ThaiPublica > เกาะกระแส > 22 ปี ศาล รธน.ยุบ 110 พรรค

22 ปี ศาล รธน.ยุบ 110 พรรค

19 กุมภาพันธ์ 2020


บรรยากาศอ่านคำพิพากษาของศาลรัฐธรรมนูญคดีพรรคอนาคตใหม่ วันที่ 21 กุมภาพันธ์ 2563

“ไทยพับลิก้า” สำรวจ 22 ปี ศาล รธน.ยุบ 110 พรรค พร้อมเปรียบเทียบความเหมือน-จุดต่าง ยุบพรรคไทย-ต่างประเทศ และข้อเสนอแนะจากงานวิจัย“การยุบพรรคการเมือง โดยองค์กรวินิจฉัยความชอบด้วยรัฐธรรมนูญ”

22 ปี นับตั้งแต่การประกาศพระราชบัญญัติประกอบรัฐะรรมนูญ (พ.ร.ป.) ว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ. 2541 อำนาจในการ “ยุบพรรค” ถูกโยกจาก “ศาลฎีกา” ให้เป็นหน้าที่ของศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยชี้ขาด มีพรรคการเมืองที่ถูกยุบโดยคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ 110 พรรค

9 ปีแรกของการใช้กฎหมายพรรคการเมืองฉบับดังกล่าว มีพรรคการเมืองที่ถูกยุบ รวม 92 พรรค โดยเกือบทั้งหมดเป็นสาเหตุในด้านธุรการหรือทางเทคนิคที่พรรคไม่ดำเนินการตามหลักเกณฑ์และข้อกฎหมายที่วางเอาไว้ เช่น

  • กรณีการเปลี่ยนแปลงข้อบังคับพรรคการเมืองการเลือกตั้งผู้ดำรงตำแหน่งในพรรคการเมืองไม่ได้กระทำโดยที่ประชุมใหญ่ของพรรคการเมือง
  • กรณีองค์ประกอบของที่ประชุมใหญ่ของพรรคการเมืองไม่ได้เป็นไปตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่กำหนดในข้อบังคับพรรคการเมือง
  • กรณีพรรคการเมืองไม่ดำเนินการให้สมาชิกตั้งแต่ 5,000 คนขึ้นไป
  • กรณีหัวหน้าพรรคการเมืองไม่จัดทำรายงานการดำเนินการกิจการของพรรคการเมืองในรอบปีปฏิทินที่ผ่านมาให้ถูกต้องตามความเป็นจริงตามวิธีการที่นายทะเบียนกำหนด
  • กรณีที่พรรคการเมืองไม่จัดทำรายงานการใช้จ่ายเงินสนับสนุนของพรรคการเมืองในรอบปีปฏิทินให้ถูกต้องตามความเป็นจริงและยื่นต่อ กกต. (คณะกรรมการการเลือกตั้ง)
  • พรรคการเมืองมีมติยุบเลิกพรรคตามข้อบังคับของพรรค
  • กรณีพรรคการเมืองถูกยุบเพราะมีจำนวนสมาชิกเหลือไม่ถึง 15 คน
  • กรณีพรรคการเมืองถูกยุบไปรวมกับพรรคการเมืองอื่น

ทรท.ประเดิมปมล้มล้างการปกครอง

ก่อนที่ปี 2550 ซึ่งเป็นปีสุดท้ายของการบังคับใช้กฎหมายพรรคการเมืองฉบับนี้ มีคดีใหญ่ที่ถือเป็นการเปลี่ยนแปลงประวัติศาสตร์การเมืองไทย ศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัยยุบพรรคไทยรักไทย โดยมีเหตุแห่งการยุบพรรค คือ กระทำการล้มล้างการปกครองระบบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขตามรัฐธรรมนูญ หรือเพื่อให้ได้มาซึ่งอำนาจในการปกครองประเทศโดยวิธีการ ซึ่งไม่ได้เป็นไปตามวิถีทางการบัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญมาตรา 66 (1) และกระทำการอันอาจเป็นภัยต่อความมั่นคงของรัฐหรือขัดต่อกฎหมาย หรือความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน มาตรา 60 (3) กรณีว่าจ้างพรรคการเมืองขนาดเล็กลงสมัครรับเลือกตั้งเมื่อวันที่ 2 เมษายน 2549 เพื่อหนีเกณฑ์ว่าจะต้องได้คะแนนเสียงไม่น้อยกว่า 20 เปอร์เซ็นต์ของผู้มีสิทธิเลือกตั้งในเขตที่มีผู้สมัครคนเดียว

