ThaiPublica > เวทีปัญญาสาธารณะ > ThaiPublica Forum 2018: The 100 – Year Life ตัวแทนคนรุ่นใหม่ใช้ชีวิตแบบ “ถ่อมตน – ใฝ่รู้ – เรียนรู้…ว่ายังไม่รู้อะไร” ในโลกที่เปลี่ยนเร็ว

ThaiPublica Forum 2018: The 100 – Year Life ตัวแทนคนรุ่นใหม่ใช้ชีวิตแบบ “ถ่อมตน – ใฝ่รู้ – เรียนรู้…ว่ายังไม่รู้อะไร” ในโลกที่เปลี่ยนเร็ว

21 ธันวาคม 2018


สำนักข่าวออนไลน์ไทยพับลิก้าร่วมกับสำนักพิมพ์โอเพ่นบุ๊กส์ จัดเวที ThaiPublica Forum 2018 เรื่อง“The 100-Year Life: ชีวิตศตวรรษ” ในโอกาสครบครบรอบ 7 ปีและก้าวสู่ปีที่ 8 ของไทยพับลิก้าและในโอกาสที่หนังสือ “The 100-Year Life” ได้รับการแปลและจัดพิมพ์เป็นภาษาไทยในชื่อ “ชีวิตศตวรรษ” โดยสำนักพิมพ์โอเพ่นบุ๊กส์ เมื่อวันพุธที่ 12 ธันวาคม 2561

วงเสวนามีนักคิด นักวิชาการ และนักธุรกิจ ผู้ที่สนใจประเด็นการมีชีวิตยืนยาวจากหลากหลายวงการ ได้แก่ นายภิญโญ ไตรสุริยธรรมา นักคิด นักเขียน บรรณาธิการสำนักพิมพ์โอเพ่นบุ๊กส์, ดร.ศุภวุฒิ สายเชื้อ ที่ปรึกษาสถาบันวิจัยกลุ่มธุรกิจการเงินเกียรตินาคินภัทร, ดร.ธีระพล ถนอมศักดิ์ยุทธ หัวหน้าคณะผู้บริหารด้านนวัตกรรมและความยั่งยืน บริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) (TRUE), นพ.สุรพงษ์ สืบวงศ์ลี อดีตรองนายกรัฐมนตรี, ดร.ณภัทร จาตุศรีพิทักษ์ ผู้ก่อตั้งและซีอีโอ Siametrics Consulting, ดร.อาร์ม ตั้งนิรันดร คณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, นายฟูอาดี้ พิศสุวรรณ นักศึกษาปริญญาเอก สาขาวิชาความสัมพันธ์ ระหว่างประเทศ มหาวิทยาลัย ออกซ์ฟอร์ด และปาฐถกาพิเศษปิดท้าย โดย คุณหญิงจำนงศรี หาญเจนลักษณ์ นักธุรกิจเพื่อสังคม ผู้ก่อตั้ง บริษัท ชีวามิตร วิสาหกิจเพื่อสังคม จำกัด ผู้สนใจความหมายของการมีชีวิตระยะสุดท้าย

วงสนทนาหัวข้อ “How do we Prepare for a 100-Year Life?”

ในช่วงเสวนา 3 หนุ่ม 3 มุม ตัวแทนคนรุ่นใหม่ มาร่วมสนทนาในหัวข้อ “How do we Prepare for a 100-Year Life?” โดยมี “ภิญโญ ไตรสุริยธรรมา” นักเขียนเจ้าของสำนักพิมพ์โอเพ่นบุ๊กส์ ร่วมสนทนาและตั้งคำถามว่า ในโลกที่คนกำลังจะมีช่วงอายุยืนยาวถึง 100 ปี คนหนุ่มเหล่านี้วางแผนการใช้ชีวิตอย่างไร เพื่อให้สอดคล้องกับอายุขัยและโลกยุคสมัยใหม่ที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็วเช่นนี้

“ดี้-ฟูอาดี้ พิศสุวรรณ” ลูกชายคนโตของ ดร.สุรินทร์ พิศสุวรรณ ปัจจุบันอายุ 33 ปี กำลังศึกษาปริญญาเอก สาขาวิชาความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ มหาวิทยาลัยออกซ์ฟอร์ด  แต่อีกด้านหนึ่งของชีวิตเขาใช้ชีวิตอยู่บนดอยเป็นชาวสวนกาแฟ

“ดร.อาร์ม ตั้งนิรันดร” อาจารย์คณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ผู้เขียนหนังสือ China 5.0 เป็นคนหนุ่มวัย 32 ปี ที่รอบรู้เรื่องจีนมากที่สุดคนหนึ่งในยุคปัจจุบัน

“คิด-ดร.ณภัทร จาตุศรีพิทักษ์” ในวัย 30 ปี ลูกชายของ ดร.สมคิด จาตุศรีพิทักษ์ ตั้งบริษัทเล็กๆ ชื่อ Siametrics Consulting ทำงานด้านบิ๊กดาต้า พร้อมกับช่วยภรรยาเลี้ยงลูกตัวน้อยน่ารักในวัย 1 ขวบ

“ความถ่อมตนทางปัญญา”

ภิญโญ: ถ้านั่งทางในจาก 100 ปีที่แล้วกลับมาตอนนี้เจอ 3 คนนี้ ผมไม่กล้าบอกอะไรตัวเอง เพราะนี่คือตัวแทนของความสำเร็จในยุคปัจจุบันที่สังคมให้ค่า แต่ถ้าผมย้อนเวลากลับมาปัจจุบันได้ ผมก็จะกลับมาถาม 3 คนนี้ เริ่มจากดี้ก่อนว่า มีอะไรจะบอกคนแก่อย่างผมหรือทุกคนมั้ย ที่จะทำให้ผมมีชีวิตรอดไป 100 ปีข้างหน้าอย่างมีคุณค่า

