ThaiPublica > เวทีปัญญาสาธารณะ > ThaiPublica Forum 2018: “ธีระพล ถนอมศักดิ์ยุทธ” The 100 – Year Life กับแกนหลักของ Future of Job

ThaiPublica Forum 2018: “ธีระพล ถนอมศักดิ์ยุทธ” The 100 – Year Life กับแกนหลักของ Future of Job

14 ธันวาคม 2018


สำนักข่าวออนไลน์ไทยพับลิก้าได้ร่วมกับสำนักพิมพ์โอเพ่นบุ๊กส์จัดเวที ThaiPublica Forum 2018 เรื่อง“The 100-Year Life: ชีวิตศตวรรษ” ในโอกาสครบครบรอบ 7 ปีและก้าวสู่ปีที่ 8 ของไทยพับลิก้า และในโอกาสที่หนังสือ “The 100-Year Life” ได้รับการแปลและจัดพิมพ์เป็นภาษาไทยในชื่อ “ชีวิตศตวรรษ” โดยสำนักพิมพ์โอเพ่นบุ๊กส์ เมื่อวันพุธที่ 12 ธันวาคม 2561

วงเสวนามีนักคิด นักวิชาการ และนักธุรกิจ ผู้ที่สนใจประเด็นการมีชีวิตยืนยาวจากหลากหลายวงการ ได้แก่ นายภิญโญ ไตรสุริยธรรมา นักคิด นักเขียน บรรณาธิการสำนักพิมพ์โอเพ่นบุ๊กส์, ดร.ศุภวุฒิ สายเชื้อ ที่ปรึกษาสถาบันวิจัยกลุ่มธุรกิจการเงินเกียรตินาคินภัทร, ดร.ธีระพล ถนอมศักดิ์ยุทธ หัวหน้าคณะผู้บริหารด้านนวัตกรรมและความยั่งยืน บริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) (TRUE), นพ.สุรพงษ์ สืบวงศ์ลี อดีตรองนายกรัฐมนตรี, ดร.ณภัทร จาตุศรีพิทักษ์ ผู้ก่อตั้งและซีอีโอ Siametrics Consulting, ดร.อาร์ม ตั้งนิรันดร คณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, นายฟูอาดี้ พิศสุวรรณ นักศึกษาปริญญาเอก สาขาวิชาความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ มหาวิทยาลัยออกซ์ฟอร์ด และปาฐกถาพิเศษปิดท้าย โดย คุณหญิงจำนงศรี หาญเจนลักษณ์ นักธุรกิจเพื่อสังคม ผู้ก่อตั้ง บริษัท ชีวามิตร วิสาหกิจเพื่อสังคม จำกัด ผู้สนใจความหมายของการมีชีวิตระยะสุดท้าย

  • ThaiPublica Forum 2018 : “ภิญโญ ไตรสุริยธรรมา” กับ “The 100-Year Life” – เราจะมีชีวิตอยู่ 100 ปีอย่างไร?
  • ThaiPublica Forum 2018 : “ศุภวุฒิ สายเชื้อ” The 100-Year Life – จะเป็นคนแก่ที่ยังหนุ่มได้อย่างไร
  • ThaiPublica Forum 2018 : The 100 – Year Life “สุรพงษ์ สืบวงศ์ลี” แนะอยู่อย่างไรให้มีความสุขหากชีวิต 100 ปี
  • ดร.ธีระพล ถนอมศักดิ์ยุทธ หัวหน้าคณะผู้บริหารด้านนวัตกรรมและความยั่งยืน บริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน)

