ThaiPublica > เวทีปัญญาสาธารณะ > ThaiPublica Forum 2018 : “ภิญโญ ไตรสุริยธรรมา” กับ “The 100-Year Life” – เราจะมีชีวิตอยู่ 100 ปีอย่างไร?

ThaiPublica Forum 2018 : “ภิญโญ ไตรสุริยธรรมา” กับ “The 100-Year Life” – เราจะมีชีวิตอยู่ 100 ปีอย่างไร?

13 ธันวาคม 2018


สำนักข่าวออนไลน์ไทยพับลิก้าได้ร่วมกับสำนักพิมพ์โอเพ่นบุ๊กส์ได้จัดเวที ThaiPublica Forum 2018 เรื่อง“The 100-Year Life: ชีวิตศตวรรษ” ในโอกาสครบครบรอบ 7 ปีและก้าวสู่ปีที่ 8 ของไทยพับลิก้าและในโอกาสที่หนังสือ “The 100-Year Life” ได้รับการแปลและจัดพิมพ์เป็นภาษาไทยในชื่อ “ชีวิตศตวรรษ” โดยสำนักพิมพ์โอเพ่นบุ๊กส์ เมื่อวันพุธที่ 12 ธันวาคม 2561

วงเสวนามีนักคิด นักวิชาการ และนักธุรกิจ ผู้ที่สนใจประเด็นการมีชีวิตยืนยาวจากหลากหลายวงการ ได้แก่นายภิญโญ ไตรสุริยธรรมา นักคิด นักเขียน บรรณาธิการสำนักพิมพ์โอเพ่นบุ๊กส์, ดร.ศุภวุฒิ สายเชื้อ ที่ปรึกษาสถาบันวิจัยกลุ่มธุรกิจการเงินเกียรตินาคินภัทร, ดร.ธีระพล ถนอมศักดิ์ยุทธ หัวหน้าคณะผู้บริหารด้านนวัตกรรมและความยั่งยืน บริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) (TRUE), นพ.สุรพงษ์ สืบวงศ์ลี อดีตรองนายกรัฐมนตรี, ดร.ณภัทร จาตุศรีพิทักษ์ ผู้ก่อตั้งและซีอีโอ Siametrics Consulting, ดร.อาร์ม ตั้งนิรันดร คณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, นายฟูอาดี้ พิศสุวรรณ นักศึกษาปริญญาเอก สาขาวิชาความสัมพันธ์ ระหว่างประเทศ มหาวิทยาลัย อ๊อกซฟอร์ด และปาฐถกาพิเศษปิดท้าย โดย คุณหญิงจำนงศรี หาญเจนลักษณ์ นักธุรกิจเพื่อสังคม ผู้ก่อตั้ง บริษัท ชีวามิตร วิสาหกิจเพื่อสังคม จำกัด ผู้สนใจความหมายของการมีชีวิตระยะสุดท้าย

โดยนายภิญโญ ไตรสุริยธรรมา นักคิด นักเขียน บรรณาธิการสำนักพิมพ์โอเพ่นบุ๊กส์ และคณะบรรณาธิการสำนักข่าวออนไลน์ไทยพับลิก้า กล่าวนำในหัวข้อ “The 100 – Year Life” รายละเอียดดังนี้

นายภิญโญ ไตรสุริยธรรมา นักคิด นักเขียน บรรณาธิการสำนักพิมพ์โอเพ่นบุ๊กส์

เราจะอยู่ 100 ปีไหวหรือไม่ เราจะอยู่ 100 ปีจะมีความหมายอะไร

มีคนเล่าว่าเราใช้ชีวิตส่วนใหญ่ในทุกโลกทุกวันนี้ เรามีสมมติฐานบางอย่างที่อยู่ในใจของเรา เช่น สมมติฐานว่าโลกมั่นคงแน่นอนไม่เปลี่ยนแปลง ถ้าเราเดินอยู่บนถนนพระราม 4 หรือริมแม่น้ำเจ้าพระยาจะเห็นโครงการอสังหาริมทรัยพ์ต่างๆ มากมายในกรุงเทพมหานคร ผมเคยถามผู้บริหารสูงสุดของโครงการอสังหาริมทรัพย์รายใหญ่ของเมืองไทย ผมถามจริงๆ ว่าเคยตั้งสมมติฐานหรือไม่ว่ากรุงเทพฯ จะน้ำท่วม เคยประเมินหรือไม่ว่าภาวะโลกร้อนที่ทำให้อุณหภูมิสูงขึ้นทุกปีๆ โลกมันจะไม่หวนกลับ แล้วเมืองที่โอกาสจมบาดาลมากที่สุดแห่งหนึ่งในโลกคือกรุงเทพมหานคร ผมถามผู้บริหารระดับสูงสุด ผู้ที่ลงทุนอสังหาริมทรัพย์รายใหญ่ในกรุงเทพมหานคร เขาตอบว่าสมมติฐานนี้ไม่เคยอยู่ในสมการเวลาลงทุนเลย

