ThaiPublica > เกาะกระแส > นายกฯ โยนสภาถกปม ส.ส.เสียบบัตรแทน – มติ ครม.เพิ่มทุน ธ.ก.ส. 20,000 ล้าน

นายกฯ โยนสภาถกปม ส.ส.เสียบบัตรแทน – มติ ครม.เพิ่มทุน ธ.ก.ส. 20,000 ล้าน

21 มกราคม 2020


นายกรัฐมนตรีถ่ายภาพร่วมกับคณะรัฐมนตรี ก่อนการประชุมคณะรัฐมนตรีอย่างเป็นทางการนอกสถานที่ ณ มหวิทยาลัยนราธิวาสราชนครินทร์

นายกฯ โยนสภาถกปม ส.ส.เสียบบัตรแทน งบฯ 63 โมฆะหรือไม่ ให้ศาลชี้ขาด- มติ ครม.เพิ่มทุน ธ.ก.ส. 20,000 ล้าน

เมื่อวันที่ 21 มกราคม 2563 มีการประชุมคณะรัฐมนตรีนอกสถานที่อย่างเป็นทางการ (ครม.สัญจร) ครั้งที่ 1/2563 ณ มหาวิทยาลัยนราธิวาสราชนครินทร์ โดยมี พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม เป็นประธาน

พบปะไทยพุทธ-มุสลิม ชี้สถิติความไม่สงบลดลง

ครม.สัญจรครั้งนี้ นายกรัฐมนตรีลงพื้นที่ตรวจราชการระหว่างวันที่ 20-21 พฤศจิกายน 2562 โดยได้มอบให้คณะรัฐมนตรีลงพื้นที่ทั้ง 3 จังหวัด (ยะลา ปัตตานี นราธิวาส) เพื่อติดตามความก้าวหน้าการทำงานของหน่วยงานภาครัฐ ส่วนตนเองลงพื้นที่ตรวจราชการในจังหวัดนราธิวาส เช่น

การพบปะชาวนราธิวาส ติดตามความก้าวหน้าโครงการก่อสร้าง ระบบป้องกันน้ำท่วมพื้นที่ชุมชน เทศบาลเมืองสุไหงโก-ลก มีประชาชนในท้องถิ่นกว่า 2,000 คนรอให้การต้อนรับ โดยได้กล่าวถึงความคืบหน้าในการแก้ไขปัญหาประมงพาณิชย์ที่มีความคืบหน้าดีขึ้นเป็นลำดับ และกล่าวไปถึงโครงการต่างๆ ที่รัฐบาลให้ความสำคัญ เช่น แผนบริหารจัดการน้ำ ทั้งน้ำท่วม ฝนแล้ง ปัญหาที่ดิน ยางพารา ส่งเสริมอาชีพ ดูแลผู้สูงวัย รวมทั้งการแก้ปัญหาที่ดินทำกิน แผนการพัฒนาเมืองต้นแบบ “สามเหลี่ยมมั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน” เป็น “ศูนย์กลางการค้าชายแดนระหว่างประเทศ” พัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน เพื่อรองรับการค้าชายแดนระหว่างประเทศ ผลักดันการก่อสร้างสะพานข้ามแม่น้ำโก-ลกแห่งที่ 2 อำเภอสุไหงโก-ลก ยกระดับสถานีรถไฟสุไหงโก-ลก อำเภอหนองจิก จังหวัดปัตตานี เป็น “เมืองต้นแบบอุตสาหกรรมแปรรูปการเกษตร” อำเภอเบตง จังหวัดยะลา เป็น “เมืองต้นแบบการพัฒนาที่พึ่งพาตนเองอย่างยั่งยืน”

นายกรัฐมนตรีพบปะผู้นำศาสนาและชาวไทยมุสลิม ณ หอประชุมบรมราชกุมารี สำนักงานคณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัดนราธิวาส

นอกจากนี้ยังกล่าวถึงเหตุการณ์ความไม่สงบที่มีจำนวนสถิติลดลง ซึ่งเป็นผลจากความร่วมมือจากพี่น้องประชาชนในพื้นที่ พร้อมกล่าวขอบคุณทุกภาคส่วนที่ตั้งใจและทุ่มเทในการพัฒนาให้ประชาชนมีคุณภาพชีวิตที่ดี มีความมั่นคงปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน และได้รับความเป็นธรรมทางเศรษฐกิจและสังคม อันจะช่วยเกื้อกูลต่อการสร้างสันติสุขและการพัฒนาที่ยั่งยืน

จากนั้นเดินทางไปพบปะประชาชนไทยพุทธ-ไทยมุสลิม อ.สุไหงปาดี จ.นราธิวาส โดยได้กล่าวชื่นชมการอยู่ร่วมกันอย่างสงบสุขบนสังคมพหุวัฒนธรรม ย้ำพร้อมแก้ไขปัญหาให้ประชาชนทั้งประเทศมีคุณภาพชีวิตที่ดี ก่อนเดินทางไปยังโรงเรียนนราธิวาส เพื่อเป็นประธานในพิธีเปิดโครงการรินน้ำใจสู่น้องชาวใต้ และเยี่ยมชมกิจกรรมสอนเสริมเพิ่มศักยภาพเพื่อการแข่งขัน สำหรับนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6

โดยกิจกรรมดังกล่าวมีทีมวิทยากรกว่า 50 คน ซึ่งเป็นจิตอาสาจากโรงเรียนในสังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษา เขต 2 กรุงเทพฯ เช่น โรงเรียนวัดสุทธิวราราม โรงเรียนบดินทรเดชา (สิงห์ สิงหเสนี) โรงเรียนเตรียมอุดมศึกษาพัฒนาการ โรงเรียนเศรษฐบุตรบำเพ็ญ โดยโครงการรินน้ำใจสู่น้องชาวใต้ ช่วยพัฒนานักเรียนในโรงเรียนเขตพื้นที่พัฒนาพิเศษ 3 จังหวัด นั้นดำเนินการมาแล้วกว่า 10 ปี มีผลลัพธ์ที่น่าพอใจ นักเรียนสามารถนำไปต่อยอดการศึกษาและประสบความสำเร็จในการสอบเข้าสถาบันการศึกษาในระดับสูงขึ้น

“ประเทศต้องการหัวกะทิ รัฐบาลส่งเสริมการเรียนการสอน ทั้งการศึกษาในโรงเรียน การศึกษานอกโรงเรียน การศึกษาศาสนา โรงเรียนปอเนาะ รวมทั้งการปฏิรูปการศึกษา ให้การศึกษาเป็นเรื่องของการเรียนรู้ รู้จักกระบวนการคิดวิเคราะห์ พัฒนาตัวเอง ขอให้ทุกคนตั้งใจ ตั้งมั่น คิดวิเคราะห์ให้เป็น และมีแรงบันดาลใจ ที่สำคัญนักเรียนที่จบการศึกษาต้องมีงานทำ” นายกรัฐมนตรีกล่าว

นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม เป็นประธานในพิธีเปิดโครงการรินน้ำใจสู่น้องชาวใต้ และเยี่ยมชมกิจกรรมสอนเสริมเพิ่มศักยภาพเพื่อการแข่งขัน สำหรับนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 ณ โรงเรียนนราธิวาส

จากนั้นเดินทางไปยังหอประชุมบรมราชกุมารี สำนักงานคณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัดนราธิวาส เพื่อพบปะผู้นำศาสนา ชาวไทยพุทธ-มุสลิม พร้อมขอให้ช่วยกันสร้างความเชื่อมั่น ความรักความสามัคคี พร้อมขอให้ทุกภาคส่วนผนึกกำลังขับเคลื่อนแก้ไขปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ร่วมกับรัฐบาลต่อไป ซึ่งรัฐบาลพร้อมให้การสนับสนุนส่งเสริมกิจกรรมของทุกศาสนา ในส่วนของพี่น้องชาวไทยมุสลิม รัฐบาลได้สนับสนุน ทั้งกิจการฮัจญ์เพื่อให้พี่น้องมุสลิมที่เดินทางไปประกอบพิธีฮัจญ์ได้รับความสะดวกสบาย ปลอดภัย

