ThaiPublica > เกาะกระแส > “ไบโอไทย” แจงเบื้องหลังมติอัปยศ ถอนมติไม่แบน 3 สารพิษร้ายแรง

“ไบโอไทย” แจงเบื้องหลังมติอัปยศ ถอนมติไม่แบน 3 สารพิษร้ายแรง

21 สิงหาคม 2018


เมื่อวันที่ 20 สิงหาคม 2561 นายวิฑูรย์ เลี่ยนจำรูญ ผู้อำนวยการมูลนิธิชีววิถี (BioThai) (ขวามือ) และนางสาวปรกชล อู๋ทรัพย์ ผู้ประสานงาน เครือข่ายเตือนภัยสารเคมีกำจัดศัตรูพืช (Thai-PAN) แถลงข่าว “รายงานอัปลักษณ์ เบื้องหลังมติอัปยศ ไม่แบนสารพิษร้ายแรง พาราควอต คลอร์ไพริฟอส และไกลโฟเซต” ณ สวนชีววิถี ต.ไทรม้า อ.เมือง จ.นนทบุรี

วันที่ 20 สิงหาคม 2561 นายวิฑูรย์ เลี่ยนจำรูญ ผู้อำนวยการ มูลนิธิชีววิถี (BioThai) และนางสาวปรกชล อู๋ทรัพย์ ผู้ประสานงาน เครือข่ายเตือนภัยสารเคมีกำจัดศัตรูพืช (Thai-PAN) แถลงข่าวต่อสื่อมวลชนเรื่อง “รายงานอัปลักษณ์ เบื้องหลังมติอัปยศ ไม่แบนสารพิษร้ายแรง พาราควอต คลอร์ไพริฟอส และไกลโฟเซต” ณ สวนชีววิถี ต.ไทรม้า อ.เมือง จ.นนทบุรี โดยนำรายงานของ “คณะกรรมการวัตถุอันตราย” กรณีลงมติ “ไม่แบน” สารพิษร้ายแรงทั้ง 3 ชนิด สวนทางศาลสหรัฐฯ ที่มีคำสั่งให้ยกเลิกการใช้ และให้บริษัทจ่ายค่าเสียหายนับหมื่นล้านบาทแก่ประชาชนที่ได้รับผลกระทบ

นายวิฑูรย์กล่าวว่า ตามที่ “คณะอนุกรรมการเฉพาะกิจพิจารณาการควบคุมวัตถุอันตราย พาราควอต คลอร์ไพริฟอส และไกลโฟเซต” ได้มีมติเมื่อวันที่ 23 พฤษภาคม 2561 “ไม่แบน” สารพิษที่มีความเสี่ยงสูงทั้ง 3 ชนิด ทั้งๆ ที่สารพิษกำจัดวัชพืชพาราควอตมีประเทศต่างๆ สั่งแบนไปแล้ว 51 ประเทศ และเตรียมการแบนในปี 2020 อีก 2 ประเทศ คือ จีนและบราซิล เนื่องจากเป็นสารมีพิษเฉียบพลันสูง ไม่มียาถอนพิษ และยังมีความสัมพันธ์กับโรคพาร์คินสัน ข้อมูลเหล่านี้ไม่ถูกนำมาใส่ในบทสรุปของผู้บริหาร เพื่อให้คณะกรรมการวัตถุอันตรายใช้ประกอบการพิจารณาลงมติ

ขณะที่คลอร์ไพริฟอสนั้นเป็นสารพิษที่มีผลกระทบต่อพัฒนาการทางสมองของเด็กและทารก ศาลสหรัฐฯ ได้มีคำพิพากษาเมื่อวันที่ 9 สิงหาคม 2561 สั่งการให้สำนักงานสิ่งแวดล้อมสหรัฐฯ (EPA) ดำเนินการ “แบน” สารชนิดนี้ภายใน 60 วัน เช่นเดียวกับที่ไกลโฟเซต ซึ่งสถาบันมะเร็งนานาชาติ (IARC) ขององค์การอนามัยโลกประกาศให้เป็นสารน่าจะก่อมะเร็งนั้น ศาลสหรัฐฯ เพิ่งตัดสินให้บริษัท มอนซานโต้จ่ายค่าเสียหายแก่ประชาชนที่ได้รับผลกระทบมีมูลค่าสูงเกือบหนึ่งหมื่นล้านบาท

