ThaiPublica > คอลัมน์ > การแบน 3 สารเคมีกับย่างก้าวสำคัญของขบวนการพลเมืองอาหาร

การแบน 3 สารเคมีกับย่างก้าวสำคัญของขบวนการพลเมืองอาหาร

10 พฤศจิกายน 2019


กฤษฎา บุญชัย สถาบันชุมชนท้องถิ่นพัฒนา

มติคณะกรรมการวัตถุอันตรายที่แบนสารเคมีกำจัดศัตรูพืชร้ายแรงได้แก่ พาราควอต ไกลโฟเซต และคลอร์ไพริฟอส เมื่อวันที่ 22 ตุลาคมที่ผ่านมาได้สร้างผลสะเทือนเลื่อนลั่นต่อเครือข่ายผลประโยชน์ธุรกิจการเกษตรอย่างมหาศาล เพราะมันอาจจะเป็นการนับถอยหลังระบบเกษตรสารเคมีที่ครองอำนาจการเกษตรไทยมาตั้งแต่เริ่มแผนพัฒนาเศรษฐกิจแห่งชาติฉบับที่ 1 พ.ศ.2504 ซึ่งแม้จะสร้างผลผลิตการเกษตรให้เติบโตมากขึ้น แต่กลับสร้างหายนะด้านนิเวศ สิ่งแวดล้อม สุขภาพ และความยากจนของเกษตรกรมากกว่า

นอกเหนือจากเรื่องสุขภาพที่พิสูจน์จนสิ้นสงสัยแล้วว่าร้ายแรงจริง ข้อถกเถียงสำคัญจากฝ่ายเกษตรสารเคมีก็คือ จะหาสารอะไรมาทดแทน สารนั้นมีประสิทธิภาพเทียบเท่าสารที่ถูกแบนหรือไม่ ราคาถูกกว่าหรือไม่ และจะเป็นการหนีเสือปะจระเข้หรือไม่ ปมปัญหาดังกล่าว หากฟังผิวเผินอาจดูสมเหตุสมผล แต่หากคิดดูให้ดีจะพบว่า คำถามดังกล่าวไม่ใช่ประเด็นทางด้านเทคโนโลยีการทดแทน แต่เป็นคำถามที่สะท้อนปัญหาเชิงกระบวนทัศน์เลยทีเดียว

นับตั้งแต่รัฐไทยรับแนวคิดและองค์ความรู้ปฏิวัติเขียว (Green Revolution) จากสหรัฐอเมริกาในช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ด้วยการพัฒนาระบบเกษตรด้วยเกษตรแผนใหม่เชิงพาณิชย์ที่ใช้สารเคมีทั้งปุ๋ยเคมีและยาปราบศัตรูพืช เมล็ดพันธุ์ผสม และการจัดการแปลงแบบใหม่เพื่อเพิ่มผลผลิต ระบบดังกล่าววางอยู่บนกระบวนทัศน์แบบนักผลิตเชิงอุตสาหกรรม (Productionist integrated paradigm) ด้วยการรีดศักยภาพการผลิตการเกษตรจากการอัดฉีดปัจจัยการผลิตที่สำคัญ เช่น เมล็ดพันธุ์ปรับปรุงและสารเคมีร้ายแรงนานาชนิด ผลผลิตการเกษตรไทยเติบโตขึ้นด้วยปัจจัยการผลิตเหล่านี้ในช่วงแรกอย่างมาก

