ThaiPublica > เกาะกระแส > คณะกรรมการวัตถุอันตรายลงมติแบบเปิดเผยแบน “พาราควอต ไกลโฟเซต คลอร์ไพริฟอส” มีผล 1 ธันวาคม 2562

คณะกรรมการวัตถุอันตรายลงมติแบบเปิดเผยแบน “พาราควอต ไกลโฟเซต คลอร์ไพริฟอส” มีผล 1 ธันวาคม 2562

22 ตุลาคม 2019


กระทรวงเกษตรและสหกรณ์เสนอให้ปรับวัตถุอันตรายพาราควอต ไกลโฟเซต และคลอร์ไพริฟอส จากวัตถุอันตรายชนิดที่ 3 เป็นวัตถุอันตรายชนิดที่ 4 ห้ามนำเข้า-ส่งออก เริ่ม 1 ธันวาคม 2562

วันที่ 22 ตุลาคม 2562 มีการประชุมคณะกรรมการวัตถุอันตรายโดยมีการพิจารณาเรื่องที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์เสนอให้มีการพิจารณาปรับวัตถุอันตรายพาราควอต คลอร์ไพริฟอส และไกลโฟเซต ในความรับผิดชอบของกรมวิชาการเกษตร จากวัตถุอันตรายชนิดที่ 3 ให้เป็นวัตถุอันตรายชนิดที่ 4 โดยให้มีผลตั้งแต่วันที่ 1 ธันวาคม 2562 เป็นต้นไป

คณะกรรมการฯ ได้มีการพิจารณาข้อมูล ประกอบด้วย ผลการดำเนินการของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ที่ได้นำบัญชานายกรัฐมนตรีไปดำเนินการ โดยมีการแต่งตั้งคณะทำงานพิจารณา และกระทรวงเกษตรและสหกรณ์รายงานว่าได้มีการพิจารณาข้อมูลวิธีการและสารทางเลือกในการจัดการวัชพืช ต้นทุนของวิธีการและสารทางเลือก ข้อมูลสารทดแทนสารคลอร์ไพริฟอส ปริมาณสารที่คงเหลือ ณ ปัจจุบัน ซึ่งกระทรวงเกษตรและสหกรณ์เห็นว่าสามารถบริหารจัดการเพื่อไม่ให้เกิดปัญหาในการปฏิบัติได้ หากยกเลิกการใช้วัตถุอันตรายทั้ง 3 รายการ และผู้แทนหน่วยงานของกระทรวงสาธารณสุข ได้นำเสนอข้อมูลความเป็นอันตราย และข้อมูลการตรวจสอบเฝ้าระวังสารตกค้างในสินค้าเกษตรในท้องตลาด

นอกจากนี้ คณะกรรมการฯ ยังได้นำข้อมูลและข้อเสนอที่ได้รับจากภาคส่วนต่างๆ ซึ่งมีทั้งส่วนที่ต้องการให้ยกเลิกการใช้ และส่วนที่ไม่เห็นด้วยหากจะยกเลิกการใช้ มาพิจารณาในที่ประชุมด้วย คณะกรรมการฯ ได้มีการลงมติแบบเปิดเผย เช่นเดียวกับทุกครั้งที่มีการลงมติ ผลการลงมติคือ

  • พาราควอต ยกเลิกการใช้ภายในวันที่ 1 ธันวาคม 2562 จำนวน 20 คน ยกเลิกการใช้ในวันที่ 1 ธันวาคม 2564 จำนวน 1 คน จำกัดการใช้ จำนวน 5 คน
  • ไกลโฟเซต ยกเลิกการใช้ จำนวน 19 คน จำกัดการใช้ จำนวน 7 คน
  • คลอร์ไพริฟอส ยกเลิกการใช้ จำนวน 22 คน จำกัดการใช้ จำนวน 4 คน

มติที่ประชุมเห็นชอบตามที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์เสนอให้ปรับวัตถุอันตรายพาราควอต คลอร์ไพริฟอส และไกลโฟเซต ที่อยู่ในความรับผิดชอบของกรมวิชาการเกษตร จากวัตถุอันตรายชนิดที่ 3 ให้เป็นวัตถุอันตรายชนิดที่ 4โดยให้มีผลตั้งแต่วันที่ 1 ธันวาคม 2562 โดยมอบหมายให้กรมวิชาการเกษตรไปดำเนินการยกร่างประกาศกระทรวงว่าด้วยบัญชีรายชื่อวัตถุอันตราย จัดให้มีการรับฟังความคิดเห็น แล้วเสนอคณะกรรมการฯ เพื่อพิจารณาให้ความเห็นในการประชุมครั้งต่อไป ทั้งนี้ ได้ขอให้กรมวิชาการเกษตรไปพิจารณาระยะเวลา ความเหมาะสมในการบริหารจัดการวัตถุอันตรายที่ยังคงเหลืออยู่หลังจากประกาศมีผลบังคับใช้ โดยคำนึงถึงผลกระทบต่อผู้เกี่ยวข้อง เช่น เกษตรกร หรือร้านจำหน่าย เป็นต้น โดยให้รับรองมติในที่ประชุม

