ThaiPublica > เกาะกระแส > “บิ๊กตู่” ยันกำหนดวันเลือกตั้ง 24 ก.พ. 62 – มติ ครม. เห็นชอบ 28 โครงการโลจิสติกส์ภาคใต้ 1.2 แสนล้าน

“บิ๊กตู่” ยันกำหนดวันเลือกตั้ง 24 ก.พ. 62 – มติ ครม. เห็นชอบ 28 โครงการโลจิสติกส์ภาคใต้ 1.2 แสนล้าน

22 สิงหาคม 2018


พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี
ที่มาภาพ: http://www.thaigov.go.th/

เมื่อวันที่ 21 สิงหาคม 2561 มีการประชุมการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคม กลุ่มจังหวัดภาคใต้ฝั่งอ่าวไทย (ชุมพร นครศรีธรรมราช พัทลุง สุราษฎร์ธานี และสงขลา) และกลุ่มจังหวัดภาคใต้ฝั่งอันดามัน (ระนอง พังงา ภูเก็ต กระบี่ ตรัง และสตูล) และการประชุมคณะรัฐมนตรีอย่างเป็นทางการนอกสถานที่ (ครม.สัญจร) ครั้งที่ 6/2561 ณ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารราชกระบัง วิทยาเขตชุมพรเขตรอุดมศักดิ์ จังหวัดชุมพร โดยมี พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เป็นประธาน

สำหรับการลงพื้นที่ตรวจราชการของนายกรัฐมนตรีครั้งนี้ระหว่างวันที่ 20-21 สิงหาคม 2561 มีภารกิจที่น่าสนใจ เช่น ที่ จ.ระนอง ในช่วงเช้าเป็นสักขีพยานการมอบสมุดประจำตัวผู้ได้รับการคัดเลือกให้ทำกินในชุมชน ตามนโยบายรัฐบาลในลักษณะแปลงรวม ในพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติ “ป่าคลองลำเลียง-ละอุ่น” เนื้อที่ 511-3-33 ไร่ จำนวน 94 ราย 98 แปลง ให้กับผู้แทนชุมชน จากนั้นนายกรัฐมนตรีลงพื้นที่ติดตามผลการส่งเสริมการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพและแพทย์ทางเลือก ที่มีจุดเด่นคือ “ธาราบำบัด” ด้วยน้ำแร่อุ่น นำทรัพยากรธรรมชาติในพื้นที่มาเสริมการรักษา ตอบสนองยุทธศาสตร์การเป็นเมืองท่องเที่ยวเชิงสุขภาพของจังหวัด

จากนั้นเยี่ยมชมการพัฒนาท่าเรือระนอง ซึ่งเป็นเส้นทางขนส่งสำคัญที่สามารถย่นระยะทางในการส่งสินค้าไปยังยุโรปหรือสหรัฐอเมริกาได้รวดเร็วขึ้น โดยไม่ต้องถ่ายลำที่ประเทศสิงคโปร์ ต่อด้วยการเยี่ยมชมการฟื้นฟูท้องทะเลโดยใช้ปะการังเทียม ก่อนเดินทางไปยัง จ.ชุมพร ติดตามการบริหารจัดการน้ำโครงการพัฒนาพื้นที่หนองใหญ่ตามพระราชดำริ จ.ชุมพร ซึ่งเป็นการพัฒนาแก้มลิงธรรมชาติ เพื่อแก้ปัญหาน้ำท่วมน้ำแล้ง และการจัดสรรน้ำเพื่อการเกษตร

ย้ำสัญจรครั้งนี้ “ไม่ได้อนุมัติโครงการ” แค่รับข้อเสนอเอกชน

พล.อ. ประยุทธ์ ตอบคำถามถึงเรื่องการอนุมัติโครงการต่างๆ ในการการประชุม ครม.สัญจร ว่า การประชุมครั้งนี้ ไม่ได้อนุมัติอะไร เพียงแต่เป็นการรับฟังข้อเสนอแนะของภาคเอกชน สภาเกษตรกรในเรื่องที่ต้องดำเนินการเกี่ยวกับศักยภาพของ 11 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ทั้งฝั่งตะวันตกและตะวันออก โดยเฉพาะเรื่องโครงสร้างพื้นฐานที่ 80 เปอร์เซ็นต์ รัฐบาลมีแผนงานที่จะลงทุน ดำเนินการ และได้รับข้อเสนอส่วนที่เหลือเพื่อไปพิจารณา

“ผมบอกหลายครั้งแล้วเวลามาไม่ใช่อนุมัติทุกเรื่อง ต้องไปดูงบประมาณ จัดลำดับความเร่งด่วน โดยเฉพาะอย่างยิ่งเขตเศรษฐกิจพิเศษภาคใต้ (SEC) ที่ต้องทำให้เกิดมูลค่าเพิ่มขึ้น ส่วนที่มีการเสนอมา 5 ด้าน ได้แก่ เรื่องโลจิสติกส์ การท่องเที่ยว การยกระดับผลผลิตการเกษตร การพัฒนาคุณภาพชีวิต ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ถ้าถามมาว่า จะอนุมัติโครงการเมื่อไหร่ อย่างไร ยังตอบไม่ได้ ต้องไปดูแผนงานว่าอะไรที่มีอยู่แล้วบ้าง ถ้าไม่มีก็จะปรับแผนให้ ถ้ามาวันนี้อนุมัติทั้งหมดก็ประมาณ 40,000 กว่าล้านบาท จะหาเงินที่ไหนให้ได้ ต้องเข้าใจการบริหารงานของรัฐบาล ไม่ใช่ให้ทั้งหมด ต้องรับไว้ศึกษา รับไว้เริ่มต้น รับไว้ปรับของเดิม เพื่อให้ตรงกับศักยภาพ” นายกรัฐมนตรีกล่าว

ยันกำหนดวันเลือกตั้งเบื้องต้น 24 ก.พ. 62-หารือพรรคการเมือง ก.ย. นี้

พล.อ. ประยุทธ์ ตอบคำถามถึงกรณีที่คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ระบุปฏิทินการเลือกตั้งเบื้องต้นจะมีขึ้นในวันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2562 ว่า ยังคงยืนยันว่าการเลือกตั้งจะอยู่ที่เดือนกุมภาพันธ์ 2562 ไปก่อน ตามที่เคยพูดไว้ แต่ถ้าทำไม่ได้ ก็ค่อยว่ากันอีกที

“ขอยังไม่พูดเรื่องอะไรต่ออะไร แต่ถ้ามันทำไม่ได้ ก็ค่อยว่ากันอีกที ถ้าทำได้ก็ต้องทำในเดือนกุมภาพันธ์นี้ ซึ่งเป็นเรื่องของ กกต. ส่วนปัจจัยที่จะทำให้การเลือกตั้งเร็วขึ้นนั้นยังไม่มี เบื้องต้นจะเป็นวันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2562” นายกรัฐมนตรีกล่าว

อย่างไรก็ตาม ในเดือนกันยายนนี้จะมีมาตรการต่างๆ ออกมา โดยจะมีการปลดล็อกในบางเรื่อง รวมถึงในเรื่องการทำงานของ กกต. ที่จะสามารถดำเนินการได้ นอกจากนี้ยังจะมีการหารือกับตัวแทนพรรคการเมือง และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในเดือนกันยายนนี้ด้วยเช่นกัน

