ThaiPublica > เกาะกระแส > ในหลวงรัชกาลที่ 10ให้ดูแลผู้เข้าร่วมพระราชพิธีฯ-ประสบอุทกภัยให้ดี มติ ครม. อนุมัติแผนพีพีพี 55 โครงการ 1.6 ล้านล้าน

ในหลวงรัชกาลที่ 10ให้ดูแลผู้เข้าร่วมพระราชพิธีฯ-ประสบอุทกภัยให้ดี มติ ครม. อนุมัติแผนพีพีพี 55 โครงการ 1.6 ล้านล้าน

25 ตุลาคม 2017


พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้า คสช.
ที่มาภาพ: http://www.thaigov.go.th/

เมื่อวันที่ 24 ตุลาคม 2560 ที่ทำเนียบรัฐบาลมีการประชุมคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) และการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ที่มี พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้า คสช. เป็นประธาน ภายหลังการประชุมนายกรัฐมนตรีได้ตอบคำถามสื่อมวลชนว่า เรื่องอื่นๆ ขอให้เอาไว้ก่อน ขณะนี้รัฐบาลพยายามทำงานให้รวดเร็วที่สุด จะต้องปฏิรูปให้ได้ หลายเรื่องได้ดำเนินการไปแล้ว เริ่มจากการปฏิรูปจากเล็กไปใหญ่ ขอเพียงให้กำลังใจซึ่งกันและกัน โดยเฉพาะกำลังใจจากสื่อ ขอให้ช่วยกันทำให้ประเทศเปลี่ยนแปลงไปในทางที่ดีขึ้น จึงอยากฝากให้ประชาชนได้เข้าใจ ถ้ามีเรื่องอะไร ขอให้แจ้งมา พร้อมจะดูแลแก้ไขให้ได้ในทุกๆ เรื่อง

ในหลวงรัชกาลที่ 10-ให้ดูแล ปชช. ร่วมพระราชพิธีฯ – ผู้ประสบอุทกภัยให้ดี

พล.ท. สรรเสริญ แก้วกำเนิด โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า นายกรัฐมนตรีแจ้งที่ประชุม ครม. และ คสช. ว่า สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 10 ทรงมีพระราชกระแสรับสั่งผ่านนายกรัฐมนตรี “ในช่วงเวลาที่อากาศสภาพเปลี่ยนแปลง คือ อากาศร้อนประกอบกับมีฝนตกหนักในเขตพื้นที่ภาคเหนือ ตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคกลาง รัฐบาลพยายามที่จะบริหารจัดการน้ำ มีการระบายน้ำตามสัดส่วนที่ไม่ก่อให้เกิดผลกระทบต่อประชาชนเป็นวงกว้าง แต่ก็ยังมีประชาชนส่วนหนึ่งได้รับผลกระทบ ขอให้ดูแลประชาชนในที่ได้รับผลกระทบเป็นกรณีพิเศษ ตามหลักเกณฑ์ หลักการที่กำหนด”

สำหรับงานถวายพระเพลิงพระบรมศพพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตรฯ คาดว่าจะมีประชาชนเดินทางเข้าร่วมงานเป็นจำนวนมาก ทั้งในพื้นที่ต่างจังหวัดที่จะไปร่วมงาน ณ พระเมรุมาศจำลอง และในพื้นที่กรุงเทพมหานคร โดยเฉพาะในเขตพื้นที่มณฑลพิธีรอบบริเวณสนามหลวง คาดว่าจะมีประชาชนเข้าร่วมงานพระราชพิธีฯ ไม่ต่ำกว่า 2.5 แสนคน จึงมีพระราชกระแสรับสั่งอยากให้รัฐบาลแจ้งเจ้าหน้าที่ราชการทุกภาคส่วน ให้ดูแลประชาชนให้ดีที่สุด อำนวยความสะดวกประชาชนให้มากที่สุด โดยเฉพาะในต่างจังหวัด พื้นที่ประสบอุทภัยที่เดินทางลำบาก ให้มีการช่วยเหลือเยียวยา จัดรถรับส่งให้เขาสามารถไปร่วมงานพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพฯ ในพื้นที่พระเมรุมาศจำลองด้วย ดังนั้น รัฐบาลต้องดำเนินการตามพระราชกระแสรับสั่งทั้ง 2 ภารกิจนี้ให้มีประสิทธิภาพอำนวยความสะดวกแก่ประชาชนที่มาร่วมงานพระราชพิธีให้ดีที่สุด ส่วนผู้ที่ประสบอุทกภัย ก็ต้องปรับหลักเกณฑ์การให้ความช่วยเหลือให้มีความยืดหยุ่นมากที่สุด

“ส่วนการซักซ้อมขบวนพิธีในวันที่ 15 และ 21 ตุลาคม 2560 เนื่องจากริ้วขบวนเคลื่อนที่ช้า ในระยะทาง 200-300 เมตร ต้องใช้เวลาพอสมควร กรณีเช่นนี้สามารถให้ประชาชนยืน ใส่แว่นกันแดด กางร่ม หรือใส่หมวกได้ก่อน แต่เมื่อริ้วขบวนจะถึงให้เจ้าหน้าที่ที่คอยดูแลแจ้งเตือนประชาชนให้นั่งลงในอาการที่สำรวม ซึ่งจะมีเจ้าหน้าที่คอยปฏิบัตินำให้ประชาชนปฏิบัติตาม จะทำให้ประชาชนไม่เครียดและมีเวลาพักผ่อนอิริยาบถของตนเองได้มากขึ้น” พล.ท. สรรเสริญ กล่าว

