ThaiPublica > เวทีปัญญาสาธารณะ > ThaiPublica Forum 2018 : “ศุภวุฒิ สายเชื้อ” The 100-Year Life – จะเป็นคนแก่ที่ยังหนุ่มได้อย่างไร

ThaiPublica Forum 2018 : “ศุภวุฒิ สายเชื้อ” The 100-Year Life – จะเป็นคนแก่ที่ยังหนุ่มได้อย่างไร

13 ธันวาคม 2018


สำนักข่าวออนไลน์ไทยพับลิก้าได้ร่วมกับสำนักพิมพ์โอเพ่นบุ๊กส์ได้จัดเวที ThaiPublica Forum 2018 เรื่อง“The 100-Year Life: ชีวิตศตวรรษ” ในโอกาสครบครบรอบ 7 ปีและก้าวสู่ปีที่ 8 ของไทยพับลิก้าและในโอกาสที่หนังสือ “The 100-Year Life” ได้รับการแปลและจัดพิมพ์เป็นภาษาไทยในชื่อ “ชีวิตศตวรรษ” โดยสำนักพิมพ์โอเพ่นบุ๊กส์ เมื่อวันพุธที่ 12 ธันวาคม 2561

วงเสวนามีนักคิด นักวิชาการ และนักธุรกิจ ผู้ที่สนใจประเด็นการมีชีวิตยืนยาวจากหลากหลายวงการ ได้แก่นายภิญโญ ไตรสุริยธรรมา นักคิด นักเขียน บรรณาธิการสำนักพิมพ์โอเพ่นบุ๊กส์, ดร.ศุภวุฒิ สายเชื้อ ที่ปรึกษาสถาบันวิจัยกลุ่มธุรกิจการเงินเกียรตินาคินภัทร, ดร.ธีระพล ถนอมศักดิ์ยุทธ หัวหน้าคณะผู้บริหารด้านนวัตกรรมและความยั่งยืน บริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) (TRUE), นพ.สุรพงษ์ สืบวงศ์ลี อดีตรองนายกรัฐมนตรี, ดร.ณภัทร จาตุศรีพิทักษ์ ผู้ก่อตั้งและซีอีโอ Siametrics Consulting, ดร.อาร์ม ตั้งนิรันดร คณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, นายฟูอาดี้ พิศสุวรรณ นักศึกษาปริญญาเอก สาขาวิชาความสัมพันธ์ ระหว่างประเทศ มหาวิทยาลัย อ๊อกซฟอร์ด และปาฐถกาพิเศษปิดท้าย โดย คุณหญิงจำนงศรี หาญเจนลักษณ์ นักธุรกิจเพื่อสังคม ผู้ก่อตั้ง บริษัท ชีวามิตร วิสาหกิจเพื่อสังคม จำกัด ผู้สนใจความหมายของการมีชีวิตระยะสุดท้าย

  • ThaiPublica Forum 2018 : “ภิญโญ ไตรสุริยธรรมา” กับ “The 100-Year Life” – เราจะมีชีวิตอยู่ 100 ปีอย่างไร?
  • ThaiPublica Forum 2018: “ธีระพล ถนอมศักดิ์ยุทธ” The 100 – Year Life กับแกนหลักของ Future of Job
  • ThaiPublica Forum 2018 : The 100 – Year Life “สุรพงษ์ สืบวงศ์ลี” แนะอยู่อย่างไรให้มีความสุขหากชีวิต 100 ปี
  • ดร.ศุภวุฒิ สายเชื้อ ที่ปรึกษาสถาบันวิจัยกลุ่มธุรกิจการเงินเกียรตินาคินภัทร

    Healthy Aging ต้องเป็นคนแก่ที่ยังหนุ่ม

    ดร.ศุภวุฒิ สายเชื้อ ที่ปรึกษาสถาบันวิจัยกลุ่มธุรกิจการเงินเกียรตินาคินภัทร พูดในหัวข้อ Get Ready for 100 – Year Life : How to Stay Young?” เริ่มด้วยการกล่าวถึงคำว่า Healthy Aging โดยให้ความหมายของ Health Aging ว่า คือ ต้องการให้เมื่อแก่แล้ว ร่างกายไม่เสื่อมโทรม มีสุขภาพดี ทั้งนี้ โดยทั่วไปแล้วคนปกติตั้งแต่อายุ 40 ปีขึ้นไปคุณภาพชีวิตหรือสุขภาพจะเริ่มลดลง ความแข็งแรงจะเริ่มอ่อนแอ แต่หากสามารถทำให้ขยายช่วงอายุที่มีคุณภาพดีออกไปคือ แข็งแรงไปเกือบปีสุดท้าย ก็จะเห็นว่าช่วงที่สุขภาพไม่ดีจะสั้นลง

