ThaiPublica > คอลัมน์ > ไทยเหลื่อมล้ำสุดในโลก?

ไทยเหลื่อมล้ำสุดในโลก?

25 ธันวาคม 2018


วรากรณ์ สามโกเศศ

ข่าวเรื่องประเทศไทยถูกจัดอันดับว่ามีความเหลื่อมล้ำอันดับ 1 ของโลกนั้นน่าตื่นเต้นและสมกับความสงสัยสำหรับคนบางกลุ่ม แต่สำหรับตัวผู้เขียนแล้วรู้สึกฉงนเพราะได้เห็นหลายสังคมที่น่าจะมีความเหลื่อมล้ำกว่าไทย ความจริงเป็นอย่างไรต้องติดตามค้นหากัน

สังคมไทยนั้นมีความแปลกอยู่อย่างหนึ่ง กล่าวคือ อะไรที่ไม่ดีเกี่ยวกับสังคมของตนแล้วดูจะชอบสะใจ แชร์กันทั่วในโลกโซเชียล ทั้งๆ ที่ยังไม่รู้เลยว่ามันถูกต้องแค่ไหน และมีขอบเขตของการตีความอย่างไร มีหลายตัวอย่างที่ขอยกมา

(1) “เด็กไทยอ่านหนังสือปีละ 8 บรรทัด” ได้ยินมาหลายปีแล้ว และก็ยังมีคนชอบอ้างกันให้ได้ยินอยู่บ่อยๆ คำพูดนี้ขบขัน มิใช่ที่เด็กแต่ที่คนพูด เพราะหากใช้สมองสักนิดก็จะเห็นว่าไม่เป็นความจริง เพราะแค่อ่านเบอร์รถเมล์ ป้ายร้านค้า ฯลฯ รวมกันปีหนึ่งก็เกินร้อยบรรทัดแล้ว

การอ่านมันรวมไปถึงการอ่านสมาร์ทโฟน อ่านบนจอโทรทัศน์ ป้ายโฆษณา ป้ายกระป๋อง คำสั่งบนเกม ฯลฯ ไม่ได้แต่อ่านหนังสือดังที่เราเคยเข้าใจกัน เด็กปัจจุบันวันหนึ่งอ่านกันเป็นสิบๆ หน้าบนจอสมาร์ทโฟน เพียงแต่อ่านอะไร เป็นประโยชน์หรือไม่เท่านั้น

(2) “การศึกษาไทยแย่สุดในอาเซียน” คนที่เดินทางไปประเทศอาเซียนแค่เพื่อนบ้านเรา ก็เห็นสภาพโรงเรียนว่าต้องพัฒนาอีกมากเพียงใด เราชอบเอาความรู้สึกมันส์มาพูดกันโดยไม่ดูข้อเท็จจริง

การศึกษาไทยมีสภาพน่าเป็นห่วงมาก แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าแย่สุดในอาเซียน การแย่มากๆ กับการแย่กว่าคนอื่นนั้นมันคนละมิติกัน คนร่างกายอ่อนแอมากมิได้หมายความว่าอ่อนแอที่สุด การจะบอกว่าอ่อนแอที่สุดได้ต้องเอาสุขภาพของคนอื่นๆ ทุกคนมาเทียบ แล้วจึงจะบอกได้ว่าอ่อนแอที่สุด

(3) “ประเทศไทยมีอัตราอุบัติเหตุสูงอันดับ 2 ของโลก” สถิติของ WHO (World Health Organization) ปีล่าสุดคือ 2013 ที่มีข้อมูลของหลายประเทศระบุว่าอัตราคนตายจากอุบัติเหตุทางถนนต่อจำนวนรถยนต์ 100,000 คันนั้น ไทย 74.6 / เมียนมา 250.8 / ฟิลิปปินส์ 135 / บังกลาเทศ 1,020 / แองโกลา 992 / อัฟกานิสถาน 722 / โซมาเลีย 4,480 / ยูกานดา 837 /มาดากัสการ์ 2,963 / แซมเบีย 670.9 ฯลฯ

ถึงตัวเลขจะเป็นเช่นนี้ แต่ถ้าพิจารณาลึกๆ แล้วก็ไม่ค่อยบอกอะไร เช่น ประเทศ ก. และ ข. มีจำนวนรถเท่ากัน จำนวนคนตายก็เท่ากันในปีหนึ่ง แต่รถในประเทศ ก. ออกมาวิ่งแค่ครึ่งเดียว กรณีนี้ถึงมีจำนวนตัวเลขคนตายต่อรถเท่ากัน ก็มิได้หมายความว่ามีสถานการณ์ของความอันตรายเหมือนกัน แท้จริงแล้วประเทศ ก. อันตรายกว่ามาก หากจะให้แม่นยำต้องดูจำนวนคนตายต่อระยะทางหนึ่งกิโลเมตรของการเดินทางของรถทั้งหมด

