ThaiPublica > เกาะกระแส > ไขปม “พาราควอต” คอร์รัปชันภาคเกษตร ? – จุดยืน รมช.เกษตร “วิวัฒน์ ศัลยกำธร” เสนอ “ใบอนุญาตใช้สารเคมี”

ไขปม “พาราควอต” คอร์รัปชันภาคเกษตร ? – จุดยืน รมช.เกษตร “วิวัฒน์ ศัลยกำธร” เสนอ “ใบอนุญาตใช้สารเคมี”

2 เมษายน 2018


ดร.มานะ นิมิตรมงคล เลขาธิการองค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน (ประเทศไทย) ศ.ดร.พรพิมล กองทิพย์ อาจารย์ประจำภาควิชาอาชีวอนามัยและความปลอดภัย คณะสาธารณสุขศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ดร.วิวัฒน์ ศัลยกำธร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการเกษตรและสหกรณ์ นางสาวกรรณิการ์ กิจติเวชกุล ที่ปรึกษามูลนิธิเพื่อผู้บริโภค นายวิเชียร พงศธร รองประธานองค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน (ประเทศไทย) และนายวิฑูรย์ เลี่ยนจำรูญ ผู้อำนวยการมูลนิธิชีววิถี ที่มาภาพ : องค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน (ประเทศไทย)(ภาพจากซ้ายไปขวา)

ในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา มักได้ยินชื่อสารเคมีเกษตรชนิดหนึ่งบ่อยครั้ง นั่นคือ “พาราควอต” สารกำจัดศัตรูพืชที่นักวิชาการและภาคประชาสังคมพยายามรณรงค์ให้มีการยกเลิกใช้ในประเทศไทย รวมไปถึงได้มีข้อเสนอของคณะกรรมการขับเคลื่อนปัญหาการใช้สารเคมีป้องกันกำจัดศัตรูพืชที่มีความเสี่ยงสูง ของกระทรวงสาธารณสุข เมื่อวันที่ 5 เมษายน 2560 ที่เสนอให้พิจารณาลด ละ เลิกใช้ พาราควอต คลอร์ไพริฟอส และไกลโฟเซต เนื่องจากมีข้อมูลที่บ่งชี้ว่าเป็นอันตรายต่อสุขภาพของมนุษย์และสิ่งแวดล้อม

อย่างไรก็ตาม ทางกรมวิชาการเกษตรได้ขอให้มีการนำเรื่องเข้าสู่คณะกรรมการวัตถุอันตรายเพื่อพิจารณาให้รอบคอบอีกครั้งก่อน โดยได้มีการตั้ง “คณะอนุกรรมการเฉพาะกิจเพื่อหาข้อเท็จจริงในการพิจารณาให้มีการยกเลิกพาราควอตหรือไม่” ก่อนส่งเรื่องให้คณะกรรมการวัตถุอันตรายพิจารณา “แบน” หรือ “ไม่แบน” สารเคมีดังกล่าว ซึ่งคาดว่าจะได้รู้ผลกันภายในเดือนเมษายน 2561 นี้ โดยที่ภาคประชาสังคมได้ตั้งข้อสังเกตหลายประการสำหรับความโปร่งใสในการทำงานของคณะอนุกรรมการเฉพาะกิจฯ และคณะกรรมการวัตถุอันตราย ขณะที่ภาคเกษตรกรส่วนหนึ่งมีความกังวลว่าการยกเลิกสารเคมีดังกล่าวจะกระทบต้นทุนการผลิต ฟากผู้บริโภคเองก็มีความกังวลต่อสุขภาพของตนเอง

ท่ามกลางปมปัญหาที่ยังไม่ได้ข้อสรุป และข้อมูลที่มาจากหลากหลายฝ่ายให้คนกินคนอยู่ต้องเลือกพิจารณา เมื่อวันที่ 30 มีนาคม 2561 องค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน (ประเทศไทย) หรือ ACT เปิดเวทีเพื่อถกประเด็น “คอร์รัปชันในภาคเกษตร: ภาค 1 … พาราควอต?” โดยนำทั้งนักวิชาการ ภาคประชาสังคม และตัวแทนจากฝ่ายรัฐ มาร่วมไขปมดังกล่าว