ย้ำบุกรุกป่าว่าตาม กม. ต้องโปร่งใส-เท่าเทียม

พล.อ. ประยุทธ์ ตอบคำถามถึงกรณีการตรวจสอบการบุกรุกป่าในอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ ของนางกนกวรรณ วิลาวัลย์ รัฐมนตรีช่วยว่าการ กระทรวงศึกษาธิการ ว่า เรื่องการบุกรุกป่าต้องอยู่ในกระบวนการกฎหมายทั้งหมด โดยให้มีการร้องทุกข์กล่าวโทษ สอบสวน และดำเนินคดีไป

“ระหว่างนี้ก็เป็นการแก้ปัญหาพื้นที่ทับซ้อนโดยใช้แผนที่ภาพถ่ายทางอากาศ มาตราส่วน 1:4000 เพื่อแก้ปัญหาพื้นที่ที่มีปัญหาของประชาชนทั่วไป เรื่องปัญหาบุกรุกป่าต้องแก้ปัญหาในภาพรวมทั้งหมด อันไหนเป็นเรื่องของการบังคับใช้กฎหมายก็ต้องบังคับใช้กฎหมาย ส่วนเรื่องใดที่เกี่ยวข้องคณะกรรมการนโยบายที่ดินแห่งชาติ (คทช.) ก็แก้กันไป ทุกอย่างต้องทำให้เกิดความโปร่งใส เท่าเทียม” นายกรัฐมนตรีกล่าว

โยนสภาถกปม ส.ส.เสียบบัตรแทน – งบฯ 63 โมฆะหรือไม่ให้ศาลชี้ขาด

พล.อ. ประยุทธ์ ตอบคำถามกรณีสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) ฝ่ายรัฐบาลเสียบบัตรแทนกันในการโหวตร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2563 ว่า การที่ ส.ส.จะเข้าหรือไม่เข้าประชุมสภาเป็นเรื่องของสภา เป็นเรื่องของการเมือง แต่อย่าเอาปัญหานั้นปัญหานี้มาถามตน เพราะตนเป็นรัฐบาล มีหน้าที่เป็นฝ่ายบริหาร บางเรื่องเป็นเรื่องของสภา บางเรื่องเป็นเรื่องของคนอื่น ก็ขอให้ไปถามคนที่พูด หรือคนที่ทำเรื่องนั้น

“รัฐบาลมีหน้าที่รับผิดชอบในฐานะฝ่ายบริหาร แต่สภาผู้แทนราษฎรอยู่ฝ่ายนิติบัญญัติ อย่าเอาเรื่องของฝ่ายนิติบัญญัติมาถามฝ่ายบริหาร เพียงแต่ฝ่ายนิติบัญญัติสามารถตรวจสอบฝ่ายบริหารได้ ซึ่งเป็นเรื่องที่คนยอมรับกติกาอยู่แล้ว เรื่องที่ว่ามีเสียบบัตรแทนกันอย่ามาถามผม ทุกคนทราบดีขอให้ไปตรวจสอบกันมาว่าทำถูกหรือไม่ถูก” นายกรัฐมนตรีกล่าว

ต่อคำถามกรณีร่าง พ.ร.บ.งบฯ จะเป็นโมฆะหรือไม่นั้น พล.อ. ประยุทธ์ กล่าวว่า ตอนนี้ก็อยู่ในกระบวนการตรวจสอบ ถ้ามีการส่งให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาก็ดำเนินการไป สิ่งสำคัญที่สุดคือตนต้องแก้ปัญหาอย่างไรให้การใช้จ่ายงบประมาณมีเงินเพียงพอ โดยเฉพาะเรื่องงบลงทุนที่มักมีปัญหาเพราะเงินจำนวนหลายแสนล้านบาท ก็ต้องคิดกันว่าถ้าเกิดปัญหาตรงนี้จะทำอย่างไร ขณะเดียวกันก็ต้องไปดูกฎหมายที่เกี่ยวข้อง บางเรื่องแม้จะเคยมีลักษณะคล้ายกันเกิดขึ้น แต่รายละเอียดแตกต่างกัน จึงต้องไปดูกันอีกที ถ้ามีการส่งให้ศาลพิจารณาก็เป็นเรื่องของศาล ตนไม่ขอก้าวล่วง

เมื่อถามว่า นายสรศักดิ์ เพียรเวช เลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร เตรียมนำร่าง พ.ร.บ.งบประมาณฯ ให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย เนื่องจากกรณีการเสียบบัตรแทนกัน พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวว่า ไปเอาคำตอบที่ถามข้อแรก ตนก็บอกแล้วเป็นเรื่องของสภาต้องทำ มาถามอะไรตน ตนไปเกี่ยวอะไรกับเลขาฯ สภา

เมื่อผู้สื่อข่าวตอบว่านายกฯ เกี่ยวข้องเนื่องจากเป็นผู้ใช้งบประมาณ พล.อ. ประยุทธ์ กล่าวเสียงดังขึ้นว่า “ก็เขาไม่ออกงบมาให้ แล้วเป็นความผิดของใครล่ะ เป็นความผิดที่ผมเหรอ เอ้านี่ไม่ใช่ความผิดของใครไปตรวจสอบมาสิจ๊ะ ขั้นตอนมันติดตรงไหน เธอไปถามส่วนนั้นว่ามันติดตรงไหน ไปถามเขามา แล้วถามเขาดูว่าอย่างนี้แล้วรัฐบาลจะทำอย่างไร ไม่ใช่มาถามผม เพราะผมเป็นคนรอรับงบประมาณมาใช้ประมาณ” นายกรัฐมนตรีกล่าว

รับพิจารณาทุกเรื่อง หวังยกระดับชีวิต-ลดความรุนแรงภาคใต้

พล.อ. ประยุทธ์ กล่าวถึงการประชุมการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคม กลุ่มจังหวัดชายแดนภาคใต้ ว่า การประชุมครั้งนี้มีการพิจารณาเรื่องการพัฒนาและเรื่องความมั่นคง โดยได้กล่าวขอบคุณทั้งภาคเอกชน ภาคธุรกิจ หอการค้าจังหวัดนราธิวาส สภาอุตสาหกรรม และภาคการเกษตรต่างๆ ที่เข้าร่วมหารือการประชุมการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคม กลุ่มจังหวัดภาคใต้ชายแดนเพื่อนำไปสู่แผนการขับเคลื่อนต่อไปในอนาคต

สำหรับการพัฒนาพื้นที่เศรษฐกิจชายแดนภาคใต้ ทั้งเรื่องด่านการค้าชายแดน การบริหารจัดการเส้นทางคมนาคม และศูนย์วัฒนธรรม ได้นำเข้าสู่การพิจารณาของ ครม.ในวันนี้ ซึ่งบางอย่างจะต้องมีการศึกษาใหม่ บางอย่างนำเข้าสู่แผนการปฏิบัติเพื่อดำเนินการในปีงบประมาณ 2564 ซึ่งตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา 4-5 ปี หลายอย่างที่เสนอมาก่อนหน้านั้นได้มีบรรจุเข้าแผนไปแล้ว มีการก่อสร้างในปี 2563 บางอย่างดำเนินการแล้วเสร็จในปีเดียวหรือหลายปีก็ว่าไปตามงบประมาณที่มีอยู่ โครงการต่างๆ อันไหนที่เร่งรัดได้ ปรับเปลี่ยนงบประมาณได้ ก็ทำตรงนี้ก่อน แต่ถ้าตั้งงบประมาณใหม่ก็ต้องไปศึกษาใหม่ ยังมีอีกหลายขั้นตอนแต่ทั้งหมด พล.อ. ประยุทธ์ ยืนยันว่ารัฐบาลและ ครม.ที่มาประชุมครั้งนี้รับทุกเรื่องไปพิจารณานำสู่การขับเคลื่อนไปสู่การปฏิบัติต่อไปในทุกประเด็น ที่เหมือนกับทุกครั้งที่ตนไปต่างจังหวัด ก็จะรับเรื่องพิเศษๆ เหล่านั้น ซึ่งบางเรื่องต้องใช้งบกลาง ถ้าทำได้ก็จะเพิ่มเติมให้