ทั้งนี้ นายกรัฐมนตรีได้กล่าวขอขอบคุณหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ทางจังหวัด รวมถึงมหาวิทยาลัย ที่อำนวยความสะดวกและต้อนรับอย่างอบอุ่นในการประชุมครั้งนี้ ประเทศจะต้องก้าวหน้า พร้อมขอร้องอย่าทำให้ถอยหลังด้วยการเมือง หรือเรื่องต่างๆ เป็นคนละเรื่องกัน การเมืองก็ต้องไปว่ากันด้วยการเมือง ที่สำคัญคือรัฐบาลข้างหน้าจะทำอย่างไร ที่จะสอดคล้องและต่อเนื่องกับสิ่งที่รัฐบาลนี้ได้ทำ เพราะถ้าล้มแล้วทำกันใหม่ ทุกอย่างก็จะเหมือนเดิม ประเทศไทยจะกลับไปสู่ที่เก่า

“ดังนั้น กำหนดการต่างๆ ที่ได้ประกาศไปทั้งหมดก็จะยังเป็นเหมือนเดิม ซึ่งผู้แทนก็อาจจะพูดไปตามหลักการของตัวเอง แต่ท้ายที่สุดก็ต้องมาพูดคุยกัน ยืนยันว่ายังเป็นในเดือน ก.พ. 2562 และยืนยันอีกครั้งว่ามาครั้งนี้ไม่ได้หวังผลทางการเมืองอะไร เพราะผมยังไม่ได้ลงเลือกตั้งอะไร วันนี้ทำเหมือนกันกับทุกกลุ่มจังหวัดที่ได้ลงไปประชุม” นายกรัฐมนตรีกล่าว

ไม่สน “ยิ่งลักษณ์” ทวีตตอบโต้

พล.อ. ประยุทธ์ ปฏิเสธตอบคำถามกรณี นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ทวีตตอบโต้ผ่านทางทวิตเตอร์เป็นความว่าว่ายังจำชื่อตัวเองได้อีกหรือ โดยกล่าวเพียงว่า “ผมไม่สนใจ ถ้าสนใจทุกเรื่องก็ตายหมดแหละ วุ่นวายกันไปหมด”

นายกรัฐมนตรี ยิ้มให้แก่ชาวบ้านที่มาส่ง ก่อนเดินทางกลับ
ที่มาภาพ: www.thaigov.go.th

เรียกยิ้มก่อนกลับ คนใต้เชียร์ “บิ๊กตู่” อยู่ต่อ

ก่อนเดินทางกลับ พล.อ. ประยุทธ์ ได้ร่วมกิจกรรมปล่อยลูกปูม้าจำนวน 10 ล้านตัว คืนสู่ทะเล เพื่อประกาศความอุดมสมบูรณ์ของทะเลและชายฝั่งภาคใต้ตอนบน ร่วมกับชาวประมงกลุ่มอนุรักษ์ทรัพยากรทางทะเล กลุ่มท่องเที่ยวทางทะเล และชุมชน

โดยมีรายงานว่า นายกรัฐมนตรีได้กล่าวหยอกล้อกับเด็กๆ ว่า “กินปูกันหรือไม่ เบื่อปูกันหรือยัง กินกันบ่อยแล้วสิ แสดงว่าเบื่อปูกันแล้วใช่มั้ย” และ ภายหลังการปล่อยปู พล.อ. ประยุทธ์ กล่าวด้วยว่า “ผมก็เปรียบเหมือนพ่อปู ขอให้เดินตามพ่อปูต่อไป เพราะการเดินตามแม่ปู มันจะเลี้ยวไปเลี้ยวมานะ”

นอกจากนี้ ได้กล่าวกับชาวบ้านที่มาให้การต้อนรับกว่า 300 คน มีข้อความตอนหนึ่งว่า  “การเลือกตั้งในวันหน้า ขออย่าให้เหมือนเดิมก็แล้วกัน เพราะว่าคนไทยนั้นเป็นระบบแบบอุปถัมภ์ แบบเครือญาติ มีความเห็นใจซึ่งกันและกัน เช่น นักการเมืองเดินทางไปร่วมงานบุญต่างๆ มีการใส่ซองจัดพวงหรีดในงานศพ ก็จะเห็นใจเขา แต่เราควรดูนโยบายพรรคมากกว่า ยืนยันว่า ขณะนี้ยังไม่ได้ตัดสินใจว่าจะอยู่พรรคไหน แต่ก็มีคนสนับสนุนผมจำนวนมาก โดยสนับสนุนให้อยู่นานๆ แต่ที่สุดแล้วจะอยู่อย่างไรยังไม่ทราบ ย้ำว่า การมาครั้งนี้ไม่ได้เพื่อหาเสียง แต่เป็นเหมือนกับที่ไปทุกจังหวัด เพราะถ้าหาเสียงคงพูดมากกว่านี้ เมื่อได้มาเห็นรอยยิ้มของประชาชน ผมก็มีกำลังใจ ไม่ขออะไร วันนี้ขอเพียงกำลังใจจากประชาชน”

จากนั้น พล.อ. ประยุทธ์ และคณะ ได้เดินทางมาเยี่ยมชมการดำเนินงานของวิสาหกิจชุมชนแปรรูปผลผลิตทางการเกษตร ต.ทะเลทรัพย์ อ.ปะทิว จ.ชุมพร ซึ่งมีประชาชนมาให้การต้อนรับกว่า 200 คน โดยได้กล่าวกับประชาชนว่า วันนี้รัฐบาลไม่ได้ทำให้คนใต้มารักรัฐบาล หรือรักตน แต่เป็นการทำเพื่อให้เกิดความเชื่อมโยง ลดความเหลื่อมล้ำ กระจายรายได้ เรามีหลักการในการทำทั้งหมด ซึ่งจะเชื่อมต่อกับยุทธศาสตร์ชาติ นี่คือความสำคัญเพื่อไม่ให้ใครมาบิดเบือน และใช้นโยบายทางการเมือง ซึ่งทำให้ทุกอย่างเสียโอกาสอย่างที่ผ่านมา

“วันนี้รู้สึกดีที่มากเพราะพูดแล้วเห็นแววตาที่ประชาชนเข้าใจ ไม่ใช่มาแล้วประชาชนไม่สนใจ ไม่รู้เรื่อง ใครชอบผมหรือไม่ชอบผมก็ไม่เป็นไร แต่ฝากถ้าเลือกรัฐบาลใหม่ อย่าไปเลือกคนที่ให้โน้นให้นี้ ให้ราคาข้าวเท่านี้ ราคายางพาราเท่านี้ พูดอย่างนั้นพูดด้วยปากได้ แต่จะมีคดีตามมาอีกเยอะ ก็เห็นไหมเกิดขึ้นมาแล้ว ตนยังไม่ได้ทำอะไรเลย ตอนนี้ก็เป็นเรื่องศาลไม่ผิดก็คือไม่ผิด” นายกรัฐมนตรีกล่าว

ทั้งนี้มีรายงานว่าช่วงท้ายมีชาวบ้านลุกขึ้นตะโกนว่า “ขอพูดอะไรหน่อย ผมขอให้ท่านนายกฯ เป็นนายกฯ คนต่อไปนานๆ” ด้าน พล.อ. ประยุทธ์ ยิ้มพร้อมกล่าวว่า “เอาอีกแล้ว หาเรื่องให้นายกฯ โดนด่าอีกแล้ว ไปดูก็แล้วกันในรัฐธรรมนูญ ผมจะอยู่ไม่อยู่ก็ตามรัฐธรรมนูญ”

ขณะที่ชาวบ้านคนเดิมกล่าวต่อไปว่า “ที่อยากให้นายกฯอยู่ต่อ เพราะนายกฯ ช่วยเหลือคนยากจน มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ ปราบผู้มีอิทธิพล ชาวอำเภอประทิว รักนายกฯทุกคน” พล.อ. ประยุทธ์ กล่าวตอบว่า “ขอบคุณในความปรารถนาดี ตนกำลังแก้ปัญหาหนี้นอกระบบอยู่ ขอให้ไปแจ้ง เขาจะไกล่เกลี่ยให้ แต่อย่าลืมใช้หนี้เขานะ”

