ThaiPublica > คอลัมน์ > Australus เพื่อการตลาด

Australus เพื่อการตลาด

21 กันยายน 2018


วรากรณ์ สามโกเศศ

ที่มาภาพ : https://upload.wikimedia.org/wikipedia/commons/thumb/1/17/Kangaroo_with_thyme_at_restaurant_Memphis.jpg/

ใครๆ ก็รู้จัก Australia และ Austria ที่ไม่มีจิงโจ้ แต่ Australus ยังมีคนรู้จักน้อย แต่อาจพลิกผันไปได้ในอนาคต เรื่องนี้มีบทเรียนสำหรับผู้บริโภค

Terra Australis แปลว่าดินแดนทางใต้ในภาษาละติน เป็นดินแดนในจินตนาการที่ปรากฏบนแผนที่ทั้งๆ ที่ไม่มีการสำรวจมาตั้งแต่ศตวรรษที่ 5 เนื่องจากเมื่อมีดินแดนทางเหนือที่ชาวโลกอยู่อาศัยก็เป็นธรรมดาที่ต้องมีดินแดนทางใต้

มาพบดินแดนนี้จริงๆ กันโดยชาวยุโรปในศตวรรษที่ 17 ชื่อดั้งเดิมคือ Terra Australis จึงถูกนำมาใช้เรียก ต่อมาก็เรียกว่า New Holland ตามที่ผู้บุกเบิกชาวดัตช์ Abel Tasman เรียกใน ค.ศ. 1644 ดินแดนนี้ได้มีชื่อว่า Australia ในที่สุดตามการเรียกของนักบุกเบิกชื่อ Mathew Flinders (ค.ศ. 1774-1814) จนเป็นที่รู้จักกันกว้างขวางเพราะออกเสียงง่ายและติดหู ชื่อ Australia ได้กลายเป็นชื่อทางการในเดือนเมษายนของปี 1817

คราวนี้มาถึงชื่อ Australus ซึ่งมีอายุสั้นมากเพราะโลกเพิ่งรู้จักชื่อนี้กันเมื่อ ค.ศ. 2006 นี้เองเมื่อมีการประกวดเรียกชื่อเนื้อของสัตว์ชนิดหนึ่งซึ่งมีอยู่ที่ทวีปนี้แห่งเดียวในโลกนั่นก็คือจิงโจ้ หรือ Kangaroo

ถ้าสังเกตชื่อเนื้อสัตว์จะพบว่าในภาษาอังกฤษจะมีอะไรที่แปลก เช่น เนื้อของแกะ (sheep) จะมีชื่อเรียกว่า lamb หรือ mutton เพราะแกะมีภาพของความน่ารักจนไม่น่าจะกินลง หากเรียกว่า sheep คงไม่มีคนนิยมจึงสรรหาชื่ออื่นมาเรียกเช่นเดียวกับเนื้อของวัว (cow) เรียกว่า beef เนื้อของกวาง (deer) เรียกว่า venison เนื้อของหมู pig เรียกว่า pork (กรณีนี้หลีกเลี่ยงการเรียกว่า pig เพราะจะไม่น่ากินเนื่องจาก pig มีความหมายไปทางไม่ดี) คนไทยไม่มีปัญหาเรื่องวัฒนธรรมชื่อกับการกินมาก เพราะเรากินได้ทั้งนั้นไม่ว่าจะตั้งชื่อว่าอะไร ชื่อบางอย่างที่ถือกันว่าไม่เป็นมงคลเราก็แก้ไขให้กลายเป็นมงคลไปได้ข้ามคืน เช่น เปลี่ยนชื่อต้นลั่นทมเป็นลีลาวดี

ในออสเตรเลียนั้นจิงโจ้มีหลากหลายพันธุ์ ถ้านับทุกสายพันธุ์ตั้งแต่ตัวเล็กเท่าหนูตัวใหญ่จนถึงตัวใหญ่ 5-6 ฟุตแล้ว มีจำนวนไม่ต่ำกว่า 40 ล้านตัว (ประชากรปัจจุบัน 25 ล้านคน) จนกลายเป็นสัตว์ที่เป็นศัตรูทางเศรษฐกิจสำคัญเพราะกินพืชพรรณที่ปลูกไปมหาศาลในแต่ละปีร่วมกับกระต่ายอีก 200 ล้านตัว สัตว์ทั้งสองชนิดแพร่พันธุ์เร็วมาก ท้องหนึ่งๆ ใช้เวลาเพียง 30-40 วันเท่านั้นเอง

แต่ดั้งเดิมนั้นคนออสเตรเลียเขาไม่กินเนื้อจิงโจ้กัน (เช่นเดียวกับการไม่ไปโบสถ์) ส่วนใหญ่โยนทิ้งหรือไม่ก็เป็นอาหารของสุนัขหรืออย่างดีก็กินแค่ซุปหางจิงโจ้ แต่ 20-30 ปีที่ผ่านมาเกิดมีการค้าเนื้อจิงโจ้ขึ้นในประเทศและในระดับโลก (ในปี 2010 ส่งออกไป 55 ประเทศ) จึงเกิดความคิดที่จะหาชื่อที่เหมาะสมขึ้นให้ห่างไกลภาพลักษณ์อันน่ารักของจิงโจ้ (เจ้า Skippy ในซีรีส์โทรทัศน์ ยุคทศวรรษ 1960 เป็นตัวการ) อีกทั้งยังเป็นสัญญลักษณ์ของประเทศอีกด้วย นิตยสารชื่อ Food Companion International ซึ่งสำนักงานใหญ่อยู่ที่เมือง Sydney จึงจัดการประกวดชื่อเนื้อจิงโจ้ให้แยกออกไปจากชื่อจิงโจ้ในปี ค.ศ. 2005