ฉะนั้นเราจึงเห็นตึกเกิดใหม่มากมายเต็มไปหมดริมแม่น้ำเจ้าพระยา เพราะสมมติฐานเราคือว่าอย่างไรก็ตามเราเอาอยู่ เรากันน้ำเหนือให้ไหลไปท่วมแถวอยุธยา เลี้ยวซ้ายเลี้ยวขวาไปท่วมบ้านคนอื่นหมด แล้วกรุงเทพมหานครเรายังปลอดภัย นี่คือสมมติฐานที่เราตั้ง แต่ถ้ามันไม่ถูกล่ะ ถ้าสมมติฐานนี้ว่าน้ำทะเลมันหนุนจากด้านล่างของอ่าวไทย เนื่องจากภาวะโลกร้อนแล้วระดับน้ำมันสูงขึ้น สิ่งที่เราลงทุนทั้งหมดในชีวิต ไปในธุรกิจมันจะล้มหายตายจากไปต่อหน้าต่อตาในเวลาเพียงไม่กี่ปี

แล้วไม่ว่าคุณจะมีอำนาจวาสนาเท่าไหร่ สั่งการใครได้หรือเป็นรัฐบาลต่อกี่ปี มีมาตรา 44, 45 หรือ 46 คุณจะรับมือปรากฏการณ์ทางธรรมชาติกับสมมติฐานที่คุณไม่เคยคิดมาก่อนได้หรือไม่… ไม่มีทาง คุณไม่มีทางชนะธรรมชาติ สิ่งที่เกิดขึ้นในเวนิส คุณไม่เคยคิดว่าจะเกิดขึ้นในเมืองไทย เราไม่เคยมีสมมติฐานนี้อยู่ในการลงทุนในเชิงอสังหาริมทรัพย์ ฉะนั้นเราไม่เคยประเมินว่ากรุงเทพฯ จะต่ำกว่าระดับน้ำทะเล แล้วน้ำจะท่วมกรุงเทพมหานคร ชั้นที่แพงที่สุดที่จอดซูเปอร์คาร์ที่สยามพารากอนจะเป็นที่จอดเรือ แล้วห้างระดับหรูทั้งหมดจะต้องไปเปิดอยู่ประมาณชั้น 5 แล้วข้างล่างจะเป็นอควอเรียม ถ้าสมมติฐานนี้เป็นจริงขึ้นมา

ตอนที่ไต้หวันสร้างตึกไทเป 101 สมมติฐานเขาคือเกิดแผ่นดินไหวแน่นอน สิ่งที่เขาทำคือห้อยลูกตุ้มอยู่ลูกหนึ่งกลางตึก ให้มันเป็นตัวซับแรงแผ่นดินไหวของตึก เมื่อมันเกิดแผ่นดินไหว แน่นอน เขาต้องเตรียมการบางอย่าง ถ้ามันเกิดไหวไปทางซ้าย ลูกตุ้มเอียงไปทางขวา ถ้าไปทางขวาก็เอนกลับมา มันจะปรับสมดุลในที่สุด ตึกที่สูงที่สุดในโลกเวลานั้นมันจะไม่พังเพราะแผ่นดินไหว เพราะเขาตั้งสมมติฐานว่าโอกาสเกิดแผ่นดินไหวในโลก ในจุดที่เขาอยู่มีสูงมากและสูงที่สุดคือแค่ไหน เขาเตรียมการล่วงหน้าเอาไว้ สมมติฐานนี้มันเกิดขึ้นได้จริงนะ แต่บ้านเมืองเรา เราไม่เคยได้เตรียมสมมติฐานหลายอย่าง แล้วเราคิดว่ามันจะไม่เกิด มันจะไม่เป็น