ฟูอาดี้:  ผมมานั่งคิดทบทวนว่า คำสอนของคุณพ่อ (ดร.สุรินทร์ พิศสุวรรณ) ที่เคยให้ไว้  สิ่งที่คุณพ่อสอนผม มันน่าจะมีประโยชน์ถ้าผมอายุยืนถึง 100 ปี คุณพ่อสามารถทำให้ชีวิตมีความหมาย และมีความสุขได้ด้วย

สิ่งที่คุณพ่อสอนตลอดและสิ่งที่ผมคิดว่า สังคมตอนนี้ขาดคือ “ความถ่อมตนทางปัญญา” ตรงนี้ผมคิดว่าสังคมขาดค่อนข้างเยอะ และในหนังสือชีวิตศตวรรษก็พูดคล้ายๆ กัน ผมอ่านแล้วสะดุด มันเหมือนที่คุณพ่อพูดเรื่องความถ่อมตนทางปัญญา เรื่องการตั้งคำถามกับตัวเอง

คือต้องรู้สึกว่าตัวเองโง่อยู่ตลอดเวลา ต้องรู้สึกว่าตัวเองรู้น้อยกว่าคนอื่น ถึงแม้คนอื่นที่เขาจะไม่ได้เรียนปริญญาเหมือนเรา ถึงแม้ว่าเขาจะเป็นชาวสวนกาแฟ ซึ่งผมมีอีกชีวิตหนึ่งคือเป็นนักแปรรูปกาแฟ ใช้ชีวิตอยู่บนดอยที่เชียงใหม่ เชียงราย คนที่นั่นเขามีอะไรที่จะสอนเราอยู่เสมอ เจอชาวบ้านเขามีอะไรที่จะสอนเราเยอะ มันทำให้ผมหาประสบการณ์ใหม่ๆ เปิดรับความรู้ใหม่ๆ ตั้งคำถามกับตัวเอง

(จากซ้ายไปขวา) ดร.อาร์ม ตั้งนิรันดร นายฟูอาดี้ พิศสุวรรณ นายภิญโญ ไตรสุริยธรรมา

“ใฝ่รู้-ปรับตัว” ในโลกที่เปลี่ยนเร็ว

อาร์ม: ผมจินตนาการตัวเองตอน 100 ปียากมาก แต่คิดว่าโลกรอบตัวคงจะเปลี่ยนไปเยอะ ตอนช่วงวัยเรียนหนังสือ โดยเฉพาะช่วงมหาวิทยาลัย ผมไปเรียนที่เมืองจีน ซึ่งตอนนี้จีนเริ่มเป็นสังคมคนแก่ แต่ขณะเดียวกันจีนเป็นประเทศที่เปลี่ยนเร็วมาก ผมอยู่ 4 ปีที่จีน คิดว่าเวลามันไปเร็วมาก เพราะจากที่เริ่มต้นไปวันแรก ปักกิ่งมีรถไฟฟ้า 2 สาย แต่วันสุดท้ายที่ผมออกจากปักกิ่ง มีรถไฟฟ้าประมาณ 12-13 สาย

แต่ถ้าเราเกิด 100 ปีในช่วงก่อนปฏิวัติอุตสาหกรรม คนที่อายุ 100 ปีช่วงนั้นก็ไม่ได้เปลี่ยนอะไรมาก  สังคมก็ไม่เปลี่ยนอะไรมาก แต่ยุคปัจจุบันไม่ใช่แค่ที่จีน แต่ที่ไทยเองด้วย จากความเป็นยุคที่เทคโนโลยีมัน disrupt อะไรต่อมิอะไร เพราะฉะนั้น เวลา 100 ปี  มันเท่ากับเวลาไม่รู้กี่ร้อยปีในอดีต

ดังนั้น การเปลี่ยนแปลงนี้ ทำให้ในหนังสือชีวิตศตวรรษจึงเน้นมากเรื่องที่เรา “ต้องเรียนรู้ใหม่อยู่ตลอด” เพราะฉะนั้น ถ้าผมจินตนาการได้ว่าผมอายุ 100 ปี ผมก็หวังแค่ว่าจะไม่รู้สึกช็อกมากกับโลก ซึ่งเราต้องมีความสามารถที่จะปรับตัวไปเรื่อยๆ

คำพูดหนึ่งที่น่าจะดีก็คือ ชีวิต 100 ปี มันทำให้คนหนุ่มจะต้องมีความแก่มากขึ้น แล้วคนแก่ต้องมีความหนุ่มมากขึ้น  คนหนุ่มที่มีโอกาสอายุถึง 100 ปี  เขาจะตัดสินใจอะไรก็ต้องคิดรอบคอบมากขึ้น ขณะที่คนแก่ก็ต้องมีความใฝ่รู้ ปรับตัว  มีความคิดแบบเด็กอยู่ตลอด ไม่อย่างนั้นมันตามไม่ทันกับโลกที่เปลี่ยนเร็วขนาดนี้

(จากซ้ายไปขวา) ดร.ณภัทร จาตุศรีพิทักษ์ ดร.อาร์ม ตั้งนิรันดร นายฟูอาดี้ พิศสุวรรณ

กล้าเสี่ยง-เพิ่มทักษะ-เข้าถึงหุ่นยนต์

ณภัทร: ผมมองว่าพอเวลามันยาวขึ้น มันเหมือนกับว่าเราจะสโลว์ไลฟ์ได้มากขึ้น แต่ถ้ามองว่าจะอยู่ถึง 100 ปี แล้วมีความสุขทุกวัน ทุกปี  มีเงินกิน เงินใช้ ถึงแม้เราจะแก่ลง ผมว่ามันไม่ง่าย สโลว์ตอนแก่อาจจะโอเค แต่สโลว์สตอนนี้ผมไม่เห็นด้วย