“หากอ่านเอกสารดังกล่าวโดยละเอียดพบว่ามีประเด็นข้อสงสัยอยู่ 11 ประการ ได้แก่ 1. จงใจเลือกข้อมูลมาสนับสนุนให้มีการใช้สารพิษต่อ 2. ซ่อนข้อมูลผลกระทบแบบเนียนๆ 3. โยนทิ้งงานวิจัยที่น่าเชื่อถือ 4. บิดเบือนเหตุผลการเสนอแบน 5. แปรข้อมูลปิดบังความเสี่ยง 6. ปฏิเสธงานวิจัยใหม่ๆ 7. อ้างข้อสรุปปัญหาเล็กบิดบังปัญหาใหญ่ 8. เลือกใช้ข้อมูลจากบรรษัท 9. โยนบาปว่าเป็นความผิดของเกษตรกร 10. ละเลยไม่นำเสนอทางเลือกที่ดีกว่า และ 11. มีการลงมติชี้นำกรรมการวัตถุอันตราย ทั้งๆ ที่อนุกรรมการเหล่านี้มาจากฝ่ายที่สนับสนุนให้มีการใช้สารพิษอันตรายมาตั้งแต่ต้น” นายวิฑูรย์กล่าว

  • เครือข่ายสนับสนุนการแบนสารพิษร้ายแรงยื่น 3 ข้อเสนอต่อรัฐบาล ยกเลิกการใช้พาราควอตและคลอร์ไพริฟอส
  • เครือข่ายสนับสนุนการแบนสารพิษที่มีอันตรายร้ายแรง ชี้ไม่แบน “พาราควอต” บทบาทซ้อนทับ-ผลประโยชน์ทับซ้อนและความไม่โปร่งใส?
  • นักวิชาการแจงข้อเท็จจริงสารเคมีอันตรายกำจัดศัตรูพืช หนุนยกเลิก พาราควอต ไกลโฟเซต และคลอร์ไพริฟอส
  • ไขปม “พาราควอต” คอร์รัปชันภาคเกษตร? – จุดยืน รมช.เกษตร “วิวัฒน์ ศัลยกำธร” เสนอ “ใบอนุญาตใช้สารเคมี”
  • นางสาวปรกชล อู๋ทรัพย์ กล่าวว่า คณะอนุกรรมการเฉพาะกิจชุดนี้ไม่นำประเด็นที่เป็นสาเหตุหลักของการแบนมาใส่ในรายงานของคณะอนุกรรมการเฉพาะกิจชุดนี้หลายประเด็น ยกตัวอย่าง กรณีสำนักงานสิ่งแวดล้อมสหรัฐฯ ออกประกาศครั้งล่าสุด ให้พาราควอตเป็นสารพิษที่มีพิษเฉียบพลันสูง แค่จิบเดียวก็ตายได้ โดยที่ไม่มียาถอนพิษ ส่วนกรณีของสารคลอร์ไพริฟอส ในรายงานของคณะอนุกรรมการเฉพาะกิจยอมรับว่าตรวจพบความสัมพันธ์ระหว่างคลอร์ไพริฟอสและพัฒนาการของสมองเด็ก แต่ซ่อนเนื้อหาสำคัญส่วนนี้ไว้ในประโยคอื่นๆ