นี่คือหัวใจสำคัญของหนังสือเล่มนี้ The 100-Year Life ชีวิตศตวรรษ หัวใจสำคัญของมันคือมีสมมติฐานบางอย่างที่เราไม่เคยคิดมาก่อนในช่วงชีวิตของเราว่ามันจะเกิดขึ้นและมันจะเป็น ถ้าต้องอยู่ถึง 100 ปีจริงๆ แล้วช่วงเวลาที่เหลืออยู่เกินกว่าที่คิดว่าจะอยู่ จะอยู่อย่างไร นี่เป็นคำถามหนึ่ง

คนบางคนอาจจะสบายเพราะมีความปลอดภัยทางการเงิน แต่ถ้าสมมติฐานมันเปลี่ยน เราไม่ได้มีอายุอยู่ถึง 70-80 ปีเหมือนในอดีตที่ผ่านมา ในบรรพบุรุษรุ่นพ่อแม่ของเรา ถ้าสมมติฐานมันเปลี่ยนโดยสิ้นเชิงว่าคนรุ่นเรามันอยู่ไปถึง 100 ปีจริงๆ อะไรคือสิ่งที่เราไม่เคยได้คิดไว้บ้างในชีวิตของเรา

ในอดีตชีวิตมันแบ่งเป็น 3 ขั้น ทุกคนรู้ดี เราเข้าโรงเรียน ไม่ได้เลือกเองด้วย พ่อแม่พาไปส่ง เรียนหนังสือเผลอๆ คณะก็ไม่ได้เลือกเอง แล้วจบออกมาทำงานไปชั่วชีวิตไปถึงอายุ 60 ปี แล้วเราก็คิดว่าจะเข้าวัดเอาเงินบำนาญไปใช้ หวังว่าจะไม่โดนพระหลอก ไปทำบุญ แล้วพระก็โดนตรวจสอบภาษีแล้วโดนยึดไป เงินเราก็สูญไปด้วย แต่เราดันเหลือชีวิตที่ว่างเปล่าอีก 40 ปี

ชีวิตแต่เดิมมัน 3 ขั้น หนึ่ง ไปเรียนหนังสือ สอง จบมาทำงาน สาม เกษียณอายุแล้วใช้ชีวิตอย่างมีความสุข เราคิดว่าอีก 20 ปีแล้วตายไปอย่างสงบ เห็นพระนิพพานไหวๆ แต่ไม่ได้ไป แต่ถ้าสมมติฐานไม่ได้เป็นแบบนั้น แบบที่เราคุยกัน ถ้าสมมติฐานบอกว่าคุณจะอยู่ไปเรื่อยๆ ถึง 100 ปี จาก 60 ปี คุณจะเหลืออีก 40 ปีที่จะต้องมีชีวิตอยู่ ถ้าคุณมีเงินทองมากมายพอสมควร คุณมีสุขภาพที่ดีพอสมควร คุณจะได้พรคือเวลา 40 ปีที่มีความสุขกับชีวิตต่อไปได้ ซึ่งก็ไม่ใช่เรื่องง่ายนักที่จะเป็นแบบนั้น แต่ถ้าคุณไม่ได้มีสุขภาพที่ดี คุณไม่ได้มีเงินบำนาญมากพอ คุณไม่ได้มีความหมายในชีวิตที่คุณจะค้นหา 40 ปีจะเป็นเวลาที่ยาวนานมาก

Thomas Hobbes บอกว่าชีวิตนั้นบัดซบ โหดร้าย และแสนสั้น  (nasty, brutish, and short) เมื่อวานไปดู 10 Years Thailand กับคุณหมอเลี้ยบ (นพ.สุรพงษ์ สืบวงศ์ลี) เขาทำโปรเจคหนัง 10 ปีประเทศไทยไปข้างหน้า อภิชาติพงศ์ วีระเศรษฐกุล, อาทิตย์ อัสสรัตน์, วิศิษฏ์ ศาสนเที่ยง และจุฬญาณนนท์ ศิริผล พอดูจนจบเครียดกันทั้งโรง หนังส่อง 10 ปีไปอนาคตข้างหน้า แต่มันฉายเหตุการณ์ปัจจุบันแล้วเศร้ากันทั้งโรง คือ 10 ปีไปข้างหน้าผู้กำกับหนังไทยทั้งหมด ระดับที่ได้รางวัลเมืองคานส์บอกว่าประเทศนี้ไม่มีอนาคต

