ThaiPublica > คอลัมน์ > “เสียคนเมื่อแก่” กับการพนัน

“เสียคนเมื่อแก่” กับการพนัน

18 พฤษภาคม 2017


วรากรณ์ สามโกเศศ

ข่าวคราวเรื่องการต้มตุ๋นคนมีความรู้จำนวนมากเป็นเงินไม่ต่ำกว่า 400-500 ล้านบาท โดยคนที่มีความรู้เช่นกัน อีกทั้งมีฐานะในสังคมเป็นครูบาอาจารย์ อดีตเป็นผู้บริหารระดับสูงของมหาวิทยาลัยมีชื่อเสียงและเก่าแก่ที่สุดของประเทศได้สร้างความงุนงงให้แก่คนเดินดินกินข้าวแกงว่ามันเกิดอะไรขึ้นจนทำให้สถาบัน “ผู้สูงอายุ” และสถาบัน “อาจารย์ด็อกเตอร์ “สั่นคลอน

ผู้เขียนไม่รู้จักอาจารย์วัยเหยียบ 80 ปีท่านนี้เป็นส่วนตัว แต่เคยได้ยินชื่อเสียงมายาวนานว่าเป็นผู้เชี่ยวชาญเรื่องคอมพิวเตอร์ในยุคแรกของไทยคนหนึ่ง จบปริญญาเอกด้านคอมพิวเตอร์จากมหาวิทยาลัยมีชื่อของอังกฤษ เคยเป็นผู้อำนวยการสำนักทะเบียนและประมวลผลของสถาบันการศึกษาเก่าแก่แห่งนี้มายาวนาน ก่อนที่จะหันไปเป็นผู้บริหารสหกรณ์ออมทรัพย์ของมหาวิทยาลัย และของชุมนุมสหกรณ์ออมทรัพย์แห่งประเทศไทย วงการสหกรณ์ออมทรัพย์ของบ้านเรารู้จักชื่อเสียงเป็นอย่างดี ทั้งในเรื่องฝีมือการบริหารและความชื่นชอบการพนันเป็นพิเศษ

หลังการจับกุมก็สารภาพว่าสาเหตุของปัญหาคือการพนัน แต่ดูแล้วจะยังหยิ่ง ๆ ว่าไม่ได้โกงแต่จะคืนทรัพย์ให้ เพียงแต่อาจได้”ไม่ครบ “(คือคืนให้ได้ 10% !!) ไม่เห็นว่าจะสำนึกว่าคดโกงเพื่อนและต้มตุ๋นคนที่ให้เกียรติไว้วางใจแต่อย่างใด

ผู้เขียนสนใจเรื่องนี้เป็นพิเศษเพราะไม่น่าเชื่อว่าคนในวัย 80 ปี มีการศึกษาดีมาก มีความรู้ความสามารถ ผ่านประสบการณ์ชีวิตมายาวนานอย่างน่าเป็นแบบอย่างที่ดีให้ลูกหลานก่อนที่จะจากไปในไม่กี่ปีจะขาดวุฒิภาวะได้ขนาดนี้ สาเหตุขั้นต้นสุดที่เชื่อว่าไม่น่าจะผิดก็คือความโลภและเมื่อเสริมด้วยความชอบการพนันจนน่าจะอยู่ในขั้นเสพติดจนมีปัญหาการเงิน มีช่องทางสะดวกและต่อมจริยธรรมอักเสบ เรื่องที่เหลือก็พอจะเดาได้

ผู้เขียนค้นคว้าพบข้อมูลเรื่องการพนันในจุลสารชื่อ “ทันเกม” ออกโดยศูนย์ศึกษาปัญหาการพนัน ของคณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย (มันช่างเป็นสิ่งที่ฝรั่งเรียกว่า irony หรือแย้งกันอย่างประชดประชันเสียนี่กระไร) สนับสนุนโดย สสส. (สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ) และหนังสือชื่อ “เยาวชนกับการพนัน” (ผศ. พญ.สุพร อภินันทเวช) / “แกะรอยหยักสมองมองผลกระทบของการพนัน” (ผศ. พญ.พรจิรา ปริวัชรากุล และบทสัมภาษณ์) และ “แกะรอยผลกระทบของการพนัน” สิ่งที่เขียนต่อไปนี้นำมาจากข้อมูลในสิ่งพิมพ์ดังกล่าว