    นอกจากนี้ ยังมีความพยายามปิดกั้นการนำเสนอข้อมูลการตรวจพบสารพาราควอตตกค้างในขี้เทาของทารกแรกเกิดของมหาวิทยาลัยมหิดล (ปนในอุจจาระ) โดยอ้างว่างานวิจัยชิ้นนี้ยังไม่มีการตีพิมพ์ แต่กลับนำเอาข้อมูลซึ่งไม่มีการตีพิมพ์ของหน่วยงานที่สนับสนุนการใช้สารพิษต่อ เช่น การวิจัยของบริษัทมอนซานโต้, สมาคมวิทยาการวัชพืช และบทความในวารสารการเกษตรที่มีรายได้สำคัญมาจากค่าโฆษณาขายสารเคมีมาใช้ในรายงานเป็นจำนวนมาก เป็นต้น

    “กระบวนการจัดทำรายงานฉบับนี้จึงเป็นการศึกษาที่ไม่อาจยอมรับได้ โดยคณะอนุกรรมการเฉพาะกิจซึ่งส่วนใหญ่แสดงจุดยืนสนับสนุนการใช้ลงมติ ชี้นำให้มีการใช้สารพิษทั้ง 3 สาร และต่อมาข้อมูลเหล่านี้ได้ถูกใช้ไปเพื่อเสนอต่อคณะกรรมการวัตถุอันตรายคณะใหญ่ และนำไปสู่การลงมติอัปยศ ให้มีการใช้สารพิษทั้ง 3 ชนิดต่อ เมื่อวันที่ 23 พฤษภาคม 2561 โดยในการแถลงครั้งนี้ ได้เปิดเผยให้เห็นว่ามีคณะกรรมการเพียงไม่กี่คนเท่านั้นที่ลงมติปกป้องผลประโยชน์ของประชาชน” นางสาวปรกชลกล่าว

    นายวิฑูรย์กล่าวต่อว่า ปัญหาเกิดขึ้นจากผลประโยชน์ทับซ้อนในกลไกตามกฎหมาย และปัญหาเชิงโครงสร้างของกฎหมาย ที่ให้อำนาจในการแบนหรือไม่แบนสารใดให้ขึ้นอยู่กับกระทรวงเกษตรและสหกรณ์เป็นหลัก ทั้งๆ ที่ข้อเท็จจริงในเรื่องอำนาจการพิจารณาควรอยู่กับหน่วยงานที่ดูแลสุขภาพมากกว่า จึงจำเป็นต้องมีการแก้ไข พ.ร.บ.วัตถุอันตรายดังกล่าว และออกแบบกฎหมายให้โปร่งใส เพื่อให้ประชาชนมีส่วนร่วม และสามารถตรวจสอบได้

    นอกจากนี้ ทางมูลนิธิชีววิถี มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค และเครือข่ายภาคประชาชน 700 องค์กร เตรียมยื่นคำร้องต่อศาลปกครองกลางภายใน 2 สัปดาห์ เพื่อขอให้ศาลสั่งเพิกถอนมติคณะกรรมการวัตถุอันตราย กรณีมีมติให้ใช้สารพิษทั้ง 3 ชนิดต่อไป เนื่องจากกระบวนการพิจารณาและศึกษาเป็นไปอย่างไม่โปร่งใส มีผลประโยชน์ทับซ้อน และอาจขัดต่อมาตรา 12 แห่ง พ.ร.บ.วัตถุอันตราย

    “การแบนสารพิษร้ายแรงทั้ง 3 ชนิดจะสำเร็จหรือไม่ ขึ้นอยู่กับการมีส่วนร่วมของประชาชนทุกภาคส่วน เราไม่คาดหวังให้การเปลี่ยนแปลงนี้มาจากการใช้อำนาจพิเศษ เพราะปัญหารากฐานของเรื่องนี้เป็นปัญหาเชิงโครงสร้าง ซึ่งการตื่นขึ้นของเกษตรกรและผู้บริโภคจะเป็นผู้ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงขึ้น จากข้อมูลกรมศุลกากรพบว่า ในแต่ละปีมีการนำเข้าสารพิษทั้ง 3 ชนิด คิดเป็นมูลค่าเฉลี่ย 15,000-17,000 ล้านบาทต่อปี หรือคิดเป็นสัดส่วนประมาณ 50% ของมูลค่าการน้ำเข้าสารพิษทั้งหมด” นายวิฑูรย์กล่าว

