ThaiPublica > เกาะกระแส > สธ. เห็นชอบ 3 สารเคมีเกษตรควร “แบน” อันตรายต่อแม่และเด็ก ปนเปื้อนแหล่งน้ำ-กรมวิชาการเกษตรชี้ขอนำเรื่องเข้า คกก. วัตถุอันตราย

สธ. เห็นชอบ 3 สารเคมีเกษตรควร “แบน” อันตรายต่อแม่และเด็ก ปนเปื้อนแหล่งน้ำ-กรมวิชาการเกษตรชี้ขอนำเรื่องเข้า คกก. วัตถุอันตราย

17 กันยายน 2017


เครือข่ายเตือนภัยสารเคมีกำจัดศัตรูพืช (Thai-PAN) สภาเกษตรกรแห่งชาติ มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค กรีนพีซ เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ มูลนิธิชีววิถี (BIOTHAI) เครือข่ายเกษตรกรรมทางเลือก เครือข่ายเกษตรอินทรีย์ เครือข่ายความมั่นทางอาหาร และตัวแทนเครือข่ายองค์กรท้องถิ่นจากทั่วประเทศ จัดแถลงข่าว “รวมพลังสนับสนุนการแบนสารพิษ”

เมื่อสารกำจัดศัตรูพืชถูกใช้อย่างไม่เหมาะสม ทำให้ไม่ใช่แค่เพียงผัก-ผลไม้ที่อาบสารพิษ แต่สิ่งแวดล้อมก็กำลังถูกย้อมไปด้วยสารเคมีเล่านี้ และตกค้างมาสู่ร่างกายมนุษย์ ดั้งนั้น เมื่อวันที่ 5 เมษายน 2560 ที่ผ่านมา ศาสตราจารย์คลินิก เกียรติคุณ นายแพทย์ปิยะสกล สกลสัตยาทร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข พร้อมผู้บริหารระดับสูงของกระทรวงสาธารณสุข ได้ประกาศมติของคณะกรรมการขับเคลื่อนปัญหาการใช้สารเคมีป้องกันกำจัดศัตรูพืชที่มีความเสี่ยงสูง ซึ่งประกอบไปด้วยคณะกรรมการจาก 4 กระทรวงหลัก ได้แก่ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กระทรวงอุตสาหกรรม และกระทรวงสาธารณสุข ให้มีการดำเนินการเพื่อยกเลิกการใช้สารเคมีกำจัดวัชพืช “พาราควอต” และสารเคมีกำจัดแมลง “คลอร์ไพริฟอส” ให้แล้วเสร็จภายในระยะเวลา 2 ปี (สิ้นเดือนธันวาคม 2562 )

ส่วน “ไกลโฟเซต” สารเคมีกำจัดวัชพืชซึ่งมีปริมาณการนำเข้ามากที่สุดและถูกจัดว่าเป็นสารน่าจะก่อมะเร็งโดยองค์การอนามัยโลกนั้น จะมีการจำกัดการใช้ในพื้นที่ต้นน้ำ ป่าไม้ พื้นที่สาธารณะ ลำน้ำ แหล่งน้ำ ชุมชน โดยเฉพาะโรงเรียน โรงพยาบาล และศูนย์เด็กเล็ก ซึ่งการดำเนินการดังกล่าวเป็นความพยายามในการคุ้มครองความปลอดภัยของเกษตรกร ผู้บริโภค และเป็นการคุ้มครองสิ่งแวดล้อมจากสารเคมีกำจัดศัตรูพืชที่มีอันตรายร้ายแรง

