ThaiPublica > เกาะกระแส > นายกฯ เผยอนาคตการเมือง เลือกอยู่พรรคที่สานต่อนโยบายรัฐบาล – มติ ครม.อนุมัติงบกลาง 448 ล้าน พัฒนา“ระเบียงเศรษฐกิจใต้” 5 โครงการ

นายกฯ เผยอนาคตการเมือง เลือกอยู่พรรคที่สานต่อนโยบายรัฐบาล – มติ ครม.อนุมัติงบกลาง 448 ล้าน พัฒนา“ระเบียงเศรษฐกิจใต้” 5 โครงการ

22 มกราคม 2019


พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้า คสช.
ที่มาภาพ : www.thaigov.go.th/

เมื่อวันที่ 22 มกราคม 2561 ที่ทำเนียบรัฐบาลมีการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) โดยมี พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ เป็นประธาน

เผยอนาคตการเมือง เลือกอยู่พรรคที่สานต่อนโยบายรัฐบาล

พล.อ. ประยุทธ์ ตอบคำถามถึงบทบาทและอนาคตทางการเมืองหลังเลือกตั้งว่า เรื่องนี้ได้ตนบอกหลายครั้งแล้วอยู่ในช่วงการตัดสินใจ ว่าควรจะอยู่ทำงานต่อหรือไม่ หากอยู่ต่อจะอยู่ได้ด้วยอะไร ฉะนั้น กำลังดูว่า ถ้าต้องอยู่จะต้องทำอย่างไร

“อันแรก พรรคการเมืองต้องมาเชิญผมก่อน และผมจะตอบรับใครหรือเปล่าก็ต้องคิดดู ถ้าคิดว่าจะต้องอยู่ต่อเพื่อทำงานต่อ ก็คงต้องอยู่พรรคใดพรรคหนึ่ง ทั้งนี้จะต้องเป็นพรรคที่ทำงานด้วยความตั้งใจ เสียสละอย่างแท้จริง และทำให้บ้านเมืองเปลี่ยนแปลงในวันข้างหน้า ไม่ใช่ไปล้มล้างทุกอย่างที่ทำมาทั้งหมด มันเสียเวลาเปล่า มีหลายอย่างที่สำเร็จมา” นายกรัฐมนตรีกล่าว

ต่อคำถามกรณีพรรคพลังประชารัฐเป็นตัวเลือกที่ดีที่สุดในเวลานี้หรือไม่ พล.อ. ประยุทธ์ กล่าวว่า ตนยังไม่รับการติดต่อจากพรรคพลังประชารัฐ ส่วนกรณีที่พลังประชารัฐชูนโยบายแปลงที่ดิน ส.ป.ก.เป็นโฉนดให้เกษตรกรนั้น อยู่ในขั้นตอนการหารือ สิ่งที่ตนบอกได้ในตอนนี้คือ ระมัดระวังหน่อย การจะเอาที่ดิน ส.ป.ก.ออกเป็นโฉนดเหมาะสมหรือไม่

“ผมได้เตือนไปแล้วผ่านทางสื่อและอะไรต่างๆ ขอให้ทุกคนระมัดระวังเรื่องนี้ ไม่เช่นนั้นที่ดินเหล่านี้ จากที่ใช้ทำการเกษตรจะไปเป็นอย่างอื่นหมด ซึ่งขณะนี้รัฐบาลกำลังหาวิธีการ หามาตรการให้ที่ดินเหล่านี้สามารถใช้ประโยชน์ได้มากว่าการทำการเกษตร เช่น การนำไปตั้งวิสาหกิจชุมชน หรือทำกิจกรรมสาธารณประโยชน์ ในกรณีที่พื้นที่ไม่เหมาะแก่การทำการเกษตร ไม่ใช่ว่ารัฐบาลนี้ไม่สนใจ” นายกรัฐมนตรีกล่าว

ยันเดินหน้าครม.สัญจร หลัง พ.ร.ฎ.เลือกตั้งมีผล วอนอย่ามองได้เปรียบ

พล.อ. ประยุทธ์ ตอบคำถามกรณีภายหลังมีพระราชกฤษฎีกาการเลือกตั้ง มีผลบังคับใช้ รัฐบาลจะยังเดินสายประชุมคณะรัฐมนตรีสัญจรอีกหรือไม่ เพราะมีหลายพรรคกังวลความได้เปรียบและเสียเปรียบทางการเมือง ว่า พระราชกฤษฎีกาการเลือกตั้งจะออกมาในเร็ววันนี้ ขณะเดียวกันต้องเข้าใจด้วยว่ารัฐบาลต้องทำงาน อีกทั้งเป็นรัฐบาลที่เข้ามาด้วยวิธีพิเศษ ดังนั้นสิ่งที่รัฐบาลนี้ทำคือการแก้ปัญหาที่เป็นวาระชาติ ซึ่งหลายเรื่องได้ทำสำเร็จไปแล้ว และยังต้องแก้ไขปัญหาในเรื่องกฎหมายเพื่อขจัดอุปสรรคต่างๆ ที่มีอยู่ในอดีตที่ผ่านมา

ทั้งนี้ตนขออย่ามองเพียงเรื่องได้เปรียบหรือเสียเปรียบ เพราะรัฐบาลไม่ได้ทำเพื่อพรรคการเมืองใดทั้งสิ้น แต่ทำตามนโยบายที่กำหนดไว้ก่อนหน้านี้ ไม่เช่นนั้นหากรอแต่รัฐบาลหน้า ประชาชนก็ไม่ได้รับการดูแล

ซึ่งในอนาคตหากรัฐบาลหน้าเห็นว่าดีกว่าก็ทำใหม่ได้ แต่ไม่ใช่ล้มล้างกฎหมาย และ พ.ร.บ.การเงินการคลังทั้งหมด โดยเฉพาะวันนี้คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ได้ออกมาตรการป้องกันการทุจริตกรณีการค้าระหว่างประเทศแบบรัฐต่อรัฐจากโครงการรับ จำนำข้าวและการระบายข้าวแบบรัฐต่อรัฐ (จีทูจี) มาแล้ว โดยรัฐบาลนี้ได้ทำตามมาตลอด จึงถือเป็นความแตกต่าง

เตือน “พรรคการเมือง” หาเสียง ระวังทำลายรากฐาน ปท.

พล.อ. ประยุทธ์ กล่าวถึงกฎหมายรัฐธรรมนูญว่า เรื่องของรัฐธรรมนูญเรามีการปรับแก้รัฐธรรมนูญมาหลายครั้งเต็มที ดังนั้นวันนี้เมื่อเขาร่างรัฐธรรมนูญมาแบบนี้เราก็ต้องยอมรับ และตนก็ไม่เคยไปเกี่ยวข้องกับตรงนี้ เป็นเรื่องของคณะกรรมาธิการ เมื่อร่างมาก็มีการนำเอาบทเรียน ปัญหาอุปสรรคที่เคยเกิดขึ้นมาแก้ไขจนเป็นกติกาใหม่ออกมา ซึ่งหลายคนก็ไม่ยอมรับ แต่รัฐธรรมนูญฉบับนี้ได้ผ่านการลงประชามติมาแล้ว ก็ต้องเคารพเสียงของประชาชนด้วย และปฏิบัติตามกติกาใหม่นี้ให้ได้ จากนั้นก็มาคอยดูว่าจะมีอะไรที่ดีขึ้นบ้างหรือไม่ แก้ปัญหาเดิมๆ ได้หรือเปล่า ความขัดแย้งลดลงหรือไม่

“สิ่งสำคัญที่สุดเรามักให้ความสำคัญกับรัฐธรรมนูญมากที่สุด ซึ่งเป็นเรื่องที่ถูกต้องเพราะถือเป็นกฎหมายกรอบสำคัญของประเทศ แต่กฎหมายลูกทุกคนไม่ค่อยสนใจ ไม่ว่าจะเป็นพระราชกฤษฎีกา (พ.ร.ฎ) หรือพระราชกำหนด (พ.ร.ก.) กฎกระทรวง ไม่เคยสนใจเลย ทุกคนเอาแต่กฎหมายรัฐธรรมนูญทั้ง 300 กว่ามาตรามาสู้กัน มันไม่ได้”

