ThaiPublica > เกาะกระแส > “บิ๊กตู่” ถาม “วิษณุ” แล้ว ยันไม่ต้องสมัครพรรคการเมือง – มติ ครม. โอนรถไฟฟ้าสายสีเขียวให้ กทม. บริหาร

“บิ๊กตู่” ถาม “วิษณุ” แล้ว ยันไม่ต้องสมัครพรรคการเมือง – มติ ครม. โอนรถไฟฟ้าสายสีเขียวให้ กทม. บริหาร

26 พฤศจิกายน 2018


พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.)
ที่มาภาพ: www.thaigov.go.th/

เมื่อวันที่ 26 พฤศจิกายน 2561 ที่ทำเนียบรัฐบาลมีการประชุมคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) และคณะรัฐมนตรี (ครม.) โดยมี พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้า คสช. เป็นประธาน

เตรียมปลดล็อก หลังหารือพรรคการเมือง 7 ธ.ค. นี้

พล.อ. ประยุทธ์ กล่าวว่า วันนี้ในการประชุม คสช. ได้หารือถึงประเด็นที่จะหารือกับพรรคการเมืองในวันที่ 7 ธันวาคม 2561 นี้ ซึ่งจะเป็นการพบปะพูดคุย รับฟังความคิดเห็น และถ้ามีประเด็นใดที่เราชี้แจงได้ในเรื่องขั้นตอนกฎหมายต่างๆ จะให้ฝ่ายกฎหมายเป็นผู้ชี้แจง

โดยนายกรัฐมนตรีในฐานะหัวหน้า คสช. จะรับฟังปัญหาต่างๆ เพื่อนำมาหาทางออกว่าอะไรที่ทำได้ และทำไม่ได้ทำนองนี้ พร้อมขออย่าทำอะไรให้เกิดความขัดแย้งกัน ถือว่าวันที่ 7 ธันวาคมนี้ เป็นการเริ่มต้นเดินหน้าไปสู่ประชาธิปไตยอย่างชัดเจนขึ้น

“วันนี้ได้พูดกันถึงคำสั่ง คสช. ว่าจะมีการปลดล็อกกันอย่างไร คงจะได้คำตอบหลังจากการประชุมในครั้งนี้ เราก็พยายามจะปลดล็อกให้เร็วที่สุด ดังนั้นขอให้เข้าใจตรงนี้ จากนั้นเป็นเรื่องการปฏิบัติตามกฎหมายของคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) และพระราชกฤษฎีกาต่างๆ ในเรื่องการหาเสียงซึ่งเป็นเรื่องของ กกต. ส่วน คสช. รับผิดชอบเฉพาะเรื่องการปลดล็อก” พล.อ. ประยุทธ์กล่าว

พล.อ. ประยุทธ์ กล่าวต่อไปว่า เรื่องสถานการณ์ด้านความมั่นคงที่หลายฝ่ายเป็นห่วงในเรื่องความไม่สงบเรียบร้อย ความขัดแย้งที่เกรงว่าจะเกิดขึ้น ตนเห็นว่าถ้าทุกคนตั้งหลักว่ามันจะเกิดความขัดแย้ง มันก็จะขัดแย้ง ทุกคนจะต้องร่วมมือร่วมใจกันตั้งสติ โดยใช้สติปัญญาในการแก้ปัญหาทั้งหมดของประเทศเราให้ได้ ไหนๆ ก็จะเดินหน้าไปสู่ประชาธิปไตยแล้ว ทุกอย่างเราพยายามให้สอดคล้องกับสถานการณ์ในปัจจุบันอย่างเต็มที่

เมินผลโพล เชียร์ “สุดารัตน์” นั่งนายกฯ

พล.อ. ประยุทธ์ ตอบคำถามกรณีผลสำรวจความคิดเห็นนิด้าโพล ประชาชนสนับสนุนให้คุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ แกนนำพรรคเพื่อไทย (พท.) เหมาะสมที่จะเป็นนายกฯ อันดับ 1 ส่วน พล.อ. ประยุทธ์ เป็นอันดับ 2 ว่า วันนี้มีโพลจำนวนมาก ซึ่งวิธีการทำโพลนั้น ทุกสำนักมีจุดมุ่งหมายด้วยกันทั้งสิ้นว่าอยากให้คำตอบออกมาเป็นอย่างไร ขึ้นอยู่กับกลุ่มเป้าหมายและการตั้งคำถาม

“สิ่งที่ได้มานั้นจะใช่หรือไม่ก็ยังไม่รู้ เพราะผมไม่อาจหยั่งรู้จิตใจของประชาชนทุกคนได้ แต่ผลโพลไม่ใช่ความเห็นของคนที่มีสิทธิ์เลือกตั้งทั้งประเทศ ดังนั้นการสำรวจความเห็นของคน 1,000-2,000 คนนั้นไม่ได้อะไร เพราะวันข้างหน้าผลโพลก็ผิดทุกครั้งไป จึงต้องไปดูเป้าหมายว่าทำโพลเพื่ออะไร จากใคร จากไหน เพราะบางครั้งการทำโพลก็มีอะไรอยู่เบื้องหลัง ดังนั้นจึงไม่รู้สึกอะไรเลย เพราะเชื่อมั่นในประชาชน วันนี้ประชาชนเรียนรู้มาก อย่าใช้วิธีการเหมือนเดิม จนทำให้ประชาชนเกิดความไม่เข้าใจ” นายกรัฐมนตรีกล่าว

ถาม “วิษณุ” แล้ว ยันไม่ต้องสมัครพรรคการเมือง

พล.อ. ประยุทธ์ ตอบคำถามเรื่องตนสนใจการเมืองหรือไม่ โดยระบุว่า เรื่องนี้สื่อถามแล้วถามอีก ก็ต้องบอกว่าสนใจการเมือง เพราะวันนี้ทำงานการเมืองอยู่ ถ้าไม่สนใจแล้วจะได้เรื่องหรือไม่ คงไม่สามารถบริหารจัดการได้

“ขอให้เข้าใจว่าทำงานการเมืองอยู่แล้ว ก็ต้องสนใจงานการเมืองต่อไป ว่าอะไรจะเกิดขึ้นในประเทศไทยบ้าง จะเกิดการบริหารงานตามยุทธศาสตร์และแผนแม่บทหรือไม่ สิ่งที่ได้แก้ไขและปฏิรูปไปแล้ว จะมีการทำต่อหรือไม่ อยากให้ทุกคนสนใจเรื่องเหล่านี้มากกว่า อย่าไปฟังคำพูดบิดเบือนต่างๆ” นายกรัฐมนตรีกล่าว

เมื่อถามว่า ในทางการเมืองได้ตัดสินใจแล้วหรือยัง พล.อ. ประยุทธ์ กล่าวว่า ได้ถามฝ่ายกฎหมาย และนายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรีแล้ว ซึ่งยืนยันว่าตนไม่ต้องสมัครอะไรทั้งนั้น วันนี้ยังไม่มีพรรคการเมืองใดทาบทาม มีแต่สื่อมวลชนที่ทาบทามให้ทุกวัน ว่าจะไปอยู่ที่ไหนอย่างไร สมัครสมาชิกพรรคแล้วหรือยัง

“ขอตอบเลยว่า ไม่จำเป็นจะต้องไปสมัครกับพรรคการเมืองใด การทาบทามก็เป็นเรื่องของการทาบทาม แต่วันนี้ยังไม่มีการทาบทามเลยสักพรรค และเมื่อกฎหมายออกมาจะชัดเจนเองว่าผมจะอยู่ตรงไหน ถ้าใครทาบทามมาตนก็จะตัดสินใจ แต่ถ้าไม่มีใครทาบทามก็ไม่เอา เขามีกำหนดเมื่อไหร่ ให้ทาบทามเมื่อไหร่ ให้เสนอชื่อนายกฯ เมื่อไหร่ก็เมื่อนั้นแหละ แล้วผมจะรับหรือเปล่าก็ยังไม่รู้เลย ดูใจก่อน ว่าสิ่งที่เขาจะมาขอตรงกับใจผมหรือเปล่า ตรงกับความคิดผมหรือเปล่า” นายกรัฐมนตรีกล่าว

ชี้นักการเมืองแห่เข้า “พปชร.” เพราะชอบนโบาย

พล.อ. ประยุทธ์ ตอบคำถามกรณีที่มีนักการเมืองแห่เข้าพรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) เป็นจำนวนมาก ว่า ที่ผ่านมารัฐบาลก่อนหน้านี้ก็มีการย้ายพรรค เพราะเป็นเรื่องความสมัครใจแต่ละคน ตนไม่ได้เข้าไปเกี่ยวข้องสักพรรค ทุกคนย้ายมาหมดเพราะเห็นว่านโยบายทางการเมืองตรงกัน หลายคนอยากแก้ไขปัญหาความบกพร่องในอดีต ซึ่งถือเป็นสิ่งที่ดี

