e-cigarette

2 กรกฎาคม 2013


วรากรณ์ สามโกเศศ
มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์

E-Cigarette ที่มาภาพ : http://inovpme.com
E-Cigarette ที่มาภาพ : http://inovpme.com

ปัจจุบันถ้าเห็นคนกำลังยืนพ่นควันอย่างเคลิบเคลิ้มในสถานที่ต้องห้าม มีป้ายเขียนว่า No Smoking อย่าได้ปรี่เข้าไปต่อว่าเขาเป็นอันขาดเพราะท่านอาจหน้าแตก เนื่องจากเขาไม่ได้ smoking แต่ vaping อยู่ก็เป็นได้

แต่ดั้งเดิมผู้คนติดนิโคตินจากการเผาไหม้ยาสูบในบุหรี่และสูดควันเข้าไป อย่างนี้เรียกว่า smoking แต่ปัจจุบันมีบุหรี่เทียมชนิดใหม่ที่เรียกว่า e-cigarette หรือ PV (Personal Vaporiser)คนไทยเรียกว่าบุหรี่ไฟฟ้า การใช้บุหรี่ชนิดใหม่นี้เขาเรียกว่า vaping มาจาก vaporize ซึ่งหมายถึงระเหย ดังนั้น vaping จึงหมายถึงการสูดดมไอระเหย

e-cigarette เป็นแท่งกลมคล้ายบุหรี่ แบ่งเป็นส่วนของแบตเตอรี่และส่วนที่บรรจุขวดเล็กใส่ของเหลวเสริมกลิ่มหอมของดอกไม้และผลไม้ผสมกับนิโคติน เมื่อดูดอากาศเข้าไปมันก็จะไปเปิดสวิชไฟเกิดไฟแดงที่ปลายแท่งพร้อมกับการทำงานของแบตเตอรี่ เกิดความร้อนทำให้ของเหลวในขวดที่บรรจุไว้ระเหยขึ้นมาเป็นควัน ดูดเข้าไปในปอดเพื่อเสพนิโคตินแล้วก็พ่นควันออกมา

vaping ทำให้ผู้สูบได้รับนิโคตินโดยมีควันไอน้ำเข้าปอดและพ่นออกมาเหมือนควันบุหรี่ โดยไม่มีการเผาไหม้ให้เป็นควันเข้าไปในปอดให้เสียสุขภาพ

e-cigarette นี้เรียกได้ว่าเป็นประดิษฐกรรมชั้นยอดที่ลดผลเสียจากควันบุหรี่แก่ผู้ใช้และไม่มีควันมือสอง (second-hand smoke) กระทบคนข้างเคียงแม้แต่น้อย เรียกง่าย ๆ ว่าสามารถทำให้คนเลิกสูบบุหรี่แบบดั้งเดิมได้โดยหันมาใช้ PV แทน

อย่างไรก็ดีปรากฏว่า WHO / The American Lung Association / American Cancer Society / The American Heart Association / FDA / EU ฯลฯ ต่างพากันไม่สนับสนุน e-cigarette เป็นเสียงเดียวกัน มันมีอะไรอยู่ในกอไผ่หรือจึงไม่ส่งเสริมสิ่งที่สามารถทดแทนบุหรี่ได้และองค์กรเหล่านี้ก็ต่อต้านการสูบบุหรี่กันมายาวนาน?

ผู้ประดิษฐ์ e-cigarette เป็นคนแรกของโลก คือ Herbert A. Gilbert เขาได้จดทะเบียนสิทธิบัตรใน ค.ศ. 1963 และใน ค.ศ. 1967 หลายบริษัทพยายามติดต่อเขาเพื่อผลิตออกมาขาย แต่หลังจาก 1967 แล้วเรื่องก็เงียบหายไป

ในปี 2000 Hon Lik เภสัชกรจีนประดิษฐ์บุหรี่ไฟฟ้าในลักษณะเดียวกัน และผลิตออกมาขายในตลาดจีนในปี 2004 และจดทะเบียนลิขสิทธิ์ต่างประเทศในปี 2007 e-cigarette ได้รับความนิยมขึ้นเป็นลำดับจนปัจจุบันมีผู้ใช้นับเป็นล้านคนในโลก และดูจะมีอนาคตจนสร้างความหวั่นไหวให้แก่วงการบุหรี่และวงการยาสูบโลก

ใน PV นั้นนิโคตินจะผสมอยู่ในของเหลวที่มีชื่อว่า Propylene Glycol เพื่อให้ระเหยเป็นไอ ของเหลวนี้ใช้ในยาพ่นจมูกของผู้เป็นหืดหอบ เป็นสารผสมอาหารคนและสัตว์ ผสมครีมเสริมความงาม ผสมตัวยาเพื่อการละลาย ฯลฯ เท่าที่พบ Propylene Glycol ไม่ก่อให้เกิดพิษในคนและสัตว์