ในเรื่องพิษภัยของพาราควอตในระยะเวลาที่ผ่านมา มีทั้งการเผยแพร่ข้อมูลทางวิชาการ การจัดเวทีเสวนาต่างๆ ให้ประชาชนได้รับรู้รับทราบกันมาพอสมควรซึ่งไม่มีใครปฏิเสธว่า “พาราควอต” ไม่เป็นพิษ ศาสตร์จารย์ ดร.พรพิมล กองทิพย์ อาจารย์ประจำภาควิชาอาชีวอนามัยและความปลอดภัย คณะสาธารณสุข เปิดเผยงานวิจัยของมหาวิทยาลัยมหิดลที่มีการตรวจพาราควอตในซีรั่มของมารดาและสายสะดือของทารก ในกลุ่มประชากรที่อาศัยในพื้นที่เกษตร ได้แก่ จังหวัดนครสวรรค์ อำนาจเจริญ และกาญจนบุรี โดยเก็บตัวอย่างเลือด ซีรั่ม ปัสสาวะ รวมถึงขี้เทาในทารกแรกคลอด เป็นการยืนยันว่าในประเทศไทยก็พบการตกค้างและสะสมของพาราควอตจากมารดาสู่ทารก ซึ่งพบปริมาณการสะสมมากกว่าในมารดา

เดินหน้าเกษตรยั่งยืน เสนอแนวคิด”ใบอนุญาตใช้สารเคมี”

ที่ผ่านมาอาจไม่มีความคืบหน้าว่าทางกระทรวงเกษตรซึ่งเป็นหน่วยงานที่เกี่ยวข้องหลัก ดำเนินการเพื่อแก้ไขปัญหาดังกล่าวที่เกิดขึ้นอย่างไร เวทีคอร์รัปชันในภาคเกษตรฯได้เห็นทิศทางของปัญหาชัดเจนขึ้น โดย ดร.วิวัฒน์ ศัลยกำธร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กล่าวว่า จากข้อมูลต่างๆ ที่ผ่านมารัฐบาลไม่ได้นิ่งนอนใจ มีการนำเรื่องของพาราควอตเข้าหารือในที่ประชุมคณะรัฐมนตรีแล้วถึง 2 ครั้ง ซึ่งนายกรัฐมนตรีสั่งการให้หยุดให้ได้ หากหยุดไม่ได้ ต้องหาวิธีทำอย่างไรที่จะลดให้มากที่สุด นอกจากนี้ มีการประชุมผู้บริหารในกระทรวงเกษตรฯ ในการป้องกันตัวเอง เพราะคนค้า คนใช้ สามารถใช้อำนาจศาลในการคุ้มครองได้ เป็นสิทธิของเขา จึงได้ขอข้อมูลจากกระทรวงสาธารณสุขมาพิจารณาไว้ก่อน

ดร.วิวัฒน์ ศัลยกำธร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์
ที่มาภาพ: องค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน (ประเทศไทย)

“เรื่องนี้ปัจจุบันการพิจารณายังอยู่ในคณะอนุกรรมการเฉพาะกิจฯ และหลังจากนั้นจะยุติที่คณะกรรมการวัตถุอันตราย ของกระทรวงอุตสาหกรรม ซึ่งหากประกาศว่าพาราควอตอันตรายมาก แม้อนุญาตไปแล้วก็ต้องยกเลิก ผมเชื่อว่านักธุรกิจไม่ได้อยากค้าขายสารพิษ สิ่งที่เขาต้องการคือกำไร เขาไม่ได้พอใจกับสารพิษ แต่ถ้าทำให้มีกำไร เขาก็พอใจ ดังนั้น ถ้ามีผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ ที่เป็นมิตร เขาก็พร้อมที่จะขายถ้าทำกำไรได้  แต่ทางที่ดีที่สุดทุกภาคส่วนต้องมีส่วนร่วม ถ้าเราไม่อยากให้แผ่นดินอาบไปด้วยยาพิษ” ดร.วิวัฒน์ กล่าว

