ภายหลังการต่อสู้มานานกว่า 7 ปีเพื่อแบนสารเคมีกำจัดวัชพืชอันตรายได้แก่ พาราควอต-ไกลโฟเซต-คลอร์ไพริฟอส คณะกรรมการวัตถุอันตรายได้ลงมติแบบเปิดเผยให้ปรับสารเคมีทั้งสามชนิดจากวัตถุอันตรายประเภทที่ 3 ที่จำกัดการใช้โดยผู้ผลิต ผู้นำเข้า ผู้ส่งออก หรือผู้มีไว้ในครอบครอง ต้องขอขึ้นทะเบียนวัตถุอันตราย และต้องได้รับอนุญาตให้ดำเนินการจากพนักงานเจ้าหน้าที่ก่อนจึงจะประกอบกิจการได้ ให้เป็นวัตถุอันตรายประเภทที่ 4 ที่ห้ามผลิต ห้ามนำเข้า ห้ามส่งออก และมีไว้ในครอบครอง มีผลตั้งแต่วันที่ 1 ธันวาคม 2562 การให้ยกเลิกใช้สารอันตรายทั้ง 3 นี้ในแง่หนึ่งเป็นชัยชนะของเครือข่ายภาคประชาสังคมที่ต่อสู้มายาวนาน แต่อีกแง่ก็เป็นความพ่ายแพ้ของเกษตรกรที่ต้องพึ่งพาสารเคมีกำจัดวัชพืชเหล่านี้
เมื่อวันที่ 19 พฤศจิกายน พ.ศ. 2562 เครือข่ายเตือนภัยสารเคมีกำจัดศัตรูพืช (ThaiPan:Thai Pesticide Alert Network) ร่วมกับสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) จึงจัดงานทางเลือกเกษตรกรรมไทยหลังแบนสามสารที่ห้องประชุมชั้นสองสถาบันวิจัยจุฬาภรณ์ เพื่อนำเสนอทางออกหลังรัฐบาลได้ประกาศแบนสารเคมีกำจัดวัชพืชสามอย่างที่กล่าวมา โดยเชิญวิทยากรผู้เชี่ยวชาญการทำเกษตรอินทรีย์ และเกษตรกรผู้ประสบความสำเร็จเกี่ยวกับการทำเกษตรอินทรีย์ในพืชหลัก 6 ชนิดได้แก่ อ้อย-ยางพารา-ข้าวโพด-ปาล์ม-มันสำปะหลัง-ไม้ผล มาให้ความรู้กับผู้เข้าร่วมงาน ในช่วงเช้าแบ่งออกเป็นสามส่วนคือ 1.หลักการและแนวทางการกำจัดวัชพืชโดย อ.ชนวน รัตนวราหะ อดีตรองอธิบดีกรมวิชาการเกษตร 2.บทบาทและความสำคัญของวัชพืชโดย โจน จันได จากพันพรรณ และนคร ลิมปคุปตถาวร ศูนย์เรียนรู้เกษตรในเมือง 3.การจัดการวัชพืชและศัตรูพืช ในเขตนิเวศเกษตรภาคกลาง โดยศักดิ์ สมบุญโต ผู้ว่าราชการจังหวัดกาญจนบุรี เจ้าของไร่สายสร กิตติวัฒน์ วสุรัฐเดชาพงศ์ กลุ่มวิสาหกิจชุมชนหนองสามวัง จังหวัดปทุมธานี เกิน ชันวิชัย เกษตรกรปลูกอ้อยไม่ใช้สารเคมี จังหวัดอุทัยธานี และ กัลยา สำอาง สวนบุญทวี จังหวัดจันทบุรี
การเกษตรที่เข้าใจธรรมชาติคือทางออกของการใช้สารเคมี
