ThaiPublica > เวทีปัญญาสาธารณะ > เวทีปัญญาสาธารณะ : Heritage Industry – เศรษฐกิจคิดใหม่ ทำอย่างไรที่จะนำมรดกทางวัฒนธรรมมาใช้พัฒนาเศรษฐกิจ? (ตอนที่ 1)

เวทีปัญญาสาธารณะ : Heritage Industry – เศรษฐกิจคิดใหม่ ทำอย่างไรที่จะนำมรดกทางวัฒนธรรมมาใช้พัฒนาเศรษฐกิจ? (ตอนที่ 1)

7 ตุลาคม 2017


สำนักข่าวไทยพับลิก้าเป็นสื่อที่นำเสนอข่าวเจาะสืบสวนสอบสวนในลักษณะ Data Journalism แต่ในอีกบทบาทหนึ่งทำหน้าที่ในการเชื่อมประสาน เพื่อสร้างเครือข่ายขับเคลื่อนสังคมในประเด็นต่างๆ โดยการเปิด “พื้นที่กลาง” ให้มีการแลกเปลี่ยนความคิดเห็น มองมุมต่าง การจุดประกาย การผลักดัน ให้เกิดแรงเคลื่อนที่เป็นพลังของประชาชนที่ตื่นรู้ ตื่นตัว สร้างสังคมที่ขับเคลื่อนกันด้วยข้อมูล องค์ความรู้ ให้เป็นปัญญาสาธารณะที่ใครก็หยิบไปใช้ได้ เพื่อให้เกิด “โอกาส” การเชื่อมต่อและต่อยอดในสิ่งที่เป็นประโยชน์ต่อส่วนรวม พบกับ“เวทีปัญญาสาธารณะ ครั้งที่ 1” หัวข้อ “Heritage Industry: เศรษฐกิจคิดใหม่ ทำอย่างไรที่จะนำมรดกทางวัฒนธรรมมาใช้พัฒนาเศรษฐกิจ?”

เมื่อวันที่ 16 กันยายน 2560 สำนักข่าวออนไลน์ไทยพับลิก้าจัดกิจกรรมเวทีปัญญาสาธารณะครั้งที่ 1 เรื่องHeritage Industry: เศรษฐกิจคิดใหม่ ทำอย่างไรที่จะนำมรดกทางวัฒนธรรมมาใช้พัฒนาเศรษฐกิจ?ณ หอสมุดเมืองกรุงเทพมหานคร มีผู้ร่วมเสวนาประกอบด้วย(ภาพจากขวามาซ้าย) ศ.สายันต์ ไพรชาญจิตร์ นักวิชาการอิสระ, ศ. ดร.สุเนตร ชุตินธรานนท์ คณบดีบัณฑิตวิทยาลัย จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, นายเอิบเปรม วัชรางกูร นักโบราณคดีชำนาญการพิเศษ หัวหน้ากลุ่มโบราณคดีใต้น้ำ สำนักโบราณคดี กรมศิลปากร, ดร.ชูวิทย์ มิตรชอบ รองผู้อำนวยการองค์การบริหารการพัฒนาพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน (องค์การมหาชน) หรือ อพท.,นางสาวศาริสา จินดาวงษ์ ผู้อำนวยการพิพิธภัณฑ์สถานแห่งชาติ เจ้าสามพระยา และ นางสาวพชรพร พนมวัน ณ อยุธยา นักศึกษาปริญญาเอก สาขาเศรษฐศาสตร์ประวัติศาสตร์ มหาวิทยาลัยอ๊อกซฟอร์ด ผู้ดำเนินรายการ

เมื่อวันที่ 16 กันยายน 2560 สำนักข่าวออนไลน์ไทยพับลิก้าจัดกิจกรรมเวทีปัญญาสาธารณะครั้งที่ 1 เรื่อง Heritage Industry: เศรษฐกิจคิดใหม่ ทำอย่างไรที่จะนำมรดกทางวัฒนธรรมมาใช้พัฒนาเศรษฐกิจ? ณ หอสมุดเมืองกรุงเทพมหานคร มีผู้ร่วมเสวนาประกอบด้วยวิทยากร ศ.สายันต์ ไพรชาญจิตร์ นักวิชาการอิสระ, ดร.ชูวิทย์ มิตรชอบ รองผู้อำนวยการองค์การบริหารการพัฒนาพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน (องค์การมหาชน) หรือ อพท., ศ. ดร.สุเนตร ชุตินธรานนท์ คณบดีบัณฑิตวิทยาลัย จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, นายเอิบเปรม วัชรางกูร นักโบราณคดีชำนาญการพิเศษ หัวหน้ากลุ่มโบราณคดีใต้น้ำ สำนักโบราณคดี กรมศิลปากร, นางสาวศาริสา จินดาวงษ์ ผู้อำนวยการพิพิธภัณฑ์สถานแห่งชาติ เจ้าสามพระยา และ นางสาวพชรพร พนมวัน ณ อยุธยา นักศึกษาปริญญาเอก สาขาเศรษฐศาสตร์ประวัติศาสตร์ มหาวิทยาลัยอ๊อกซฟอร์ด ผู้ดำเนินรายการ มีเนื้อหาดังนี้