“หากจะไปร่วมกับพรรคการเมืองใดพรรคการเมืองหนึ่ง และเราต้องเรียนรู้ว่าระบบการเลือกตั้งเป็นอย่างไร ประชาชนจะเลือกจากส่วนใด นโยบาย หลักการ และเหตุผล โดยต้องนำยุทธศาสตร์ชาติมาเป็นหลักในการทำงาน ไม่ว่าพรรคการเมืองใดที่ทำแบบนี้ เชื่อว่าจะนำไปสู่ความสำเร็จ แต่ถ้าทำเป็นอย่างอื่น ก็จนใจ ผมไม่เกี่ยวข้องใดๆ ทั้งสิ้น รับผิดชอบไม่ได้”

“อนาคตแก้ปัญหาไม่ได้ ปฏิรูปไม่ได้ ก็จะมาโทษผมอีกว่าเสียของ คือโดนทั้งขึ้นทั้งล่อง วันนี้ผมต้องรับผิดชอบอยู่แล้ว แต่วันหน้าประชาชนจะเป็นผู้ตัดสินใจ แต่ละพรรคคงอยากให้โอกาสให้มาทำงานกับพรรค แต่ทั้งหมดขึ้นอยู่กับหัวหน้ารัฐบาล และนายกฯ ที่ได้รับการเลือกตั้งตามกฎหมาย ซึ่งใครจะเป็นยังไม่รู้ แต่อย่าลืมอำนาจนายกฯ ก็มีอยู่ ถ้านายกฯ ไม่ทำหน้าที่อย่างมีธรรมาภิบาล ทุกอย่างก็จบ ก็หานายกฯ อย่างนั้นมาก็แล้วกัน ไม่เกี่ยวอะไรกับผมทั้งสิ้น” นายกรัฐมนตรีกล่าว

สั่งทูตฯ เร่งช่วยเหลือแรงงานไทยในอิสราเอล

พล.อ. ประยุทธ์ ตอบคำถามกรณีแรงงานไทยในอิสราเอลถูกเอารัดเอาเปรียบ ละเมิดสิทธิ์ และมีบางส่วนที่เสียชีวิต ทั้งๆ ที่ไปทำงานในโครงการความร่วมมือระหว่างรัฐบาลไทยและอิสราเอลว่า ขณะนี้ทูตแรงงานกำลังประสานเรื่องนี้อยู่ และช่องทางของกระทรวงการต่างประเทศด้วย ซึ่งจำเป็นต้องดูคนงานไทยที่ทำงานอย่างถูกต้อง ส่วนคนงานที่ไปทำงานแบบไม่ถูกต้องนั้นเป็นอีกเรื่องหนึ่ง ถ้าทำงานแบบไม่ถูกต้องหากเกิดปัญหาก็ช่วยยากเหมือนกรณีเกาหลีใต้

“ผมก็เห็นใจคนไทย ที่ไปทำงานต่างประเทศ ก็ต้องติดตาม กำกับดูแลให้กระทรวงแรงงานย้ำเตือนในเรื่องของบริษัทต่างๆ ที่เอาคนไปทำงานต่างประเทศมีการหลอกลวงไปหรือไม่ บางที่ไปแล้วทำงานไม่ถูกต้องตามกฎหมายมันจะได้อย่างไร แล้วก็เดือดร้อนมาแบบนี้ มันเสียโอกาสและทำให้แรงงานไทยไม่ได้รับความไว้วางใจ ก็ขอให้ทำให้ดี ก็ต้องใช้บทบาทความสัมพันธ์ด้านต่างประเทศในการหารือร่วมกัน” นายกรัฐมนตรีกล่าว

เตรียมออก ม.44 แก้ปมสิทธิบัตรกัญชา

พล.อ. ประยุทธ์ เปิดเผยว่า วันนี้ที่ประชุม คสช. ได้หารือถึงกรณีสิทธิบัตรต่างๆ ซึ่งต้องหาวิธีการที่เหมาะสม ไม่ว่าจะทำอะไรต้องคำนึงถึงกฎหมายระหว่างประเทศด้วย โดยเฉพาะกัญชา ต้องแยกให้ออกว่าจะทำอย่างไร ต้นกัญชามีทุกประเทศ แต่การที่จะเอากัญชามาสกัดทำยาหรืออะไรต่างๆ ก็เป็นอีกเรื่องหนึ่ง

“ต้องคิดให้รอบคอบว่าอะไรจะได้หรือเสียประโยชน์ และต้องไม่ขัดแย้งกับกฎหมายระหว่างประเทศด้วย ไม่เช่นนั้นจะมีปัญหาตรงนั้นอีก การแก้ปัญหาจะต้องไม่ทำให้เกิดปัญหาอื่นเกิดขึ้น เพราะจะเป็นผลเสียต่อรัฐบาล ส่วนการออกคำสั่งมาตรา 44 นั้น อยู่ระหว่างการเขียนรายละเอียดอยู่” นายกรัฐมนตรีกล่าว

โต้ “ปิยบุตร” ยันยกเลิก กม.ประมง – ไม่ได้ช่วยแก้ปัญหา

พล.อ. ประยุทธ์ กล่าวถึงกรณีที่นายปิยบุตร แสงกนกกุล เลขาธิการพรรคอนาคตใหม่ระบุ ถ้าได้เป็นรัฐบาลจะยกเลิกกฎหมายประมงแล้วร่างใหม่ โดยให้ชาวประมงมีส่วนร่วมมากที่สุดว่า ที่มีคนบอกว่าหากได้เข้ามาจะยกเลิกกฎหมาย เพื่อแก้ไขปัญหาประมงผิดกฎหมายนั้น ยืนยันว่าแก้ไขไม่ได้ เพราะกฎหมายและประกาศต่างๆ ออกมาแล้วกว่า 70 ฉบับ

“อยากให้ทุกคนเข้าใจว่ารัฐบาลทำเพื่อผู้มีรายได้น้อยก่อน เช่น ประมงพื้นบ้าน ซึ่งชาวประมงมีความสุขเป็นอย่างดี มีรายได้เพิ่มขึ้น ได้ปลาตัวใหญ่ขึ้น ส่วนประมงอุตสาหกรรมนั้น ก็มีกฎหมายรองรับอยู่แล้ว โดยปริมาณเรือจะต้องสอดคล้องกับปริมาณสัตว์น้ำ ขอให้จำไว้ว่าทุกอย่างมีการตรวจสอบอยู่แล้ว ซึ่งเราต้องอิงกับพันธสัญญาระหว่างประเทศ เพราะไม่สามารถอยู่คนเดียวได้ รัฐบาลพยายามทำโดยไม่ให้คนไทยเสียประโยชน์มากที่สุด ไม่ได้ปล่อยให้มีการกระทำความผิด” นายกรัฐมนตรีกล่าว

ปฏิเสธข่าวลือ “ทวงที่ดิน ส.ป.ก.คืน – เลิกจัดระเบียบแผงลอย”

พล.อ. ประยุทธ์ กล่าวถึงกรณีกระแสข่าวรัฐบาลจะยกเลิกที่ดิน ส.ป.ก. แล้วจะเอาที่ดินกลับคืนมาทั้งหมดว่า เป็นการบิดเบือน ขออย่าไปเชื่อใคร โดยยืนยันว่าไม่มีการยกเลิกที่ดินดังกล่าว เมื่อให้ไปแล้วก็ให้ไป แต่ถ้าส่วนใดที่กระทำผิดระเบียบ เช่น นำไปขายต่อ ก็ต้องถูกยึดคืน ส่วนการจัดพื้นที่ใหม่ยังคงอยู่ในแผน ส.ป.ก. โดยขอแค่ประชาชนที่ได้ที่ดินไปทำตามกฎหมายเท่านั้น

“เป็นไปได้อย่างไรที่จะเอาคืนทั้งหมด เพราะประชาชนที่ได้ที่ดินไปมีจำนวนมาก ขอแค่ทุกคนทำตามกฎหมายเท่านั้น” นายกรัฐมนตรีกล่าว

พล.อ. ประยุทธ์ กล่าวต่อไปถึงกรณีกระแสข่าวที่มีการบิดเบือนว่าการค้าขายจัดระเบียบต่างๆ จะให้เป็นเหมือนเดิมทั้งหมด โดยระบุว่า ถ้าทำจริงทุกอย่างจะกลับไปเป็นเหมือนเดิม ทั้งการค้าขายและการใช้ประโยชน์บนถนนรวมสาธารณะ ทุกอย่างจะต้องได้รับการแก้ไข ซึ่งวันนี้ได้สั่งการกรุงเทพมหานคร (กทม.) กระทรวงมหาดไทย และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการจัดระเบียบพื้นที่ในกรุงเทพฯ และพื้นที่ชายหาด

นอกจากนี้ยังมีการบิดเบือนว่ารัฐบาลจะรื้อเรื่องต่างๆ ซึ่งถ้ารื้อแล้วได้แค่การเอาใจคนกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งก็คงไม่ได้เรื่องเหมือนเดิม ดังนั้น รัฐบาลพยายามแยกแยะเป้าหมายการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ ซึ่งต้องมีหลายมิติ ตนไม่อยากให้ประชาชนที่อยู่ในพื้นที่ไปรับฟังการบิดเบือน เพราะแม้รัฐบาลมีนโยบายและได้พูดไปแล้ว แต่ยังมีคนบางกลุ่มเดินสายพูดบิดเบือนในทุกเรื่องเพื่อจะล้มล้างสิ่งที่รัฐบาลทำทั้งหมด ซึ่งตนขอถามว่าคนไทยต้องการแบบนี้หรือ