แต่เมื่อผ่านไปไม่ถึงสิบปี ผลกระทบเชิงลบก็เริ่มเกิดขึ้น ผืนดินอันอุดมสมบูรณ์เริ่มเสื่อมสภาพ ชาวนาชาวไร่ของไทยหลายคนสรุปบทเรียนมานานแล้วว่า เพียงไม่เกิน 5 ปีที่มีการใช้ปุ๋ยเคมีและยาปราบศัตรูพืช ดินที่ใช้ก็จะเสื่อมสภาพ แข็งแห้ง ขาดความมีชีวิต สอดคล้องกับรายงานขององค์การอาหารและเกษตรแห่งสหประชาชาติ (FAO) ว่าช่วง 150 ปีที่ผ่านมา หน้าดินที่มีความอุดมสมบูรณ์หายไปเกือบครึ่ง โดยมีสาเหตุหลักจากการใช้สารเคมีในการเพาะปลูก ทั้งยาฆ่าแมลงและยากำจัดศัตรูพืช การไถหน้าดินโดยไม่ได้ปลูกพืชคลุมดินหมุนเวียน รวมถึงสภาพอากาศเปลี่ยนแปลง ทำให้เกิดภัยแล้งหรือไม่ก็น้ำท่วมขึ้นในหลายภูมิภาคทั่วโลก ส่งผลกระทบต่อความอุดมสมบูรณ์ของหน้าดินอย่างมาก

วิธีคิดสำคัญภายใต้กระบวนทัศน์แบบนักผลิตเชิงอุตสาหกรรมคือ การจัดการเชิงเดี่ยว นั่นหมายถึงการปลูกพืชชนิดในพื้นที่ขนาดใหญ่ ตามหลักคิดทางเศรษฐศาสตร์ว่าด้วยการสร้างแบบแผนเดี่ยว และการประหยัดโดยการเพิ่มขนาด (Economy of scale) เราจึงเห็นพืชชนิดเดียวกันเข้าแถวเรียงต้นสุดลูกหูลูกตา

การสร้างสังคมพืชแบบนี้ไม่เคยปรากฏในธรรมชาติมาก่อน เพราะสังคมพืชตามธรรมชาติมีพืชหลากหลายชนิด สัตว์หลากหลายประเภทเกื้อกูลกัน เมื่อเกิดพืชเข้าแถว โรคภัยต่างๆ ก็ระบาดโดยง่าย เกิดเป็นโรคเชิงเดี่ยว แมลงเชิงเดี่ยวขยายตัวอย่างรวดเร็วในอัตราที่ไม่เคยเป็นมาก่อน

เมื่อต้องสู้และเอาชนะธรรมชาติให้ได้ ก็ต้องใส่ปัจจัยที่เห็นว่าเป็นประโยชน์เพิ่ม เช่น ปุ๋ยเคมีสูตรต่างๆ และกำจัดปัจจัยที่ถูกมองว่าไม่เป็นประโยชน์หรืออาจเป็นโทษ เช่น แมลงศัตรูพืช และวัชพืช ซึ่งคำว่า “วัชพืช” อันหมายถึงพืชที่มีโทษ ควรกำจัดทิ้งก็สะท้อนถึงวิธีคิดภายใต้กระบวนทัศน์ดังกล่าว

แต่ยิ่งใส่ปัจจัยที่เห็นว่าดี กำจัดปัจจัยที่เห็นว่าเป็นโทษ ผลลัพธ์สะท้อนกลับยิ่งเลวร้าย ระบบการผลิตที่แปลกปลอมธรรมชาติได้ชวนเชิญให้โรค แมลง และวัชพืชเข้ามารุมเร้า ทำให้ต้องใส่สารเคมีรุนแรงมากขึ้นไปอีก สุดท้ายไม่ต่างจากเชื้อโรคดื้อยาที่ระบบนิเวศเกษตรพังทลายเสียหาย การรักษาโรคภายใต้กระบวนทัศน์แบบนี้จึงบีบให้เกษตรกรอยู่ในภาวะ “ติดยา” สารเคมีการเกษตรอย่างถอนตัวไม่ขึ้น

