ThaiPublica > ประเด็นสืบสวน > กฎหมายใหม่ “กฎเหล็ก” ชนวนเสี่ยงยุบพรรค กับสถิติ 13 ปี ยุบ 36 พรรค

กฎหมายใหม่ “กฎเหล็ก” ชนวนเสี่ยงยุบพรรค กับสถิติ 13 ปี ยุบ 36 พรรค

31 กรกฎาคม 2018


ส่อเค้าวุ่นวายมากขึ้น กับ พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการพรรคการเมือง ตอกย้ำเสียงสะท้อนจากคนการเมืองก่อนหน้านี้ว่าอาจทำให้พรรคการเมืองอ่อนแอ “ตั้งยาก” แต่ “ยุบง่าย”

ดังจะเห็นได้จากกระบวนการจัดตั้งพรรคการเมืองยังไม่ทันเสร็จสมบูรณ์ดี เวลานี้กลับเริ่มมีการพูดถึงเรื่องยุบพรรคเสียแล้ว

ล่าสุด สุชาติ ลายน้ำเงิน อดีตสส.ลพบุรี พรรคเพื่อไทย ยื่นคำร้องต่อกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) เพื่อ ระงับและไม่อนุญาตให้จัดตั้งพรรคพลังประชารัฐ พร้อมดำเนินคดีกับรองนายกรัฐมนตรี 2 คน รัฐมนตรี 2 คน ในฐานะเจ้าหน้าที่รัฐที่ร่วมกับ “กลุ่มสามมิตร” และพวก กระทำการ ผิดต่อรัฐธรรมนูญและ พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง 2560 ที่มีโทษจำคุก ถึง5 ปี และเข้าข่ายถูกยุบพรรคได้

ยังไม่รวมกับความเคลื่อนไหวจากแดนไกลเมื่อ ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ออกมาแสดงความคิดความเห็นการถูกดูดของสมาชิกพรรคเพื่อไทย จนถูกมองว่าอาจเข้าข่าย ครอบงำ การทำงานของพรรคเพื่อไทย ที่มีโทษรุนแรงถึงขั้นยุบพรรค

  • “ทักษิณ” โฟนอินเผ็ด ถึงขั้นยุบพรรค เปิดศึก คสช. แตกหักชายชาติทหาร ทุบทิ้งเส้นทางไมตรี 12 ปี อ่อนข้อขอเจรจา 14 ครั้ง
  • ว่าด้วยกฎหมายพรรคการเมือง2560 สิ่งที่”พรรคการเมือง”ต้องเดินตาม พร้อมกฎเหล็กสกัด กลุ่มทุน-ผู้มีบารมีนอกพรรค
  • 4 ปมความยากของการแก้ไข รธน. 2560 – ย้อนสถิติ 86 ปี รัฐธรรมนูญฉบับไหนแก้ไขมากที่สุด
  • ปรากฏการณ์เหล่านี้อาจเป็นดัชนีชี้วัดที่สำคัญ กับเส้นทางการเมืองในอนาคตที่จะเต็มไปด้วยเรื่องร้องเรียนที่ไม่หยุดหย่อน ที่สำคัญนี่จะเป็นบทพิสูจน์ขององค์กรอิสระที่จะเข้ามาควบคุมชี้ขาดการยุบพรรคในแต่ละกรณี

    หากพิจารณารายละเอียด จะพบว่า พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง 2560 ระบุสาเหตุที่จะทำให้พรรคการเมืองสิ้นสภาพความเป็นพรรคการเมือง และการยุบพรรคการเมืองแบ่งเป็นสองส่วนหากพิจารณารายละเอียด พบว่าตามร่างพ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง 2560 ระบุสาเหตุที่จะทำให้พรรคการเมืองสิ้นสภาพความเป็นพรรคการเมือง และการยุบพรรคการเมืองแบ่งเป็นสองส่วน

    ส่วนแรกให้คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) พิจารณาและประกาศความสิ้นสภาพได้เอง ซึ่งส่วนใหญ่เกี่ยวกับกระบวนการตั้งพรรค หรือบริหารพรรค และ ส่วนที่สองให้กกต.ส่งเรื่องต่อไปยังศาลรัฐธรรมนูญเพื่อพิจารณายุบพรรค

    ส่วนแรกที่ให้อำนาจ กกต. พิจารณาความสิ้นสภาพพรรคการเมือง โดยให้ กกต. ประกาศการสิ้นสภาพของพรรคการเมือง และประกาศราชกิจจานุเบกษา ซึ่งจะส่งผลให้พรรคการเมืองนั้นสิ้นสภาพตั้งแต่วันที่ประกาศในราชกิจจานุเบกษา โดยให้การสิ้นสภาพของพรรคการเมืองถือเป็นการยุบพรรคการเมือง

    อย่างไรก็ตาม กฎหมายได้เปิดช่องถ่วงดุลอำนาจ กกต. โดยหากหัวหน้าพรรคการเมืองดังกล่าวไม่เห็นด้วยกับคำสั่ง กกต. สามารถยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญเพื่อพิจารณาวินิจฉัยคำคัดค้านภายใน 30 วัน นับแต่วันที่ประกาศในราชกิจจานุเบกษา

    สำหรับ การกระทำที่ กกต.มีอำนาจพิจารณาความสิ้นสภาพความเป็นพรรคการเมืองได้แก่

    1. ไม่แก้ไขข้อบังคับให้ถูกต้อง

    ตามมาตรา 17 ระบุให้ การขอจดทะเบียนจัดตั้งพรรคการเมืองและเอกสารและหลักฐานที่ยื่น พร้อมกับคำขอจดทะเบียนจัดตั้งพรรคการเมืองถูกต้องและครบถ้วน หากในกรณีที่ภายหลังพบว่าข้อบังคับของพรรคการเมืองที่ได้ยื่นไม่เป็นไปตามที่กำหนด คือ ต้องไม่มีลักษณะ (1) เป็นปฏิปักษ์ต่อการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข และต้องไม่เปลี่ยนแปลงรูปแบบของรัฐ (2) ขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน (3) อาจก่อให้เกิดความแตกแยกระหว่างชนในชาติ (4) ครอบงำหรือเป็นอุปสรรคต่อการปฏิบัติหน้าที่โดยอิสระของส.ส.