“ทุกคนจะต้องดูสิ่งที่รัฐบาลได้ทำมา แก้ปัญหาทีละล็อกเป็นกิจกรรม ถ้าไม่ศึกษาก็ไม่สามารถปรับตัวเองได้ เพราะไม่รู้ช่องทาง ง่ายที่สุดก็คือเปิดดูในโทรศัพท์ตามเว็บไซต์ที่เกี่ยวข่องมีการชี้แจงของแต่ละหน่วยงานอยู่แล้ว ไม่ใช่พูดกันไปเรื่อยเปื่อย บางคนก็โพสต์ว่าไม่เป็นธรรมไม่เท่าเทียม ยืนยันว่ารัฐบาลไม่ได้แก้กฎหมายให้เฉพาะผู้ประกอบการรายใหญ่ เราทำให้กับรายเล็กๆ จำนวนมากเพื่อให้เกิดความเป็นสากล” นายกรัฐมนตรีกล่าว

พล.อ. ประยุทธ์ กล่าวเตือนพรรคการเมืองในเรื่องของการหาเสียงว่า ต้องระมัดระวัง โดยเฉพาะการใช้จ่ายงบประมาณจะต้องระวังให้มากที่สุด ไม่ใช่โจมตีรัฐบาลนี้ แต่พอถึงรัฐบาลหน้าก็จะทำนี่ทำโน่น ยืนยันรัฐบาลนี้ทำตามกฎหมายทุกประการ ฉะนั้นอย่าไปพูดจาอะไรที่ไม่ถูกกฎหมายหรือไม่ถูกต้องตามท พ.ร.บ.การเงินการคลัง เพราะ พ.ร.บ.การใช้จ่ายงบประมาณครอบคลุมไว้ทั้งหมดอยู่แล้ว ที่ออกมาพูดกันไปมาขณะนี้ไม่รู้ว่าทำได้หรือไม่ได้ ก็ขอให้ระมัดระวังในวันข้างหน้าด้วย

ทั้งนี้ ป.ป.ช.มีการออกระเบียบมาจำนวนมาก วันข้างหน้าหากถูกฟ้องขึ้นมา ก็ถือว่าเป็นไปตามกฎหมายใหม่ทั้งสิ้น อย่าลืมว่าสิ่งที่รัฐบาลนี้ทำหรือแก้ปัญหา ทั้งหมดก็เพื่อความสงบเรียบร้อย การแก้ไขปัญหายาเสพติดถึงแม้จะไม่ 100% แต่ก็ดีขึ้นกว่าเดิมมาก รวมทั้งเรื่องการแก้ไขปัญหาน้ำ การบุกรุกป่า แก้ปัญหาเกษตรครบวงจร การประมง การค้ามนุษย์ การค้าการลงทุนที่วันนี้มีการลงทุนไป 9 แสนกว่าล้านบาทในพื้นที่อีอีซี ดังนั้น ถ้าทุกคนประกาศจะยกเลิกอีอีซี ตนขอถามว่า แล้วสิ่งที่มีการลงทุนไปจะทำอย่างไร ทุกคนก็เลิกทั้งหมด แล้วจะทำอย่างไร ทุกอย่างจะกลับมาสู่ที่เก่าทั้งหมดแล้วใครจะรับผิดชอบ

“กรุณาเตือนพรรคการเมืองด้วย อย่าลืมว่า การก่อสร้างบ้านของเรานี้อยู่ระหว่างการตอกเสาเข็ม ต่อเติมพื้นล่างขึ้นมา แล้วพวกท่านยังจะมาทำลายรากฐานของมัน ทำลายกฎหมายทุกตัว แล้วประเทศจะไปได้หรือไม่ หากทำเช่นนี้ ขอร้องว่าอย่าเพิ่งมาช่วยกันทำลายสิ่งเหล่านี้เลย เพียงแค่จะเอาชนะทางการเมืองกันอย่างเดียว ผมอยากจะขอร้องตรงนี้จะทำให้เสียประโยชน์กับคนทุกฝ่าย เสียหายกันไปทั้งหมดแล้วจะแก้กันอย่างไร”

“หรือจะแก้ด้วยนโยบายที่พูดกันไปมาในวันนี้ แล้วมันจะแก้ได้จริงหรือไม่ เพราะถ้าแก้ได้จริงก็คงแก้กันมานานแล้ว เพราะทุกคนที่ออกมาพูดก็เคยอยู่ในการบริหารราชการแผ่นดินมาแล้วทั้งสิ้น หลายอย่างที่พูดออกมาก็แสดงให้เห็นว่าไม่รู้ว่าสิ่งเหล่านี้รัฐบาลได้ทำไปแล้ว ออกมาพูดซ้ำ อยากให้ไปดูว่า นโยบายของบางพรรคการเมือง ซ้ำกับสิ่งที่รัฐบาลนี้ได้ทำอะไรไปบ้างแล้ว แม้แต่ออกไปต่างประเทศก็พูดอยู่นั้น รถไฟฟ้าก็ไม่รู้ว่ายุทธศาสตร์เขามีอย่างไร ทำอะไรไปแล้วบ้าง สื่อมวลชนเอง ถ้ามัวแต่จะเอาแต่ข่าวความขัดแย้งมากๆ ก็ไม่ได้อะไรขึ้นมา” นายกรัฐมนตรีกล่าว

แจงมาตรการคุมค่ารักษาพยาบาล – ย้ำ รพ.ต้องติดป้ายบอกราคาชัดเจน

พล.อ. ประยุทธ์ ตอบคำถามถึงความชัดเจนของมติ ครม. ควบคุมค่าบริการทางการแพทย์ ยาและเวชภัณฑ์ ได้มีการกำชับแนวทางอย่างไร ให้เกิดความเป็นธรรมทั้งผู้ประกอบการและผู้รักษาพยาบาล ว่า สิ่งที่ทำตอนนี้คือให้ไปกำหนดมาตรการมา แต่ไม่ใช่จะไปควบคุมราคาทั้งหมด ตอนนี้ให้ไปหามาตรการที่เหมาะสมมา เรื่องนี้เป็นการกำหนดสินค้าและบริการในหลายๆ รายการ ซึ่งจะปรับปรุงทุกๆ 2 ปี ตรงนี้จะมีอนุกรรมการจากทุกภาคส่วนพิจารณากำหนดมาตรการเดิมมีเพียงแค่ควบคุมบางรายการ 50 กว่าชนิด

ทั้งนี้ พระราชบัญญัติสถานพยาบาล พ.ศ. 2541 อยู่แล้ว ระบุว่า สถานพยาบาลทุกแห่งจะต้องจัดให้มีป้ายสอบถามอัตราค่าบริการ และต้องแสดงรายละเอียดเกี่ยวกับอัตราค่ารักษาพยาบาล ค่ายาและเวชภัณฑ์ ค่าบริการทางการแพทย์ ค่าบริการอื่นๆ และสิทธิผู้ป่วย ณ สถานบริการ ซึ่งผู้ป่วยสามารถตรวจสอบได้กับเข้ารับบริการ ดังนั้นก็เป็นทางเลือกของประชาชน เข้าไปโรงพยาบาลก็สามารถสอบถามค่าบริการได้ก่อน

“หากพบว่าสถานพยาบาลไม่ปฏิบัติตามกฎหมายนี้ก็ให้ร้องเรียนกันมา รวมไปถึงเมื่อรักษาพยาบาลไปแล้วไม่ได้รับความเป็นธรรมก็สามารถร้องเรียนได้ มีช่องทางร้องเรียนทั้งหมด อยากจะกล่าวแค่นี้ อย่าทำให้ทุกอย่างขยายความเรื่อยๆ เลย จะได้ทำให้เกิดความเข้าใจอันดีระหว่างโรงพยาบาลเอกชนกับผู้รับบริการ และภาพพจน์การเป็นผู้นำด้านการรักษาพยาบาลของไทย” นายกรัฐมนตรีกล่าว

พล.อ. ประยุทธ์ กล่าวต่อไปว่า ที่ผ่านมารัฐบาลเคยควบคุมสินค้าบางชนิดอย่างน้ำปลา ซึ่งปัจจุบันยกเลิกไปแล้ว วันนี้กระทรวงสาธารณะสุขก็ได้มีการปรับดูแลโรงพยาบาลเอกชนในระดับหนึ่งแล้ว ครั้งนี้จะต้องปรับปรุงทั้งผู้ให้และผู้บริการ โรงพยาบาลมี 2 ส่วน คือ โรงพยาบาลรัฐ และโรงพยาบาลเอกชน ต้องดูถึงความแตกต่างตรงนี้ ตอนนี้ต้องกำหนดมาตรการมา ไม่ใช่ว่าไปกำหนดราคาทุกอย่าง