ต่อมามีการหารือร่วมกันระหว่างกรมวิชาการเกษตรและกลุ่มเอ็นจีโอแต่ยังไม่ได้ข้อสรุปที่ชัดเจน ซึ่งกรมวิชาการเกษตรระบุว่า หลักฐานที่กลุ่มเอ็นจีโอนำมาใช้พิจารณาให้มีการยกเลิก หรือจำกัดการใช้สารเคมีกำจัดศัตรูพืช 3 ชนิดข้างต้นยังขาดความเป็นวิทยาศาตร์ ซึ่งทางกรมขอเป็นผู้พิจารณามาตรการต่างๆ ต่อไปเอง ขณะที่ด้านบริษัท ซินเจนทา ประเทศไทย จำกัด ผู้นำเข้า “พาราควอต” มาจัดจำหน่ายในชื่อ “กรัมม็อกโซน” ออกมาชี้แจงผลกระทบที่เกษตรกรต้องรับภาระด้านต้นทุนการผลิตสูงขึ้นหากยกเลิกการใช้สารเคมีดังกล่าว

เมื่อวันที่ 11 กันยายน 2560 เครือข่ายเตือนภัยสารเคมีกำจัดศัตรูพืช (Thai-PAN) สภาเกษตรกรแห่งชาติ มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค กรีนพีซ เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ มูลนิธิชีววิถี (BIOTHAI) เครือข่ายเกษตรกรรมทางเลือก เครือข่ายเกษตรอินทรีย์ เครือข่ายความมั่นคงทางอาหาร และตัวแทนเครือข่ายองค์กรท้องถิ่นจากทั่วประเทศ จึงได้จัดแถลงข่าว “รวมพลังสนับสนุนการแบนสารพิษ”  ชี้แจงข้อโต้แย้งจากกรมวิชาการเกษตร และบริษัทซินเจนทาฯ รวมไปถึงเปิดเผยข้อมูลทางวิทยาศาสตร์ และเหตุผลทางเศรษฐกิจ สุขภาพ และสิ่งแวดล้อม เพื่อสนับสนุนการแบนพาราควอต คลอร์ไพริฟอส และจำกัดการใช้ไกลโฟเซต (สมุดปกขาว รายละเอียดข้อมูลฉบับเต็ม)

Thai-PAN ชี้ 3 สารเคมีตกค้างสิ่งแวดล้อม อันตรายต่อแม่และเด็ก

นางสาวปรกชล อู๋ทรัพย์ ผู้ประสานงานเครือข่ายเตือนภัยสารเคมีกำจัดศัตรูพืช กล่าวว่า คณะกรรมการขับเคลื่อนปัญหาการใช้สารเคมีกำจัดศัตรูพืชที่มีความเสี่ยงสูง ตั้งขึ้นเพื่อดูปัญหาที่เกิดจากการใช้สารเคมี 3 ชนิด ได้แก่ พาราควอต สารกำจัดวัชพืช คอร์ไพริฟอส ไกลโฟเซต ซึ่งเป็นสารกำจัดแมลง ซึ่งคณะกรรมการชุดนี้ประกอบไปด้วยข้าราชการจาก 4 กระทรวงหลัก ได้แก่ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กระทรวงอุตสาหกรรม และกระทรวงสาธารณสุข นักวิชาการเฉพาะด้าน ได้มีการรวบรวมข้อมูลและทำการประชุม 4 ครั้ง พิจารณาข้อมูลที่สำคัญ 7 ด้าน ปริมาณการนำเข้า การกระจายของสารเคมีในพื้นที่ต่างๆ การใช้ประโยชน์ โทษของสารเคมี ความเสียหายทางเศรษฐกิจ ผลกระทบต่อสุขภาพของประชาชน และการทดแทนสารเคมีเมื่อมีการยกเลิกการใช้หรือจำกัดการใช้

“ไม่ได้หมายความว่าจะยกเลิกโดยทันที แต่จะมีช่วงของการปรับเปลี่ยน ช่วงของการให้ความรู้ ให้ข้อมูลทางเลือก พัฒนาทางเลือกหรือวิธีการทดแทนอื่นๆ เข้ามาในช่วงนี้ ซึ่งช่วงนี้จะมีการลดและยุติการขึ้นทะเบียนไปโดยลำดับ ไกลโฟเซต จะเป็นการจำกัดการใช้โดยห้ามใช้ในพื้นที่เปราะบาง เช่น พื้นที่ต้นน้ำ พื้นที่สาธารณะ โรงเรียน โรงพยาบาล ศูนย์เด็กเล็ก” นางสาวปรกชลกล่าว