    “ผมเองไม่มีความรู้ด้านสุขภาพมาก่อนเลย เรียนแต่เศรษฐศาสตร์มาตั้งแต่อายุ 15 ปี แต่พออายุ 60 ปี เกษียณจากบริษัทหลักทรัพย์ภัทร ขอแบ่งเวลามาดูแลสุขภาพ เพราะไม่รู้จักตัวเองเลย ลองนึกภาพดูว่าเป็นกรรมการผู้จัดการบริษัท เป็นซีอีโอ ไม่เคยรู้จักบริษัทตัวเอง ไม่เคยรู้จักสุขภาพตัวเองเลย ร่างกายทำงานอย่างไรไม่เคยรู้เลย ทุกอย่างต้องพึ่งพาคนอื่น ไปถามหมอไปถามพยาบาล ร้านขายยา เวลาไม่สบาย”

    “ผมเปลี่ยนใจขอมาดูเรื่องนี้เพราะ หนึ่ง ไม่อยากทรมานตอนแก่ สอง ทรมานแล้วเป็นภาระคนอื่นด้วย ลูกหลานเป็นภาระหมดเลย โดยเฉพาะเรารู้ว่าทั้งโลกกำลังเข้าสู่สังคมคนแก่ aging society ประเทศไทยก็เหมือนกัน ภาระตรงนี้เป็นภาระใหญ่มากสำหรับเศรษฐกิจไทย ถ้าคนแก่แล้วอ่อนแอ ต้องเข้ารักษาพยาบาล”

    “ผมไม่ต้องการ 30 บาทรักษาทุกโรค ไม่อยากเป็นสักโรคเดียว ก็เลยต้องพยายามหาข้อมูล หาด้วยตัวเองหาแบบคนธรรมดา ค่อยๆ อ่านไปทีละตัวสองตัว เพราะต้องบอกว่าตอนเรียนมัธยมไม่สนใจเรียนชีววิทยาเลย ตอนนี้ก็เลยลำบากเล็กน้อย”

    ดร.ศุภวุฒิกล่าวว่า เท่าที่ได้รับทราบข้อมูลมา เราต้องเริ่มต้นก่อนว่า บรรทัดฐานของเราคืออะไร โดยทั่วไปมีการคำนวณ Life Expectancy at Birth หรือ อายุโดยเฉลี่ยของคนที่คาดว่าจะมีชีวิตอยู่ไว้อยู่แล้ว

    สิ่งที่สนใจมากคือ Health Adjusted Life Expectancy หรือ HALE คือ มีอายุที่ยืน แต่อายุที่ยืนมีสุขภาพดีแค่ไหน ก็มีข้อมูลทั้งของประเทศไทยและข้อมูลของประเทศที่ดีที่สุดในโลก คือ คนญี่ปุ่นอายุยืนที่สุดในโลก แต่คนที่อายุยืนแบบสุขภาพดีที่สุดในโลก คือ คนสิงคโปร์

    “ผมดูตรงนี้เพราะผมต้องการที่จะดูว่า บรรทัดฐานที่เราจะก้าวข้ามไปอยู่ตรงไหน อย่างบรรทัดฐานที่ดีที่สุดในโลกคือ เป็นผู้ชายสิงคโปร์ เป็นผู้หญิงสิงคโปร์ที่มีสุขภาพยาวนานที่สุด ผมก็ดีใจเพราะผมอายุ 60 ปีแล้ว ยังมีสุขภาพดีอีก 10 ปีเท่านั้น ถือว่าไม่เยอะ ทำอย่างไรจะให้ได้มากกกว่านั้น”

    สำหรับคนที่มีอายุ 50-60 ปีแล้ว เมื่อเปรียบเทียบว่า expectancy ของอายุควรจะเป็นเท่าไรและ expectancy ของอายุที่มีสุขภาพดีควรเป็นเท่าไร แล้ว พบว่าจะมีอายุที่เหลือ 10 ปี เหมือนกัน ดูแล้วไม่ค่อยรู้สึกดีเท่าไร