ตัวเลขต่างๆ มีขอบเขตของการตีความที่ต้องระวัง (“พ่อครับผมวิ่งแข่งได้อันดับสองครับ” พ่อฟังแล้วปลื้มโดยหารู้ไม่ว่ามีคนลงวิ่งแข่งสองคน) ทุกตัวเลขที่ได้ยินต้องระวังทั้งนั้น

คราวนี้ขอกลับมาเรื่องไทยเหลื่อมล้ำสุดๆ ของโลก ดร.ดนุชา พิชยนันท์ รองเลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สภาพัฒน์) ชี้แจงกรณีที่ The Credit Suisse Global Wealth Report 2018 จัดอันดับให้ไทยเป็นประเทศที่มีความเหลื่อมล้ำมากที่สุดในโลกว่าเป็นเพราะวัดจากการกระจายความมั่งคั่ง (wealth distribution) โดยใช้ข้อมูลการถือครองความมั่งคั่ง ซึ่งปัจจุบันมีเพียง 35 ประเทศ จาก 133 ประเทศ ที่มีข้อมูลสมบูรณ์ ส่วนใหญ่เป็นประเทศพัฒนาแล้ว เช่น อังกฤษ ญี่ปุ่น จีน สวีเดน เกาหลีใต้ สิงคโปร์ แต่ไทยยังไม่มีการจัดเก็บข้อมูลดังกล่าว ดังนั้นผู้จัดทำจึงได้ใช้ข้อมูลการกระจายรายได้ของไทย ซึ่งเป็นข้อมูลตั้งแต่ปี 2549 มาคำนวณแทนการถือครองความมั่งคั่งและใช้การประมาณการทางเศรษฐมิติคำนวณออกมาบนสมมติฐานว่าการกระจายความมั่งคั่งสัมพันธ์กับการกระจายรายได้ ทำให้เป็นการประมาณการอย่างหยาบซึ่งในรายงานก็ระบุข้อนี้ไว้ชัดเจน ดังนั้นจึงไม่สามารถสะท้อนสถานการณ์ความเหลื่อมล้ำของประเทศไทยได้อย่างแท้จริง

ผู้เขียนขอเน้นว่าเขาใช้การกระจายความมั่งคั่งเป็นตัววัดความเหลื่อมล้ำ แต่เมื่อไม่มีข้อมูล เขาก็ไปเอาการกระจายรายได้มาใช้แทน (รายได้กับความมั่งคั่งเป็นคนละเรื่อง รายได้เปรียบเสมือนอัตราการไหลของน้ำต่อหน่วยเวลา แต่ความมั่งคั่งคือปริมาณน้ำที่มีในถัง) และทำอย่างเดียวกันกับอีก 100 ประเทศ โดยใช้โมเดลทางสถิติและออกมาว่าไทยเป็นอันดับ 1 ใครเชื่อว่าน่าเชื่อถือก็ไม่ว่ากัน แต่สำหรับผู้เขียนนั้นมีความเชื่อถือน้อย เพราะหากจะใกล้เคียงความจริงบ้าง อีก 100 ประเทศก็ต้องเป็นเช่นเดียวกับไทยตามที่เขาสมมติ คือ รายได้กระจายไม่เท่าเทียมอย่างไร ความมั่งคั่งก็ต้องเป็นเช่นนั้นและมีการเก็บข้อมูลที่ดีด้วย

ดร.ดนุชาชี้แจงต่ออีกว่า อย่างไรก็ตาม สภาพัฒน์ได้ติดตามสถานการณ์ความเหลื่อมล้ำของไทยมาตั้งแต่ปี 2531 โดยเก็บข้อมูลการวัดตามมาตรฐานธนาคารโลกผ่านดัชนีค่าสัมประสิทธิ์ความเหลื่อมล้ำ หรือ GINI coefficient index ซึ่งเป็นมาตรฐานสากลใช้วัดกับประเทศทั่วโลกโดยมีค่าระหว่าง 0-1 ยิ่งมีค่าระดับต่ำมากจะแสดงถึงความเหลื่อมล้ำที่น้อยที่สุด