พร้อมสั่งยุบพรรคประชาธิปไตยก้าวหน้า พรรคพัฒนาชาติไทย และพรรคแผ่นดินไทย ที่กระทำการอันอาจเป็นปฏิปักษ์ต่อการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 66 (2) และมาตรา 66 (3) กรณีรับจ้างลงสมัครับเลือกตั้งในเขตที่มีผู้สมัครพรรคไทยรักไทยเพียงคนเดียว

รธน.2550 ยุบ 16 พรรค “พปช.-ชท.-มฌ.” ทุจริตเลือกตั้ง

เมื่อมีการประกาศใช้ พ.ร.ป.ว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ. 2550 ภายใต้กฎหมายฉบับนี้ ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยยุบพรรค รวม 16 พรรคการเมือง โดยเปิดประเดิมด้วยการยุบ 3 พรรคการเมือง คือ พรรคมัชฌิมาธิปไตย พรรคชาติไทย และพรรคพลังประชาชน กรณีกรรมการบริหารพรรคทุจริตในการเลือกตั้ง

โดยเหตุแห่งการยุบพรรคในฐานความผิด ว่า พรรคการเมืองกระทำการล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขตามรัฐธรรมนูญ หรือเพื่อให้ได้มาซึ่งอำนาจในการปกครองประเทศโดยวิธีการ ซึ่งไม่ได้เป็นไปตามวิถีทางที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ หรือ กระทำการตามที่รัฐธรรมนูญให้ถือว่าเป็นการกระทำเพื่อให้ได้มาซึ่งอำนาจโดยวิธีการดังกล่าว ตามมาตรา 94 (1) หรือกระทำการอันเป็นการฝ่าฝืน พ.ร.ป.การเลือกตั้ง ส.ส. (สมาชิกสภาผู้แทนราษฏร) และการได้มาซึ่ง ส.ว. (สมาชิกวุฒิสภา) หรือระเบียบหรือประกาศของ กกต. ซึ่งมีผลทำให้การเลือกตั้งไม่ได้เป็นไปโดยสุจริตและเที่ยงธรรม ตามมาตรา 94 (2) ประกอบมาตรา 237 วรรคสองของรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2560

ส่วนอีก 13 พรรคการเมืองที่เหลือ ถูกยุบในกรณีไม่จัดทำรายงานการดำเนินกิจการของพรรคการเมืองให้ถูกต้องตามความเป็นจริงตามวิธีการที่นายทะเบียนกำหนด กรณีไม่จัดทํารายงานการใช้จ่ายเงินสนับสนุนจากกองทุนเพื่อการพัฒนาพรรคการเมืองในรอบปีให้ถูกต้องตามความเป็นจริง

ที่มาภาพ : https://www.facebook.com/TSNParty/photos/pcb.393049888178686/393047998178875/?type=3&theater

รธน.2560 ยุบไทยรักษาชาติ-อนาคตใหม่

ปัจจุบันกับการใช้บังคับ พ.ร.ป.พรรคการเมือง พ.ศ. 2561 ศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัยยุบพรรคการเมือง 2 พรรค คือ พรรคไทยรักษาชาติ กรณีการกระทำอันอาจเป็นปฏิปักษ์ต่อการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ในการเสนอพระนามทูลกระหม่อมหญิงอุบลรัตนราชกัญญา สิริวัฒนาพรรณวดี เป็นนายกรัฐมนตรีในบัญชีนายกรัฐมนตรีของพรรค

และพรรคอนาคตใหม่ โดยตัดสิทธิสมัครรับเลือกตั้งกรรมการบริหารพรรค 16 คน เป็นเวลา 10 ปี ด้วยมติ 7 ต่อ 2 กรณีกู้เงินนายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ หัวหน้าพรรคอนาคตใหม่ จำนวน 191 ล้านบาท ซึ่งเป็นการฝ่าฝืน มาตรา 72 พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ. 2560 ที่ห้ามมิให้พรรคการเมืองและผู้ดํารงตําแหน่งในพรรคการเมืองรับบริจาคเงิน ทรัพย์สิน หรือประโยชน์อื่นใด โดยรู้หรือควรจะรู้ว่าได้มาโดยไม่ชอบด้วยกฎหมายหรือมีเหตุอันควรสงสัยว่า มีแหล่งที่มาโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย

  • อ่านมติศาลรธน.7:2 ยุบพรรคอนาคตใหม่ ตัดสิทธิ กก.บห. 10 ปี ชี้ เงินกู้ เป็น “รายรับ”
  • เปรียบเทียบความเหมือน-จุดต่าง ยุบพรรคไทย-ต่างประเทศ

    รายงานการศึกษาวิจัยเรื่อง “การยุบพรรคการเมือง โดยองค์กรวินิจฉัยความชอบด้วยรัฐธรรมนูญ” ที่นายปริญญา เทวานฤมิตรกุล คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เป็นหัวหน้าคณะผู้วิจัย ได้ศึกษาการยุบพรรคการเมืองในประเทศไทย โดยเปรียบเทียบกับต่างประเทศ เยอรมนี ฝรั่งเศส เกาหลีใต้ สเปน ออสเตรเลีย และตุรกี โดยมีหัวข้อที่น่าสนใจ เช่น องค์กรผู้มีอำนาจยุบพรรค บุคคลผู้มีอำนาจเริ่มต้นคดีและกระบวนการในการยื่นคำร้อง เหตุในการยุบพรรคการเมือง มติและผลของการยุบพพรรคการเมือง และผลกระทบของคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญกับระบบพรรคการเมือง (หมายเหตุ — งานวิจัยชิ้นนี้ศึกษาในขณะที่รัฐธรรมนูญ 2550 ใช้บังคับ)

    องค์กรผู้มีอำนาจยุบพรรคการเมือง

    พบว่า องค์กรวินิจฉัยความชอบด้วยรัฐธรรมนูญของแต่ละประเทศจะมีรูปแบบใด ขึ้นอยู่กับระบบของกฎหมาย และระบบศาลของประเทศนั้นๆ โดยประเทศที่มีศาลรัฐธรรมนูญอำนาจหน้าที่ในการยุบพรรคจะตกอยู่กับศาลรัฐธรรมนูญ แต่ประเทศที่ไม่มีการจัดตั้งศาลรัฐธรรมนูญ เช่น ฝรั่งเศส สเปน และออสเตรเลีย องค์กรผู้มีอำนาจในการยุบ หรือเลิก หรือเพิกถอนพรรคการเมือง จะอยู่ที่ศาลปกติ หรือองค์กรที่ได้รับมอบหมายของประเทศนั้นๆ

    บุคคลผู้มีอำนาจเริ่มต้นคดี และกระบวนการในการยื่นคำร้อง

    คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญที่ 18-22/2555 ลงวันที่ 13 กรกฎาคม 2555 ที่บัญญัติให้ผู้ทราบการกระทำสามารถยื่นคำร้องเข้าสู่ศาลรัฐธรรมนูญปี 2550 ได้ 2 ช่องทาง คือ เสนอเรื่องให้อัยการสูงสุดตรวจสอบข้อเท็จจริงและยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญ และยื่นคำร้องขอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยสั่งการให้เลิกการกระทำดังกล่าวได้โดยตรง ซึ่งทำให้เกิดผลขัดกันในทางปฏิบัติและไม่สอดคล้องกับเจตนารมณ์ในการบัญญัติรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2550 มาตรา 68 วรรคสอง

    (ปัจจุบัน รธน. 2560 ม. 213 บัญญัติให้บุคคลซึ่งถูกละเมิดสิทธิหรือเสรีภาพที่รัฐธรรมนูญคุ้มครองไว้ มีสิทธิยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญเพื่อมีคำวินิจฉัยว่าการกระทำนั้นขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญได้ ส่วนการยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญเพื่อใช้สิทธิไม่ให้กระทำการล้มล้างการปกครองฯ ตาม ม.49 นั้น ผู้ทราบการกระทำต้องยื่นคำร้องต่ออัยการสูงสุด (อสส.) ก่อน แต่ในกรณีที่ อสส.ไม่รับคำร้อง ผู้ร้องสามารถยื่นตรงต่อศาลรัฐธรรมนูญได้)