ยืนยันไม่เพิ่มเงินสมทบประกันสังคม

พล.อ. ประยุทธ์ กล่าวถึงกรณีที่มีข่าวว่าสำนักงานประกันสังคม (สปส.) จะเรียกเก็บเงินสมทบสำหรับผู้ประกันตนเพิ่มว่า กรณีดังกล่าวเป็นเพียงการหารือเพื่อเตรียมกำหนดแผนงาน ยังไม่มีมาตรการดำเนินการใดๆ โดยยืนยันว่ารัฐบาลไม่ต้องการสร้างความเดือดร้อนให้ใคร แต่ต้องการแก้ไขปัญหาให้กับประชาชน

ชี้แก้น้ำท่วม-ต้องยอมเสียสละคนส่วนน้อยเพื่อคนส่วนใหญ่

พล.อ. ประยุทธ์ ตอบคำถามกรณีสถานการณ์น้ำท่วมที่เกิดขึ้นหลายพื้นที่ขณะนี้ว่า รัฐบาลไม่ได้นิ่งนอนใจ โดยได้วางแผนรับมือตั้งแต่ปีที่ผ่านมา มีการนำข้อมูลในปี 2554 มาเปรียบเทียบ และดำเนินการเรื่อยมาตั้งแต่ปี 2557, 2558, 2559 พร้อมกันนี้แสดงความเป็นห่วงต่อประชาชนที่ออกไปทำมาหากินในพื้นที่น้ำท่วม ทำให้เกิดอุบัติเหตุและเสียชีวิต โดยขอให้ระมัดระวัง และกล่าวแสดงความเสียใจต่อครอบครัวผู้สูญเสีย

“ช่วงนี้มีปริมาณน้ำฝนมากในบางพื้นที่ ประกอบกับอ่างเก็บน้ำและเขื่อนหลักต่างๆ มีปริมาณน้ำเต็มเกือบทุกที่ ซึ่งในภาพรวมจะต้องแก้ไขปัญหาทั้งระบบ จำเป็นต้องทยอยปล่อยน้ำเข้าพื้นที่แก้มลิงใน 12 ทุ่ง รับน้ำภาคกลาง ก็ต้องขอขอบคุณเกษตรกรที่เสียสละพื้นที่ อย่างไรก็ตาม ในภาคเหนือ ภาคกลาง และภาคใต้ บางพื้นที่อาจได้รับผลกระทบบ้าง จึงจำเป็นต้องเสียสละส่วนน้อยเพื่อประโยชน์ส่วนใหญ่ ทั้งนี้ รัฐบาลจะบริหารจัดการน้ำให้ดี ให้ประชาชนได้รับผลกระทบน้อยที่สุด พร้อมเร่งดูแลเยียวยาผู้ที่ได้รับผลกระทบตามระเบียบราชการให้เร็วที่สุด ขอให้ทุกคนติดตามการแจ้งเตือนจากส่วนราชการผ่านช่องทางต่างๆ และขอให้สื่อช่วยแจ้งเตือนด้วย” นายกรัฐมนตรีกล่าว

นายกฯ ยืนยันงานพระราชพิธีพร้อมทุกด้าน

พล.อ. ประยุทธ์ ตอบคำถามถึงการเตรียมความพร้อมเตรียมการพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชว่า ขณะนี้มีความพร้อมในทุกๆ ด้านและทุกพื้นที่ ทั้งมณฑลพิธีท้องสนามหลวง ปริมณฑล และต่างจังหวัด โดยคณะกรรมแต่ละด้านได้มีการชี้แจงความพร้อมทุกประเด็นอย่างต่อเนื่อง รวมถึงมาตรการรักษาความปลอดภัย

นายกรัฐมนตรีกล่าวต่อไปว่า จากที่ได้เข้าร่วมซ้อมริ้วขบวนที่ผ่านมา ได้เห็นแววตา เห็นความตั้งใจของประชาชนที่ตั้งใจรอดูการซ้อมริ้วขบวน ถึงแม้อากาศจะร้อนและต้องใช้เวลานานก็ตาม โดยสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงพระราชทานความห่วงใยและส่งกำลังใจมาสู่ประชาชน พร้อมมีพระราชกระแสรับสั่งให้รัฐบาลดูแลประชาชนให้ดีที่สุด ให้ประชาชนมีความพึงพอใจ มีความสุขมากที่สุดในช่วงเวลาดังกล่าว

นอกจากนี้ นายกรัฐมนตรีได้กล่าวขอบคุณสื่อมวลชนที่ได้เผยแพร่ข่าวงานพระราชพิธีฯ เป็นไปด้วยความเรียบร้อย พร้อมขอบคุณเจ้าหน้าที่ จิตอาสาด้านต่างๆ ที่ร่วมกันทำความดีเพื่อแผ่นดิน เพื่อพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 และขอให้ช่วยกันทำความดีต่อไป

มติ ครม. มีดังนี้

เห็นชอบแผนร่วมทุนรัฐ-เอกชน 55 โครงการวงเงิน 1.6 ล้านล้าน

ดร.กอบศักดิ์ ภูตระกูล ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า วันนี้ที่ประชุม ครม. มีมติเห็นชอบแผนยุทธศาสตร์การให้เอกชนร่วมลงทุนในกิจการของรัฐ พ.ศ. 2560-2564 และรับทราบแผนการดำเนินโครงการภายใต้แผนยุทธศาสตร์ฯ ดังกล่าวจำนวน 55 โครงการ คิดเป็นมูลค่าเงินลงทุน 1.62 ล้านล้านบาท โดยจะส่งให้คณะกรรมการนโยบายการให้เอกชนร่วมลงทุนในกิจการของรัฐ (คณะกรรมการ PPP) กำกับดูแลและติดตามให้เป็นไปตามแผนงานต่อไป

