ThaiPublica > คอลัมน์ > “จัดบ้าน” ก่อนตาย

“จัดบ้าน” ก่อนตาย

10 ตุลาคม 2018


วรากรณ์ สามโกเศศ

สถานการณ์ที่คนส่วนใหญ่ประสบก็คือ “ของล้นบ้าน” “ไม่รู้ว่าต่อไปจะเกิดอะไรขึ้นกับของที่สะสมไว้” “เบื่อหน่ายกับของที่มีเต็มไปหมด” “ไม่กล้าย้ายบ้านเพราะกลัวต้องขนย้ายของที่มี” ฯลฯ ที่เลวร้ายสุดหากคำนึงถึงของที่เก็บสะสมไว้ยาวนานก็คือ หากตายไปแล้วของเหล่านี้จะไปอยู่ที่ไหน และจะทำอะไรกับมันดีก่อนที่จะถึงวันนั้น มีหนังสือดังเล่มหนึ่งที่ให้คำแนะนำที่น่าสนใจ

ทุกคนล้วนมีสิ่งของที่รักและหวงแหน ไม่ว่าจะเป็นของธรรมดา ตุ๊กตา เครื่องแก้ว พระเครื่อง ปืน แสตมป์ นาฬิกา แหวน ตุ้มหู หนังสือ อัลบั้มรูปภาพครอบครัว มีด ปากกา ไฟแช็ค ฯลฯ ที่เก็บหรือสะสมมาตั้งแต่ยังเป็นเด็ก หรือเป็นหนุ่มสาว ความจริงที่โหดร้ายก็คือ เมื่อท่านจากโลกนี้ไปแล้ว ไม่มีอะไรจะประกันได้ว่าคนอื่นเขาจะรักใคร่ไยดี ทะนุถนอม และเห็นคุณค่าของสิ่งของเหล่านี้เหมือนตัวท่าน เพราะเขาไม่ใช่ท่านและย่อมมีรสนิยมที่แตกต่างไป

รูปภาพบางรูป เช่น รูปพ่อกับแม่ที่ท่านรักดังดวงใจ อาจถูกโยนทิ้งลงถังขยะไปก็ได้เพราะคนอื่นเขาไม่เห็นว่ามีความหมาย หนังสือชื่อ The Gentle Art of Swedish Death Cleaning (2018) เขียนโดย Margareta Magnusson พยายามให้คำตอบแก่สถานการณ์ดังกล่าวเพื่อความสุขของท่านและลูกหลาน โดยเฉพาะอย่างยิ่งเพื่อปิดบังสิ่งที่ท่านไม่ต้องการให้ลูกหลานรู้ หรืออาจทำให้ลูกหลานหมางใจกัน หรืออาจทำให้เกิดความรู้สึกดูแคลนท่าน

เกือบทุกคนล้วนมีของติดตัวมาตั้งแต่หนุ่มสาว ไม่ว่าจะเป็นเสื้อผ้า เอกสาร หนังสือ เฟอร์นิเจอร์ ถ้วยโถโอชาม อัลบั้มรูปภาพ ของสะสมเก่าใหม่เก็บซ่อนสะสมในกล่องหรือกองไว้ที่ไหนสักแห่งในบ้าน แค่คิดจะรื้อโยนทิ้งไปบ้างเพราะรกบ้านก็อ่อนใจแล้ว ลองคิดดูถ้าท่านตายไปลูกหลานจะเหนื่อยเป็นภาระแค่ไหนกับการที่ต้องรื้อสิ่งของเหล่านี้ ต้องเสียเวลาและแรงงานคัดเลือกของหรือไม่ก็โยนทิ้งไปเสียทั้งหมด
Magnusson นักเขียนมีชื่อของสวีเดนบอกว่าตนเองมีอายุอยู่ระหว่าง 80-100 อยู่มาทั่วโลก ย้ายบ้าน 17 หน เธอมีลูก 5 คน เมื่อสามีจากไปตอนแต่งงานกันได้ 48 ปีก็ต้องย้ายจากบ้านมาอยู่อพาร์ตเมนต์ เหตุการณ์นี้ทำให้เธอนึกถึงคำในภาษาสวีเดนที่กล่าวถึงเรื่องนี้ไว้

“döstädning” ในภาษาสวีเดน หรือ “death cleaning” หมายถึงกระบวนการจัดบ้านให้เรียบร้อยเมื่อตระหนักว่าตนเองเป็น “ไม้ใกล้ฝั่ง” เธอให้คำแนะนำพอสรุปได้ดังนี้

(1) การจะสามารถเริ่ม “จัดบ้าน” ให้เรียบร้อยก่อนตายได้นั้น ต้องยอมรับเสียก่อนว่าความตายเป็นเรื่องปกติ (มรณานุสติ) ที่เกิดขึ้นกับทุกคน โดยตนเองอยู่ในวัยที่มีโอกาสสูงที่จะเกิดขึ้น อีกทั้งไม่ต้องการให้ความตายของตนเองเป็นภาระแก่ผู้อื่น