ดร.ชนวน รัตนวราหะ อดีตรองอธิบดีกรมวิชาการเกษตร ได้กล่าวถึงหลักการและแนวทางการกำจัดวัชพืชไว้ว่า ในการทำการเกษตรตามแบบนั้นจะนิยามวัชพืชว่าเป็นพืชที่ไม่ต้องการหรือพืชที่มาแย่งอาหารหรือทำลายผลผลิต ซึ่งแนวคิดนี้เป็นแนวคิดที่ไม่ถูกต้องนัก เนื่องจากวัชพืชเหล่านี้มีประโยชน์ต่อการปลูกพืชในการคลุมดินทำให้คุณภาพดินนั้นเหมาะสมกับการเพาะปลูกมากขึ้น ช่วยลดจำนวนศัตรูพืชเนื่องจากศัตรูพืชนี้จะมากินวัชพืชแทน หากเข้าใจในการทำเกษตรอินทรีย์ด้วยการมองการทำเกษตรเป็นนิเวศแล้วจะไม่มีวัชพืช เนื่องจากทุกสิ่งมีชีวิตนั้นจะเกื้อกูลกันในระบบนิเวศ
ในช่วงของบทบาทและความสำคัญของวัชพืชโดยโจน จันได และนคร ลิมปคุปตถาวร ยังคงเน้นย้ำถึงแนวคิดเกษตรอินทรีย์ โดยการอธิบายเพิ่มเติมเกี่ยวกับการใช้วัชพืชในการคลุมดินและปรับปรุงดินให้มีสภาพเหมาะสมกับการเพาะปลูก และแนะนำให้ตัดวัชพืชและไถกลบพืชเพื่อเป็นบำรุงดินให้เหมาะสมกับการเพาะปลูกต่อ เนื่องจากการกระทำเช่นนี้จะเป็นการทำให้จุลินทรีย์ในดินนั้นขยายพันธุ์ได้มากขึ้นทำให้ดินมีคุณภาพดีขึ้น นอกจากวัชพืชยังทำให้ดินดีขึ้นแล้ว ก็ยังสามารถนำมาผลิตเป็นปุ๋ยพืชสดด้วยการไถกลบลงไปในดินได้อีกด้วย ซึ่งนคร ลิมปคุปตถาวร กว่าอาจได้ผลดีกว่าปุ๋ยเคมีอีกด้วยเนื่องจาก “ต้นไม้หาอาหารเองกินผ่านฮิวมัสไม่ใช่แร่ธาตุละลายน้ำ” และประเด็นสุดท้ายเกี่ยวกับมุมมองต่อวัชพืชทั้งสองวิทยากรได้กล่าวควรเปลี่ยนมุมมองต่อวัชพืชโดยมองให้เป็นสิ่งที่มีประโยชน์ดีกว่า “ธรรมชาติไม่มีสิ่งที่เรียกว่าวัชพืชมีแต่อาสาสมัครมารักษาหน้าดินระบบนิเวศฯเพื่อรักษาระบบนิเวศ” นคร ลิมปคุปตถาวร กล่าว และโจน จันไดได้พูดเกี่ยวกับประสบการณ์ในการทำการเกษตรว่า “ในขณะที่ชาวบ้านพูดว่าไมยราพคือปัญหาใหญ่เรากลับพบว่าไมยราพคือสิ่งที่ทำให้เราไม่ต้องซื้อปุ๋ยไม่ต้องปลูกพืชคลุมดิน”
เกษตรอินทรีย์ต้องเข้าใจธรรมชาติและศึกษาหาความรู้
ช่วงสุดท้ายเกี่ยวกับประสบการณ์ของเกษตรกรที่ทำเกษตรอินทรีย์แล้วประสบความสำเร็จ วิทยากรทั้งสี่คนมีแนวคิดไปในทางเดียวกันเกี่ยวกับการทำเกษตรอินทรีย์ให้ประสบความสำเร็จคือ ต้องเปลี่ยนแนวคิดเกี่ยวกับวัชพืชที่ต้องมองเปลี่ยนไปและนำมาใช้อย่างเหมาะสม “กัลยา สำอาง” กล่าวว่า “หญ้าไม่ใช่ศัตรูพืช ทำให้ดินคงอยู่ การชะล้างหน้าดินหายไป” โดยต้องทำความเข้าใจเกี่ยวกับสภาวะแวดล้อมต่าง ๆ ทั้งศัตรูพืชและวัชพืช ขณะที่”ศักดิ์ สมบุญโต” อธิบายว่า “ลำดับแรกต้องรู้ว่าอะไรเป็นประโยชน์เป็นโทษ วัชพืชไม่ได้เป็นโทษทุกเวลาต้องรู้เวลาที่เป็นคุณเป็นโทษ” นอกจากสิ่งที่กล่าวมานี้ยังต้องใช้ประโยชน์จากสิ่งต่าง ๆ ที่มีรอบตัวเพื่อใช้ประโยชน์ อีกทั้งหมั่นศึกษาหาความรู้เพื่อพัฒนาเกษตรอินทรีย์ให้มีประสิทธิภาพเนื่องจาก “เกษตรอินทรีย์คือเกษตรที่ต้องมีความประณีต” และ “ต้องใช้ความเข้าใจและเทคนิค” กัลยา สำอางได้ขยายความไว้
ในคำถามเกี่ยวกับการจัดสรรแรงงานในไร่ขนาดใหญ่นั้นวิทยากรได้กล่าวว่าแม้จะเป็นพื้นที่ขนาดใหญ่ขึ้นแต่การจัดสรรแรงงานเพื่อตัดหญ้าและไถกลบนั้นก็ยังทำได้ไม่ได้เป็นปัญหาเนื่องจากมีราคาถูกกว่าการใช้สารเคมีรวมกัน อีกทั้งการใช้แรงงานนี้ไม่ได้ทำเป็นประจำอาจทำเพียง 3-4 ครั้งต่อปีเท่านั้น
สภาฯเห็นชอบข้อเสนอกรรมาธิการฯควบคุมใช้สารเคมี
จากรายงานเครือข่ายเตือนภัยสารเคมีกำจัดศัตรูพืช (Thai-PAN)ระบุว่าเมื่อวานนี้ 21 พ.ย. 2562 สภาผู้แทนราษฎรลงมติด้วยเสียงเอกฉันท์ 423 ต่อ 0 จากสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรที่เข้าประชุม 424 คน (ประธานที่ประชุมงดออกเสียง) เห็นชอบรายงานและข้อเสนอของ “คณะกรรมาธิการวิสามัญ พิจารณาศึกษาแนวทางการควบคุมการใช้สารเคมี ในภาคเกษตรกรรม สภาผู้แทนราษฎร” ยืนยันการแบนสารเคมีกำจัดศัตรูพืชความเสี่ยงสูง 3 ชนิด จัดตั้งกองทุนเยียวยาเกษตรกรในระยะเปลี่ยนผ่าน ส่งเสริมจักรกลอัจฉริยะ การพัฒนาสารชีวภัณฑ์ สร้างระบบเฝ้าระวังสารพิษตกค้างในผลผลิตทางการเกษตร และเดินหน้าปรับเปลี่ยนประเทศไทยไปสู่การพัฒนาเกษตรกรรมยั่งยืนให้ได้ 100% ของพื้นที่เกษตรกรรมทั้งหมดภายในปี 2573 ซึ่งเป็นปีเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs) ขององค์การสหประชาชาติ
ทั้งนี้ข้อสังเกตและข้อเสนอแนะของคณะกรรมาธิการวิสามัญที่สำคัญมีดังนี้
1) คณะกรรมาธิการวิสามัญชุดนี้เน้นย้ำทิศทางการทำงานที่ให้ความสำคัญกับชีวิตคนไทยไม่ให้ตายผ่อนส่ง เล็งเห็นว่าประโยชน์ในการรักษาชีวิตคนไทยสำคัญมากกว่าประโยชน์อื่นใด ทั้งชีวิตคนไทยที่มีอยู่