สำหรับความเป็นมาของโครงการนี้ เดิมคณะกรรมการ PPP ได้จัดทำแผนยุทธศาสตร์การให้เอกชนร่วมลงทุนในกิจการของรัฐ พ.ศ. 2558-2562 เอาไว้ 65 โครงการ คิดเป็นวงเงิน 1.4 ล้านล้านบาท ต่อมาทางสภาพัฒน์ฯ ได้จัดทำแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับที่ 12 เสร็จเรียบร้อย นายกรัฐมนตรีจึงมีดำริให้ปรับแผนยุทธศาสตร์การให้เอกชนร่วมทุนในกิจการของรัฐให้สอดรับกับแผนพัฒนาเศรษฐกิจฯ ฉบับที่ 12 โดยมีระยะเวลาดำเนินการตั้งแต่ปี 2560-2564 ดำเนินการภายใต้กรอบวงเงินและกิจกรรมเดียวกัน รวมทั้งผลักดันให้เอกชนเข้ามาร่วมลงทุนกับภาครัฐในเชิงของสังคม เช่น การสร้างบ้านคนจน ดูแลผู้ด้อยโอกาส

ดร.กอบศักดิ์กล่าวว่า การดำเนินโครงการภายใต้แผนยุทธศาสตร์ฯ ใหม่จะแบ่งเป็น 2 กลุ่ม คือ กลุ่มที่ 1 กิจการที่สมควรให้เอกชนมีส่วนร่วมในการลงทุน (Opt-out) มี 16 โครงการ ได้แก่ 1) กิจการพัฒนาระบบขนส่งมวลชนทางรางในเมือง 7 โครงการ 2) กิจการพัฒนาถนนที่มีการเก็บค่าผ่านทางในเมือง 1 โครงการ 3) กิจการพัฒนาท่าเรือสาธารณะสำหรับขนส่งสินค้า 6 โครงการ 4) กิจการพัฒนาระบบรถไฟความเร็วสูง 2 โครงการ

กลุ่มที่ 2 กิจการที่รัฐส่งเสริมให้เอกชนมีส่วนร่วมในการลงทุน (Opt-in) มี 39 โครงการ ได้แก่ 1) กิจการพัฒนาโครงข่ายโทรคมนาคม 2) กิจการพัฒนาระบบอินเทอร์เน็ตความเร็วสูง 3) กิจการพัฒนาถนนที่มีการเก็บค่าผ่านทางระหว่างเมือง 7 โครงการ 4) กิจการพัฒนาสถานีขนส่ง บรรจุ แยก และกระจายสินค้า 3 โครงการ 5) กิจการพัฒนาระบบตั๋วร่วม 1 โครงการ 6) กิจการพัฒนาธุรกิจและบริหารพื้นที่ท่าอากาศยาน 2 โครงการ 7) กิจการพัฒนาระบบจัดการคุณภาพน้ำ 8 โครงการ 8) กิจการพัฒนาระบบชลประทาน 9) กิจการพัฒนาสถานศึกษาของรัฐ 3 โครงการ 10) กิจการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านสาธารณสุข 6 โครงการ 11) กิจการพัฒนาด้านยาและอุปกรณ์ทางการแพทย์ 2 โครงการ 12) กิจการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม 1 โครงการ 13) กิจการพัฒนาที่เกี่ยวข้องกับเศรษฐกิจดิจิทัล 14) กิจการพัฒนาศูนย์การประชุมขนาดใหญ่ 15) กิจการพัฒนาที่อยู่อาศัยผู้มีรายได้น้อยและปานกลาง ผู้สูงอายุ ผู้พิการ และผู้ด้อยโอกาส 4 โครงการ 16) กิจการพัฒนาระบบขนส่งสินค้าทางราง 1 โครงการ 17) กิจการพัฒนาท่าอากาศยาน และ 18) กิจการพัฒนาท่าเรือสาธารณะสำหรับขนส่งผู้โดยสาร 1 โครงการ

นายณัฐพร จาตุศรีพิทักษ์ ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ (ซ้าย) และนายกอบศักดิ์ ภูตระกูล ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี (ขวา)
ที่มาภาพ : www.thaigov.go.th