พาราควอต – พิษเฉียบพลันสูง พบปนเปื้อนแหล่งน้ำสำคัญในไทย

นางสาวปรกชลกล่าวว่า เหตุผลที่ต้องยกเลิกการใช้พาราควอตเนื่องจากมีพิษเฉียบพลันสูง ไม่มียาถอนพิษ เป็นสาเหตุหนึ่งของโรคพาร์กินสัน มีผลต่อระบบประสาทสัมพันธ์กับโรคเนื้อเน่าหนังเน่าในพื้นที่ต่างๆ เมื่อมีการดูดซึมผ่านผิวหนังทำให้เป็นพิษถึงตาย ซึ่งในปัจจุบันมี 48 ประเทศที่ยกเลิกใช้แล้ว และมีการจำกัดการใช้อย่างเข้มงวด

โดย Thai-PAN ได้ยกงานวิจัยเพื่อสนับสนุนการยกเลิกใช้สารเคมีกำจัดศัตรูพืชดังกล่าว เช่น ค่าความเป็นพิษในสัตว์ทดลองที่บ่งชี้ว่า ผู้ได้รับสารพิษมีโอกาสเสียชีวิตเมื่อได้รับพาราควอตประมาณ 1 ช้อนชา, ข้อมูลจากศูนย์พิษวิทยารามาธิบดี ระบุอัตราการเสียชีวิตของผู้ป่วยในไทยที่ได้รับสารทางผิวหนัง 10.2% และอีก 14% เสียชีวิตจากการได้รับสารพิษชนิดนี้โดยอุบัติเหตุ ซึ่งเป็นอัตราการเสียชีวิตจากสารกำจัดศัตรูพืชที่สูงที่สุดในประเทศไทย, ข้อสรุปจากองค์การพิทักษ์สิ่งแวดล้อมสหรัฐอเมริกา (US-EPA) ตั้งแต่ปี 2540 ระบุว่า หลังลงพื้นที่ศึกษาในคนงานพบว่า การสัมผัสกับพาราควอตของคนงานที่ใช้เครื่องพ่นแบบสะพายหลังทั้งของผู้ผสม ผู้บรรจุ ผู้ใช้ ตลอดจนเครื่องพ่นแบบความดันต่ำ อยู่ในเกณฑ์ที่ยอมรับไม่ได้ แม้ว่าพวกเขาจะแต่งกายรัดกุม และสวมถุงมือกันสารเคมีแล้วก็ตาม ตลอดจนงานวิจัยในต่างประเทศที่ตีพิมพ์ในวารสาร Neurology จำนวน 104 เรื่อง ยืนยันว่าการสัมผัสสารพาราควอตมีความเสี่ยงต่อการเกิดโรคพาร์กินสัน

สิ่งที่น่าเป็นกังวลคือ พาราควอตไม่เพียงส่งผลต่อเกษตรกร แต่สามารถส่งผลกระทบต่อประชาชนทั่วไปได้ เนื่องจากงานวิจัยของสถานวิจัยเพื่อความเป็นเลิศทางวิชาการด้านวิจัยและนวัตกรรมเพื่อสิ่งแวดล้อมมหาวิทยาลัยนเรศวร ระหว่างปี 2555-2557 พบว่ามีการปนเปื้อนในน้ำผิวดิน น้ำใต้ดิน น้ำประปา น้ำดื่มบรรจุขวด และปลาที่จับจากแม่น้ำน่าน ซึ่งอาจส่งผลให้เกิดการตกค้างในพืชผัก และปลาในแหล่งน้ำ กรมวิชาการเกษตรและงานวิจัยอื่นในอดีตพบว่า มีการแพร่กระจายของพาราควอตสูงกว่าสารกำจัดศัตรูพืชอื่นในแม่น้ำหลายแห่งของไทย เช่น แม่น้ำเจ้าพระยา แม่น้ำสงคราม แม่น้ำปากพนัง และแม่น้ำจันทบุรี