ในฟากกลุ่มธุรกิจการเกษตรระดับโลก เมื่อเห็นว่าเทคโนโลยีสารเคมีลำพังไปไม่รอด แทนที่ทบทวนปัญหาของกระบวนทัศน์เดิม กลับต่อเติมด้วยปฏิวัติเขียวขั้นที่สองด้วยพันธุวิศวกรรม และเทคโนโลยีการจัดการใหม่ เช่น ระบบ AI หรือกระทั่งการสังเคราะห์อาหารเทียม กระบวนทัศน์ขั้นที่สองเรียกว่ากระบวนทัศน์วิทยาศาสตร์ชีวิต (Life Science Integrated Paradigm) ที่ยังคงเร่งเร้าผลผลิตให้เติบโตโดยไม่สนใจระบบนิเวศ เพียงแต่เพิ่มเติมจากวิทยาศาสตร์เคมีมาเป็นพันธุวิศวกรรม เช่น สิ่งมีชีวิตตัดต่อพันธุกรรม (GMOs) โดยใช้แทนที่หรือใช้ร่วมกับสารเคมีการเกษตร

แต่เทคโนโลยีต่างๆ ภายใต้วิทยาศาสตร์ชีวิตกลับยิ่งทำให้ประชาชนทั้งเกษตรกรผู้ผลิต ผู้บริโภคทั่วโลกพากันตั้งคำถามขึ้นไปอีก เพราะคราวนี้ไม่เพียงแต่ทำลายห่วงโซ่อาหาร แต่ยังทำให้เกิดพันธุกรรมดัดแปลงที่แปลกแยก (Alien) ที่ขยายตัวในระบบธรรมชาติ เข้าไปในห่วงโซ่อาหาร ซึ่งเป็นความเสี่ยงอย่างยิ่งต่อระบบนิเวศ ระบบอาหาร และสุขภาพของประชาชน และความเสี่ยงดังกล่าวเป็นสิ่งที่ยากจะยอมรับ เนื่องจากอาหารเป็นฐานของชีวิต ตามหลักการพื้นฐานนโยบายสิ่งแวดล้อม เราไม่สามารถใช้วิธีคิดบริหารความเสี่ยง (เจอปัญหาแล้วค่อยแก้ จัดการ) แต่ต้องป้องกันไว้ก่อน

อย่างไรก็ตาม ตลอดช่วงเกษตรเคมีที่ดำเนินไปด้วยกระบวนทัศน์แบบนักผลิตเชิงอุตสาหกรรม มีเกษตรกรรายย่อยจำนวนไม่น้อยที่อับจนหนทางต่อเกษตรดังกล่าว การปลูกพืชเชิงเดี่ยว และจัดการด้วยการเพิ่มปัจจัยการผลิต กำจัดปัจจัยไม่พึงประสงค์ไม่สามารถให้คำตอบได้อีกต่อไป ทางออกของวิกฤติดังกล่วจึงไม่ใช่แค่การหาสารทดแทน หรือเทคโนโลยีทดแทน แต่ต้องเป็นการจัดการเชิงระบบที่พัฒนาสร้างระบบนิเวศที่สมดุลให้เกิดขึ้นในภูมิทัศน์ระบบผลิตอาหาร เพื่อให้เกิดภาวะสมดุล ถ่วงดุลกันในระบบ จนแมลง และหญ้าไม่กลายเป็นปัญหาที่ต้องฆ่าให้ตายสถานเดียวแบบกระบวนทัศน์เดิม

การเปลี่ยนแปลงเชิงกระบวนทัศน์ครั้งใหญ่ไม่ได้มาจากนักวิชาการเกษตร นักวิทยาศาสตร์ หรือนักเศรษฐศาสตร์ใดๆ แต่มาจากเกษตรกรรายย่อยหลายคนที่ล้มเหลวจากเกษตรเคมี ต้องหาทางรอดของชีวิต เกิดการเรียนรู้ถึงขั้นก้าวข้ามกระบวนทัศน์มาสู่กระบวนทัศน์เชิงนิเวศ (Ecological integrated paradigm) จากชาวนาพึ่งสารเคมีกลายเป็นปราชญ์ชาวบ้านที่เป็นผู้นำระบบเกษตรกรรมยั่งยืนหลายรายซึ่งเป็นที่รู้จักอย่างกว้างขวาง เช่น พ่อคำเดื่อง ภาษี พ่อผาย สร้อยสระกลาง พ่อเล็ก กุดวงศ์แก้ว ปะหลน หมัดหลี มาจนถึงคุณโจน จันได และอีกหลายท่าน ซึ่งส่วนใหญ่คนเหล่านี้ล้วนเคยทำเกษตรเคมีอย่างหนักหน่วงมาแล้วทั้งสิ้น