    แต่เราต้องเริ่มต้นจากจุดนี้ ถ้าเราเหลือเวลาอีกไม่กี่ปี โดยดูว่าอีก 10 ปีวิทยาศาสตร์จะช่วยให้อายุยืนได้เท่าไร มีอายุยืนที่มีสุขภาพดีเท่าไร

    บทวิเคราะห์ของมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด ที่เก็บข้อมูลจากการดำเนินชีวิต ของพยาบาล และบุรุษที่ทำงานด้านสุขภาพ ซึ่งสรุป ถ้าทำตามกฎเหล็ก 5 ข้อ อายุจะยืนขึ้นมาก อายุยืนได้อีก 10 กว่าปี

    สิ่งนี้เป็นเรื่องสำคัญ เพราะเป็นการเก็บข้อมูลยาวนาน 20 กว่าปี ซึ่งมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ดคงไม่ทำการศึกษาแบบไม่มีพื้นฐาน ไม่มีหลักการ
    หลักการของมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด คือ กินอาหารให้ถูกต้อง ออกกำลังกายอย่างน้อยวันละครึ่งชั่วโมง รักษาน้ำหนักให้ดัชนีมวลกาย (BMI) อยู่ระหว่าง 18.5-24.9 ซึ่งตรงนี้ยากที่สุด ต้องลดอาหารลงไปเยอะ ดื่มไวน์วันละไม่เกิน 2 แก้ว ทั้งผู้หญิงและผู้ชาย และห้ามสูบบุหรี่เด็ดขาด อันนี้เป็นสูตร

    “แต่สำหรับผม 5 ข้อนี้ยังขาดอีกอย่างหนึ่ง คือ นอนให้พอ เรื่องนอนจะต้องเป็นอีกเรื่องหนึ่งที่ต้องทำให้ได้ โดยหลักจะมี อาหาร ออกกำลังกาย นอน ข้อสุดท้าย ยาวิเศษ มียาวิเศษไหมที่จะทำให้อายุยืนสุขภาพดี ก็ต้องบอกว่า เริ่มมีแล้ว”

    ส่วนใหญ่มักจะบอกว่ากันว่า ออกกำลังกายแล้วกินเยอะได้ วิ่ง 5 กิโลเมตร แล้วกินได้เต็มที่ ซึ่ง ดร.ศุภวุฒิกล่าวว่า ผิด เพราะมีข้อมูลมาแล้วว่าวิ่ง 10 กิโลเมตรใช้พลังงานไปเพียง 2200 กิโลแคลอรีเท่านั้น กินข้าวเช้าข้าวกลางวัน กินข้าวมันไก่ ข้าวกะเพรา ข้าวเหนียวเปียก แคลอรีกลับมาได้สบาย 2200 กิโลแคลอรี อย่านึกว่าจะลดน้ำหนักด้วยการออกกำลังกาย จะลดน้ำหนักต้องอดอาหารอย่างเดียว ออกกำลังกายเพื่อให้ร่างกายแข็งแรง ไม่ใช่ลดอาหาร ผมเองผมลองวิ่ง วิ่งแค่ 7-8 กิโลเมตร ลดได้แค่ 500-600 กิโลแคลอรีเอง

    สำหรับการวิ่ง ถ้าวิ่งได้วันละครึ่งชั่วโมง อาทิตย์หนึ่งวิ่งได้ 4 ครั้ง วิ่งได้ 20-25 กิโลเมตรต่อสัปดาห์ อายุจะยืนไป 3 ปีครึ่ง แต่อายุยืนอย่างสุขภาพแข็งแรง บทวิเคราะห์หลายแห่งก็สรุปในแนวนี้ และที่บอกว่าวิ่งแล้วหัวเข่าเจ็บ เมื่อก่อนผมวิ่งหัวเข่าเจ็บ แต่ตอนนี้วิ่งแล้วไม่เจ็บเลย

    มีหนังสือ Born to Run และบทวิเคราะห์ Born to Run ของอาจารย์ Daniel Lieberman ที่ฮาร์เวิร์ด บอกว่าวิ่งเท้าเปล่าดีที่สุด และวิ่งโดยใช้รองเท้าที่เบาที่สุดจะดีกว่าใช้รองเท้าที่หนักที่สุด การใช้ cushion เยอะจะบาดเจ็บที่สุด