“มีหลายคนพยายามบิดเบือน ทั้งเรื่องที่ดิน ราคายาง ราคาปาล์มน้ำมัน ฯลฯ โดยออกมาโจมตีรัฐบาล ที่ผ่านมาเราทำงานแทบตาย แก้ไขปัญหาต่างๆ รับฟังความเห็นจากทุกฝ่าย ผมขอฝากกับทุกคนว่าจะไม่ไปทะเลาะกับใคร แต่อยากขอให้ฟังรัฐบาล และรับฟังคนที่อยากเข้ามาเป็นรัฐบาลใหม่ว่าจะทำอย่างไรต่อไป อย่าให้มาโจมตีเรา”

“อยากให้สื่อมวลชนช่วยฟังด้วยว่าคนที่พูดจะแก้ไขปัญหาอย่างไร โดยดูที่การแถลงนโยบายว่าจะทำงานอย่างไร ไม่ใช่โจมตีผมอย่างเดียว เพราะไม่เป็นธรรมกับผม ทุกคนก็รักประเทศไทยและคนไทย จึงอยากขอร้องนักเขียนและคอลัมนิสต์ที่บางครั้งเขียนไม่ตรงกับข้อเท็จจริง หรือเขียนในแบบเดิมๆ โดยไม่เปลี่ยนแปลงอะไร ซึ่งคิดว่าไม่ได้แล้ว” นายกรัฐมนตรีกล่าว

ชี้ ป.ป.ช. เร่งแก้ปมสภามหาวิทยาลัยยื่นบัญชีทรัพย์สิน

พล.อ. ประยุทธ์ ตอบคำถามกรณีที่คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริต (ป.ป.ช.) กำหนดให้นายกฯ สภาและกรรมสภามหาวิทยาลัยต้องยื่นบัญชีทรัพย์สินว่า กำลังหาทางออกอยู่ว่าจะทำอย่างไร ป.ป.ช. กำลังหาทางออกอยู่ ทำอย่างไรไม่ให้เกิดผลกระทบ ซึ่งต้องมองสองทาง คนที่ตั้งใจดี คนที่ไม่ตั้งใจดี คนที่สุจริตหรือคนที่ทุจริต ซึ่งต้องหาทางออกให้ได้ ไม่เช่นนั้นก็จะมี 2 ฝ่ายเสมอ แล้วก็ทำอะไรไม่ได้สักอย่าง

มติ ครม. มีดังนี้

นายพุทธิพงษ์ ปุณณกันต์ รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายการเมือง ในฐานะโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี และ พ.อ. อธิสิทธิ์ ไชยนุวัติ ผู้ช่วยโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ที่มาภาพ: www.thaigov.go.th

โอนรถไฟฟ้าสายสีเขียวให้กทม.บริหาร

นายพุทธิพงษ์ ปุณณกันต์ รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายการเมือง ปฏิบัติหน้าที่โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ครม. มีมติเห็นชอบให้การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) ดำเนินการจำหน่ายอสังหาริมทรัพย์ โครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียว ช่วงแบริ่ง-สมุทรปราการ และช่วงหมอชิต-สะพานใหม่-คูคต (ไม่รวมอาคารจอดแล้วจร) ตามพระราชบัญญัติการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย พ.ศ. 2543 มาตรา 75 (5) ซึ่งใช้ข้อมูลทางการเงินของโครงการฯ ณ วันที่ 30 กันยายน 2561 และข้อมูลประมาณการทางการเงิน ณ วันที่ 31 มีนาคม 2562 เป็นข้อมูลอ้างอิง

ทั้งนี้เพื่อดำเนินการตามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ การมอบหมายให้กรุงเทพมหานคร (กทม.) เป็นผู้บริหารจัดการเดินรถ โครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียว ช่วงหมอชิต-สะพานใหม่-คูคต และ ช่วงแบริ่ง-สมุทรปราการ ระหว่างกระทรวงคมนาคม (คค.) รฟม., กทม. และ กระทรวงการคลัง (กค.) เมื่อวันที่ 28 มีนาคม 2559

“เรื่องนี้เป็นการขอความเห็นชอบในการเปลี่ยนผู้รับผิดชอบโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียว ช่วงแบริ่ง-สมุทรปราการ และช่วงหมอชิต-สะพานใหม่-คูคต จากเดิม รฟม. เป็น กทม. ซึ่งเป็นการดำเนินการตามมติคณะกรรมการจัดระบบการจราจรทางบกและได้มีการหารือกันระหว่างหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในเรื่องนี้ (คค., รฟม., กค., กทม.) มาตั้งแต่ปี 2559 และได้มีการนำเสนอคณะรัฐมนตรีรับทราบหลักการในการเปลี่ยนแปลงผู้รับผิดชอบโครงการดังกล่าว รวมทั้งความคืบหน้าในการดำเนินการมาโดยตลอด”

อนึ่ง การเปลี่ยนแปลงผู้รับผิดชอบโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียว ช่วงแบริ่ง-สมุทรปราการ และช่วงหมอชิต-สะพานใหม่-คูคต ดังกล่าว จะทำให้การบริหารจัดการเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ และเป็นเอกภาพมากขึ้นเมื่อเปรียบเทียบกับกรณี รฟม. เป็นหน่วยงานบริหารจัดการ เนื่องจากปัจจุบัน กทม. เป็นหน่วยงานที่รับผิดชอบการบริหารจัดการรถไฟฟ้าสายสีเขียว ช่วงหมอชิต-แบริ่ง โดยมีบริษัท ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) (BTS) เป็นผู้รับสัมปทานการเดินรถในเส้นทางดังกล่าว ทั้งนี้ เมื่อมีการจำหน่ายทรัพย์สินในครั้งนี้แล้ว กทม. จะรับผิดชอบโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียว ตั้งแต่ช่วงคูคต-สมุทรปราการ รวมทั้งสิ้น 47 สถานี ระยะทาง 55.95 กิโลเมตร

นอกจากนี้ ในการเปลี่ยนผู้รับผิดชอบโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียว ช่วงแบริ่ง-สมุทรปราการ และช่วงหมอชิต-สะพานใหม่-คูคต จากเดิม รฟม. เป็น กทม. จะต้องมีการดำเนินการโอนทรัพย์สินและหนี้สินของการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทยให้กรุงเทพมหานคร ซึ่งการดำเนินการโอนทรัพย์สินและหนี้สินจะทำให้กรุงเทพมหานครมีภาระค่าใช้จ่ายเป็นเงิน 51,785.37 ล้านบาท (ประกอบด้วย ค่างานโครงสร้างพื้นฐาน วงเงินไม่เกิน 44,429 ล้านบาท และค่าชดใช้เงินค่าจัดกรรมสิทธิ์และดอกเบี้ย และค่าธรรมเนียมเงินกู้ของค่างานโครงสร้างพื้นฐานที่สำนักงบประมาณได้จัดสรรงบประมาณเพื่อชำระไปแล้ว วงเงินไม่เกิน 7,356.37 ล้านบาท)

ซึ่งสภากรุงเทพมหานครได้ออกข้อบัญญัติกรุงเทพมหานคร เรื่อง การกู้เงินเพื่อใช้ในการรับโอนทรัพย์สินและหนี้สินของโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียวฯ จำนวน 51,785.37 ล้านบาท เรียบร้อยแล้ว ครม. จึงมีมติให้ กทม. กู้เงินจำนวนดังกล่าวต่อจากกระทรวงการคลังเพื่อใช้ในการรับโอนทรัพย์สินและหนี้สินของโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียวฯ ด้วยเช่นกัน

การที่กรุงเทพมหานครจะขอกู้เงินต่อจากกระทรวงการคลังเพื่อใช้ในการรับโอนทรัพย์สิน และหนี้สินของโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียว ช่วงหมอชิต-สะพานใหม่-คูคต และช่วงแบริ่ง-สมุทรปราการ นั้น กรุงเทพมหานครสามารถดำเนินการได้ โดยการออกเป็นข้อบัญญัติกรุงเทพมหานครโดยความเห็นชอบของสภากรุงเทพมหานคร

โดยเป็นไปตามนัยพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการกรุงเทพมหานคร พ.ศ. 2528 มาตรา 97 และมาตรา 99 ที่บัญญัติให้ข้อบัญญัติกรุงเทพมหานคร (ซึ่งรวมถึงการกู้เงิน) จะตราขึ้นได้โดยความเห็นชอบของสภากรุงเทพมหานคร ในการนี้ สภากรุงเทพมหานครได้ออกข้อบัญญัติกรุงเทพมหานคร เรื่อง การกู้เงินเพื่อใช้ในการรับโอนทรัพย์สิน และหนี้สินของโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียวฯ ซึ่งได้ประกาศในราชกิจจานุเบกษาและมีผลใช้บังคับแล้วตั้งแต่วันที่ 27 ตุลาคม 2561