“คงไม่ใช่แค่มาตรฐานการรักษาพยาบาลเท่านั้น คงต้องมีมาตรฐานและความโปร่งใสด้านราคาด้วย เพราะเป็นกลไกสำคัญ ที่ต้องทบทวนเรื่องนี้เพราะอยู่ในกรอบการทำงานของคณะกรรมการชุดนี้ด้วย เพราะยาและเวชภัณฑ์ก็เป็นสินค้าเช่นกัน ยังมีกฎหมายหลายตัว อย่าเพิ่งไปวิตกตื่นเต้น รัฐบาลทำให้เกิดความโปร่งใสและเป็นธรรม อย่าไปขับเคลื่อนเคลื่อนไหวในทางไม่ถูกต้อง” นายกรัฐมนตรีกล่าว

ทดลองใช้โดรนฉีดน้ำสลายฝุ่นพิษ – สั่งขรก.ดับเครื่องขณะจอดรถรอ

พล.อ. ประยุทธ์ ตอบคำถามกรณีชาวบ้านร้องเรียนเรื่องโรงซ่อมของการรถไฟแห่งประเทศไทย มักกะสัน ที่เชื่อว่าเป็นสาเหตุหนึ่งของปัญหาฝุ่นละอองเกินค่ามาตรฐานว่า วันนี้ได้สั่งการไปแล้ว ให้ติดตามมาตรการ ว่ามีการป้องกันหรือไม่ เพราะฝุ่นละออง PM2.5 เกิดจากหลายส่วนไม่ใช่ภาครัฐอย่างเดียว ซึ่งทุกคนต้องร่วมกันความรับผิดชอบ และวันนี้ได้กำชับกระทรวงคมนาคมและการรถไฟ รวมถึงทุกกระทรวงที่เกี่ยวข้อง ปฏิบัติตามระเบียบการป้องกันฝุ่นละออง

ต่อกรณีที่มีการวิพากษ์วิจารณ์การทดลองใช้โดรนโปรยละอองน้ำจากอากาศเพื่อช่วยลดปัญหาฝุ่นละอองเกินค่ามาตรฐานนั้น พล.อ. ประยุทธ์ กล่าวว่าเป็นเพียงแค่การทดลอง อย่าเพิ่งติติงว่าจะได้ประโยชน์หรือหลอกลวง เพราะต้องทดลองว่าจะใช้สารโปรยกำจัดฝุ่นละอองในปริมาณเท่าใดจึงจะเหมาะสม ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างการวิจัยและพัฒนา

“ก็ได้รับการสนับสนุนจากสมาคมโดรน ทำการทดสอบในพื้นที่จำกัดระดับ ความสูงประมาณ 25 เมตร และเป็นระดับที่ฉีดน้ำไม่ถึง ซึ่งเท่าที่นำเครื่องมือวัดฝุ่นละอองของกรมควบคุมมลพิษ พบว่าปริมาณฝุ่นละอองลดลงมาก จึงต้องคิดต่อว่าจะใช้โดรนบินโปรยสารต่อได้หรือไม่ เพราะในต่างประเทศก็เคยใช้เหมือนกัน อย่าเพิ่งติติงว่าไม่ได้ ไม่ใช่ ทุกอย่างต้องมีการทดลอง” นายกรัฐมนตรีกล่าว

นอกจากนี้ พล.อ. ประยุทธ์ ยังกล่าวถึงการติดเครื่องรถยนต์รอในพื้นที่ราชการว่า ตนได้ย้ำไปในที่ประชุมคณะรัฐมนตรีว่า ข้าราชการไม่ต้องติดเครื่องยนต์รอนาน และรถของนายกรัฐมนตรีก็ได้สั่งไปแล้วว่าไม่ต้องติดเครื่องยนต์ เพราะมีกลิ่นเหม็น เปลืองน้ำมัน และทำให้เครื่องยนต์เสื่อมสภาพ ซึ่งตนได้ทำเป็นตัวอย่างแล้วด้วย ดังนั้นทุกคนก็ต้องช่วยกัน

อย่างไรก็ตาม มีรถหลายหลายประเภทที่ติดเครื่องไว้นานๆ เช่น รถแท็กซี่ รถสาธารณะ และรถขนส่งมวลชนทั้งหมด แต่หากจะต้องหยุดทั้งหมดก็คงเป็นไปไม่ได้ จึงต้องหามาตรการที่เหมาะสม และในระหว่างนี้ต้องไม่ติดเครื่องยนต์เร็วจนเกินไปก่อนออกเดินทาง และหากวันนี้กำหนดบทลงโทษก็จะยุ่งกันไปใหญ่ หากปฏิบัติไม่ได้ก็จะเดือดร้อนอีก และเมื่อวานนี้ตนเองได้ออกแถลงการณ์ไปแล้ว จึงขออย่าให้ใครมาบิดเบือนว่ารัฐบาลไม่ทำอะไรเลย

ชี้ปัญหาภาคใต้ไม่เกี่ยวปมศาสนา – กำชับคุมเข้ม พท.เสี่ยง

พล.อ. ประยุทธ์ ตอบคำถามกรณีที่ผู้ทรงคุณวุฒิสำนักจุฬาราชมนตรี นักวิชาการ และประชาชนมุสลิม ห่วงว่าสถานการณ์จังหวัดชายแดนภาคใต้จะถูกเข้าใจผิดว่าเป็นเรื่องของศาสนา และเกรงว่าสถานการณ์จะบานปลายแบบรัฐยะไข่ ประเทศพม่า ว่า อย่าเข้าใจผิด มันไม่ใช่เรื่องของความขัดแย้งทางศาสนา เพราะทางผู้แทนประเทศมุสลิมก็มาเยี่ยมเยือนหลายครั้ง จัดคณะทำงานไปดูและสอบถามประชาชนในพื้นที่ภาคใต้ เขาก็บอกว่า ไม่ใช่ความขัดแย้ง เรื่องนี้เป็นความขัดแย้งที่ไม่ใช่รูปแบบเดิมๆ ที่เกิดขึ้นในหลายประเทศ ฉะนั้นต้องไม่เอาหลายอย่างไปพันกัน

“สิ่งที่ผมอยากให้ความสำคัญก็คือสถานการณ์ในจังหวัดชายแดนภาคใต้ รัฐบาลไม่เคยนิ่งนอนใจในเรื่องเหล่านี้ จะเห็นได้ว่าช่วงนี้สถานการณ์รุนแรงขึ้นเพราะอะไร เนื่องจากเสถียรภาพทางการเมืองหรือเปล่า เป็นเรื่องเกี่ยวกับการเลือกตั้งอะไรหรือไม่ เกี่ยวข้องหรือไม่ ต้องไปดูให้ชัดเจน วันนี้ก็มีหลายกลุ่ม หลายฝ่ายที่ออกมาสร้างเหตุรุนแรงในขณะนี้เพื่อยกระดับตัวเองให้มีเกรดสูงขึ้น”

“ยังไม่ถึงตรงนั้น เราต้องไปไปเข้าล็อกของเขา เขาก็มีวิธีที่จะกดดันรัฐบาล จะทำให้ประชาชนตื่นตระหนก เพื่อไปสู่จุดมุ่งหมายที่เขาต้องการ เป็นสงครามทางความคิด เราก็อย่าเอาความคิดไปตกหลุมตรงนั้น วันนี้ได้กำชับไปหลายอย่างด้วยกัน เพราะจุดที่อ่อนไหว และพื้นที่เสี่ยง มีจำนวนมาก ทั้งวัด โรงเรียน เด็ก ครู สถานที่ประกอบธุรกิจทั้งหมด แม้กระทั่งฐานของทหารก็เสี่ยง เพราะถูกแวดล้อมไปด้วยประชาชนทั้งหมด ฉะนั้นต้องหามาตรการการข่าวที่เหมาะสม ระมัดระวังตัวเอง ระมัดระวังผู้ที่เข้ามาติดต่อราชการทุกอย่างต้องเข้มงวด ทั้งนี้ประชาชนในพื้นที่ก็ต้องร่วมมือด้วย” นายกรัฐมนตรีกล่าว

พล.อ. ประยุทธ์ ทิ้งท้ายว่า บางครั้งการกำหนดมาตรการออกมาก็ปฏิบัติได้ยาก เพราะประชาชนที่ไม่เดือดร้อนก็กลัวจะกระทบสิทธิ์ของเขา ดังนั้น หากต้องการสิทธิเสรีภาพมากที่สุด ความไม่ปลอดภัยก็เกิดขึ้นตามมา

