สำนักข่าวออนไลน์ไทยพับลิก้าได้ร่วมกับสำนักพิมพ์โอเพ่นบุ๊กส์จัดเวที ThaiPublica Forum 2018 เรื่อง“The 100-Year Life: ชีวิตศตวรรษ” ในโอกาสครบครบรอบ 7 ปีและก้าวสู่ปีที่ 8 ของไทยพับลิก้า และในโอกาสที่หนังสือ “The 100-Year Life” ได้รับการแปลและจัดพิมพ์เป็นภาษาไทยในชื่อ “ชีวิตศตวรรษ” โดยสำนักพิมพ์โอเพ่นบุ๊กส์ เมื่อวันพุธที่ 12 ธันวาคม 2561
วงเสวนามีนักคิด นักวิชาการ และนักธุรกิจ ผู้ที่สนใจประเด็นการมีชีวิตยืนยาวจากหลากหลายวงการ ได้แก่นายภิญโญ ไตรสุริยธรรมา นักคิด นักเขียน บรรณาธิการสำนักพิมพ์โอเพ่นบุ๊กส์, ดร.ศุภวุฒิ สายเชื้อ ที่ปรึกษาสถาบันวิจัยกลุ่มธุรกิจการเงินเกียรตินาคินภัทร, ดร.ธีระพล ถนอมศักดิ์ยุทธ หัวหน้าคณะผู้บริหารด้านนวัตกรรมและความยั่งยืน บริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) (TRUE), นพ.สุรพงษ์ สืบวงศ์ลี อดีตรองนายกรัฐมนตรี, ดร.ณภัทร จาตุศรีพิทักษ์ ผู้ก่อตั้งและซีอีโอ Siametrics Consulting, ดร.อาร์ม ตั้งนิรันดร คณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, นายฟูอาดี้ พิศสุวรรณ นักศึกษาปริญญาเอก สาขาวิชาความสัมพันธ์ ระหว่างประเทศ มหาวิทยาลัยออกซ์ฟอร์ด และปาฐถกาพิเศษปิดท้าย โดย คุณหญิงจำนงศรี หาญเจนลักษณ์ นักธุรกิจเพื่อสังคม ผู้ก่อตั้ง บริษัท ชีวามิตร วิสาหกิจเพื่อสังคม จำกัด ผู้สนใจความหมายของการมีชีวิตระยะสุดท้าย
ทำ 100 ปีให้เป็น Gift ลดความขัดแย้งของตัวเองให้น้อยสุด
คุณหญิงจำนงศรี หาญเจนลักษณ์ นักธุรกิจเพื่อสังคม ผู้ก่อตั้ง บริษัท ชีวามิตร วิสาหกิจเพื่อสังคม จำกัด ผู้สนใจความหมายของการมีชีวิตระยะสุดท้าย กล่าวปาฐกถาพิเศษปิดท้ายการเสวนาในหัวข้อ “Making Longevity a Gift”
คุณหญิงจำนงศรีกล่าวว่า หลังจากได้ฟังทุกท่านในวงเสวนาที่มีอายุแก่กว่าหลายชายคนโตไม่กี่ปี ก็เกิดความอ่อนน้อมถ่อมตนทางปัญญา
“ตัวเองจะมองอยู่เสมอว่าชีวิตเหมือนเพลง มีโน้ตแรก โน้ตสุดท้าย หากเพลงยาวเกินไป หลายตอนจะไม่ไหว ละครล่ะ อย่างน้อยมีอายุ ยิ่งเดือนนี้อายุ 79 ปี เป็นละครที่แต่ละนาทีเราจะบอกไม่ได้ว่าอะไรที่วางแผนไว้จะเป็นตามนั้น แล้วอะไรที่ว่าแน่ไม่เป็นตามนั้น ฉะนั้นเป็นละครที่เหนื่อย แล้วไม่ใช่ชีวิตที่สบาย ถึงแม้จะเกิดมา ที่ใครว่าเกิดมาในครอบครัวมีสตางค์ มีเกียรติ เปล่านะคะ ชีวิตไม่ได้ราบรื่น พายุเยอะมาก มองแล้ว ละครที่ยาวเกินไป มีดราม่ามากมาย ดูแล้วเหนื่อยสำหรับตัวเอง ร้อยปี ถ้าเป็นไปได้อย่าให้ถึงเลย แต่อย่างที่ได้เรียนรู้มาว่า ในชีวิตมนุษย์เรามีเสาค้ำยัน 3 อย่าง”