    หากไม่เป็นไปตามนั้น ให้นายทะเบียนรายงาน กกต.เพื่อพิจารณาและมีมติให้เพิกถอนข้อบังคับนั้น และให้แจ้งมติดังกล่าวให้คณะกรรมการบริหารพรรคการเมืองทราบภายใน 7 วัน โดยให้ คณะกรรมการบริหารพรรคแก้ไขข้อบังคับให้ถูกต้อง ครบถ้วนภายใน 60 วัน หากแก้ไขไม่ถูกต้องหรือไม่ครบถ้วน ให้พรรคการเมืองนั้นสิ้นสภาพความเป็นพรรคการเมือง

    2. ไม่สามารถตั้งสาขาพรรคหรือมีสมาชิกครบตามที่กำหนด

    ภายในระยะเวลา 1 ปี นับแต่วันรับจดทะเบียน สิ่งที่พรรคการเมืองต้องดําเนินการ คือ

      1) หา สมาชิกไม่น้อยกว่า 5,000 คน และต้องเพิ่มจำนวนสมาชิกให้ได้ไม่น้อยกว่า 10,000 คนภายใน 4 ปีนับแต่วันที่นายทะเบียนรับจดทะเบียน
      2) จัดให้มีสาขาพรรคการเมืองในแต่ละภาคตามบัญชีรายชื่อภาคและจังหวัดที่คณะกรรมการ กำหนดอย่างน้อยภาคละหนึ่งสาขา โดยสาขาพรรคการเมืองแต่ละสาขาต้องมีสมาชิกที่มีภูมิลำเนาอยู่ใน เขตพื้นที่ที่รับผิดชอบของสาขานั้นตั้งแต่ 500 คนขึ้นไป

    หากพรรคการเมืองไม่สามารถทำได้ ให้นายทะเบียน มีหนังสือแจ้งให้พรรคการเมืองนั้นดำเนินการให้ถูกต้องภายในระยะเวลาที่นายทะเบียนกำหนด แต่หากไม่ดำเนินการหรือดำเนินการแล้วไม่ถูกต้องให้พรรคการเมืองนั้นสิ้นสภาพไป

    รวมทั้ง กรณี ภายหลังหลังได้รับการจดทะเบียนพรรคการเมืองแล้ว แต่พรรคนั้นมีจำนวนสมาชิกเหลือไม่ถึง ที่กำหนด (5,000 คน ใน 4 ปีแรก และ 10,000 คน ใน 4 ปี ) เป็นเวลาติดต่อกันเกิน 90 วัน และ กรณีมีสาขาพรรคเหลือไม่ถึงภาคละหนึ่งสาขาเป็นเวลา 1 ปี พรรคการเมืองนั้นต้องสิ้นสภาพความเป็นพรรคการเมือง

    3. ไม่มีการประชุมใหญ่ หรือดำเนินกิจกรรมทางการเมือง 1 ปี

    ตามกฎหมายฉบับนี้กำหนดให้พรรคการเมืองต้องจัดให้มีการประชุมใหญ่อย่างน้อยปีละ 1 ครั้ง โดยองค์ประชุมของที่ประชุมใหญ่ให้เป็นไปตามที่กำหนดในข้อบังคับซึ่งอย่างน้อย ต้องประกอบด้วย กรรมการบริหารพรรคไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่งของจำนวนกรรมการบริหารพรรคทั้งหมด, ผู้แทนของสาขาพรรคการเมืองไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่งของจำนวนสาขาพรรค (ในจำนวนนี้จะต้องประกอบด้วยผู้แทนของสาขาพรรคการเมืองไม่น้อยกว่า 2 สาขาซึ่งมาจากภาคต่างกันที่คณะกรรมการกำหนด), ตัวแทนพรรคการเมืองประจำจังหวัดไม่น้อยกว่า กึ่งหนึ่งของตัวแทนพรรคการเมืองประจำจังหวัด และสมาชิก ซึ่งรวมมีจำนวนรวมกันทั้งหมดไม่น้อยกว่า 250 คนหากไม่มีการประชุมใหญ่หรือดำเนินกิจกรรมทางการเมือง 1 ปี โดยมิได้มีเหตุอันจะอ้างได้ตามกฎหมายให้สิ้นสภาพความเป็นพรรค

    4. ไม่ส่งผู้สมัคร ส.ส. 2 สมัย หรือ 8 ปี ติดต่อกัน สุดแต่ระยะเวลาใดจะยาวกว่ากัน

    5. มีหนี้สินล้นพ้นตัวตามกฎหมายว่าด้วยล้มละลาย

    6. พรรคการเมืองเลิกตามข้อบังคับ

    ส่วนที่สอง กรณีการยุบพรรคซึ่งให้ กกต.ยื่นเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยเพื่อสั่งยุบพรรคการเมืองนั้นหากมีหลักฐานอันควรเชื่อได้ว่าพรรคการเมืองใดกระทำการอย่างหนึ่งอย่างใดต่อไปนี้

      1. กระทำการล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข หรือเพื่อให้ได้มาซึ่งอำนาจในการปกครองประเทศโดยวิธีการซึ่งมิได้เป็นไปตามวิถีทางที่บัญญัติไว้ ในรัฐธรรมนูญ

      2. กระทำการอันอาจเป็นปฏิปักษ์ต่อการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ ทรงเป็นประมุข

      3. ดำเนินกิจการอันมีลักษณะเป็นการแสวงหากำไรมาแบ่งปันกัน

      4. ยินยอมหรือกระทำการใดอันทำให้บุคคลอื่นซึ่งมิใช่ สมาชิกกระทำการอันเป็นการควบคุม ครอบงำ หรือชี้นำ กิจกรรมของพรรคการเมืองในลักษณะที่ทำให้ พรรคการเมืองหรือสมาชิกขาดความอิสระ ทั้งนี้ ไม่ว่าโดยทางตรงหรือโดยทางอ้อม

      5. พรรคการเมืองหรือผู้ใดให้ เสนอให้ หรือสัญญาว่าจะให้เงิน ทรัพย์สิน หรือประโยชน์อื่นใด ไม่ว่าโดยทางตรงหรือโดยทางอ้อมเพื่อจูงใจให้บุคคลหนึ่งบุคคลใด สมัครเข้าเป็นสมาชิก ทั้งนี้ เว้นแต่สิทธิหรือประโยชน์ซึ่งบุคคลจะพึงได้รับในฐานะที่เป็นสมาชิก