เผยซ่อมบ้านผู้ประสบภัยพายุ “ปาบึก” เสร็จ 97%

พล.อ. ประยุทธ์ กล่าวถึงความคืบหน้าในการให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยจากพายุปาบึกว่า วันนี้รัฐบาลจำเป็นต้องแถลงชี้แจงให้ทราบในเรื่องสำคัญ คือ การซ่อมแซมบ้านเรือนที่ได้รับผลกระทบ ทั้งที่ต้องซ่อมทั้งหลังและบางส่วน มีจำนวนรวมกว่า 50,000 หลัง โดยปัจจุบันหน่วยงานต่างๆ ทั้ง พลเรือน ตำรวจ ทหาร อาชีวศึกษา ได้ดำเนินการซ่อมแซมไปแล้ว 97% เหลืออีกเพียง 2,000 หลัง คาดว่าจะแล้วเสร็จในเร็ววันนี้ ทั้งนี้รัฐบาลยังต้องติดตามมาตรการการช่วยเหลือในด้านอื่นๆ ไม่ว่าจะเป็นการดูแลคุณภาพชีวิต โดยเฉพาะพื้นที่ 22 จังหวัดชายทะเล

มติ ครม.มีดังนี้

นายพุทธิพงษ์ ปุณณกันต์ รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายการเมือง ปฏิบัติหน้าที่โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี และนายณัฐพร จาตุศรีพิทักษ์ ที่ปรึกษารัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ที่มาภาพ: www.thaigov.go.th

ตั้งอนุกรรมการ 3 ฝ่าย คุมราคาค่ารักษาพยาบาล

นายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ กล่าววา ครม.มีมติเห็นชอบการกำหนดสินค้าและบริการควบคุมตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยราคาสินค้าและบริการ พ.ศ.2542 ตามที่ประชุมคณะกรรมการกลางว่าด้วยราคาสินค้าและบริการ ซี่งประชุมเมื่อวันที่ 9 มกราคม 2562 โดยกำหนดเพิ่มรายการสินค้าและบริการควบคุมเพิ่ม 2 รายการ ได้แก่1) เวชภัณฑ์เกี่ยวกับการรักษาโรค (หมวดยารักษาโรคและเวชภัณฑ์) และ 2) บริการรักษาพยาบาล บริการทางการแพทย์ และบริการอื่นขอลสถานพยาบาลเกี่ยวกับการรักษาโรค (หมวดบริการ)

“แต่เนื่องจากการบริการทางการแพทย์มีลักษณะที่เฉพาะเจาะจงแตกต่างไปจากสินค้าโภคภัณฑ์อื่นๆ เช่น อาจจะมีความหลากหลายและไม่ได้มีราคาเดียว ทำให้คงไม่สามารถการควบคุมแบบราคาสูงสุดเหมือนสินค้าทั่วไปได้ ดังนั้น ครม.อนุมัติให้ตั้งอนุกรรมการการพิจารณาราคายาและเวชภัณฑ์ ค่ารักษาพยาบาล ประกอบจาก 3 ฝ่าย คือ รัฐ ประกอบด้วยตัวแทนจากกระทรวงพาณิชย์ กระทรวงสาธารณสุข กรมบัญชีกลาง สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ, เอกชน ประกอบด้วยสมาคมโรงพยาบาลเอกชน สมาคมประกันชีวิตไทย สมาคมประกันวินาศภัย และประชาชน ประกอบด้วยมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค และผู้ทรงคุณวุมิด้านเศรษฐศาสตร์ โดยหลักการจะเน้นหารือให้ความธรรมกับทั้ง 2 ฝ่ายคือผู้ประกอบการก็ต้องแข่งขันได้อยู่ได้ ขณะที่ประชาชนก็ต้องได้รับบริการที่ไม่แพงกว่าที่ควรจะเป็นเกินไป” นายสนธิรัตน์กล่าว

นายพุทธิพงษ์ ปุณณกันต์ รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายการเมือง ปฏิบัติหน้าที่โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่าสำหรับกรอบเวลาของการประชุมคณะอนุกรรมการอยู่ที่กระทรวงพาณิชย์จะพิจารณา แต่เบื้องต้นได้รายงานว่าจะรีบหารือให้เร็วที่สุด นอกจากนี้ ครม.ยังได้ยกเลิกรายการสืนค้าควบคุมอีก 4 รายการ ได้แก่ 1) เยื่อกระดาษ เนื่องจากภาวะการค้าปกติ ราคาค่อนข้างทรงตัว 2) แบตเตอรี่รถยนต์ เนื่องจากตลาดมีการแข่งขันสูง ผู้ผลิตมีการพัฒนาสินค้ารุ่นใหม่ออกสู่ตลาดอย่างต่อเนื่อง 3) เม็ดพลาสติก เนื่องจากมีผู้ผลิตหลายรายและตลาดมีการแข่งขันสูง จึงไม่มีปัญหาด้านกลไกราคา และ 4) น้ำตาลทราย เพื่อให้สอดคล้องกับกระทรวงอุตสาหกรรมที่ประกาศลอยตัวน้ำตาลทรายและปล่อยให้ราคาเป็นไปตามกลไกตลาด รวมทั้งตลาดมีการแข่งขันและปัจจุบันสถานการณ์สอดคล้องกับกลไกตลาด

นอกจากนี้ ครม.ยังมีมติให้คงรายการสินค้าและบริการควบคุมอีก 50 รายการ แบ่งเป็นสินค้า 45 รายการ และบริการ 5 รายการ โดยปรับเพิ่มข้อความรายการสินค้าควบคุม 1 รายการ ได้แก่ ข้าวสาลีเป็นข้าวสาลีและข้าวบาร์เลย์ เพื่อใป้องกันไม่ให้ส่งผลกระทบต่อสถานการณ์ราคาข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ภายในประเทศที่ผู้ประกอบการนำเข้าข้าวบาร์เลย์มากขึ้น

ผ่านร่าง กม.ลดหย่อนภาษี – บริจาคเงินหนุนป่าชุมชน

นายณัฐพร จาตุศรีพิทักษ์ ที่ปรึกษารัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ครม.มีมติอนุมัติหลักการร่างพระราชกฤษฎีกาออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร (ฉบับที่ ..) พ.ศ. …. (มาตรการภาษีเพื่อส่งเสริมการดำเนินโครงการภาคีสนับสนุนป่าชุมชนลดโลกร้อน) เพื่อส่งเสริมให้ภาคเอกชนและประชาชนได้เข้ามามีส่วนร่วมในการสนับสนุนป่าชุมชน และเพื่อเพิ่มศักยภาพการดำเนินงานของป่าชุมชนในบทบาทการดูดซับก๊าซเรือนกระจก

รวมทั้งส่งเสริมความเป็นอยู่ที่ดีของชุมชนอย่างยั่งยืน และมีเป้าหมายในการจัดตั้งป่าชุมชนที่อยู่รอบป่าสงวนแห่งชาติในรัศมี 5 กิโลเมตร จำนวน 21,850 หมู่บ้าน พื้นที่ประมาณ 19.1 ล้านไร่ และปัจจุบันมีป่าชุมชนที่ได้รับการอนุมัติจัดตั้งแล้วภายใต้การสนับสนุนจากงบประมาณหมวดเงินอุดหนุน ในการบริหารจัดการป่าชุมชน จำนวน 4,658 หมู่บ้าน พื้นที่ 3.55 ล้านไร่ และมีป่าชุมชนที่ยังไม่ได้รับเงินอุดหนุนและภาคเอกชนจะให้การสนับสนุน จำนวน 4,149 หมู่บ้าน พื้นที่ 1.55 ล้านไร่ โดยสนับสนุนหมู่บ้านละ 100,000 บาท ตลอดโครงการรวมเป็นเงิน 415 ล้านบาท