ปัญหาที่เกิดขึ้นนี้เป็นเรื่องของ “สิทธิ” ตั้งแต่ 1) สิทธิของประชาชน ที่ต้องการมีสุขภาพที่ดี เรียกร้องอาหารที่ดี 2) สิทธิของนักวิชาการ ในการค้นคว้า ทดลองหาความจริงในเรื่องพาราควอต เช่นกันกับ 3) สิทธิของเกษตรกร ในการเลือกใช้ผลิตภัณฑ์ที่จะดูแลสิ่งที่ปลูกให้เจริญงอกงาม ส่วน 4) สิทธิของผู้ประกอบการ (ผู้ผลิตและผู้จำหน่าย) คือต้องการกำไร ต้องการรักษาผลประโยชน์ของตนเอง และเขาเองมีสิทธิที่จะใช้อำนาจศาลในการคุ้มครองผลประโยชน์ของเขา

รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตร ยกตัวอย่างกรณีของประเทศออสเตรเลียให้เห็นว่า กว่าเกษตรกรที่นั่นจะสามารถซื้อสารเคมีเกษตรไปใช้งานได้จะต้องมีความรู้ในการใช้ อันตราย และการป้องกันอันตรายของสารเคมีที่ต้องใช้อย่างดีก่อน ผ่านการอบรมจนได้รับใบอนุญาต แล้วจึงนำใบอนุญาตนั้นไปประกอบการซื้อสารเคมีเกษตร ความรู้จึงเป็นเรื่องใหญ่

“วันนี้เราให้เสรีมากเกินไปหรือเปล่าเรื่องการใช้สารเคมี ต้องสร้างความรู้ในเรื่องนี้ บางครั้งเกษตรกรต้องถูกจำกัดสิทธิในการใช้ของที่เป็นพิษ สารที่จะทำให้เกิดอันตราย และจากการจำกัดสิทธิผู้ใช้ก็ค่อยๆ ไปจำกัดสิทธิผู้ค้า ผู้ผลิต นั่นหมายความว่าทุกคนจะต้องถูกจำกัดสิทธิในการที่จะทำให้ตนเองมีอันตราย แต่นี่เป็นเพียงความคิดหนึ่ง จะเหมาะสำหรับเมืองไทยหรือไม่เป็นเรื่องที่ต้องเปิดกัน” ดร.วิวัฒน์ กล่าว

ทั้งนี้ ดร.วิวัฒน์ ยืนยันว่า ปัญหาพาราควอตสำหรับเกษตรกรไม่น่าเป็นห่วงเพราะเกษตรกรมีทางเลือก ส่วนรัฐบาลเองก็ประกาศนโยบายไว้ชัดเจนแล้วเรื่องเกษตรยั่งยืนที่จะทำให้ได้ปีละ 1 ล้านไร่ ตามแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 12 ในระยะเวลา 5 ปี ต้องได้ 5 ล้านไร่ และมีแผนเกษตรอินทรีย์ ที่จะพัฒนาพื้นที่เกษตรอินทรีย์ให้ได้ 600,000 ไร่ ดังนั้น การไม่ใช้สารเคมี เกษตรกรไม่เดือดร้อนเมื่อให้ความรู้