ไฟเขียว 30,000 ล้าน ขยายศูนย์ราชการฯ แจ้งวัฒนะ

นายพุทธิพงษ์กล่าวว่า ครม. เห็นชอบหลักการเบื้องต้นในโครงการพัฒนาที่ดินส่วนขยายศูนย์ราชการเฉลิมพระเกียรติ 80 พรรษา 5 ธันวาคม 2550 พื้นที่โซน C ของบริษัทธนารักษ์พัฒนาสินทรัพย์จำกัด (ธพส.) ตามที่กระทรวงการคลังเสนอ ในกรอบวงเงินลงทุนรวม 30,000 ล้านบาท โดยจะเริ่มดำเนินการก่อสร้างในปี 2562 คาดว่าจะแล้วเส็จในปี 2565

โดยรายละเอียดของงบประมาณของโครงการฯ ประกอบด้วยงบประมาณในการก่อสร้าง 2.2 หมื่นล้านบาท ค่าใช้จ่ายอื่นๆ ได้แก่ค่าที่ปรึกษา ค่าเช่า ค่าธรรมเนียม ฯลฯ วงเงิน 6,500 ล้านบาท และวงเงินสำรองเพื่อรองรับการเปลี่ยนแปลงโครงการที่อาจเกิดขึ้นวงเงิน 1,500 ล้านบาท หรือประมาณ 5.26% ของวงเงินงบประมาณ

(ราคาค่าก่อสร้างเฉลี่ยอยู่ที่ 29,633 บาทต่อตารางเมตร ซึ่งเหตุผลที่ราคาค่าก่อสร้างสูงกว่าราคาค่าก่อสร้างของสำนักงบประมาณซึ่งปกติจะอยู่ที่ 22,546.92 บาทต่อตารางเมตรเนื่องจากกำหนดให้ก่อสร้างเป็นอาคารเขียว)

ทั้งนี้ให้กระทรวงการคลังรับไปพิจารณาแหล่งเงินทุนและวิธีระดมทุนที่เหมาะสม รวมทั้งเปรียบเทียบข้อดีและข้อเสียของแต่ละวิธีให้มีความชัดเจน โดยคำนึงถึงต้นทุนทางการเงินและความเหมาะสมคุ้มค่า และได้มอบหมายให้กระทรวงที่เกี่ยวข้องนำไปพิจารณาในส่วนที่ตนเองรับผิดชอบ

นอกจากนี้ นายกรัฐมนตรีได้สั่งการให้พิจารณาถึงอาคารสถานที่เพื่อให้มีความสะดวกแก่ประชาชนโดยเฉพาะพื้นที่จอดรถและพื้นที่การจราจรที่มีความติดขัด ขอให้จัดสรรพื้นที่ให้มีความสะดวกต่อคนทุกกลุ่ม พร้อมออกแบบให้สอดคล้องกับการปฏิบัติงานในอนาคต มุ่งเน้นการใช้ดิจิทัลและแนวคิด Future innovation officer ออกแบบเพื่อการประหยัดพลังงานอย่างยั่งยืน

เห็นชอบ 5 มาตรการ แก้ปมชาวบ้านรุกป่าสงวน

นายพุทธิพงษ์กล่าวว่า ครม. เห็นชอบพื้นที่เป้าหมายและกรอบมาตรการแก้ไขปัญหาการอยู่อาศัยและทำกินในพื้นที่ป่าไม้ทุกประเภท ตามนัยมติคณะกรรมการนโยบายที่ดินแห่งชาติ (คทช.) ครั้ง ที่ 2/2561 เมื่อวันที่ 18 มิถุนายน 2561 เนื่องจากเดิม ครม. มีมติเมื่อวันที่ 30 มิถุนายน 2541 ให้สำรวจรังวัดแปลงที่ดินในพื้นที่ป่าสงวนที่มีประชาชนเข้าไปบุกรุกทำกิน ส่วนที่มีร่องรอยการอยู่อาศัยและทำประโยชน์มาดำเนินการให้ถูกต้องตามกฎหมาย

ซึ่งที่ผ่านมารัฐบาลเดินหน้าแก้ไขการรุกล้ำที่ดินในพื้นที่ป่าไม้ เช่น ป่าสงวนแห่งชาติ ป่าอนุรักษ์ มาอย่างต่อเนื่อง โดยนอกจากการสำรวจตรวจสอบและทำเขตแนวป่าให้ชัดเจนเพื่อให้ง่ายต่อการพิสูจน์ และป้องกันการรุกล้ำโดยไม่เจตนาแล้ว ยังได้มีนโยบายจัดที่ทากินให้ชุมชนในลักษณะแปลงรวม เพื่อช่วยเหลือเกษตรกรและประชาชนยากไร้ด้วยจะเหลือก็แต่พื้นที่บุกรุกส่วนที่เป็นพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติ ลุ่มน้ำชั้นที่ 1-4 ที่มีราษฎรอยู่อาศัยและทำกินอยู่บางส่วนยังไม่ได้นำมาจัดที่ดินทากินให้ถูกต้องตามกฎหมาย มติที่ประชุม คทช. จึงมีแนวทางเป็นกรอบมาตรการ และแบ่งออกเป็น 5 กลุ่ม ดังนี้

กลุ่มที่ 1 ชุมชนในเขตป่าสงวนแห่งชาติ ที่อยู่ในลุ่มน้ำชั้นที่ 3-5 (ที่อยู่มาก่อน มติ ครม. เมื่อ 30 มิถุนายน 2541) กลุ่มนี้ที่ผ่านมาได้มีการจัดที่ดิน โดย คทช. อยู่แล้ว ก็อนุญาตให้เข้าใช้ประโยชน์อยู่อาศัย และทำกินแบบแปลงรวม คราวละไม่น้อยกว่า 5 ปี แต่ไม่เกิน 30 ปี

กลุ่มที่ 2 ชุมชนในเขตป่าสงวนแห่งชาติ ที่อยู่ในลุ่มน้ำชั้นที่ 3-5 (หลังมติ ครม. เมื่อ 30 มิถุนายน 2541) อนุญาตให้อยู่อาศัยและทากินแบบแปลงรวม โดยต้องปลูกป่าเพื่อเศรษฐกิจอย่างน้อยร้อยละ 50 ของพื้นที่และต้องดูแลรักษาไม่ให้มีการบุกรุกเพิ่มเติม ทั้งนี้ผู้ทากินในพืน้ ที่ต้องรวมกลุ่มกันเพื่อร่วมกับองค์กรอื่น เช่น สหกรณ์ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เพื่อออกแบบและขออนุญาตใช้ประโยชน์พื้นที่ โดยกรมป่าไม้จะจัดเจ้าหน้าที่เพื่อให้คาปรึกษาแนะนำ

กลุ่มที่ 3 ชุมชนในเขตป่าสงวนแห่งชาติ ที่อยู่ในพื้นที่ลุ่มน้ำชั้น ที่ 1-2 (ก่อน มติ ครม. เมื่อ 30 มิถุนายน 2541) ให้เจ้าหน้าที่จัดระเบียบการใช้ประโยชน์ที่ดิน เช่น ควบคุมการใช้ที่ดินภายใต้การอนุรักษ์และพัฒนาอย่างยั่งยืน ห้ามบุกรุกและขยายพื้นที่ ฟื้นฟูป่าในรูปแบบการมีส่วนร่วม ส่งเสริมให้ประชาชนปลูกป่า 3 อย่าง ร้อยละ 20 ของพื้นที่ อนุรักษ์ดินและน้ำ ควบคุมผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม ลดการชะล้างพังทลายและปฏิบัติตามที่กรมป่าไม้กำหนด และติดตามควบคุมการใช้ที่ดิน ให้เกิดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมน้อยที่สุด

กลุ่มที่ 4 ชุมชนที่อยู่ในเขตป่าอนุรักษ์ ทั้งก่อนและหลังมติ ครม. เมื่อ 30 มิถุนายน 2541 กำหนดแนวทางไว้ 2 ขั้นตอน คือ 1) สำรวจการครอบครองที่ดินโดยให้มีคณะทำงานสารวจการครอบครองที่ดินระดับพื้นที่รับแจ้งการครอบครองที่ดิน และร่วมกับชุมชน สำรวจการครอบครองที่ดินของราษฎรทุกราย 2) ตรวจสอบและบริหารจัดการพื้นที่โดยให้คณะทางานสำรวจนำผลการสารวจมาตรวจสอบกับ ภาพถ่ายทางอากาศออร์โธสี หรือพิจารณาร่วมกับหลักฐานอื่นๆ หากพบว่าเป็นพื้นที่ล่อแหลมคุกคามต่อระบบนิเวศ ให้ย้ายราษฎรออกไปอยู่ในพื้นที่ที่เหมาะสม แต่หากมีเหตุจำเป็นยังไม่สามารถเคลื่อนย้ายได้ จะจัดระเบียบพื้นที่ให้อยู่เท่าที่จาเป็นต่อการดำรงชีพ และเป็นไปตามหลักการอนุรักษ์พื้นที่ต้นน้ำอย่างเคร่งครัด และในกรณีที่ไม่เป็นพื้นที่ล่อแหลมคุกคามต่อระบบนิเวศ ให้พิจารณาผลสำรวจการครอบครองที่ดินและพิจารณาตามความจาเป็นเพื่อการดำรงชีพ