ตอนนี้ผมอายุ 30 มันก็ต้องมาคิดแล้วว่าจะทำยังไงถึงจะมีไปถึงอายุตอนนั้น ผมคิดง่ายๆ เลยคือ

1. “กล้าเสี่ยง” ขึ้น โดยเฉพาะคนอายุน้อยๆ สมัยก่อนพูดกันว่าอายุต่ำกว่า 25-30 ให้ไปทำอะไรที่มันเสี่ยงไปเลย เพราะยังเหลือเวลาอีกเยอะ เช่น ลงทุนในหุ้น  แต่ผมว่าปัจจุบันอายุที่เสี่ยง มันอาจขึ้นไปถึง 40-50 ด้วยซ้ำ ถ้าทุกคนอยู่ได้ถึง 100 ปี

2. พยายาม “เพิ่มทักษะ” ตัวเองตลอดเวลา แต่ต้องทำให้ถูกตลาดด้วย ผมทำธุรกิจบิ๊กดาต้า เอไอ โลกมันเปลี่ยนเร็วมาก เปลี่ยนรายเดือนด้วยซ้ำไป เดือนนี้กับเดือนที่แล้ว คนละโลกกันเลยก็เป็นไปได้

3. แต่งงานกับบ้านที่มีหมอเยอะๆ ผมไม่รู้สถิตินะ แต่มองมาหลายทิศหลายทางแล้ว ถ้าบ้านไหนมีหมอเยอะส่วนใหญ่จะอยู่นาน

4. ควรจะเข้าถึงหุ่นยนต์ให้เร็วกว่าคนอื่น เพราะว่ามันจะมาเปลี่ยนอะไรเราแน่นอนในอนาคต  ใครถึงก่อนน่าจะได้ประโยชน์ค่อนข้างเร็ว ไม่ว่าจะเป็นเรื่องทำให้เรามั่งคั่งขึ้นไปจนถึงอายุ 100 ปี หรือการมีสิ่งมาอำนวยความสะดวกเรา

  • ThaiPublica Forum 2018 : “ภิญโญ ไตรสุริยธรรมา” กับ “The 100-Year Life” – เราจะมีชีวิตอยู่ 100 ปีอย่างไร?
  • ThaiPublica Forum 2018 : “ศุภวุฒิ สายเชื้อ” The 100-Year Life – จะเป็นคนแก่ที่ยังหนุ่มได้อย่างไร
  • ThaiPublica Forum 2018: “ธีระพล ถนอมศักดิ์ยุทธ” The 100 – Year Life กับแกนหลักของ Future of Job
  • ThaiPublica Forum 2018 : The 100 – Year Life “สุรพงษ์ สืบวงศ์ลี” แนะอยู่อย่างไรให้มีความสุขหากมีชีวิต 100 ปี
  • ThaiPublica Forum 2018: “คุณหญิงจำนงศรี หาญเจนลักษณ์” ชี้ขจัดความขัดแย้งกับตัวเอง ให้ The 100-Year Life เป็น Gift
  • วางแผนชีวิต สร้างอนาคตด้วยตนเอง

    ภิญโญ: ผมถามดี้จริงๆ ว่าตอนนี้วางแผนจะใช้ชีวิตยังไง เพราะมันมีความเสี่ยงในอนาคตข้างหน้า ทั้งเรื่องการเมือง มีอดีตที่เราแบกไว้ อนาคตที่ยังมองไม่เห็น ปัจจุบันวางแผนอยากใช้ชีวิตยังไง แชร์ให้ฟังหน่อยได้ไหม

    ฟูอาดี้: ผมเป็นคนเดียวใน 3 คนที่ยังไม่จบปริญญาเอก  4 ปี จะ 5 ปีแล้ว น่าจะเป็นตัวชี้วัดได้ว่ามีความไม่แน่ใจอยู่พอสมควร  หมวกหนึ่งผมเป็นนักวิชาการทางด้านรัฐศาสตร์ อีกหมวกหนึ่งเป็นลูกชายคนโตของคุณพ่อ ซึ่งเป็นผู้นำชุมชนในนครศรีธรรมราช เป็นชุมชนมุสลิม แล้วก็มีภาระเป็นลูกนักการเมืองในระดับประเทศและระดับโลก ซึ่งก็แบกภาระไว้เยอะ แบกความหวังไว้เยอะ

    ตั้งแต่เกิดมา ทุกคนก็บอกว่าโตมาให้เก่งเหมือนพ่อนะ คำนี้โดนมาตลอดตั้งแต่เด็ก มันอาจจะทำให้ผมเรียนหนักมาถึงขั้นนี้ แต่ในขณะเดียว กันผมก็มีแพสชั่นที่คิดว่าเป็นแพสชั่นของผมเอง ผมทำงานด้านกาแฟมา 7 ปีแล้ว ใช้ชีวิตบนดอย ซึ่งมันทำให้ผมได้เรียนรู้อะไรเยอะมากในอีกมิติหนึ่ง

    ถ้าในเชิงลูกชาย ดร.สุรินทร์ เป็นนักวิชาการ จบฮาร์วาร์ด จบออกซ์ฟอร์ด ก็ได้สังคมแบบหนึ่ง แต่เวลาผมใช้ชีวิตกับชาวสวน กับชาวมุสลิมที่สามจังหวัดฯ ซึ่งเป็นอัตลักษณ์ของผมในอีกแบบหนึ่ง มันได้เรียนรู้อะไรหลายๆ อย่าง การใช้ชีวิต ปรัชญา จากปราญ์ชาวบ้าน ได้มีมิติของการใช้ชีวิตกับเพื่อนๆ กับมนุษย์ ซึ่งถ้ามองในแง่เศรษฐกิจมหภาค อาจจะมองไม่เห็น