อุตสาหกรรมทางวัฒนธรรม มองกว้างกว่ามุมที่เคยเป็น

พชรพร: Heritage Industry ที่เข้าใจกันส่วนใหญ่คืออุตสาหกรรมทางวัฒนธรรมในแง่การท่องเที่ยวหรือการสร้างโครงการใหญ่ๆ เช่น อุทยานทางประวัติศาสตร์ยูเนสโก วันนี้จึงอยากขยายคำนิยามของอุตสาหกรรมทางวัฒนธรรม มองกว้างกว่ามุมที่เคยเป็นในแง่ของกิจกรรมเศรษฐกิจที่เกี่ยวข้องกับประวัติศาสตร์และอดีตที่มีหลายระดับ ตั้งแต่ลักษณะสหกรณ์ผู้ผลิตงานศิลปะ หรือวัฒนธรรมท้องถิ่นต่างๆ พิพิธภัณฑ์ชุมชน การบริหารด้านการศึกษา เช่น โรงเรียนการช่าง หรือการบริการความรู้ระดับผู้ชำนาญการพิเศษที่มีสถาบันอุดมศึกษาและพิพิธภัณฑ์อุตสาหกรรมบริการ หรือสื่อสำนักพิมพ์ หนังสือที่เกี่ยวข้องกับประวัติศาสตร์ อุตสาหกรรมบันเทิงที่มีเนื้อหาข้อมูลประวัติศาสตร์ หรือแม้แต่แนวทางการพัฒนาเทคโนโลยี และการบริการธุรกิจ เช่น Heritage Consultancy

ปัจจุบันเท่าที่ทราบยังไม่ได้มีการนำมาขยายและใช้เปิดธุรกิจลักษณะนี้ในประเทศไทย ซึ่งต้องใช้การพัฒนา ความรู้เป็นตัวแปร หรือเป็นลักษณะเศรษฐกิจแห่งความรู้ (Knowledge Economy)

ดังนั้น มรดกวัฒนธรรมวันนี้ เราจะเจาะลึกกว่ามิติของสินค้า แต่มองในแง่การใช้มรดกทางวัฒนธรรมเป็นทุน ในการยกระดับทุนทางความรู้ (Knowledge Capital) หรือการสร้างนวัตกรรมและอาชีพที่มีเอกลักษณ์ มีอัตลักษณ์ของลักษณะประเทศไทย หรือท้องที่บริเวณภูมิเศรษฐกิจต่างๆ การพัฒนาระยะยาวมากว่าการพัฒนาสินค้าทางวัฒนธรรมระยะสั้น เกี่ยวกับการสร้างแรงงาน สร้างโอกาส สร้างผลิตภัณฑ์ต่างๆ

สำหรับปัญหามีทั้งเรื่องการรักษาและการพัฒนาทรัพยากรทางวัฒนธรรม ซึ่งทุนทางเศรษฐกิจและสังคมที่ต้องแข่งกับกระแสการเจริญเติบโตของสังคมเมือง อย่างที่เห็นโบราณคดีหลายแห่งเริ่มเจอปัญหาเมืองขยายออกไป แหล่งโบราณคดีเริ่มพัง เราจะทำอย่างไรต่อไป
และจะทำอย่างไรให้พลิกมรดกทางวัฒนธรรมมาเป็นทุนในการพัฒนาท้องที่ สร้างความเข้มแข็งและเอกลักษณ์ของภูมิเศรษฐกิจของพื้นที่ได้ สร้างความเข้มแข็งในการรักษา บริหาร และใช้มรดกทางวัฒนธรรมกระจายตัวการพัฒนาจากรัฐไปสู่องค์กรเอกชนหรือชุมชนต่างๆ

รวมถึงลดปัญหาการทำลายล้างทรัพยากรที่เกิดจากกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่ไม่ยั่งยืน เช่น การลักลอบขุด ซึ่งดูเหมือนจะขยายตัวมากขึ้นทุกวัน และช่องว่างการเข้าถึงทรัพยากรทางวัฒนธรรมในการดำเนินกิจกรรมทางเศรษฐกิจและสังคมสมัยใหม่

กล่าวคือ ชุมชนทั่วไปหรือประชาชนทั่วไปอาจจะรู้สึกว่า เรื่องวัฒนธรรมประวัติศาสตร์เป็นเรื่องไกลตัว เป็นเรื่องที่เสพแค่เฉพาะเรื่องการท่องเที่ยว แต่ไม่อยู่ในชีวิตประจำวัน เราจะทำอย่างไรให้ทรัพยากรเหล่านี้เข้ามาสู่ชีวิตประจำวันของบุคคลและประชาชนทั่วไป