กลุ่มที่ 5 ชุมชนในพื้นที่ป่าชายเลน มีแนวทาง คือจัดทำเขตการใช้ประโยชน์พื้นที่ป่าชายเลน พร้อมกันส่วนที่จะอนุรักษ์ฟื้นฟู จัดประชุมชี้แจงให้ประชาชนในพื้นที่ทราบและเข้าใจวัตถุประสงค์และแนวทางการดาเนินงาน สำรวจ ตรวจสอบการครอบครองพื้นที่ทำขอบเขต แผนผังบริเวณที่ยังฟื้นฟูได้ทำแผนบริหารจัดการ และโครงการเพื่อการขออนุญาต นำเสนอ ครม. เพื่อขอความเห็นชอบในการใช้ประโยชน์พื้นที่ป่าชายเลน และกรณีที่มีการบุกรุกขยายพื้นที่ครอบครองภายหลังการอนุญาตให้ใช้ประโยชน์ จะบังคับใช้กฎหมายอย่างเข้มงวดและเด็ดขาด

เพิ่มลดหย่อนภาษี บริจาคเงินเข้าพรรคการเมือง

นายพุทธิพงษ์กล่าวว่า ครม. มีมติเห็นชอบในหลักการร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) แก้ไขเพิ่มเติมประมวลรัษฎากร (ฉบับที่ ..) พ.ศ. …. (มาตรการภาษีเพื่อสนับสนุนการบริจาคให้แก่พรรคการเมืองตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ. 2560) ตามที่กระทรวงการคลังเสนอ

โดยสาระสาคัญกำหนดให้ ผู้บริจาคเงินให้แก่พรรคการเมืองมีสิทธินำเงินที่บริจาคไปหักลดหย่อนภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาไม่เกินปีละ 10,000 บาท โดยให้มีผลสำหรับเงินได้ในปี 2561 เป็นต้นไป ส่วนในกรณีนิติบุคคล ให้นำไปเป็นรายจ่ายในการคำนวณภาษีเงินได้นิติบุคคล ไม่เกินปีละ 50,000 บาทโดยให้มีผลบังคับใช้สำหรับรอบบัญชีที่เริ่มในหรือหลังวันที่ 1 มกราคม 2561 เป็นต้นไป

ทั้งนี้ คาดว่าจะทำให้รัฐเสียรายได้ที่คาดว่าจะเกิดจากภาษีเหล่านี้ประมาณปีละ 2,100 ล้านบาท

แก้พ.ร.บ.บริษัทมหาชน อำนวยความสะดวก บจ.

นายพุทธิพงษ์กล่าวว่า ที่ประชุม ครม. มีมติเห็นชอบในหลักการร่างพระราชบัญญัติบริษัทมหาชนจำกัด (ฉบับที่ ..) พ.ศ. …. ตามที่กระทรวงพาณิชย์เสนอ โดยมีสาระสำคัญที่จะนำระบบอิเล็กทรอนิกส์มาใช้ประโยชน์ในทางธุรกิจ เพื่อให้ทันต่อสถานการณ์ปัจจุบัน และอำนวยความสะดวกแก่บริษัทมหาชนจำกัดที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ และเพื่อให้ประชาชนมีโอกาสในการเข้าถึงข้อมูลมากยิ่งขึ้น

โดยมีการแก้ไขเพิ่มเติมใน 6 ประเด็น ดังนี้

1. การเพิ่มช่องทางโฆษณาทางสื่ออิเล็กทรอนิกส์นอกจากทางหนังสือพิมพ์

2. การส่งเอกสาร

3. การประชุมกรรมการผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์

4. การเรียกประชุมกรรมการผ่านวิดีโอคอนเฟอเรนซ์

5. การมอบฉันทะให้บุคคลอื่นเข้าประชุมผู้ถือหุ้นแทนโดยวิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์ (e-proxy)

6. แก้ไขเพิ่มเติมอำนาจรัฐมนตรีผู้รักษาการตามกฎหมายให้ออกประกาศได้เพื่อให้สอดคล้องกับบทบัญญัติที่ได้แก้ไขเพิ่มเติม

ผ่านร่าง กม.ลงชื่อ – ถอดถอนผู้บริหารท้องถิ่น

นายพุทธิพงษ์กล่าวว่า ที่ประชุม ครม. มีมติเห็นชอบในหลักการร่างพระราชบัญญัติว่าด้วยการเข้าชื่อเสนอข้อบัญญัติท้องถิ่น พ.ศ. …. และร่างพระราชบัญญัติว่าด้วยการลงคะแนนเสียงเพื่อถอดถอนสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่น (ฉบับที่ ..) พ.ศ. …. รวม 2 ฉบับ ตามที่กระทรวงมหาดไทยเสนอ

โดยสาระสำคัญของ ร่าง พ.ร.บ.ว่าด้วยการเข้าชื่อฯ เช่น กำหนดให้ผู้มีสิทธิเข้าชื่อร้องขอให้พิจารณาออกข้อบัญญัติ ต้องเป็นผู้มีสิทธิเลือกตั้งในองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) นั้นอยู่ในวันที่ยื่นคำร้อง และการเข้าชื่อเสนอข้อบัญญัติท้องถิ่นต้องมีจำนวนรวมกันไม่น้อยกว่า 1 ใน 5 ของจำนวนผู้มีสิทธิเลือกตั้งใน อปท. นั้น ในวันที่ 1 มกราคม ของปีที่มีการเข้าชื่อฯ สำหรับการเสนอข้อบัญญัติกรุงเทพมหานครต้องมีผู้มีสิทธิเลือกตั้งในกรุงเทพมหานครรวมกันไม่น้อยกว่า 10,000 คน

กำหนดให้มีผู้ริเริ่มซึ่งเป็นผู้มีสิทธิเลือกตั้งในองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น จำนวนไม่น้อยกว่า 20 คน เพื่อดำเนินการจัดให้มีการรวบรวมลายมือชื่อของผู้มีสิทธิเลือกตั้งในองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น กำหนดให้คำร้องขอพิจารณาออกข้อบัญญัติท้องถิ่นประกอบด้วย ชื่อ ที่อยู่ และลายมือชื่อของผู้เข้าชื่อทุกคน พร้อมทั้งสำเนาบัตรประจำตัวประชาชน เนื้อหาสาระของร่างข้อบัญญัติท้องถิ่นที่ประสงค์จะออกเป็นข้อบัญญัติท้องถิ่น เป็นต้น

สำหรับ ร่าง พ.ร.บ.ว่าด้วยการลงคะแนนเสียงเพื่อถอดถอนสมาชิกสภาท้องถิ่นฯ มีสาระสำคัญ เช่น

กำหนดให้การเข้าชื่อเพื่อให้มีการลงคะแนนเสียงถอดถอนสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่น ให้จัดทำเป็นคำร้องพร้อมทั้งบัญชีรายชื่อ โดยต้องมีจำนวนดังนี้

    1) องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ที่มีผู้มีสิทธิเลือกตั้งไม่เกิน 100,000 คน ต้องมีผู้มีสิทธิเข้าชื่อไม่น้อยกว่า 1 ใน 5 ของจำนวนผู้มีสิทธิเลือกตั้ง หรือไม่น้อยกว่า 5,000 คน สุดแต่จำนวนใดจะน้อยกว่า

    2) องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่มีผู้มีสิทธิเลือกตั้งเกิน 100,000 คน แต่ไม่เกิน 1,000,000 คน ต้องมีผู้มีสิทธิเข้าชื่อไม่น้อยกว่า 10,000 คน ของจำนวนผู้มีสิทธิเลือกตั้งในองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นนั้น

    3) องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่มีผู้มีสิทธิเลือกตั้งเกิน 1,000,000 คน ต้องมีผู้มีสิทธิเข้าชื่อไม่น้อยกว่า 20,000 คน ของจำนวนผู้มีสิทธิเลือกตั้งในองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นนั้น

นอกจากนี้ได้กำหนดโทษทางอาญาแก่ผู้ให้ เสนอให้ หรือสัญญาว่าจะให้ หรือจัดเตรียมเพื่อจะให้ทรัพย์สินหรือประโยชน์อื่น หรือข่มขู่เพื่อให้บุคคลใดกระทำการ เช่น เข้าชื่อหรือมิให้เข้าชื่อเพื่อให้มีการลงคะแนนเสียงถอดถอนสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่นรวมทั้งผู้เรียก รับ หรือยอมจะรับทรัพย์สิน หรือประโยชน์อื่นใดเพื่อการดังกล่าว เป็นต้น