CMU จับมือ สจล.-ตั้ง ม.ซีเอ็มเคแอล ผลิต ป.โท-เอก วิศวะคอมฯ

ดร.กอบศักดิ์กล่าวต่อว่า วันนี้ที่ประชุม ครม. เห็นชอบในหลักเกณฑ์ รูปแบบ วิธีการเงื่อนไข สถาบันอุดมศึกษาที่มีศักยภาพสูงจากต่างประเทศ เข้ามาจัดตั้งสถาบันการศึกษาในพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EEC) และในวันนี้ที่ประชุม ครม. เห็นชอบสถาบันอุดมศึกษารายแรกคือ Carnegie Mellon University (CMU) เข้ามาจัดการศึกษาในประเทศร่วมกับสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.) ในรูปแบบสถาบันร่วม ภายใต้ชื่อ “มหาวิทยาลัยซีเอ็มเคแอล” (CMKL University) โดยจัดการศึกษาในพื้นที่ของ สจล. ซึ่งเป็นไปตามหลักเกณฑ์และเงื่อนไขที่กำหนด โดยมหาวิทยาลัย CMU ได้รับการจัดอันดับจาก Quacquarelli Symonds (QS) ในสาขาวิชาระบบสารสนเทศและวิทยาการคอมพิวเตอร์ในอันดับที่ 5 ส่วน TIME จัดอันดับด้านวิทยาการคอมพิวเตอร์อยู่ในอันดับที่ 6 ส่วนด้านวิศวกรรมศาตร์และเทคโนโลยี TIME จัดให้อยู่ในอันดับที่ 15 ของโลก ผลิตนิสิตไม่ต่ำกว่า 1,000 คนต่อปี มีความเชี่ยวชาญด้านวิศวกรรมคอมพิวเตอร์และหุ่นยนต์

“การที่มหาวิทยาลัย CMU เข้ามาเปิดสถาบันการศึกษาในประเทศไทยครั้งนี้ จะเน้นไปที่หลักสูตรวิศวกรรมไฟฟ้าและคอมพิวเตอร์ ซึ่งเป็นสาขาที่เกี่ยวกับอุตสาหกรรมดิจิทัล ไฟฟ้า หุ่นยนต์ สอดรับกับอุตสาหกรรมเป้าหมายของประเทศไทย สำหรับหลักสูตรที่จะเปิดสอนในประเทศไทย ประกอบด้วย หลักสูตรปริญญาเอกด้านวิศวกรรมไฟฟ้าและวิศวกรรมคอมพิวเตอร์ ใช้เวลาเรียน 5 ปี หลักสูตรปริญญาโทซอฟต์แวร์ ใช้เวลาเรียน 2 ปี คาดว่าจะเปิดสมัครนักศึกษาในช่วงเดือน พ.ย.-ธ.ค. 2560 ประกาศผลการรับนักศึกษารุ่นแรกในช่วงเดือนเมษายน 2561 และเริ่มเปิดการเรียนการสอนที่สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบังภายในเดือนสิงหาคม 2561”ดร.กอบศักดิ์กล่าว

เห็นชอบระเบียบจัดตั้ง สนง. วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ

นายณัฐพร จาตุศรีพิทักษ์ ที่ปรึกษารัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เห็นชอบระเบียบสำนักนายกรัฐมนตีว่าด้วยสำนักงานวิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ สืบเนื่องจากมีคำสั่ง คสช. เมื่อปีที่แล้วที่กำหนดให้มีสภานโยบายวิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ (สวนช.) เพื่อให้มีอำนาจหน้าที่กำหนดทิศทางและนโยบายด้านการดำเนินงานของหน่วยงานในระบบวิจัยและนวัตกรรมของประเทศให้เป็นไปในทิศทางเดียวกัน โดยมีสำนักงานวิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ ดำเนินการตามนโยบายของ สวนช. โดยสำนักงานงานวิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติมีหน้าที่ดังต่อไปนี้

1. จัดทำนโยบายและยุทธศาสตร์ระบบวิจัยและนวัตกรรมของประเทศ ให้สอดคล้องกับแผนหรือ “โรดแมป” เกี่ยวกับนโยบายและระบบวิจัยและนวัตกรรมของประเทศตามที่สภาปฏิรูปแห่งชาติกำหนด

2. เสนอกรอบงบประมาณและแผนการจัดสรรงบประมาณ สำหรับแผนงานและโครงการของหน่วยงานต่างๆ ในระบบวิจัยและนวัตกรรม

3. กำกับ เร่งรัด ติดตาม แผนงานของหน่วยงานในระบบวิจัยและนวัตกรรมของประเทศ เพื่อให้ผลงานวิจัยและนวัตกรรมเกิดผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจและสังคม ตามระยะเวลาและเป้าหมายที่กำหนดไว้

4. จัดทำแนวทางบูรณาการหน่วยงานในระบบวิจัยและนวัตกรรมในแบบกลุ่ม (Cluster) ทั้งด้านแผนการและงบประมาณ

5. ศึกษา วิเคราะห์สถานการณ์ แนวโน้มในด้านระบบวิจัยและนวัตกรรมของโลกและของประเทศ เพื่อจัดทำนโยบายและแผนการส่งเสริมสนับสนุน รวมทั้งจัดทำตัวชี้วัดและดัชนีด้านระบบวิจัยและนวัตกรรม เพื่อใช้ในการติดตามและประเมินผล และจัดทำฐานข้อมูลแผนงานและโครงการข้อมูลบุคลากรและข้อมูลอื่นๆ ให้เป็นศูนย์สารสนเทศและฐานข้อมูลกลางด้านระบบวิจัยและนวัตกรรมของประเทศ โดยที่หน่วยงานนี้จะตั้งขึ้นมาภายใต้สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี (สลน.) โดยให้ สลน. เป็นหน่วยงานที่ขอตั้งงบประมาณ

ไฟเขียวกคช.สร้างบ้านขายผู้มีรายได้น้อยวงเงิน 1,221 ล้าน

นายณัฐพรกล่าวว่า ที่ประชุม ครม. มีมติอนุมัติโครงการพัฒนาที่อยู่อาศัยชุดที่ 1 ปี 2559 ของการเคหะแห่งชาติ (กคช.) ตามที่กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) นำเสนอจำนวน 2 โครงการ วงเงินรวม 1,221.13 ล้านบาท ดังนี้