ในปัจจุบัน และชีวิตเด็กทารกที่จะเกิดขึ้นมาเป็นกำลังสำคัญของชาติเพื่อให้รอดพ้นจากผลกระทบที่จะเกิดขึ้น จากสารเคมีกำจัดศัตรูพืช รัฐบาลจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องดำเนินการปกป้องสุขภาพและชีวิตของประชาชนโดยเร่งด่วนด้วยการยุติการใช้สารเคมีทั้งสามชนิด ขณะเดียวกันคณะกรรมาธิการวิสามัญไม่ได้ละทิ้งการเยียวยา และการหาทางเลือกในระยะเปลี่ยนผ่านเพื่อดูแลและคุ้มครองเกษตรกร โดยคณะกรรมาธิการจะไม่เสนอความเห็นให้มีการใช้สารเคมีชนิดอื่นมาทดแทน แต่ควรทดแทนด้วยสารชีวภัณฑ์ เครื่องจักรกลการเกษตรที่ประยุกต์ใช้เทคโนโลยีดิจิทัล และการบริหารจัดการแปลงปลูกอย่างเหมาะสม ที่สามารถกำจัดวัชพืช แมลงศัตรูพืช และโรคพืชได้ รวมถึงการทำเกษตรอินทรีย์
2) รัฐบาลควรพิจารณาประเด็นการดูแลช่วยเหลือเกษตรกรที่ได้รับผลกระทบจากการยกเลิกการใช้สารเคมีกำจัดศัตรูพืชที่มีความเสี่ยงสูง กรณีพาราควอต ไกลโฟเซต และคลอร์ไพริฟอส โดยจัดให้มีกองทุนเยียวยาและดูแลเกษตรกรในระยะเปลี่ยนผ่านเพื่อให้สามารถเพาะปลูกพืชตามแนวทางเกษตรอินทรีย์ได้ทั้งกระบวนการ
3) รัฐบาลควรกำหนดเกษตรอินทรีย์เป็นวาระแห่งชาติ จัดตั้งกองทุนพัฒนาเกษตรอินทรีย์ จัดตั้งกองทุนพัฒนาแหล่งน้ำและระบบการกระจายน้ำระดับครัวเรือนเพื่อสร้างปัจจัยพื้นฐานที่สำคัญในการทำเกษตรอินทรีย์ จัดตั้งกองทุนเครื่องจักรกลการเกษตรและนวัตกรรม จัดตั้งหน่วยงานเฉพาะขึ้นมากำกับดูแล และต้องกำหนดเป้าหมายที่ชัดเจนและท้าทายในการสร้างเครือข่ายการทำเกษตรอินทรีย์ให้ได้ทั่วประเทศเพิ่มขึ้น
4) รัฐบาลควรมีการปรับเปลี่ยนวิธีคิด (Mindset) ของประชาชนทุกภาคส่วนตั้งแต่ผู้บริโภค เกษตรกร นักวิจัย อาจารย์ นักเรียน นักศึกษา ให้มีความตระหนักรู้ถึงอันตรายของสารเคมีกำจัดศัตรูพืช และความสำคัญของการบริโภคสินค้าเกษตรที่มาจากแปลงเกษตรอินทรีย์ รวมถึงการทำเกษตรอินทรีย์
5) รัฐบาลควรส่งเสริมการพัฒนาเครื่องจักรกลทางการเกษตรที่มีคุณภาพและราคาถูก สามารถทำงานได้หลากหลายในเครื่องจักรกลเครื่องเดียวทั้งการเพาะเมล็ด การโยนต้นกล้า การรดน้ำ การพ่นสารชีวภัณฑ์ และการเก็บเกี่ยวผลผลิต และควรส่งเสริมให้นักศึกษาในพื้นที่สามารถ ผลิต ซ่อมแซมและบำรุงรักษาเครื่องจักรกลได้ รวมถึง การส่งเสริมและพัฒนาให้มหาวิทยาลัย และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องสามารถพัฒนาเครื่องจักรกลทางการเกษตรที่ประยุกต์ใช้เทคโนโลยีดิจิทัล