มติ ครม. มีดังนี้

พล.ท. สรรเสริญ แก้วกำเนิด โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี
ที่มาภาพ: www.thaigov.go.th

ในการประชุมการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคม กลุ่มจังหวัดภาคใต้ฯ ร่วมกับคณะรัฐมนตรี ผู้ว่าราชการจังหวัด ผู้แทนภาคเอกชน ผู้บริหารองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และผู้แทนเกษตรกร มีโครงการรวม 34 โครงการ มูลค่ารวมกว่า 200,000 ล้านบาท ครอบคลุม 5 ด้าน ได้แก่ 1) ด้านโลจิสติกส์ การค้า การลงทุน 2) ด้านท่องเที่ยว 3) ด้านเกษตร 4) ด้านพัฒนาคุณภาพชีวิต และ 5) ด้านทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม โดยที่ประชุมเห็นชอบตามข้อเสนอการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมกลุ่มจังหวัดภาคใต้ฯ ดังนี้

เห็นชอบ 28 โครงการโลจิสติกส์ภาคใต้กว่า 1.2 แสนล้าน

นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐนตรีว่ากากระทรวงคมนาคม กล่าว่า ครม. เห็นชอบในหลักการตามมติการประชุมการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมกลุ่มจังหวัดภาคใต้ฝั่งอ่าวไทย และกลุ่มจังหวัดภาคใต้ฝั่งอันดามัน ซึ่งข้อเสนอด้านคมนาคมขนส่งและการปรับปรุงโลจิสติกส์มีจำนวน 28 โครงการ วงเงินรวม 128,391 ล้านบาท ประกอบด้วยโครงการรถไฟทางคู่ 4 โครงการ ระยะทางรวม 345 กิโลเมตร วงเงินรวม 83,378 ล้านบาท ที่เหลืออีก 45,013 ล้านบาทเป็นโครงการทางถนน ท่าเรือ และสนามบิน

“สิ่งที่เราต้องทำเพิ่มขึ้นคือเรื่องการพัฒนาชายฝั่งทั้ง 2 ฝั่ง ซึ่งทางฝั่งอ่าวไทยนั้นมีโครงการไทยแลนด์ริเวียร่าทั้งหมด 515 กิโลเมตร ดำเนินการก่อสร้างไปแล้ว คงเหลือประมาณ 177 กิโลเมตร ทั้งนี้ภาคเอกชนได้เสนอให้ต่อลงมาถึงสงขลา ซึ่งกระทรวงก็รับพิจารณาไว้ อีกโครงการที่สำคัญคือ ทางภาคเอกชนอยากจะเห็นการพัฒนาทะเลสาบสงขลา เพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยวริมทะเลสาบเช่นเดียวกับในต่างประเทศ คือ มีถนนเลียบทะเลสาบ เรื่องนี้ก็ได้รับไว้พิจารณาและศึกษารายละเอียดต่อไปเช่นกัน” นายอาคมกล่าว

สำหรับการพัฒนาพื้นที่ตอนใน เช่น จ.พัทลุง ที่อยู่ระหว่างอันดามันและอ่าวไทย ซึ่งภาคเอกชนได้มีข้อเสนอเข้ามาทั้งหมด 28 โครงการ อย่างไรก็ตาม เป็นโครงการที่รัฐบาลมีแผนการรองรับไว้แล้ว มีโครงการที่สำคัญ คือ โครงการโครงสร้างพื้นฐานด้านรถไฟ ซึ่งมีส่วนสำคัญที่จะเชื่อมต่อระหว่าง 2 ฝั่ง ชุมพรกับระนอง ที่เป็นประตูด้านตะวันตกในด้านค้าขาย และการเดินเรือ ซึ่งจะมีการพัฒนาโครงการพัฒนาท่าเรือระนอง เพื่อเพิ่มศักยภาพในการขนส่งตู้สินค้าจาก 70,000 ตู้ เป็น 500,000 ตู้ โดยจะเพิ่มท่าเรื่อที่ 3 เข้ามา

นายอาคมกล่าวต่อไปว่า นอกจากนี้ ยังมีโครงการระบบรางเชื่อมต่อระหว่างชุมพรกับระนอง ซึ่งทางกระทรวงคมนาคมได้ศึกษาแล้วเสร็จแล้ว ต่อไปในปี 2562 จะเป็นการออกแบบรายละเอียดและการจัดทำรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) ซึ่งคาดว่าจะสามารถเริ่มต้นก่อสร้างได้ในปี 2563 ซึ่งจะทำให้ทางรถไฟชุมพร-ระนองนั้นจะเป็นจุดเชื่อมต่อระหว่าง 2 ฝั่ง เพื่อนำสินค้าลงสู่ท่าเรือ โดยท่าเรือระนองจะเชื่อมต่อกับศรีรังกา บังกลาเทศ อินเดีย และเมียนมา อีกด้านหนึ่งเส้นทางรถไฟนี้จะเป็นประโยชน์ต่อการท่องเที่ยว โดยจะมีการศึกษาต่อเพิ่มเติมจากระนอง ไปสู่พังงา กระบี่ และเชื่อมไปให้ถึง จ.ตรัง

ทั้งนี้มีส่วนที่เป็นข้อเสนอใหม่ 4 โครงการที่ภาคเอกชนเสนอเข้ามา คือ โครงการรถไฟทางคู่ ที่จะครอบคลุมกับรถไฟทางคู่เส้นทางนครปฐม-ชะอำ, ชะอำ-ประจวบคีรีขันธ์, ประจวบคีรีขันธ์-ชุมพร ที่กำลังอยู่ระหว่างการก่อสร้าง โดยจะขยายต่อจากชุมพรยังสุราษฎร์ธานี สงขลา หาดใหญ่ และปาดังเบซาร์ มีรายละเอียดโครงการ คือ

  1. เส้นทางชุมพร-ระนอง (กระทรวงคมนาคมเริ่มดำเนินการศึกษาแล้ว)
  2. เส้นทางสุราษฎร์ธานี-ท่านุ่น จ.พังงา ระยะทาง 158 กิโลเมตร ขณะนี้อยู่ในขั้นตอนของการนำเสนอโครงการ คาดว่าจะนำโครงการเสนอที่ประชุม ครม. ในเร็วๆ นี้
  3. เส้นทางสุราษฎร์ธานี-ดอนศักดิ์ ซึ่งหากมองภาพรวมโครงการจะเป็นการเชื่อมโยง 2 ฝั่ง คือ เส้นทางดอนศักดิ์-สุราษฎร์ธานี-ท่านุ่น จ.พังงา
  4. เส้นทาง พังงา-กระบี่ ซึ่งจะเป็นการเชื่อมต่อกับเส้นทางรถไฟ จ.ระนอง ซึ่งจะต้องมีการศึกษาเพิ่มติม รวมระยะเทางทั้งหมด 345 กิโลเมตร เม็ดเงินลงทุน 83,506 ล้านบาท