กระทรวงการคลังจึงเสนอให้สิทธิประโยชน์ทางภาษีแก่ผู้ให้การสนับสนุนโครงการภาคีสนับสนุนป่าชุมชนลดโลกร้อน โดยกำหนดให้บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่บริจาคเงินเพื่อสนับสนุนโครงการภาคีสนับสนุนป่าชุมชนลดโลกร้อน สามารถนำเงินบริจาคมาหักเป็นรายจ่ายได้ตามที่จ่ายจริง แต่ไม่เกินร้อยละ 2 ของกำไรสุทธิ ทั้งนี้ สำหรับการบริจาคที่ได้กระทำตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2561 ถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2565 อนึ่ง กระทรวงการคลังประมาณการการสูญเสียรายได้ว่าการดำเนินโครงการภาคีสนับสนุนป่าชุมชนลดโลกร้อนมีแผนการใช้งบประมาณจากภาครัฐปีละ 90 ล้านบาท ขณะที่การกำหนดสิทธิประโยชน์ทางภาษีโดยให้ภาคเอกชนลงทุนดำเนินการปลูกป่าโดยการบริจาคมีผลทำให้จัดเก็บภาษีลดลงประมาณปีละ 18 ล้านบาท โดยจะเป็นการช่วยทดแทนและประหยัดเงินงบประมาณของภาครัฐที่ต้องดำเนินการปีละ 72 ล้านบาท

สำหรับเงื่อนไขอื่นๆ ประกอบด้วย 1) บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลผู้ให้การสนับสนุนต้องลงนามในบันทึกความร่วมมือโครงการ “ภาคีสนับสนุนป่าชุมชนลดโลกร้อน” และดำเนินการตามแนวทางของโครงการ 2) ต้องสนับสนุนโครงการเป็นจำนวนไม่ต่ำกว่าหมู่บ้านละ 100,000 บาท โดยบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลสามารถให้การสนับสนุนได้มากกว่า 1 หมู่บ้าน และ 3) ผู้บริจาคจะต้องมีหลักฐานใบเสร็จรับเงินจากกรมป่าไม้ โดยระบุว่า เพื่อใช้สนับสนุนการดำเนินโครงการ “ภาคีสนับสนุนป่าชุมชนลดโลกร้อน” ชื่อป่าชุมชนที่ให้การสนับสนุนและปีที่ดำเนินการ ซึ่งสอดคล้องกับบันทึกความร่วมมือโครงการที่ได้ร่วมกันลงนามไว้แล้ว

ยกเว้นภาษีเงินได้ – เงินบริจาค “กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา”

นายณัฐพรกล่าวว่า ครม. มีมติอนุมัติหลักการร่างพระราชกฤษฎีกาออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร (ฉบับที่ ..) พ.ศ. …. (มาตรการภาษีเพื่อสนับสนุนการบริจาคให้แก่กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา) กำหนดให้ยกเว้นภาษีเงินได้ให้แก่บุคคลธรรมดาและบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลสำหรับการบริจาคเงินหรือทรัพย์สินให้แก่กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา ดังนี้

1) บุคคลธรรมดา ให้หักลดหย่อนได้เป็นจำนวน 2 เท่าของจำนวนเงินที่บริจาค แต่เมื่อรวมกับค่าใช้จ่ายเพื่อสนับสนุนการศึกษาสำหรับโครงการที่กระทรวงศึกษาธิการให้ความเห็นชอบแล้วต้องไม่เกินร้อยละ 10 ของเงินได้พึงประเมินหลังจากหักค่าใช้จ่ายและหักลดหย่อนอื่นๆ

2) บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล ให้หักเป็นรายจ่ายได้เป็นจำนวน 2 เท่าของรายจ่ายที่บริจาค ไม่ว่าจะได้จ่ายเป็นเงินหรือทรัพย์สิน แต่เมื่อรวมกับรายจ่ายที่จ่ายเป็นค่าใช้จ่ายเพื่อสนับสนุนการศึกษาสำหรับโครงการที่กระทรวงศึกษาธิการให้ความเห็นชอบ และรายจ่ายที่จ่ายเป็นค่าใช้จ่ายในการจัดสร้างและการบำรุงรักษาสนามเด็กเล่น สวนสาธารณะ หรือสนามกีฬาของเอกชน ที่เปิดให้ประชาชนใช้เป็นการทั่วไปโดยไม่เก็บค่าบริการใดๆ หรือสนามเด็กเล่น สวนสาธารณะ หรือสนามกีฬาของทางราชการแล้ว ต้องไม่เกินร้อยละ 10 ของกำไรสุทธิก่อนหักรายจ่ายเพื่อการกุศลสาธารณะหรือเพื่อการสาธารณประโยชน์ และรายจ่ายเพื่อการศึกษาหรือเพื่อการกีฬา

ทั้งนี้ สำหรับการบริจาคที่กระทำตั้งแต่วันที่ 14 พฤษภาคม 2561 ถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2563 และกระทรวงการคลังคาดว่ามาตรการภาษีในเรื่องนี้จะมีผลทำให้การจัดเก็บภาษีลดลงตลอดระยะเวลาการให้สิทธิประโยชน์ทางภาษีประมาณ 45 ล้านบาท โดยจะเป็นการช่วยทดแทนเงินสนับสนุนให้แก่เด็กและเยาวชน ครูอาจารย์และโรงเรียนที่ขาดแคลนทุนทรัพย์ ซึ่งจะมีส่วนช่วยลดภาระการจัดสรรงบประมาณรายจ่ายของรัฐบาลในการสนับสนุนเงินเพื่อสร้างความเสมอภาคทางการศึกษา

อนุมัติสินเชื่อรวบรวมข้าวโพด 1,500 ล้าน – จัดงบฯชดเชยดอก ธ.ก.ส. 45 ล้าน

นายณัฐพรกล่าวว่า ครม.มีมติอนุมัติแนวทางการช่วยเหลือเกษตรกรผู้ปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ปี 2561/62 โครงการสินเชื่อเพื่อรวบรวมข้าวโพดเลี้ยงสัตว์และสร้างมูลค่าเพิ่มโดยสถาบันเกษตรกร ปี 2561/62 โดยมีเป้าหมายสนับสนุนสินเชื่อแก่สถาบันเกษตรกรเพื่อรวบรวมหรือรับซื้อและสร้างมูลค่าเพิ่มข้าวโพดเลี้ยงสัตว์จากเกษตร วงเงินสินเชื่อ 1,500 ล้านบาท ระยะเวลาโครงการ ตั้งแต่วันที่ 1 ธันวาคม 2561 ถึงวันที่ 30 มิถุนายน 2563 โดยใช้เงินทุนธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) คิดดอกเบี้ยเงินกู้ตามโครงการ ในอัตราร้อยละ 4 ต่อปี โดยคิดจากสถาบันเกษตรกรในอัตราร้อยละ 1 ต่อปี และรัฐบาลชดเชยดอกเบี้ยแก่ ธ.ก.ส. ในอัตราร้อยละ 3 ต่อปี หรือคิดเป็นเงิน 45 ล้านบาทตลอดโครงการ เป็นระยะเวลาไม่เกิน 12 เดือน นับแต่วันรับเงินกู้ และตั้งแต่วันถัดจากวันครบกำหนดระยะเวลาชำระคืนเงินกู้เป็นต้นไป

โดยสถาบันเกษตรกรจะต้องรับภาระดอกเบี้ยเองในอัตรา MLR บวกตามชั้นความเสี่ยงของสถาบันเกษตรกรแต่ละแห่ง (ปัจจุบัน MLR เท่ากับร้อยละ 5 ต่อปี) สำหรับการคืนเงินกู้กำหนดระยะเวลาจ่ายเงินตั้งแต่วันที่ 1 ธันวาคม 2561 ถึงวันที่ 30 มิถุนายน 2562 และกำหนดชำระคืนเงินกู้ ไม่เกิน 12 เดือน นับแต่วันที่รับเงินกู้ ทั้งนี้ ต้องชำระหนี้ให้เสร็จสิ้นไม่เกินวันที่ 31 พฤษภาคม 2563 และระยะเวลาชดเชยดอกเบี้ยไม่เกิน 12 เดือน นับแต่วันที่รับเงินกู้

อนึ่ง สถานการณ์ตลาดข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ในปี 2561/2562 คาดว่าจะมีผลผลิต 5 ล้านตัน ขณะที่มีความต้องการ 8.25 ล้านตัน ดังนั้นโครงการดังกล่าวจึงมีวัตถุประสงค์เพื่อช่วยดูดซับปริมาณผลผลิตข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ในช่วงที่ผลผลิตออกมาก ตลอดจนเป็นการส่งเสริมการทำธุรกรรมระหว่างสมาชิกและสถาบันเกษตรกรตามเจตนารมณ์ของการก่อตั้งสถาบันเกษตรกร รวมทั้งเพื่อสร้างความเข้มแข็งให้กับสถาบันเกษตรกรในการดำเนินธุรกิจข้าวโพดเลี้ยงสัตว์และเพิ่มทางเลือกให้เกษตรกรได้มีแหล่งรับซื้อผลผลิตที่หลากหลายยิ่งขึ้นจากเดิมที่แหล่งรับซื้อส่วนใหญ่จะเป็นประกอบการเอกชน