จะเล่าให้ฟังถึงครั้งหนึ่งในชีวิต ฝันบ่อย ฝันว่าไปที่ไหนสักแห่ง ไปกับสามี กับลูก ตามเค้าเดินไปที่อื่นแล้วไม่กลับมา เราไม่รู้ว่าเราอยู่ตรงไหน แล้วทำไมนุ่งผ้าซิ่น แต่ในฝันจะตบกระเป๋ากางเกงยีนส์ พบว่าอย่างแรกคือโทรศัพท์ ซึ่งไม่มี หันไปตบข้างซ้ายคือ เงิน ตื่นขึ้นมาด้วยความกลัวความตกใจสุดๆ ฝันแบบนี้อยู่หลายครั้ง อันที่จริงอันนี้คือปัญญา บังเกิดขึ้นมาทำให้เกิดคิดว่า อะไร ทำไมถึงกลัว
ท่านติช นัท ฮันห์ เคยมาอยู่ที่บ้าน 3 คืน คืนที่สาม (เมื่อถึงช่วงนี้คุณหญิงจำนงศรีกล่าวว่า ขออนุญาตแทนตัวเองว่าป้า) ท่านบอกว่า I want you to write about your fear of death เขียนเรื่องความกลัวตาย เราก็มองตาแป๋ว ท่านบอกลงมือเขียนไปเถอะแล้วจะออกมาเอง
เขียนสิ่งที่โผล่ขึ้นมาคือ ฝัน จากฝันอันนี้ รู้เลยว่า ตัวกูตัวฉัน ถูกค้ำยันด้วยอะไรของฉัน มีแต่ของฉัน อะไรของฉัน กระเป๋าซ้าย กระเป๋าขวา โทรศัพท์เป็นสัญญลักษณ์ในการติดต่อกับคนอื่น กระเป๋าซ้ายคือ เงิน มองลึกลงไปคืออำนาจที่จะควบคุมและจัดการ ใช่ไหม
คุณหญิงจำนงศรีกล่าวว่า พอเริ่มเขียนหนังสือ ก็เกิดสิ่งที่สาม คือ ความรู้ของฉัน ขณะนั้นความรู้ไม่มีเลย ไม่รู้จะเดินไปที่ไหน ก้าวไปข้างหน้า ก้าวไปข้างหลัง จะเดินไปซ้าย ขวา วันนี้รู้ชัดเลยว่า มนุษย์เรา ที่ว่าตัวกูประกอบด้วยของกูทั้งนั้น ความสัมพันธ์ของกู อำนาจ ความรู้ของกู แล้วกูอยู่ตรงไหน ไม่มีเลย ถามไปว่า คุณเป็นใคร ตอบมาเป็นอาชีพ เพศของกู ทุกอย่างของกู ตัวคุณอยู่ตรงไหน
“ต้องขอบคุณความแก่ เพราะกว่าจะเห็นอันนี้ได้ชัดเจน อายุมากแล้ว 60 ปีขณะนี้ แต่พอมองเห็น ก็เริ่มมองอนาคตที่จะทำให้ชีวิตเดินอยู่ได้”
คุณหญิงจำนงศรีกล่าวว่า มนุษย์เราเกิดขึ้นมาตั้งแต่แว้แรก ออกมาจากท้องแม่ คือ ความสัมพันธ์ ทั้งแม่ หมอ สิ่งแวดล้อม อะไรก็ตาม คือความสัมพันธ์จนวันตาย แล้วความสัมพันธ์แยกกันอย่างไร อยากจะแยกอย่างนี้ว่า ความสัมพันธ์กับร่างกาย, ความสัมพันธ์กับความรู้สึกนึกคิด จิตใจ การรับรู้, ความสัมพันธ์กับหน้าที่ เป็นพ่อแม่มีหน้าที่ เป็นลูกมีหน้าที่ สิ่งที่ต้องทำและความสัมพันธ์กับอื่นๆ คือความสัมพันธ์กับคน และทั้งหมดย้อนกลับมาที่ความสัมพันธ์กับตัวเอง
“มองอายุแค่นี้แล้วใกล้จะ 80 ปีเต็มที กลัวมากกว่าที่จะอยู่ไปอีก 20 ปี กลัวมากกว่าฝันอันนั้นอีก”
คุณหญิงจำนงศรีกล่าวว่า เราจะทำความสัมพันธ์สี่ส่วนให้ดีที่สุดได้อย่างไร ถ้าถามป้าว่าจะทำ 100 ปีเป็น gift เป็นของขวัญ แม้เป็นของขวัญที่เราไม่อยากจะได้ แต่ถ้าเราจะอยู่กันไปอีก 21 ปีข้างหน้า ป้ามองว่า ความสัมพันธ์กับตัวเอง กับความรู้สึกนึกคิดเป็นสิ่งสำคัญที่สุด เพราะมีผลกับอีกสามส่วน กับร่างกาย หน้าที่ กับอื่นๆ ทั้งหมดกลับมาที่ฐานรู้สึก นึก คิด