ด้านนายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกฯ และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ให้สัมภาษณ์ถึงกรณีคณะกรรมการวัตถุอันตรายมีมติแบนสารพิษ 3 ตัว ว่า “สิ่งที่ดีใจคือ เรายังเห็นว่า ประเทศไทยเรายังมีข้าราชการ นักวิชาการที่มีคุณธรรม มีสำนึกต่อความปลอดภัยของพี่น้องประชาชน โดยเฉพาะอย่างยิ่งข้าราชการที่ลงมติแบนสารพิษทั้ง 3 ชนิด จากทุกกรม ทุกกระทรวง อย่างไรก็ตาม เรื่องนี้ไม่ใช่เรื่องการเมือง แต่เป็นภารกิจของรัฐมนตรีที่ดูแลกระทรวงสาธารณสุข ต้องมีความรับผิดชอบต่อสุขภาพ และคุณภาพชีวิตของประชาชน ซึ่งเรื่องแบนสารพิษนี้ไม่ได้อยู่ในนโยบายตอนหาเสียงด้วยซ้ำ แต่เป็นภารกิจที่ต้องทำ และภาคภูมิใจที่อธิบดีกรมการแพทย์ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ และเลขาธิการอย. พร้อมใจกันโหวตอย่างเปิดเผย นำนโยบายของกระทรวงไปทำให้บรรลุความสำเร็จ ทั้งนี้ เป็นไปตามขั้นตอน ใครทำอะไรได้ก็ทำ เรามีหน้าที่แบน เราก็แบนอย่างสุดหัวใจ ใครจะค้านก็ไปค้าน ผลจะเป็นอย่างไรเราได้ทำหน้าที่ของเราอย่างเต็มที่แล้ว เรื่องนี้เป็นความเป็นความตายของพี่น้องประชาชน เป็นเรื่องสุขภาพ ชีวิต ใครไม่เคยโดนก็ไม่รู้หรอก ครม.ไม่ได้มีการพูดคุยกัน เพราะตนเชื่อว่าเรื่องนี้เป็นเรื่องที่แต่ละกระทรวงจะต้องไปหามาตรการเยียวยา”

เมื่อถามถึงแนวทางในการคุ้มครอง เยียวยาผู้ที่ได้รับผลกระทบจากการแบนสารพิษครั้งนี้ นายอนุทิน กล่าวว่า จะอนุญาตให้ใช้สารพิษที่มีมติแบนไปนี้ถึงวันที่ 1 ธันวาคมนี้ ส่วนเรื่องเยียวยา เช่น การหาสารทดแทน เป็นเรื่องของกระทรวงไหนมีหน้าที่อย่างไร ทั้งนี้ วันนี้ถือเป็นผลงานร่วมกันของทุกคน แต่สำหรับตนไม่ได้ถือเป็นผลงาน แต่ถือเป็นหน้าที่ของเราทุกคนที่อยู่ในคณะกรรมการ ก็ขอให้ทุกคนเคารพกฎหมาย

วัตถุอันตราย 4 ชนิด
กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ มีอำนาจหน้าที่ในการควบคุมวัตถุอันตรายที่ใช้ทางการเกษตร ประกอบด้วย สารป้องกันกำจัดศัตรูพืช ผลิตภัณฑ์ที่ ใช้ควบคุมการเจริญเติบโตของพืช และวัตถุอันตรายที่ใช้ในการประมง ซึ่งพระราชบัญญัติฉบับนี้ได้กำหนดให้สามารถควบคุมวัตถุอันตรายดังกล่าวได้ตามความจำเป็น โดยจำแนกวัตถุอันตรายออกเป็น 4 ชนิด กล่าวคือ

วัตถุอันตรายชนิดที่ 1 หมายถึง วัตถุอันตรายที่การผลิต การนำเข้า การส่งออก หรือการมีไว้ในครอบครองต้องปฏิบัติตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่กำหนด ซึ่งกำกับดูแลโดยผู้ประกอบการปฏิบัติตามหลักเกณฑ์และเงื่อนไขที่วางไว้ โดยไม่ต้องขออนุญาตและแจ้งการประกอบกิจการล่วงหน้า โดยวัตถุอันตรายที่กรมวิชาการเกษตรรับผิดชอบในปัจจุบันไม่มีการจัดไว้ในกลุ่มดังกล่าว

วัตถุอันตรายชนิดที่ 2 หมายถึงวัตถุอันตรายที่การผลิต การนำเข้า การส่งออก หรือการมีไว้ในครอบครองต้องแจ้งให้พนักงานเจ้าหน้าที่ทราบก่อนและต้องปฏิบัติตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่กำหนด โดยต้องแจ้งประกอบกิจการล่วงหน้าและต้องขอขึ้นทะเบียน แต่ไม่ต้องขออนุญาตประกอบกิจการ ซึ่งมีการควบ-คุมมากกว่าชนิดที่ 1 โดยในกลุ่มนี้มีวัตถุอันตรายทางการเกษตร ได้แก่ BT, NPV, สารสกัดจากสะเดา ไส้เดือนฝอยที่ใช้กำจัดแมลง และ White Oil เป็นต้น

วัตถุอันตรายชนิดที่ 3 หมายถึง วัตถุอันตรายที่การผลิต การนำเข้า การส่งออก หรือการมีไว้ในครอบครองต้องได้รับใบอนุญาต ควบคุมโดยการขึ้นทะเบียนและขออนุญาตประกอบกิจการตามลักษณะ ได้แก่ การนำเข้า การส่งออก การผลิต การมีไว้ในครอบครอง ซึ่งหมายถึงมีไว้เพื่อขาย การเก็บรักษา การใช้และการรับจ้าง ซึ่งสารเคมีป้องกันกำจัดศัตรูพืชที่ใช้ในประเทศไทยส่วนใหญ่จะจัดอยู่ในกลุ่มดังกล่าว

วัตถุอันตรายชนิดที่ 4 หมายถึง วัตถุอันตรายที่ห้ามมิให้มีการผลิต การนำเข้า การส่งออก หรือการมีไว้ในครอบครอง ควบคุมโดยการห้ามประกอบ กิจการใดๆ ได้แก่ สารซึ่งเป็นอันตรายและห้ามใช้