แจงความคืบหน้ามาตรการช่วยเหลือชาวไร่มันสำปะหลัง 7 โครงการ

นายณัฐพร กล่าวว่า ครม.มีมติรับทราบสถานการณ์การผลิตและการตลาดสินค้ามันสำปะหลัง ปี 2561/62 มาตรการและแนวทางป้องกันการแพร่ระบาดของโรคไวรัสใบด่างมันสำปะหลัง และแผนการดำเนินงานตามแนวทางการบริหารจัดการมันสำปะหลัง ปีการผลิต 2561/62 จำนวน 7 โครงการ แบ่งเป็นโครงการของกระทรวงพาณิชย์จำนวน 4 โครงการ วงเงินรวม 18.324 ล้านบาท ซึ่งอยู่ในกรอบวงเงินงบประมาณอยู่แล้ว และโครงการของธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตรและวงเงินงบประมาณที่ใช้ดำเนินโครงการปี 2561/62 จำนวน 3 โครงการ วงเงินรวมทั้งสิ้น 114 ล้านบาท รายละเอียดดังนี้

โครงการของกระทรวงพาณิชย์

1) โครงการสนับสนุนเครื่องสับมันสำปะหลังขนาดเล็กเพื่อเพิ่มศักยภาพการแปรรูปมันสำปะหลัง จัดสรรเงินจากกองทุนรวมเพื่อช่วยเหลือเกษตรกร 10 ล้านบาท 2) โครงการขยายโอกาสทางการค้าและพัฒนาศักยภาพผู้ส่งออกผลิตภัณฑ์มันสำปะหลัง จัดสรรเงินจากกองทุนรวมเพื่อช่วยเหลือเกษตรกร 2 ล้านบาท 3) โครงการกำกับดูแลการนำเข้ามันสำปะหลังจากประเทศเพื่อนบ้าน จัดสรรเงินจากกองทุนรวมเพื่อช่วยเหลือเกษตรกร 6.324 ล้านบาท 4) โครงการยกระดับคุณภาพมาตรฐานผลิตภัณฑ์ มันสำปะหลังให้สอดคล้องกับความต้องการของตลาด (มันเส้นสะอาด) โครงการของกระทรวงพาณิชย์ที่ไม่ขอรับจัดสรรงบประมาณ

โครงการของ ธ.ก.ส.

5) โครงการเพิ่มประสิทธิภาพการเพาะปลูกมันสำปะหลังในระบบน้ำหยด (ธ.ก.ส.) วงเงินสินเชื่อ 1,150 ล้านบาท วงเงินที่ขอรับจัดสรรชดเชยดอกเบี้ย 69 ล้านบาท จำนวนเป้าหมาย 5,000 ราย รายละประมาณ 14,000 บาท ดอกเบี้ย 4% ระยะเวลาชำระคืน 5 ปี 6) โครงการสินเชื่อเพื่อรวบรวมมันสำปะหลังและสร้างมูลค่าเพิ่มโดยสถาบันเกษตรกร (ธ.ก.ส.) วงเงินสินเชื่อ 1,500 ล้านบาท ดอกเบี้ย MLR-1% และขอรับจัดสรรเงินชดเชยดอกเบี้ยจากรัฐบาล 45 ล้านบาท และ 7) โครงการสินเชื่อเพื่อเป็นค่าใช้จ่ายฉุกเฉินสำหรับเกษตรกรผู้ปลูกมันสำปะหลัง (ธ.ก.ส.) วงเงินสินเชื่อรวม 2,000 ล้านบาท หรือรายละ 20,000 บาท ดอกเบี้ย 6% ต่อปี โดยโครงการนี้ไม่ขอรับจัดสรรงบประมาณชดเชยดอกเบี้ย

ไฟเขียวกฎกระทรวงแก้นิยามธุรกิจ SMEs

นายณัฐพรกล่าวว่า ครม.มีมติเห็นชอบร่างกฎกระทรวงว่าด้วยการกำหนดจำนวนการจ้างงานหรือรายได้ของวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม พ.ศ. …. โดยกำหนดนิยามวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมใหม่ให้ใช้จำนวนการจ้างงานและรายได้ของกิจการเป็นเกณฑ์ในการกำหนดขนาดกิจการ จากเดิมที่ใช้จำนวนการจ้างงานและสินทรัพย์ถาวรเป็นเกณฑ์ และแบ่งประเภทกิจการเป็นกิจการผลิตสินค้า กิจการให้บริการและการค้า จากเดิมที่แยกเป็นการผลิตสินค้า การบริการ การค้าส่ง และการค้าปลีก ดังนี้

    1) วิสาหกิจรายย่อย มีจำนวนแรงงาน 1-5 คน และมีรายได้ไม่เกิน 1.8 ล้านบาทต่อปี ทั้งกิจการผลิตสินค้าและกิจการบริการและการค้า

    2) วิสาหกิจขนาดย่อม สำหรับกิจการผลิตสินค้า มีจำนวนแรงงาน 6-50 คน และมีรายได้ 1.8-100 ล้านบาทต่อปี สำหรับกิจการบริการและการค้า มีจำนวนแรงงาน 6-30 คน และมีรายได้ 1.8-50 ล้านบาทต่อปี

    3) วิสาหกิจขนาดกลาง สำหรับกิจการผลิตสินค้า มีจำนวนแรงงาน 51-200 คน และมีรายได้ 100-500 ล้านบาทต่อปี สำหรับกิจการบริการและการค้า มีจำนวนแรงงาน 31-100 คน และมีรายได้ 50-300 ล้านบาทต่อปี

อนึ่ง ในกรณีที่จำนวนการจ้างงานเข้าลักษณะของวิสาหกิจขนาดหนึ่ง แต่จำนวนรายได้เข้าลักษณะของวิสาหกิจอีกขนาดหนึ่ง ให้ถือจำนวนการจ้างงานหรือรายได้ที่มากกว่าเป็นเกณฑ์ในการพิจารณา และจำนวนการจ้างงานให้พิจารณาจากหลักฐานแสดงจำนวนการจ้างงานที่ได้จัดทำขึ้นตามที่กฎหมายกำหนด ส่วนรายได้ให้พิจารณาจากรายได้รวมที่ระบุไว้ในงบการเงินปีล่าสุดที่นำส่งต่อทางราชการหรือที่มีเอกสารบัญชีแสดงรายได้

อนุมัติงบกลาง 448 ล้าน พัฒนาระเบียงเศรษฐกิจภาคใต้ 5 โครงการ

นายณัฐพรกล่าวว่า ครม.มีมติเห็นชอบในหลักการศึกษาความเหมาะสมในรายละเอียดของรูปแบบการพัฒนาพื้นที่จังหวัดชุมพร-ระนอง และพื้นที่จังหวัดสุราษฎร์ธานี-นครศรีธรรมราช สำหรับการพัฒนาพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจภาคใต้อย่างยั่งยืน หรือ Southern Economic Corridor (SEC) ภายใต้กรอบการพัฒนา 4 ด้าน ได้แก่ 1) การพัฒนาประตูการค้าฝั่งตะวันตก 2) การพัฒนาประตูสู่การท่องเที่ยวอ่าวไทยและอันดามัน 3) การพัฒนาอุตสาหกรรมฐานชีวภาพและการแปรรูปการเกษตรมูลค่าสูง และ 4) การอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ การส่งเสริมวัฒนธรรม และการพัฒนาเมืองน่าอยู่ ประกอบด้วยโครงการจำนวนรวม 116 โครงการ กรอบวงเงินปี 2562-2565 รวม 106,790 ล้านบาท โดยมอบหมายให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินศึกษาความเป็นไปได้ของโครงการภายใน 2 ปี และขอรับการจัดสรรงบประมาณให้เป็นไปตามกรอบการพัฒนาดังกล่าวต่อไป