“โลกทั้งโลกของแต่ละคนอยู่ที่ อายตนะ 6 คือ หู จมูก ตา สัมผัส รส ใจ แค่นี้ เรามองแค่นี้ โลกของแต่ละคนในห้องเสวนานี้ขึ้นอยู่กับสัมผัสทั้ง 6 เท่านั้น ป้าเป็นเพียงภาพสะท้อน”
สำหรับป้า สำคัญที่สุดคือความสัมพันธ์กับตัวเอง นี่เป็นเส้นทางที่ตัวเองเดินอยู่แล้วก็ทำอยู่ คือ การเข้ามามองว่า สิ่งเหล่านี้ รู้สึก นึกคิด และการรับรู้ ถ้าจะพูดไปเป็นภาษาพุทธ คือ ภาค นาม รู้สึกนึกคิด มีความสำคัญกับกาย ชีวภาพ คือ ชั้นสวยไหม ชั้นแก่หรือยัง ชั้นต้องไปห้องน้ำถี่ มีความเสื่อม สิ่งเหล่านี้ทางวิทยาศาสตร์กำลังพัฒนาหาทางที่จะทำให้ไม่เกิด เช่น การใช้สเต็มเซลล์
ก่อนที่จะมางานวันนี้ได้โทรคุยกับจิตแพทย์ที่สนิท แก่แล้วยังมีทำโครงการบ้าง พัฒนาสองผู้สูงอายุ หมอบอกว่า สเต็มเซลล์ไม่มีผลอะไร ด้าน rejuvenation ยังไม่ชัดเจน เช่น การเอาเลือดมาปั่นแล้วฉีดกลับเข้าไป ที่กำลังเริ่มทำ แต่ในอนาคตหมอมองว่าอีกสิบปีไม่มีทางที่จะ rejuvenate สมองได้
ส่วนความสัมพันธ์ ความรู้สึกนึกคิดกับกาย หากรับไม่ได้ว่าการเปลี่ยนแปลงเป็นเรื่องธรรมดา ถ้าจะต้องเข้าห้องน้ำวันละ 20 ครั้งก็เข้ากันไป ถ้าเรารู้สึกขัดแย้งกับตัวเองเองเมื่อไรเมื่อนั้นทุกข์ เพราะฉะนั้น ถ้าจะทำให้อีก 20 ปีที่เหลือของตัวเอง เป็น gift ต้องทำความขัดแย้งกับเองให้น้อยที่สุดเท่าที่จะเป็นได้
“และเมื่อเราขจัดกับความขัดแย้งกับตัวเองน้อยที่สุด จะพบว่าความขัดแย้งกับสิ่งภายนอกลดลงไปได้ คำว่า “ต้อง” จะน้อยลง คำที่น่ากลัวมากคือ “ต้องการ” คนแก่เราต้องระวังมาก คือ ความเคยชินกับสิ่งที่ตัวเองเคยเป็นเคยชิน เคยมี โลกที่เคยเป็นสมัยสาวๆ ที่เป็นห่วงมากคือคนรุ่นเดียวกันใช้คำว่า “ต้อง” กับลูกหลาน จริงๆ คำว่า “ต้อง” คำว่า “การ” ต้องการ สองคำ ฉะนั้นกลับมาเป็นความสัมพันธ์กับตัวเองอีก อะไรที่จะทำให้ความแก่เป็นบทลงโทษน้อยลง และเป็น gift มากขึ้น ลด “ความต้องการลดลง” มันจะไม่ “ต้อง” มากๆ
ความทรงจำ อดไม่ได้ค่ะ คนแก่ชอบเล่าเรื่องสมัยก่อน แล้วนึกไหมว่าความทรงจำเป็นส่วนสิ่งที่ประกอบความรู้สึกนึกคิด อะไรเกิดขึ้นแล้วเรารู้สึก ก็จำไว้ พอเอาขึ้นอีกทีก็ปั้นแต่งต่อ ก็จะจำได้ แล้วรู้สึกนึกคิดขึ้นไปอีก ถ้าเห็นธรรมชาติตรงนี้ ชีวิตก็อาจจะไม่ยึดนักกับความทรงจำ เมื่อไม่ยึดนักกับความทรงจำ ก็คิดว่าอันนี้จะเป็นวิถีหนึ่งที่อีก 20 ปี เป็น gift มากขึ้น ยอมรับสิ่งที่เกิดขึ้น ไม่ฉะนั้นเป็นภาระกับคนอื่น
เวลาพูดกว่าอยากมีชีวิตอีก 10 ปี 20 ปี ต้องคิดถึงความละเอียดของเนื้อสมองที่ละเอียดมากกว่ากระดูก