ปรากฏว่ามีผู้ส่งชื่อเข้าประกวด 2,700 ชื่อ จาก 41 ประเทศ รายชื่อสุดท้ายที่ได้รับการคัดเลือกก็ได้แก่ “Maroo” / “Ozru” / “Marsupan” / “Jumpmeat” / “Rooviande” ชื่อที่ได้รับเลือกคือ Australus ผู้ชนะคือคนอเมริกันชื่อ Steven West (ผู้ชนะการออกแบบเมืองหลวง คือ Canberra ในปี 1911 ก็เป็นคนอเมริกันเช่นกัน ชื่อ Walter Burley Griffin)

ชื่อนี้มีทั้งผู้เห็นด้วยและไม่เห็นด้วย เวลาผ่านมากว่า 10 ปีแล้วก็ยังไม่ติดปากของผู้คนที่บริโภคกันมากขึ้นทั่วโลก (ปีหนึ่งมีมูลค่าไม่ต่ำกว่า 3,500 ล้านบาท) ปีหนึ่งมีโควตาฆ่าถึง 3.9 ล้านตัวเนื่องจากเนื้อจิงโจ้เกือบทั้งหมดมาจากการล่าสัตว์ และจุดนี้เองที่เป็นที่วิพากษ์วิจารณ์ในระดับโลกว่าเป็นการทารุณ เพราะแต่ละปีมีลูกที่กำพร้าแม่ถึง 400,000 ตัว และก็ถูกฆ่าตามไปด้วย

ที่มาภาพ : https://upload.wikimedia.org/wikipedia/commons/c/c6/Kangaroo_Meat.jpg

อย่างไรก็ดี ก็มีผู้สนับสนุนอีกทางหนึ่งโดยส่งเสริมแนวทางใหม่ของการบริโภคเพื่อลดน้ำหนักที่เรียกว่า kangatarianism (kangaroo+vegetarian) ซึ่งแพร่หลายประมาณปี 2010 กล่าวคือกินเนื้อจิงโจ้เท่านั้นคู่กับผัก เพราะมีโปรตีนและไวตามินสูงเป็นพิเศษ อีกทั้งเป็นการช่วยสิ่งแวดล้อม เพราะจิงโจ้เป็นผู้ร้ายตัวเอกและจิงโจ้เป็นสัตว์ป่าไม่ต้องใช้ทรัพยากรที่ดินเลี้ยง แถมผลิตมีเทนซึ่งเป็นก๊าซเรือนกระจกน้อยกว่าวัวมาก

ประเด็นที่น่าสนใจก็คือการตลาดลวงให้ลืมความน่ารักของสัตว์ด้วยการตั้งชื่อเนื้อ ประชาสัมพันธ์ความน่ากินของเนื้อจิงโจ้จนกลายเป็นเนื้อพิเศษราคาแพงไปแล้วทั้งๆ ที่ไม่ได้เลี้ยงในฟาร์มจนมีต้นทุนสูง เรื่องนี้ทำให้นึกถึงเรื่องอื่นๆ ที่ผู้บริโภคอาจถูกหลอกได้ง่ายๆ เช่น

(ก) เรื่องไขมันทรานส์ (trans fat) ที่อันตรายต่อสุขภาพ หากดูฉลากบนขวดนำ้มันของบ้านเราจะเขียนว่า “ผ่านกรรมวิธี” แต่ไม่บอกว่ากรรมวิธีอะไร เดาได้ว่าผ่านการอัดไฮโดรเจนบางส่วนเข้าไปเพื่อไม่ให้เหม็นหืนง่าย แต่ผลก็คือเกิดไขมันทรานส์ มันจะมีไขมันทรานส์หรือไม่มิได้อยู่ที่ประเภทน้ำมัน หากอยู่ที่กรรมวิธีในการผลิต บ้านเราเขาพยายามบอกว่าเป็นน้ำมันชนิดนี้แล้วไม่มีไขมันทรานส์

(ข) ถ้าฉลากบนอาหารบอกว่ามีน้ำตาล หรือไขมัน 0% มันมิได้หมายความว่าไม่มีเลย หากแต่มีไม่เกิน 5% (เป็นอย่างนี้เกือบทั่วโลก) เรื่องนี้เป็นเรื่องจริงที่ไม่ค่อยรู้กัน

ผู้บริโภคต้องรู้ทันกลวิธีการตลาดที่มาในหลากหลายรูปแบบ ไม่ว่าจะเป็นชื่อหรือข้อมูลที่ให้เรื่องไขมัน น้ำตาล สี กลิ่น ส่วนประกอบอื่นๆ ผสม สิ่งที่ต้องระวังเป็นพิเศษคือความชอบของตัวเราเองที่เกิดจากการตกหลุมเสียแล้วแต่แรกจากการโฆษณา จึงมิได้ดูฉลากหรือเฉลียวคิดหรือระแวดระวังการคิดเข้าข้างตัวเอง ไม่มีอะไรน่ากลัวไปกว่าการหลอกตัวเองเมื่อตกหลุมชอบลงไปเสียแล้ว

หมายเหตุ : ตีพิมพ์ครั้งแรก คอลัมน์ “อาหารสมอง” นสพ.กรุงเทพธุรกิจ วันอังคารที่ 18 ก.ย. 2561