นายอาคมกล่าวต่อไปว่า อีกโครงการหนึ่งที่ภาคเอกชนเสนอมาคือ โครงการทางหลวงพิเศษระหว่างเมืองสู่ภาคใต้ (มอร์เตอร์เวย์หมายเลข 8) ทั้งนี้สืบเนื่องจากปัจจุบันการจราจรในเส้นทางหมายเลข 4 ที่ลงสู่ภาคใต้ค่อนข้างหนาแน่น โดยภาคเอกชนเสนอให้ดำเนินโครงการไปถึงสุไหงโก-ลก จึงแบ่งโครงการออกเป็น 4 ระยะ ระยะที่ 1 ช่วงปี 2561-2564 คือ โครงการก่อสร้างมอร์เตอร์เวย์นครปฐม-ชะอำ ซึ่งจะดำเนินการในรูปแบบการร่วมทุนระหว่างภาครัฐและภาคเอกชน (พีพีพี) ระยะที่ 2 ช่วงชะอำ-ชุมพร แผนระยะ 2565-2569 ระยะที่ 3 ช่วงชุมพร-สงขลา แผนระยะ 2570-2574 และระยะที่ 4 ช่วงสงขลา-สุไหงโกลก แผนระยะ 2575-2579

“มอร์เตอร์เวย์นี้จะเป็นการเสริมศักยภาพเส้นทางหมายเลข 4 ซึ่งเป็นเส้นทางที่ลงสู่ภาคใต้ตอนล่าง ส่วนด้านอากาศภาคเอกชนเสนอให้พัฒนาท่าอากาศยานหาดใหญ่ ที่ปัจจุบันเริ่มมีความหนาแน่นแล้ว ส่วนท่าอากาศยานอื่นๆ ที่ภาคเอกชนไม่ได้เสนอทางกระทรวงคมนาคมได้นำเสนอให้ภาคเอกชนรับทราบว่าในปี 2561 ได้ทำการปรับปรุงท่าอากาศยานกระบี่ โดยจะเพิ่มอาคารผู้โดยสารหลังที่ 3 ส่วนปี 2562 จะดำเนินการเพิ่มอาคารผู้โดยการสนามบินนครศรีธรรมราช และสนามบินตรัง ส่วนสนามบินชุมพร ที่มีผู้โดยสารเพิ่มขึ้นถึง 30% และสนามบินระนอง ที่มีผู้โดยสารเพิ่มขึ้นถึง 50% มีโครงการที่จะปรับปรุงรันเวย์เพื่อรองรับอากาศยานขนาดใหญ่ เช่น A320 หรือ B737” นายอาคมกล่าว

เชื่อม 2 ฝั่งทะเลใต้ หนุนท่องเที่ยวชุมชน

นายวีระศักดิ์ โควสุรัตน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา กล่าวว่า ที่ประชุม ครม. มีมติเห็นชอบในหลักการตามที่ภาคเอกชนเสนอในด้านการท่องเที่ยว เพื่อพัฒนาการท่องเที่ยวของภาคใต้ให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวคุณภาพชั้นนำของโลก โดยกำหนดให้มีการยกระดับคุณภาพบริการ และส่งเสริมธุรกิจต่อเนื่องในแหล่งท่องเที่ยว คำนึงถึงความสามารถในการรองรับของพื้นที่อย่างยั่งยืน

โดยห็นชอบแนวทางการพัฒนา ได้แก่ 1) การพัฒนาศักยภาพการรักษาความปลอดภัยในเมืองท่องเที่ยวหลัก โดยใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมทั้งทางบกและทางน้ำ 2) การพัฒนาศักยภาพแหล่งท่องเที่ยว โครงการยกระดับพัฒนาแหล่งสปาวารีบำบัดน้ำพุร้อน พัฒนาเป็นแหล่งท่องเที่ยวสุขภาพให้มีคุณภาพมาตรฐาน และเชื่อมโยงแหล่งท่องเที่ยวสุขภาพในภาคใต้ฝั่งอันดามันและฝั่งอ่าวไทย 3) วางแผนศึกษาพัฒนาเส้นทางเพื่อการท่องเที่ยว เพื่อสนับสนุนการท่องเที่ยวทะเลสาบสงขลา นครศรีธรรมราช-พัทลุง-สงขลา และปรับปรุงภูมิทัศน์ในส่วนที่ไม่มีผลกระทบกับสิ่งแวดล้อม

“รัฐบาลพยายามจะเชื่อม 2 ฝั่งทะเลให้ได้มากที่สุด แต่เราจะไม่ให้การเติบโตเกิดขึ้นเฉพาะบริเวณชายฝั่ง โดยวางแผนที่จะทำให้การเติบโตกระจ่ายเข้าสู่แผ่นดินมากขึ้น คือ ตามแนวเขาตะนาวศรี ให้เชื่อมต่อจากการท่องเที่ยวชายฝั่ง จากริเวียรา มาสู่การท่องเที่ยวชุมชน การท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม อาหารการกิน เพราะจากการสำรวจพบว่าตลอดแนวภาคใต้มีป่ากลางเมืองเยอะมากที่จะสามารถพัฒนาการท่องเที่ยวต่อได้ แต่การท่องเที่ยวจะพัฒนาได้รวดเร็วแค่ไหนก็ต้องขึ้นอยู่กับด้านคมนาคมด้วยเช่นกันว่ามีการพัฒนาเร็วแค่ไหน” นายวีระศักดิ์กล่าว

มีรายงานเพิ่มเติมว่า นายกรัฐมนตรีได้กำชับในที่ประชุม โดยขอให้บูรณาการทำงานขับเคลื่อนไม่ว่าจะเป็นการรักษาความปลอดภัย กำหนดจุดให้ชัดเจน มีแผนเตรียมการรองรับสถานการณ์ พร้อมกับให้ช่วยกันดูแลเรื่องความสะอาดของสถานที่ท่องเที่ยว โดยเฉพาะเรื่องขยะต้องมีการบริหารจัดการให้ดี

ขณะที่นายอาคมให้ความเห็นเพิ่มเติมเกี่ยวกับการเชื่อมโยงคมนาคมกับการท่องเที่ยวว่า จ.ชุมพรและระนอง เป็นส่วนที่สำคัญมาก เพราะจะเป็นมีท่าเรือระนอง ขณะเดียวกันทั้ง 2 พื้นที่มีสนามบิน และยังมีสนามบินสุราษฎร์ธานี ซึ่งทั้ง 3 สนามบินจะมีบทบาทหลักในการรองรับผู้โดยสารรวมทั้งนักท่องเที่ยวจากต่างประเทศ

“ชุมพรมีจุดได้เปรียบคือท่าเรือ อยู่ใกล้ท่าเรือดอนสัก จ.สุราษฎร์ธานี ที่สามารถเชื่อมต่อไปยังเกาะเต่า เกาะพะงัน และเกาะสมุยได้ โดยระยะที่ใกล้ที่สุดที่เดินทางจากแผ่นดินใหญ่ไปถึงเกาะเต่าได้คือ ลงเครื่องบินจากชุมพร ฉะนั้นจะทำให้เครื่องบิน-รถ-เรือ และเป็นเส้นทางการอท่องเที่ยวเชื่อมต่อไปยังเกาะสมุย และขึ้นเครื่องกลับที่สนามบินสุราษฎ์ธานีได้ สามารถขายเป็นแพ็คเกจการท่องเที่ยว เพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยวได้” นายอาคมกล่าว

ตั้งเขตอุตสาหกรรม “โอลีโอเคมี” ผลิตน้ำมันครบวงจร

พล.ท. สรรเสริญ แก้วกำเนิน กล่าวว่า ที่ประชุม ครม. มีมติเห็นชอบในหลักการตามที่ภาคเอกชนเสนอ ด้านการยกระดับการผลิตสร้างมูลค่าเพิ่มผลผลิตทางการเกษตรให้เป็นฐานเศรษฐกิจที่สร้างรายได้อย่างยั่งยืน โดยมีโครงการพัฒนาเขตอุตสาหกรรมโอลีโอเคมีจากปาล์มน้ำมันแบบครบวงจร เพื่อให้เป็นผลิตภัณฑ์ใหม่ของภาค และเนื่องจากภาคใต้มีศักยภาพทางด้านการเกษตรที่ค่อนข้างสูง ทั้งนี้มีโครงการที่ได้รับความเห็นชอบ ได้แก่