การพนันเป็นสิ่งคู่กับมนุษย์นับย้อนหลังไปได้ไม่ต่ำกว่า 5,000 ปี คนจำนวนมากเล่นการพนันเพื่อความสนุกสนาน แต่มีบางส่วนที่เป็นโรคติดการพนัน (Pathological Gambling) เกณฑ์การวินิจฉัยของสมาคมจิตแพทย์อเมริกันซึ่งใช้เป็นเกณฑ์มาตรฐานอ้างอิงของวงการแพทย์ทั่วโลกระบุว่าหากมีอาการต่อไปนี้มากกว่า 5 ข้อขึ้นไป ถือว่าอยู่ในขั้นติดการพนัน และหากมี 4 ข้อลงมา ก็พึงระวังว่ามีโอกาสเสี่ยงที่จะติดการพนันสักวันในอนาคตอันใกล้

    (1) หมกมุ่นอยู่กับการเล่นพนัน เช่น คิดถึงแต่การเล่นพนันที่ผ่านมา วางแผนหรือหาทางที่จะไปเล่นพนันอีก หรือครุ่นคิดหาวิธีที่จะได้เงินมาโดยการเล่นพนัน
    (2) ต้องการเล่นพนัน และใช้เงินหรือทรัพย์สินเพื่อไปเล่นพนันมากขึ้นเรื่อย ๆ
    (3) ไม่สามารถหยุดการเล่นพนันได้ หรือพยายามจะเลิกเล่นก็ทำไม่ได้
    (4) มีอาการหงุดหงิด กระวนกระวายถ้าหยุดเล่นหรือไม่ได้เล่นการพนัน
    (5) ใช้วิธีเล่นการพนันเพื่อหลบหนีปัญหาหรือความไม่สบายใจบางอย่าง เช่น ความรู้สึกสิ้นหวัง ความรู้สึกผิด ความวิตกกังวล หรือซึมเศร้า
    (6) เมื่อเสียพนัน ก็พยายามจะเล่นใหม่เพื่อเอาคืน
    (7) โกหกคนในครอบครัว หมอ หรือคนอื่น ๆ เพื่อปกปิดข้อมูลของตนเกี่ยวกับการเล่นพนัน
    (8) ทำสิ่งที่ผิดกฎหมาย เช่น ปลอมแปลงฉ้อโกง โจรกรรม ยักยอกเงิน เพื่อนำมาเล่นการพนัน
    (9) ทำตัวเป็นอันตรายต่อตนเองหรือผู้อื่น เสียหน้าที่การเงิน การเรียน หรือเสียความสัมพันธ์กับบุคคลรอบข้างเนื่องจากการพนัน
    (10) ต้องพึ่งพาผู้อื่นเกี่ยวกับเรื่องเงินทอง เพราะปัญหาการเงินของตนที่เกิดจากการพนัน

มีผู้ศึกษาสาเหตุของการเกิดโรคติดการพนันไว้มาก ซึ่งพอสรุปได้ดังต่อไปนี้

(1) พันธุกรรม การศึกษาพบว่ามนุษย์มียีนบางตัวที่เกี่ยวข้องกับความเสี่ยงในการเป็นนักการพนัน เช่น dopamine D2 receptor gene คนที่ติดพนันส่วนใหญ่มักมียีนตัวนี้

ปัจจุบันงานวิจัยพบว่าคนที่มี “อุบัติเหตุทางสมอง” เช่น คลอดออกมาแล้วหัวโดนบีบ โดนกระแทกอย่างแรง แม่ดื่มเหล้า แม่ใช้ยาเสพติดขณะท้อง เด็กเหล่านี้อาจมีไอคิวที่ต่ำกว่าปกติ เมื่อโตขึ้นพบกับสิ่งที่มากระตุ้นก็มีโอกาสเสี่ยงที่จะเป็นนักการพนันมากกว่าเด็กทั่วไป