      6. ตั้งสาขาพรรคการเมืองและตัวแทนพรรคการเมืองประจำจังหวัด นอกราชอาณาจักร

      7. พรรคการเมือง ผู้ดำรงตำแหน่งในพรรคการเมือง และสมาชิกรับบริจาค จากผู้ใดเพื่อกระทำการหรือสนับสนุนการกระทำอันเป็นการบ่อนทำลายความมั่นคงของราชอาณาจักร ราชบัลลังก์ เศรษฐกิจของประเทศ หรือราชการแผ่นดิน

      8. พรรคการเมืองหรือผู้ดำรงตำแหน่งในพรรคการเมืองกระทำการ หรือส่งเสริม สนับสนุนให้ผู้ใดกระทำการอันเป็นการก่อกวนหรือคุกคามความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดี ของประชาชน หรือกระทำการอันเป็นการทำลายทรัพยากรธรรมชาติของประเทศ

      9. พรรคการเมือง สมาชิก หรือผู้ใด เรียก รับ หรือยอมจะรับเงิน ทรัพย์สิน หรือประโยชน์อื่นใดจากผู้ใด เพื่อให้ผู้นั้นหรือบุคคลอื่นได้รับแต่งตั้ง หรือสัญญาว่าจะให้ได้รับ แต่งตั้ง หรือเพราะเหตุที่ได้รับการแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง หรือตำแหน่งใดในการบริหาร ราชการแผ่นดินหรือในหน่วยงานของรัฐ รวมทั้ง ห้ามมิให้ผู้ใดให้ ขอให้ หรือรับว่าจะให้เงิน ทรัพย์สิน หรือประโยชน์อื่นใดแก่พรรคการเมือง สมาชิก หรือผู้ใด เพื่อจูงใจให้ตนหรือบุคคลอื่นได้รับการแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง หรือตำแหน่งใดในการบริหารราชการแผ่นดินหรือในหน่วยงานของรัฐ

      10. พรรคการเมืองและผู้ดำรงตำแหน่งในพรรคการเมืองรับบริจาคเงิน ทรัพย์สิน หรือประโยชน์อื่นใด โดยรู้หรือควรจะรู้ว่าได้มาโดยไม่ชอบด้วยกฎหมายหรือมีเหตุอันควรสงสัยว่า มีแหล่งที่มาโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย

      11. พรรคการเมืองหรือสมาชิกรับบริจาคเงิน ทรัพย์สิน หรือประโยชน์ อื่นใดจาก 1) บุคคลผู้ไม่มีสัญชาติไทย 2) นิติบุคคลตามกฎหมายต่างประเทศที่ประกอบธุรกิจหรือกิจการหรือจดทะเบียนสาขาอยู่ใน หรือนอกราชอาณาจักร 3) นิติบุคคลที่จดทะเบียนในราชอาณาจักรโดยมีบุคคลผู้ไม่มีสัญชาติไทยมีทุนหรือเป็นผู้ถือหุ้น เกินกว่าร้อยละ 49 4) คณะบุคคล หรือนิติบุคคลที่ได้รับทุนหรือได้รับเงินอุดหนุนจากต่างประเทศซึ่งมีวัตถุประสงค์ ดำเนินกิจการเพื่อประโยชน์ของบุคคลผู้ไม่มีสัญชาติไทยหรือซึ่งมีผู้จัดการหรือกรรมการเป็นบุคคล ผู้ไม่มีสัญชาติไทย

    ทั้งนี้ ตามขั้นตอน เมื่อศาลรัฐธรรมนูญดำเนินการไต่สวนแล้วมีหลักฐานอันควรเชื่อได้ว่าพรรคการเมืองกระทำการตามสิ่งที่ห้ามไว้ให้ศาลรัฐธรรมนูญสั่งยุบพรรคการเมืองและเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งของกรรมการบริหารพรรคการเมืองนั้น

    ภายหลังนายทะเบียนประกาศคำสั่งยุบพรรคการเมืองในราชกิจจานุเบกษาแล้ว ห้ามมิให้บุคคลใดใช้ชื่อ ชื่อย่อ หรือภาพเครื่องหมายของพรรคการเมืองที่ถูกยุบ และห้ามกรรมการบริหารพรรคชุดดังกล่าวไปจดทะเบียนตั้งพรรคการเมืองใหม่ หรือเป็นกรรมการบริหารพรรคการเมืองหรือส่วนร่วมในการจัดตั้งพรรคการเมืองใหม่ขึ้นอีก ภายในระยะเวลา 10 ปี

    ทั้งหมดล้วนแต่เป็นรายละเอียดที่แต่ละพรรคการเมืองจะต้องระมัดระวังไม่ให้พรรคการเมืองต้องถูกยุบ

    ย้อนสถิติ 13 ปี 36 พรรค พรรคไหนถูกยุบบ้าง เพราะอะไร

    การยุบพรรคไม่ใช่เรื่องแปลกใหม่ในแวดวงการเมืองไทย ในวันที่มีพรรคการเมืองใหม่ๆ เกิดขึ้น หลายพรรคล้มหายตายจากไป หลายพรรคต้องถูกยุบด้วยการประพฤติปฏิบัติที่ขัดกับข้อห้าม ซึ่งนับตั้งแต่ปี 2548 จนถึงปี 2561 มีพรรคการเมืองที่ถูกยุบไปทั้งสิ้น 36 พรรค

    1. พรรคพัฒนาสังคมไทย

    นายทะเบียนพรรคการเมืองยื่นคำร้อง ลงวันที่ 12 เม.ย.2548 ของให้ศาลรัฐธรรมนูญมีคำสั่งยุบพรรคพัฒนาสังคมไทย ตามตาม พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง 2541 ไม่ดำเนินการให้เป็นไปตามบทบัญญัติของมาตรา 29 คือไม่สามารถหาสมาชิกพรรคตั้งแต่ 5,000 คนขึ้นไปและไม่แจ้งการจัดตั้งสาขาพรรคการเมืองอย่างน้อยภาคละ 1 สาขา โดยศาลรัฐธรรมนูญมีคำสั่งยุบพรรคพัฒนาสังคมไทยเมื่อวันที่ 21 มิ.ย.2548