แล้วถ้าเกิดเรามีเวลา 100 ปี แล้วถ้าไม่ได้เตรียมการอะไรไว้เลย ไม่เตรียมสมมติฐานอะไรไว้เลย 100 ปีจะเป็นเวลาที่ยาวนานมากแล้วจะเป็นแบบที่ Thomas Hobbes กล่าวไว้คือบัดซบ โหดร้าย แต่ไม่แสนสั้น มันแสนยาว

หม่อมราชวงคึกฤทธิ์ ปราโมช เคยเล่าเรื่องนรกให้ฟัง ถามว่านรกคืออะไรครับอาจารย์ อาจารย์บอกว่านรกคือสิ่งที่คุณไม่ชอบแล้วมันยาวนานไม่สิ้นสุด ไม่ได้มีอะไรมากกว่านั้นเลย สิ่งที่คุณไม่ชอบ อยากจากไปเหลือเกิน แล้วมันยาวนานไม่สิ้นสุด คนที่มีความสัมพันธ์ประหลาดๆ อยู่ในบ้านด้วยกันอย่างเรื่องสั้นแล้วก็วนเวียนอยู่ในห้องนั้นตลอดไป นั่นแหละคือนรก

แล้วถ้าเกิดเป็น 100 ปีจริงๆ แล้วเราไม่ได้เตรียมการล่วงหน้า ไม่ได้มีสมมติฐาน ไม่ได้มีเงินทอง ไม่ได้มีอาชีพ ไม่ได้มีความหมายของชีวิตใดๆ เหลืออยู่ มันคือนรก ซึ่งปราชญ์ส่วนใหญ่ของโลกก็รู้กันอยู่แล้วว่าชีวิตมันบัดซบ โหดร้าย และแสนสั้น แต่ถ้ามันบัดซบ โหดร้าย และแสนยาวนาน มันเป็นอย่างอื่นไปไม่ได้นอกจากนรกสำหรับพวกเราทุกคน

ฉะนั้นนี่คือคำถามใหญ่ อาจารย์ที่เป็นผู้เขียนหนังสือเล่มนี้ 2 ท่านถามนักเรียนในวิทยาลัยเศรษฐศาสตร์และรัฐศาสตร์แห่งลอนดอน (LSE) ว่าไหนคุณคำนวณกันว่าเงินทองที่คุณจะหาได้แล้วแบ่งเป็นเงินบำนาญขนาดนี้ ถ้าคุณจะมีชีวิตอยู่อย่างเป็นสุขมีความสุขได้ คุณต้องทำงานจนอายุเท่าไหร่ …เก่งๆ อย่างพวกคุณ จ่ายเงินมาเรียนแพงได้ขนาดนี้ เด็กทุกคนเอาตีนก่ายหน้าผากหมด กดเครื่องคิดเลขแล้วเด็กทุกคนบอกว่าต้องทำงานถึงอายุ 80 ปี ถึงจะมีชีวิตอยู่รอดได้ แต่ผมว่านี่มันคำนวณก่อน Brexit นะครับ หลังจากบวกไปคิดว่าน่าจะไปอยู่ถึง 120 ปีเลยก็ได้ คือตายแล้วยังใช้หนี้ไม่หมด

ขณะคนที่เก่งที่สุดและเข้ามหาวิทยาลัยที่ดีที่สุด แล้วคิดว่ามีความพร้อมมากที่สุด ตั้งสมมติฐานแบบเดิมโดยลืมคำนวณเงินทั้งหมด คำนวณเงินใหม่ๆ ออกมากลายเป็นว่าถ้าจะอยู่ถึง 100 ปีต้องทำงานจนถึง 80 ปี แล้วเกิดมี Brexit เข้าอีก แล้วจะเหลืองานอะไรให้ทำในช่วงอายุ 60-80 ปีในโลกสมัยใหม่ คุณคิดว่าผู้ดีอังกฤษที่ไม่ค่อยทำงานอะไร ทำงานอะไรไม่ค่อยเป็น จะทำอะไรระหว่างอายุ 60-80 ปี ให้ชีวิตมันมีความหมาย มันไม่ใช่เรื่องง่ายที่เราจะมีชีวิตอยู่ต่อไป