ดังนั้น เป้าหมายในการเสวนาครั้งนี้ก็คือการระดมความคิด แนวทางการนำทรัพยากรมรดกทางวัฒนธรรมมาใช้เพื่อพัฒนาเศรษฐกิจ อาจจะนำไปสู่สตาร์ทอัปใหม่ๆ ในสังคม แล้วดูว่าประเทศไทยจะใช้มรดกทางวัฒนธรรมที่มีอยู่เป็นตัวนำในการพัฒนาระยะยาวได้หรือไม่

ช่วงแรกจะขอมองภาพรวมของสถานะโครงสร้างนโยบายก่อนว่า มีบทบาทจำกัดหรือเข้ามาควบคุมคุณภาพหละหลวมหรือสร้างปัญหาอย่างไร และสถานการณ์การมีส่วนร่วมของชุมชนหรือเอกชนตอนนี้เป็นอย่างไรบ้าง

“มรดกทางวัฒนธรรม-ทุนทางสังคม”

ศ. ดร.สุเนตร ชุตินธรานนท์ คณบดีบัณฑิตวิทยาลัย จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

ดร.สุเนตร: ประเด็นที่ท่านผู้ดำเนินรายการได้พูดถึงครอบคลุมรายละเอียดที่ค่อนข้างกว้างขวางมาก อาจจะเป็นทั้งเรื่องการอนุรักษ์โบราณสถาน โบราณวัตถุ และอะไรต่างๆ ในทางโบราณคดีนั้นก็ทางหนึ่ง

แต่มิติในทางวัฒนธรรมยังอาจจะหมายถึงวิถีแห่งการดำรงอยู่ ที่สมาชิกในสังคมยอมรับและปฏิบัติมาโดยสืบเนื่อง อันนั้นอาจจะเป็นอีกมิติหนึ่งในทางวัฒนธรรม ส่วนรูปลักษณ์ก็อาจจะมีได้ ทั้งที่จับต้องได้และจับต้องไม่ได้

แต่ทั้งหมดนี้ไม่ว่าจะเป็นโบราณวัตถุ โบราณสถาน ศิลปวัตถุ หรืออะไรที่มีอยู่ในแผ่นดินเรา หรือวิถีแห่งการดำรงอยู่ และคุณค่าอะไรต่ออะไรต่างๆ ที่เรามี หรือเราเคยยึดถือปฏิบัติสืบเนื่องกันมา ผมมองว่าอันนี้เป็น “ทุนทางสังคม”

ทุนทางสังคมในทัศนะของผมที่สำคัญคือ มันทำให้เราสามารถที่จะสานหรือสร้างรูปความสัมพันธ์ที่เราจะอยู่กันด้วยความเข้าใจ ด้วยความเคารพ และพร้อมที่จะร่วมมือกันขับเคลื่อนให้สังคมก้าวไปข้างหน้าได้ ฟังก์ชันส่วนหนึ่งมันน่าจะเป็นฟังก์ชันในทำนองนี้

แต่ตอนนี้ก็มีปัจจัยซึ่งผมคิดว่าน่าจะเป็นตัวแปรอยู่ 2 ตัว คือการเปลี่ยนแปลงมันรวดเร็วมากเหลือเกิน สิ่งที่เราเคยยึดถือ เคยปฏิบัติ เคยให้คุณค่า มันถูกท้าทายด้วยอะไรต่างๆ หลายอย่าง ในขณะที่การสืบสานคุณค่าและความสำคัญไม่มีการดำเนินการอย่างเป็นรูปธรรม หรือในภาครัฐก็อาจจะยังเข้าไม่ถึงคนรุ่นต่อๆ ไป ซ้อนทับกันมา เรากำลังคิดว่าอาศัยทุนนี้ยกระดับประเทศให้ขึ้นมาเป็นประเทศที่พ้นจากสภาวะเศรษฐกิจระดับกลาง ให้ขึ้นไปเป็นไทยแลนด์ 4.0 ได้อย่างไร

ผมคิดว่าอันนี้เป็นอะไรที่ซ้อนทับกันอยู่บนต้นทุนที่เรามี ซึ่งเป็นต้นทุนที่ได้รับผลกระทบจากอะไรต่ออะไรหลายอย่าง จนกระทั่งบางครั้งเราพยายามจะกลับมาสืบค้นว่าต้นทุนเราเป็นยังไงแน่ เรายังตั้งคำถามกับตัวเราเองด้วยซ้ำ แต่อีกขาหนึ่งก็อยากจะก้าวไปข้างหน้า เป็นอะไรคล้ายๆ อย่างนี้หรือเปล่า

วัฒนธรรมประดิษฐ์ นำเศรษฐกิจ-การเมือง

เอิบเปรม: ช่วงหนึ่งที่หนังเกาหลีมาฉายโด่งดังในบ้านเรามากๆ เคยมีครูโรงเรียนมัธยมที่รู้จักกันบอกว่า เมื่อสัก 10 ปีก่อน ไปดูงานที่เกาหลีใต้ ผู้จัดการสัมมนาก็เชิญไปดูโรงถ่ายหนังเกาหลี ซึ่งประเด็นของการสัมมนาคือจะเอาวัฒนธรรมมาใช้ จะเอากระบวนการทางการบันเทิงมาส่งเสริมกระบวนการด้านวัฒนธรรม