    2. พรรคแรงงาน

    นายทะเบียนพรรคการเมืองยื่นคำร้องเมื่อวันที่ 19 เม.ย. 2548 ขอให้ศาลรัฐธรรมนูญมีคำสั่งยุบพรรคแรงงานตาม พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง 2541 เนื่องจากไม่ดำเนินการตามมาตรา 29 ที่ต้องดำเนินการให้มีสมาชิกตั้งแต่ 5,000คนขึ้นไป และมีสาขาพรรคการเมืองอย่างน้อยภาคละหนึ่งสาขา ศาลรัฐธรรมนูญมีคำส่งยุบพรรคเมื่อวันที่ 21 มิ.ย.2548

    3 พรรคชาติพัฒนา

    นายทะเบียนพรรคการเมืองยื่นคำร้อง เมื่อวันที่ 19 พ.ค.2548 ขอให้ศาลรัฐธรรมนูญมีคำสั่งยุบพรรค ตาม พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง 2541 เนื่องจากไม่ดำเนินการตามมาตรา 29 ที่ต้องดำเนินการให้มีสมาชิกตั้งแต่ 5,000คนขึ้นไป และมีสาขาพรรคการเมืองอย่างน้อยภาคละหนึ่งสาขา ศาลรัฐธรรมนูญมีคำส่งยุบพรรคเมื่อวันที่ 21 มิ.ย.2548

    4.พรรคชาติประชาธิปไตย

    นายทะเบียนพรรคการเมืองยื่นคำร้องลงวันที่ 22 ธ.ค.2547ให้ศาลรัฐธรรมนูญให้ยุบพรรคเนื่องจากไม่จัดทำรายงานการใช้จ่ายเงินสนับสนับสนุนของพรรคการเมืองในรอบปี 2546 ไม่เป็นไป พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง 2541 มาตรา 62 ศาลรัฐธรรมนูญมีคำสั่งให้ยุบพรรคชาติประชาธิปไตย เมื่อวันที่ 9 ส.ค.2548

    5.พรรคทางเลือกที่สาม

    นายทะเบียนพรรคการเมืองยื่นคำต้องเมื่อวันที่ 10 มิ.ย.2548 ขอให้ศาลรัฐธรรมนูญมีคำสั่งยุบพรรคทางเลือกที่สาม เนื่องจากไม่ดำเนินการตามมาตรา 29 พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง 2541 ที่ต้องดำเนินการให้มีสมาชิกตั้งแต่ 5,000คนขึ้นไป และมีสาขาพรรคการเมืองอย่างน้อยภาคละหนึ่งสาขา ศาลรัฐธรรมนูญมีคำส่งยุบพรรคเมื่อวันที่ มื่อวันที่ 4 ต.ค. 2548

    6.พรรคประชาชนไทย

    นายทะเบียนพรรคการเมืองยื่นคำร้องลงวันที่ 19 พ.ค.2548 ขอให้ศาลรัฐธรรมนูญมีคำสั่งยุบพรรคประชาชนไทย เนื่องจากไม่ดำเนินการตามมาตรา 29 พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง ที่ต้องดำเนินการให้มีสมาชิกตั้งแต่ 5,000คนขึ้นไป และมีสาขาพรรคการเมืองอย่างน้อยภาคละหนึ่งสาขา ศาลรัฐธรรมนูญมีคำส่งยุบพรรคเมื่อวันที่ 27 ต.ค. 2548

    7. พรรคเสรี

    นายทะเบียนพรรคการเมือง ยื่นคำร้องลงวันที่ 8 ส.ค.2548 ขอให้ศาลรัฐธรรมนูญมีคำสั่งยุบพรรคเสรี เนื่องจากไม่ดำเนินการตามมาตรา 29 พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง 2541 ที่ต้องดำเนินการให้มีสมาชิกตั้งแต่ 5,000คนขึ้นไป และมีสาขาพรรคการเมืองอย่างน้อยภาคละหนึ่งสาขา ศาลรัฐธรรมนูญมีคำส่งยุบพรรคเมื่อวันที่ 10 ม.ค. 2549

    8. พรรครู้แจ้งเห็นจริง

    นายทะเบียน พรรคการเมืองยื่นคำร้องลงวันที่ 9 ธ.ค.2548 ขอให้ศาลรัฐธรรมนูญมีคำสั่งยุบพรรคเสรี เนื่องจาก จัดประชุมใหญ่ของพรรคไม่เป็นไปตามมาตรา 26 พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง 2541 ที่กำหนดให้ต้องมีองค์ประชุม ประกอบด้วย คณะกรรมการบริหารพรรคการเมือง ผู้แทนสาขาพรรคการเมือง สมาชิกตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่กำหนด ศาลรัฐธรรมนูญสั่งให้ยุบพรรครู้แจ้งเห็นจริง เมื่อวันที่ 9 ก.พ.2549

    9.พรรครักษ์ถิ่นไทย

    นายทะเบียนพรรคการเมืองยื่นคำร้องลงวันที่ 30 ม.ค.2549 ขอให้ศาลรัฐธรรมนูญมีคำสั่งยุบพรรครักษ์ถิ่นไทย เนื่องจากในการประชุมใหญ่วิสามัญประจำปี เมื่อวันที่ 27 พ.ย.2548 ที่ประชุมมีมติเอกฉันท์ให้ยุบพรรครักษ์ถิ่นไทย ซึ่งเป็นเหตุให้ยุบตามมาตรา 65 (1) คือมีเหตุต้องเลิกตามข้อบังคับพรรค โดยศาลรัฐธรรมนูญมีมติให้ยุบพรรครักษ์ถิ่นไทยประกาศในราชกิจจานุเบกษาเมื่อวันที่ 28 มิ.ย.2549

    10.พรรคประชาชาติไทย

    นายทะเบียนพรรคการเมืองยื่นคำร้องลงวันที่ 20 มิ.ย.2549 ขอให้ศาลรัฐธรรมนูญมีคำสั่งยุบพรรคประชาชาติไทยเนื่องจากไม่ดำเนินการตามมาตรา 29 ตาม พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง 2541 ที่ต้องดำเนินการให้มีสมาชิกตั้งแต่ 5,000คนขึ้นไป และมีสาขาพรรคการเมืองอย่างน้อยภาคละหนึ่งสาขา ศาลรัฐธรรมนูญมีคำส่งยุบพรรคเมื่อวันที่ 25 ก.ค. 2549