ไฟเขียว พม. สร้างเคหะชุมชนวงเงิน 2,612 ล้าน

พ.อ. อธิสิทธิ์ ไชยนุวัติ ผู้ช่วยโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ที่ประชุม ครม. มีมติเห็นชอบการจัดทำโครงการพัฒนาที่อยู่อาศัย ชุดที่ 2 ระยะที่ 1 จำนวน 12 โครงการ รวม 3,365 หน่วย วงเงินลงทุนรวม จำนวน 2,612.883 ล้านบาท ตามที่กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) เสนอ

โดยแบ่งเป็น โครงการเคหะชุมชนและบริการชุมชนเชิงสังคม (10 โครงการ จำนวน 3,094 หน่วย) วงเงินรวม 2,231.392 ล้านบาท สำหรับประชาชนผู้มีรายได้น้อยถึงปานกลาง แบ่งเป็น 2 กลุ่ม ได้แก่ 1) กลุ่มกรุงเทพมหานครและปริมณฑล มีรายได้ประมาณ 26,101-38,300 บาทต่อเดือนต่อครัวเรือน และ 2) กลุ่มภูมิภาค มีรายได้ประมาณ 15,101-22,000 บาทต่อเดือนต่อครัวเรือน

โครงการดังกล่าวจะจัดสร้างที่พักอาศัยในรูปแบบ ได้แก่ บ้านเดี่ยว บ้านแฝด บ้านแถว และทาวน์โฮม จำนวน 2 ชั้น ในพื้นที่ฉะเชิงเทรา สุพรรณบุรี นครนายก เพชรบุรี ลพบุรี สิงห์บุรี ศรีสะเกษ สกลนคร ชุมพร ปัตตานี ก่อสร้างบนที่ดินของ กคช. ทั้งหมด ราคาขายต่อหน่วยประมาณ 650,000-850,000 บาท

และโครงการเคหะชุมชนและบริการชุมชนเชิงพาณิชย์ (2 โครงการ จำนวน 271 หน่วย) วงเงินรวม 381.491 ล้านบาท สำหรับประชาชนผู้มีรายได้ปานกลางค่อนข้างสูง แบ่งเป็น 2 กลุ่ม ได้แก่ 1) กลุ่มกรุงเทพมหานครและปริมณฑล มีรายได้ประมาณ 59,701 บาทขึ้นไปต่อเดือนต่อครัวเรือน และ 2) กลุ่มภูมิภาค มีรายได้ประมาณ 34,701 บาทขึ้นไปต่อเดือนต่อครัวเรือน มีที่อยู่อาศัยที่ได้มาตรฐาน พร้อมระบบสาธารณูปโภค

โครงการดังกล่าวจะจัดสร้างในพื้นที่ สมุทรปราการ และศรีสะเกษ ก่อสร้างบนที่ดินของ กคช. ทั้งหมด ราคาขายต่อหน่วย ประมาณ 1.8-2.2 ล้านบาท ซึ่งจะมีการเก็บเงินดาวน์ล่วงหน้าในอัตราร้อยละ 15-20 ของราคาขาย

ทั้งนี้ การจัดหาและการค้ำประกันเงินกู้ภายในประเทศและการจัดสรรเงินอุดหนุนจากรัฐบาลให้เป็นไปตามความเห็นกระทรวงการคลัง และสำนักงบประมาณ

จัดงบฯ 115 ล้าน สร้างบ้านเช่า จ. เพชรบุรี เฟส 2

พ.อ. อธิสิทธิ์ กล่าวว่า ที่ประชุม ครม. เห็นชอบการจัดทำโครงการอาคารเช่าสำหรับผู้มีรายได้น้อย ระยะที่ 2 ประจำปี 2559 จ.เพชรบุรี (โพธิ์ไร่หวาน) โดยใช้งบประมาณ 115.64 ล้านบาท แบ่งเป็น เงินกู้ภายในประเทศ 8.63 ล้านบาท และเงินอุดหนุนของรัฐบาลจำนวน 107.01 ล้านบาท เพื่อแก้ไขปัญหาเรื่องที่อยู่อาศัยให้กับประชาชนผู้มีรายได้น้อยทั่วไป ที่ยังไม่สามารถซื้อที่อยู่อาศัยเป็นของตนเองได้และยังไม่สามารถเข้าถึงที่อยู่อาศัยที่ได้มาตรฐานในตลาดได้

โดยประเภทอาคารสำหรับโครงการนี้เป็น อาคารพักอาศัยสูง 4 ชั้น ห้องพักขนาด 28 ตารางเมตร ออกแบบตามหลักเพื่อการใช้งานของคนทุกกลุ่มในสังคม (universal design) รวมทั้งหมด 246 หน่วย ซึ่งผู้เช่าจะต้องเป็นผู้มีรายได้น้อย คือ มีรายได้ประมาณ 9,501-14,600 บาทต่อเดือนต่อครัวเรือน อัตราการเช่าไม่เกิน 1,700 บาทต่อเดือน

แก้พ.ร.บ.ข้อมูลข่าวสาร เปิดโอกาส “ต่างชาติ” เข้าถึงข้อมูล

รายงานข่าวจากทำเนียบรัฐบาลระบุว่า ที่ประชุม ครม. มีมติเห็นชอบในหลักการร่างพระราชบัญญัติข้อมูลข่าวสารของราชการ (ฉบับที่ ..) พ.ศ. …. ตามที่สำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรีเสนอ โดยมีสาระสำคัญที่น่าสนใจ เช่น แก้ไขเพิ่มเติมบทบัญญัติเกี่ยวกับสิทธิในการเข้าถึงข้อมูลข่าวสารของบุคคลต่างด้าว โดยให้ยกเลิกนิยามคำว่า “คนต่างด้าว” และเปิดกว้างให้คนต่างด้าวมีสิทธิเท่าเทียมกับคนสัญชาติไทยในการเข้าถึงข้อมูล มิใช่มีสิทธิเฉพาะตามที่กำหนดโดยกฎกระทรวงเท่านั้น

กำหนดให้หน่วยงานของรัฐต้องจัดให้มีข้อมูลข่าวสารของราชการ ที่เป็นข้อมูลข่าวสารสาธารณะไว้ให้ประชาชนเข้าตรวจดูได้โดยไม่ต้องร้องขอ และแก้ไขเพิ่มเติมข้อมูลข่าวสารที่หน่วยงานของรัฐต้องจัดไว้ให้ประชาชนเข้าตรวจดูได้ กำหนดวิธีการเผยแพร่หรือเปิดเผยข้อมูลข่าวสารของราชการที่ลงพิมพ์ในราชกิจจานุเบกษาหรือที่หน่วยงานของรัฐต้องจัดไว้ให้ประชาชนเข้าตรวจดูได้

นอกจากนี้ยังกำหนดระยะเวลาในการพิจารณาเปิดเผยข้อมูลข่าวสารตามที่ได้รับคำขอให้ชัดเจนมากยิ่งขึ้น รวมถึงกำหนดให้มีคณะกรรมการข้อมูลข่าวสารประจำหน่วยงานเพื่อจัดวางระบบการเปิดเผยข้อมูลข่าวสารของราชการและทำหน้าที่พิจารณากลั่นกรองการเปิดเผยข้อมูลข่าวสารของราชการตามที่หน่วยงานของรัฐได้รับคำขอ และกำหนดมาตรการบังคับสำหรับเจ้าหน้าที่ของรัฐในการเปิดเผยข้อมูลข่าวสารของราชการ

และยังกำหนดหลักเกณฑ์ในการรักษาความปลอดภัยของข้อมูลข่าวสารส่วนบุคคลกรณีที่มีการเปิดเผยข้อมูลข่าวสารของราชการด้วยวิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์ระหว่างหน่วยงานของรัฐ เช่น การเข้าถึงและการใช้งานสารสนเทศ อุปกรณ์ ระบบ และสถานที่ การตรวจสอบและประเมินความเสี่ยงด้านสารสนเทศอย่างสม่ำเสมอ เป็นต้น รวมถึงกำหนดให้ผู้อุทธรณ์ที่ไม่เห็นด้วยกับคำวินิจฉัยของคณะกรรมการวินิจฉัยการเปิดเผยข้อมูลข่าวสารมีสิทธิฟ้องคดีต่อศาลปกครองสูงสุดได้

ปรับ MOU จ้างเวียดนาม ทำงานในไทยเพิ่ม

รายงานข่าวจากทำเนียบรัฐบาล ระบุว่า ที่ประชุม ครม. มีมติเห็นชอบในหลักการให้ปรับปรุงบันทึกข้อตกลงด้านการจ้างงานระหว่างรัฐบาลไทยกับเวียดนาม เพื่อเปิดโอกาสให้แรงงานต่างด้าวสัญชาติเวียดนามเข้ามาทำงานในไทยเพิ่มเติม โดยให้แรงงานต่างด้าวสัญชาติเวียดนามที่นำเข้าตามร่างบันทึกความเข้าใจดังกล่าวสามารถทำงานรับใช้ในบ้านและงานกรรมกรในทุกประเภทกิจการได้เช่นเดียวกับแรงงานต่างด้าวสัญชาติกัมพูชา ลาว และเมียนมา