1. โครงการเคหะชุมชนและบริการชุมชน ผู้มีรายได้น้อยถึงปานกลาง ตำบลห้วยกะปิ อำเภอเมือง จังหวัดชลบุรี (ใกล้ตลาดหนองมน) โครงการนี้ก่อสร้างบนพื้นที่ 28.79 ไร่ มีลักษณะเป็นอาคารชุดขนาดห้องพัก 32 ตารางเมตร สูง 4 ชั้น จำนวน 23 อาคาร รวม 1,104 หน่วย ภายใต้วงเงินลงทุนรวม 647.31 ล้านบาท โดยใช้แหล่งเงิน เงินกู้ในประเทศ 444.95 ล้านบาท เงินอุดหนุนจากรัฐบาล 158.34 ล้านบาท และเงินรายได้ของ กคช. 44.02 ล้านบาท โดย กคช. จะขายให้เฉพาะผู้มีรายได้ 14,000-20,600 บาท/ครัวเรือน/เดือน ในราคาเริ่มต้นที่ 560,000 บาท

2. โครงการบ้านสวัสดิการข้าราชการ จังหวัดสงขลาและจังหวัดปัตตานี รวม 606 หน่วย ประกอบด้วย จังหวัดสงขลา 491 หน่วย และ จังหวัดปัตตานี 115 หน่วย ภายใต้วงเงินงบลงทุนประมาณ 573.82 ล้านบาท โดยใช้แหล่งเงินกู้ในประเทศ 453.62 ล้านบาท เงินอุดหนุนจากรัฐบาล 69.28 ล้านบาท และรายได้ของ กคช. 50.92 ล้านบาท ลักษณะของโครงการเป็นโครงการบ้านเดี่ยวและบ้านแฝด 2 ชั้น ขนาดพื้นที่ 21-37.5 ตารางวา ราคาขายเริ่มต้น 8.5 แสน-1.45 ล้านบาท โดย กคช. จะเปิดจำหน่ายให้กับข้าราชการที่มีรายได้ระหว่าง 14,000-20,600 บาท/ครัวเรือน/เดือน และข้าราชการผู้มีรายได้ปานกลางถึงค่อนข้างสูง โดยมีรายได้ประมาณ 33,300 บาทขึ้นไป

“โครงการนี้นายกรัฐมนตรีได้กำชับว่าให้ กคช. กำหนดเพดานของรายได้ของผู้ซื้อเอาไว้ เพื่อป้องกันไม่ให้ข้าราชการที่มีรายได้เดือนละ 1 แสนบาทมาซื้อ เพราะโครงการนี้ต้องการสร้างขวัญและกำลังใจให้กับข้าราชการชั้นผู้น้อย” นายณัฐพรกล่าว

เห็นชอบแผนลงทุนสนง.ส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล

ส่วนกรณีสำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล ทำเรื่องขออนุมัติทุนประเดิมกว่า 3,764 ล้านบาท ภายในระยะเวลา 3 ปีนั้น นายณัฐพร กล่าวว่า เรื่องนี้ทางสำนักงานประมาณมีความเห็นให้จัดสรรทุนประเด็นแก่สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัลเฉพาะปีที่ 1 โดยให้เบิกจ่ายเงินงบประมาณประจำปี 2561 ซึ่งได้รับจัดสรรจากสำนักงานประมาณไปแล้ว ส่วนที่เหลือสำนักงบประมาณเสนอให้ใช้จ่ายเงินจากกองทุนพัฒนาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม และเงินรายได้ที่ได้รับโอนมาจากสำนักงานส่งเสริมอุตสาหกรรมซอฟแวร์แห่งชาติ หากยังไม่เพียงพอให้มาหารือกันอีกครั้ง สรุปคือวันนี้ที่ประชุมครม.มีมติเห็นชอบเฉพาะแผนงานและโครงการลงทุนของสำนักงานเศรษฐกิจดิจิทัลเท่านั้น แต่ไม่ได้อนุมัติวงเงินงบประมาณ เพื่อให้สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัลใช้เป็นทุนประเดิม เพราะไม่สอดคล้องกับหลักการขอทุนประเดิม ซึ่งปกติจะให้กันแค่ปีเดียว ส่วนแผนงานที่ผ่านความเห็นชอบจากครม.ประกอบด้วย แผนการแก้ไขปัญหาความยากจนของเกษตรกรด้วยเทคโนโลยี, แผนงานการพัฒนาเมืองอัจฉริยะในพื้นที่อีอีซี , แผนงานการส่งเสริมการตลาดและการลงทุนในอุตสาหกรรมดิจิทัล, แผนงานการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันอุตสาหกรรมดิจิทัล, แผนงานการเสริมสร้างศักยภาพและเตรียมความพร้อมกำลังคนดิจิทัล, แผนงานการส่งเสริมอุตสาหกรรมและนวัตกรรมดิจิทัลในพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษ

พล.ท. สรรเสริญ แก้วกำเนิด โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี
ที่มาภาพ: http://www.thaigov.go.th/