    11.พรรคประชาธิปไตยก้าวหน้า

    อัยการสูงสุดยื่นคำร้องลงวันที่ 6 ก.ค. 2549 ขอให้ศาลรัฐธรรมนูญมีคำสั่งยุบพรรคประชาธิปไตยก้าวหน้า กรณี นางสาวอิสรา หรือพรณารินทร์ ยวงประสิทธิ์ หัวหน้าพรรคประชาธิปไตยก้าวหน้าออกหนังสือรับรองอันเป็นเท็จให้แก่ นางสาวนิภา จันโพธิ์ นางรัชนู ต่างสี และนายสุวิทย์ อบอุ่น ซึ่งเป็นสมาชิกพรรคติดต่อกันไม่ครบ 90 วัน นำไปเป็นหลักฐานในการสมัครรับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร

    ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่าเป็นกระทำผิดมาตรา 66 ตาม พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง 2541 กระทำการอันอาจเป็นปฏิปักษ์ต่อการปกครองระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขตามรัฐธรรมนูญ และ กระทำการอันเป็นภัยต่อความมั่นคงของรัฐ หรือขัดต่อกฎหมาย หรือความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชนว่าพรรคประชาธิปไตยก้าวหน้ามีความผิดจริงตามข้อกล่าวหาของอัยการสูงสุด โดยตุลาการรัฐธรรมนูญมีคำสั่งให้ยุบพรรคประชาธิปไตยก้าวหน้า และเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งของกรรมการบริหารพรรค จำนวน 9 คน เมื่อวันที่ 30 พ.ค.2550

    12.พรรคพัฒนาชาติไทย

    อัยการสูงสุดยื่นเรื่องให้ตุลาการรัฐธรรมนูญมีคำสั่งยุบพรรคพัฒนาชาติไทย กรณีนายบุญทวีศักดิ์ อมรสินธุ์ หัวหน้าพรรค ได้เกี่ยวข้องกับการแก้ไขเปลี่ยนแปลงข้อมูลสมาชิกพรรคและการรับเงินจากพลเอก ธรรมรักษ์ อิศรางกูร ณ อยุธยา กรรมการบริหารพรรคไทยรักไทย

    คณะตุลาการรัฐธรรมนูญมีคำสั่งให้ยุบพรรคพัฒนาชาติไทย กับให้เพิกถอนสิทธิเลือกตั้งของกรรมการบริหารพรรคพัฒนาชาติไทย 19 คน มีกำหนด 5 ปี เนื่องจากกระทำผิดตาม พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง 2541 มาตรา 66 กระทำการอันอาจเป็นปฏิปักษ์ต่อการปกครองระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขตามรัฐธรรมนูญ และ กระทำการอันเป็นภัยต่อความมั่นคงของรัฐ หรือขัดต่อกฎหมาย หรือความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน

    13.พรรคแผ่นดินไทย

    อัยการสูงสุดยื่นเรื่องให้ตุลการศาลรัฐธรรมนูญมีคำสั่งยุบพรรคแผ่นดินไทย เนื่องจากนายบุญอิทธิพลหรือบุญบารมีภณ ชิณราช หัวหน้าพรรคแผ่นดินไทยเป็นผู้แทนของพรรค กระทำการอันเป็นปฏิปักษ์ต่อการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขตามรัฐธรรมนูญและกระทำการอันอาจเป็นภัยต่อความมั่นคงของรัฐหรือขัดต่อกฎหมายหรือความสงบเรียบร้อย หรือศีลธรรมอันดีของประชาชน ตาม พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง 2541 มาตรา 66 โดย ศาลรัฐธรรมนูญมีมติ ยุบพรรคและเพิกถอนสิทธิ กรรมการบริหารจำนวน 3 คน

    14.พรรคไทยรักไทย

    พรรคประชาธิปัตย์ร้องเรียนต่อกกต.ว่า พรรคไทยรักไทยว่าจ้างพรรคการเมืองขนาดเล็กลงสมัครรับเลือกตั้ง เพื่อจะได้มีคู่แข่งไม่ต้องใช้เกณฑ์ที่ต้องได้คะแนนเสียงมากว่าร้อยละ 20 โดยคำร้องระบุว่า พล.อ.ธรรมรักษ์ อิศรางกูร ณ อยุธยา รองหัวหน้าพรรคไทยรักไทย และนายพงษ์ศักดิ์ รักตพงศ์ไพศาล รองเลขาธิการพรรคไทยรักไทย ร่วมกันให้เงินสนับสนุนแก่พรรคพัฒนาชาติไทยและพรรคแผ่นดินไทย เพื่อเป็นค่าใช้จ่ายในการส่งผู้สมัครรับเลือกตั้ง

    นอกจากนี้ทั้งคู่ร่วมกันสนับสนุนให้มีการตัดต่อเปลี่ยนแปลงข้อมูลการเป็นสมาชิกของพรรคพัฒนาชาติไทย ที่เป็นสมาชิกไม่ครบ 90 วัน ให้ครบ 90 วัน อันเป็นการช่วยเหลือและสนับสนุนให้มีการปลอมเอกสาร เป็นการกระทำให้ได้มาซึ่งอำนาจในการปกครองประเทศโดยวิธีการซึ่งไม่ได้เป็นไปตามวิถีทางที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ และเป็นการกระทำอันอาจเป็นภัยต่อความมั่นคงของรัฐหรือขัดต่อกฎหมายหรือขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน

    ศาลรัฐธรรมนูญ มีคำสั่งยุบพรรคไทยรักไทยเนื่องจาก ทำผิดตามตาม พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง 2541 มาตรา 66 กระทำการล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหา กษัตริย์ทรงเป็นประมุขตามรัฐธรรมนูญ หรือเพื่อให้ได้มาซึ่งอำนาจในการปกครอง ประเทศโดยวิธีการ ซึ่งมิได้เป็นไปตามวิถีทางที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ และกระทำการอันอาจเป็นปฏิปักษ์ต่อการปกครองระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขตามรัฐธรรมนูญและเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งของกรรมการบริหารพรรคไทยรักไทย 111 คน มีกำหนด 5 ปี นับตั้งแต่มีคำสั่งให้ยุบพรรคไทยรักไทยเมื่อวันที่ 30 พ.ค.50