นอกจากนี้ ครม.ยังอนุมัติงบกลาง ปี 2562 รายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น สำหรับดำเนินโครงการจำเป็นเร่งด่วน (quick-win) รวม 5 โครงการ วงเงิน 448.7 ล้านบาท ประกอบด้วย 1) โครงการพัฒนาแหล่งท่องเที่ยวบนเกาะพยาม จ.ระนอง ใช้งบประมาณ 132.8 ล้านบาท 2) โครงการป่าชายเลนระนองสู่มรดกโลก ใช้งบประมาณ 88.5 ล้านบาท 3) โครงการสนับสนุนการแปรรูปสมุนไพรแบบครบวงจร จ.ชุมพร และสุราษฎร์ธานี ใช้งบประมาณ 194.6 ล้านบาท 4) โครงเฝ้าระวังภาวะฉุกเฉิน เพื่อเตรียมความพร้อมในการสร้างความเข้มแข็งด้านบริการดูแลสุขภาพผู้สูงอายุ สู่ไทยแลนด์ 4.0 ของเทศบาลเมืองชุมพร ใช้งบประมาณ 12.6 ล้านบาท และ 5) โครงการศึกษาการจัดตั้งศูนย์ความเชี่ยวชาญการวิจัยเชิงพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจภาคใต้ ของจังหวัดชุมพร ระนอง สุราษฎร์ธานี และนครศรีธรรมราช ใช้งบประมาณ 20 ล้านบาท

ทั้งนี้ มีการประเมินว่าการพัฒนา SEC จะช่วยให้เศรษฐกิจหรือจีดีพีในพื้นที่ดังกล่าวขยายตัวได้เฉลี่ยอย่างน้อยปีละ 5% ในช่วง 10 ปีแรกของการพัฒนา และคาดว่าจะมีจำนวนนักท่องเที่ยวเพิ่มขึ้น 1.2 ล้านคนต่อปี มีการลงทุนในภาคอุตสาหกรรม เพิ่มขึ้นประมาณ 200,000 ล้านบาทในช่วง 10 ปีแรก ส่วนผลทางด้านโครงสร้างพื้นฐานและโลจิสติกส์นั้นคาดว่า SEC จะเป็นประตูเศรษฐกิจทางฝั่งตะวันตกของประเทศ มีการเชื่อมโยงโครงสร้างพื้นฐานทั้งทางบก ทางน้ำ และทางอากาศ เพื่อรองรับกิจกรรมทางเศรษฐกิจในพื้นที่ และเชื่อมโยงกับ EEC ได้ ช่วยลดต้นทุนการขนส่งและระบบโลจิสติกส์ โดยลดระยะเวลาการขนส่งสินค้าทางเรือจากไทยไปเอเชียใต้ลงได้ครึ่งหนึ่งจากเดิมที่จะต้องขนส่งผ่านท่าเรือแหลมฉบังไปยังท่าเรือเชนไนของอินเดีย ใช้เวลา 9-15 วัน ซึ่งเมื่อมาใช้ท่าเรือระนองจะสามารถลดลงเหลือเพียง 4-7 วันเท่านั้น

ปรับโครงสร้างหนี้รถไฟฟ้าสีม่วง – ประหยัดดอกเบี้ยพันล้าน

นายพุทธิพงษ์กล่าวว่า ครม.มีมติทบทวนมติคณะรัฐมนตรี เรื่อง การปรับโครงสร้างหนี้ต่างประเทศสำหรับโครงการรถไฟฟ้าสายสีม่วง ช่วงบางใหญ่-บางซื่อ ของการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) โดยเดิม ครม.มีมติเมื่อวันที่ 18 มีนาคม 2551 อนุมัติให้ รฟม.กู้เงินจากองค์การความร่วมมือระหว่างประเทศญี่ปุ่น หรือ JICA ซึ่ง ณ กันยายน 2561 มีหนี้คงค้างรวม 172,578.51 ล้านเยน ซึ่งได้ปรับโครงสร้างหนี้ต่างประเทศเพื่อปิดความเสี่ยงด้วยวิธี Cross Currency Swap หรือ CCS ไปแล้ว 111,290.09 ล้านเบย คงเหลือหนี้ที่ไม่ได้บริหารความเสี่ยงอีก 61,288.42 ล้านเยน โดยแบ่งเป็น 2 สัญญา ได้แก่ 1) สัญญาที่ TXXX-1 คงเหลือยอดหนี้ 45,999 ล้านเยน ระยะเวลาชำระคืนคงเหลือเฉลี่ย 7 ปี และสัญญาที่ TXXXII-3 คงเหลือยอดหนี้ 15,290 ล้านเยน ระยะเวลาชำระคืนคงเหลือเฉลี่ย 8.5 ปี

ทั้งนี้ กระทรวงคลังได้คำนวณเปรียบทางเลือกในการบริหารความเสี่ยงระหว่างต้นทุนการแปลงหนี้เงินกู้สกุลเยนเป็นเงินบาทด้วยวิธี CCS เทียบกับการกู้เงินบาทภายในประเทศไปชำระคืนก่อนกำหนดและเปลี่ยนให้เป็นหนี้สกุลเงินบาท พบว่าหนี้ในสัญญาแรกการใช้วิธี CCS มีต้นทุนสูงกว่า 1.55% (ต้นทุนดอกเบี้ยจากวิธี CCS 4.14% เทียบกับดอกเบี้ยเงินกู้ภายในประเทศ 2.59%) และหนี้ในสัญญาที่สองการใช้วิธี CCS จะมีต้นทุนสูงกว่า 1.45% (ต้นทุนดอกเบี้ยจากวิธี CCS 4.16% เทียบกับดอกเบี้ยเงินกู้ภายในประเทศ 2.71%) ดังนั้นกระทรวงการคลังจึงเห็นควรให้ปรับโครงสร้างหนี้เงินกู้กลับมาเป็นสกุลเงินบาทด้วยการไปกู้เงินบาทภายในประเทศเพื่อนำไปชำระหนี้กับ JICA ก่อนกำหนด

“ส่วนจำนวนดอกเบี้ยที่ประหยัดลงไปได้นั้นไม่ได้มีการคำนวณชัดเจนในรายงานของ ครม. แต่นายอภิศักดิ์ ตันติวรวงศ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังได้รายงานใน ครม.ว่าน่าจะประมาณพันล้านบาท” นายพุทธิพงษ์กล่าว

ธอส.ปรับโครงสร้างแหล่งทุน – ออกพันธบัตรใหม่ 12,000 ล้าน

นายพุทธิพงษ์กล่าวว่า ครม.มีมติอนุมัติให้ธนาคารอาคารสงเคราะห์ (ธอส.) กู้เงินสำหรับปีงบประมาณ 2562 โดยการออกพันธบัตรวงเงินรวมไม่เกิน 30,600 ล้านบาท แบ่งเป็น 1) การกู้เงินโดยการออกพันธบัตรใหม่ จำนวน 12,000 ล้านบาท และ 2) การกู้เงินโดยการออกพันธบัตรเพื่อทดแทนพันธบัตรเดิมที่ครบกำหนด (roll-over) จำนวน 18,600 ล้านบาท เพื่อปรับสัดส่วนเงินทุนระยะสั้นและระยะยาวของ ธอส.ให้มีความเหมาะสม อันเป็นการเสริมสภาพคล่องจากปัญหาความไม่สัมพันธ์กันระหว่างอายุของหนี้สินและสินทรัพย์ (maturity mismatch) และความเสี่ยงด้านอัตราดอกเบี้ยในการดำรงเงินรับฝาก

ทั้งนี้ การกู้เงินดังกล่าวจะสามารถช่วยสนับสนุนการขยายตัวของสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัยให้กับผู้ที่มีรายได้น้อยและปานกลางตามพันธกิจของ ธอส.ได้มากยิ่งขึ้น ซึ่งเป็นไปตามแผนการจัดหาแหล่งเงินทุนและการปรับสมดุลโครงสร้างเงินทุนในระยะยาวของ ธอส.ตามที่คณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (คนร.) ได้เห็นชอบไว้เมื่อวันที่ 17 กรกฎาคม 2560 และคณะรัฐมนตรีได้มีมติเมื่อวันที่ 17 ตุลาคม 2560 รับทราบด้วยแล้ว