การใช้ของเหลวนี้ผสมนิโคตินเพื่อให้เป็นไอแทนควันบุหรี่นั้น ถึงแม้อาจทำให้เลิกการสูบบุหรี่ก็จริงอยู่แต่ไม่ได้ทำให้เลิกติดนิโคตินเพราะหันมาติดนิโคตินในบุหรี่ไฟฟ้าแทน ดังนั้นจึงไม่อาจสู้ได้กับการเลิกบุหรี่ไปทั้งหมด นี่คือเหตุผลแรกที่ทำให้วงการแพทย์ของโลกไม่พิศวาท e-cigarette

สอง เกรงว่า Propylene Glycol อาจก่อให้เกิดมะเร็งในระยะยาวเนื่องจากยังไม่มีงานวิจัยที่มากเพียงพอที่จะลงมติรับรองการใช้ e-cigarette ในขณะนี้

สาม อาจมีการเอาสารเสพติดอื่นใส่ในขวดเล็กของแท่งบุหรี่ไฟฟ้า ทำให้เกิดการเสพสิ่งเสพติดอื่นขึ้นได้อีกมากและสามารถใช้ได้อย่างแนบเนียนด้วย

สี่ ความเก๋ของ e-cigarette และความกลัวควันบุหรี่อาจดึงดูดให้เยาวชนหันมาติดนิโคตินมากขึ้น และเท่ากับเพิ่มโอกาสความเป็นไปได้ในการที่จะหันไปสูบบุหรี่ในภายหน้า การยอมรับ PV จะทำให้การรณรงค์เลิกสูบบุหรี่พ่ายแพ้ในระยะยาวได้

ทั้งสี่เหตุผลนี้ทำให้การขายบุหรี่ไฟฟ้าผิดกฎหมายในเกือบทุกประเทศรวมทั้งประเทศไทยด้วย (แต่มีการขายกันในอินเตอร์เน็ตอย่างเปิดเผย) แต่การใช้นั้นไม่ผิดกฎหมาย

อย่างไรก็ดีน่าจะมีเหตุผลอื่นที่ทำให้บางองค์กรสุขภาพในระดับโลกออกมาต่อต้าน PV การเกรงกลัวว่าใน 10 ปีข้างหน้าชาวโลกอาจหันมาใช้บุหรี่ไฟฟ้าแทนบุหรี่จริงนั้นมีอยู่ชัดเจนเพราะบริษัทผลิตบุหรี่ใหญ่ ๆ ในโลกปัจจุบันต่างโดดกันเข้าไปในตลาดผลิตบุหรี่ไฟฟ้าที่ทั้งหมดผลิตในประเทศจีน

การสูบบุหรี่น้อยลงย่อมส่งผลกระทบต่อผู้ปลูกยาสูบในประเทศต่าง ๆ ทั่วโลกตลอดจน ผู้ที่มีธุรกิจเกี่ยวพันอีกมากมาย เช่น บริษัทผู้ขายแผ่นยาแปะแขน และลักษณะอื่น ๆ เพื่อช่วยลดการติดบุหรี่ ฯลฯ ปัจจุบันคนทั้งโลกสูบบุหรี่ประมาณ 1 พันล้านคน หรือ 1 ใน 3 ของผู้ใหญ่ชายทั้งโลก ดังนั้นถ้าคนจำนวนมากเหล่านี้สูบบุหรี่จริงกันน้อยลงมากอะไรจะเกิดขึ้นกับธุรกิจที่เกี่ยวข้อง

ราคาของบุหรี่ไฟฟ้าอยู่ประมาณ 1,800-4,000 บาท แล้วแต่ความวิจิตรพิสดาร ขวดเล็กหนึ่งขวดในแท่งบุหรี่ไฟฟ้าจุนิโคตินประมาณเท่ากับบุหรี่ 1-4 มวน (มวนละ 1 มิลลิกรัม)

การสูบบุหรี่ก็เป็นปัญหาปวดหัวพออยู่แล้ว แต่เมื่อสิ่งทดแทนปรากฏตัวขึ้น แทนที่จะยินดีตอบรับแต่กลับลังเลเพราะไม่แน่ใจในผลลัพธ์ที่เกิดขึ้น โลกใบนี้มีความซับซ้อนและสิ่งต่าง ๆ โยงใยกันอย่างคาดไม่ถึงในปัจจุบัน บุหรี่ไฟฟ้าเป็นตัวอย่างหนึ่งที่แสดงให้เห็นถึงดีกรีของความยากลำบากในการแก้ไขปัญหาในโลกที่ซับซ้อนยิ่งนี้

หมายเหตุ : ตีพิมพ์ครั้งแรก คอลัมน์ “อาหารสมอง” น.ส.พ.กรุงเทพธุรกิจ ฉบับวันอังคารที่ 2 ก.ค. 2556