    Unlearn, Relearn ไม่ยึดติด “อีโก้” และความเชื่อในอดีต

    ดร.ธีระพล ถนอมศักดิ์ยุทธ หัวหน้าคณะผู้บริหารด้านนวัตกรรมและความยั่งยืน บริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) กล่าวในหัวข้อ “Future of Job:Working in the Age of  Longevity” ว่า ในอดีตคนวางแผนชีวิตทั้งด้านการศึกษา การงาน การเงิน สร้างอนาคตไว้กับสมมติฐานที่คนรุ่นผู้ใหญ่กำหนดขึ้น แต่ปัจจุบันบริบทของสังคมโลกและไทยได้เปลี่ยนแปลงไปอย่างสินเชิงด้วยเทคโนโลยีและสิ่งแวดล้อมใหม่ๆ ทำให้คนรุ่นใหม่ตั้งสมมติฐานออกแบบวางแผนชีวิต สร้างอนาคตขึ้นมาด้วยตัวเอง

    “ช่วงก่อนหน้านี้เราเอ็นจอยกับสมมติฐานที่มันอายุยาวพอ หรือเรียกว่า business life plan ธุรกิจหนึ่งอยู่ได้ 50-60 ปี เราฝากชีวิตไว้กับธุรกิจนี้ ทำงานจนเกษียณ แต่วันนี้ด้วยเทคโนโลยีและสิ่งแวดล้อมที่เปลี่ยนไปทำให้ life plan ของงานสมัยนี้มันเหลือแค่ประมาณ 10 ปี เป็นเพราะมีคนรุ่นใหม่ตั้งสมมติฐานใหม่ขึ้นมากำหนดชีวิตด้วยตัวเขาเอง”

    ดร.ธีระพลกล่าวว่า คนที่กำหนดกติกาตั้งสมมติฐานใหม่ในสังคมขึ้นมาถูกเรียกว่า “สตาร์ทอัป”  คนกลุ่มนี้ส่วนใหญ่เป็นคนหนุ่มสาว มีวิธีการทำงานที่เกี่ยวกับ 3 เรื่องหลัก คือ problem, solution และ market fit  พวกเขาวิ่งหาโอกาสใหม่ๆ จากปัญหาใหม่ที่เกิดขึ้น (new pain point) แล้วหา solution เพื่อมาแก้ปัญหา ที่สำคัญมากกว่านั้น ยังหา market ได้อีกด้วย

    นอกจากนี้ คนกลุ่มดังกล่าวมักจะมีลักษณะ “ทำน้อยได้มาก” ใช้คนทำงานน้อย แต่ได้งานปริมาณงานมาก เพราะเป็นคนประเภทมัลติฟังก์ ชัน ทำงานได้หลายอย่างในคนเดียว ขณะเดียวกันยังเป็นพวก “ยืนบนไหล่ของยักษ์”  ไม่ต้องไปสร้างโรงงาน เป็นธุรกิจตัวเบา ยกตัวอย่างเช่นยืนอยู่บนไหล่ยักษ์ในธุรกิจเทเลคอม ทำแอปพลิเคชันจนมีรายได้เป็นของตัวเอง ซึ่งคนเหล่านี้กำลังเข้ามามีผลกระทบกับชีวิตคนจำนวนมาก

    “คนรุ่นก่อนทำงานบนสมมติฐานเดิมที่ว่ามี pain point ตรงนี้ แล้วแก้แบบนี้ แต่คนรุ่นใหม่เขาไปหาปัญหาใหม่ที่เกิดขึ้นจากโครงสร้างที่มันเปลี่ยนไปหมดแล้ว เช่น การเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ (aging society), อยู่ในเมืองที่มีความเปลี่ยนแปลง (urbanization) หรือเทรนด์ต่างๆ ที่เกิดขึ้นมาใหม่เต็มไปหมด”

    คนเหล่านี้เขาจึงวิ่งหาโอกาสใหม่ๆ พูดกันเยอะมากเรื่อง 4.0 หา solution เพื่อมาแก้ปัญหา ที่สำคัญมากกว่านั้นเขายังหา market ได้ด้วย เพราะฉะนั้น พอเขาทำ business model ใหม่ขึ้นมา มันก็เลยมา disrupt ธุรกิจปัจจุบัน เพราะโลกมันเปลี่ยนแปลง