“เราคาดว่าสิ่งเหล่านี้จะยกระดับชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชนและเป็นแนวทางที่จะลดความรุนแรงลงไปได้ เพราะเราแก้ปัญหาด้วยการพัฒนานำการทหาร ซึ่งการพัฒนาจะทำให้ทุกคนมีความสุข ฉะนั้นการบ่มเพาะอะไรต่างๆ ก็จะลดลง ทั้งการใช้กฎหมายที่เห็นได้จากกราฟที่ลดลงทุกปี แต่อย่างไรก็ตาม ตนก็สั่งการเรื่องความเข้มงวดในมาตรการเชิงพื้นที่ และการระมัดระวังและป้องกันในเขตเมืองให้มากขึ้น ต้องขอขอบคุณเจ้าหน้าที่ทุกฝ่าย” นายกรัฐมนตรีกล่าว

พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม
ที่มาภาพ: www.thaigov.go.th/

หวั่นยาแรงแก้ PM2.5 กระทบวงกว้าง – ลั่น “นอนไม่หลับกับปัญหานี้”

พล.อ. ประยุทธ์  ตอบคำถามถึงสถานการณ์ฝุ่น PM2.5 ว่า เราต้องสร้างความเข้าใจร่วมกัน การที่จะบอกว่ารุนแรงหรือไม่นั้นต้องมาดูหลักการและเหตุผลว่า มาตรฐานที่กำหนด ทั้งของต่างประเทศและหน่วยงานในบ้านเรา ต้องมีแผนแม่บทร่วมกัน ซึ่งอนุมัติใน ครม.ไปแล้ว ทั้งแผนเฉพาะหน้า ระยะสั้น ปานกลาง และระยะยาว ในทุกมิติ ที่ต้องมาเข้มงวดดูว่าความเข้มของฝุ่น PM2.5 นั้นมีระดับใดและพื้นที่ใดบ้าง ทั้งนี้จากข้อมูลปัจจุบัน ทราบแล้วว่ามาจากการจราจรมากที่สุด รองลงมาคือการเผา และอุตสาหกรรม

พล.อ. ประยุทธ์ กล่าวต่อไปว่า เราต้องเข้าใจในข้อเท็จจริงเหล่านี้ จากมาตรการที่ออกมา หลายคนอยากให้ใช้ยาแรง ก็จะเกิดข้อขัดแย้ง ต้องยอมรับว่ารถบรรทุกในปัจจุบัน ไม่ได้เจาะจงว่าประเภทใดประเภทหนึ่ง จะสร้าง PM2.5 แต่มันเป็นทุกประเภท โดยเฉพาะการปล่อยควันดำ ตนสั่งมาตรการไปว่าให้เข้มงวดกวดขันทั้งปรับและจับกุม ให้เข้มงวดที่สุดตามกฎหมายปกติ

“ผมถามว่าถ้าเราปิดทั้งหมด หยุดทั้งหมด เข้าพื้นที่ไม่ได้เลย ต้องไปดูว่ามาตรฐานขั้นต้นจะทำอย่างไร ถ้าค่า 50 ตามกฎหมายปกติต้องเข้มงวดทุกประการจากทุกแหล่งที่มา ถ้าเจอจับ ปิด ห้ามวิ่ง แต่ถ้าพื้นที่ใดเกิน 50-75 ผู้ว่าราชการจังหวัด และผู้ว่าฯ กทม.มีมาตรการเข้มงวดกวดขันขึ้นเป็นเฉพาะพื้นที่ อยู่ในอำนาจของผู้ว่าฯ แต่ถ้าสูงถึง 76-100 ต้องไปเข้มงวดอีกระดับ อย่างการห้ามรถเข้าออกวันโน้นวันนี้ จะมีผลกระทบมากพอสมควร ฉะนั้นถ้าเกิน 100 รัฐบาลจะเทคโอเวอร์ทั้งหมด คราวนี้ก็จะเดือดร้อนทั้งหมด ห้ามการใช้รถ ใช้รถบริการสาธารณะอย่างเดียว ห้ามรถบรรทุกวิ่งเข้า รถเกิน 10 ปีห้ามใช้ นั่นคือสิ่งที่ทุกคนต้องการให้ใช้มาตรการ แต่เราต้องการไปถึงจุดนั้นหรือ” 

พล.อ. ประยุทธ์ กล่าวว่า ต้องทำให้ต่ำกว่า 50 ได้ก่อน แล้วพื้นที่ที่เกิน 50-75 ค่อยใช้มาตรการเข้มงวดไป เช่น โรงเรียน อยู่ในอำนาจของผู้อำนวยการโรงเรียนที่สามารถสั่งปิดได้ในช่วงที่มีอันตรายสูงสุด มีภัยต่อเด็กนักเรียน สามารถหยุดได้ แต่ต้องหาเวลาสอนทดแทน ที่ผ่านมาก็เคยดำเนินการไปแล้ว ทุกอย่างมีขั้นตอนเป็นระดับๆ แต่ถ้าเกิน 100 มาตรการจะเข้มสุด วันนี้ตนให้ทุกหน่วยงานรายงานผลปฏิบัติแล้ว มีลดควันดำเท่าไหร่ ถูกจับกุมเท่าไหร่ ห้ามรถประเภทไหนวิ่งบ้าง แต่ถ้าทุกคนเสนอให้ใช้ยาแรงก็จะเกิดปัญหาอย่างที่เคยเกิด รัฐบาลจ้องแก้ปัญหาในภาพรวมให้ได้ เพราะเหล่านี้เป็นนโยบายสาธารณะ ที่ต้องฟังความคิดเห็นประชาชนทุกภาคส่วน อย่าบอกว่ารัฐบาลไม่ได้ทำอะไร ทำมาตลอดทุกอย่าง เพียงแต่ไม่ได้รายงานผล ต่อไปนี้ตนย้ำให้รายงานผลทุกวัน ให้สื่อ ให้สังคมทราบ

ส่วนมาตรการเสริมในระยะยาว อยู่ในแผนแม่บทแล้ว เช่น เรื่องของรถไฟฟ้า ขนส่งมวลชนไฟฟ้า แทนรถดีเซล ซึ่งเป็นอีกระยะหนึ่ง เพราะใช้งบประมาณสูงในการจัดหา ในส่วนของโรงงานก็ต้องเตือนกันก่อนแล้วค่อยปิด จากที่ได้รับรายงานมา ค่า PM ก็เกินอยู่ไม่มาก ก็ให้ปรับปรุงแก้ไข ปัญหาก็เบาลง อยู่ในเกณฑ์ที่รับได้ แต่ถ้ายังเป็นอยู่อีก ถ้าจำเป็นก็ต้องปิด ซึ่งเรากำลังเตรียมการในเรื่องเหล่านี้ คาดว่ารายละเอียดทั้งหมดจะเสนอเข้าที่ประชุมคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ ในวันพฤหัสที่ 23 ม.ค.นี้ เมื่อเล็กๆ ก็ทำได้แล้วตามกฎหมายปกติ ดำเนินการมาตรการเหล่านี้อย่างเป็นธรรมแล้ว แต่ยังแก้ไม่ได้ ก็ลงมาตรการแรงลงไปทีละขั้นๆ เพื่อไม่ให้เกิดผลกระทบโดยรวม

“ต้องเรียนสังคมว่า ผมให้ความสำคัญกับเรื่องเหล่านี้เป็นพิเศษ เราต้องให้ความสำคัญกับเด็กทารก นักเรียน ผู้สูงวัย ผู้มีครรภ์ คนชรา ถ้าหลีกเลี่ยงพื้นที่เหล่านี้ได้ก็จะเป็นการดี ถ้าเลี่ยงไม่ได้ก็ใช้หน้ากากป้องกัน ถ้ายังไม่ได้อีกคราวนี้ก็จะเข้มงวดแล้ว ขอให้ทุกคนช่วยกันสร้างความเข้าใจให้ได้ก่อน ไม่อย่างนั้นสังคมจะปั่นป่วนไปเหมือนทุกเรื่อง กฎหมายมีทุกตัว แต่บังคับใช้ไม่ได้ เพราะประชาชนเดือดร้อน ซึ่งก็มีเดือดร้อนมาก เดือดร้อนน้อย แต่ทุกคนก็จะทำให้เหมือนกันทั้งหมด มาตรการเดียวกันทุกอย่าง มันได้มั้ยล่ะ ก็ไม่ได้ จึงต้องแก้ปัญหาให้ตรงกับกลุ่มเป้าหมาย รัฐบาลให้ความสำคัญ นอนไม่หลับตลอดกับเรื่องนี้” นายกรัฐมนตรีกล่าว