ครูคนนั้นบอกว่าเขาไม่ไป และเห็นว่าเป็นเรื่องตลก จะเอาหนังย้อนยุคมาส่งเสริมด้านวัฒนธรรมได้อย่างไร แต่ 10 ปีผ่านไป หนังเกาหลีเต็มตลาดเมืองไทย และพัฒนาจนมาเป็นเคป็อป (K-pop) เขางงมาก เมื่อ 10 ปีก่อนที่ไปเกาหลี ไม่เคยคิดว่ากระบวนการนี้จะเกิดขึ้นได้ในโลกนี้

นี่เป็นสิ่งประดิษฐ์ที่ไม่ได้เกิดขึ้นตามธรรมชาติ แต่เป็นสิ่งประดิษฐ์ที่ประสบความสำเร็จอันหนึ่ง ผมคิดว่านี่คือการเอาวัฒนธรรมนำเศรษฐกิจ นำการเมือง

วัฒนธรรมนำการเมือง ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดเวลานี้คือประเทศจีน เหมือนเขาตั้งใจเป็นโยบายของรัฐเลยว่าจะเอาวัฒนธรรมเป็นธงนำเพื่อจะพัฒนาเศรษฐกิจ การเมือง การค้า

ประเทศจีนต่อเรือสำรวจโบราณคดีใต้น้ำ ใหญ่กว่าเรือโบราณคดีใต้น้ำไทยประมาณ 15 เท่า วันที่เขาปล่อยเรือลงน้ำเขาบอกว่า จุดแรกที่เขาจะสำรวจโบราณคดีใต้น้ำคือหมู่เกาะสแปรตลี (Spratly Islands) ซึ่งเป็นพื้นที่ท่ามกลางความขัดแย้ง แน่นอนว่าเครื่องมือสำรวจโบราณคดีใต้น้ำ ถ้าใช้สเปกสูงๆ ก็หาน้ำมัน หาแร่ธาตุ ในทะเลได้ด้วย

นายเอิบเปรม วัชรางกูร นักโบราณคดีชำนาญการพิเศษ หัวหน้ากลุ่มโบราณคดีใต้น้ำ สำนักโบราณคดี กรมศิลปากร

ซึ่งพอเขาประกาศ ผมก็ อ๋อ…เรื่องรถไฟฟ้าความเร็วสูง เรื่องท่าเรือน้ำลึกต่างๆ เรื่องการสร้างเส้นทางเชื่อมโยงระหว่างเมืองในทวีป ก็เป็นเรื่องที่ไม่เหลือบ่ากว่าแรง เมื่อเขามีหลังคารอไว้แล้ว

พอหันกลับมาดูในบ้านเราทำเรื่องมรดกวัฒนธรรม เอามาเทียบกันเหมือนเด็กกับซือแป๋ที่เชี่ยวชาญโลก เชี่ยวชาญการตลาด ในขณะที่มีเด็กเล็กๆ คนหนึ่งมองว่าเขาทำอะไรกันอยู่

พชรพร: เหมือนเรื่องสื่อหรือการพัฒนาระดับกว้างอย่างที่รัฐบาลจีนทำ เป็นเรื่องของสังคมเมือง สังคมความรู้ หรือสังคมอย่างกรุงเทพฯ หรือหัวเมืองใหญ่ ที่แสดงให้เห็นถึงความสำเร็จ แต่อยากทราบว่าในการกระจายตัวบนหลักการเดียวกันนี้ ในความพยายามของภาครัฐที่พยายามจะกระจายตัวสู่นอกเมือง สู่ชุมชน การเข้าถึงมรดกทางวัฒนธรรม และการนำมรดกทางวัฒนธรรมมาใช้ สถานะขณะนี้เป็นอย่างไรบ้าง

สังคมอยู่ในสภาวะ “เบลอ” กับมิติวัฒนธรรม

สายันต์: ขออนุญาตพูดในฐานะคนที่ทำงานพัฒนาชุมชน ทำโบราณคดีชุมชน และทำเรื่องมิติวัฒนธรรมโดยเฉพาะ ผมคิดว่าปัญหาวันนี้เราอยู่ในสภาวะที่ “เบลอ”

เคยคุยกับรัฐมนตรีวัฒนธรรมสมัยหนึ่ง และข้าราชการชั้นสูงกระทรวงวัฒนธรรม ก็ตั้งคำถามว่าความหมายของคำว่าวัฒนธรรมคืออะไร ตอบไม่ตรงกันสักคนเดียว วันนี้ถ้าไปถามคนในกระทรวงวัฒนธรรมก็ตอบไม่ตรงกัน เอาแค่นิยามต่างคนก็ต่างไม่รู้กี่ร้อยตำรา แล้วพอยิ่งไปถึงคำว่ามรดกวัฒนธรรม ยิ่งเบลอไปใหญ่