ผ่านร่าง พ.ร.บ.คุ้มครอง ปชช. ต้านทุจริตฯ

พล.ท. สรรเสริญ แก้วกำเนิด โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ครม. มีมติเห็นชอบร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ส่งเสริมและคุ้มครองประชาชนในการต่อต้านการทุจริตและประพฤติมิชอบ เพื่อให้สอดคล้องกับกฎหมายรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย 2560 มาตรา 63 และมาตรา 278 ซึ่งระบุว่า รัฐจะต้องส่งเสริมและสนับสนุนให้ความรู้แก่ประชาชนถึงอันตรายที่จะเกิดขึ้นจากการทุจริตและประพฤติมิชอบ และจะต้องจัดให้มีมาตรการและกลไกที่มีประสิทธิภาพที่จะส่งเสริมให้ประชาชนนั้นรวมตัวกัน เพื่อจะมีส่วนร่วมในการรณรงค์ ให้ความรู้ ต่อต้าน ชี้เบาะแส โดยประชาชนที่รวมตัวกันเพื่อชี้เบาะแสนั้นจะต้องได้รับการคุ้มครองจากรัฐตามที่กฎหมายกำหนด

สาระสำคัญ กำหนดให้มีคณะกรรมการส่งเสริมและคุ้มครองประชาชนในการต่อต้านการทุจริตและประพฤติมิชอบ (คตป.) โดยมีเลขาธิการ คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ (ป.ป.ท.) เป็นประธาน มีอำนาจหน้าที่ในการกำหนดนโยบาย วางหลักเกณฑ์ที่จะส่งเสริมให้ประชาชนรวมตัวกันมีส่วนร่วมรณรงค์ ใน 3 เรื่อง

1) รณรงค์ให้ความรู้กับประชาชนในเรื่องการทุจริตและประพฤติมิชอบว่ามีภัยต่อสังคมอย่างไร มีกฎหมายใดที่เกี่ยวข้อง หากประชาชนชี้แจงเบาะแสแล้วจะทำให้ประเทศได้ประโยชน์อย่างไร

2) ต่อต้านการทุจริตและประพฤติมิชอบ โดยการรวมตัวกัน

3) ชี้เบาะแสการทุจริตและประพฤติมิชอบให้แก่หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น ป.ป.ท. สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ศูนย์อำนวยการต่อต้านการทุจริตแห่งชาติ (ศอตช.) ได้เข้าไปดำเนินการ และกำหนดให้มีการจัดตั้งศูนย์ประสานความร่วมมือการต่อต้านทุจริตขึ้นในสำนักงาน ป.ป.ท. และรัฐจะต้องจัดสรรเงินงบประมาณในประเภทเงินอุดหนุนให้เพียงพอที่จะส่งเสริม สนับสนุนให้ประชาชนดำเนินการในเรื่องนี้

”มีการกำหนดโทษไว้ด้วยว่า ถ้าใครที่เป็นเจ้าหน้าที่ ข้าราชการ เมื่อมีประชาชนรวมตัวไปชี้เบาะแสแล้วไปกดขี่ ข่มเหง หรือไปรังแก ใช้อิทธิพลให้ประชาชนเหล่านี้เกิดความหวาดกลัวไม่กล้าที่จะชี้เบาะแสเพื่อต่อต้านการทุจริต จะต้องมีโทษ ไม่ว่าจะเป็นการกระทำผิดต่อชีวิตหรือร่างกายของประชาชนที่รวมตัวกัน ให้เพิ่มโทษจากเดิมที่กฎหมายอาญากำหนดไว้อีกครึ่งหนึ่ง เช่น ผู้ที่ทำร้ายคนชี้เบาะแส เดิมกฎหมายกำหนดให้จำคุก 3 ปี เป็น 4 ปีครึ่ง เพื่อให้เห็นว่าประเทศไทยมีความขันแข็งอย่างยิ่งที่จะขับเคลื่อน ปกป้องไม่ให้มีการทุจริตและประพฤติมิชอบเกิดขึ้น” พล.ท. สรรเสริญ กล่าว

แก้คำสั่ง คสช.-เปิดให้คนพิการเลือกใช้สิทธิ สปสช.-สปส.

พล.ท. สรรเสริญ กล่าวว่า ที่ประชุม คสช. เห็นชอบการแก้ไขเพิ่มเติมคำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ 58/2559 เพื่อการปฏิรูประบบการช่วยเหลือคนพิการที่เป็นผู้ประกันตนตามกฎหมาย ให้บุคคลเหล่านี้สามารถเลือกสิทธิการรักษาพยาบาลที่สอดคล้องกับการเจ็บป่วยของตน

โดยเหตุที่เปิดโอกาสให้เลือกใช้สิทธิใดสิทธิหนึ่งเนื่องจาก ในรายละเอียดสิทธิการรักษาพยาบาลทั้ง 2 แบบ มีข้อแตกต่างในรายละเอียด เช่น ในกรณีการทำร้ายตัวเอง กรณีการปลูกถ่ายไขกระดูกเมื่อเป็นมะเร็ง หรือการใช้ยาต้านไวรัสสำหรับผู้ติดเชื้อเอชไอวี สามารถใช้สิทธิจากประกันบัตรทองได้ แต่ใช้สิทธิจากประกันสุขภาพไม่ได้ ขณะที่สิทธิจากประกันสังคมสามารถใช้ได้ทั้งยาหลักในบัญชีและยาที่ไม่อยู่ในบัญชี แต่สิทธิจากบัตรทองใช้ได้เฉพาะยาหลักที่อยู่ในบัญชีเท่านั้น

