป็นหน้าที่ของอาเซียนจะต้องเป็นผู้นำในการดำเนินการด้าน climate change และถึงเวลาแล้วที่ต้องให้ความสำคัญเป็นลำดับแรก เพราะนี่เป็นความเสี่ยงหลัก
ด้านที่สาม วัฒนธรรมที่หลากหลาย เป็นภูมิภาคที่นำความหลายหลายทางความคิดมาสู่โลก นั่นคือ ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง แนวพระราชดำริในรัชกาลที่ 9 ซึ่งเป็นการพัฒนาที่ยั่งยืน เป็นเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืน บวก สาม คือ จริยธรรม คุณค่า คุณธรรม ซึ่งเป็นความท้าทายของอาเซียน
การเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยีเป็นได้ทั้งโอกาสมหาศาลและให้ผลในทางลบ ดังนั้นจึงควรใช้ในทางที่เป็นประโยชน์ หลายประเทศในอาเซียน ประชากรยังอยู่ในวัยเยาว์ ส่วนประเทศไทยเริ่มเข้าสู่สังคมสูงวัย ต้องคิดว่าจะเปลี่ยนประชากรในวัยเยาว์ให้เป็นพลังของอาเซียนได้อย่างไร
ในโลกที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว การผสมผสานนโยบายเศรษฐกิจมหภาค นโยบายการเงิน นโยบายการคลังและนโยบายการปฏิรูป เป็นการสร้างความเป็นไปได้ให้กับคนรุ่นใหม่ แม้จะเป็นงานยาก
นอกจากนี้ยังต้องถามว่า เรามีแนวทางในด้าน climate change อย่างไร เราต้องถามว่ามีเครื่องมือทางการคลังอะไรที่จะทำให้เศรษฐกิจขยายตัวต่อเนื่อง ภาษีคาร์บอนเป็นแนวทางหนึ่งที่จะลดการปล่อยก๊าซคาร์บอน รวมทั้งธนาคารกลางก็ต้องมีบทบาทในการประเมินความเสี่ยงทางการเงิน ที่มาจากการเปลี่ยนผ่านไปสู่สังคมคาร์บอนต่ำ เพราะหมายถึงสินทรัพย์ในอนาคตต้องไม่ใช่สินทรัพย์ที่มีผลต่อสิ่งแวดล้อม
รวมไปถึงการทำการทดสอบความกดดัน (stress test) ความเสี่ยงที่มาจากการค้างชำระที่มาจากภัยพิบัติทางธรรมชาติ หากระบบการเงินสามารถควบคุมความเสี่ยงนี้ได้ ก็จะนำการให้สินเชื่อไปสู่สังคมคาร์บอนต่ำ ก็หมายความว่า เราเพิ่มโอกาสสำหรับคนรุ่นต่อไปให้มี climate change ในสภาวะที่ดี
climate change เป็นเรื่องที่มีความสำคัญ เรื่องวิกฤติ หากเราเสียหายจากภัยพิบัติทางธรรมชาติราว 5% ของจีดีพี โดยที่ระบบเศรษฐกิจการเงินเราไม่พร้อมที่จะรองรับได้ ก็จะประสบปัญหาใหญ่
“เราให้ความสำคัญกับประเด็นนี้ เพราะโลกกำลังเปลี่ยน และ IMF ไม่สามารถอยู่กับที่ได้ ไม่สามารถเป็น IMF แบบเดิมในปี 1944 ได้อีก”
นางคริสตาลินากล่าวว่า โลกเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วมากขึ้น ขึ้นอยู่กับว่าเราจะเปิดรับและใช้ประโยชน์จากการเปลี่ยนแปลงนี้ได้แค่ไหน ระบบการเงินไม่ใช่เป้าหมาย แต่เป็นแนวทางที่สร้างความเป็นอยู่ที่ดี ก็ต้องใช้ให้ถูก
ช่วงท้ายของการเสวนา นางคริสตาลินาได้ขอให้ผู้เข้าร่วมการเสวนาปรบมือแสดงความชื่นชมต่อ ดร.วิรไท ที่ได้ร่วมเขียนหนัง Sufficient Thinking ซึ่ง ดร.วิรไทได้มอบให้เป็นที่ระลึก