แต่วันนี้เรากำลังพูดถึง Cultural Industry อุตสาหกรรมวัฒนธรรม คือความหมายเดิมก็เบลอแล้ว แต่เราใช้งานมันแล้ว และใช้งานในลักษณะที่เป็นอุตสาหกรรม เป็นคอนเซปต์อุตสาหกรรมล้วนๆ ซึ่งผมคิดว่าอันตราย

เราไม่เคยศึกษาญี่ปุ่นเหรอ ไม่เคยศึกษาเกาหลีเหรอ ญี่ปุ่นใช้อุตสาหกรรมมาก่อน ยุโรป อเมริกา ล้วนแต่นำหน้าเราเรื่องนี้มาก่อน คิดมาก่อน เขาใช้อุตสาหกรมเป็นเครื่องมือ แต่ท้ายที่สุดวันนี้อเมริกาก็ตกต่ำ ยุโรปก็ย่ำแย่ ทั่วโลกย่ำแย่ไปหมด

ผมเลยคิดว่า เราต้องมา “หาความหมายร่วมกัน” เสียก่อน ถ้าเราจะทำอุตสาหกรรมมรดก อุตสาหกรรมวัฒนธรรม เราเรียนรู้จากคนอื่นก่อนไหมว่าเขาพลาดตรงไหนมาบ้าง ที่เขาใช้อุตสาหกรรมเป็นเครื่องมือ

ทำไมพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 9) ไม่ใช้อุตสาหกรรม ทำไมใช้เศรฐกิจพอเพียง ดังนั้น คำว่าวัฒนธรรมในความหมายที่ผมค้นพบจากประวัติศาสตร์ จริงๆ อย่างที่อาจารย์สุเนตรพูด มันคือองค์รวมของความสัมพันธ์ เป็นสภาวะ เป็นเรื่องเดียวกับชุมชน เป็นเรื่องเดียวกับสังคม คือสภาวะของความสัมพันธ์ที่เอื้อเฟื้อเกื้อกูลกัน

ไม่ได้พูดว่ารวยหรือจน แต่อยู่ร่วมกันยังไงถึงจะสันติสุข ทำขวานหินเพื่ออะไร ปั้นหม้อเพื่ออะไร สร้างพระปรางค์เพื่ออะไร หรือทำกำแพงเมือง คูเมือง ค้าขายเพื่ออะไร เพราะท้ายที่สุดคือการอยู่ร่วมกันอย่างสันติสุข

ปัจเจกอยู่รอดด้วยการอยู่ร่วมกับปัจเจกอื่นๆ อย่างสันติสุข ไม่ใช่แค่คนกับคน แต่ยังรวมถึงคนกับธรรมชาติ กายภาพ ดิน น้ำ ลม ไฟ อากาศ สัตว์ พืช และคนกับสิ่งเหนือธรรมชาติ เป็นมิติความสัมพันธ์ที่ใหญ่มาก เราไม่ได้พูดถึงเรื่องเหล่านี้เลย ความหมายทางวัฒนธรรมที่เราใช้กันอยู่ทั่วไปคือคนมาอยู่ร่วมกัน มีเป้าหมายร่วมกัน แต่แตกออกไปเป็นส่วนๆ ไม่ได้มองเป็นองค์รวมทั้งหมด

เพราะฉะนั้น อุตสาหกรรมเป็นแค่เครื่องมือชนิดหนึ่งของวัฒนธรรมเท่านั้นเอง ไม่ใช้ก็ได้ และถ้าเราเข้าใจอย่างนี้แล้ว ก็ต้องมาดูว่า Heritage Industry กับ มรดกวัฒนธรรม เราจะเอาแค่ไหน แต่ตอนนี้เราไม่ได้พูดกันเรื่องนี้เลย

ผมตั้งคำถามว่าแล้วจะพาสังคมไปไหน ในเมื่อเราไม่เคยพูดเลยว่าวัฒนธรรมมีเป้าหมายอะไร เรารู้ไหมว่าวัฒนธรรมทำอย่างไรจึงบรรลุเป้าหมายนั้น เราพูดแค่ว่าวัฒนธรรมคืออะไร แล้วก็กระโดดไปที่มรดกวัฒนธรรมคืออะไรบ้าง เป็นทางวัตถุ ทางอวัตถุ และมองว่าจะเอามันมาใช้ทำอะไร

โดยเฉพาะวันนี้ คือเป้าหมายเรื่องยกระดับรายได้ ขาย แต่เราลืมไปว่าสินค้าอุตสาหกรรมนั้นมันขายได้ครั้งเดียว ผลิตเยอะๆๆ ใช้ทรัพยากรมากมาย ใช้แรงงานมากมาย เสร็จแล้วยั่งยืนไหม ไม่ยั่งยืน ต้องคิดใหม่ตลอดเวลา ต้องเพิ่มทุนตลอดเวลา