ฉะนั้น ถ้าสมมติฐานมันเปลี่ยน มันไม่ใช่ว่าเรามีชีวิตอยู่แค่ 80 ปี 60 ปีเราเกษียณจริง แต่เราอยู่ถึง 100 ปี เราได้เวลาช่วงทดเวลาบาดเจ็บ ชูมือ 4 นาที แต่ยังไม่จบ อีกนาน เราได้เวลาช่วงทดเวลาบาดเจ็บคืนมาอีก 40 ปี เราจะอยู่อย่างไร เราต้องวางแผนเรื่องการเงินใหม่แน่นอน เราต้องวางแผนเรื่องการพัฒนาตนเองการแสวงหาความรู้ใหม่ ความรู้ที่เราเคยมีมาเราคิดว่ามันทันสมัย เราคิดว่าเรียนหนึ่งครั้งแล้วเราใช้ไปได้ตลอดชีวิต แต่ในโลกสมัยใหม่ที่การเปลี่ยนแปลงเร็วขนาดนี้ ความรู้เก่าจะถูกทำให้ล้าสมัยไปในเวลาสั้นที่สุด

คุณธนินท์ เจียรวนนท์ ประธานอาวุโสเครือเจริญโภคภัณฑ์ กล่าวว่า ความรู้และประสบการณ์ในอดีตทั้งหมด ไม่สามารถใช้กับธุรกิจและโลกสมัยใหม่ได้เลย สิ่งที่ผู้บริหารระดับสูงสุดอย่างคุณธนินท์ต้องทำคือฟังคุณรุ่นหลังให้มาก ประสบการณ์เดิมใช้ไม่ได้ แล้วถ้าไม่ฟัง ยังยืนยันจะใช้ประสบการณ์เดิม ใช้วิธีการทำธุรกิจแบบเดิม คุณธนินท์ยืนยันว่าเจ๊งแน่นอน ใหญ่แค่ไหนก็เจ๊งแน่นอน ฉะนั้น ความรู้เก่าก็ใช้ไม่ได้ ประสบการณ์เก่าก็ใช้ไม่ได้ในยุคของ 4.0 ในยุคที่จะเปลี่ยนต่อจากนี้ ความรู้ ประสบการณ์ที่เราเคยมี สื่อที่เราเคยทำ ช่องที่เราเคยอยู่ อู่ที่เราเคยนอน จะไม่เหมือนเดิมอีกต่อไป

แต่เดิมเราเกษียณแล้วใช้เวลาว่างอย่างมีความสุขได้ ต่อไปเวลาว่างอาจจะไม่ใช่เวลาหาความสุขและผ่อนคลายอย่างเดียว แต่เวลาว่างจะต้องเปลี่ยนกลับมาเป็นเวลาแห่งการแสวงหาความรู้ เพื่อที่จะปรับตัวเข้าสู่ยุคต่อไปให้ได้ การเงินไม่ง่าย การงานลำบาก เผชิญความท้าทายกันทุกคนทุกองค์กร ในยุคนี้ไม่มีใครไม่ต้องปรับตัว ทุกคนต้องปรับตัวหมดเพื่อที่จะไปสู่ยุคต่อไปให้ได้ มันมีความยากลำบากมากเวลาที่เราจะปรับตัว ที่เราจะรักษาคุณค่าสูงสุดของชีวิตเอาไว้ให้ได้ในยุคต่อไป

ถามว่าอะไรคือคุณค่าสูงสุดที่เราต้องรักษาไว้ให้ได้ในยุคเปลี่ยนผ่านขณะนั้น แล้วเราจะอยู่ไปถึง 100 ปี มันมีสิ่งหนึ่งที่เรียกสั้นๆ ว่าศักดิ์ศรีของความมนุษย์ เราจะอยู่ 100 ปีให้มีศักดิ์ศรีของความเป็นมนุษย์อย่างไร ศักดิ์ศรีเป็นคำที่เพราะในภาษาไทย มันต้องมีทั้งศักดิ์และศรี

ศักดิ์คือมันต้องมีพลังงาน เราไม่สามารถหมดพลังงานไปก่อนวัยอันควรได้ เราไม่สามารถปล่อยปละละเลย ปล่อยเนื้อปล่อยตัว ปล่อยความคิด ปล่อยร่างกาย ปล่อยจิตใจ ให้ไหลไปตามกระแสโดยไม่เยียวยาตัวเองได้ เราต้องมีทั้งพลังกายคือรักษาสุขภาพให้แข็งแรง ไม่ใช่เป็นคน 50-70 ปี อ่อนแอ เต็มไปด้วยโรคภัยและป่วยไข้ ร่างกายที่อ่อนแอที่สามารถสะท้อนไปเป็นจิตใจที่แข็งแรงได้ แต่จิตใจก็ต้องเข้มแข็ง จิตใจที่เข้มแข็งต้องอยู่ในร่างกายที่เข้มแข็ง