    เราพูดกันเรื่องเอไอ เรื่องเทคโนโลยี เข้ามากดดันคน ผมเป็น entrepreneur ที่มีโรงสีกาแฟ แต่ปัญหาที่ผมเจอตอนนี้คือ ผมมีเครื่องหนึ่งที่อยากจะซื้อ เรียกว่าเครื่องยิงสีสำหรับคัดเมล็ดกาแฟ หมายความว่าเวลาคัดเมล็ดกาแฟ จะยิงเลเซอร์ดูสีว่าอันไหนเป็นเมล็ดเบี้ยว เป็นเมล็ดที่ผิดสี เพื่อคัดคุณภาพกาแฟ

    แต่ถ้าผมซื้อเครื่องนี้ เพื่อนผมที่เขานั่งคัดกาแฟอยู่ เขาต้องตกงาน ถ้ามองในเชิงการลดต้นทุน แน่นอนว่าต้องซื้อเครื่องนี้ แต่ความที่ผมอยู่กับเขามา 7 ปี ผมไม่สามารถซื้อได้ คือมันเป็นเรื่อง moral argument ที่ผมต้องเจอ

    นายฟูอาดี้ พิศสุวรรณ

    ภิญโญ: แล้วเอาชนะสิ่งที่ฝรั่งเรียกว่าความอ่อนน้อมถ่อมตนทางปัญญาไปได้ยังไง เหมือนที่พ่อบอก มันพูดง่าย  ให้มีความอ่อนน้อมถ่อมตนทางปัญญา แต่ประทานโทษ ปัญญาเยอะ ปริญญาก็เยอะ เอาชนะมันได้ยังไง

    ฟูอาดี้: เจอคนเยอะๆ ครับ เจอคนทุกระดับ ให้คนอื่นพูดเยอะกว่าเราพูด  แล้วก็ถามเยอะๆ พอเขาตอบมา ก็กลั่นออกมาเป็นความคิดของตัวเอง แล้วก็ไม่ว่าใครแรงๆ สามารถปรับเปลี่ยนทัศนคติตัวเองได้ คือไม่ใช่ไม่มีหลักนะครับ มีหลักอยู่แล้ว แต่ว่าก็ต้องปรับเปลี่ยนตามสถานการณ์ ไม่กระทุ้งใครแรงไป  ไม่พูดชนฝามากเกินไป

    ภิญโญ: คิดล่ะครับ มีโปรไฟล์คล้ายๆ กัน แบกพ่อไว้เยอะมาก และดูเหมือนจะต้องแบกต่อไป ผ่านเรื่องราวคล้ายๆ คุณฟูอาดี้มาได้ยังไง แล้ววางแผนชีวิตตัวเองยังไง  ทำยังไงถึงจะมีชีวิตของตัวเองได้ โดยคนไม่ถามว่าเป็นลูกใคร ทำอะไรอยู่

    ณภัทร: จริงๆ ผมกับพี่ดี้โปรไฟล์ไม่ได้เหมือนกันขนาดนั้น แต่เรื่องคนมองว่าพ่อ (ดร.สมคิด จาตุศรีพิทักษ์) เป็นใคร มันก็มีความกดดันอยู่แล้ว เป็นความกดดันสองด้าน คือ บางคนก็จะชมว่าพ่อดีจังเลย แต่บางคนก็จะด่าเช็ดเลย มันก็มีทั้งสองด้าน ทีนี้ผมจะดีลยังไง

    ด้านที่บอกว่าดี ก็มีความกดดันให้ผมว่าจะต้องดีให้เท่า แต่พอเราดีให้เท่าปุ๊บ อีกด้านหนึ่งไม่ชอบ บอกว่าเราเป็นเหมือนพ่อเลย แล้วจะทำยังไง

    สุดท้ายวิธีแบ่งก็คือว่า ต้องมาค้นพบว่าตัวเองเป็นใคร แล้วแยกแยะให้ได้ว่าความกดดันที่มา เราควบคุมมันได้หรือเปล่า บางอันเราก็ควบคุมไม่ได้ เพราะเป็นความคิดของคนอื่นว่าเขามองเรายังไง ผมก็แยกมันออกไปเลย แล้วก็เดินทางที่ผมค้นพบของผมเอง  ตอนนี้ผมก็ตั้งบริษัทเล็กๆ ของผมไป ช่วยสังคมผ่านทาง deliver value ให้กับองค์กรและบริษัทอื่นๆ

    ภิญโญ: จุดที่แยกมันอยู่ตรงไหน เพราะส่วนใหญ่พ่อแม่บังคับ พ่อคือพ่อ  แม่คือแม่ ผู้ปกครองคือผู้ปกครอง

    ณภัทร: การบังคับเนี่ย ตอนเด็กๆ ผมก็ไม่เห็นด้วย ไม่มีเด็กคนไหนเห็นด้วยกับพ่อแม่ตลอดอยู่แล้ว แต่ก็ค้นพบว่าถึงแม้ว่าผมจะแย้งอะไร ประมาณ 80% พ่อพูดถูก แต่ว่าผมก็จะแย้งยู่ดีนะ เพราะฉะนั้นวิธียื้อออกมาก็คือ พ่อผมก็พูดไป  ผมก็ทวนลมไปบ้าง แล้วเดินทางของตัวเอง