ศ.สายันต์ ไพรชาญจิตร์ นักวิชาการอิสระ

ก็อยากจะให้มามองตรงนี้ก่อน แล้วกำหนดความหมายร่วมกันให้ชัดว่าเราเอาแค่ไหน ไม่อย่างนั้นต่างคนต่างทำ ยิ่งเรากำลังจะเอากิจการเหล่านี้ไปให้เอกชนทำ ซึ่งเขามีเป้าหมายคือกำไร พอกำไรก็ต้องเอาเปรียบ เอาเปรียบสารพัด เอาเปรียบดิน น้ำ ลม ไฟ สัตว์ เอาเปรียบผู้บริโภค ถามว่าเป้าหมายวัฒนธรรมจะบรรลุไหม ไม่บรรลุครับ

วันนี้ถึงมีความขัดแย้งหลายเรื่องเกิดขึ้น ที่ดิน ป่าไม้ ป่าชุมชน พระปรางค์วัดอรุณฯ ซึ่งเราไปไม่ได้ 4.0 ไม่มีทางไปได้ เพราะว่าเรายังงงอยู่ว่าเราจะไปไหน เราจะไปยังไง

ช่องว่างจากมรดกวัฒนธรรมสู่ Heritage Industry

ดร.ชูวิทย์: ผมมองว่าสารตั้งต้นของเรื่องราวน่าจะเป็นการทำความใจเรื่องวัฒนธรรมให้ถูกต้องก่อน ยังไม่พูดถึงมรดก ก็คือองค์รวมของสภาวะที่มาอยู่ร่วมกัน ก็ทำให้มองเห็นว่ามันมีมากกว่าเรื่องการจับจ่ายใช้สอยที่จะได้มาซึ่งรายได้ต่างๆ

ถ้ากลับไปดูมุมมองการทำงานของ อพท. เป็นการทำงานที่บางทีเราก็บอกว่าคนไม่เข้าใจ เราก็ภูมิใจว่าทำงานแบบศาสตร์ชั้นสูงมาก แต่จริงๆ แล้วไม่ใช่ เพราะเรามองว่าเรื่องการท่องเที่ยว หน่วยงานอื่นๆ โดยเฉพาะหน่วยงานที่ทำงานด้านอุปสงค์ที่ทำเรื่องการตลาด ทำหน้าที่เป็นนางกวัก กวักคนเข้ามาเยอะมาก

เราไม่มีปัญหาเรื่องอุปสงค์ นักท่องเที่ยวต่างชาติที่เข้ามาปีนี้น่าจะแตะ 32 ล้านคน 50 ล้านคนเราก็ไม่มีปัญหาในเรื่องของการกวักอุปสงค์เข้ามา แต่ว่าหลังจากที่ 32 ล้านคนกลับไปแล้ว หน่วยงานที่ทำงานด้านอุปสงค์ไม่ต้องรับผิดชอบ ซึ่งถูกต้อง ไปว่าเขาไม่ได้ อันนี้คือปัญหาที่ทิ้งไว้

เพราะฉะนั้น อพท. เลยถือกำเนิดมาดูด้านอุปทาน เราก็บอกว่าเรื่องการท่องเที่ยว จะใช้เป็นเครื่องมือไม่ใช่ในทางเศรษฐกิจเป็นหลัก แต่จะใช้การท่องเที่ยวเป็นเครื่องมือในการ “พัฒนา” ไม่ว่าจะพัฒนาความสามัคคีเข้มแข็งในชุมชน ติดอาวุธองค์ความรู้ต่างๆ หรือกระทั่งให้อนุรักษ์ หวงแหน มีความภาคภูมิใจกับวัฒนธรรมไม่ว่าจะจับต้องได้หรือจับต้องไม่ได้ในแหล่งท่องเที่ยวนั้นๆ

กระบวนการที่เริ่มต้นอย่างนี้ ทำให้ไม่ได้เอาเงินเป็นตัวนำ อย่างที่อาจารย์พูดถูกต้อง เดิมเรื่องวัฒนธรรมหรือมรดกทางวัฒนธรรม เราอยู่ในมิติของการอนุรักษ์ แต่พอจะเอาไปใช้ประโยชน์ เรากระโดดไปถึงคำว่า Heritage Industry เลย

มันมีสัญญาณมาตั้งแต่แผน 11 ของสภาพัฒน์ฯ (แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ) ผมเคยอยู่สภาพัฒน์ฯ ก็อยู่ในกระบวนการที่นั่งวางแผนเรื่อง “เศรษฐกิจสร้างสรรค์” ขึ้นมา ซึ่งเป็นร่มใหญ่ครอบคลุม 15 สาขา โดย Heritage Industry ก็ เป็นหนึ่งใน 15 นั้น