(2) วัยที่ควรเริ่ม “จัดบ้าน” คือ 65 ปีซึ่งเป็นวัยที่แข็งแรงพอที่จะยังจัดการได้ บ่อยครั้งที่แรงบันดาลใจคือการจากไปของคนที่รัก กำลังจะเลิกหรือหย่ากับคู่ชีวิต จะอยู่บ้านที่มีขนาดเล็กลง หรือเตรียมตัวไปอยู่บ้านคนชรา

(3) döstädning มิได้หมายถึงการจัดให้เป็นระเบียบเท่านั้น หากหมายถึงพิจารณาสิ่งของที่มีทั้งหมดอย่างละเอียด ว่าอะไรจะทิ้ง อะไรจะมอบให้ใคร อะไรจะขาย และอะไรที่พอจะเก็บไว้เพื่อการมีชีวิตอยู่จนถึงบั้นปลาย

(4) เริ่มต้น “จัดบ้าน” โดยมุ่งไปที่ของใหญ่ที่เก็บไว้โดยไม่ใช้ก่อน เช่น ตู้เสื้อผ้า เฟอร์นิเจอร์ อุปกรณ์กีฬาที่ไม่ใช้แล้ว ฯลฯ โดยมอบให้คนที่ต้องการไม่ว่าจะเป็นลูกหลานหรือคนชอบพอกัน อย่าเริ่มที่สิ่งเล็กๆ เช่น จดหมายเก่า รูปเก่า ภาพเก่า ฯลฯ เพราะจะเป็นสิ่งที่ต้องใช้เวลานาน การอ่านและการเลือกทิ้งของเหล่านี้จะทำให้นึกถึงความหลัง เกิดความรู้สึกเก่าๆ ซึ่งมีทั้งอารมณ์ขัน อารมณ์เศร้า อารมณ์รักอาวรณ์ จนเหนื่อยอ่อนใจเสียก่อนที่จะ “จัดบ้าน” ได้สำเร็จ

(5) เมื่อจัดการของชิ้นใหญ่ได้โดยต้องตัดใจในเรื่องความผูกพันทางใจกับสิ่งของเหล่านี้ที่มีมาแต่อดีต จงคิดเสียว่าเมื่อตายไปก็ไม่พานพบมันอีกและไม่รู้ชะตากรรมของมัน จัดการกับมันตอนนี้ยังกำหนดได้ว่าให้ใครเป็นเจ้าของ

(6) สิ่งสำคัญมากคือจงทำลายจดหมาย บันทึก เอกสาร สิ่งพิมพ์ รูปถ่าย ข้อเขียน หรือสิ่งของที่เป็นสิ่งที่เปิดเผยความลับส่วนตัว เพราะอาจทำให้ตนเองดูไม่ดี ดูไม่อยู่ในทำนองคลองธรรมในสายตาของลูกหลาน โดยเฉพาะอย่างยิ่งจะสร้างความรู้สึกลบเกี่ยวกับตนเองโดยไม่จำเป็น

(7) รูปภาพทั้งหมดแปรให้อยู่ในไฟล์ดิจิทัล เพื่อความคงอยู่ต่อไปหากลูกหลานสนใจ หากเก็บไว้เป็นภาพอย่างเก่าอาจผุพังและถูกโยนทิ้งเพราะไม่เห็นความสำคัญ (8) คุยกับลูกหลานในเรื่องความตายอย่างเปิดเผย ว่าจะให้สิ่งใดแก่ใครเมื่อตายไปแล้ว พร้อมสนับสนุนด้วยเอกสารแสดงเจตจำนงเพื่อไม่ให้ลูกหลานทะเลาะกันและอิจฉาริษยากัน ต้องใส่ใจประเด็นนี้เพราะไม่สมควรให้การตายของตนเป็นสิ่งบั่นทอนความรักสามัคคีของลูกหลานต่อไปในภายภาคหน้า

Magnusson บอกว่าลูกหลานอยากได้ของดีๆ บางชิ้นที่ได้เลือกสรรมาแล้วแต่ไม่ต้องการของทั้งหมด เพราะในสายตาของเขานั้นส่วนหนึ่งเป็นขยะ สำหรับผู้เขียนขอบอกว่า ถ้าคิดว่าเมื่อเกิดมาก็ไม่ได้มีอะไรติดมือมาเลย เช่นเดียวกันตอนจากไป สิ่งของที่เราสะสมมานั้นเป็นสมบัติชั่วคราวที่เกิดขึ้นในช่วงเวลาที่เราอยู่บนโลกนี้ เราไม่ควรทำให้มันตกเป็นภาระของลูกหลาน มันควรเป็นสิ่งสร้างสรรค์สำหรับลูกหลานในชั่วคนต่อไป

หมายเหตุ: ตีพิมพ์ครั้งแรก คอลัมน์ “อาหารสมอง” นสพ.กรุงเทพธุรกิจ ฉบับวันอังคารที่ 2 ต.ค. 2561