    นายวิฑูรย์ เลี่ยนจำรูญ ผู้อำนวยการมูลนิธิชีววิถี (BioThai)

    ศาลสหรัฐฯสั่ง EPA ห้ามการขายคลอร์ไพริฟอส

    เมื่อวันที่ 9 สิงหาคม 2561 ศาลอุทธรณ์ภายใต้ระบบศาลรัฐบาลกลางสหรัฐฯได้มีคำสั่งให้สำนักงานปกป้องสิ่งแวดล้อม (Environmental Protection Agency: EPA) ห้ามขายคลอร์ไพริฟอส (chlorpyrifos) ภายใน 60 วัน โดยคณะผู้พิพากษาลงมติ 2-1 ให้เวลา EPA ถึง 2 เดือนเพื่อพิจารณาการห้ามขายคลอร์ไพริฟอส

    คำตัดสินของศาลเป็นผลจากความพยายามมานานนับสิบปีของกลุ่มเคลื่อนไหวด้านสิ่งแวดล้อมและสาธารณสุขที่ผลักดันการห้ามใช้สารกำจัดศัตรูพืช คลอร์ไพริฟอส ซึ่งเป็นสารกำจัดแมลงศัตรูพืชที่มีผลต่อการบกพร่องของพัฒนาการในเด็กและก่อให้เกิดปัญหาสุขภาพเด็ก

    ในตลาด มีการใช้สารคลอร์ไพริฟอสกันมากในผลิตผลการเกษตรมากกว่า 50 ประเภททั้งผลไม้ ถั่ว ซีเรียล ผัก แอปเปิล อัลมอนด์ ส้มและบรอกโคลี เฉพาะที่แคลิฟอร์เนียรัฐเดียวมีการใช้กันในพื้นที่กว้างถึง 640,000 เอเคอร์ในปี 2016

    การห้ามขายคลอร์ไพริฟอส คาดว่ามีผลกระทบต่อธุรกิจ เพราะก่อนหน้านี้ EPA ประสบความสำเร็จในการดำเนินการให้ทำเนียบขาวยกเลิกการห้ามขาย โดยในเดือนมีนาคมก่อนหน้าที่นายสกอตต์ พรูตต์ จะได้รับการแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการสำนักงาน EPA ได้ปฏิเสธข้อเรียกร้องของกลุ่มเคลื่อนไหวด้านสิ่งแวดล้อมและสาธารณสุขที่ขอให้ห้ามขายสารกำจัดศัตรูพืช แม้นักวิทยาศาสตร์ของ EPA แนะนำว่าควรห้ามในตลาด โดยอ้างอิงผลการศึกษาสุขภาพที่พบว่าอันตรายต่อสุขภาพเด็ก โดยเฉพาะในครอบครัวที่ทำงานในภาคเกษตร

    กลุ่มเคลื่อนไหวด้านสิ่งแวดล้อมและสาธารณสุขได้ยื่นฟ้องในปีที่ผ่านมา โดยมีอัยการจากหลายรัฐทั้งแคลิฟอร์เนีย แมสซาชูเซตส์ เข้าร่วมฟ้องคดีนี้ด้วย หลังจากที่เดือนมีนาคมนายสกอตต์ พรูตต์ ผู้อำนวยการสำนักงาน EPA ยกเลิกข้อเสนอที่ทำขึ้นในปี 2015 สมัยประธานาธิบดีบารัก โอบามา ห้ามใช้สารกำจัดศัตรูพืชกับอาหาร และยังเห็นด้วยกับบริษัทดาวดูปองท์ที่ระบุว่างานวิจัยของนักวิทยาศาสตร์นั้นไม่ครอบถ้วนและมีข้อบกพร่อง