    หรือตัวอย่างทีมงานของผม มีคนจบ user experience มีหน้าที่ไปดูว่าลูกค้ารู้สึกยังไงเวลาเห็นผลิตภัณฑ์ หรืออีกคนหนึ่งเป็น social incubator  บางคนก็จบด้านการเขียนซอฟต์แวร์ แต่ปรากว่าบางโปรแกรมเขาเรียนด้วยเอง เพราะในมหาวิทยาลัยยังไม่ได้สอน

    ดร.ธีระพลมองว่า จากปัจจัยและเหตุผลดังกล่าวข้างต้น คนยุคปัจจุบันจึงไม่ควรยืนอยู่บนสมมติฐานที่คนอื่นกำหนดอีกต่อไป แต่สิ่งต้องคิดและทำก็คือจะเลี้ยงดูตัวเองอย่างไรหากมีอายุยาวยืนถึง 100 ปี  ซึ่งขั้นแรกคือ “ต้องไม่ทำให้ตัวเองเป็นภาระ”  ไม่ไปรบกวนคนรุ่นต่อไป

    สองคือต้องเปลี่ยนการเรียนรู้ ไม่ยึดติดอยู่กับ “อีโก้” หรือความเชื่อในอดีตของตัวเอง แล้วพร้อมที่จะเรียนรู้วิธีการที่เรียกว่า “unlearn” และ “relearn” สามารถไปเรียนรู้กับเด็กรุ่นใหม่ได้ ไปให้เด็กช่วยสอนความรู้ใหม่ๆ ได้ เช่น ให้เด็กช่วยสอนเรื่องบล็อกเชนว่าคืออะไร

    ในอดีตเราอยู่บนสมมติฐานของคนอื่นที่เขาวางแผนให้เรา เราใช้เวลาเรียนหนังสือถึง 18 ปี กว่าจะจบปริญญาตรี แต่ลูกเราจะอยู่ในยุคที่ใช้สมมติฐานยาวนานกว่ายุคเราไม่ได้แล้ว เขาต้องเปลี่ยนการเรียนรู้ โดยไม่ต้องใช้เวลาถึง 18 ปีเพื่อเรียนหนังสือ

    “ผมเพิ่งสอนการบ้านลูก ม.2 เรื่องดิน หิน แร่  แต่ลูกถามผมกลับว่าหินชั้น หินตะกอน พ่อเอาไปใช้ทำงานอะไรบ้างในปัจจุบัน เขาเริ่มตั้งคำถามกลับมาหาเราว่าสิ่งที่เขาเรียนมันเอาไปใช้อะไร เพราะฉะนั้นช่วงเวลา 18 ปีที่เราเรียนหนังสือ เราถูกยัดสิ่งต่างๆ มามากมายใส่สมอง แต่เราไม่เคยเรียนรู้วิธีการที่เรียกว่า unlearn และ relearn”

    แล้วสิ่งหนึ่งที่ทำให้เรา relearn ไม่ได้คืออีโก้ เราสามารถไปเรียนรู้กับเด็กได้มั้ย สามารถไปถามเด็กได้มั้ยว่าช่วยมาสอนพี่หน่อยว่าบล็อกเชนคืออะไร แต่การที่เราเรียนรู้ไม่ได้เพราะเรามีความเชื่อของเราในอดีตว่าเราเป็นรุ่นที่ทำสิ่งต่างๆ มาตลอด

    ดร.ธีระพลบอกว่า ปัจจุบันตนดูแลงานด้านความยั่งยืนและด้านนวัตกรรมนองค์กร ซึ่งในส่วนงานด้านนวัตกรรมมีการมองและวิเคราะห์เรื่อง Future of Job เพื่อจะบอกว่างานในอนาคตจะเปลี่ยนไปเป็นแบบไหน อย่างไรก็ดี จากการทำวิจัยพบว่า งานหลายอาชีพกำลังหายไป แต่เด็กในมหาวิทยาลัยยังไม่รู้ หรือกว่าจะรู้และมีผลกระทบมาถึง ก็เรียนจบไปแล้ว