พล.อ. ประยุทธ์ กล่าวต่อไปว่า กรณีที่ศิลปิน ดารา ประชาชนออกมาตำหนิตนในเรื่องนี้ ขอให้ฟังตนบ้าง ทั้งรัฐบาลและตนก็อึดอัด อยากให้เปิดใจและทำความเข้าใจร่วมกันว่าเป็นปัญหาหนึ่งที่สำคัญที่สุดในวันนี้ ที่เกิดขึ้นกับทุกคน ล้วนเกิดจากการกระทำของมนุษย์ทั้งสิ้น การจะใช้ยาเบา ยาแรง ก็ต้องเป็นพื้นที่ไป เพื่อไม่ให้เกิดผลกระทบโดยรวม แต่ที่สำคัญคือเราต้องร่วมมือกัน รับรู้ มีจิตสำนึก ในการแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อม ก็เหมือนทุกเรื่องวันนี้ อะไรที่มันมีความขัดแย้ง ถ้ามาร่วมมือกัน หารือกัน หาหนทางปฏิบัติให้ถูกต้อง และเป็นไปตามกฎหมาย มันแก้ได้ทุกเรื่อง แต่ถ้าไม่เอา และใช้กฎหมายเป็นพื้นฐาน มันจะแก้ไม่ได้ซักเรื่อง

มติ ครม.มีดังนี้

ผศ. ดร.รัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี, ศ. ดร.นฤมล ภิญโญสินวัฒน์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี และนางสาวไตรศุลี ไตรสรณกุล รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี (ซ้าย-ขวา) ที่มาภาพ: www.thaigov.go.th

“สมคิด” สั่งคลังคิดมาตรการดึงดูดการลงทุนใน 3 จว.ชายแดนใต้

ทั้งนี้ ในช่วงเช้าก่อนการประชุม ครม. มีการประชุมการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมกลุ่มจังหวัดภาคใต้ชายแดน (ยะบา นราธิวาส ปัตตานี) ระหว่างคณะรัฐมนตรีและภาคเอกชนในพื้นที่ ได้แก่ นายกิจก้อง ตันติจรัสวโรดม ประธานสภาอุตสาหกรรมภาคใต้, นายกิตติ หวังธรรมมั่ง ประธานหอการค้าจังหวัดนราธิวาส, นายตติยะ ฉิมพาลี ประธานสภาอุตสาหกรรมจังหวัดปัตตานี, นางสุชาดา พันธ์นรา นายกเทศมนตรีเมืองสุไหงโก-ลก และนายวัฒนา ธนาศักดิ์เจริญ รองประธานกรรมการหอการค้าไทย เพื่อรับฟังข้อเสนอและแผนงานการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมกลุ่มจังหวัดภาคใต้ชายแดน (ยะลา นราธิวาส ปัตตานี)

โดยในที่ประชุม นายกรัฐมนตรีได้เห็นชอบแนวทางการพัฒนาของศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) ในการยกระดับการบริหารจัดการด่านชายแดนทั้ง 9 ด่านในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ โดยเฉพาะ 3 ด่าน ในคือ ด่านสุไหงโก-ลก ด่านบูเก๊ะตา ซึ่งในอนาคตจะเป็นด่านขนส่งสินค้าหลักเชื่อมไทย-มาเลเซีย และด่านตากใบ รวมทั้งการบริหารจัดการน้ำทั้งระบบ ใน 4 ลุ่มน้ำ ลุ่มน้ำสุไหงโก-ลก ลุ่มน้ำบางนรา ลุ่มน้ำสายบุรี และลุ่มน้ำปัตตานี ด้วยการสร้างคันกั้นน้ำ ศึกษาการจัดเก็บน้ำ เพื่อเป็นแก้มลิงสำหรับการเกษตรในหน้าแล้ง

ซึ่งนายกรัฐมนตรีเร่งรัดให้ ศอ.บต.เร่งเสนอแผนยุทธศาสตร์โดยรองนายกรัฐมนตรี พล.อ. ประวิตร วงษ์สุวรรณ เป็นประธาน รวมทั้งให้ดูแลการปิด-เปิดด่าน ให้ทำเท่าที่จำเป็น ไม่ให้กระทบต่อการขนส่ง หรือสร้างความเดือดร้อนกับประชาชน รวมทั้งการส่งเสริมการจับคู่ทางธุรกิจทั้งในพื้นที่และระหว่างประเทศ เช่น ตลาดมาเลเซีย ซึ่งย้ำว่าต้องมีมาตรฐานสินค้าอย่างสม่ำเสมอด้วย

ทั้งนี้ที่ประชุม ครม.ได้มีมติเห็นชอบข้อเสนอภาคเอกชน 2 ประการสำคัญ ได้แก่ 1. ข้อเสนอเพื่อสร้างความมั่งคั่งทางเศรษฐกิจ ด้วยการเพิ่มศักยภาพการผลิตภาคการเกษตร อุตสาหกรรมเกษตรแปรรูปและการตลาด การส่งเสริมการค้าการลงทุนในพื้นที่เศรษฐกิจที่สำคัญ ส่งเสริมและพัฒนาการท่องเที่ยวเชิงธรรมชาติ วัฒนธรรมและเมืองท่องเที่ยวชายแดน และเสริมสร้างความเข้มแข็งให้ชุมชนสังคมพหุวัฒนธรรม และ 2. ข้อเสนอเพื่อสร้างความยั่งยืนและอยู่ดีมีสุขของภาคใต้ชายแดน ประกอบด้วย การสร้างความมั่งคั่งทางเศรษฐกิจ ได้แก่ เกษตร การค้าการลงทุน การท่องเที่ยว ระบบโลจิสติกส์ และโครงสร้างพื้นฐาน สำหรับการสร้างความยั่งยืนและอยู่ดีมีสุขของภาคใต้ชายแดน เน้นการบริหารจัดการน้ำ และการยกระดับการบริการสาธารณสุข

ด้านนายตติยะ ฉิมพาลี ประธานสภาอุตสาหกรรมจังหวัดปัตตานี ในฐานะประธานสภาอุตสาหกรรมกลุ่มจังหวัดชายแดนภาคใต้ ระบุว่า เสนอรัฐบาลพิจารณาขยายมาตรการเก็บภาษีนิติบุคคลในอัตรา 3% ที่จะสิ้นสุดลงในปี 2563 ออกไปอีก 5 ปี พร้อมทั้งขอให้ขยาย โครงการสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ (ซอฟต์โลน) อัตราดอกเบี้ย 1.5 เปอร์เซ็นต์ต่อปี ที่จะสิ้นสุดลงในปี 2565 ออกไปอีก 5 ปี เนื่องจากขณะนี้มีนักลงทุนจากจีนและนักลงทุนนอกพื้นที่เข้ามาลงทุนใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้จำนวนมาก เนื่องจากเป็นพื้นที่ที่ได้สิทธิพิเศษทางภาษีสำหรับนิติบุคคลในอัตราร้อยละ 3 ซึ่งต่ำกว่าพื้นที่อื่นทั่วประเทศที่เสียในอัตราร้อยละ 20 ทำให้สามารถลงทุนทางธุรกิจและได้ทุนคืนภายในไม่เกิน 5 ปี

“รัฐบาลให้การสนับสนุนการปลูกพืชเกษตร แต่ต้องคำนึงถึงดีมานด์-ซัพพลายของตลาดด้วย ไม่ว่าจะเป็นปาล์มน้ำมัน มะพร้าว ยางพารา ต้องสอดคล้องกับความต้องการของตลาดในและต่างประเทศ เพื่อไม่ให้เกิดปัญหาสินค้าเกษตรล้นตลาด รัฐบาลต้องการส่งเสริมพัฒนาศักยภาพการเลี้ยงปศุสัตว์ ให้มีการปฏิรูปการจัดการตลาดกลาง จะช่วยรองรับอุตสาหกรรมสินค้าฮาลาลด้วย ส่วนด้านการค้าและการลงทุนนั้น ปัจจุบันรัฐบาลก็มีมาตรการพิเศษ รวมทั้งการให้สินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ (soft loan) เพื่อสนับสนุนสำหรับผู้ประกอบการในพื้นที่จังหวัดชายแดนใต้ ซึ่งถือเป็นเขตเศรษฐกิจพิเศษอยู่แล้ว สำหรับการเพิ่มพื้นที่เพาะปลูกก็ต้องมีการบริหารจัดการ ด้วยความร่วมมือกับประชาชนเจ้าของที่ดินด้วย” นายกรัฐมนตรีกล่าว