    ซึ่งบางทีก็เป็นทางเดินที่ผิดอยู่นาน แต่เราก็เรียนรู้จากมันว่าจริงๆ น่าจะเชื่อพ่อ แต่มันก็มีหลายอย่างที่เขาไม่ได้ถูก เพราะฉะนั้นผมก็เลยคิดว่ามันเป็นผลงานผมนะ ที่ผมเดินผิด หรือเดินถูก

    ดร.ณภัทร จาตุศรีพิทักษ์

    เรียนรู้…ว่ายังไม่รู้อะไร

    ภิญโญ: ดูประวัติการศึกษาอาจารย์อาร์ม คนอะไรเรียนเก่งขนาดนี้ แล้วคนก็มีความคาดหวังกับอาจารย์อาร์ม การที่ประสบความสำเร็จทางการศึกษา แล้วคนคาดหวังกับเราสูงๆ เราแบกอะไรไว้บ้าง แล้วจริงๆ ตัวเราคิดอะไร วางแผนยังไง

    อาร์ม: ผมคิดว่าในเรื่องการศึกษา สิ่งสำคัญคือสิ่งที่ดี้บอกเรื่องความถ่อมตัวทางปัญญา แต่สำหรับตัวผมเอง กลายเป็นว่ายิ่งเรียนสูง ผมยิ่งรู้สึกว่าผมโง่มาก  สมัยเด็กๆ เรียนหนังสือเก่ง ได้คะแนนดี ก็รู้สึกว่าตัวเองเก่งเรียนฉลาด แต่พอเราค่อยๆ เรียนสูงขึ้น เราถึงรู้ว่ามันมีคำถามที่เรายังไม่รู้อีกมากมาย หรือสมติฐานที่เป็นเรื่องสำคัญมากที่เรายังไม่เคยตั้งคำถามกับมัน

    เพราะฉะนั้น สำหรับผม การศึกษาทำให้ผมรู้ว่าเรายังโง่เหลือเกิน แต่แน่นอนก็จะมีคนภายนอกบอกว่าเราเก่งมาก แต่ยิ่งผมเรียนสูงขึ้น ผมก็ยิ่งรู้สึกว่าสิ่งที่คนอื่นคิด กับสิ่งที่เรารู้สึกจริงๆ มันอาจจะต่างกันมากขึ้นเรื่อยๆ เพราะเรารู้สึกว่าเราไม่รู้เยอะขึ้นจริงๆ

    แต่ผมคิดว่านี่คือ สิ่งสำคัญที่การศึกษาให้กับเราคือเป็นทักษะที่สำคัญมากสำหรับโลกยุคใหม่  ไม่ว่าเราพูดถึงโลกที่จะอยู่กัน 100 ปี  หรือโลกยุคใหม่ที่มันมีเทคโนโลยีมา disrupt อยู่ตลอด และคือทักษะที่บอกเราว่ามันไม่มีคำตอบตายตัว มันไม่ได้มีเส้นทางเดียว เราจะต้อง reinventing ทางใหม่อยู่ตลอด ต้องพยายามที่จะเรียนรู้ใหม่อยู่ตลอด

    ผมอ่านคำนำที่พี่ภิญโญเขียนในชีวิตศตวรรษ ประโยคแรกที่พูดถึงขงจื่อ  ขงจื่อบอกว่าช่วงเวลาของการเรียนหนังสือเยอะมาก ตั้งแต่อายุ 15 ต้องเรียนหนังสือ พออายุ 30 ก็ไปรับราชการ  แต่โลกยุคนี้คงไม่ใช่อย่างนั้นแล้ว เราต้องเรียนอยู่ตลอดเวลา

    ซึ่งสำหรับผมตั้งแต่เด็ก ผมอยู่ในโรงเรียนเยอะ ที่ผ่านมาอยู่แต่ในโรงเรียน แต่ก็พยายามหาประสบการณ์เพิ่ม แต่อย่างน้อยถามว่าช่วงชีวิตที่อยู่ในโรงเรียนให้อะไรกับผม คำตอบก็คือ “เรียนรู้ว่าเรายังไม่รู้อะไร”

    การศึกษาในระบบ กับสังคมสมัยใหม่ 2 โลก

    ภิญโญ: ฟังแต่ละคนจะเห็นว่ามีวิธีคิดคนละแบบ ผมอยากถามดี้ว่าการศึกษาที่เรียนมา ที่ออกซ์ฟอร์ด จริงๆ เขาสอนอะไร แล้วการศึกษานั้นยังใช้ได้อยู่กับโลกสมัยใหม่ได้หรือเปล่า ถ้าใช้ไม่ได้มันจะต้องปรับกันยังไง ไม่เคยไปเรียน อยากรู้ เคยแต่ไปกินกาแฟ

    ฟูอาดี้: ผมเห็นด้วยกับอาร์มว่า ยิ่งเรียนสูง ยิ่งเหมือนไม่รู้เลย มันทำให้จบยากมาก ผมตั้งคำถามกับตัวเองตลอดเวลาว่าความคิดทางการเมืองผมอยู่ตรงไหน ผมเชื่อในประชาธิปไตยมาก แต่พอมาคุยกับอาร์ม อ่านหนังสืออาร์ม ไชน่า 5.0 เจอแบบนี้ในวงการ ถกเถียงทางวิชาการ มันจะทำให้สับสน และรู้สึกว่าตัวเองโง่อยู่ตลอดเวลา

    ผมเคยพูดกับคุณอากวี (จงกิจถาวร) จากเดอะเนชั่นว่า ผมเรียนมาขนาดนี้ ผ่านมา 3 มหาวิทยาลัยดีๆ ของโลก แต่ผมกลับไม่มีความคิดทางการเมืองที่ชัดเจน ผมเคยขวา ผมมาซ้าย แล้วผมมาตรงกลาง มันมั่วหมดเลย แต่ก็หวังว่าในปีหรือสองปีข้างหน้า จะมีความชัดเจนมากขึ้น