“การใช้พาราควอตในประเทศไทยยังส่งผลกระทบต่อเนื่องไปยังมารดาและทารกที่ไม่ใช่เกษตรกรด้วย โดยงานวิจัยของ ศ. ดร.พรพิมล กองทิพย์ คณะสาธารณสุขศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล พบการตกค้างของพาราควอตในซีรัมมารดาและสายสะดือทารกมากถึง 17-20% อย่างไรก็ตาม พบว่าหญิงตั้งครรภ์ที่มีประวัติการขุดดินในพื้นที่เกษตรมีความเสี่ยงในการตรวจพบพาราควอต คิดเป็น 6 เท่าของหญิงตั้งครรภ์ที่ไม่มีการขุดดิน” นางสาวปรกชลกล่าว

คลอร์ไพริฟอส-ส่งผลต่อพัฒนาการเด็ก พบตกค้างมากในผัก-ผลไม้

สำหรับคลอร์ไพริฟอส นางสาวปรกชลกล่าวว่า เป็นสารเคมีกำจัดศัตรูพืชอีกหนึ่งชนิดที่ส่งผลกระทบต่อแม่และเด็กได้ โดยยกตัวอย่างรายงานผลกระทบของคลอร์ไพริฟอสต่อความผิดปกติของสมองทารกในครรภ์ที่รวบรวมจากงานวิจัยที่ได้รับการตีพิมพ์ในวารสารนานาชาติที่พบว่า สารเคมีดังกล่าวส่งผลต่อพัฒนาการของเด็ก ทำให้มีอาการสมาธิสั้น ไปจนถึงปัญหาด้านความบกพร่องของพัฒนาการแบบรอบด้าน นอกจากนี้ยังส่งผลต่อการทำงานของต่อมไร้ท่อ และมีแนวโน้มที่จะเพิ่มอัตราการเป็นมะเร็งลำไส้ได้

รายงานการสำรวจที่น่าเชื่อถือได้พบว่าสารพิษนี้ตกค้างในผักและผลไม้ในประเทศไทยมากที่สุดในกลุ่มสารกำจัดแมลง เช่น งานวิจัยของคณะแพทย์ศาสตร์ มหาวิทยาลัยพะเยา ได้ทำการสำรวจผักตัวอย่างจากฟาร์ม 27 แห่ง ตลาด 106 แห่ง และซูเปอร์มาร์เกต 1 แห่ง บริเวณรอบกว๊านพะเยา ระหว่างเดือนสิงหาคม-กันยายน 2556 พบว่า สารกำจัดศัตรูพืชที่พบการปนเปื้อนในผักตัวอย่างจากฟาร์มมากที่สุดคือคลอร์ไพริฟอส รายงานวิจัยของมหาวิทยาลัยมหิดลในปี 2558 เพื่อตรวจสารเคมีกำจัดศัตรูพืชที่เกินค่ามาตรฐาน (MRLs) ในกะหล่ำ ตัวอย่างกะหล่ำจำนวน 117 ตัวอย่าง จากตลาดในจังหวัดนครปฐม พบการตกค้างของคลอร์ไพริฟอสจำนวน 34 ตัวอย่าง คิดเป็น 29% นอกนั้นเป็นการปนเปื้อนสารเคมีชนิดอื่น ซึ่งสอดคล้องกับข้อมูลการตรวจสารเคมีกำจัดศัตรูพืชในผัก-ผลไม้ ของ Thai-PAN ก็พบสารเคมีชนิดนี้ตกค้างเป็นอันดับหนึ่งในกลุ่มสารกำจัดแมลง