มองในมิติการเมือง ปราชญ์ชาวบ้านเหล่านี้เป็นส่วนหนึ่งของขบวนการจากรากหญ้าเพื่อต่อสู้ขัดขืนกับโครงสร้างทุนนิยมอุตสาหกรรมเกษตร ด้วยการเมืองในชีวิตประจำวันจากการปฏิเสธคุณค่าสารเคมีและเทคโนโลยีการเกษตรที่เป็นสัญลักษณ์ของความทันสมัย โดยแทนที่ด้วยการสร้างกระบวนทัศน์ใหม่ที่เสริมอำนาจให้แก่ชุมชน พัฒนาไปจนเกิดเป็นขบวนการเคลื่อนไหวของเกษตรกรในทาง “เกษตรกรรมทางเลือก, เกษตรกรรมยั่งยืน เกษตรนิเวศ ฯลฯ” เพื่อสร้างอำนาจต่อรองเชิงโครงสร้าง แต่ไม่ใช่การต่อรองภายใต้กรอบของระบบทุนเกษตรกรรมที่ปิดกั้นขูดรีด แต่เป็นการต่อรองที่มุ่งทลายกรอบด้วยการนิยามความเป็นเกษตรกรรมขึ้นใหม่บนฐานนิเวศ เศรษฐกิจ วัฒนธรรม และการเมืองของชุมชน

ด้วยเหตุนี้การเกิดขึ้นของปราชญ์ชาวบ้านในฐานะส่วนหนึ่งของขบวนการทางสังคมภายใต้กระบวนทัศน์เชิงนิเวศ จึงเป็นการเมืองวัฒนธรรมที่สู้ในการเปลี่ยนความหมายทางสังคม หาใช่เป็นไปตามข้อกล่าวหาอันเลื่อนลอยว่าเป็นการอุปโลกน์ของชนชั้นนำที่ต้องการเก็บชาวนาไว้ใต้อุปถัมภ์ ด้วยการแยกชาวนาออกมาเป็นปัจเจกบุคคลเพื่อให้สยบยอมต่อระบบทุนและรัฐไม่

หลักคิดสำคัญของกระบวนทัศน์เชิงนิเวศ คือ การปฏิเสธการสร้างระบบที่แปลกแยกจากธรรมชาติอีกต่อไป เปลี่ยนจากพืชเชิงเดี่ยวมาเป็นเกษตร (พืชและสัตว์) ผสมผสานที่มีสังคมพืชเกื้อกูลกัน เปลี่ยนจากการจัดการแปลงขนาดใหญ่มาเป็นแปลงขนาดเล็ก ยกเลิกวิธีคิดการใส่ปัจจัยแปลกปลอม และไม่มองสิ่งมีชีวิตในสภาพแวดล้อมเป็นวัชพืชหรือสิ่งที่ต้องกำจัดทิ้ง แต่ทั้งหมดอาศัยการเกื้อกูลของระบบนิเวศ เน้นความมั่นคงและความยั่งยืนของระบบ ผลผลิตไม่จำเป็นต้องสูงที่สุด แต่มีอัตราอยู่รอดมากที่สุด และที่สำคัญ ไม่ผลักผลกระทบใดๆ ไปสู่ห่วงโซ่อาหารที่จะย้อนกลับมาหาผู้ผลิตและผู้บริโภคเอง