อนึ่ง ก่อนหน้านี้ผู้พิการเมื่อต้องการรักษาพยาบาลจะใช้สิทธิ์ตามกฎหมายว่าด้วยประกันสุขภาพของสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) โดยใช้บัตรทอง ต่อมามีผู้พิการส่วนหนึ่งที่เข้าสู่ระบบการทำงานของรัฐที่ส่งเสริมให้ผู้พิการสามารถทำงานได้ตามสัดส่วนที่รัฐบาลส่งเสริม ทำให้มีผู้พิการจำนวนหนึ่งได้เข้าสู่ระบบการทำงานมากขึ้น เพื่อให้บุคคลเหล่านี้ได้รับการดูแลรักษาพยาบาลอย่างครอบคลุม จึงมีคำสั่ง หัวหน้า คสช. ฉบับที่ 58/2559 เพื่อเปิดโอกาสให้ผู้พิการเหล่านี้สามารถได้รับการดูแลรักษาผ่านทางกฎหมายประกันสังคมได้ด้วย

“วันนี้ปรากฏว่ามีผู้พิการส่วนหนึ่งเขาไปร้องในหลายๆ ที่ ทั้งนายกรัฐมนตรี คสช. และกรรมาธิการที่เกี่ยวกับเรื่องหลักประกันสุขภาพต่างๆ ว่าเขาอยากจะเลือกได้ ว่าถ้าเขาเข้าทำงานในบริษัท ในระบบการทำงานทั่วไป แทนที่เขาจะรักษาตามกฎหมายประกันสังคมได้อย่างเดียว ขอให้เลือกได้ว่าจะใช้ประกันสังคมหรือประกันสุขภาพก็ได้ จึงเป็นที่มาของร่างคำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ผ่านการพิจารณาในวันนี้ เพื่อเปิดโอกาสให้ผู้พิการสามารถเลือกได้ว่าอยากใช้สิทธิการรักษาพยาบาลรูปแบบใด ระหว่างประกันสังคมกับประกันสุขภาพถ้วนหน้าของ สปสช. เพื่อให้ได้คุณภาพการรักษาพยาบาลที่ดีที่สุด แต่ให้เลือกได้เพียง 1 สิทธิ แต่จะเปิดโอกาสให้สามารถเปลี่ยนสิทธิได้ภายใน 1 ปี หากเลือกแล้วในปีนี้ไม่ตอบรับต่อความต้องการ ปีหน้าเปลี่ยนไปใช้อีกแบบหนึ่งได้” พล.ท. สรรเสริญ กล่าว

เตรียมออกคำสั่ง คสช. กำหนดผังเมือง EEC สัปดาห์หน้า

พล.ท. สรรเสริญ กล่าวว่า ที่ประชุม คสช. เห็นชอบการเพิ่มข้อกำหนดการใช้ประโยชน์ที่ดินในพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออกหรือการทำผังเมืองรวม เฉพาะเขตเศรษฐกิจภาคตะวันออก ฉะเชิงเทรา ชลบุรี และระยอง ในคำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ 3/2559 โดยคาดว่าจะมีผลในสัปดาห์หน้า เพื่อใช้แทนร่างพระราชบัญญัติ เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก พ.ศ. …. (พ.ร.บ. EEC) ขณะนี้กำลังอยู่ระหว่างการพิจารณาของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ไปก่อน เนื่องจากร่าง พ.ร.บ. ดังกล่าวต้องใช้เวลาอีกประมาณ 4-5 เดือน จึงประกาศใช้ได้

“ตาม พ.ร.บ. EEC มีการกำเรื่องการทำผังเมืองรวมและการใช้ประโยชน์ที่ดินไว้อยู่แล้ว แต่รัฐบาลต้องการเร่งรัดเพื่อให้เกิดความมั่นใจกับนักลงทุนที่จะเข้าไปลงทุนในพื้นที่ จึงหยิบเรื่องที่อยู่ในร่าง พ.ร.บ. EEC นำมาเขียนเป็นข้อกำหนดในการใช้ประโยชน์ที่ดินโดยใช้คำสั่งหัวหน้า คสช. ไปก่อน เพื่อให้มีผลในการปฏิบัติเร็วขึ้น ซึ่งไม่ขัดกับร่าง พ.ร.บ. ดังกล่าว และเป็นงานด้านจิตวิทยาเล็กน้อยที่เมื่อเจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงานเห็นกฎหมายกับคำสั่งหัวหน้า คสช. ความตั้งใจตอบสนองต่อคำสั่งหัวหน้า คสช. เข้มข้นกว่า ซึ่งเมื่อร่าง พ.ร.บ. ดังกล่าวออกมาจึงจะยกเลิกคำสั่งหัวหน้า คสช. นี้” พล.ท. สรรเสริญ กล่าว

โดยมีสาระสำคัญเพื่อย่นระยะเวลาการทำผังเมืองตามปกติของกรมโยธาธิการและผังเมือง ซึ่งต้องใช้เวลามากกว่า 1 ปี ด้วยการให้คณะกรรมการบริการการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (กรศ.) ดำเนินการจัดทำผังการใช้ประโยชน์ในที่ดิน กำหนดเขตการใช้ที่ดินในพื้นที่ EEC แล้วนำเสนอต่อคณะกรรมการนโยบายการพัฒนาระเบียงเศษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก จากนั้นส่งต่อไปยังสำนักงานเพื่อการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (สกรศ.) ไปดำเนินการร่วมกับหน่วยงานภาครัฐตามปกติ เช่น กรมโยธาธิการและผังเมือง กำหนดรายละเอียดในระบบสาธารณูปโภค ระบบคมนาคมขนส่ง ระบบเทคโนโลยีสารสนเทศน์และการสื่อสาร ระบบนิเวศสิ่งแวดล้อมที่เหมาะแก่การประกอบกิจการเป้าหมายและที่อยู่อาศัย การบริหารจัดการน้ำ ระบบควบคุมขจัดมลพิษ และระบบป้องกันอุบัติภัย โดยมีกำหนดระยะเวลาให้แล้วเสร็จภายใน 6 เดือน จากนั้นจึงนำเสนอให้ สกรศ. ทราบแล้วขอความเห็นชอบจาก ครม.