ไกลโฟเซต-ก่อมะเร็ง พบปนเปื้อนน้ำดื่มบรรจุขวด

นางสาวกรชกรกล่าวต่อไปว่า นอกจากสารเคมีที่กำจัดศัตรูพืช 2 ชนิดข้างต้น ไกลโฟเซต ก็เป็นสารเคมีอีกหนึ่งชนิดที่สามารถส่งผลกระทบต่อแม่และเด็กได้ ซึ่งสถาบันวิจัยมะเร็งนานาชาติภายใต้องค์การอนามัยโลกได้เผยแพร่รายงานในปี 2558 โดยกำหนดให้ไกลโฟเซตเป็น “สารที่น่าจะก่อมะเร็ง” (probably carcinogenic to humans) ในมนุษย์ เนื่องจากมีหลักฐานเพียงพอว่าก่อมะเร็งในสัตว์ทดลอง และหลักฐานที่หนักแน่นว่าก่อให้เกิดความผิดปกติของสารพันธุกรรม (ทำลายยีน-โครโมโซม) นอกจากนี้ยังมีข้อค้นพบว่า ไกลโฟเซตสัมพันธ์กับการเกิดโรคหลายชนิดเพิ่มมากขึ้น เช่น เบาหวาน โรคอ้วน อัลไซเมอร์ และทำให้เซลล์รกได้รับความเสียหายด้วยเช่นกัน

“ในประเทศไทยพบไกลโฟเซตปนเปื้อนในสิ่งแวดล้อม โดยมหาวิทยาลัยนเรศวร พบการตกค้างของไกลโฟเซตในน้ำดื่มบรรจุขวดที่ผลิตในจังหวัดน่านเฉลี่ย 10.1 ไมโครกรัมต่อลิตร และพบในน้ำประปาเพื่อการอุปโภคบริโภค 11.26 ไมโครกรัมต่อลิตร โดยมีระดับการตกค้างในหลายตัวอย่างที่เกินค่ามาตรฐานของบางประเทศ การตกค้างของไกลโฟเซตในสิ่งแวดล้อมและในร่างกายของแม่และทารกเป็นสิ่งที่น่ากังวล เนื่องจากมีงานวิจัยชี้ว่าการตกค้างแม้เพียงเล็กน้อยก็อาจส่งผลกระทบต่อการทำงานของต่อมไร้ท่อได้” นางสาวกรชกรกล่าว

กรมวิชาการเกษตรแจงด่วน-ชี้ขอนำเรื่องเข้าคณะกรรมการวัตถุอันตราย

สุวิทย์ ชัย เกียรติยศ อธิบดีกรมวิชาการเกษตร ที่มาภาพ: กรมวิชาการเกษตร

ในวันเดียวกัน กรมวิชาการเกษตรได้ส่งหนังสือลงตราด่วนที่สุดหนังสือลงตราด่วนที่สุดแก่สื่อมวลชนเพื่อชี้แจงกรณีของสารเคมีกำจัดศัตรูพืชทั้ง 3 ชนิด ในวันที่ 12 กันยายน 2560 โดย นายสุวิทย์ ชัยเกียรติยศ อธิบดีกรมวิชาการเกษตร กล่าวว่า กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ให้ความสำคัญในการลดการใช้สารเคมี และมีนโยบายที่จะผลิตสินค้าเกษตรให้ได้มาตรฐานและปลอดภัยจากสารตกค้างทั้งในผลผลิตและสิ่งแวดล้อม จากข้อเสนอของคณะกรรมการขับเคลื่อนปัญหาการใช้สารเคมีป้องกันกำจัดศัตรูพืชที่มีความเสี่ยงสูง ของกระทรวงสาธารณสุข เมื่อวันที่ 5 เมษายน 2560 ที่เสนอให้พิจารณาลด ละ เลิกใช้ พาราควอต คลอร์ไพริฟอส และไกลโฟเซต  เนื่องจากมีข้อมูลที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพของมนุษย์และสิ่งแวดล้อม กรมวิชาการเกษตรได้ข้อสรุปว่า จะดำเนินการต่อข้อเสนอของคณะกรรมการขับเคลื่อนฯ ดังนี้

สำหรับ ไกลโฟเซต

  • จะจำกัดการใช้อย่างเข้มงวดตามข้อเสนอ โดยให้ผู้ประกอบการรายงานการนำเข้า การผลิต การส่งออก การจำหน่าย พื้นที่การใช้ และปริมาณคงเหลือ