ทั้งนี้ ให้กระทรวงแรงงานเจรจากับเวียดนามเกี่ยวกับประเภทกิจการที่จะเปิดโอกาสให้แรงงานต่างด้าวสัญชาติเวียดนามเข้ามาทำงานเพิ่มเติม ให้ได้ข้อยุติที่ชัดเจน โดยคำนึงถึงความสอดคล้องกับกฎหมายที่เกี่ยวข้อง ผลประโยชน์และความมั่นคงของชาติ โอกาสในการประกอบอาชีพและวิชาชีพของคนไทย รวมถึงความต้องการแรงงานต่างด้าวที่จำเป็นต่อการพัฒนาประเทศ แล้วนำเสนอบันทึกข้อตกลงที่ปรับปรุงแล้วต่อคณะรัฐมนตรีพิจารณาอีกครั้งหนึ่งก่อนดำเนินการต่อไป

อนึ่งเมื่อวันที่ 14 กรกฎาคม 2548 ครม. ได้ให้ความเห็นชอบบันทึกข้อตกลงด้านการจ้างงานระหว่างรัฐบาลไทยกับเวียดนาม โดยให้แรงงานเวียดนามเข้ามาทำงานในไทยด้านก่อสร้างและประมงทะเล แต่พบว่า มีแรงงานต่างด้าวสัญชาติเวียดนามจำนวนน้อยที่ประสงค์จะเข้าทำงานกรรมกรในกิจการก่อสร้างและประมงทะเลตามที่กำหนดไว้ในบันทึกข้อตกลงฯ ประกอบกับปัจจุบันยังมีแรงงานต่างด้าวสัญชาติเวียดนามลักลอบทำงานประเภทอื่นซึ่งมิได้ระบุไว้ในบันทึกข้อตกลงดังกล่าวด้วย

ดังนั้น เพื่อแก้ไขปัญหาการขาดแคลนแรงงานและส่งเสริมให้มีการจ้างแรงงานต่างด้าวที่ถูกต้องตามกฎหมาย จึงได้มีมติให้เพิ่มประเภทแรงงานให้แรงงานต่างด้าวสัญชาติเวียดนามที่นำเข้าตามบันทึกความเข้าใจฯ สามารถทำงานรับใช้ในบ้านและงานกรรมกรในทุกประเภทกิจการ โดยครอบคลุม 25 กิจการ เช่น กิจการประมง กิจการเกษตรและปศุสัตว์ กิจการก่อสร้าง กิจการต่อเนื่องประมงทะเล กิจการต่อเนื่องการเกษตร กิจการต่อเนื่องปศุสัตว์ เป็นต้น

เห็นชอบร่างกม.กำกับดูแลธุรกิจประกันฯ 2 ฉบับ

นายลวรณ แสงสนิท ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง ในฐานะโฆษกกระทรวงการคลัง ได้เปิดเผยว่า ครม. เห็นชอบร่างพระราชบัญญัติประกันชีวิต (ฉบับที่ ..) พ.ศ. …. และร่างพระราชบัญญัติประกันวินาศภัย (ฉบับที่ ..) พ.ศ. …. กลุ่มที่ 2 บทบัญญัติเกี่ยวกับการเสริมสร้างเสถียรภาพและความมั่นคงของบริษัท (ร่าง พ.ร.บ.ประกันชีวิตฯ และร่าง พ.ร.บ.ประกันวินาศภัยฯ กลุ่มที่ 2) ที่กระทรวงการคลังเสนอ โดยร่าง พ.ร.บ.ประกันชีวิตฯ และร่าง พ.ร.บ.ประกันวินาศภัยฯ กลุ่มที่ 2 มีสาระสำคัญในการแก้ไขเพิ่มเติม ดังนี้

  • แก้ไขบทบัญญัติเกี่ยวกับลักษณะต้องห้ามของกรรมการ หรือผู้มีอำนาจในการจัดการให้มีความเหมาะสม และกำหนดให้การแต่งตั้งกรรมการหรือผู้มีอำนาจในการจัดการต้องได้รับความเห็นชอบจากนายทะเบียน รวมทั้งกำหนดบทบาทหน้าที่ความรับผิดชอบของกรรมการบริษัท และกำหนดหลักเกณฑ์ให้บริษัทต้องปฏิบัติเพื่อให้มีระบบการกำกับดูแลกิจการที่ดี เป็นไปตามมาตรฐานสากล และเพื่อคุ้มครองประโยชน์ของผู้เอาประกันภัย
  • กำหนดบทบัญญัติเพื่อใช้ในการกำกับดูแลผู้ถือหุ้นของบริษัทเพื่อให้ทราบแหล่งที่มาของเงินทุนและมีความโปร่งใส โดยกำหนดให้มีการรายงานการถือหุ้นตั้งแต่ร้อยละ 5 หรือขอรับความเห็นชอบการถือหุ้นตั้งแต่ร้อยละ 10
  • แก้ไขบทบัญญัติเกี่ยวกับการดำรงเงินกองทุนและการบริหารสินทรัพย์ของบริษัทให้เป็นไปตามมาตรฐานสากล โดยกำหนดให้บริษัทต้องดำรงเงินกองทุนขั้นต่ำ และคณะกรรมการสามารถกำหนดให้บริษัทดำรงเงินกองทุนเพิ่มเติมได้ในกรณีที่ปรากฏว่าบริษัทมีความเสี่ยงสูง หรือคาดว่าจะมีความเสี่ยงเพิ่มขึ้นในอนาคต
  • กำหนดให้บริษัทต้องมีนักคณิตศาสตร์ประกันภัยประจำบริษัทตลอดเวลาที่ประกอบธุรกิจเพื่อทำหน้าที่รับรองการวิเคราะห์ทางการเงินและแสดงความเห็นต่อคณะกรรมการบริษัท และปรับปรุงคุณสมบัติและบทบาทอำนาจหน้าที่ของนักคณิตศาสตร์ประกันภัยให้สอดคล้องกับมาตรฐานสากล รวมทั้งให้แจ้งต่อนายทะเบียนได้เมื่อพบเหตุอันควรสงสัยว่ามีการทุจริตเกิดขึ้นในบริษัท ตลอดจนปรับปรุงบทกำหนดโทษให้เหมาะสมยิ่งขึ้นโดยพิจารณาตามความร้ายแรงของการกระทำ
  • กำหนดให้การจัดทำบัญชี สมุดทะเบียน ตลอดจนการจัดทำและยื่นงบการเงินต้องเป็นไปตามมาตรฐานการบัญชีและที่คณะกรรมการกำหนด ซึ่งผู้สอบบัญชีของบริษัทต้องได้รับความเห็นชอบจากนายทะเบียน และนายทะเบียนมีอำนาจแต่งตั้งผู้สอบบัญชีหรือผู้ชำนาญการเฉพาะด้านเพื่อดำเนินการตรวจสอบได้หากเห็นว่าสมุดทะเบียน สมุดบัญชี งบการเงิน ข้อมูล รายงาน เอกสาร หรือคำชี้แจง ไม่ถูกต้อง ไม่ครบถ้วน คลุมเครือไม่ชัดเจน ตลอดจนต้องดำเนินการประกาศรายการงบการเงินให้ประชาชนทราบ
  • กำหนดกระบวนการแก้ไขฐานะและการดำเนินงานของบริษัทให้เป็นรูปธรรม ลดการใช้ดุลพินิจ และเกิดความชัดเจนต่อภาคธุรกิจ โดยกรณีที่บริษัทมีเงินกองทุนต่ำกว่าอัตราที่กฎหมายกำหนดให้สามารถเข้าแทรกแซงได้ 3 ระดับ คือ ระดับที่ 1 เสนอโครงการเพื่อแก้ไขฐานะการเงินเมื่อเงินกองทุนต่ำกว่าอัตราที่กฎหมายกำหนด (CAR Ratio ร้อยละ 100) ระดับที่ 2 มีคำสั่งเข้าควบคุมบริษัท (กรณีบริษัทประกันชีวิต) และมีคำสั่งให้หยุดรับประกันวินาศภัยเป็นการชั่วคราว (กรณีบริษัทประกันวินาศภัย)

เมื่อบริษัทมีเงินกองทุนต่ำกว่าอัตราที่กฎหมายกำหนดร้อยละ 60 และระดับที่ 3 ปิดกิจการและเสนอเพิกถอนใบอนุญาตเมื่อเงินกองทุนต่ำกว่าอัตราที่กฎหมายกำหนดร้อยละ 35 และกำหนดกรณีที่ถือว่าบริษัทมีฐานะหรือการดำเนินงานอยู่ในลักษณะอันอาจเป็นเหตุให้เกิดความเสียหายแก่ผู้เอาประกันภัยให้มีความชัดเจน เพื่อประโยชน์ในการใช้มาตรการแทรกแซง หรือมีคำสั่งให้บริษัทแก้ไขฐานะหรือการดำเนินงานเมื่อเกิดกรณีดังกล่าว ตลอดจนการรายงานให้รัฐมนตรีทราบเมื่อมีการใช้มาตรการแทรกแซง (เมื่อเข้าแทรกแซงในระดับที่ 2) พร้อมทั้งแจ้งให้ตลาดหลักทรัพย์ทราบด้วย ในกรณีที่บริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ เพื่อเป็นการคุ้มครองผู้ลงทุน