ด้านนายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี ได้กล่าวระหว่างการประชุมว่าการส่งเสริมการลงทุนในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้รัฐจะต้องใช้ยาแรงในการกระตุ้นคือการให้สิทธิประโยชน์ที่จูงใจการลงทุนได้เพียงพอ โดยเฉพาะในโครงการขนาดใหญ่ที่มีมูลค่าการลงทุนหลักพันหรือหมื่นล้านบาทเพื่อให้เอกชนตัดสินใจเข้ามาลงทุน เช่น การขอคืนภาษีได้เท่ากับจำนวนที่มีการลงทุน เช่น ลงทุน 1,000 ล้านบาทก็ควรมีการให้สิทธิ์ในการหักค่าใช้จ่ายได้เท่าจำนวนที่มีการลงทุน 1,000 ล้านบาท เป็นต้น ซึ่งในขณะนี้เป็นเรื่องที่ยังไม่มีมาตรการและกฎหมายที่จะรองรับในลักษณะนี้โดยได้มอบหมายให้กระทรวงการคลังไปพิจารณามาตรการที่เหมาะสมและทำได้จริงกลับมาเสนออีกครั้ง

สำหรับการส่งเสริมและพัฒนาการท่องเที่ยวเชิงธรรมชาติ วัฒนธรรม และเมืองท่องเที่ยวชายแดน-ด้านการท่องเที่ยว นั้น เห็นชอบให้ศึกษาความเป็นไปได้ในการจัดตั้งศูนย์วัฒนธรรมชายแดนใต้ โดยขอให้ยึดโยงกับกิจกรรมและประโยชน์ รวมทั้งให้มีการส่งเสริมการท่องเที่ยวชุมชน การท่องเที่ยววิถีประสบการณ์ (experience tourism) และการท่องเที่ยวโฮมสเตย์ โดยภาคใต้มี สังคมพหุวัฒนธรรม

สำหรับแผนพัฒนาระบบโลจิสติกส์และโครงสร้างพื้นฐานทั้งทางรถและทางราง เช่น การเชื่อมยะลา-เบตง-สนามบินเบตง ซึ่งในช่วงกลางปี 2563 สนามบินเบตงจะเปิดให้บริการอย่างเป็นทางการ คาดว่าจะมีนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติมาเที่ยวในพื้นที่จํานวน 1 ล้านคน/ปี และมีรายได้จากการท่องเที่ยวมากกว่า 4,000 บาท/ปี จึงจำเป็นต้องดำเนินการขยายช่องทางจราจรเป็น 4 เลน ในโครงข่ายทางหลวงแผ่นดินทางเลี่ยงเมือง จังหวัดยะลา การเพิ่มประสิทธิภาพทางหลวงหมายเลข 410 และ 4326 ตอนตะบิงติงงี-สนามบินเบตง การพัฒนาเส้นทางเชื่อมเขตเศรษฐกิจพิเศษ-ด่านชายแดน รวมทั้งการบริการรถไฟ ขบวนรถไฟ “ทักษิณารัถย์” ทั้งการเพิ่มระยะทางจากสถานีชุมทางหาดใหญ่ ไปถึงสถานีสุไหงโก-ลก การเพิ่มจำนวนรถตู้รถไฟ เป็นต้น เพื่อรองรับการเดินทางของนักท่องเที่ยว

นอกจากนี้ ยังเห็นชอบแผนพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชน ทั้งการก่อสร้างระบบป้องกันน้ำท่วมและการทำระบบน้ำในพื้นที่ชุมชนใน จ.นราธิวาส ระยะทางรวมกว่า 11 กิโลเมตร และการยกระดับการบริการสาธารณสุข ทั้งด้านการพัฒนาความเป็นเลิศทางการแพทย์ และศูนย์การแพทย์ฉุกเฉินรองรับพื้นที่เศรษฐกิจพิเศษ โรงพยาบาลสุไหงโก-ลก สนับสนุนโครงการก่อสร้างอาคารผู้ป่วยนอก 10 ชั้น โรงพยาบาลศูนย์ยะลา และเห็นชอบหลักการในการเพิ่มกรอบอัตรากําลังของคณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยนราธิวาสราชนครินทร์

นายอนุทิน ชาญวีรกุล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ยืนยันว่า กระทรวงสาธารณสุขมีแผนยกระดับ อสม. รวมทั้งจัดทำแผนเพิ่มกรอบอัตรากำลังของบุคลากรการแพทย์และสาธารณสุข พร้อมให้การสนับสนุนในเรื่องดังกล่าว

นายกรัฐมนตรีกล่าวถึงเป้าหมายของการลงพื้นที่ว่า ทำให้สามารถเก็บตกรายละเอียดความต้องการของพี่น้องประชาชน ตรงกับรูปแบบการทำงานแบบตรงกลุ่มเป้าหมายเฉพาะ (tailor made) ทั้งการเร่งรัดโครงสร้างพื้นฐาน และมาตรการเสริม มาตรการเร่งด่วนต่างๆ และขอชื่นชม รัฐมนตรีทุกท่านที่ได้ลงพื้นที่ไปใน 3 จังหวัด นอกจากจะได้เห็นสภาพที่แท้จริง ยังเพิ่มความสัมพันธ์ที่ใกล้ชิดระหว่างรัฐกับประชาชนด้วย ซึ่งการประชุมนอกสถานที่ทุกครั้ง จะทำให้เกิดการจัดลำดับความสำคัญโครงการเร่งด่วน รวมทั้งเกิดโครงการใหม่ๆ ที่สอดคล้องกับสถานการณ์และความต้องการของประชาชนที่แท้จริงในปัจจุบัน

ไฟเขียวเพิ่มทุน ธ.ก.ส. 20,000 ล้าน

นายอุตตม สาวนายน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคลัง กล่าวว่า ที่ประชุม ครม.เห็นชอบให้เพิ่มทุนให้กับธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) วงเงิน 20,000 ล้านบาท ทำให้มีทุนเรือนหุ้นเพิ่มจากปัจจุบัน 60,000 ล้านบาท เป็น 80,000 ล้านบาท โดยกระทรวงการคลังประเมินผลตอบแทนทางเศรษฐกิจ การเงิน และสังคม ที่คาดว่าจะเกิดขึ้นจากการดำเนินการครั้งนี้ จะทำให้ ธ.ก.ส.จ่ายสินเชื่อได้ 12 เท่าของทุนที่เพิ่มขึ้น หรือสามารถสนับสนุนเงินทุนให้กับเกษตรกร ได้เพิ่มขึ้น 2.4 แสนล้านบาท ส่งผลต่อจีดีพีเพิ่มขึ้น 0.1065% และเพิ่มจีดีพีภาคเกษตรอีก 1.31%

ทั้งนี้กระทรวงการคลังพิจารณาแล้วเห็นว่า การดำเนินการครั้งดังกล่าว เนื่องจาก ธ.ก.ส.เป็นรัฐวิสาหกิจที่เป็นกลไกสำคัญ ของภาครัฐในการช่วยยกระดับคุณภาพชีวิตของเกษตรกรผ่านการดำเนินงานตามภารกิจ ประกอบกับ ธ.ก.ส.ได้รับมอบหมายจากรัฐบาลให้ดำเนินโครงการตามนโยบายในหลายโครงการ ดังนั้นเพื่อรองรับการขยายบทบาทการดำเนินงานตามแผนการดำเนินงานตามภารกิจและนโยบายที่ได้รับมอบหมาย ซึ่งจะช่วยสร้างความเข้มแข็งให้แก่ประชาชนรวมถึงการกระตุ้นเศรษฐกิจระดับฐานรากของประเทศ โดยการดำเนินการครั้งนี้ กระทรวงการคลังจะใช้เงินจากองทุนพัฒนาระบบสถาบันการเงินเฉพาะกิจ หรือ แหล่งเงินอื่น โดยในปี 2563 จากใช้เงินจากกองทุนพัฒนาฯ ก่อน