    ภิญโญ: ถ้ามีลูก จะส่งให้เรียนแบบที่เราเรียนมั้ย

    ฟูอาดี้: คิดมีลูกแล้ว คิดตอบก่อนดีกว่า (หัวเราะ) ผมยังไม่มีแฟนเลยครับ แต่ก็คิดว่าจะต้องเป็นในระดับนี้ คือสิ่งที่ผมเรียนรู้หลายๆ อย่างก็ไม่ได้มาจากระบบที่แท้จริง  แต่เป็นการคุยกับคุณพ่อ เป็นการใช้ประสบการณ์ชีวิต ที่บางครั้งมันเลือกไม่ได้

    ผมเป็นคนมุสลิม ผมโตในสังคมพุทธ ผมไปโรงเรียนคริสต์ ผมเป็นคนใต้ ผมโตกรุงเทพฯ ผมเรียนหนังสือจากโลกตะวันตก ผมทำงานอยู่ภาคเหนือ  มันเป็นประสบการณ์ที่มันไม่ได้มาจากโรงเรียนที่เป็นระบบ ผมก็ตอบไม่ได้เหมือนกัน แต่ก็น่าจะให้ลูกใช้ชีวิตแบบนี้

    ผมกลับบ้านนครศรีธรรมราชก็ยังนอนมุ้ง ไปภาคเหนือก็ไม่มีไฟฟ้า กลับมาบ้านที่กรุงเทพฯ ก็สะดวกสบาย คือมันเป็นชีวิตที่หลากหลายมาก  และก็น่าจะให้ลูกใช้ชีวิตแบบเดียวกัน

    ภิญโญ: คิดล่ะครับ วางแผนส่งลูกเรียนยังไง เหมือนเดิมหรือเปล่า หรือเปลี่ยนแนว

    ณภัทร: ผมเพิ่งมีลูกอายุ 1 ขวบ 4 เดือน  แต่เพิ่งมารู้ตัวว่าที่เมืองไทยเขาต้องคิดเรื่องโรงเรียนกันตั้งแต่เริ่มปฏิสนธิ (หัวเราะ) คือผมก็ช้าไปเหมือนกัน ซึ่งจริงๆ ผมชอบความเป็นไทยนะ แต่ผมไม่เชื่อในการบังคับเด็ก ผมเชื่อว่าให้เด็กเลือกเอง  ผมเชื่อ independent

    สมมติลูกผมอยากอยู่เมืองไทยขึ้นมา ผมคิดว่าคุณค่าในการไปโรงเรียนไทยมีเยอะมาก  โดยเฉพาะในการประกอบธุรกิจ เหมือนกับว่ามันจะได้ลื่นไหล เวลาคุยกับเจ้านาย คุยกับลูกค้า  ซึ่งไม่ได้ว่าคนไปโรงเรียนอินเตอร์ตั้งแต่เด็กทำไม่ได้นะครับ แล้วมันไม่ใช่ทักษะที่สอนกันในห้องเรียนด้วย แต่เหมือนกับ read the room อ่านดูว่าเราควรจะเข้าไปหน้าไหน แต่ผมก็ยังคิดว่าจะส่งลูกไปอินเตอร์นะ แต่ไม่รู้ว่าจะเป็นช่วงไหน

    ดร.อาร์ม ตั้งนิรันดร

    ภิญโญ: อาจารย์อาร์มล่ะครับ

    อาร์ม: ผมขอกลับไปตอนต้นที่พูดถึงเรื่อง 100 ปี คือมันจะเป็น 100 ปีที่มีการเปลี่ยนแปลงเยอะมาก แต่จริงๆ มันมีอีกประเด็นหนึ่งที่สำคัญมาก คือมันเป็น 100 ปีที่สังคมเราจะมีโลกสองใบ ก่อนหน้านี้มีนิยายวิทยาศาสตร์ขายดีมากในเมืองจีนระบุว่ามีโลกอยู่สองใบ คือโลกของคนกลุ่มหนึ่งที่มีมายด์เซ็ตแบบหนึ่ง มีฐานะแบบหนึ่ง คือโลกของกลุ่ม 1% หรือคนรวย กับอีกโลกหนึ่งที่แตกต่างกันมาก

    ซึ่งต่อไปความเหลื่อมล้ำนี้มันจะเป็นประเด็นสังคมที่ใหญ่มาก  เพราะว่ามันจะทุกมิติ เราพูดถึงด้านเศรษฐกิจ แต่มันยังรวมถึงด้านวัฒนธรรมความคิดด้วย แม้กระทั่ง 100 ปี  ในหนังสือชีวิตศตวรรษบอกว่าคนรุ่นเรา 50% น่าจะอยู่ถึง 100 ปี  แต่จริงๆ แล้วไม่จริงหรอก ถ้าไปดูสถิติ แม้กระทั่งในสหรัฐอเมริกา ปัจจุบันเราจะพบว่า life expectancy ของคนยากจนไม่ได้พัฒนาขึ้น ต่ำลงด้วยซ้ำ  แต่กลุ่มคนรวย life expectancy จะพัฒนาขึ้นไปเรื่อยๆ  แต่ผมกำลังบอกว่ามันเหมือนมีสองโลก