  1. โครงการจัดตั้ง Oil Palm City (สุราษฎร์ธานี)
  2. โครงการสนับสนุนการทำเกษตรแบบผสมผสานหรือ “วนเกษตร” ในส่วนยางพาราและส่วนปาล์มน้ำมัน
  3. โครงการพัฒนาฟาร์มต้นแบบที่มีความแม่นยำสูง เพื่อส่งเสริมศักยภาพการผลิตทางการเกษตร
  4. โครงการส่งเสริมให้เป็นเมืองนวัตกรรมและการออกแบบไม้ยางพาราเพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มและการจัดทำมาตรฐานการจัดการป่าไม้อย่างยั่งยืน และรองรับ Industry 4.0
  5. โครงการส่งเสริมและการพัฒนางานวิจัยทางด้านยาง ปาล์ม พืชผักสมุนไพร ปศุสัตว์ และประมง เพื่อรองรับ Agro – Bio – Economy รวมทั้งสนับสนุนการผลิตอาหารปลอดภัยเพื่อการท่องเที่ยวเชิงคุณภาพระดับโลก
  6. โครงการการจัดตั้งโรงงานต้นแบบสินค้าการเกษตร 4.0 แบบครบวงจร เพื่อยกระดับเป็นพื้นที่เศรษฐกิจพิเศษ คลัสเตอร์อุตสาหกรรมเกษตร
  7. โครงการส่งเสริมการทำระบบแก๊สชีวภาพและชีวมวลจากกระบวนการผลิตปาล์มและยางพารา เพื่อเป็นพลังงานทดแทนในระบบอุตสาหกรรมและตามแนวประชารัฐ
  8. โครงการจัดตั้งศูนย์ยกระดับผลิตภัณฑ์ชุมชนตามแนวประชารัฐและการจำหน่ายผลิตภัณฑ์ชุมชนทางการเกษตร
  9. โครงการพัฒนานวัตกรรมดิจิทัลด้านการเกษตร สินค้าและบริการภาคใต้

พล.ท. สรรเสริญ กล่าวต่อไปว่า นายกรัฐมนตรีได้สั่งการให้ขับเคลื่อนให้ได้โดยเร็ว สร้างกลไกทางการเกษตร กำหนดพื้นที่เพาะปลูก มีการปลูกพืชเสริมพืชหลัก รวมถึงการรวมกลุ่มทำเกษตรแปลงใหญ่ นำข้อมูลบิ๊กดาต้ามาใช้ประโยชน์ ใช้ข้อมูลแต่ละหน่วยงานมาวิเคราะห์ รวบรวมเป็นข้อมูลนำมาตัดสินใจ เพื่อจะได้ส่งเสริมการทำเกษตรให้ตรงจุด

มอบ สธ. พิจารณางบฯพัฒนาโรงพยาบาลภาคใต้

พล.ท. สรรเสริญ กล่าวว่า ที่ประชุม ครม. มีมติเห็นชอบในหลักการด้านการพัฒนาคุณภาพชีวิต ในการเร่งรัดก่อสร้างโรงพยาบาลระดับทุติยภูมิ จังหวัดสุราษฎร์ธานี เร่งรัดการพัฒนาศูนย์ความเป็นเลิศโรงพยาบาลสุราษฎร์ธานีระดับภาคใต้ตอนบน และเร่งรัดการเพิ่มประสิทธิภาพด้านเครื่องมือการรักษาพยาบาลและคุณภาพด้านการบริหารของโรงพยาบาลมหาราช นครศรีธรรมราช รวมทั้งส่งเสริมความเข้มแข็งของชุมชนในพื้นที่กลุ่มจังหวัด โดยนายกรัฐมนตรีมอบหมายให้กระทรวงสาธารณสุขรับไปพิจารณาเรื่องงบประมาณ

ชู “หนองใหญ่” โมเดลแก้ปัญหา “น้ำ” ภาคใต้

พล.ท. สรรเสริญ กล่าวว่า ที่ประชุม ครม. มีมีติเห็นชอบในหลักการด้านทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม โดยได้กำหนดแนวทางการพัฒนา ดังนี้ 1) การขุดลอกร่องน้ำชายฝั่งทะเลเพื่อเพิ่มศักยภาพ 2) การบริหารจัดการน้ำเพื่อแก้ปัญหาอุทกภัย ประกอบด้วย ขอรับการสนับสนุนศึกษาและออกแบบแนวทางการป้องกันปัญหาอุทกภัยและภัยแล้งภาคใต้แบบครบวงจร รวมถึงการจัดหาแหล่งน้ำเพื่อการอุปโภคบริโภคและการเกษตรในเขตพื้นที่จังหวัดพังงา และจังหวัดระนอง

“นายกรัฐมนตรีมอบหมายหน่วยงานที่เกี่ยวข้องรับไปพิจารณาดำเนินตามแผนงาน และให้พิจารณาดำเนินการตามความเร่งด่วน ตรงความต้องการของประชาชน โดยให้ใช้การบริหารจัดการน้ำโครงการพัฒนาพื้นที่หนองใหญ่ตามพระราชดำริ จ.ชุมพร ซึ่งเป็นการพัฒนาแก้มลิงธรรมชาติ เป็นต้นแบบในการดำเนินการ” พล.ท. สรรเสริญ กล่าว

ด้านนายวัฒนา ธนาศักดิ์เจริญ ประธานคณะกรรมการพัฒนาเศรษฐกิจพื้นที่ภาคใต้ หอการค้าไทย ระบุว่า โครงการที่ภาคเอกชนเสนอไปทั้งหมดเป็นโครงการตามแผนของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอยู่แล้ว เพียงแต่ครั้งนี้ ครม. รับที่จะเร่งรัดโครงการต่างๆ ให้เร็วขึ้น และหลังจากนี้จะได้บรรจุเป็นโครงการเข้าสู่การพิจารณาของ ครม. และลงรายละเอียดของโครงการต่อไป

“ครั้งนี้ ครม. ได้ให้เวลากับการประชุมกับเอกชนค่อนข้างนานยาวกว่าการประชุมยาวกว่าทุกครั้ง คือโดยใช้เวลาประมาณ 2 ชั่วโมงครึ่ง เนื่องจากนายกรัฐมนตรีได้สอบถามลงรายละเอียดในทุกโครงการที่เอกชนเสนอ ขณะที่รัฐมนตรีที่เกี่ยวข้องก็ตอบทุกประเด็น ซึ่งทุกคนเชื่อจะเป็นจุดเริ่มต้นที่สำคัญของการพัฒนาเศรษฐกิจภาคใต้อย่างจริงจัง เพราะท่านนายกรัฐมนตรีก็ถามว่าเศรษฐกิจภาคใต้ถูกปล่อยแบบนี้ได้อย่างไร” นายวัฒนากล่าว

ไฟเขียว กรอบแนวคิดระเบียงเศรษฐกิจภาคใต้

พล.ท. สรรเสริญ แก้วกำเนิด โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ที่ประชุม ครม.มีมติเห็นขอบกรอบแนวคิดการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจภาคใต้ (เอสอีซี) ตามที่สำนักานคณะกรรมการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) โดยแบ่งการพัฒนาออกเป็น 3 พื้นที่ ประกอบด้วย 1. ภาคใต้ตอนล่าง ได้แก่ สงขลา สตูล ยะลา ปัตตานี และนราธิวาส  2. ภาคใต้ตอนกลาง ได้แก่ สุราษฎร์ธานี นครศรีธรรมราช พัทลุง พังงา กระบี่ ตรัง และภูเก็ต และ 3. ภาคใต้ตอนบน ได้แก่ ชุมพรและระนอง