ตั้ง คกก. เจรจาการค้าลงทุน – “สมคิด” จ่อนั่งหัวโต๊ะ

ศ. ดร.นฤมล ภิญโภสินวัฒน์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ที่ประชุม ครม.เห็นชอบให้แต่งตั้งคณะกรรมการขับเคลื่อนการเจรจาการค้าและการลงทุนขึ้น เพื่อทำหน้าที่กำกับขับเคลื่อนแผนการลงทุนของประเทศ ทั้งในส่วนของการลงทุนภาครัฐและรัฐวิสาหกิจในช่วงปี 2563-2564 พร้อมทั้งกำหนดแนวทางหรือมาตรการด้านการเจรจาการค้าระหว่างประเทศ ด้านการคลัง การส่งเสริมการลงทุน ให้เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ รวมทั้งมาตรการการร่วมทุนและมาตรการในการเชิญชวนภาคเอกชนเข้าร่วมลงทุนในโครงการลงทุนขนาดใหญ่เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ

สำหรับความจำเป็นต้องมีคณะกรรมการชุดนี้ เนื่องมาจากการพัฒนาเศรษฐกิจ การขับเคลื่อนเศรษฐกิจยุคใหม่ การเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศไทย เป็นนโยบายสำคัญของรัฐบาลตามที่แถลงต่อรัฐสภา ประกอบกับสถานการณ์เศรษฐกิจไทยส่งสัญญาณชะลอตัวลงอย่างชัดเจน และโครงสร้างเศรษฐกิจของประเทศที่มีอัตราการพึ่งพิงการส่งออกอยู่ในระดับค่อนข้างสูง อีกทั้งยังมีความอ่อนไหวต่อปัจจัยเสี่ยงภายนอกประเทศ ดังนั้น เพื่อให้การขับเคลื่อนเศรษฐกิจในระยะต่อไปมีการผลักดันอย่างเป็นระบบ จึงเห็นควรเสนอให้มีการแต่งตั้งคณะกรรมการนี้ขึ้นมา

ทั้งนี้ ในโครงการของคณะกรรมการดังกล่าว จะมีนายกรัฐมนตรี หรือรองนายกรัฐมนตรีที่นายกฯ มอบหมายเป็นประธาน เบื้องต้นอาจให้นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกฯ เป็นประธาน และมี รมว.คลังเป็นรองประธาน และกรรมการประกอบด้วย รมว.คมนาคม รมว.ดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม รมว.พาณิชย์ รมว.พลังงาน รมว.อุตสาหกรรม นายกอบศักดิ์ ภูตระกูล รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายการเมือง ปลัดกระทรวงการต่างประเทศ ปลัดกระทรวงพาณิชย์ เลขาธิการคณะรัฐมนตรี เลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน เลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ เลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ

รวมทั้งผู้อำนวยการสำนักงบประมาณ ผู้อำนวยการสำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ ผู้อำนวยการสำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง อธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ อธิบดีกรมบัญชีกลาง เลขาธิการคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก รองเลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ เป็นฝ่ายเลขานุการ และมีผู้แทนสำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ สำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ กรมบัญชีกลาง สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง เป็นผู้ช่วยเลขานุการ

เห็นชอบเลือกตั้งซ่อม ส.ส.เขต 2 กำแพงเพชร ใน 45 วัน

ศ. ดร.นฤมล กล่วาว่า ที่ประชุม ครม.เห็นชอบพระราชกฤษฎีกา (พ.ร.ฎ.) ให้มีการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจกำแพงเพชร เขต 2 แทน พ.ต.ท. ไวพจน์ อาภรณ์รัตน์ ที่สิ้นสมาชิกลงเมื่อวันที่ 15 มกราคม 2563 ตามคำพิพากษาของศาล โดยกรอบการดำเนินการตามร่าง พ.ร.ฎ.ดังกล่าวกำหนดให้เลือกตั้ง ส.ส.แบบแบ่งเขต แทนผู้ที่มีตำแหน่งว่างลงภายใน 45 วัน ฉะนั้น นับจากวันที่ 15 มกราคมที่ผ่านมา การเลือกตั้งจะต้องเสร็จสิ้นภายในวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2563

“ส่วนวันเลือกตั้งจะเป็นเมื่อใด จะรับสมัครผู้ที่จะลงสมัคร ส.ส.เมื่อใดนั้น ทางคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) จะเป็นผู้ประกาศ อย่างไรก็ตาม คาดว่าจะมีการรับสมัครภายในเดือน ม.ค. และการเลือกตั้งจะเกิดขึ้นประมาณสัปดาห์ที่ 4 ของเดือนกุมภาพันธ์ 2563” ศ. ดร.นฤมล กล่าว

ยื่นขอขึ้นทะเบียน “แก่งกระจาน” เป็นมรดกโลกอีกครั้ง

ศ. ดร.นฤมล กล่าวว่า ที่ประชุม ครม.มีมติเห็นชอบ ให้กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม จัดส่งเอกสารเพิ่มเติมให้กับคณะกรรมการมรดกโลก เพื่อเสนอให้ขึ้นทะเบียนพื้นที่กลุ่มป่าแก่งกระจานเป็นมรดกโลก ภายในวันที่ 31  มกราคม 2563

ทั้งนี้สืบเนื่องจากที่คณะรัฐมนตรีมีมติเมื่อวันที่28 มกราคม 2556 ให้นำเสนอพื้นที่กลุ่มป่าแก่งกระจานขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลก และต่อมาคณะกรรมการมรดกโลก ครั้งที่ 43 มีมติส่งกลับเอกสารเพื่อให้นำมาดำเนินการเพิ่มเติม เพื่อจัดทำเอกสารเพิ่มเติม ซึ่งทางกระทรวงทรัพยากรฯ ได้ดำเนินการตามมติคณะกรรมการมรดกโลกครบถ้วนแล้ว

เห็นชอบหลักการ “12 มาตรการ แก้ PM 2.5”

ศ. ดร.นฤมล กล่าวว่า ที่ประชุม ครม.เห็นชอบในหลักการ 12 มาตรการแก้ไขปัญหาฝุ่นละออง PM2.5 โดยยืนยันว่ารัฐบาลไม่เคยมองว่าปัญหาดังกล่าวเป็นเรื่องปกติ ซึ่งเรื่องดังกล่าวนายกรัฐมนตรีได้มอบหมายให้ พล.อ. ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธานการประชุม เพื่อแก้ปัญหาดังกล่าวในวันที่ 23 มกราคมนี้ โดยจะมีการเรียกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งหมดเพื่อที่จะพูดคุยในระดับปฏิบัติการให้ชัดเจนร่วมกัน เราไม่ได้มีอะไรติดขัดกับมาตรการ แต่อยากให้การดำเนินการเป็นไปได้จริงไม่ได้ออกมาตรการเฉยๆ

จากนั้นจะมีการแถลงผลการประชุมอย่างชัดเจนตามมา เช่น พื้นที่ กทม.ทำอะไรไปแล้วบ้าง พื้นที่ปริมณฑลทำอะไรบ้างและในจังหวัดต่างๆ ผู้ว่าฯ จะมีอำนาจรับผิดชอบตรงไหนอย่างไร ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการจำกัดพื้นที่ให้รถยนต์เข้ามา หรือรถกระบะเข้ามาในพื้นที่ไหนได้บ้าง รวมถึงเรื่องการเผาในที่โล่งจะนำไปหารือด้วยเพื่อให้สามารถบังคับใช้กฎหมายได้อย่างจริงจัง

“ส่วนกรณีการหยุดเรียนนั้นเป็นเรื่องของโรงเรียนอยู่ในอำนาจของผู้อำนวยการสามารถพิจารณาได้ว่าจะปิดโรงเรียนหรือไม่” ศ. ดร.นฤมล กล่าว

ปั้น อ.จะนะ เป็นเมืองอุตสาหกรรม-จัดสรรที่ทำกิน 1,855ไร่

ผศ. ดร.รัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ครม.เห็นชอบการพัฒนาจังหวัดชายแดนใต้ ประกอบด้วย 3 เรื่อง ได้แก่ เขตเศรษฐกิจพิเศษ การจัดสรรที่ดินทำกิน 1,855 ไร่ และ “สภาสันติสุขตำบล” เพื่อการมีส่วนร่วมของประชาชนในการกำหนดโครงการพัฒนา โดยมีรายละเอียดดังนี้

เตรียมเขตเศรษฐกิจพิเศษ ตามนโยบาย “สามเหลี่ยมมั่นคง มั่งคัง ยั่งยืน”