6) รัฐบาลควรลดขั้นตอนและกำหนดหลักเกณฑ์การขึ้นทะเบียนสารชีวภัณฑ์ให้ง่ายขึ้น เพื่อส่งเสริมให้เกิดการคิดค้นนวัตกรรมจากสารชีวภัณฑ์ให้มากยิ่งขึ้น และยกเลิกการกำหนดให้สารชีวภัณฑ์เป็นวัตถุอันตรายที่ต้องขึ้นทะเบียน ซึ่งสร้างความเข้าใจที่ผิดพลาดต่อเกษตรกรและประชาชนทั่วไป
7) รัฐบาลต้องผลักดันให้มีตลาดรองรับสินค้าเกษตรอินทรีย์ของเกษตรกร โดยอาจอยู่ในรูปตลาดเกษตรกร (Farmers’ Market) หรือการบริหารจัดการตลาดที่เกษตรกรมีส่วนร่วม
8) กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กระทรวงมหาดไทย และกระทรวงสาธารณสุขควรพิจารณาจัดทำแผนส่งเสริมการเพาะปลูกสินค้าเกษตรอินทรีย์ ซึ่งสามารถตรวจสอบย้อนกลับแหล่งผลิตได้ ในพื้นที่กรุงเทพมหานครและปริมณฑล และพื้นที่ใกล้เคียงเพื่อจ าหน่ายในตลาดค้าส่งขนาดใหญ่ และตอบสนองความต้องการของผู้บริโภคภายในประเทศ
9) อันตรายจากสารเคมีกำจัดศัตรูพืชไม่ได้จำกัดอยู่เพียงภายในประเทศเท่านั้น แต่ยังสามารถตกค้างอยู่ในสินค้าเกษตรที่ได้มีการนำเข้ามาจำหน่ายให้กับประชาชนในประเทศด้วย ดังนั้น คณะกรรมาธิการวิสามัญจึงได้มีการพิจารณาตรวจสอบว่าผักและผลไม้ที่มีการนำเข้ามีสารเคมีปนเปื้อนเกินค่ามาตรฐานหรือไม่ โดยได้ข้อค้นพบสำคัญว่าประเทศไทยนำเข้าผักและผลไม้จากสาธารณรัฐประชาชนจีนปีละกว่า 59,000 ล้านบาท แต่การสุ่มตรวจสารเคมีปนเปื้อนยังไม่ได้มาตรฐานอย่างมาก ไม่มีห้องปฏิบัติการแม้แต่ห้องเดียวตามด่านชายแดน ดังนั้นกระทรวงสาธารณสุขและกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ควรแก้ไขปัญหาดังกล่าวโดยเร่งด่วน ด้วยการจัดสรรงบประมาณเร่งด่วนเพื่อใช้ในการก่อสร้างห้องปฏิบัติการเพื่อตรวจสอบสารพิษตกค้างในสินค้าเกษตรให้ครอบคลุมทั้งสินค้าเกษตรที่มีการนำเข้าจากด่านตรวจรอบประเทศ และผลิตผลทางการเกษตรภายในประเทศระดับกลุ่มจังหวัด จังหวัด และอำเภอ รวมทั้งต้องพัฒนาระบบเฝ้าระวัง ซึ่งทำงานร่วมกับการตรวจสอบสารพิษ ที่มีประสิทธิภาพ สามารถแจ้งเตือน ส่งกลับ หรือทำลาย ผลผลิต/ผลิตภัณฑ์ที่พบการตกค้างเกินมาตรฐาน
10) รัฐบาลควรกำหนดให้มีหน่วยงานหลักในการรับผิดชอบส่งเสริมการศึกษาวิจัยเพื่อให้ความรู้แก่เกษตรกรเกี่ยวกับการใช้สารเคมีในปริมาณที่เหมาะสมและถูกต้องในระยะเปลี่ยนผ่านไปสู่การทำเกษตรอินทรีย์อย่างเต็มรูปแบบในอนาคต พร้อมทั้งให้ความสำคัญกับการให้ทุนงานวิจัยทางวิชาการเกษตรอินทรีย์แก่ทุกมหาวิทยาลัยอย่างจริงจังและต่อเนื่อง