    คำสั่งศาลระบุว่า นายพรูตต์มีการกระทำที่ขัดต่อกฎหมาย เพราะไม่ให้ความสนใจต่อข้อสรุปของนักวิทยาศาสตร์ที่ว่าสารคลอร์ไพริฟอส เป็นสารอันตราย โดยผู้พิพากษาศาลอุทธรณ์ เจด เอส. เรคอฟฟ์ เขียนไว้ในความเห็นประกอบการพิจาณาคดีว่า คณะผู้พิพากษาเห็นว่า การตัดสินใจของ EPA ในปี 2017 ไม่มีเหตุผลที่จะคงคลอร์ไพริฟอสไว้ เพราะมีหลักฐานทางวิทยาศาสตร์แล้วว่าสารที่ตกค้างในอาหารนั้นเป็นต้นเหตุของการพัฒนาการทางระบบประสาทที่บกพร่องในเด็ก

    ผู้พิพากษาเรคอฟฟ์กล่าวว่า ในช่วงมากกว่า 2 ทศวรรษนี้ นักวิทยาศาสตร์ของสำนักงาน EPA มีการบันทึกผลของคลอร์ไพริฟอสที่จะกระทบต่อการพัฒนาสุขภาพกายและใจของเด็กทารกและเด็ก แต่ EPA กลับดึงเรื่องไว้หลายปีที่จะไม่ห้ามการใช้ รวมทั้งยังตำหนิสำนักงาน EPA ว่า ล้มเหลวที่จะคัดค้านนายพรูตต์

    โฆษกสำนักงาน EPA นายไมเคิล แอบบูลด์ กล่าวว่า สำนักงานกำลังทบทวนคำสั่งศาล และอาจจะยื่นอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา

    ทางด้านกลุ่มเคลื่อนไหวด้านสิ่งแวดล้อมและสาธารณสุขกล่าวว่า คำสั่งศาลถือว่าเป็นชัยชนะที่มีผลต่อสุขภาพสาธารณชน

    คลอร์ไพริฟอสคิดค้นและผลิตขึ้นในปี 1960 โดยผู้ผลิตชั้นนำ คือ บริษัทดาวดูปองท์ และยังคงใช้อยู่ในกลุ่มเกษตรกรของสหรัฐฯ ส่งผลให้บริษัทฯ มียอดขายราว 2.27 ล้านกิโลกรัมต่อปีในสหรัฐฯ ผ่านการจำหน่ายของบริษัทลูก Dow AgroSciences และยังคงใช้มาในกลุ่มเกษตรกรไทย

    ในปี 2000 บริษัทดาวดูปองท์ได้ถอนคลอร์พิไรฟอสออจากการใช้เป็นสารกำจัดแมลงภายในบ้าน ต่อมาปี 2012 สำนักงาน EPA ได้กำหนดพื้นที่ห้ามฉีดยาฆ่าแมลงในพื้นที่อ่อนไหว เช่น โรงเรียน

    ในรอบ 4 ทศวรรษที่ผ่านมา คลอร์ไพริฟอสพบโดยทั่วไปในน้ำดื่ม โดยผลการศึกษาปี 2012 ของมหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนียแอทเบิร์กเลย์พบว่า 87% ของกลุ่มตัวอย่างการทดสอบการตรวจเลือดจากสายสะดือเด็กแรกเกิด มีการตกค้างของสารกำจัดศัตรูพืชในระดับที่ตรวจวัดได้สารกำจัดแมลงที่มีส่วนผสมของคลอร์ไพริฟอส รู้จักกันในชื่อ ลอร์สแบน (lorsban) ใช้กันมากในกลุ่มเกษตรกรมากว่าครึ่งศตวรรษ

    เกรก ชมิดท์ โฆษกบริษัทดาวดูปองท์ กล่าวในแถลงการณ์ของบริษัทว่า คลอร์ไพริฟอสคือเครื่องมือสำคัญของเกษตรกรทั่วโลกในการจัดการกับแมลงจำนวนมาก และหน่วยงานใน 79 ประเทศได้พิจารณาข้อมูลทางวิทยาศาสตร์ มีประเมินผลิตภัณฑ์อย่างรอบคอบ รวมทั้งประโยชน์ที่ได้รับ และยังอนุญาตให้ใช้ต่อไป และยังเพิ่มเติมอีกว่า บริษัทคาดว่าจะมีการพิจารณาหลายแนวทางในการอุทธรณ์ต่อการตัดสินใจ และยังคงสนับสนุนเกษตรกรที่ต้องการผลิตภัณฑ์ที่สำคัญ