  • ตามที่รัฐบาลต้องการขยายผลเมืองต้นแบบ ตามนโยบาย “สามเหลี่ยมมั่นคง มั่งคัง ยั่งยืน” รัฐบาลเห็นชอบ อ.จะนะ จังหวัดสงขลา เป็นเมืองต้นแบบที่ 4 “เมืองอุตสาหกรรมก้าวหน้าแห่งอนาคต” เนื่องจากในพื้นที่ 4 จังหวัดชายแดนใต้ยังไม่มีนิคมอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ที่สามารถรองรับแรงงานในพื้นที่ที่มีอยู่มาก และเป็นพื้นที่ทีมีความพร้อมด้านกายภาพ เป็นพื้นที่ชายฝั่ง จึงมีความเหมาะสมที่จะดำเนินการท่าเรือน้ำลึก เพื่อให้นิคมอุตสาหกรรมที่จะเกิดขึ้นสามารถใช้ประโยชน์จากการนำเข้าและส่งออกสินค้าได้อย่างสะดวก

วันนี้ ครม.อนุมัติในหลักการของแผนเร่งด่วนการลงทุนในเขตพัฒนาพิเศษเฉพาะกิจ อำเภอจะนะ จังหวัดซึ่งประกอบด้วย 1) ด้านผังเมือง (พื้นที่ใน 3 ตำบล ได้แก่ นาทับ ตลิ่งชัน และสะกอม 2) ด้านโครงข่ายการขนส่งทางน้ำ (โครงการท่าเรือน้ำลึกสงขลา) 3) ด้านโครงข่ายการขนส่งทางบก (แผนแม่บทจราจรเชื่อมทางหลวง ทางหลวงชนบท ถนนองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น 4) ด้านพลังงาน (โรงไฟฟ้าเชื้อเพลิงจากก๊าซธรรมชาติ/ชีวมวล/แสงอาทิตย์/ลม) เพื่อขับเคลื่อนสู่เป้าประสงค์การพัฒนาให้เป็นเมืองต้นแบบที่ 4 “

ในภาพรวมโครงการ มีเนื้อที่ 16,753 ไร่ ใช้เงินลงทุนประมาณ 18,680 ล้านบาท โดยคาดว่าจะก่อให้เกิดการจ้างงานประมาณ 1 แสนอัตรา มีกิจกรรม 6 ประเภท 1) พื้นที่เขตอุตสาหกรรมเกษตรและอุตสาหกรรมเบา จำนวน 4,253 ไร่ 2) พื้นที่อุตสาหกรรมหนัก จำนวน 4,000 ไร่ 3) พื้นที่เขตอุตสาหกรรมผลิตไฟฟ้า จำนวน 4,000 ไร่ จำนวน 4 โรง กำลังผลิตรวม 3,700 เมกะวัตต์ 4) พื้นที่เขตอุตสาหกรรมต่อเนื่องกับกิจกรรมหลังท่าเรือ จำนวน 2,000 ไร่ 5) พื้นที่เขตอุตสาหกรรมศูนย์รวมและกระจายสินค้า จำนวน 2,000 ไร่ และ 6) พื้นที่ศูนย์บริการเบ็ดเสร็จและแหล่งที่พักอาศัย จำนวน 500 ไร่

  • เห็นชอบแผนการขับเคลื่อนการพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษนราธิวาส ซึ่งเป็นแผนบริหารจัดการที่ดินสำหรับการจัดตั้งนิคมอุตสาหกรรมในพื้นที่เขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษนราธิวาส ให้ ศอ.บต.เป็นหน่วยงานรับผิดชอบจัดซื้อที่ดินเอกชน (บริษัทสวนยางไทย) จำนวน 1,683 ไร่ ในพื้นที่อำเภอยี่งอ และอำเภอเมืองนราธิวาส ในกรอบวงเงิน 390 ล้านบาท การบริหารจัดการที่ดิน แบ่งเป็น สามส่วนได้แก่

ส่วนที่ 1 ให้การนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทยเช่า จำนวน 600 ไร่ ในพื้นที่ตำบลละหาร อำเภอยี่งอ เพื่อจัดตั้งนิคมอุตสาหกรรม ตามอำนาจหน้าที่ของการนิคมแห่งประเทศไทย

ส่วนที่ 2 ให้เอกชนเช่า เนื้อที่รวม 1,003 ไร่ โดยกรมธนารักษ์เปิดประมูลเพื่อสรรหาผู้ลงทุนตามหลักเกณฑ์และเงื่อนไขที่กำหนด

ส่วนที่ 3 เป็นพื้นที่สำหรับใช้ประโยชน์ของทางราชการในพื้นที่ตำบลละหาร อำเภอยี่งอ พื้นที่รวม 79 ไร่ เช่น สร้างศูนย์อบรมพัฒนาทักษะแรงงานเพื่อรองรับนิคมอุตสาหกรรมและการลงทุนและการพัฒนาและส่งเสริมนักธุรกิจรุ่นใหม่ยุค 4.0

ผศ. ดร.รัชดา กล่าวต่อไปว่า รัฐบาลเดินหน้าจัดสรรที่ดินทำกินกว่า 1,855 ไร่ ในจังหวัดนราธิวาส โดยคณะรัฐมนตรีเห็นชอบร่างพระราชกฤษฎีกากำหนดเขตที่ดินทำกิน 3 ฉบับ ได้แก่

  1. ร่างพระราชกฤษฎีกากำหนดเขตที่ดิน ในท้องที่ตำบลปูโยะ และตำบลมูโนะ อำเภอสุไหงโก-ลก จังหวัดนราธิวาส ให้เป็นเขตปฏิรูปที่ดิน พ.ศ. …. เนื้อที่ประมาณ 542–2-53 ไร่
  2. ร่างพระราชกฤษฎีกากำหนดเขตที่ดิน ในท้องที่ตำบลปะลุรู ตำบลโต๊ะเต็ง และตำบลริโก๋ อำเภอสุไหงปาดี จังหวัดนราธิวาส ให้เป็นเขตปฏิรูปที่ดิน พ.ศ. …. ครอบคลุมพื้นที่ จำนวน 5 แห่ง รวมเนื้อที่ประมาณ 266-3-30.3 ไร่
  3. ร่างพระราชกฤษฎีกากำหนดเขตที่ดิน ในท้องที่ตำบลบางปอ อำเภอเมืองนราธิวาส และตำบลดุซงญอ ตำบลช้างเผือก ตำบลจะแนะ อำเภอจะแนะ จังหวัดนราธิวาส ให้เป็นเขตปฏิรูปที่ดิน พ.ศ. …. จำนวน 25 แปลง เนื้อที่รวมประมาณ 1,047-1-28.9 ไร่

โดยพระราชกฤษฎีกาฯทั้ง 3 ฉบับ จะเป็นประโยชน์ต่อเกษตรกรในจังหวัดนราธิวาสทำให้มีที่ดินทำกินเพียงพอต่อการครองชีพ ส่งผลให้มีความมั่นคงทางอาชีพและมีแรงจูงในการพัฒนาอาชีพต่อไป รวมทั้งสามารถป้องกันและแก้ไขปัญหาการถูกชักจูงให้เคลื่อนไหวก่อความไม่สงบเรียบร้อยได้ในระดับหนึ่ง

นอกจากนี้ที่ประชุม ครม.เห็นชอบกรอบแนวทางการพัฒนาเพื่อเสริมความมั่นคงผ่าน “โครงการตำบลมั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน” ของ ศอ.บต. โดยให้มี “สภาสันติสุขตำบล” เป็นกลไกในการบริหารราชการระดับตำบล ขับเคลื่อนโครงการฯ โดยให้นายอำเภอมีอำนาจแต่งตั้งสภาสันติสุขตำบล ประกอบด้วย 5 ภาคส่วน ได้แก่ 1) ภาคส่วนราชการที่เป็นเจ้าหน้าที่ปฏิบัติงานในตำบล เช่น ปลัดอำเภอ ทหาร ตำรวจ พัฒนากร 2) ผู้ปกครองท้องที่ เช่น กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน 3) องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น 4) ผู้นำศาสนาหรือองค์กรศาสนาทุกศาสนาในพื้นที่ตำบล 5) ภาคประชาชน เช่น ปราชญ์ชาวบ้าน ตัวแทนกลุ่มเยาวชน กลุ่มสตรี