อีกอย่างหนึ่งที่อยากพูดถึง คือ การศึกษา เพราะวงเสวนาก่อนหน้ามีการพูดถึงการศึกษาของโรงเรียนนานาชาติ การศึกษาของคนที่เป็นรากหญ้า อันที่จริงป้าเป็นคนรากหญ้า ไปอยู่ตามป่าตามเขาเยอะมาก ไปอยู่ป่า ไม่มีห้องน้ำ ขาดห้องส้วม อันนี้คิดว่าเป็นกิจอันหนึ่งที่ทำให้ความแก่เป็น gift มากขึ้น หรือบทลงโทษเล็กน้อย อะไรจะเลอะเทอะก็แค่เลอะเทอะ สะอาดก็แค่สะอาด เท่านั้นแหละ
การศึกษา กังวล อันที่จริงไม่อยากอยู่ถึงร้อยปี จำได้ดีว่าที่พูดและยังกลัวคือ การศึกษาโรงเรียนนานาชาติและการศึกษาของรากหญ้าของไทย พบว่าหลานของตัวเองพูดภาษาอังกฤษมากกว่าภาษาไทย ไม่ชอบอ่านภาษาไทย เพราะอ่านภาษาอังกฤษได้เร็วกว่า ได้มากกว่า
แล้ว international school ใช้สัมพันธ์กับผู้ที่ใช้ปัญญาในระดับครู ในระดับโปรเฟสเซอร์กับชาวต่างชาติ เขาเรียนภาษาไทยกับครูไทย แต่ภาษาไทยไม่ได้เป็นตัวคะแนนสำคัญ ไม่ได้มีบทบาทในการค้นคว้า แม้คนทำงานด้านอื่นๆ เช่น ธุรการ เป็นคนไทย แต่ผู้ที่ให้ทางปัญญาเป็นต่างชาติ อันนี้ลองคิดดู ไม่ได้ต้านโรงเรียนนานาชาติ แต่อยากให้คิดว่าน่ากลัวไหม ในที่สุดผู้ที่มีเงิน ผู้ที่มีโอกาส ขณะที่บางคนไม่มีเลย ผู้ที่เก่งๆ บางคนเลือกที่จะไม่มี แต่รากหญ้าของเรา ซึ่งก็ไม่อยากจะใช้คำนี้ แต่รากหญ้าคือของสำคัญที่สานแผ่นดินทั้งหมด
แต่การที่จะมองเหมือนกับว่า ในภาพตอนที่พูดที่ฮัมเบิร์ก ยกตัวอย่างให้เขาฟังว่าเสมือนกับเอาเด็กขึ้นไปวิ่งบนทางด่วน ทางลอยฟ้าที่วิ่งได้เร็วมาก และเรียบง่ายสบาย แต่อย่างไรเสีย ทางด่วนต้องมีทางขึ้นและทางลง ใช่ไหม เพราะฉะนั้นต้องลงมาแตะพื้นถนนที่อาจจะมีบ่อ มีหลุม มีอะไรต่ออะไร เด็กเหล่านี้ เมื่อลงมาที่ข้างล่าง จะสามารถที่จะปรับ เก็บเกี่ยวสิ่งเหล่านี้ได้แค่ไหน เพราะอะไร เพราะถ้าไม่อ่านภาษาไทย ไม่อ่านภาษาไทยอย่างแตกฉาน และไม่สามารถอ่านภาษาไทยระหว่างบรรทัดได้ ก็จะเข้าใจยากมากกับ population ส่วนใหญ่
เพราะฉะนั้นแล้ว ฝากเอาไว้ว่า จริงๆ ไม่อยากอยู่ถึง 100 ปี เพราะเห็นถึงความแตกต่าง ความแตกแยก ความ conflict ต่างๆ มากมายทีเดียว เพราะฉะนั้น การศึกษา และความเป็นพ่อแม่ ฝากเอาไว้ด้วย นี่เป็น message จากคนแก่หลายเรื่องมากเลย
- ThaiPublica Forum 2018 : “ภิญโญ ไตรสุริยธรรมา” กับ “The 100-Year Life” – เราจะมีชีวิตอยู่ 100 ปีอย่างไร?
- ThaiPublica Forum 2018 : “ศุภวุฒิ สายเชื้อ” The 100-Year Life – จะเป็นคนแก่ที่ยังหนุ่มได้อย่างไร
- ThaiPublica Forum 2018: “ธีระพล ถนอมศักดิ์ยุทธ” The 100 – Year Life กับแกนหลักของ Future of Job
- ThaiPublica Forum 2018 : The 100 – Year Life “สุรพงษ์ สืบวงศ์ลี” แนะอยู่อย่างไรให้มีความสุขหากมีชีวิต 100 ปี