โดยเริ่มจากการพัฒนา 4 จังหวัดนำร่องให้เป็นพื้นที่เกษตรอินทรีย์ ด้วยความร่วมมือจากกระทรวงมหาดไทย จับมือกับเครือข่ายชาวบ้านที่ทำเกษตรอินทรีย์ที่มีชื่อเสียงอยู่แล้ว ได้แก่ สุรินทร์ ศรีสะเกษ ยโสธร และอุบลราชธานี โดยจะมีการลงบันทึกความเข้าใจ (เอ็มโอยู) ร่วมกัน ซึ่งแนวทางนี้มีความเป็นได้สูง เนื่องจากผู้ว่าราชการจังหวัดมีความตื่นตัวอย่างมาก ประกอบกับจะมีการจับมือกับกระทรวงสาธารณสุขในการเข้ามาตรวจสุขภาพประชาชน และกระทรวงท่องเที่ยวและกีฬา ในการประกาศเขตท่องเที่ยวปลอดสารพิษ ให้คนได้กินอาหารที่สดและปลอดภัย

“การพัฒนาประเทศไทย ถ้าเกษตรกรใช้สารพิษโดยไม่มีความรู้ ความเข้าใจ ปล่อยให้ขายอย่างมีเสรี ผลจะตกถึงลูก อย่างงานวิจัยของ ดร.พรพิมล ถ้าเราขับเคลื่อนเรื่องนี้คู่กันไป จะรู้เองว่าตอนนี้เราควรหรือไม่ควรใช้สารเคมี วันนี้ไม่ใช่แค่แบนอย่างเดียว แต่มีเรื่องให้ช่วยกันทำอีกเยอะ” ดร.วิวัฒน์ กล่าว

ภาคประชาชนยังกังวล ความโปร่งใส คกก.วัตถุอันตราย

นายวิฑูรย์ เลี่ยนจำรูญ ผู้อำนวยการมูลนิธิชีววิถี ที่มาภาพ: องค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน (ประเทศไทย)[

นายวิฑูรย์ เลี่ยนจำรูญ ผู้อำนวยการมูลินิธิชีววิถี กล่าวว่า ปัจจุบันพบว่าการใช้สารเคมีในประเทศไทยเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยพบว่ามีมูลค่าเพิ่มขึ้น 40% ขณะที่ตัวเลขการนำเข้าเพิ่มเป็น 45% การจัดการเพื่อให้เป็นไปตามนโยบายของรัฐบาลที่ต้องการ ให้ลดการใช้สารเคมีลง 10% กลับเป็นไปในทางตรงกันข้าม ในเชิงปริมาณ ไทยใช้สารอย่างไกลโฟเสต สูงเป็นอันดับ 2 ของโลก เมื่อเทียบในเชิงพื้นที่กับสหรัฐอเมริกาพบว่า ไทยมีการใช้ปริมาณที่มาก และนำเข้ามากกว่าถึง 4 เท่า

ข้อมูลกรมวิชาการเกษตรยังคงมีปัญหา คือ การใช้ข้อมูลเก่า โดยอ้างเอกสาร EPA ของปี 1997 (21 ปีที่แล้ว) ที่บอกว่า อันตรายปานกลาง ปัจจุบันรายงานฉบับใหม่ปี 2018 ระบุชัดเจนว่ามีพิษรุนแรง เฉียบพลัน ไม่มียาต้านพิษ มีการบอกข้อมูลไม่ครบยกข้อมูลจาก องค์การอนามัยโลก (WHO) มาโดยไม่ได้ระบุถึงข้อมูลส่วนก่อให้เกิดพาร์คินสัน อ้างเพียงแค่ว่ามีส่วนเกี่ยวข้อง แต่ไม่สรุปว่าเกิดจากพาราควอตหรือไม่ ขณะที่ข้อมูลที่นำมาใช้ของปี 2001 เมื่อตรวจดูคนที่เกี่ยวข้องในงานดังกล่าวพบว่า มีประธานบริษัทซินเดด้า ซึ่งผลิตพาราควอต คนจากมอนซานโต้ สะท้อนว่าเอกสารดังกล่าวมีผลประโยชน์ทับซ้อนเกี่ยวข้อง ถ้าไม่บรรจุข้อมูลใหม่ การตัดสินใจในการแบนย่อมไม่เป็นไปตามหลักวิชาการ