ข้อมูลล่าสุดปี 2558 พบว่าไทยมีค่า GINI อยู่ที่ 0.36 อยู่อันดับที่ 40 จาก 67 ประเทศ ปรับตัวดีขึ้นจากอันดับ 46จาก 73 ประเทศทั่วโลกในปี 2556 เมื่อเปรียบเทียบกับประเทศพัฒนาแล้ว เช่น อังกฤษ ที่มีค่า GINI อยู่ที่ 0.33 หรือสหรัฐอเมริกาที่มีค่า GINI อยู่ที่ 0.41 ก็ไม่แตกต่างจากไทยมากนัก

ดร.ดนุชายังระบุว่า การคำนวณดัชนี GINI ของไทยใช้ฐานข้อมูลจากการสำรวจภาวะเศรษฐกิจและสังคมของครัวเรือนโดยสำนักงานสถิติแห่งชาติจำนวน 52,010 ครัวเรือน โดยสำรวจด้านรายได้ทุก 2 ปี และด้านรายจ่ายสำรวจทุกปี พบว่า 10 ปีที่ผ่านมาความเหลื่อมล้ำลดลงต่อเนื่อง ล่าสุดปี 2560 พบว่าค่า GINI ของไทยด้านรายได้อยู่ที่ 0.453 ลดลงจาก 0.499 ในปี 2550 ส่วนด้านรายจ่ายอยู่ที่ 0.364 ลดลงจาก 0.398 ในปี 2550

นอกจากนี้ สถานการณ์ความแตกต่างของรายได้ระหว่างกลุ่มประชากรที่มีรายได้สูงสุดและกลุ่มประชากรที่มีรายได้น้อยที่สุด มีแนวโน้มแคบลงต่อเนื่อง โดยลดลงจาก 25.10 เท่า ในปี 2550 เป็น 19.29 เท่า ในปี 2560 เช่นเดียวกับความแตกต่างของรายจ่ายระหว่างกลุ่มประชากรที่มีรายจ่ายสูงที่สุดและกลุ่มประชากรที่มีรายจ่ายน้อยที่สุดมีแนวโน้มลดลงโดยลดลงจาก 11.70 เท่าในปี 2551 เป็น 9.32 เท่า ในปี 2560

ดร.ดนุชากล่าวย้ำว่า สถานการณ์ความเหลื่อมล้ำของไทยจากการสำรวจข้อมูลจริงและใช้วิธีวัดที่เป็นมาตรฐานจากธนาคารโลก ทำให้ประเทศไทยไม่ได้มีความเหลื่อมล้ำสูงที่สุด ในทางกลับกัน ความเหลื่อมล้ำทั้งด้านรายรับและรายจ่ายของไทยมีแนวโน้มปรับตัวดีขึ้นเป็นลำดับ

การแก้ไขลดความเหลื่อมล้ำเป็นเรื่องที่รัฐบาลให้ความสำคัญและดำเนินการอย่างต่อเนื่อง โดยเห็นได้จากการดำเนินงานผ่านมาตรการต่างๆ เพื่อให้ประชาชนในกลุ่มที่มีรายได้น้อยมีรายได้เพิ่มขึ้น และกระจายรายได้ไปสู่ประชากรกลุ่มต่างๆ อย่างเป็นธรรม เพื่อทำให้ลดความเหลื่อมล้ำลงได้ ยิ่งไปกว่านั้น ภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติ ประเทศไทยมีเป้าหมายลดช่องว่างรายได้ของประชากรที่มีรายได้สูงที่สุดกับประชากรที่มีรายได้น้อยที่สุดไม่เกิน 15 เท่า จากปัจจุบันอยู่ที่ 19 เท่า หรือมีค่า GINI ด้านรายได้ในระดับ 0.36 ภายในปี 2580

ความเหลื่อมล้ำวัดในมิติอื่นซึ่งมีผลต่อคุณภาพชีวิตโดยรวมได้อีก เช่น โอกาสเข้าถึงการศึกษา การได้รับการดูแลจากรัฐในด้านสาธารณสุข การได้รับความคุ้มครองจากรัฐ ฯลฯ ซึ่งเรื่องเหล่านี้ประเทศของเราโดดเด่นกว่าอีกหลายประเทศมาก

หมายเหตุ: ตีพิมพ์ครั้งแรก คอลัมน์ “อาหารสมอง” นสพ.กรุงเทพธุรกิจ ฉบับวันอังคารที่ 18 ธ.ค. 2561