    ทางด้านการนอน นอนหลับจะต้อง 7 ชั่วโมงขึ้นไป ส่วน deep sleep ต้อง 1 ชั่วโมง 45 นาที และต้องเป็นหลับฝัน มี rapid eye movement (REM) อีก 1 ชั่วโมง 45 นาที จึงจะเป็นการนอนที่ครบถ้วน ถ้าไม่ครบถ้วนจะเป็นโรคทุกอย่าง โรคอ้วน โรคเบาหวาน โรคอัลไซเมอร์ การนอนจึงสำคัญมากๆ

    อาจารย์ที่มหาวิทยาลัยเบิร์กลีย์ ชื่อ วอล์กเกอร์ เขียนหนังสือออกมาว่า การนอนมีความสำคัญมากๆ ผมจึงพยายามนอนให้มาก วันไหนที่ deep sleep ไม่ถึงชั่วโมงครึ่งแทบทรงตัวไม่ได้แล้ว เพราะการนอนนี้จะไปนอนชดเชยวันหลังไม่ได้ ต้องพยามนอน deep sleep หลักการคือ เมื่อมี deep sleep นั้น ร่างกายจะมีการปัดกวาด สิ่งเรียกว่า amyloid plaque ทำให้ไม่เป็นโรคอัลไซเมอร์ เพราะร่างกายจะมีเมือก amyloid plaque ขึ้นสมองหากปล่อยไว้เมือกนั้นจะทำให้เป็นโรคอัลไซเมอร์ amyloid plaque หรือหินปูนในสมองนั้นต้องปัดกวาดทุกคืน

    ดร.ศุภวุฒิกล่าวถึงยาวิเศษ ซึ่งในโลกปัจจุบันมีการคิดคค้นพัฒนาหลายอย่างมาก แต่เพื่อไม่ให้กินยาผิดพลาด จึงเริ่มต้นจากรางวัลโนเบล โดยในปี 2016 มีการให้รางวัลโนเบลแก่โปรเฟสเซอร์คนญี่ปุ่น ชื่อ Yoshinori Ohsumi เพราะค้นพบ autophagy แปลว่า self-cleaning คือการที่เซลล์คนเราปัดกวาด ทำความสะอาด ฟื้นฟูให้แข็งแรงขึ้นมาด้วยตัวเองโดยการอดอาหาร กลไกของมนุษย์เวลาอดอาหาร เวลาไม่มีกิน ร่างกายสั่งว่า ดูแลร่างกายให้แข็งแรงจะได้อายุยืน จะได้แพร่พันธุ์ได้ การไปกดดันร่างกายด้วยการอดอาหาร ก็เหมือนกับการวิ่ง วิ่งหาอาหาร หากอยากตายเร็วก็อยู่สบายๆ กินแล้วนอน 24 ชั่วโมงไม่ต้องออกกำลังกาย รับรองตายเร็วแน่นอน แต่หากจะอายุยืนต้องอดอาหารนิดๆ นอนเยอะๆ และต้องวิ่ง

    ข้อดีคือไม่ใช้เงินเยอะ อาหารก็อด ผมตอนนี้กินเอาหารวันละ 2 มื้อ และใช้รองเท้าแบบบาง ในแง่หนึ่งอายุขนาดนี้ก็ไม่ได้เใช้เงินเท่าไร

    แต่ถ้าไม่อยากทำอย่างนั้น โปรเฟสเซอร์ 2 คนคือ David Sinclair กับ Leonard Pershing Guarente ทำการศึกษาเรื่องนี้มากว่า 20 ปี เพราะไม่อยากอดอาหาร และต้องการหาแนวทางอื่น ก็ตั้งคำถามว่าอะไรคือตัวจุดชนวนที่ทำให้เซลล์ดูแลตัวเองจากการอดอาหาร จากการวิ่ง โดยไม่ต้องอดอาหารไม่ต้องวิ่ง เรียกว่า aging pathway ตรงนี้คือ ดูว่า pathway ในการทำให้ anti-aging มี pathway อะไรบ้าง ซึ่งก็ค้นพบแล้ว เท่าที่ทราบที่ผมเห็นมีอยู่ 4 ข้อ ซึ่ง pathway นี้ถูกกระตุ้นโดยใช้ยาบางอย่างกระตุ้นขึ้นมา

      1. Target of Rapamycin (TOR) หลักการ คือ rapamycin เป็นยาที่กินในกรณีมีการปลูกถ่ายอวัยวะแล้วช่วยให้ไม่มีการต่อต้านอวัยวะนั้น แต่ยามีผลข้างเคียงทำให้อายุยืน