ต่ออายุประทานบัตรเหมืองแร่หินอุตสาหกรรม

รายงานข่าวจากสำนักโฆษก สำนักเลขาธิการนานกรัฐมนตรี ระบุว่า ครม.มีมติอนุมัติผ่อนผันให้บริษัท ปูนซีเมนต์นครหลวง จำกัด (มหาชน) ใช้ประโยชน์พื้นที่ลุ่มน้ำชั้นที่ 1 เอ เพื่อต่ออายุประทานบัตรทำเหมืองแร่หินอุตสาหกรรม ชนิดหินปูนเพื่ออุตสาหกรรมปูนซีเมนต์และเพื่ออุตสาหกรรมก่อสร้าง ตามคำขอต่ออายุประทานบัตร ที่ 1 – 4/2553 รวม 4 แปลง ตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 21 กุมภาพันธ์ 2538 ตามที่กระทรวงอุตสาหกรรมเสนอ ซึ่งพื้นที่คำขอต่ออายุประทานบัตรดังกล่าวเป็นที่นิคมสร้างตนเองพระพุทธบาท จังหวัดสระบุรี กรมพัฒนาสังคมและสวัสดิการอนุญาตให้เข้าทำประโยชน์ในพื้นที่แล้ว และบริษัทฯ ได้ยื่นคำขออนุญาตเข้าทำประโยชน์ในเขตพื้นที่ป่าไม้ด้วยแล้วและเป็นที่ดินมีสิทธิครอบครอง ของผู้ขอเอง รวมทั้งไม่เป็นแหล่งธรรมชาติอันควรอนุรักษ์ ไม่เป็นพื้นที่ต้องห้ามสำหรับการทำเหมือง

ทั้งนี้ พื้นที่ดังกล่าวเป็นพื้นที่ประทานบัตรเดิมที่เคยได้รับประทานบัตรมาแล้วและได้ยื่นไว้ก่อนวันที่พระราชบัญญัติแร่ พ.ศ.2560 จะมีผลบังคับใช้ ประกอบกับกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมได้ให้ความเห็นชอบแล้วและเห็นว่าพื้นที่คำขอต่ออายุประทานบัตรทั้ง 4 แปลง เป็นเขตแหล่งแร่เพื่อการทำเหมืองตามยุทธศาสตร์การบริหารจัดการแร่ 20 ปี (พ.ศ.2560-2579) และแผนแม่บทการบริหารจัดการแร่ พ.ศ.2560-2564 ด้วย

นอกจากนี้ ครม.มีมติอนุมัติผ่อนผันการใช้ประโยชน์พื้นที่ลุ่มน้ำ ชั้นที่ 1 บี เพื่อทำเหมืองแร่ ตามคำขอประทานบัตรที่ 39/2551 ของบริษัท หินอ่อน จำกัด ที่จังหวัดสระบุรี ตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 15 พฤษภาคม 2533 และวันที่ 21 กุมภาพันธ์ 2538 ซึ่งพื้นที่คำขออยู่ในพื้นที่ลุ่มน้ำชั้นที่ 1 บี ของลุ่มน้ำป่าสักและเป็นพื้นที่ป่าไม้ โดยบริษัท หินอ่อน จำกัด ได้ยื่นคำขออนุญาตเข้าทำประโยชน์ในเขตพื้นที่ป่าไม้แล้ว โดยพื้นที่ไม่เป็นแหล่งธรรมชาติอันควรอนุรักษ์ ไม่เป็นพื้นที่ต้องห้ามสำหรับการทำเหมือง ตามระเบียบและกฎหมายของส่วนราชการต่างๆ การปิดประกาศการขอประทานบัตร ไม่มีผู้ร้องเรียนคัดค้าน รวมทั้งสำนักงานเทศบาลตำบลทับกวางได้แจ้งความเห็นชอบในการขอประทานบัตร และคณะกรรมการผู้ชำนาญการพิจารณารายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม ด้านเหมืองแร่และอุตสาหกรรมถลุงหรือแต่งแร่ ได้ให้ความเห็นชอบกับรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อมของโครงการแล้ว เมื่อวันที่ 12 พฤศจิกายน 2556 โดยพื้นที่คำขอประทานบัตรเป็นเขตแหล่งแร่เพื่อการทำเหมือง ตามยุทธศาสตร์การบริหารจัดการแร่ 20 ปี (พ.ศ.2560-2579) และแผนแม่บทการบริหารจัดการแร่ พ.ศ.2560-2564 เช่นเดียวกัน

เพิ่มอำนาจรักษาการรัฐวิสหากิจ 3 แห่ง

รายงานข่าวจากสำนักโฆษก สำนักเลขาธิการนานกรัฐมนตรี ระบุว่า ครม.มีมติเห็นชอบร่างพระราชกฤษฎีกาจัดตั้งองค์การสวนพฤกษศาสตร์ (ฉบับที่ ..) พ.ศ. …. ร่างพระราชกฤษฎีกาจัดตั้งองค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ (ฉบับที่ ..) พ.ศ. …. และร่างพระราชกฤษฎีกาจัดตั้งสถาบันการบินพลเรือน (ฉบับที่ ..) พ.ศ. …. รวม 3 ฉบับ โดยมีสาระสำคัญเพื่อกำหนดให้ผู้รักษาการแทนผู้อำนวยการหรือผู้ว่าการของรัฐวิสาหกิจทั้ง 3 แห่งมีอำนาจหน้าที่อย่างเดียวกับผู้อำนวยการหรือผู้ว่าการ

รับทราบข้อเสนอ ป.ป.ช. ป้องกันทุจริต “จีทูจี”

นายพุทธิพงษ์กล่าวว่า ที่ประชุม ครม.มีมติรับทราบข้อเสนอแนะของคณะกรรมการ ป.ป.ช.ในมาตรการป้องกันการทุจริต กรณีการค้าระหว่างประเทศ จากโครงการรับจำนำข้าวและระบายข้าวแบบรัฐต่อรัฐ (จีทูจี) เนื่องจากโครงการระบายข้าวแบบจีทูจีของรัฐบาลก่อน มีการทุจริต ผิดระเบียบการค้าระหว่างประเทศ สร้างความเสียหายให้ประเทศอย่างร้ายแรง โดยด้านนโยบาย ป.ป.ช.มีข้อเสนอโดยสรุปดังนี้

  1. รัฐต้องมีนโยบายชัดเจน มุ่งเน้นช่วยเหลือเกษตรกร เพื่อให้ได้ผลผลิตที่มีปริมาณและคุณภาพสูง สามารถช่วยเหลือสินค้าเกษตรให้มีราคาสูงขึ้น โดยใช้กลไกของการเพิ่มตลาดและลดต้นทุนการผลิต
  2. ให้ดำเนินการระบายข้าวแบบจีทูจีเท่าที่จำเป็น โดยยึดหลักประสิทธิภาพ ประสิทธิผลและกลุ่มเป้าหมายให้ชัดเจน คำนึงถึงต้นทุนและผลประโยชน์ของนโยบาย โดยเฉพาะภาระทางการคลัง ฯลฯ
  3. ควรให้ข้าราชการประจำของกระทรวงพาณิชย์ทำหน้าที่ประธานอนุกรรมการพิจารณาระบายข้าว และเปิดรายงานการประชุมคณะอนุกรรมการพิจารณาระบายข้าวต่อสาธารณะ และยังให้กรมการค้าต่างประเทศกำหนดระเบียบ หลักเกณฑ์หรือคู่มือเพื่อใช้อ้างถึงความจำเป็นและความเหมาะสมในการกำหนดให้มีการระบายข้าวแบบจีทูจี
  4. วิธีการระบายข้าว ควรให้กรมการค้าระหว่างประเทศพิจารณาระบายข้าวด้วยวิธีอื่น เช่น การระบายข้าวให้บริษัทเอกชนในประเทศอย่างโปร่งใส
  5. ขั้นตอนการพิจารณาสัญญาก่อนลงนามในสัญญาระบายข้าว ให้กรมการค้าต่างประเทศจัดทำสัญญามาตรฐานเกี่ยวกับการค้าระหว่างประเทศแบบจีทูจี โดยคำนึงถึงการตรวจสอบคู่สัญญาเกี่ยวกับสถานะเป็นตัวแทนของรัฐบาลกลางที่ได้รับมอบหมายเป็นลายลักษณ์อักษรเท่านั้น วิธีการส่งมอบข้าว ไม่ควรส่งมอบข้าวแบบหน้าคลังสินค้า
  6. ควรกำหนดวิธีการควบคุมเพื่อให้มีการส่งออกไปต่างประเทศจริง วิธีการชำระเงิน ควรชำระผ่านทางธนาคาร โดยวิธีเปิด letter of credit (L/C)
  7. การเปิดเผยข้อมูลการขายข้าวแบบจีทูจีให้สาธารณชนทราบ ฯลฯ

อ่าน มติ ครม. ประจำวันที่ 22 มกราคม 2562 เพิ่มเติม