มีการวิเคราะห์สถานการณ์ความเป็นไปของโลกว่าทิศทางจะเป็นยังไง ก็มีการพูดตรงกันว่าความเป็นมหาอำนาจของโลกในอนาคตข้างหน้าไม่ใช่การครอบครองเรื่องอาวุธยุทโธปกรณ์หรือกำลังทหารหรือแสนยานุภาพทางความมั่นคง แต่กลายเป็นเรื่องของ “Soft Side” ครอบครอง 3 อย่าง คือ อาหาร พลังงาน และความคิดสร้างสรรค์ ตรงนี้เกาหลีใต้ก็จับ อังกฤษก็จับประเด็นเรื่องความคิดสร้างสรรค์ เอาไปออกแบบเป็นนโยบายครีเอทีฟอีโคโนมี

แม้กระทั่งคลองช็องกเยช็อน ก็ใช้แนวคิดเรื่องครีเอทีฟอีโคโนมีเข้าไปจับ กลายเป็นแหล่งท่องเที่ยวสวยงาม แต่รัฐบาลเกาหลีใต้คิดไปไกลกว่าเรื่องรายได้ เขาคิดเรื่องการสร้างความภาคภูมิใจให้คนในชาติ

อี มย็อง-บัก ผู้ว่าการกรุงโซลขณะนั้น ต้องใช้พละกำลังและความกล้าขนาดไหนที่ต้องรื้อย้ายคนออกไป รื้อถนน รื้อสะพาน เพื่อแปลงคลองช็องกเยช็อนให้เป็นวัฒนธรรมที่นำมาซึ่งรายได้ แต่ที่เขาภาคภูมิใจก็คือ เขาทำให้คนเกาหลีใต้ซึ่งเคยไม่มีระเบียบวินัยตลอด 2 ริมคลอง ลุกขึ้นมารักและหวงแหน เห็นความสำคัญที่จะช่วยกัน ทำให้คลองช็องกเยช็อนเป็นคลองที่ดังกระฉ่อน

เมื่อกลับมาเรื่องเศรษฐกิจสร้างสรรค์ เรามองว่าจากการกระโดดจากการอนุรักษ์วัฒนธรรมหรือมรดกวัฒนธรรม ขึ้นไปเป็น Heritage Industry มันขาดช่องว่างตรงกลางไป ซึ่งเป็นปัญหาอยู่ทุกวันนี้

ซึ่งกระบวนการที่แปลงจากการอนุรักษ์ไว้แล้วเอามาใช้ประโยชน์ มันมีกุญแจสำคัญ 3 ตัว คือ การเข้าถึง, การใช้ประโยชน์ และการแบ่งปัน ต้องปลดล็อกออกมา เราบอกว่าจากนี้ไปจะมี 3 คำนี้ ขอให้ทุกคนเข้าถึงได้ ใช้ประโยชน์ได้ แต่พอเป็นแบ่งปัน มันก็จะมองข้ามตัวละครสำคัญ คือคนที่เป็นเจ้าของพื้นที่จริงๆ นั่นคือชุมชน

อพท. จึงมีภารกิจหลัก 2 อย่าง คือ 1. การบริหารพื้นที่พิเศษ 2. การท่องเที่ยวโดยชุมชน เราจะย้ำว่าไม่ได้เน้นเรื่องรายได้เลย เพราะชุมชนเหล่านี้มีอาชีพประจำอยู่แล้ว เป็นชาวนา ชาวไร่ ชาวสวน แล้วมาทำเรื่องท่องเที่ยวชุมชนเป็นรายได้เสริม เราก็เข้าไปบอกว่าการเข้าถึงคงไม่ค่อยมีปัญหาเท่าไหร่

แต่เรื่องการใช้ประโยชน์เป็นเรื่องท้าทาย ที่อาจารย์บอกว่าภาคเอกชนจะถูกมองไว้ก่อนว่าเป็นคนที่เอาเปรียบ ถ้าจะให้เขามาใช้ประโยชน์ไม่ว่าจะเป็นเชิงสัมปทาน หรือเข้าไปบริหารจัดการต่างๆ คงต้องยอมรับในจริตของเขาว่า ถ้าเขาจะเอาเปรียบแต่มันเป็นประโยชน์ คือเอาเปรียบในส่วนที่จะเอาเปรียบ แล้วมันจะเกิดประโยชน์ต่อชุมชนอย่างไร อันนี้เป็นความท้าทาย

ก็เลยมีแรงเสียดทานมาว่า ฉันจะมุ่งเรื่อง 4.0 แล้ว บอกไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลังก็จริง แต่คนที่มองตาปริบๆ ข้างหลัง 0.4 หมดเลย ตาม 4.0 ไม่ไหว ก็เลยเป็นประเด็นว่า ชุมชนจะเข้ามาเบียดพื้นที่ของเอกชนตรงคำว่าใช้ประโยชน์ได้อย่างไร

ดร.ชูวิทย์ มิตรชอบ รองผู้อำนวยการองค์การบริหารการพัฒนาพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน (องค์การมหาชน) หรือ อพท.