โดยมีแนวทางการพัฒนาใน 4 ด้าน ที่ สศช. จะดำเนินการศึกษาความเหมาะสมในรายละเอียดแล้วเสร็จในเดือนเมษายน 2562 ขณะที่กระทรวงคมนาคมดำเนินการก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐานทางคมนาคมหลักตามแผนกำหนดการแล้วเสร็จตั้งแต่ปี 2563-2565 ดังนี้

1. การพัฒนาประตูการค้าฝั่งตะวันตก ให้สามารถเชื่อมโยงโครงข่ายและประโยชน์ในการเป็นประตูส่งออกสินค้าฝั่งตะวันตกเชื่อมโยงกับอีอีซีไปยังกลุ่มประเทศกลุ่มความร่วมมือทางเศรษฐกิจในภูมิภาคอ่าวเบงกอล (BIMSTEC) ที่มีการเติบโตทางเศรษฐกิจสูง

2. การพัฒนาประตูสู่การท่องเที่ยวอ่าวไทยและอันดามัน ให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวชั้นนำและเชื่อมโยงกับชายฝั่งอันดามัน ให้สามารถกระจายนักท่องเที่ยวและรายได้มากยิ่งขึ้น

3. การพัฒนาอุตสาหกรรมฐานชีวภาพและการแปรรูปการเกษตรมูลค่าสูง

4. การอนุรักษ์ทรัพยากรและวัฒนธรรมเพื่อการท่องเที่ยวและเรียนรู้ พื้นที่เป้าหมายการพัฒนา แยกเป็นชุมพร-ระนอง ที่พัฒนาเป็นพื้นที่เศรษฐกิจใหม่ ส่วนสุราษฎร์ธานี-นครศรีธรรมชาติ เป็นพื้นที่อุตสาหกรรมฐานชีวภาพ และมีพื้นที่จังหวัดอื่นๆ ในภาคใต้ได้รับประโยชน์จาก 2 กลุ่มพื้นที่นี้

ด้านนายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี กล่าวเพิ่มเติมว่า เอสอีซี จะเชื่อมโยง 4 จังหวัด โดย จ.ชุมพร คือ แหล่งผลไม้และท่องเที่ยว จ.ระนอง คือ ท่าเรือสู่พม่า อินเดีย ลังกา บังคลาเทศ ส่วน จ.สุราษฎร์ธานี และ จ.นครศรีธรรมราช คือ พื้นที่เกษตรที่จะเป็นแหล่งผลิตและแปรรูป พร้อมกันนี้ จะมีเส้นทางรถไฟรางคู่เชื่อม จ.ชุมพร และ จ.ระนอง เป็นการเชื่อมพื้นที่เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) กับทะเลอันดามัน ทำให้สินค้าแปรรูปจากจังหวัดในภาคใต้สามารถส่งไปยังกลุ่มประเทศบิมสเทค (BIMSTEC) ที่มีสมาชิก 7 ประเทศ ได้แก่ บังกลาเทศ ภูฏาน อินเดีย พม่า เนปาล ศรีลังกา และไทยและเข้าไปถึงอีอีซี จะเป็นโครงการใหญ่เคียงคู่ไทยแลนด์ริเวียร่าจากจ.เพชรบุรี สู่ จ.ชุมพร

ภาคใต้เป็นดินแดนที่สมบูรณ์ที่สุด แต่จีดีพี ต่อหัวต่ำ เพราะการพัฒนาที่ผ่านมาในอดีตกระจัดกระจาย ขาดความคิดเชิงยุทธศาสตร์ เราเลือก4จังหวัดก่อนเพราะเอื้อกันเชิงตรรกะ เริ่มต้นง่ายเพราะมีงบประมาณอยู่แล้ว เหมือนเอาภาพที่กระจัดกระจายใส่กรอบให้เห็นชัดและโฟกัส ต่อไปก็ให้จังหวัดอื่นมาเกาะเกี่ยว เป็นเฟสต่อไป นี่เป็นจุดเปลี่ยนการพัฒนาภาคใต้

“เมื่อภาพของโครงการเอสอีซีเกิดขึ้นชัดแล้ว จะมีการเชื่อมกับระหว่างโครงการเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออกและเอสอีซีเข้าด้วยกัน โดยจะมีรถไฟทางคู่มาเชื่อมลงจากชุมพร ถึงระนอง ซึ่งเรื่องนี้จะเป็นเฟสแรกที่รัฐบาลต้องการทำให้เกิดขึ้นเร็ว โดยในพื้นที่จังหวัดระนองมีท่าเรือสำคัญที่ทำการเชื่อมโยงระหว่างอีอีซี ขนของมาลงที่นี่ได้ ส่วนชุมพรก็มีผลไม้ สุราษฎร์ธานี นครศรีธรรมราชก็มีภาคเกษตรที่เข้มแข็ง ทั้งปาล์มน้ำมัน และยางพารา ต่อไปเมื่อเชื่อมโยงกันแล้ว พืชผักผลไม้ จะขนออกไปสู่ทะเลฝั่งอันดามันได้ ส่วนสินธิประโยชน์ต่างๆทางบีโอไอได้รับไปดูแล้ว” นายสมคิดกล่าว

ทั้งนี้ รัฐบาลต้องการเร่งรัดโครงการเอสอีซี เพราะจะช่วยสร้างมูลค่าเพิ่มในทุกด้าน รวมทั้งเชื่อมโยงโครงข่ายคมนาคมและการท่องเที่ยว ขณะเดียวกันก็ให้ความสำคัญกับภาคการเกษตร และต้องบริหารจัดพืชเกษตรสำคัญ คือ ข้าว ปาล์ม ยางพารา อ้อย และข้าวโพด โดยมอบหมายให้มีการจัดตั้งคณะกรรมการเพื่อตรวจสอบข้อมูล big data วิเคราะห์ข้อมูลในการทำการเกษตร รองรับกฎกติกาของนานาชาติ ส่วนการพัฒนาคุณภาพชีวิตและสิ่งแวดล้อมนั้นขอให้เป็นไปตามการบริหารจัดการของรัฐบาล และเป็นไปตามความต้องการและประสิทธิภาพของคนในพื้นที่ พร้อมทั้งยืนยันว่า รัฐบาลทำตามกรอบและแผนงานทุกอย่าง

เคาะงบฯ สร้าง “รัฐสภาใหม่” 4,861 ล้าน

พล.ท. สรรเสริญ กล่าวว่า ที่ประชุม ครม. มีมติเห็นชอบงบประมาณโครงการก่อสร้างอาคารรัฐสภาแห่งใหม่ สัปปายะสภาสถาน ในส่วนของค่าก่อสร้างงานสาธารณูปโภค สาธารณูปการ และงานประกอบอาคารและภายนอกอาคาร และค่าใช้จ่ายด้านเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร จากที่มีการตั้งงบประมาณในส่วนนี้สูงถึง 8,135.55 ล้านบาท ทั้งยังเกิดกระแสวิพากษ์วิจารณ์ค่าใช้จ่ายในส่วนของไมโครโฟน และนาฬิกา ปัจจุบันปรับลดงบประมาณในเหลือ 4,861.58 ล้านบาท