    ด้วยเหตุนี้จึงตั้งแพลตฟอร์มเพื่อศึกษา Future of Job ที่ภาคเอกชนสามารถรู้ได้ว่าอีก 5 ปีข้างหน้าอยากได้คนประเภทไหนมาทำงาน เหมือนเป็นแพลตฟอร์ม pre-booking เด็ก แต่ไม่ถึงกับทำนายได้ว่าอาชีพไหนจะมาหรืออาชีพไหนไม่มา

    “การเรียนหาความรู้ด้วยตัวเอง”

    อย่างไรก็ตาม ดร.ธีระพลเห็นว่า  Future of Job จะอยู่รอดได้ ระบบการศึกษาต้องเปลี่ยนจากเรียนท่องจำ เป็น “การเรียนหาความรู้ด้วยตัวเอง” โดยมี  4 เรื่องที่ต้องทำ คือ ตั้งคำถาม, ค้นหาคำตอบ, ลงมือทำ, แล้วกลับมาถกเถียงกัน เด็กต้องเรียนแบบนี้ ซึ่งมหาวิทยาลัยก็ต้องปรับตัว ปรับ business model เช่นกัน

    ปัจจุบันมหาวิทยาลัยประสบปัญหานักศึกษาขาดแคลน  ส่วนหนึ่งเป็นเพราะเด็กรุ่นใหม่เริ่มไม่เชื่อในการจบปริญญาเอก ปริญญาโท แม้แต่รอให้จบปริญญาตรีอาจยังรอไม่ไหว ดังนั้นมหาวิทยาลัยก็ต้องปรับตัว ปรับ business model  เช่นเดียวกันกับคนทำงานที่ต้องปรับตัว

    การศึกษาในอดีตเราถูกสอนมาแบบฟังก์ชันคือเรียนวิศวะ เรียนสถาปัตย์ เรียนบัญชี เท่านั้นไม่พอยังเอาคนประเภทเดียวกันมาอยู่ด้วยกันอีกในที่ทำงาน เป็นไซโลแบบเดิม ขณะที่ตัวผมใช้เวลาเริ่มเรียนรู้ชีวิตจริงนานมาก แต่เด็กรุ่นใหม่เขาเรียนรู้ล้ม เรียนรู้เริ่ม  เรียนรู้ผิดพลาดก่อนคนรุ่นเก่านานมาก  เพราะฉะนั้น สมมติฐานในยุคใหม่มันเปลี่ยนไปมากแล้ว วิธีการทำงานในสังคมยุคปัจจุบันจึงกำลังมองหาอะไรที่คล่องตัว ปรับตัวเร็ว เป็นมัลติฟังก์ชัน ทำอะไรได้หลายอย่าง  ซึ่งสิ่งสำคัญก็คือเราต้องปรับตัว

    ดร.ธีระพลยังกล่าวว่า แม้ปัจจุบันงานหลายอย่างจะถูกเทคโนโลยี disrupt แต่อย่าไปกลัวว่ามันจะมาทำลายงาน เพราะมีงานศึกษาในต่างประเทศพบว่าเทคโนโลยีสามารถสร้างงานในเซกเตอร์ใหม่ๆ ได้  เช่น ภาคเกษตรกรรม สมัยก่อนต้องใช้คนจำนวนมาก  แต่ต่อมาลดจำนวนคนลง ทว่าปริมาณไม่ได้น้อยลง แถมยังสร้างงานอื่นๆ มากมาย

    “มีงานศึกษาต่างประเทศบอกว่าเทคโนโลยีจริงๆ แล้วสร้างงานถึง 19,263 งาน  แต่ทำลายงานที่เอไอทำแทนได้หรือหุ่นยนต์ทำแทนได้แค่ 3,500 กว่างานเท่านั้นเอง  เพราะฉะนั้น การที่เราจะขยับตัวเองไปจุดที่มันมีงาน มันเป็นความท้าทาย”

    นอกจากนี้ยังมีงานศึกษาที่ระบุว่า งานที่น่าจะอยู่รอดปลอดภัยในอนาคต โดยเฉพาะในเซกเตอร์ที่เป็นประเทศกำลังพัฒนาอย่างไทย ได้แก่ งานประเภท customer service หรือ customer interaction ต่างๆ หรืออาชีพดูแลผู้สูงอายุ