และแม้ ดร.วิวัฒน์ จะให้การยืนยันว่ารัฐบาลมีแนวทางที่จะดำเนินการเรื่องเกษตรยั่งยืน ปัญหาพาราควอตไม่ใช่เรื่องน่ากังวล แต่นายวิฑูรย์ ระบุว่า ในกระบวนการทำงานของคณะกรรมการวัตถุอันตราย ที่มีอนุกรรมการเฉพาะกิจฯ เป็นคนมาจากฝั่งกรมวิชการเกษตรส่วนใหญ่ มาพิจารณาว่าควรแบนหรือไม่แบนพาราควอต ทั้งๆ ที่ออกตัวว่าไม่มีความรู้ในเรื่องนี้ ดังนั้น โอกาสที่จะแบนจึงเป็นเรื่องที่เป็นไปได้ยาก

ที่มาภาพ: มูลนิธิชีววิถี
ที่มาภาพ: มูลนิธิ ชีววิถี

ดัน “สุรินทร์” เมืองอินทรีย์

ดร.วิวัฒน์ กล่าวถึงโครงการสร้างพื้นที่เกษตรอินทรีย์ สู่พื้นที่เกษตรยั่งยืนในอนาคตว่า นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี ที่ดูแลในเรื่องเกษตรยังยืน และนายกฤษฎา บุญราช รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้มอบหมายให้ตนมาขับเคลื่อนเกษตรอินทรีย์ 6 แสนไร่ และขับเคลื่อนให้เกิดพื้นที่เกษตรยั่งยืน 5 ล้านไร่ ในระยะเวลา 5 ปี โดยที่ได้เริ่มดำเนินการแล้วในจังหวัดสุรินทร์

“ผู้ว่าราชการจังหวัดมีเป้าหมายที่จะประกาศให้สุรินทร์เป็นเมืองเกษตรอินทรีย์ จึงได้มาขอคำปรึกษา ได้ให้คำแนะนำไปว่า ตัวแปรสำคัญไม่ใช่อำนาจผู้ว่าที่จะสั่งประชาชนให้เลิกใช้ เพราะคนใช้ใช้จนติดไปแล้ว สิ่งที่จะแก้ไขเรื่องนี้คือให้ความรู้ สร้างความตระหนักรู้ (awareness) ให้เกิดขึ้น ผู้ว่ามีอำนาจก็ควรใช้อำนาจให้ทางโรงพยาบาล หรือสาธารณสุขจังหวัดระดมคนไปตรวจเลือดคนทั้งเมือง”

เมื่อประชาชนจังหวัดสุรินทร์ได้รับการตรวจเลือดแล้ว ก็พบว่าคนในเมืองมีสารพิษในเลือดมากกว่าเกษตรกร เนื่องจากเกษตรกรรู้และเลี่ยงที่จะบริโภคพืชผักที่ใช้สารเคมี ผลตรวจนี้ได้สร้างความตื่นตัวของประชาชนในพื้นที่ ทำให้ง่ายต่อการเข้าไปสร้างความรู้ และการดำเนินการอื่นๆ ในระดับต่อไป

“เรื่องนี้ทำให้เห็นว่าคนไทยไม่ได้โง่ขนาดต้องซื้อสารพิษจากต่างประเทศมาฉีดใส่ตัวเอง เพียงแต่ไม่ได้มีการส่งเสริมกันอย่างจริงจัง แต่จากนี้รัฐบาลจะส่งเสริมกันอย่างจริงจัง อย่างน้อยก็มี 4 กระทรวงที่ร่วมมือกัน คือ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กระทรวงมหาดไทย กระทรวงสาธารณสุข และกระทรวงการท่องเที่ยว เราจะทำจนกว่าผมจะหมดวาระหรือถูกปลดออกไปก่อน” ดร.วิวัฒน์ กล่าว