ฉะนั้น มันเป็นเรื่องไม่ง่ายที่จะรักษาให้สภาพร่างกายแข็งแรงและสภาพจิตใจเข้มแข็งตั้งมั่นอยู่ได้ แล้วถ้าไม่สามารถ ร่างกายไม่แข็งแรง จิตใจไม่ตั้งมั่นอยู่ได้ ก็ยากที่จะแสวงหาปัญญาเพื่อที่จะใช้ในการเปลี่ยนแปลงตัวเองในช่วงต่อไปของชีวิต มันจึงเป็นองค์ประกอบที่อยู่ด้วยกันทั้งหมด คุณต้องรักษาสุขภาพให้ดีมากๆ อาหารการกิน ถูกสุขลักษณะ เพื่อให้ร่างกายเข้มแข็ง เพื่อให้จิตใจตั้งมั่น ตอบรับกับการเปลี่ยนแปลงของสรรพสิ่งอย่างถึงที่สุดให้ได้ ถ้าร่างกายไม่ตั้งมั่น จิตใจไม่ตั้งมั่น ปัญญามันยากที่จะเกิด ถ้าไม่มีปัญญา ยากที่จะแสวงหาความรู้เพื่อปรับตัวไปสู่ยุคใหม่ อันนี้คือศักดิ์ คือมีพลังงาน

ศรีคืออะไร ศรีคือความสง่างามของชีวิต คุณจะมีความสง่างามได้คุณต้องมีอิสระ อิสระต่ออะไร คุณต้องมีอิสรภาพทางการเงิน ไม่ถูกการเงินคุกคามจนไม่สามารถใช้ชีวิตตามที่ปรารถนาได้ แต่ว่าคุณมีอิสรภาพทางการเงินอย่างเดียวไม่พอ เราจะเห็นคนที่มีฐานะมั่งคั่งร่ำรวย แต่ทำไมยังมีความทุกข์โศก ทำไมยังแสวงหาไขว่คว้าสรรสิ่งต่างๆ มากมาย แสดงว่าต้องมีอิสรภาพจากอย่างอื่นด้วย ต้องมีอิสรภาพจากอำนาจ นี่คือเทศกาลใกล้เลือกตั้ง ท่านอาจารย์คึกฤทธิ์บอกว่าสวัสดีครับพ่อแม่พี่น้อง ก็ถึงเวลานับพี่นับน้องกันอีกครั้ง ก่อนหน้านั้นไม่ต้องนับ มานับกันใหม่ ทำไมมีเงินทอง มีทุกสิ่ง แต่ยังแสวงหาเกียรติยศชื่อเสียงตำแหน่ง เมื่อยังแสวงหาเกียรติยศชื่อเสียงตำแหน่ง ยากที่จะมีอิสรภาพในชีวิต เมื่อไม่มีอิสรภาพทางการเงิน ไม่มีอิสรภาพทางด้านเกียรติยศชื่อเสียง ยากที่จะสมใจ อำนาจเกียรติยศชื่อเสียงเงินทองคือพันธนาการของชีวิตที่ยังเหนี่ยวรั้งเราเอาไว้

ถ้ายังเหนี่ยวรั้งเราไว้หมดทุกอย่าง ยากที่จะอยู่อย่างมีสง่าราศี ยากที่จะมีศรีและมีศักดิ์ ฉะนั้น การจะมีชีวิตต่อไปอีก 100 ปีได้ไม่ใช่เรื่องง่าย ทำอย่างไรที่คนจน คนรวย คนชั้นกลาง ชนรากหญ้า ชนระดับบนสุด จะอยู่ได้อย่างมีศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ในประเทศนี้ นี่คือสิ่งที่รัฐบาลหรือพรรคการเมืองไหนๆ ยังไม่เคยพูดแม้แต่คำเดียวในการหาเสียงเลือกตั้งครั้งนี้ ไม่เคยพูดเรื่องศักดิ์ศรีแห่งความเป็นมนุษย์ ไม่จำเป็นต้องรวยสูงสุด ไม่จำเป็นต้องประสบความสำเร็จมากที่สุด ไม่จำเป็นต้องมีธุรกิจพันล้านหมื่นล้าน แต่จะทำอย่างไรที่จะให้มีชีวิต 100 ปีแล้วอยู่อย่างมีศักดิ์ศรีในประเทศนี้ มีทั้งศักดิ์ในการพัฒนาตนเองแล้วไปต่อได้ในอนาคต และมีทั้งศรีในการเคารพตัวเองและอยู่ได้อย่างสง่างาม ไม่ว่าจะฐานะสูงต่ำอย่างไร สามารถจะเดินไปได้อย่างสง่างามบนนถนนแล้วไม่ถูกรถจักรยานยนต์ชนบนทางเท้า เรื่องง่ายๆ แค่นี้ทำให้ได้