    ในหนังสือชีวิตศตวรรษพูดถึงชีวิต 100 ปี ต้องปรับทั้งด้านการเงิน ด้านวิธีคิด ด้านวัฒนธรรม แต่ผมกำลังจะบอกว่าทั้งหมดนี้มันอาจจะเป็นแค่คนกลุ่มหนึ่ง ขณะเดียวกันคนอีกกลุ่มหนึ่งของสังคม ก็อาจจะอยู่อีกโลกหนึ่งเลย ที่แบ่งแยกออกไป

    เพราะเขายังอยู่ในวิธีคิดแบบเดิม วัฒนธรรมความคิดแบบเดิม โลกของเขาเป็นโลกที่หยุดนิ่ง ไม่ได้เปลี่ยนแปลงมาก  อายุเฉลี่ยก็อาจจะไม่ได้สูง ซึ่งประเด็นนี้จะทำให้เกิดความท้าทายมากในสังคม ผมคิดว่าช่องว่างนี้มันจะห่างขึ้นเรื่อยๆ

    เพื่อนผมรุ่นราวเดียวกันคุยกัน บางคนบอกว่าเขาไม่พูดภาษาไทยกับลูกแล้ว ลูกเกิดมาต้องพูดสองภาษา คือภาษาอังกฤษกับภาษาจีน ภาษาไทยไม่จำเป็นแล้ว ลูกต้องเรียนอินเตอร์ เป็นอีกวัฒนธรรมหนึ่ง แต่เมื่อกี้ผมชอบมากที่คิดบอกว่ามันมีข้อดีหมด ทั้งเรียนไทย เรียนอินเตอร์ หรือเรียนอะไร

    หลายคนก็เคยถามผมว่าถ้าผมมีลูก ซึ่งอีกยาวนาน แฟนยังไม่มี (หัวเราะ)  จะส่งลูกไปเรียนเมืองจีนมั้ยเหมือนที่ผมไปเรียน หรือไปเรียนอเมริกาเลย แล้วต้องเรียนจีนตั้งแต่เมื่อไหร่ แต่จริงๆ ผมคิดเหมือนที่คุณหมอเลี้ยบ (นพ.สุรพงษ์ สืบวงศ์ลี) ที่พูดถึงเรื่องสุขภาพว่ามันมีวิธีเยอะมาก มีหลายศาสตร์

    การศึกษาก็เหมือนกัน มันมีรูปแบบที่หลากหลายมาก เรียนโรงเรียนไทยตอนเด็ก แล้วไปเรียนอินเตอร์ ไปเรียนที่อเมริกาตอนปริญญาตรี หรือว่าเรียนปริญญาตรีที่ไทย แล้วค่อยไปเรียนอเมริกา คือมันสามารถผสมผสานกันได้เยอะ

    เพราะฉะนั้น ผมว่ามันไม่มีหรอกรูปแบบที่ถูกต้อง แต่มันอยู่ที่ว่าเราจับแก่นคุณค่าของแต่ละเรื่อง อย่างที่ดี้บอกว่าเราต้องคุยกับคนเยอะๆ เราต้องสัมผัสคนให้มากๆ แล้วยิ่งเมื่อโลกมัน disrupt มากขึ้น มันจะเป็นสองโลกมากขึ้น ทักษะนี้ก็ยิ่งสำคัญ

    จุดต่างของคน 2 Gen: เมื่อเวลาไม่เท่ากัน

    ภิญโญ: เข้าใจว่าคุณพ่อคุณแม่ของทุกคนเป็นรุ่นเบบี้บูมเมอร์ อะไรคือความแตกต่างระหว่างความคิดคนรุ่นเบบี้บูมเมอร์กับความคิดคนรุ่นเรา เราอยู่กับพ่อแม่เรามา เขามองอนาคต กระทั่งดีไซน์ประเทศแบบหนึ่งประมาณ 20 ปี แต่อะไรคือสิ่งที่เราเห็นว่าเขาคิดต่างกับเรา แล้วเราวางแผนอนาคตที่ไม่เหมือนกับเขา มันมีความต่างที่พอเห็นได้ชัดหรือยัง  ดี้คุยกับคุณพ่อ ผมเคยเห็นอยู่

    ฟูอาดี้: คุณพ่อเสียหลังจากผมให้สัมภาษณ์ไทยพับลิก้าครั้งแรก คุณพ่อได้เห็น เป็นช่วงที่ผมชนกับคุณพ่อได้เต็มที่ คุณพ่อจะลงสมัครผู้ว่าฯ กทม. ผมตั้งคำถามว่านี่คืออีโก้พ่อหรือพ่ออยากช่วยประชาชนจริงๆ คุณพ่อบอกว่า ถ้าไม่มีอีโก้เลย เราก็ไม่ต้องทำอะไรเลย

    แต่เขาก็มีความเชื่อในการเอาประชาธิปไตยคืนมาโดยเริ่มที่กรุงเทพฯ ซึ่งคำถามนี้ตอบยาก เพราะผมไม่ได้มีโอกาสคุยกับคุณพ่อต่อ แต่คุณพ่อก็จะเป็นคนค่อนข้างเปิดอยู่แล้ว ใครที่สัมผัสเขา เขาจะเป็นคนถามเยอะ เขาอยากจะรู้ทุกอย่าง เขารู้สึกว่าเขาเป็นเด็กอยู่ตลอดเวลา รู้สึกว่าเขาโง่อยู่ตลอดเวลา ซึ่งเป็นสิ่งที่ผมได้รับมา

    ภิญโญ: อะไรคือความแตกต่างระหว่างลูกคิด กับพ่อคิด (สมคิด)

