ThaiPublica > คอลัมน์ > นโยบายพรรคกับ PM 2.5

นโยบายพรรคกับ PM 2.5

31 มกราคม 2019


วรากรณ์ สามโกเศศ

เมื่อวันที่ 14 มกราคม 2562 เวลา 17.40 น.สำนักป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย กรุงเทพมหานคร กำลังใช้อุปกรณ์ฉีดน้ำดับเพลิงแรงดันสูง ฉีดละอองน้ำเพื่อลดปริมาณฝุ่นละอองที่กำลังลังวิกฤต บริเวณหน้าสวนจตุจักร

นักการเมืองบอกว่า “มาจากประชาชนและเข้าใจชีวิตของประชาชน” ดังนั้นในการเลือกตั้งอันใกล้นี้ นักการเมืองต้องมีคำตอบให้กับปัญหาของประชาชนผ่านการเสนอนโยบายของพรรคการเมือง ซึ่งปัญหาที่รุนแรงเร่งด่วนขณะนี้ของกรุงเทพมหานครและเมืองใหญ่ก็คือเรื่องฝุ่นละอองขนาดเล็กในอากาศซึ่งเป็นสภาพมลพิษที่น่ากลัวยิ่ง

พรรคพวกเพื่อนฝูงแนะนำให้เขียนเรื่องนี้เพื่อยั่วยุให้มีการเสนอแนะนโยบายและหนทางแก้ไขปัญหาที่มีความเป็นไปได้สูงและได้ผลอย่างมีประสิทธิภาพทั้งในระยะสั้นและยาว พรรคการเมืองใดสามารถเสนอได้อย่างน่าเชื่อถือก็จะได้รับคะแนนนิยมโดยเฉพาะจากคนกรุงเทพฯ
สภาพอากาศขมุกขมัวในท้องฟ้าของกรุงเทพฯ มิใช่เพิ่งเกิดขึ้น แท้จริงเห็นกันมานานแล้วเพียงแต่ยังไม่เป็นข่าวและไม่เกิดเป็นเรื่องเป็นราวขึ้น การประกาศของกรมควบคุมมลพิษเชิงวิทยาศาสตร์ทำให้เกิดความตื่นตัวจากภัยกันขึ้น

ประเด็นก็คือฝุ่นละอองขนาดเล็กมากที่มีขนาด 2.5 ไมครอน (ดังที่เรียกกันว่า PM 2.5) (1 ไมครอนมีขนาดเท่ากับ 1 ใน 25 ของเส้นผ่าศูนย์กลางของเส้นผม) กระจายอยู่ในอากาศ โดยเฉพาะริมถนนหลายแห่งมีปริมาณสูงเกินกว่าเกณฑ์มาตรฐานซึ่งอยู่ที่ 50 ไมโครกรัม/ลูกบาศก์เมตร โดยมีระดับเกิน 90 และบางแห่งถึง 56-103 เมื่ออาทิตย์ที่สามของมกราคม

สภาวการณ์ขมุกขมัวที่เกิดขึ้นนั้นมาจากมลพิษที่อยู่ในอากาศที่มาจากการเผาไหม้สารพัดน้ำมันและก๊าซ จากกิจกรรมต่าง ๆ ของผู้คนในเมืองใหญ่ และจากการก่อสร้างโครงการต่าง ๆ จำนวนมากมายในกรุงเทพฯ ที่ทำให้เกิดการเผาไหม้จากการใช้เครื่องจักรเครื่องยนต์อีกทั้งการใช้วัสดุก่อสร้างต่าง ๆ เมื่ออากาศเย็นเผชิญกัวบอากาศอุ่นก็ทำให้เกิดสภาพอากาศนิ่ง ลมไม่พัด ประกอบกับมีหมอก ทั้งหมดทำให้ไม่มีการหมุนเวียนของอากาศ อาคารจำนวนมากมายทั้งต่ำและสูงกีดขวางการไหลเวียนของอากาศ มลพิษฝุ่นละอองเล็ก ๆ จึงไม่ลอยตัวขึ้นสู่บรรยากาศมากและรวดเร็ว แต่เกาะตัวเป็นแพร่วมกับกลุ่มหมอกกลายเป็นหมอกที่มีสีน้ำตาลจาง ๆ จนทำให้เรามองเห็นเป็นความขมุกขมัว

สิ่งที่น่าจับตามองก็คือการไม่ลอยตัวขึ้น อยู่ในสภาพนิ่งและสะสมมากขึ้นในระดับพื้นดินจนบางส่วนของมันที่เป็น PM 2.5 เป็นอันตรายต่อสุขภาพของประชาชนในช่วงที่มีเงื่อนไขซึ่งทำให้ไม่เกิดการหมุนเวียนของอากาศ