      2. ยารักษาโรคเบาหวาน Insulin ACF 3 ก็มีผลข้างเคียงที่กำลังทดลอง

      3. NAD+ ซึ่ง ผมสนใจมาก งานวิจัยของ Sinclair กับ Guarente ดูเรื่องนี้เป็นหลัก คือ โคเอนไซม์ที่กระตุ้นทำให้เกิดการทำงานของยีนที่คิดว่ามีส่วนเกี่ยวข้องกับการแก่ตัว คือ ยีน circuven ที่มี 7 ตัวในเซลล์ทุกเซลล์ ยีน 7 ตัวนี้จะเป็นคล้าย silent regulator สั่งให้ยีนตัวอื่นทำงาน ทำงานให้ไม่เก่ง ทำงานให้ไม่เป็นเบาหวาน แต่ปัญหาของเราคือ NAD+ ซึ่งเป็นตัวที่กระตุ้นยีน circuven นี้ตกต่ำลงไปมากเมื่อเราอายุมากขึ้นเรื่อย และทำให้ circuven ไม่ไปทำงานเมื่อเราแก่ ยาที่มาช่วยกระตุ้น NAD+ คือ Niagen มีการผลิต ขายกันแล้ว ย้ำว่าเป็นการทดลองแบบเบื้องต้น ทำสำเร็จแล้วกับการทดลองกับหนู หนูแข็งแรงขึ้น อายุยืนขึ้น

    “ผมสรุปว่า วิทยาศาตร์กำลังเข้าไปสู่การไขปริศนาของเซลล์เรา เพื่อที่จะบอกว่า เซลล์เราสามารถที่จะ ทำให้ไม่แก่ได้อย่างไร”

    ข้อดีก็คืองานของ Sinclair บอกเราว่า เปรียบเทียบเซลล์เหมือนกับ disket ที่เก็บข้อมูล และจะ transfer ข้อมูลจาก disket ไปที่ไหนก็ตาม ข้อมูลพวกนี้จะไม่สูญหาย เราอย่างไปเข้าใจการ aging เหมือนกับการซีรอกซ์ เพราะการซีรอกซ์ภาพจะจาง แต่อันนี้ไม่ใช่เพราะ information ไม่หาย อยู่ในนั้น เพียงแต่ว่าหัวอ่านคือ NAD กับ circuven เสื่อม ซึ่งหัวอ่านเสื่อมแก้ง่าย แต่ disket ในโครโมโซมหาย แก้ยาก ซึ่งเขามีความหวังมากว่าอันนี้จะเป็นทางออก Sinclair บอกว่า อยากจะเห็นว่าคนมีอายุถึง 150 ปี โดยที่อายุ 140 ปี ยังเล่นเทนนิสอยู่เลย

    ถ้าตอนนี้จะมีเงินพอหรือไม่ ผมไม่ทราบ แต่ถ้าคิดในหลักการของนักการเงิน ถ้าคุณทำงานนานเท่าไร พอร์ตลงทุนก็เสี่ยงขึ้นได้มากเท่านั้น โดยทั่วไปเมื่อเกษียณอายุ พอร์ตลงทุนก็เป็นพอร์ต conservative ต้องมาลงทุนในบอนด์เกือบ 100% แต่ถ้าทำงานถึง 100 ปี ระหว่างนั้นพอร์ตลงทุนยังมีหุ้น 50% ได้ ยังมีบอนด์ 50% ได้หรือหุ้น 60% ก็ได้ พอร์ตจะได้ yield ที่ดีและสร้าง wealth ได้สูงกว่า ลองประมาณการณ์อย่างนี้ว่า จะทำงานอีก 10 ปีพอร์ตลงทุนจะมี net worth เพิ่มขึ้น 10-20 ล้านบาท เพราะฉะนั้นจึงมีคำตอบของตัวเอง

    หากมีอายุมากขึ้น แต่มีสุขภาพดีวามารถทำงานได้แล้วเสี่ยงได้มากขึ้นด้วย

    ประเด็นทั้ง 4 ข้อนี้มี startup กำลังศึกษามากมาย กำลังหาทางออก อย่างเช่น ยา Niagen ราคาแค่พันกว่าบาท จึงไม่ใช่เรื่องยากที่เราจะมีคุณค่าชีวิตได้

    ดูข้อมูลเพิ่มเติม Health presentation-Oct18_ดร.ศุภวุฒิ