การทำเกษตรยั่งยืนด้วยกระบวนทัศน์เชิงนิเวศในระยะแรกเป็นสิ่งที่เป็นไปได้ยาก เพราะในระบบทุนนิยมยังต้องการสร้างผลผลิตอาหารให้สูงที่สุด ราคาถูกที่สุดเพื่อป้อนกับภาคเมืองที่ไม่ทำการผลิต ซึ่งในระดับวิถีชีวิตเกษตรกรที่ต้องเผชิญกับความเสี่ยงของกลไกตลาด มีปัญหาหนี้สิน ขาดปัจจัยการผลิต และถูกปิดกั้นการหาทางออกแบบอื่นๆ ที่ไม่ตอบโจทย์ตลาด ทำให้การเติบโตเกษตรยั่งยืน โดยเฉพาะเกษตรอินทรีย์เป็นไปอย่างเชื่องช้า จนปัจจุบันมีเพียง 570,409 ไร่ คิดเป็นร้อยละ 0.41 ของพื้นที่เกษตรทั้งหมด

แต่ด้วยความต้องการของผู้บริโภคในตลาดโลกและสังคมไทยที่ตื่นตัวเรื่องสุขภาพและอาหารอินทรีย์ และในระดับนโยบาย การจะบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs) ไม่สามารถใช้เกษตรเคมีได้ เพราะเกษตรเคมีเชิงเดี่ยวได้พิสูจน์แล้วว่าทำลายระบบนิเวศ ไม่เพียงแต่เรื่องผลกระทบสารเคมี แต่ยังเป็นตัวการของการปล่อยก๊าซมีเทนที่สร้างปัญหาให้กับสภาวะโลกร้อนอย่างรุนแรง เกษตรกรรมยั่งยืนจึงเป็นเป้าหมายสำคัญที่โลกกำลังมุ่งขับเคลื่อน

แต่การเปลี่ยนผ่านดังกล่าว ต้องเกิดขึ้นในระดับการเปลี่ยนผ่านกระบวนทัศน์ ไม่ใช่การเปลี่ยนในระดับเทคโนโลยี ดังกรณีตัวอย่างการร้องหาสารทดแทนจากการแบน 3 สารเคมี ซึ่งเป็นความคิดภายใต้กระบวนทัศน์นักผลิตเชิงอุตสาหกรรม เพราะหากคิดในแบบกระบวนทัศน์เชิงนิเวศ เป็นการยากที่จะหา “สารทดแทน” ที่เป็นชีวภาพชนิดไหนที่จะไปฆ่าทำลายแมลง หรือวัชพืชได้แบบเดียวกับสารเคมีได้ ระบบการจัดการศัตรูพืชในกระบวนทัศน์นิเวศมุ่งไปที่การสร้างระบบนิเวศในแปลงให้เกิดภาวะสมดุลเพื่อควบคุม ถ่วงดุลศัตรูพืชทั้งหลายมากกว่ามุ่งฆ่าทำลายล้าง และหากที่จะมีสารทดแทนชีวภาพในกระบวนทัศน์ทางนิเวศ สารทดแทนซึ่งเป็นสมุนไพรนานาชนิดก็มุ่งไปที่การฟื้นนิเวศให้เกิดสภาวะสมดุล