    ณภัทร: ขอเป็นแม่ก่อนละกันครับ พ่อขอเวลาคิดนึดนึง (หัวเราะ) คุณแม่ผมชอบเต้นแอโรบิค แล้วเต้นนาน ผมโดนบังคับให้เต้นด้วยตอนสมัยเด็กๆ เศร้ามาก (ยิ้ม) แม่เต้นที 3 ชั่วโมง เยอะมาก แล้วตอนนี้ไปเป็นอาจารย์สอนเต้นซุมบ้า สอนกลุ่มผู้สูงหน่อย เพราะท่านเห็นสุขภาพเป็นเรื่องหลักมาก เพราะฉะนั้นเขาน่าจะอยู่ได้นานมาก  เขามองเรื่องสุขภาพดี กินอยู่ดีเป็นสุข ดูแลดีหมด

    ส่วนคุณพ่อ เขามองว่าอนาคตโลกมันเปลี่ยนแปลงเร็ว ตัวเองก็ชราภาพลงแล้ว ผมก็เลยบอกว่าเมื่อไหร่จะมาเลี้ยงหลาน เห็นพูดไว้ว่าขอเวลาอีกไม่นาน (หัวเราะ) ผมก็อยากให้มาเลี้ยงหลานเหมือนกัน เพราะว่าจริงๆ ผมกับภรรยาเลี้ยงกันเอง ไม่มีพี่เลี้ยง แล้วมันก็เหนื่อยตัวแตก ก็คิดว่าอาชีพต่อไปของคุณพ่อคงจะพาหลานไปดูปลาในสยามพารากอน ในอควอเรียม

    ภิญโญ: อีกนานมั้ย

    ณภัทร: คิดว่าไม่นานนะครับ (ยิ้ม)

    ภิญโญ: อาจารย์อาร์ม เชิญครับ

    อาร์ม: คุณพ่อผมเสียแล้ว แต่อันหนึ่งที่เป็นความทรงจำของผมก็คือ วันที่เทคโนโลยีมันเริ่มมา พ่อเขาก็เริ่มมีไอโฟน มีคอมพิวเตอร์ สิ่งแรกที่ท่านทำก็คือไปซื้อคู่มือเล่นคอมพิวเตอร์ คู่มือเล่นไอโฟน  แต่เด็กรุ่นใหม่ทุกวันนี้โยนไปให้เขาเล่นเอง เดี๋ยวเขาก็เล่นเป็น ไม่จำเป็นแล้วที่จะต้องไปศึกษาคู่มือ

    หรือคนรุ่นผู้ใหญ่ อย่างอาจารย์ที่คณะ บางวันเจอท่านถือคู่มือไอแพด คู่มือไอโฟน คือมันยังเป็นมายด์เซ็ตว่ามันต้องเรียน เรียนทุกอย่างก่อนแล้วถึงจะทำเป็น แต่โลกยุคใหม่มันเป็นโลกของการทดลอง  เอาไอโฟนขึ้นมาจับๆ กดโน่นกดนี่ไปเรื่อยๆ ก็จะทำได้เองเป็น ไม่ต้องมีคู่มืออะไร

    ผมว่าอันนี้เป็นสิ่งสำคัญมากของคนรุ่นเรา ก็คือเราจะเป็นรุ่นที่มีทักษะสำคัญคือ “ทดลอง ทดสอบ ใช้ประสบการณ์”  โดยไม่ใช่เป็นมายเซ็ตแบบสมัยก่อนที่เรียนหนังสือ 15 ปี แล้วอายุ 30 ค่อยมาทำงานหรือรับราชการ

    ณภัทร: จริงๆ อย่างนี้อันตรายมาก ผมเจอในหลายธุรกิจที่กำลังจะเปลี่ยนยุค 4.0  คือหลายคนเขาจะมีมายเซ็ตว่าเขาเรียนมาอย่างนี้ เขาต้องทำอาชีพนี้ หรือเขาทำงานมา 15 ปี เขารู้ชัวร์ว่าเขาเก่งสุด  เขาจะไม่เปลี่ยน ไม่ว่าเราจะไปเสนอหรือเอาอะไรไปกางให้ดู ผมว่าอันตรายมากสำหรับส่วนรวม สำหรับส่วนตัวเขาอาจจะอยู่รอดไปเรื่อยๆ แต่สำหรับส่วนร่วมมันไม่เมกเซนส์ที่เราจะไม่ปรับตัว

    ภิญโญ: ผมสังเกตอย่างหนึ่ง คือเวลาของแต่ละคนบนเวทีนี้ไม่เท่ากัน เป็นเวลาที่เป็นรูปธรรม คิดใส่นาฬิกาอะไรครับ

    ณภัทร: แอปเปิลวอทช์ครับ

    ภิญโญ: ซื้อมาเท่าไหร่ครับ

    ณภัทร: หยิบของแม่มาครับ (หัวเราะ) ก็ราคาประมาณหลักหมื่นครับ

    ภิญโญ: ทำไมถึงเลือกแอปเปิลวอทช์ครับ

    ณภัทร: เพราะวันนี้บังเอิญชาร์จแบตมาเมื่อคืน ปรกติจะไม่ใส่ เพราะชอบลืมชาร์จแบต แต่บางทีก็ใส่มา เพราะเป็นคนชอบให้มีอะไรอยู่บนข้อมือ

    ภิญโญ: อาจารย์อาร์มใส่นาฬิกาอะไรครับ

    อาร์ม: ไม่ได้ใส่ครับ ดูเวลาจากไอโฟนครับ

    ภิญโญ: ดี้ดูเวลาวิธีไหนครับ

    ฟูอาดี้: โทรศัพท์เหมือนกันครับ

    ภิญโญ: เพื่อความยุติธรรม ของผมยังเป็นนาฬิกาไขลานอยู่เลย มันบอกรุ่นของเวลาว่าใครใช้นาฬิกาแบบไหน แล้วก็หาเรื่องจบรายการ ว่าหมดเวลาแล้วครับ