โดยสภาสันติสุขตำบลมีหน้าที่ในการให้ข้อเสนอแนะและข้อคิดเห็นในการจัดทำแผนพัฒนาโครงการตำบลฯ นำไปสู่การส่งเสริมเศรษฐกิจฐานราก เชื่อมโยงเศรษฐกิจชุมชนกับระดับจังหวัด และพัฒนาสังคมและทรัพยากรมนุษย์ ตามยุทธศาสตร์การพัฒนาจังหวัดชายแดนใต้

อนุมัติ รฟท.กู้โอดีแบงก์ 800 ล้าน

นางสาวไตรศุลี ไตรสรณกุล รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ที่ประชุม ครม.มีมติอนุมัติเงินกู้เพื่อใช้ในการดำเนินงาน และกู้เงินระยะสั้น วงเงิน 800 ล้านบาท (วงเงินกู้เกินบัญชี) ของการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) ประจำปีงบประมาณ 2563 โดยเป็นการทำสัญญากู้เงินใหม่ระยะเวลา 1 ปี ตั้งแต่วันที่ 30 มีนาคม 2563 – 29 มีนาคม 2564

ทั้งนี้ ครม.มีมติเมื่อวันที่ 24 กันยายน 2562 อนุมัติแผนบริหารหนี้สาธารณะ ปีงบประมาณ 2563 ตามที่กระทรวงการคลังเสนอ ซึ่งรวมถึงแผนเงินกู้เพื่อดำเนินโครงการ หรือเพื่อใช้เป็นเงินทุนหมุนเวียนในการดำเนินกิจการทั่วไป (หนี้ในประเทศ) ของ รฟท.จำนวน 11,710.69 ล้านบาท ประกอบด้วย เงินกู้เพื่อบรรเทาการขาดสภาพคล่อง วงเงิน 10,910.69 ล้านบาท และเงินกู้ระยะสั้น 800 ล้านบาท

โดยที่กระทรวงการคลังได้มีความเห็นให้ รฟท.พิจารณาคัดเลือกสถาบันการเงินด้วยวิธีการประมูลวงเงินกู้ระยะสั้นใหม่ แทนการต่ออายุเงินกู้เดิม และให้ รฟท.ควรเร่งรัดดำเนินการตามแผนการแก้ไขปัญหาองค์กรให้สอดคล้องและเป็นไปตามมติคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ โดยให้กระทรวงคมนาคมในฐานะกระทรวงเจ้าสังกัดกำกับให้ รฟท.ดำเนินการแก้ไขปัญหาองค์กรให้เห็นผลเป็นรูปธรรมตามแผนที่กำหนดโดยเร็ว

“สาเหตุที่ รฟท.มีผลประกอบการขาดทุน เนื่องจากรายได้ไม่เพียงพอกับค่าใช้จ่ายในการดำเนินงาน และ รฟท.ไม่มีการปรับเพิ่มรายได้การขนส่งให้สอดคล้องกับสภาวการณ์ในปัจจุบัน” นางสาวไตรศุลีกล่าว

ไฟเขียว คค.ตั้งงบฯ ผูกพัน 46 โครงการกว่า 1.7 แสนล้าน

นางสาวไตรศุลีกล่าวว่า ที่ประชุม ครม.มติอนุมัติตามที่กระทรวงคมนาคมเสนอ  ให้ตั้งงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2564 สำหรับรายการงบประมาณที่มีวงเงินตั้งแต่ 1,000 ล้านบาทขึ้นไป  ของกระทรวงคมนาคม จำนวน 4 หน่วยงาน รวม 46 โครงการ ระยะเวลาดำเนินการ ปี 2564-2567 วงเงินรวมทั้งสิ้น 179,671.19 ล้านบาท โดยมีวงเงินที่จะขอตั้งงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2564 จำนวน 36,384.20 ล้านบาท ประกอบด้วย

  1. กรมทางหลวง จำนวน 41 โครงการ วงเงินรวม 170,665 ล้านบาท (ปีงบประมาณ  2564: 34,133 ล้านบาท ปีงบประมาณ 2565: 51,199.5000 ล้านบาท ปีงบประมาณ 2566: 51,199.5000 ล้านบาท และปีงบประมาณ 2567: 34,133 ล้านบาท)
  2. กรมทางหลวงชนบท จำนวน 2 โครงการ  วงเงินรวม 3,151 ล้านบาท (ปีงบประมาณ  2564: 630.2000 ล้านบาท ปีงบประมาณ 2565: 1,260.4000 ล้านบาท และปีงบประมาณ 2566: 1,260.4000 ล้านบาท)
  3. กรมท่าอากาศยาน จำนวน 2 โครงการ วงเงิน 3,800 ล้านบาท (ปีงบประมาณ 2564: 760 ล้านบาท ปีงบประมาณ 2565: 760 ล้านบาท ปีงบประมาณ 2566: 1,140 ล้านบาท และปีงบประมาณ 2567: 1,140 ล้านบาท)
  4. การรถไฟแห่งประเทศไทย จำนวน 1 โครงการ วงเงินรวม 2,055.1980 ล้านบาท  (ปีงบประมาณ 2564: 861 ล้านบาท และปีงบประมาณ 2565:   1,194.1980 ล้านบาท)

จัดงบฯ 480 ล้าน ซื้อลิขสิทธิ์ถ่ายทอดสดโอลิมปิก 5 รายการ

นางสาวไตรศุลีกล่าวว่า ที่ประชุม ครม.มีมติรับทราบการขอรับการสนับสนุนงบประมาณเพื่อจัดซื้อลิขสิทธิ์การถ่ายทอดสดการแข่งขันมหกรรมกีฬาระดับนานาชาติ 5 รายการ จากกองทุนวิจัยและพัฒนากิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม เพื่อประโยชน์สาธารณะ (กทปส.) วงเงิน 240 ล้านบาท และจากคณะกรรมการบริหารกองทุนพัฒนาการกีฬาแห่งชาติอีก 240 ล้านบาท รวมเป็นวงเงินทั้งสิ้น 480 ล้านบาท ทั้งนี้ยังไม่รวมค่าดำเนินการด้านเทคนิคการออกอากาศ

โดยการถ่ายทอดสดการแข่งขันมหกรรมกีฬาระดับนานาชาติ 5 รายการดังกล่าว ประกอบด้วย 1) การแข่งขันมหกรรมกีฬาโอลิมปิกฤดูร้อน (โตเกียว 2020) 2) การแข่งขันมหกรรมกีฬาโอลิมปิกเยาวชนฤดูหนาว (โลซาน 2020) 3) การแข่งขันมหกรรมกีฬาโอลิมปิกฤดูหนาว (ปักกิ่ง 2022) 4) การแข่งขันมหกรรมกีฬาโอลิมปิกฤดูร้อน (ดาการ์ 2022) และ 5) การแข่งขันมหกรรมกีฬาเอเชียนเกมส์ (หางโจว 2022)

นางสาวไตรศุลีกล่าวต่อไปว่า การถ่ายทอดสดกีฬาโอลิมปิก โตเกียว 2020 ที่ประเทศญี่ปุ่นเป็นเจ้าภาพนั้น จะมีขึ้นระหว่างวันที่ 24 กรกฎาคม – 9 สิงหาคม 2563 โดยจะมีการจัดการแข่งขัน 33 ชนิดกีฬา มีนักกีฬาไทยผ่านการคัดเลือกเข้าร่วมการแข่งขันจำนวน 8 คน และอยู่ระหว่างการตัดเลือกรอบสุดท้าย 54 คน

“การถ่ายทอดสดครั้งนี้มีกำหนดออกอากาศตรงกับเวลาในประเทศไทย ช่วงเวลาระหว่าง 12.00-20.00 น. ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่เหมาะสมในการเผยแพร่การถ่ายทอดสด ทั้งนี้เพื่อเป็นการสนับสนุนให้ประชาชนได้มีโอกาสเข้ารวมส่งแรงเชียร์แรงใจให้กับนักกีฬาไทย และเป็นการส่งเสริมให้เกิดความรัก ความสามัคคี และสร้างสุขให้คนในชาติต่อไป” นางสาวไตรศุลีกล่าว

อ่านมติ ครม.ประจำวันที่ 21 มกราคม 2563เพิ่มเติม