ระบุพื้นที่ห้ามใช้ในฉลากวัตถุอันตราย

  • ควบคุมการโฆษณา

สำหรับ พาราควอต และคลอร์ไพริฟอส

  • กรมวิชาการเกษตรได้รวบรวมข้อมูลด้านพิษวิทยาของสาร ด้านประสิทธิภาพในการใช้ ด้านผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม ด้านการห้ามใช้ในต่างประเทศ ด้านการห้ามใช้ตามข้อตกลงของ อนุสัญญา ข้อมูลจากการรับฟังความคิดเห็น รวมทั้งข้อมูลด้านสุขภาพอนามัย ที่ได้รวบรวมจากหน่วยงานด้านสาธารณสุข
  • เนื่องจากกรมฯ ยังไม่มีความเชี่ยวชาญที่จะพิจารณานำข้อมูลด้านสุขภาพอนามัยมาวินิจฉัยได้อย่างชัดแจ้งว่าสารดังกล่าวมีอันตรายต่อสุขภาพของมนุษย์ตามที่มีการกล่าวอ้างหรือไม่ จึงเห็นสมควรที่จะขอคำปรึกษาในเรื่องดังกล่าวจากคณะกรรมการวัตถุอันตราย ซึ่งมีปลัดกระทรวงอุตสาหกรรมเป็นประธาน และประกอบไปด้วยผู้ทรงคุณวุฒิด้านต่างๆ รวมไปถึงผู้แทนจากหน่วยงานด้านสาธารณสุข ตามอำนาจหน้าที่ในมาตรา 7 (4) แห่ง พ.ร.บ.วัตถุอันตราย พ.ศ. 2535 และที่แก้ไขเพิ่มเติม

“กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ให้ความสำคัญในการลดการใช้สารเคมี และมีนโยบายที่จะผลิตสินค้าเกษตรให้ได้มาตรฐานปลอดภัยจากสารตกค้างทั้งในผลผลิตและสิ่งแวดล้อม และพร้อมที่จะสนับสนุนการลด ละ เลิก การใช้ เมื่อมีความจำเป็น โดยคำนึงถึงความเป็นอันตรายต่อสุขภาพของมนุษย์เป็นสำคัญ อย่างไรก็ตาม เพื่อรองรับผลกระทบที่อาจจะเกิดขึ้น กระทรวงเกษตรฯ จะศึกษาและเร่งรัดหาวิธีการที่เหมาะสมเพื่อเป็นทางเลือกทดแทนการใช้สารดังกล่าวต่อไป” อธิบดีกรมวิชาการเกษตรกล่าว

ขณะที่ Thai-PAN ได้ออกแถลงการณ์ต่อข้อชี้แจงของกรมวิชาการเกษตร โดยมีใจความสำคัญดังนี้

  • ตามที่นายสุวิทย์ ชัยเกียรติยศ ได้แถลงว่า กรมวิชาการเกษตรไม่มีความเชี่ยวชาญที่จะพิจารณาข้อมูลด้านสุขภาพอนามัย จึงจะขอคำปรึกษาจากคณะกรรมการวัตถุอันตราย ซึ่งมีปลัดกระทรวงอุตสาหกรรมเป็นประธาน ทางเครือข่ายเห็นว่าเป็นการยื้อเวลา และหมกเม็ดให้มีการใช้สารพิษดังกล่าวออกไป เนื่องจากกระทรวงสาธารณสุขซึ่งเป็นหน่วยงานที่มีความเชี่ยวชาญได้ตั้งคณะกรรมการขับเคลื่อนปัญหาการใช้สารเคมีป้องกันกำจัดศัตรูพืชที่มีความเสี่ยงสูง ซึ่งประกอบไปด้วย 4 กระทรวงหลัก ได้แก่ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กระทรวงอุตสาหกรรม และกระทรวงสาธารณสุข ขึ้นมาพิจารณาผลกระทบโดยรอบด้าน และมีมติให้ยกเลิกพาราควอตและคลอร์ไพริฟอสเนื่องจากผลกระทบต่อสุขภาพของเกษตรกรและผู้บริโภค มีงานวิชาการที่ชัดเจนรองรับ ดังนั้น กรมวิชาการเกษตรสามารถใช้อำนาจตาม พ.ร.บ.วัตถุอันตราย (ฉบับที่ 3) พ.ศ. 2551 มาตรา 25 คือ ใบอนุญาตที่ออกไปแล้ว หากมีเหตุสําคัญเพื่อคุ้มครองความปลอดภัย ให้พนักงานเจ้าหน้าที่ผู้มีอํานาจออกใบอนุญาตมีอํานาจสั่งแก้ไขเพิ่มเติมเงื่อนไขในการอนุญาตได้ตามความจําเป็น แต่กรมวิชาการเกษตรมิได้กล่าวถึงประเด็นนี้แต่ประการใด