“คณะรัฐมนตรีจึงมีมติให้สภาฯ และผู้เกี่ยวข้องพิจารณาปรับลดลงมาเหลือ 4,934 ล้านบาท แต่นายกรัฐมนตรีระบุว่า เพื่อความรอบคอบจึงให้ พล.อ. ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ลงไปตรวจสอบเพิ่มเติมอีกครั้ง โดยเชิญผู้ที่เกี่ยวข้องมาพูดคุย ซึ่งสามารถลดงบประมาณลงอีก 73 ล้านบาท โดยปรับลดในส่วนของนาฬิกาและไมโครโฟนสำหรับผู้ติดตามลงไป 95 ล้านบาท และเพิ่มในส่วนของระบบเครือข่ายไร้สายตามที่กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอี) เสนอจำนวน 21 ล้านบาท” พล.ท. สรรเสริญ กล่าว

แก้เกณฑ์ออกใบขับขี่-จ่อแยกใบขับขี่ “บิ๊กไบค์”

พล.ท. สรรเสริญ กล่าวว่า ที่ประชุม ครม. มีมติเห็นชอบการแก้ไขกฎกระทรวงว่าด้วยหลักเกณฑ์และวิธีการ ตลอดจนการขอและเงื่อนไขในการออกใบอนุญาตขับรถ พ.ศ. 2548 ออกตามพระราชบัญญัติรถยนต์ พ.ศ. 2522 เพื่อให้รัดกุมและชัดเจนยิ่งขึ้น โดยมีส่วนที่ปรับแก้ เช่น ใบรับรองแพทย์ที่นำมาประกอบการขออนุญาต หรือขอต่ออายุใบขับขี่ จะต้องแสดงว่าผู้ที่จะขอนอกจากไม่มีโรคประจำตัวแล้วจะต้องไม่อยู่ในสภาวะโรคที่อาจจะเป็นอันตรายต่อการขับรถ เช่น มีอาการทางประสาท ระบบการได้ยิน หรือระบบการมองเห็น

และสำหรับผู้ที่ประสงค์จะขับรถยนต์หรือรถจักรยานยนต์ที่มีกำลังสูง (บิ๊กไบค์) ต้องมีการผ่านการฝึกอบรมและทดสอบการขับรถด้วย ขณะเดียวกัน จะมีการแยกใบอนุญาตขับขี่รถจักรยานยนต์ทั่วไป และรถจักรยานยนต์บิ๊กไบค์

“บิ๊กป้อม” แจงแก้หนี้นอกระบบ-ตั้งศูนย์ปราบโกงลูกหนี้

พล.อ. ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.กลาโหม ได้ชี้แจงต่อที่ประชุมถึงการแก้ไขปัญหาหนี้สินนอกระบบ ว่า ได้จัดตั้งศูนย์ปฏิบัติการป้องกันและปราบปรามการช่อโกงทรัพย์สินของประชาชนในพื้นที่ของตำรวจภูธรทั้ง 9 ภาค และทุกจังหวัด ซึ่งการเชิญเจ้าหนี้และลูกหนี้มาเจรจาไกล่เกลี่ยกัน จะดำเนินการโดยคณะกรรมการระดับจังหวัด ซึ่งประกอบด้วยเจ้าหน้าที่หลายส่วนที่เกี่ยวข้องกับเรื่องดังกล่าว ทั้งอัยการจังหวัด สำนักงานอัยการคุ้มครองสิทธิฯ สำนักงานยุติธรรมจังหวัด กอ.รมน. กรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) ศูนย์ดำรงธรรม และฝ่ายปกครอง เป็นต้น

เพราะว่าเรื่องของการต่อรองนั้นจะต้องเกี่ยวข้องกับกฎหมายหลายฉบับ ซึ่งในช่วง 2 เดือนที่ผ่านมา ตั้งแต่นายกรัฐมนตรีได้กำชับให้แก้ปัญหาเรื่องดังกล่าว จนถึงวันที่ 16 ส.ค. สามารถแก้ไขปัญหา บรรเทาความเดือดร้อนให้ผู้เสียหายได้แล้ว 209,538 ราย และมอบคืนโฉนดที่ดิน ในพื้นที่ภาคอีสานตอนบนได้ 1,779 ฉบับ คิดเป็นพื้นที่ 6,930 ไร่ รถยนต์ 78 คัน จักรยานยนต์ 236 คัน และทรัพย์สินอื่นๆ รวมมูลค่ากว่า 2,745 ล้านบาท ให้กับผู้เสียหาย โดยมีการบูรณาการ ป.ป.ท. ปปง. กรมสรรพากร กรมที่ดิน อัยการจังหวัด ศาล และดีเอสไอ ที่จะบังคับใช้กฎหมาย ในกรณีที่นายทุนเอาเปรียบประชาชน

พล.ท. สรรเสริญ กล่าวอีกว่า พล.อ. ประวิตร ได้แจงต่อที่ประชุม ยืนยันว่า จะขับเคลื่อนการแก้ไขปัญหาอย่างใกล้ชิด และจะคืนทรัพย์สิน โดยเฉพาะที่ดินทำกิน คืนประชาชนต่อไป โดยนายกฯ ได้เน้นเรื่องนี้เป็นพิเศษ เพราะเป็นทรัพย์สินที่ชาวบ้านนิยมไปวางค้ำประกัน ซึ่งเงินที่กู้มาไม่ได้มีจำนวนมาก แต่ด้วยอัตราดอกเบี้ยที่สูง ทำให้จำนวนยอดเงินพอกเป็นจำนวนมาก

“บิ๊กฉัตร” ชี้สถานการณ์น้ำดีขึ้น

พล.ท. สรรเสริญ กล่าวว่า ในที่ประชุม ครม. พล.อ. ฉัตรชัย สาริกัลยะ รองนายกรัฐมนตรี ได้รายงานถึงสถานการณ์น้ำในพื้นที่ภาคเหนือ และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ที่ได้รับผลกระทบจากพายุเบบินคา ว่า ขณะนี้สถานการณ์ยังคงต้องช่วยเหลือประชาชนต่อไป โดยเฉพาะ 5 จังหวัด ที่ได้รับผลกระทบ ประกอบด้วย น่าน พะเยา เชียงราย เพชรบูรณ์ และหนองคาย ส่วนจังหวัดอื่นสถานการณ์คลี่คลายขึ้นในทิศทางที่ดีแล้ว

โดยน้ำที่ไหลผ่านลำน้ำใน จ.น่าน จะมาลงที่เขื่อนสิริกิติ์ ขณะนี้เขื่อนยังสามารถรับน้ำได้อีกปริมาณมาก พื้นที่นี้จึงไม่มีปัญหา ขณะที่ลุ่มน้ำยมในพื้นที่ จ.พะเยา ยังไม่มีแหล่งกักเก็บน้ำ จึงต้องใช้วิธีบริหารจัดการด้วยการเปิดทางน้ำระบายไป เชื่อว่าแผนดังกล่าวจะสามารถบริหารจัดการได้ ไม่ส่งผลกระทบกับ จ.สุโขทัย ส่วน จ.เชียงราย เพชรบูรณ์ และหนองคาย ก็ไม่น่าจะมีปัญหาอะไร แต่สิ่งที่เป็นห่วงคือเรื่องของลมมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ โดยพื้นที่จังหวัดด้านฝั่งตะวันตกเป็นส่วนที่น่าเป็นห่วง เช่น กาญจนบุรี เพชรบุรี แก่งกระจาน ปรานบุรี ค่อนข้างน่าเป็นห่วง เนื่องจากปริมาณน้ำในเขื่อนในจังหวัดดังกล่าว มีปริมาณค่อนข้างสูง