“หลังจาก ครม. เห็นชอบเรียบร้อยจะยกทั้งหมดส่งให้กรมโยธาธิการและผังเมืองไปทำรายละเอียด โดยให้ลืมไปเลยว่ากฎหมายผังเมืองปกติเป็นอย่างไร แต่ให้ทำตามคำสั่งนี้ ก็จะเสร็จเร็วขึ้น ทำให้ผังเมืองที่จะออกมาใหม่ในวันข้างหน้าจะมี 2 แบบ คือ 1) ผังเมืองรวมทั่วไป ที่จังหวัดต่างๆ ใช้ตามกฎหมายผังเมือง ของกรมโยธาธิการฯ 2) ผังเมืองของ EEC คือ พื้นที่ จ.ระยอง จ.ชลบุรี และ จ.ฉะเชิงเทรา จะเป็นไปตามนี้ ซึ่งไม่ใช่คำสั่งใหม่ แต่เป็นการปรับกฎกติกาให้สอดคล้องกับสถานการณ์ กำหนดการใช้ประโยชน์ตามคำสั่ง คสช. เดิมเท่านั้น” พล.ท. สรรเสริญ กล่าว

จ่อใช้ ม.44 ตั้ง สนง.บริหารจัดการน้ำแห่งชาติ

พล.ท. สรรเสริญ กล่าวว่า ที่ประชุม คสช. มีมติเห็นชอบการจัดตั้งสำนักงานบริหารจัดการทรัพยากรน้ำแห่งชาติ ทำหน้าที่ในการบูรณาการงานของหน่วยงานต่างๆ ที่จัดการเรื่องน้ำทั้งหมด ทั้งข้อมูล แผนงาน โครงการ งบประมาณ รวมไปถึงการติดตามประเมินผล และการควบคุมการปฏิบัติงาน ซึ่งกรมอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องมีหน้าที่ตามงานฟังก์ชันปกติก็ดำเนินการเช่นเดิม หากเป็นเรื่องใหญ่ต่อการบริหารจัดการเพื่อป้องกันเหตุรุนแรงขนาดใหญ่ หรือแผนงานใหญ่ หน่วยงานนี้จะเข้าไปดำเนินการบูรณาการ

“ตามแนวทางเดิม นายกรัฐมนตรีมีคำสั่งให้กรมทรัพยากรน้ำ ที่เดิมเคยอยู่ใต้การควบคุมบังคับบัญชา กำกับดูแล ของกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม มาอยู่ที่สำนักนายกรัฐมนตรี แต่เมื่อพิจารณาในรายละเอียดแล้วพบว่าอาจไม่เหมาะสม เนื่องจากเรื่องน้ำมีหลายหน่วยงานเกี่ยวข้อง เช่น กรมทรัพยากรน้ำบาดาล กรมชลประทาน ในสังกัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ในสังกัดกระทรวงมหาดไทย กรมอุตุนิยมวิทยา ในสังกัดกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม จึงดำเนินการจัดตั้งสำนักงานบริหารจัดการทรัพยากรน้ำแห่งชาติขึ้นมาต่างหาก ในสังกัดสำนักนายกรัฐมนตรี โดยที่ไม่เกี่ยวข้องกับกรมทรัพยากรน้ำ” พล.ท. สรรเสริญ กล่าว

สั่งกรมประชาฯ เปิดรับจองเข็มที่ระลึกงานพระราชพิธีฯ ลอต 2 ไม่อั้น

ต่อกรณีที่สำนักปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดจำหน่ายเข็มที่ระลึกพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพฯ จำนวน 40,000 เข็ม ที่กรมประชาสัมพันธ์ ซึ่งจำหน่ายหมดภายในวันเดียว ปรากฏว่ามีผู้นำไปขายต่อในราคาสูงนั้น พล.ท. สรรเสริญ กล่าวว่า ”นายกรัฐมนตรีบอกว่าต้องชี้แจงประชาชนให้ชัดเจน ไม่เช่นนั้นจะมีผู้ติดต่อซื้อมาแล้วไปเก็งกำไรขาย จากราคา 300 บาท เป็น 1,000-3,000 บาทในวันข้างหน้า วันนี้จึงอยากทำความเข้าใจกับประชาชนว่า เข็มลอตแรก 40,000 เข็มหมดไปแล้ว แต่ะจะมีลอตต่อมา โดยจะเปิดให้ประชาชนเริ่มจองได้ตั้งแต่วันที่ 1 ธันวาคม 2560 เป็นต้นไป ที่สำนักปลัดสำนักนายกฯ หรือธนาคารกรุงไทยทุกสาขาใกล้บ้านก็ได้ โดยไม่จำกัดจำนวนต่อคน จองได้ไม่อั้น จนกว่าความต้องการจะหมด ดังนั้นประชาชนสบายใจได้เรื่องเข็มที่ระลึกงานพระราชทานเพลิงพระบรมศพฯ และไม่ต้องไปซื้อหาจากบุคคลที่ซื้อไปก่อน เพราะอีกไม่นานจะตามมา”

อ่านมติ ครม. วันที่ 24 ตุลาคม 2560ที่นี่