การผลักเรื่องนี้ออกไปทั้งๆ ที่สามารถดำเนินการระงับการใช้สารพิษทั้งสองชนิดได้ ไปให้คณะกรรมการวัตถุอันตรายเข้าทางบริษัทสารพิษ เนื่องจากในคณะกรรมการวัตถุอันตรายมีกรรมการอย่างน้อย 2 คน เป็นตัวแทนของสมาคมของบริษัทสารพิษร่วมอยู่ในคณะกรรมการด้วย โอกาสที่จะแบนสารพิษดังกล่าวจะเป็นไปได้ยากหรือยื้อเวลาต่อไปอีกหลายปี ดังที่ปัจจุบันคณะกรรมการวัตถุอันตรายยังไม่ได้ประกาศแบนคาร์โบฟูรานและเมโทมิล ทั้งๆ ที่กรมวิชาการเกษตรได้เสนอให้มีการแบนทั้งสองสารดังกล่าวมานานมากกว่า 4 ปีแล้วก็ตาม

  • กรณีการจำกัดการใช้สารพิษไกลโฟเซต โดยระบุพื้นที่ห้ามใช้ในฉลากไม่เพียงพอที่จะทำให้เกิดผลในทางปฏิบัติ ทางกรมวิชาการเกษตรต้องมีมาตรการและกลไกมารองรับการจำกัดการใช้ ซึ่งจะเป็นการทำงานร่วมกันของหลายหน่วยงานตามโรดแมปที่คณะกรรมการขับเคลื่อนปัญหาการใช้สารเคมีป้องกันกำจัดศัตรูพืชที่มีความเสี่ยงสูงได้วางแนวทางไว้
  • เพื่อสนับสนุนมติของกระทรวงสาธารณสุข คือ ให้มีการยกเลิกพาราควอต คลอร์ไพริฟอส และจำกัดการใช้ไกลโฟเซต เครือข่ายฯ จะเคลื่อนไหวใหญ่ทั่วประเทศตามกำหนดการเดิมในวันที่ 19 กันยายน 2560 หน้าทำเนียบรัฐบาลและศาลากลางทุกจังหวัดทั่วประเทศต่อไป โดยเรียกร้องให้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ปฏิเสธการต่อทะเบียนพาราควอตและคลอร์ไพริฟอสที่กำลังหมดอายุในต้นเดือนตุลาคมนี้ รวมทั้งเพิกถอนทะเบียนของสารพิษดังกล่าวตามโรดแมป เพื่อให้มีการยุติการใช้สารดังกล่าวภายในปี 2562 อย่างไม่มีเงื่อนไข

ทั้งนี้ การดำเนินการผลการพิจารณาของคณะกรรมการวัตถุอันตรายจะเป็นอย่างไรเป็นสิ่งที่ยังคงต้องจับตาดูต่อไป อย่างไรก็ตามเป็นเรื่องที่ปฏิเสธไม่ได้ว่าสารเคมีกำจัดศัตรูพืชหากใช้อย่างไม่ถูกต้อง หรือสารที่ได้รับการพิสูจน์ทางวิทยาศาสตร์แล้วว่าอัตรายสูงจนหลายประเทศประกาศระงับการใช้ แต่ยังคงได้รับอนุญาตให้ใช้ต่อไปในไทยย่อมเป็นอันตรายไม่เพียงเกษตรกร แม่และเด็ก แต่ยังรวมไปถึงผู้บริโภคทุกคน สิ่งมีชีวิตทุกชนิด และสิ่งแวดล้อมด้วยเช่นกัน