ปัจจัยสำคัญที่จะสร้างการเปลี่ยนผ่านเชิงกระบวนทัศน์และระบบการผลิตไปสู่ระบบอาหารยั่งยืน ต้องสร้างระบบรองรับตลอดห่วงโซ่อาหาร เริ่มตั้งแต่การคุ้มครองระบบนิเวศ พื้นที่ฐานทรัพยากรอาหารที่สำคัญให้คงความอุดสมบูรณ์ไม่ปนเปื้อนสารเคมี ระบบนิเวศไม่ว่าจะเป็นป่าชุมชน ห้วย หนองคลองบึง และอื่นๆ จะสร้างบริการทางนิเวศ เป็นรักษาสภาพแวดล้อมทั้งภูมิอากาศ การป้องกันภัยพิบัติ การแหล่งพันธุกรรมธรรมชาติ การรักษาความชุ่มชื้นที่จะเกื้อหนุนให้ระบบเกษตรยั่งยืนมีความมั่นคง ด้วยเหตุนี้นโยบายการปกป้องคุ้มครองพื้นที่นิเวศอาหารจึงเป็นเรื่องสำคัญ ไม่ควรเอาไปปลูกพืชเชิงเดี่ยวด้วยเคมี ไม่ควรสร้างเหมืองแร่ โรงไฟฟ้า โรงงานอุตสาหกรรม ขยายที่อยู่อาศัยคนเมือง หรือทิ้งขยะมลพิษ ซึ่งทำให้ผืนดินที่ทำเกษตรปนเปื้อนสารเคมีที่อันตรายไม่น้อยไปกว่าสารเคมีกำจัดศัตรูพืช

ปัจจัยต่อมา คือ การส่งเสริมพัฒนาพันธุกรรมท้องถิ่นที่หลากหลาย ไม่ว่าจะเป็นพันธุ์ข้าวพื้นบ้าน พันธุ์พืช พันธุ์สัตว์ท้องถิ่น เนื่องจากพันธุ์พืชจากบริษัทการเกษตรล้วนแต่ถูกออกแบบให้ใช้สารเคมี การไม่ปลดแอกเกษตรกรด้านเมล็ดพันธุ์ก็ยากที่จะไปพ้นเกษตรเคมีได้ ปมปัญหาดังกล่าวชาวนา เกษตรกรที่สร้างสรรค์ทางเลือกใหม่ได้มีบทบาทในการพัฒนาปรับปรุงพันธุกรรมพื้นบ้านขึ้นมามากมาย การที่จะสร้างพันธุกรรมท้องถิ่นที่มีคุณค่าจึงไม่ควรผูกขาดบทบาทไว้กับนักวิชาการที่จำนวนน้อยมีผลประโยชน์เกี่ยวโยงกับบริษัททั้งในชาติและข้ามชาต แต่ควรสนับสนุนให้เกษตรกรนักปรับปรุงพันธุ์ได้พัฒนาพันธุกรรมที่เหมาะสมและมีทางเลือกพันธุกรรมที่หลากหลาย เหมาะสมกับนิเวศ เศรษฐกิจ และวัฒนธรรมของชุมชน

พลังการเปลี่ยนสำคัญเกิดขึ้นได้จากกระบวนกลุ่ม ด้วยการส่งเสริมให้เกษตรกรรวมกลุ่มกันสร้างการเรียนรู้ในการพัฒนาระบบเกษตรกรรมยั่งยืน กระบวนการกลุ่มจะทำให้เกิดการแบ่งปันทรัพยากร จัดการความรู้ร่วมกัน มีการบริหารจัดการแบบครบวงจร
พร้อมไปกับพัฒนาระบบหรือสภาพแวดล้อม (Eco System) ที่เกื้อหนุนระบบเกษตรกรรมยั่งยืนตลอดห่วงโซ่อาหาร ตั้งแต่การรักษานิเวศ ฐานทรัพยากร พัฒนาการผลิตที่ยั่งยืน ระบบกระจายอาหารสู่ผู้บริโภคที่เป็นธรรม พัฒนากลไกเชิงสถาบันรองรับ เช่น การสร้างตลาดอาหารอินทรีย์ของท้องถิ่นหรือ “ตลาดสีเขียว” ที่เกษตรกรมีส่วนร่วมในการกำหนด และปรับบทบาทสถาบันต่างๆ ในท้องถิ่น เช่น โรงเรียน โรงพยาบาล องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ผู้ประกอบการ ให้เป็นสถาบันสร้างการเรียนรู้และกระจายอาหารอินทรีย์ อันจะเป็นแรงกระตุ้นให้เกษตรอินทรีย์เติบโตขึ้น พร้อมกับเป็นพื้นที่แลกเปลี่ยนเรียนรู้ระหว่างผู้ผลิต ผู้ประกอบการ ผู้บริโภคให้กว้างขวางยิ่งขึ้นไป