(2) สิ่งแวดล้อม การคุ้นเคยกับการพนันแต่ยังเด็ก จากสิ่งแวดล้อมทางสังคม โดยเฉพาะทางครอบครัว มีผลอย่างมากต่อการเป็นนักพนัน การเห็นพ่อแม่เล่นการพนันเป็นเรื่องปกติประจำวัน ไม่ได้รับการอบรมสั่งสอนในเรื่องความถูกต้องทางจริยธรรม และได้รับอิทธิพลจากเพื่อนตอนวัยรุ่น ล้วนสร้างความเสี่ยงในการเป็นโรคติดการพนันเมื่อโตขึ้นทั้งสิ้น

การที่ใช้คำว่า “ความเสี่ยง” อยู่บ่อย ๆ ก็เพราะไม่จำเป็นว่าภายใต้เงื่อนไขข้างต้นจะต้องเป็นนักพนันเสมอไป เด็กบางคนอาจมีอิทธิพล “คาน” จากครู หรือจากญาติคนอื่น หรือจากศาสนา จนทำให้ไม่เป็นโรคติดการพนันก็เป็นได้

งานศึกษาในเรื่องการพนันพบว่าคนเป็นโรคติดการพนันมักมีโรคจิตเวชอย่างอื่นรวมอยู่ด้วย เช่น โรคทางด้านอารมณ์ (มีความสามารถในการควบคุมอารมณ์ของตนเองต่ำ เช่นในเรื่องการอดทนรอคอยการควบคุมความต้องการของตนเอง ฯลฯ) มีงานวิจัยพบว่าในจำนวนคนเล่นการพนัน ร้อยละ 61 เป็นคนชอบดื่มแอลกอฮอร์ ร้อยละ 15 ใช้สารเสพติด ร้อยละ 32 เคยเป็นโรคซึมเศร้า

วงจรอุบาทว์ของการพนันที่เราเห็นกันทั่วไปก็คือ

    (1) เล่นพนันชนิดเป็นยาเสพติด
    (2) เมื่อเสียพนันก็หน้ามืด ต้องกลับไปแก้ตัว
    (3) เสียการพนันหนักเข้าจนนำไปสู่ปัญหาการเงิน
    (4) เมื่อไม่มีหนทางแก้ไขเรื่องเงินก็ต้องกระทำสิ่งที่ผิดกฎหมายและศีลธรรม เพื่อหาเงินไปเยียวยาสถานะและเพื่อกลับไปแก้มือ และก็จะยิ่งเสียหนักขึ้น
    (5) มีปัญหาชีวิตโดยเฉพาะเรื่องครอบครัวและการเงิน
    (6) เล่นพนันหนักมือยิ่งขึ้น

สำหรับคนแก่ที่เสียคนไปแล้วเพราะการพนัน เราคงทำอะไรไม่ได้ ต้องปล่อยให้ผลพวงจากการกระทำของตนเองเป็นตัวตัดสิน แต่กลุ่มคนที่เราสามารถช่วยเหลือคุ้มครองป้องกันได้ก็คือเด็กและเยาวชนซึ่งเป็นสิ่งมีค่ายิ่งของสังคมเรา

เราต้องช่วยกันกำจัดและควบคุมสิ่งแวดล้อมด้านการพนันที่อยู่รอบตัวเรา เช่น การพนันออนไลน์ พนันบอล ชิงโชค “ชาเขียว” เล่นหวยใต้ดิน ฯลฯ เพราะเป็นหน้าที่ของผู้ใหญ่ที่ยังไม่เสียคนเช่นเรา ประเด็นการแปลงร่างของเยาวชนจากเล่นพนันเพื่อสนุก เป็นเล่นพนันจนเป็นนิสัยเป็นเรื่องสำคัญที่ไม่ควรมองข้าม

ความมั่งมีเกิดขึ้นจากการหาเงินและการเก็บออมส่วนหนึ่งไว้เพื่อความมั่นคงและเพื่อนำไปลงทุนให้งอกเงยยิ่งขึ้น การพนันคือสิ่งที่บ่อนเฃาะกระบวนการนี้อย่างร้ายแรงและอาจนำไปสู่ปัญหาชีวิตและการงานได้อีกมากมาย

หมายเหตุ: ตีพิมพ์ครั้งแรก คอลัมน์ “อาหารสมอง” นสพ.กรุงเทพธุรกิจ ฉบับวันที่อังคาร 16 พ.ค. 2560