“ซึ่งต้องอธิบายให้ประชาชนเข้าใจว่าครั้งก่อนหน้านั้นบริหารจัดการโดยใช้คลอง D9 ช่วยตัดน้ำระบายน้ำ ทำให้ไม่เกิดผลกระทบกับจังหวัดเพชรบุรี แต่ว่าพายุที่จะมาลูกใหม่ เราไม่สามารถเอาผลของการที่ไปตรวจครั้งแรกมาเป็นเครื่องยืนยันว่าจะไม่ท่วม แต่จะใช้หลักบริหารจัดการน้ำในแบบเดียวกัน โดยในแต่ละช่วงเวลาจะมีเกณฑ์สูงสุดและต่ำสุดของอ่างเก็บน้ำ เพื่อจะพร่องน้ำในการรองรับฝนชุดใหม่ที่จะมา และถ้ามีปริมาณฝนที่คาดว่าจะมากขึ้น ก็จะมีการปล่อยน้ำให้มากขึ้น” พล.ท. สรรเสริญ กล่าว

จัดงบกลาง 300 ล้าน ส่งเสริมสุขภาพประชาชน

พล.ท. สรรเสริญ กล่าวว่า ที่ประชุม ครม. มีมติเห็นชอบการขอรับการสนับสนุนงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2560 งบกลาง รายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉิน หรือจำเป็น เพื่อสนับสนุนโครงการสาธารณสุข 100 ปี หมออนามัยห่วงใยประชาชน สร้างชุมชนปลอดขยะ ร่วมขจัดภัยไข้เลือดออกและไข้มาลาเรีย จำนวนทั้งสิ้น 373.83 ล้านบาท ตามที่กระทรวงสาธารณสุขเสนอ

แบ่งเป็นงบประมาณสำหรับการดำเนินงานโครงการส่งเสริมสุขภาพและสิ่งแวดล้อมชุมชนเพื่อประชาชนสุขภาพดี จำนวน 179.66 ล้านบาท โครงการรวมพลังสร้างชุมชนสุขภาพดี จำนวน 53.26 ล้านบาท และโครงการพัฒนาคุณภาพและความพร้อมของโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน จำนวน 140.91 ล้านบาท

ยกเลิกแผนบริหารราชการแผนดิน-ใช้แผนยุทธศาสตร์ชาติแทน

พล.ท. สรรเสริญ กล่าวว่า ที่ประชุม ครม. มีมติเห็นชอบในหลักการร่างพระราชกฤษฎีกาว่าด้วยหลักเกณฑ์และวิธีการบริหารกิจการบ้านเมืองที่ดี (ฉบับที่..) พ.ศ. …. ตามที่สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาระบบราชการ (ก.พ.ร.) เสนอ และให้ส่งสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจพิจารณา แล้วดำเนินการต่อไปได้ โดยสาระสำคัญของร่างพระราชกฤษฎีกาดังกล่าวเป็นการให้ยกเลิกการจัดทำแผนการบริหารราชการแผ่นดิน แผนปฏิบัติราชการ 4 ปี และแผนนิติบัญญัติตามหลักเกณฑ์ที่บัญญัติไว้ในพระราชกฤษฎีกาว่าด้วยหลักเกณฑ์และวิธีการบริหารกิจการบ้านเมืองที่ดี พ.ศ. 2546

เนื่องจาก สำนักงาน ก.พ.ร. เห็นว่ารัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2560 กำหนดให้รัฐจัดให้มียุทธศาสตร์ชาติเป็นเป้าหมายในการบริหารประเทศอย่างยั่งยืน เพื่อใช้เป็นกรอบในการจัดทำแผนต่างๆ อยู่แล้ว และได้มีการตราพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) การจัดทำยุทธศาสตร์ชาติ พ.ศ. 2560 และ พ.ร.บ.แผนและขั้นตอนการดำเนินการปฏิรูปประเทศ พ.ศ. 2560 ออกมาทำให้การจัดทำยุทธศาสตร์ชาติ แผนแม่บท รวมถึงแผนและขั้นตอนการปฏิรูปประเทศมีเป้าหมายที่ชัดเจน และมีความต่อเนื่องอย่างเป็นระบบกว่ามาตรการตามที่กำหนดไว้ในพระราชกฤษฎีกาว่าด้วยหลักเกณฑ์และวิธีการบริหารกิจการบ้านเมืองที่ดี พ.ศ. 2546

“ดังนั้นจึงไม่จำเป็นที่จะต้องจัดทำแผนการบริหารราชการแผ่นดิน แผนปฏิบัติราชการ 4 ปี และแผนนิติบัญญัติอีกต่อไป อีกทั้งให้แก้ไขเพิ่มเติมหลักเกณฑ์การจัดทำแผนปฏิบัติราชการประจำปีให้สอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติ แผนการปฏิรูปประเทศ และแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ นอกจากนี้กำหนดให้การบริการประชาชนและการประสานงานระหว่างส่วนราชการด้วยกัน ต้องกระทำโดยวิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์โดยใช้แพลตฟอร์มอิเล็กทรอนิกส์กลางที่สำนักงานพัฒนารัฐบาลดิจิทัล (องค์การมหาชน) กำหนด เพื่อให้สอดคล้องกับการปฏิรูปประสิทธิภาพในการทำงานของระบบราชการตามรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน” พล.ท. สรรเสริญ กล่าว

เห็นชอบเสนอ “หาดเจ้าไหม-หมู่เกาะอ่างทอง” เป็นอุทยานมรดกอาเซียน

พล.ท. สรรเสริญ กล่าวว่า ที่ประชุม ครม. มีมติเห็นชอบให้พื้นที่อุทยานแห่งชาติหาดเจ้าไหม เขตห้ามล่าสัตว์ป่าหมู่เกาะลิบง จ.ตรัง และพื้นที่อุทยานแห่งชาติ หมู่เกาะอ่างทอง จ.สุราษฎร์ธานี เป็นพื้นที่อุทยานมรดกแห่งอาเซียน ตามที่กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เสนอ ในฐานะที่ในปี 2562 ประเทศไทยได้รับตำแหน่งประธานอาเซียน และต้องเป็นเจ้าภาพประชุมเจ้าหน้าที่อาเซียนด้านสิ่งแวดล้อม ครั้งที่ 30

“พื้นที่ทั้งสองแห่งมีระบบนิเวศที่หลากหลาย มีแหล่งหญ้าทะเลใหญ่ที่สุด และเป็นแหล่งปะการังที่สมบูรณ์ที่สุด เป็นที่อยู่อาศัยของสิ่งมีชีวิตที่ใกล้สูญพันธุ์ เช่น ลิ่นชวา ชะมดแผงสันหางดำ พยูน โลมา เต่าทะเล นอกจากนี้ที่หมู่เกาะอ่างทองยังพบพืชถิ่นเดียวในโลก คือกล้วยไม้รองเท้านารีอ่างทอง และเป็น แหล่งอาศัยของสัตว์ใกล้สูญพันธุ์ เช่น เต่าตนุ นกเงือกกรามช้างปากเรียบ และโลกมา ซึ่งจะเป็นการแสดงบทบาทในการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมของไทย” พล.ท. สรรเสริญ กล่าว

อนึ่ง เดิมประเทศไทยมีพื้นที่ที่ได้รับการรับรองให้เป็นพื้นที่อุทยานมรดกแห่งอาเซียนแล้วจำนวน 4 แห่ง ตั้งแต่ปี 2546 ได้แก่ อุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ อุทยานแห่งชาติตะรุเตา กลุ่มอุทยานแห่งชาติหมู่เกาะสุรินทร์-หมู่เกาะสิมิลันและอ่าวพังงา และกลุ่มป่าแก่งกระจาน อุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน อุทยานแห่งชาติกุยบุรีและเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าแม่น้ำผาชี

อ่าน มติ ครม. ประจำวันที่ 21 สิงหาคม 2561 เพิ่มเติม