การสร้างพลังการเปลี่ยนแปลงได้ทำให้ผู้คนตามจุดต่างๆ ของห่วงโซ่อาหารซึ่งแต่เดิมเป็นเพียงผู้ผลิต ผู้บริโภคที่เฉื่อยชา โดดเดี่ยวภายใต้การชี้นำของอุตสาหกรรมเกษตรและอาหาร ได้เปลี่ยนมาเป็น “พลเมืองอาหาร” ที่ตื่นตัวแข็งขันในการปลดแอกจากภาวการณ์ครอบงำเชิงระบบ สถาปนาสิทธิเกษตรกร สิทธิผู้บริโภคภายใต้กระบวนทัศน์เชิงนิเวศใหม่ เชื่อมโยงกันเป็นกลุ่มปฏิบัติการ ขบวนการทางสังคมในการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างทุนและนโยบายของรัฐ และสร้างพื้นที่ความชอบธรรมทางสังคมให้กว้างขวางยิ่งขึ้นไป

ขบวนการพลเมืองอาหารในกระบวนทัศน์นิเวศไม่ได้เป็นแค่ปรากฏการณ์แค่ในสังคมไทย แต่ได้เกิดขึ้นในระดับโลก จนในขณะนี้เกิดเป็นพลังกำหนดกติการะหว่างประเทศ เห็นได้จากเป้าหมายการพัฒนาที่ยังยืน (SDGs) ที่เป็นข้อตกลงร่วมของโลกก็กำหนดเรื่องเกษตรกรรมยั่งยืนไว้อย่างชัดเจน

พลังพลเมืองอาหารที่เริ่มต้นจากชายขอบและขยายไปสู่สู่แนวระนาบจะเปลี่ยนโครงสร้างของระบบเกษตรและอาหารของไทยภายใต้การผูกขาดของกลุ่มทุนอุตสาหกรรมเกษตรระดับโลกได้หรือไม่นั้น แม้จะยังเป็นไปได้ยาก แต่ในเวลานี้ประวัติศาสตร์ของระบบเกษตรกรรมไทยที่เคยถูกตรึงหยุดนิ่งโดยอุตสาหกรรมอาหารและเกษตรได้เริ่มเปลี่ยนแปลงแล้วจากการแบน 3 สารเคมีเกษตรที่สำคัญ และกำลังจะเคลื่อนไปสู่การเปลี่ยนแปลงระบบเกษตรผูกขาดเชิงทำลายล้างให้มาสู่ระบบเกษตรกรรมยั่งยืนที่กระจายอำนาจสู่ประชาชน ซึ่งในขณะนี้ภาคประชาชนก็กำลังผลักดันร่างพระราชบัญญัติเกษตรกรรมยั่งยืนเข้าสู่รัฐสภาในอีกไม่นาน

แม้กระบวนทัศน์นักการผลิตและวิทยาศาสตร์ชีวิตจะยังครองอำนาจนำต่อไป แต่พื้นที่การนิยามความหมายที่เคยถูกผูกขาดได้อ่อนอำนาจลงแล้ว จากขบวนการพลเมืองอาหารทั้งในระดับท้องถิ่นและระดับโลกด้วยกระบวนทัศน์เชิงนิเวศ เพราะสังคมไทยและโลกตระหนักแล้วว่า โลกแบกรับความเสียหายทางนิเวศ สุขภาพ การขูดรีดจากระบบอุตสาหกรรมเกษตรและอาหารต่อไปไม่ไหวแล้ว