    15.พรรคสันติภาพไทย

    นายทะเบียนพรคการเมือง ยื่นคำร้องลงวันที่ 7 ก.พ2550 ขอให้คณะตุลาการรัฐธรรมนูญมีคำสั่งยุบพรรคสันติภาพไทย เนื่องจากไม่ดำเนินการตามมาตรา 29 ตาม พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง 2541 ที่ต้องดำเนินการให้มีสมาชิกตั้งแต่ 5,000คนขึ้นไป และมีสาขาพรรคการเมืองอย่างน้อยภาคละหนึ่งสาขา ศาลรัฐธรรมนูญมีคำส่งยุบพรรคเมื่อวันที่ 26 ก.ย. 2550

    16.พรรครวมพลังไทย

    นายทะเบียนยื่นคำร้อง ลงวันที่ 13 พ.ย.2549 ให้ศาลรัฐธรรมนูญยุบพรรครวมพลังไทย เนื่องจากไม่ดำเนินการตาม ตาม พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง 2541 มาตรา 29 ที่ต้องดำเนินการให้มีสมาชิกตั้งแต่ 5,000คนขึ้นไป และมีสาขาพรรคการเมืองอย่างน้อยภาคละหนึ่งสาขา ศาลรัฐธรรมนูญมีคำส่งยุบพรรคเมื่อวันที่ 1 ต.ค. 2550

    17.พรรครักษ์แผ่นดินไทย

    นายทะเบียนพรรคการเมืองยื่นคำร้องลงวันที่ 10 พ.ย.2549 ขอให้ศาลรัฐธรรมนูญมีคำสั่งยุบพรรครักษ์แผ่นดินไทย เนื่องจาก หัวหน้าพรรคจัดทำรายงานการดำเนินกิจการของพรรคการเมืองไม่ถูกต้องตามความเป็นจริงตามวิธีที่กำหนด ตาม ตาม พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง 2541 มาตรา 35 ศาลรัฐธรรมนูญมีคำสั่งให้ยุบพรรคเมื่อวันที่ 18 ต.ค.2550

    18.พรรคธรรมาธิปไตย

    นายทะเบียนพรรคการเมืองยื่นคำร้องลงวันที่ 10 พ.ย.2549 ให้ศาลรัฐธรรมนูญมีคำสั่งยุบพรรคธรรมาธิปไตย เนื่องจากไม่ปฏิบัติตามาตรา 35 ตาม พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง 2541 ที่กำหนดให้หัวหน้าพรรคการเมืองจัดทำรายงานการดำเนินกิจกรรมของพรรคการเมืองในรอบปีปฏิทิน ให้ถูกต้องตามความเป้จจริงตามวิธีที่กำหนด ตามกรอบเวลาที่กำหนด ศาลรัฐธรรมนูญมีมคำสั่งให้ยุบพรรคธรรมาธิปไตย เมื่อวันที่ 18 ต.ค.2550

    19.พรรคพลังธรรม

    นายทะเบียนพรรคการเมืองยื่นคำร้องลงวันที่ 15 พ.ย.2549 ให้ศาลรัฐธรรมนูญยุบพรรคพลังธรรม มาตรา 62 พรรคการเมืองที่ได้รับเงินสนับสนุนต้องใช้จ่ายเงิน สนับสนุนให้เป็นไปตามที่บัญญัติไว้ในส่วนนี้ และจะต้องจัดทำรายงานการใช้จ่ายเงิน สนับสนุนของพรรคการเมืองในรอบปีปฏิทินให้ถูกต้องตามความเป็นจริงและยื่นต่อ คณะกรรมการการเลือกตั้งภายในเดือนมีนาคมของปีถัดไปศาลรัฐธรรมนูญมีคำสั่งให้ยุบพรรคเมื่อวันที่ 18 ต.ค.2550

    20. พรรคธรรมชาติไทย

    นายทะเบียนพรรคการเมืองยื่นคำร้องลงวันที่ 2 พ.ย. 2549 ให้ศาลรัฐธรรมนูญมีสำคสั่งยุบพรรค เนื่องจาก ดำเนินการไม่เป็นไปตามาตรา 62 พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมืองที่ ระบุว่าเมื่อได้รับเงินสนับสนุนต้องใช้จ่ายเงิน สนับสนุนให้เป็นไปตามที่บัญญัติไว้ในส่วนนี้ และจะต้องจัดทำรายงานการใช้จ่ายเงิน สนับสนุนของพรรคการเมืองในรอบปีปฏิทินให้ถูกต้องตามความเป็นจริงและยื่นต่อ คณะกรรมการการเลือกตั้งภายในเดือนมีนาคมของปีถัดไปศาลรัฐธรรมนูญมีคำสั่งให้ยุบพรรคเมื่อวันที่ 1 พ.ย. 2550

    21.พรรคไทยช่วยไทย

    นายทะเบียนยื่นคำร้องลงวันที่ 16 พ.ค.2549 ขอให้ศาลรัฐธรรมนูญมีคำสั่งยุบพรรคไทยช่วยไทย เนื่องจากการปชุมใหญ่สามัญของพรรค เมื่อวันที่ 27 เม.ย. 2548 มีผู้เข้าร่วมประชุม เพียง 81 คน ไม่เป็นไปตามข้อบังคับพรรค ข้อ 70 ที่จะต้องมีสมาชิกร่วมประชุมไม่น้อยกว่า 100 คน ไม่เป็นไปตามมาตรา 26 พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง 2541จึงเป็นเหตุให้ถูกยุบพรรค ศาลรัฐธรมนูญมีคำสั่งให้ยุบพรรคเมื่อวันที่ 1 พ.ย. 2550

    22.พรรคพลังประชาชน

    อัยการสูงสุดยื่นคำร้องลงวันที่ 10 ต.ค.ขอให้ศาลรัฐธรรมนูญมีคำสั่งยุบพรรคพลังประชาชนเนื่องจาก กกต. ให้ใบแดง นายยงยุทธ ติยะไพรัช รองหัวหน้าพรรคพลังประชาชน เนื่องจากพบการทุจริตเลือกตั้งที่ จ.เชียงราย โดยมีหลักฐานนายยงยุทธเรียกกำนัน 10 คน ที่ อ.แม่จัน ไปพบให้ช่วยเหลือในการเลือกตั้งและให้เงินกำนันคนละ 20,000 บาท ศาลฎีกาแผนคดีเลือกตั้งยืนตามมติกกต. สรุปสำนวนส่งให้ศาลรัฐธรรมนูญยุบพรรคพลังประชาชนต่อไป

    ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ มีมติเอกฉันท์เมื่อวันที่ 2 ธ.ค. 2551 ให้ยุบพรรคพลังประชาชน และเพิกถอนสิทธิเลือกตั้ง กรรมการบริหารพรรค 5 ปี เนื่องจากนายยงยุทธ์ ในฐานรองหัวหน้าพรรค กระทำการผิด พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญปว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. และการได้มาซึ่ง ส.ว. 2550 มีผลให้การเลือกตั้งมิได้เป็นไปโดสุจริตเที่ยงธรรม กระทำการเพื่อให้ได้มาซึ่งอำนาจในการปกครองประเทศโดยวิธีการซึ่งมิได้เป็นไปตามวิธีทางที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ

    23. พรรคชาติไทย

    เช่นเดียวกันในการเลือกตั้ง 2550 กกต.ให้ใบแดง นายมณเฑียร สงฆ์ประชา ผู้สมัครรับเลือกตั้งและรองเลขาธิการพรรคชาติไทย กรณี พบผู้สนับสนุนเตรียมเงินให้แก่ผู้มีสิทธิเลือกตั้งที่หอประชุมโรงเรียนชัยนาทพิทยาคม เพื่อจูงใจให้ลงคะแนนเสียงแก่นายมณเฑียร และ นางนันทนา สงฆ์ประชา ทางอัยการสูงสุด ยื่นคำร้องลงวันที่ 1 ต.ค.2551 ให้ศาลรัฐธรมมีคำสั่งยุบพรรคชาติไทย
    ศาลรัฐธรรมนูญมีคำสั่งให้ยุบพรรคชาติไทย เมื่อวันที่ 2 ธ.ค. 2551 และตัดสิทธิกรรมการบริหารพรรคเป็นเวลา 5 ปี เนื่องจากกระทำผิดตาม พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญ ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส.และการได้ซึ่งส.ว.2550 มีผลให้การเลือกตั้งไม่ได้เป็นไปโดยสุจริตเที่ยงธรรมอันเป็นการกระทำเพื่อให้ได้มาซึ่งอำนาจ ในการปกครองประเทศโดยวิธีการซึ่งมิได้เป็นไปตามวิถีทางที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมญ ตามมาตรา 68

    24.พรรคมัชฌิมาธิปไตย

    ภายหลัง นายสุนทร วิลาวัลย์ ผู้สมัครรับเลือกตั้งและรองหัวหน้าพรรคมัชฌิมาธิปไตย ได้รับใบแดง กกต.จึงพิจารณาตามมาตรา 237 ของรัฐธรรมนูญ 2550 และมาตรา 103 พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งส.ส.และการได้มาซึ่ง ส.ว.2550 ซึ่งบัญญัติไว้ตรงกันว่า ถ้าการกระทำดังกล่าวปรากฏหลักฐานอันควรเชื่อได้ว่าหัวหน้าพรรคหรือกรรมการบริหารพรรคมีส่วนรู้เห็น หรือปล่อยปละละเลย หรือทราบแล้วไม่ได้ยับยั้งหรือแก้ไข เพื่อให้การเลือกตั้งเป็นไปโดยสุจริตและเที่ยงธรรม ให้ถือว่าพรรคการเมืองนั้นกระทำการซึ่งให้ได้มาซึ่งอำนาจในการปกครองประเทศ โดยวิธีการที่ไม่เป็นไปตามวิถีทางที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ ต่อมาศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย ว่า ให้ยุพรรค มัชฌิมาธิปไตย เนื่องจากกระทำผิด และตัดสิทธิกรรมการบริหาร 5 ปี เมื่อวันที่ 5 ธ.ค.2551

    25.พรรคอธิปไตย

    นายทะเบียนพรคการเมือง ยื่นคำร้อง ลงวันที่ 19 พ.ย. 2551 ขอให้ ยุบพรรคเนื่องจาก ไม่ปฏิบัติตาม พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรคการเมือง 2550 มาตรา 42 ซึ่งกำหนดให้หัวหน้าพรรคการเมืองจัดทำรายงานการดำเนินกิจการของพรรคในรอบปีปฏิบัติ ให้ถูกต้อง ต่อมาศาลรัฐธรรมนูญมีคำสั่งยุบพรรคอธิปไตย เมื่อวันที่ 17 ก.พ. 2553

    26. พรรคกฤษไทยมั่นคง

    นายทะเบียนพรรคการเมืองยื่นคำร้องลงวันที่13 พ.ย. 2551 ขอให้ยุบพรรคเนื่องจากไม่ปฏิบัติตาม พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรคการเมือง 2550 มาตรา 42 ซึ่งระบุให้หน้าพรรคการเมืองจัดทำรายงานการดำเนินกิจกรรมของพรรคการเมืองในรอบปฏิทินที่ผ่านมาให้ถูกต้อง ศาลรัฐธรรมนูญมีคำสั่งยพรรคเมื่อวันที่ 17 ก.พ.2553

    27.พรรคเพื่อนเกษตรกรไทย

    นายทะเบียนยื่นคำร้องให้ศาลรัฐธรรมนูญ มีคำสั่งยุบพรรคเพื่อนเกษตรกรไทย เนื่องจากไม่ปฏิบัติตาม พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรคการเมือง 2550 มาตรา 28 กรณีการรายงานการดำเนินกิจการของพรรคการเมือง ไม่ถูกต้อง และเมื่อให้แก้ไขทางพรรคไม่ได้จัดทำให้ถูกต้องตามเวลาที่กำหนด ศาลรัฐธรรมนูญจึงมีคำสั่งยุบพรรค เมื่อวันที่ 28 มี.ค.2555 และห้ามกรรมการบริหารจดแจ้งการตั้งพรรคขึ้นใหม่หรือเป็นกรรมการบริหารพรรคการเมืองหรือมีส่วนในกาจดแจ้งการจัดตั้งพรรคการเมืองขึ้นไม่ได้ 5 ปี

    28. พรรคสยาม

    นายทะเบียนยื่นคำร้อง ให้ศาลรัฐธรรมนูญ มีคำสั่ง ยุบพรรคสยามจากกรณี ไม่สามารถดำเนินการตามมาตรา 42 พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรคการเมือง 2550 ซึ่งระบุให้หัวหน้าพรรคการเมืองจัดทำรายงานการดำเนินกิจการของพรรคการเมืองในรอบปีปฏิทินที่ผ่านมาให้ถูกต้องตามความเป็นจริง ศาลรัฐธรรมนูญมีคำสั่งให้ยุบพรรคเมื่อวันที่ 28 มี.ค. 2555 และห้ามกรรมการบริหารพรรคไปตั้งพรรคใหม่ หรือมีส่วนร่วมในการจดแจ้งการจัดตั้งพรรคใหม่อีก 5 ปี