ชมบทบาทไทยผลักดันการพัฒนายั่งยืน
ในช่วงเช้าของวันที่ 5 พฤศจิกายน 2562 นางคริสตาลินา กอร์เกียวา ได้เข้าเยี่ยมคารวะ พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ในโอกาสเดินทางเยือนไทยเพื่อเข้าร่วมการประชุมสุดยอดอาเซียน โดยสาระสำคัญการหารือสรุปได้ดังนี้
นายกรัฐมนตรีขอบคุณกรรมการจัดการกองทุนการเงินระหว่างประเทศ ที่ให้ความสำคัญกับการจัดการประชุมสุดยอดอาเซียนที่ไทยเป็นเจ้าภาพ การเข้าร่วมของกรรมการจัดการกองทุนการเงินระหว่างประเทศเป็นประโยชน์กับประเทศสมาชิก และคู่เจรจา และขอบคุณที่มาเข้าเยี่ยมคารวะ เป็นโอกาสให้ได้ฟังความคิดเห็นโดยตรง และยินดีที่ให้เกียรติมาเป็นเจ้าภาพร่วมกับธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ในงานสัมมนานานาชาติระดับสูงในหัวข้อ “Emerging Markets in the New Normal: Dealing with Rising Domestic Leverage and the International Financial Cycles”
กรรมการจัดการกองทุนการเงินระหว่างประเทศยินดีกับความสำเร็จการจัดการประชุดสุดยอดอาเซียน ครั้งที่ 35 และการประชุมสุดยอดที่เกี่ยวข้องของไทย ชื่นชมบทบาทในเวทีระหว่างประเทศที่สนับสนุนความร่วมมือเพื่อแก้ปัญหาความท้าทายในโลกปัจจุบันได้อย่างเห็นผลเป็นรูปธรรม โดยเฉพาะอย่างยิ่งในสองประเด็นที่ชื่นชมมาก คือ มีการหารือเรื่องการพัฒนาอย่างยั่งยืน และการร่วมมือกันด้านเศรษฐกิจอย่างใกล้ชิดในภูมิภาค ทั้งนี้ รัฐบาลไทยมีเสถียรภาพ จึงส่งผลดีต่อการพัฒนาสำคัญทางเศรษฐกิจ
อย่างไรก็ดี ทั้งสองฝ่ายได้หารือเกี่ยวกับประเด็นปัญหาที่มีความท้าทาย ได้แก่ การพัฒนาด้านการศึกษา และการพัฒนาแรงงาน ซึ่งรัฐบาลไทยยืนยันการให้ความสำคัญกับการพัฒนาเหล่านี้ โดยระบุในยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี ซึ่งจะมีการตรวจสอบ ปรับปรุงทุก 5 ปี ตลอดจนให้ความสำคัญกับการเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ และความเท่าเทียมทางเพศ
ทั้งนี้ ในส่วนของการพัฒนาด้านสิ่งแวดล้อม กรรมการจัดการกองทุนการเงินระหว่างประเทศชื่นชมบทบาทไทยในเวทีอาเซียนซึ่งมีผลสำเร็จที่เป็นแผนแม่บทอย่างชัดเจนเป็นรูปธรรม โดยนายกรัฐมนตรีชี้แจงว่า ในโอกาสที่ไทยเป็นประธานอาเซียน ได้ยืนยันชัดเจนที่จะลดการใช้พลังงานหลัก เพิ่มการใช้พลังงานหมุนเวียน ลดการเผาไหม้ก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ ลดการใช้ขยะ และลดขยะในทะเล ในตอนท้าย ทั้งสองฝ่ายชื่นชมแนวทางพระราชดำริเศรษฐกิจพอเพียงของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร และสนใจจะศึกษา ถือว่าเป็นประโยชน์กับชาวโลก