    ศาลสหรัฐฯสั่งมอนซานโต้จ่ายชดเชย

    ศาลรัฐแคลิฟอร์เนียของสหรัฐฯ มีคำพิพากษาให้ บริษัทมอนซานโต้จ่ายเงินชดเชยจำนวน 289 ล้านดอลลาร์ให้นายดิเวน จอห์นสัน อดีตผู้ดูแลสนามหญ้าของโรงเรียนแห่งหนึ่งที่กำลังจะตายด้วยโรคมะเร็ง จากผลกระทบในการใช้สารเคมีกำจัดวัชพืชหรือยาฆ่าหญ้า Roundup (ราวด์อัป) ที่มีไกลโฟเซต สารอันตราย เป็นส่วนประกอบหลัก

    คณะลูกขุนซานฟรานซิสโกซึ่งเริ่มเปิดการไต่สวนมาตั้งแต่เดือนกรกฎาคม ใช้เวลาพิจารณาคดีร่วม 3 วันลงความเห็นว่า ราวด์อัป ยาฆ่าหญ้าที่นิยมใช้กันมากในโลก เป็นสาเหตุที่ทำให้นายจอห์นสันเป็นโรคมะเร็ง และให้บริษัทมอนซานโต้จ่ายเงิน 250 ล้านดอลลาร์เป็นเพื่อเป็นการลงโทษบริษัท และอีก 39 ล้านดอลลาร์เพื่อเป็นการชดเชย

    คณะลูกขุนยังได้พิจารณาด้วยว่า บริษัทได้ละเลยการเตือนผู้บริโภคถึงอันตรายจากสารหรือไม่ โดยคำถามอยู่ที่ว่า ราวด์อัป หรือไกลโฟเซต เป็นสารก่อมะเร็งหรือไม่ ถ้าหากว่าใช่ บริษัทละเลยที่จะเตือนผู้บริโภคถึงภัยนี้หรือไม่ และหลังจากพิจารณาแล้วคณะลูกขุนจึงพิจารณาให้นายจอห์นสันชนะคดี

    ชัยชนะของนายจอห์นสันคาดว่าจะเป็นกรณีตัวอย่างและเป็นบรรทัดฐานให้กับคดีอื่นที่มีการฟ้องร้องบริษัทมอนซานโต้อีกหลายพันคดี ที่กล่าวหาว่ายาฆ่าหญ้าของบริษัทมีผลทำให้เป็นโรคมะเร็งต่อมน้ำเหลืองชนิดน็อน-ฮอดจ์คิน (non-Hodgkin’s lymphoma)

    คดีของนายจอห์นสันเป็นคดีแรกที่มีการพิจารณาตัดสิน เนื่องจากแพทย์ระบุว่านายจอห์นสันจะมีชีวิตได้อีกไม่นาน และในแคลิฟอร์เนียระบบศาลอนุญาตให้โจทย์ที่มีชีวิตที่เหลืออีกไม่นานได้รับการพิจารณาคดีอย่างเร่งด่วน

    สำนักข่าว CNN รายงานในปีก่อนว่า มีผู้ป่วยกว่า 800 รายได้ยื่นฟ้องร้องบริษัทมอนซานโต้ โดยอ้างว่ายาฆ่าหญ้าราวด์อัปทำให้พวกเขาป่วยด้วยโรคมะเร็ง หลังจากนั้นส่งผลให้มีผู้ฟ้องร้องมอนซานโต้เพิ่มขึ้นหลายร้อยคน ทั้งตัวผู้ป่วยเอง ครอบครัว สามี ภรรยา เรียกร้องให้บริษัทจ่ายเงินชดเชย