  • กำหนดรายละเอียดเกี่ยวกับการเปิดเผยข้อมูลเกี่ยวกับธุรกิจประกันภัย พร้อมทั้งการรักษาความลับของข้อมูลระหว่างสำนักงานกับผู้ที่ได้รับข้อมูล (ผู้ที่ได้รับข้อมูลเชิงลึกเกี่ยวกับธุรกิจประกันภัยทุกรายและทุกหน่วยงานไม่ว่าจะเป็นหน่วยงานในประเทศหรือต่างประเทศ)

ร่าง พ.ร.บ.ประกันชีวิตฯ และร่าง พ.ร.บ.ประกันวินาศภัยฯ ทั้ง 2 ฉบับ ดังกล่าว จะช่วยส่งเสริมให้บริษัทประกันภัยมีความพร้อมของระบบงานและบุคลากร ตลอดจนระบบการกำกับดูแลกิจการที่ดี รวมทั้งมีการสร้างกระบวนการในการแก้ไขปัญหาเกี่ยวกับฐานะการเงินและการดำเนินงานของบริษัทประกันภัยให้เป็นรูปธรรมและลดการใช้ดุลพินิจของเจ้าหน้าที่ เพื่อให้เกิดความชัดเจนกับภาคธุรกิจในการใช้อำนาจรัฐ ซึ่งกลไกดังกล่าวจะช่วยสนับสนุนให้ภาคการประกันภัยมีเสถียรภาพและความมั่นคงทางการเงิน อันจะเป็นปัจจัยสนับสนุนให้ระบบเศรษฐกิจของประเทศมีความแข็งแกร่งมากยิ่งขึ้น

โดยหลังจากนี้ จะเป็นขั้นตอนการตรวจพิจารณาร่าง พ.ร.บ.ประกันชีวิตฯ และร่าง พ.ร.บ.ประกันวินาศภัยฯ ของสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา ซึ่งเมื่อแล้วเสร็จ จะเข้าสู่กระบวนการพิจารณาของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ และนำขึ้นทูลเกล้าฯ ถวายเพื่อทรงลงพระปรมาภิไธย ก่อนจะลงประกาศในราชกิจจานุเบกษาเพื่อให้มีผลบังคับใช้ต่อไป

ตั้ง “อรรถพล” นั่งอธิบดีกรมป่าไม้ – “ภูเวียง” คุมกรมอุตุฯ

พ.อ.หญิง ทักษดา สังขจันทร์ ผู้ช่วยโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ครม. มีมติแต่งตั้งข้าราชการดังต่อไปนี้

  • กระทรวงพาณิชย์ (พณ.) แต่งตั้งโฆษก พณ. และรองโฆษก พณ. (ตามคำสั่ง พณ. ที่ 3/93/2561 เรื่อง การแต่งตั้งโฆษก พณ. และรองโฆษก พณ.) ดังนี้ 1. นายสมศักดิ์ เกียรติชัยลักษณ์ เป็นโฆษกกระทรวงพาณิชย์ 2. นายสุพพัต อ่องแสงคุณ เป็นรองโฆษกกระทรวงพาณิชย์
  • กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา (กก.) เสนอการเปลี่ยนแปลงโฆษกประจำ กก. ซึ่งแต่งตั้งให้ นายสันติ ป่าหวาย รองปลัดกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา เป็น โฆษก กก. แทน นายสุพจน์ วงศ์พรหมท้าว ผู้อำนวยการกองกลาง สำนักงานปลัดกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา ทั้งนี้ ตามคำสั่ง กก. ที่ 833/2561 เรื่อง แต่งตั้งโฆษกกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา สั่ง ณ วันที่ 30 ตุลาคม 2561
  • สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาเสนอแต่งตั้ง นายโกมล จิรชัยสุทธิกุล กรรมการร่างกฎหมายประจำ (นักกฎหมายกฤษฎีกาทรงคุณวุฒิ) สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา ให้ดำรงตำแหน่ง รองเลขาธิการคณะกรรมการกฤษฎีกา สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา สำนักนายกรัฐมนตรี เพื่อทดแทนตำแหน่งที่ว่าง ตั้งแต่วันที่ 16 พฤศจิกายน 2561 ซึ่งเป็นวันที่มีคำสั่งให้รักษาราชการแทนในตำแหน่งดังกล่าว ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ทรง พระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมแต่งตั้งเป็นต้นไป
  • กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมเสนอแต่งตั้งข้าราชการพลเรือนสามัญ สังกัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ให้ดำรงตำแหน่งประเภทบริหารระดับสูง จำนวน 5 ราย ดังนี้

1. นายสมหมาย เตชวาล รองอธิบดีกรมทรัพยากรธรณี ดำรงตำแหน่ง อธิบดีกรมทรัพยากรธรณี
2. นายอรรถพล เจริญชันษา รองอธิบดีกรมป่าไม้ ดำรงตำแหน่ง อธิบดีกรมป่าไม้
3. นายศักดิ์ดา วิเชียรศิลป์ รองอธิบดีกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง ดำรงตำแหน่ง ผู้ตรวจราชการกระทรวง สำนักงานปลัดกระทรวง
4. นายโสภณ ทองดี รองอธิบดีกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง ดำรงตำแหน่ง ผู้ตรวจราชการกระทรวง สำนักงานปลัดกระทรวง
5. นายภาดล ถาวรกฤชรัตน์ รองอธิบดีกรมทรัพยากรน้ำ ดำรงตำแหน่ง ผู้ตรวจราชการกระทรวง สำนักงานปลัดกระทรวง
ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมแต่งตั้งเป็นต้นไป เพื่อทดแทนตำแหน่งที่ว่าง

  • กระทรวงเกษตรและสหกรณ์เสนอแต่งตั้ง นายอนันต์ สุวรรณรัตน์ ปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เป็นประธานกรรมการในคณะกรรมการบริหารสำนักงานพัฒนาการวิจัยการเกษตร แทน นายเลิศวิโรจน์ โกวัฒนะ ปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ที่เกษียณอายุราชการ ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ 26 พฤศจิกายน 2561 เป็นต้นไป
  • สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรีเสนอให้กรรมการผู้ช่วยรัฐมนตรี ซึ่งจะครบวาระการดำรงตำแหน่งหนึ่งปี ในวันที่ 11 ธันวาคม 2561 คงอยู่ปฏิบัติหน้าที่ต่ออีกหนึ่งวาระ ตั้งแต่วันที่ 12 ธันวาคม 2561 จำนวน 3 ราย ดังนี้

1. หม่อมหลวงปนัดดา ดิศกุล ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำนายกรัฐมนตรี อยู่ในบังคับบัญชารัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม
2. นางจินตนา ชัยยวรรณาการ ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำนายกรัฐมนตรี อยู่ในบังคับบัญชารัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์
3. พลเอก ปัฐมพงศ์ ประถมภัฏ ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี อยู่ในบังคับบัญชา รองนายกรัฐมนตรี (พลเอก ฉัตรชัย สาริกัลยะ)

  • กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์เสนอแต่งตั้ง ข้าราชการพลเรือนสามัญ สังกัดกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ให้ดำรงตำแหน่งประเภทบริหารระดับสูง จำนวน 2 ราย ดังนี้

1. นางพัชรี อาระยะกุล รองอธิบดีกรมกิจการสตรีและสถาบันครอบครัว ดำรงตำแหน่ง ผู้ตรวจราชการกระทรวง สำนักงานปลัดกระทรวง
2. นางสุจิตรา พิทยานรเศรษฐ์ รองอธิบดีกรมพัฒนาสังคมและสวัสดิการ ดำรงตำแหน่ง ผู้ตรวจราชการกระทรวง สำนักงานปลัดกระทรวง
ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมแต่งตั้งเป็นต้นไป เพื่อทดแทนตำแหน่งที่ว่าง

  • กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมเสนอแต่งตั้งข้าราชการพลเรือนสามัญ สังกัดกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ให้ดำรงตำแหน่งประเภทบริหารระดับสูง จำนวน 2 ราย ดังนี้

1. นายขจิต สุขุม ผู้ช่วยปลัดกระทรวง สำนักงานปลัดกระทรวง ดำรงตำแหน่ง ผู้ตรวจราชการกระทรวง สำนักงานปลัดกระทรวง
2. นายภูเวียง ประคำมินทร์ รองอธิบดีกรมอุตุนิยมวิทยา ดำรงตำแหน่ง อธิบดีกรมอุตุนิยมวิทยา
ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมแต่งตั้งเป็นต้นไป เพื่อทดแทนตำแหน่งที่ว่าง

อ่านมติ ครม.ประจำวันที่ 26 พฤศจิกายน 2561เพิ่มเติม