    29.พรรคชีวิตที่ดีกว่า

    นายทะเบียนยื่นคำร้องขอให้ศาลรัฐธรรมนูญมีคำสั่งยุบพรรคชีวิตที่ดีกว่าเนื่องจาก ไม่ปฏิบัติตามพ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง 2550 มาตรา 42 ซึ่งให้หัวหน้าพรรคการเมืองจัดทำรายงานการดำเนินกิจการของพรรคการเมืองในรอบปีปฏิทินที่ผ่านมาให้ถูกต้องตามความเป็นจริง ศาลรัฐธรรมนูญมีคำสั่งให้ยุบพรรค และห้ามกรรมการบริหารไปจัดตั้งพรรคใหม่หรือมีส่วนร่วมในการจัดตั้งพรรคการเมืองอีกภายใน 5 ปีนับจากวันที่ 13 มี.ค. 2556

    30.พลังแผ่นดินไทย

    นายทะเบียนพรคการเมืองร้องให้ศาลรัฐธรรมนูญมีคำสั่งยุบพรรคพลังแผ่นดินไทย เนื่องจากไม่ได้จัดส่งรายงานการใช้จ่ายเงินสนับสนุน ตามมาตรา 42 พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง 2550 เป็นเหตุให้ถูกยุบตามมาตรา 93 ศาลรัฐธรรมนูญจึงมีคำสั่งให้ยุบพรรค และห้ามกรรมการบริหารไปจัดตั้งพรรคใหม่หรือมีส่วนร่วมในการจัดตั้งพรรคการเมืองอีกภายใน 5 ปีนับจากวันที่ 13 มิ.ย. 2556

    31.พรรคบำรุงเมือง

    นายทะเบียนพรรคการเมืองยื่นคำร้องให้ศาลรัฐธรรมนูญมีคำสั่งยุบพรรคบำรุงเมือง เนื่องจากไม่ได้จัดส่งรายงานการใช้จ่ายเงินสนับสนุน ตามมาตรา 42 พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง 2550 เป็นเหตุให้ถูกยุบตามมาตรา 93 ศาลรัฐธรรมนูญจึงมีสั่งให้ยุบพรรค และห้ามกรรมการบริหารไปจัดตั้งพรรคใหม่หรือมีส่วนร่วมในการจัดตั้งพรรคการเมืองอีกภายใน 5 ปีนับจากวันที่ 23 เม.ย. 2557

    32. พรรคไทยพอเพียง

    นายทะเบียนพรรคการเมืองยื่นเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญมีคำสั่งยุบพรรค ไทยพอเพียง เนื่องจากไม่ได้จัดส่งรายงานการใช้จ่ายเงินสนับสนุน ตามมาตรา 42 พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง 2550 เป็นเหตุให้ถูกยุบตามมาตรา 93 ศาลรัฐธรรมนูญจึงมีคำสั่งให้ยุบพรรค และห้ามกรรมการบริหารไปจัดตั้งพรรคใหม่หรือมีส่วนร่วมในการจัดตั้งพรรคการเมืองอีกภายใน 5 ปีนับจากวันที่ 17 ก.ย. 2557

    33. พรรคดำรงไทย

    นายทะเบียนพรรคการเมือง ยื่นเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญมีคำสั่งยุบพรรคดำรงไทย จากกรณีไม่ได้จัดส่งรายงานการใช้จ่ายเงินสนับสนุน ตามมาตรา 42 พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง 2550 เป็นเหตุให้ถูกยุบตามมาตรา 93 ศาลรัฐธรรมนูญจึงมีคำสั่งให้ยุบพรรค และห้ามกรรมการบริหารไปจัดตั้งพรรคใหม่หรือมีส่วนร่วมในการจัดตั้งพรรคการเมืองอีกภายใน 5 ปีนับจากวันที่ 24 มิ.ย. 2558

    34. พรรคคนขอปลดหนี้

    นายทะเบียนพรรคการเมืองยื่นเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญมีคำสั่งให้ยุบพรรคคนขอปลดหนี้ ตาม พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ. 2550 มาตรา 93 ประกอบมาตรา 82 เนื่องจากไม่จัดทำรายงานการใช้จ่ายเงินสนับสนุนจากกองทุนเพื่อพัฒนาพรรคการเมืองในรอบปี พ.ศ. 2554 และรอบปี พ.ศ. 2555 ให้ถูกต้องความเป็นจริงศาลรัฐธรรมนูญมีคำสั่งยุบพรรคคนขอปลดหนี้เมื่อวันเมื่อวันที่ 30 มี.ค. 2559

    35. พรรคชาติสามัคคี

    นายทะเบียนพรรคการเมืองยื่นเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญมีคำสั่งยุบพรรคชาติสามัคคีเนื่องจากไม่ได้จัดส่งรายงานการใช้จ่ายเงินสนับสนุน ตามมาตรา 42 พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง 2550 เป็นเหตุให้ถูกยุบตามมาตรา 93 ศาลรัฐธรรมนูญมีคำสั่งยุบพรรค และห้ามกรรมการบริหารไปจัดตั้งพรรคใหม่หรือมีส่วนร่วมในการจัดตั้งพรรคการเมืองอีกภายใน 5 ปีนับจากวันที่ 30 มี.ค. 2559

    36. พรรคเพื่อประชาชนไทย

    นายทะเบียนยื่นเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญมีคำสั่งยุบพรรคเพื่อประชาชนไทย เนื่องจากไม่ปฏิบัติตามพ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง 2550 มาตรา 93 ประกอบมาตรา 82 ไม่จัดทำรายงานการใช้จ่ายเงินสนับสนุนจากกองทุนเพื่อพัฒนาพรรคการเมืองในรอบปี พ.ศ. 2554 และรอบปี พ.ศ. 2555 ให้ถูกต้องความเป็นจริง ศาลรัฐธรรมนูญมีคำสั่งให้ยุบพรรค และห้ามกรรมการบริหารไปจัดตั้งพรรคใหม่หรือมีส่วนร่วมในการจัดตั้งพรรคการเมืองอีกภายใน 5 ปีนับจากวันที่ 11 ต.ค. 2560