    นายจอห์นสัน อายุ 46 ปี ผู้ดูแลสนามหญ้าของโรงเรียนแห่งหนึ่งใกล้กับซานฟรานซิสโก ได้ใช้ยาฆ่าหญ้าราวด์อัปและเรนเจอร์โปร 20-30 ครั้งต่อปี โดยระหว่างที่ปฏิบัติงานนั้นเกิดอุบัติเหตุขึ้น 2 ครั้งทำให้น้ำยารดตัวจนเปียกชุ่ม ซึ่งครั้งแรกเกิดขึ้นในปี 2012 ต่อมาในปี 2014 แพทย์ตรวจพบว่านายจอห์นสันเป็นโรคมะเร็งต่อมน้ำเหลืองชนิดน็อน-ฮอดจ์คิน โดยมีแผลเป็นตุ่มพุพองเกือบทั่วร่างกาย และบางวันไม่สามารถพูดได้

    ในเดือนมีนาคม 2015 องค์กรวิจัยนานาชาติด้านมะเร็งขององค์การสหประชาชาติ (International Agency for Research on Cancer: IARC) ขององค์การอนามัยโลก (World Health Organization) ให้ข้อมูลว่า สารประกอบที่สำคัญในราวด์อัป ไกลโฟเซต อาจจะเป็นสารที่ก่อมะเร็งในคน (probably carcinogenic to humans)

    หลังจากที่ศาลมีคำตัดสิน บริษัทมอนซานโต้ออกแถลงการณ์โดยอ้างผู้บริหารระดับสูง นายสกอตต์ พาร์ทริดจ์ ว่า บริษัทยึดผลการศึกษาหลายชิ้นที่ระบุว่าราวด์อัปไม่ได้เป็นสาเหตุของการเกิดโรคมะเร็ง และจะอุทธรณ์ต่อการตัดสิน รวมทั้งยังคงต่อสู้เพื่อผลิตภัณฑ์ที่ในรอบประวัติศาสตร์ 40 ปีที่ผ่านมานี้ มีความปลอดภัยจากการใช้ และยังคงมีความจำเป็น เป็นเครื่องมือที่มีประสิทธิภาพและปลอดภัยต่อเกษตรกรและกลุ่มอื่น

    ทนายความของนายจอห์นสันกล่าวว่า การยื่นอุทธรณ์จะทำให้มอนซานโต้มีค่าใช้จ่ายมากขึ้นเพราะต้องจ่ายดอกเบี้ยค่าชดเชยระหว่างรอการอุทธรณ์ประมาณ 25 ล้านดอลลาร์ต่อปี

    แต่มอนซานโต้ยืนยันมาตลอดว่าราวด์อัปไม่ได้เป็นสาเหตุของการเกิดมะเร็ง และมีรายงานการศึกษาอีกจำนวนมากที่ระบุว่าไกลโฟเซตมีความปลอดภัย โดยมีผลการศึกษาทางวิทยาศาสตร์มากกว่า 800 ชิ้น อีกทั้งสำนักงาน EPA สหรัฐฯ สถาบันอนามัยแห่งชาติ และหน่วยงานด้านกำกับดูแลทั่วโลกสรุปว่าไกลโฟเซตมีความปลอดภัยที่จะใช้และไม่ได้ก่อให้เกิดมะเร็ง

    นายพาร์ทริดจ์อ้างผลการศึกษา Agricultural Health Study ที่ศึกษาผลกระทบจากการใช้สารกำจัดศัตรูพืชต่อเกษตรและครอบครัวในช่วงปี 1933-2013 ว่า มีเกษตรกรจำนวนมากที่ใช้ราวด์อัปและยาฆ่าหญ้าสูตรอื่นมาตั้งแต่เปิดตัวในตลาด และก็ไม่มีผลต่อการเป็นเนื้องอกชนิดแข็งหรือมะเร็งรวมไปถึงโรคมะเร็งต่อมน้ำเหลืองชนิดน็อน-ฮอดจ์คิน และไกลโฟเซตจึงไม่ใช่สาเหตุ