ถามว่ามนุษย์ที่ค้นพบการอยู่อย่างมีศักดิ์ศรี ในอดีตเราเรียกมนุษย์เหล่านี้ว่ามนุษย์ที่แท้ ถามว่ามนุษย์ที่แท้คืออะไร เหลียวมองไปรอบกาย มนุษย์ที่แท้ล้วนแต่อาศัยอยู่ในอดีต ปัจจุบันเหลืออยู่น้อยมากที่จะเป็นมนุษย์ที่แท้ ถ้าจะให้นึกถึง นึกถึงท่านเล่าจื่อ จวงจื่อ ขงจื่อ คานธี ทะไลลามะ ทุกท่านที่ใช้ชีวิตอย่างมีคุณค่า อย่างมีศักดิ์ศรี และใช้ 100 ปีอย่างเป็นประโยชน์กับมวลมนุษยชาติ นึกถึงสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าที่ผลิตปัญญาให้เรามากมายและชีวิตใช้อย่างสง่างามมาก แม้จะใช้เพียงเวลา 80 ปี

แต่คำถามคือ ถ้าเรามีโอกาสอยู่ถึง 100 ปี เราจะใช้ชีวิตอย่างไรให้มีคุณค่ากับตัวเอง กับผู้อื่น ให้มันมีทั้งศักดิ์และศรี ให้มันสามารถถ่ายทอดคุณค่าและเวลาที่มีเป็นภูมิปัญญาไปสู่คนรุ่นหลังต่อไปได้ โดยไม่จำเป็นต้องขึ้นอยู่กับฐานะชนชั้นความมั่งคั่งอำนาจชื่อเสียงเกียรติยศ นี่คือคำถามใหญ่และเป็นสิ่งที่จะทำให้มนุษย์อย่างพวกเราแตกต่างจากปัญญาประดิษฐ์จากหุ่นยนต์ที่กำลังจะทำหน้าที่แทนเราได้ทั้งหมดในอนาคต เราอาจจะยังไม่เชื่อกันว่ามันจะทำงานแทนได้ แต่ในเวลาอันสั้นมันจะทำได้

แล้วถ้าเราไม่กลับมาแสวงหาตัวตนที่แท้จริงคืออะไร การอยู่ 100 ปีจะเป็นคำสาป ไม่ใช่พรจากฟ้าจากพระเจ้า

แต่ถ้าเราเข้าใจความหมายของมนุษย์ที่แท้อย่างที่ปราชญ์ผู้ยิ่งใหญ่ในอดีตทั้งหลายได้เคยบอกกล่าวเฝ้าสอนสั่งเราแล้ว 100 ปีจะเป็นพรของเรา 100 ปีจะทำให้เรากลับมาแสวงหาว่าแท้ที่จริงมนุษย์เกิดมาเพื่อสิ่งใด แล้วเรายืนหยัดอยู่ 100 ปีด้วยเหตุผลใด แล้วอะไรคือสิ่งที่จะทำให้เรามีความหมาย เป็นมนุษย์ที่มีคุณค่า แตกต่างจากหุ่นยนต์กลไก นี่คือสิ่งที่คนรุ่นพวกเราต้องหาคำตอบ ทั้งเพื่อตัวเอง เพื่อมนุษยชาติ

และเพื่อให้การอยู่ 100 ปีเป็นพรจากฟ้า ไม่ใช่เป็นคำสาปที่ฟ้าไม่ได้ประทานมาให้เรา แต่เราต้องแบกรับเอาไว้ ขอให้ทุกท่านพบคำตอบและหมุดหมายของกรมีชีวิตอยู่ 100 ปี ขอให้ทุกท่านเดินทางไปถึงตรงนั้น