ฝุ่นละอองขนาดเล็กมากหรือ PM 2.5 เมื่อเข้าไปในปอด หรือแม้แต่กระแสเลือดก็อาจก่อให้เกิดสารพัดโรค ตั้งแต่โรคหัวใจ โรคเกี่ยวกับทางเดินหายใจ โรคมะเร็ง ฯลฯ

กรุงเทพมหานครมิใช่เมืองใหญ่แห่งเดียวในโลกที่ประสบปัญหาดังกล่าว ปักกิ่งประสบปัญหาเดียวกันอย่างรุนแรงหลังจากเป็น “จีนสมัยใหม่” ได้ไม่นาน (“จีนสมัยใหม่” ปัจจุบันมีอายุครบ 40 ปี) แต่ก็สามารถแก้ไขได้เมื่อประธานาธิบดี สี จิ้นผิง ลงมือประกาศการกำจัดมลพิษในอากาศเป็น “วาระแห่งชาติ” ในปี 2014

สถานการณ์ของปักกิ่งตอนที่เลวร้ายสุด ๆ นั้น ในฤดูหนาวมองแทบไม่เห็นลายเส้นมือของตนเอง หลายรัฐบาลปลอบว่าฝุ่นพิษเป็นเรื่องชั่วคราว แต่เมื่อประชาชนทนไม่ไหวรวมตัวกันต่อสู้เรียกร้องสิทธิในการได้รับอากาศบริสุทธิ์เพราะไม่ต้องการสูด PM 2.5 อีกต่อไป (โลกรู้จักหวยเลขนี้ก็เพราะข่าวมลพิษในปักกิ่ง) รัฐบาลสี จิ้นผิง ก็ตอบรับ

ภายในเวลา 4 ปีเต็ม หลังจากการประกาศสงครามมลพิษอากาศ จีนซึ่งมีปัญหามลพิษอากาศอย่างมากในหลายเมืองทั่วประเทศ (ใน30 อันดับแรกที่เลวร้ายของโลก จีนติดอันดับ 8 เมือง อินเดีย 13 เมือง) สามารถลดปริมาณของฝุ่นขนาดเล็กในเมืองต่างๆลงได้ร้อยละ 32 โดยเฉลี่ย ปักกิ่งนั้นรัฐบาลระดมสรรพกำลังเต็มที่จนได้ผลอย่างเห็นได้ชัดด้วยการให้โรงงานผลิตหันไปใช้ก๊าซแทนถ่านหิน ควบคุมจำนวนรถยนต์และการเดินทางเข้าเมือง แก้ไขกฎหมายสิ่งแวดล้อมให้องค์กรสิ่งแวดล้อมและประชาชนสามารถฟ้องร้องบริษัทหรือโรงงานก่อมลพิษได้ เปลี่ยนระบบทำความร้อนในบ้านเรือนและธุรกิจจากถ่านหินเป็นเชื้อเพลิงเป็นไฟฟ้าหรือก๊าซธรรมชาติ ฯลฯ

รัฐบาลจีนมี “Battle Plan” หนา 143 หน้า และมีการปฏิบัติตามแผนอย่างเคร่งครัด มุ่งมั่นลด PM 2.5 ตามเป้าหมายแยกของเมืองต่าง ๆ สำหรับปักกิ่งนั้นเป้าหมายคือลดไม่ต่ำกว่าร้อยละ 25 และมีงบประมาณให้ 120,000 ล้านเหรียญสหรัฐ

จีนเป็นตัวอย่างของการลดมลพิษอากาศจนได้รับคำชมจากนานาชาติ หัวใจของความสำเร็จก็คือนโยบายที่ตรงจุดและเป็นไปได้ อีกทั้งมีการปฏิบัติที่จริงจังอย่างต่อเนื่องด้วยความมุ่งมั่น

สำหรับประเทศไทยโดยเฉพาะกรุงเทพมหานคร ปัญหามลพิษฝุ่นละอองมิใช่ปัญหาชั่วคราว แต่เป็นปัญหาที่ต้องได้รับการแก้ไขก่อนที่จะเลวร้ายไปกว่านี้ เราไม่รู้ว่าเงื่อนไขที่ทำให้อากาศนิ่งจะกลับมาอีกเมื่อใด และไม่รู้ว่ามันบั่นทอนชีวิตผู้คน ทำลายเศรษฐกิจ (การท่องเที่ยวจะถูกกระทบมาก) และก่อให้เกิดภาวะทางการเงินแก่ภาครัฐในอนาคตอีกมากเพียงใด

พวกเราคอยพรรคการเมืองที่จะเสนอนโยบายและแนวปฏิบัติเพื่อแก้ไขปัญหานี้อย่างได้ผลอยู่ครับ

หมายเหตุ : ตีพิมพ์ครั้งแรก คอลัมน์ “อาหารสมอง” นสพ.กรุงเทพธุรกิจ วันอังคารที่ 29 ม.ค. 2562