    ทนายความของนายจอห์นสันกล่าวว่า ไกลโฟเซตไม่ใช่ประเด็นหลัก แต่อยู่ที่ราวด์อัป เพราะปฏิกิริยาของส่วนผสมอื่นกับไกลโฟเซตในราวด์อัป คือ ผล ที่ทำให้ผลิตภัณฑ์นั้นเป็นสารก่อมะเร็ง

    ทนายความของนายจอห์นสันยังกล่าวอีกว่า ยังมีคดีในลักษณะเดียวกันนี้อีกกว่า 4,000 คดี ที่รอการพิจารณาของศาลในหลายรัฐ โดยคาดว่า 400 คดีจะนำเข้าสู่การดำเนินคดีของรัฐบาลกลางหลายเขตซึ่งคล้ายกับการฟ้องกลุ่ม

    บริษัทมอนซานโต้ ก่อตั้งในปี 1901 ผลิตสารแทนความหวานที่มีชื่อเสียงคือปซกคารีน ต่อมา ขยายธุรกิจไปผลิตสารเคมีเพื่ออุตสากรรมและธุรกิจยา ส่งผลให้กลายผู้ผลิตยา แอสไพริน กรด acetylsalicyclic รายใหญ่ของโลก และขยายต่อเนื่องมาสู่ธุรกิจสารเคมีทางการเกษตร จนผลิตราวด์อัปในปี 1976

    ในปีนี้ Bayer ได้เข้าซื้อกิจการของมอนซานโต้สำเร็จด้วยมูลค่า 63,000 ล้านดอลลาร์ กลายเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่รายเดียวตั้งแต่วันที่ 7 มิถุนายน 2561และจะดำเนินการเปลี่ยนชื่อเป็น Bayer

    แถลงการณ์ในเว็บไซต์บริษัทมอนซานโต้เมื่อวันที่ 16 สิงหาคม 2561 Bayer กล่าวว่า ในกรณีคำตัดสินของคณะลูกขุนเมื่อวันที่ 10 สิงหาคมนั้น บริษัทมองว่าเป็นสิ่งที่ไม่สอดคล้องกันนัก ระหว่างน้ำหนักทางด้านวิทยาศาสตร์ กับสิ่งที่โลกประสบในหลายสิบปี รวมทั้งหน่วยงานกำกับดูแลในโลกยืนยันว่าไกลโฟเซตมีความปลอดภัยและไม่ใช่สารก่อมะเร็งต่อมน้ำเหลืองชนิดน็อน-ฮอดจ์คิน

    เมื่อเร็วๆ นี้สำนักงานอนามัยแห่งชาติ (NIH) ยืนยันว่าไกลโฟเซตไม่ได้ทำให้เป็นมะเร็ง ขณะที่สำนักงาน EPA หน่วยงานความปลอดภัยอาหารแห่งสหภาพยุโรป (European Food Safety Authority: EFSA) องค์การจัดการสารเคมีแห่งสหภาพยุโรป European Chemical Agency (ECHA) และอีกหลายหน่วยงานทั่วโลกก็สรุปว่าไกลโฟเซตปลอดภัยที่จะใช้

    แถลงการณ์ระบุอีกว่า การตัดสินครั้งนี้เป็นเพียงการเริ่มต้นของคดีนี้และยังขึ้นอยู่กับการดำเนินการหลังจากนี้ในศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ ตามที่มอนซานโต้ประกาศไว้ แต่ Bayer เชื่อว่าศาลในที่สุดจะพบว่ามอนซานโตและไกลโฟเซตไม่ได้มีส่วนการเจ็บป่วยของนายจอห์นสัน Bayer ไม่สามารถเข้าถึงรายละเอียดของคดีนี้ได้ตามข้อบังคับของกฎหมาย ดังนั้น Bayer ไม่สามารถมีส่วนในคดีนี้ที่เกี่ยวข้องกับมอนซานโต้ได้ รวมทั้งไม่สามารถให้ความเห็นได้

    เรียบเรียงจากnytimes,washingtonpost,cbsnews,CNN,