    พร้อมกันนี้ ในงานศึกษายังระบุถึงประเทศไทยด้วยว่า คนที่จะถูก disrupt มากที่สุดคือคนอายุช่วง 40-50 ปี เพราะคนที่อายุต่ำกว่า 40 ปียังมีทักษะในการ relearn ได้อยู่  แต่หากอายุ 50-60 ปีขึ้นไป เขาเรียกว่ามีพอร์ตโฟลิโอดี จึงเอาตัวรอดได้ ฉะนั้นคนอายุตรงกลางจะลำบาก แต่อย่างไรก็ดี ให้กลับไปดูงานของตนเอง หากยังทำเหมือนเดิมทุกวัน ก็เตรียมตัว unlearn และ relearn

    ดร.ธีระพลสรุปว่า ทุกวันนี้เรากำลังอยู่ในยุค Future of Job ที่มี 4 เรื่องคือ ง่ายขึ้น, เร็วขึ้น, ฉลาดขึ้น, และ(ต้นทุน)ถูกลง ประเด็นสำคัญคือเราจะปรับตัวอยู่อย่างไร ซึ่งมีทางเลือกอยู่ 4 ทางคือ 1. เข้าใจจังหวะว่าโลกกำลังหมุนแบบไหนแล้วหมุนตาม 2. บอกทุกคนในโลกให้หมุนช้าลง เพื่อตัวเราจะได้ปรับตัวทัน 3.เปรียบเทียบกับคนอื่นที่ยังด้อยพัฒนากว่าเรา 4. อยู่เฉยๆ ไม่ต้องปรับตัวทำอะไรเลย

    ถ้าเปรียบเทียบเป็นการกระโดดเชือก มีคนถือเชือกอยู่สองคน คนหนึ่งคือเด็กชายเทคโนโลยี อีกคนหนึ่งคือเด็กหญิงสังคม ทั้งสองคนกำลังหมุนเชือกอยู่ แล้วเรายืนอยู่ข้างนอกเพื่อจะเข้าไปในวงเชือกนั้น แต่มีผู้เล่นหลายประเทศที่เขากำลังกระโดดเชือกกันอยู่ เราบอกว่าเราอยากไปเออีซี หรืออยากไปในระดับโลก และอยากกระโดดไปในวงเชือกนั้น

    คำถามคือ ไม่ใช่ว่าเราอยากทำหรืออยากไปหรือเปล่า  แต่เราต้องถามคนในวงเชือกด้วยว่าเขาอยากให้เราเข้าไปร่วมวงด้วยหรือเปล่า เพราะถ้าเราปรับตัวไม่ได้แล้วเข้าไปในวง คนที่เขากำลงกระโดดเชือกอยู่อาจจะแพ้ทั้งวง  เพราะฉะนั้นวันนี้เรามีโอกาส มีทางเลือกอยู่ 4 ทางคือ 1. เข้าใจจังหวะว่าโลกหมุนแบบไหน กำลังไปแบบไหน  2. บอกให้ทุกคนในโลกให้หมุนช้าลง ปรับตัวช้าๆหน่อย 3. หาวงเชือกใหม่ เพราะวงเก่าเก่งเกินไป แล้วไปเปรียบเทียบกับประเทศที่ยังพัฒนาน้อยกว่าเรา และ 4. อย่าไปกระโดดเชือกเลย อยู่เฉยๆ

    “อย่างไรก็ดี ผมเพิ่งมีโอกาสไปประเทศฮ่องกง ก่อนที่จะมาพูดในงานครั้งนี้ เจอโควตหนึ่งเขียนติดอยู่ที่เรือเป็นภาษอังกฤษ แปลเป็นไทยได้ว่า “เราสามารถปรับใบเรือเพื่อจะให้ไปถึงเป้าหมายได้ แต่เราเปลี่ยนกระแสลมไม่ได้ เราต้องปรับที่ตัวเรา” ดร.ธีระพลกล่าวสรุป