ยกตัวอย่างให้เห็นเป็นรูปธรรมก็คือ อุทยานประวัติศาสตร์สุโขทัย ส่วนใหญ่คนไปเที่ยวแล้วก็กลับ นักท่องเที่ยวที่เป็นกลุ่มเวลาเดินทางไปเที่ยวก็จะมีไกด์จากกรุงเทพฯ บินไปยืนอธิบาย ขณะที่คนชุมชนก็มองตาปริบๆ เขาไม่ได้มีส่วนร่วม ไม่ได้มีความภาคภูมิใจในการเข้าไปมีบทบาทที่เขาเป็นเจ้าของจริงๆ นี่คือมิติทางสังคม มิติทางเศรษฐกิจไม่ต้องพูดถึง เขาไม่ได้กินไม่ได้ใช้อยู่แล้ว เหมือนทัวร์ศูนย์เหรียญสำหรับชุมชน เพราะไกด์มาจากกรุงเทพฯ รับเงินไป แล้วก็กลับไป

อพท. ก็จับมือกับยูเนสโกที่มีโครงการ “พัฒนามัคคุเทศก์ท้องถิ่นเชี่ยวชาญมรดกโลก” ก็ตอบโจทย์พื้นที่พิเศษของ อพท. โครงการนี้ทำในประเทศเพื่อนบ้านประสบความสำเร็จหลายประเทศ

ใครผ่านหลักสูตรนี้ได้ ค่าตัวต่อชั่วโมงเทียบกับไกด์ทั่วไปก็จะได้มากกว่าประมาณ 2-3 เท่า อพท. ก็เห็นช่องทางทำงานร่วมกันในปี 2557 และ 2558 เราผลิตมัคคุเทศก์ท้องถิ่นเชี่ยวชาญมรดกโลก 26 ชีวิต ก็ตอบโจทย์ในมิติทางสังคม เขาลุกขึ้นมาทำในสิ่งที่ภาคภูมิใจ มีส่วนร่วม มีความเป็นเจ้าของ

อีกมิติหนึ่งคือเศรษฐกิจก็ได้กินได้ใช้ และสิ่งที่เราบอกเขาเสมอก็คือ อย่ารับอาชีพนี้เป็นงานประจำ เพราะอุตสาหกรรมท่องเที่ยวมันเปราะบางมาก เจอเรื่องก่อการร้าย ภัยพิบัติ แม้แต่เศรษฐกิจไม่ดีก็เดี้ยงได้ ฉะนั้นขอให้มีอาชีพประจำ นี่คือสรณะในการทำงานของ อพท.

ตอนนี้เรามีพื้นที่พิเศษ 6 แห่งทั่วประเทศ เจตนาคือต้องการทำภารกิจพิเศษแต่ละแห่งเป็นการ “สร้างต้นแบบ” และนำต้นแบบไปบอกคนนอกพื้นที่ให้ทำอย่างเรา ที่เกาะช้าง เป็นแนวอีโค คนที่มาทำงานกับเรามีกระทรวงทรัพย์ฯ กระทรวงพลังงาน เป็นธีมโลว์คาร์บอนทัวริสซึม

แต่แน่นอนว่าถ้าในพื้นที่อุทยานประวัติศาสตร์สุโขทัย ก็จะเป็นธีม World Heritage เพราะฉะนั้น ทรัพยากร บุคคลากร งบประมาณ จะมีโฟกัสชัดเจน

ผมจึงมองว่าวันนี้เรามองวัฒนธรรมหรือมรดกทางวัฒธรรมเป็นผลิตภัณฑ์ไปแล้ว แต่ไม่ได้ใส่ใจกับกระบวนการที่จะนำไปใช้ประโยชน์ เพราะฉะนั้นจึงเกิดช่องว่าง ยิ่งมีการกระพือเรื่อง 4.0 ก็มองไปที่เรื่องผลิตภัณ์หมดเลย

ก็กลับมาที่ 3 คำ คือ เข้าถึง ใช้ประโยชน์ แบ่งปัน ผมคิดว่าถ้าใช้ 3 คำนี้เป็นกรอบให้ทุกคนมานั่งจับเข่าคุยกัน ก็จะได้มองว่าใครจะได้ประโยชน์บ้าง ใครได้รับการแบ่งปัน ซึ่งการแบ่งปันไม่ใช่เรื่องเงิน แต่เป็นการแบ่งปันบทบาทของการทำหน้าที่เป็นเจ้าบ้านที่ดี เป็นคนที่รักและหวงแหนในพื้นที่ของเขา

[อ่านตอนที่2 เวทีปัญญาสาธารณะ :“โบราณคดีชุมชน” เครื่องมือขับเคลื่อนงานพัฒนา สร้างจุดร่วม ชวนชุมชน เข้าถึง ใช้ประโยชน์ แบ่งปันคุณค่าทางวัฒนธรรม]