    ขณะที่ประเทศเยอรมนี ฝรั่งเศส เกาหลีใต้ สเปน ออสเตรเลีย และตุรกี ไม่มีประเทศใดที่ให้สิทธิประชาชนในการยื่นคำร้องยุบพรรคการเมืองต่อองค์กรวินิจฉัยความชอบด้วยรัฐธรรมนูญ แต่ให้เป็นหน้าที่ของฝ่ายบริหาร หรือผู้แทนของรัฐ เช่น ประธานาธิบดี สภาผู้แทนราษฎร พนักงานอัยการ และ กกต. ในการดำเนินการดังกล่าว

    เหตุในการยุบพรรค

    เหตุในการยุบพรรคการเมืองของประเทศไทย เช่น การไม่จัดทำหรือแจ้งการรายงานการดำเนินกิจการของพรรคการเมือง หรือไม่จัดทำหรือแจ้งรายงานการใช้จ่ายเงินสนับสนุนของพรรคการเมือง หรือการรับบริจาคจากบุคคล นิติบุคคล หรือองค์การบางกรณี ถือเป็นเหตุในการยุบพรรคการเมืองได้ ซึ่งไม่สอดคล้องกับผิดในการยุบพรรคการเมืองของต่างประเทศ ที่มุ่งเน้นเหตุในการยุบพรรคที่จะต้องเป็นเรื่องร้ายแรงและส่งผลต่อการดำรงอยู่ของรัฐ หรือกระทบกระเทือนต่อระบอบการปกครองในรูปแบบประชาธิปไตย

    แต่เหตุในการยุบพรรคการเมืองของประเทศไทยเป็นเพียงเรื่องทางเทคนิค หรือความผิดเล็กน้อย หรือเป็นเพียงการไม่ดำเนินการภายในระยะเวลาที่กฎหมายกำหนดเท่านั้น ซึ่งไม่สอดคล้องกับหลักความได้สัดส่วนที่ถึงขนาดจะเป็นเหตุในการยุบพรรคการเมือง และพรรคการเมืองส่วนใหญ่ที่ถูกยุบก็เป็นพรรคการเมืองขนาดเล็ก ทำให้ให้ไม่เอื้อต่อการส่งเสริมการแข่งขันทางการเมืองของพรรคการเมืองขนาดเล็ก และยังเป็นการทำลายเสรีภาพหรือเจตจำนงของประชาชนในการจัดตั้งพรรคการเมืองที่เกินกว่าความจำเป็น

    มติและผลของการยุบพรรคการเมือง

    ตามระบบกฎหมายของไทยมติในการยุบพรรคการเมืองใช้เสียงข้างมากธรรมดา แต่ในระบบกฎหมายของต่างประเทศ โดยเฉพาะประเทศที่มีศาลรัฐธรรมนูญ มติในการยุบพรรคการเมืองจะใช้มติพิเศษ เช่น เยอรมัน ตุรกี เกาหลีใต้ จะใช้มติ 2 ใน 3 ขององค์ประชุมคณะตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ

    ขณะที่ผลของการยุบพรรคการเมือง ตามระบบกฎหมายไทยจะส่งผลกระทบทั้งในส่วนของพรรคการเมืองหัวหน้า พรรคการเมือง กรรมการบริหารของพรรค รวมถึง ส.ส.ภายในพรรค เช่น ส.ส.ของพรรคการเมืองที่ถูกยุบต้องเข้าไปเป็นสมาชิกของพรรคการเมืองอื่น ห้ามจัดตั้งพรรคการเมืองขึ้นมาใหม่ ห้ามไปมีส่วนร่วมในการขอจัดตั้งพรรคการเมืองขึ้นใหม่ การเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งของหัวหน้าพรรคการเมืองและกรรมการบริหารพรรคการเมืองนั้น

    ส่วนในต่างประเทศผลของการยุบพรรคการเมืองจะส่งผลเฉพาะแค่พรรคการเมือง หรือการห้ามก่อตั้งพรรคการเมืองอื่นแทนพรรคการเมืองที่ถูกยุบไป แต่ไม่ถึงขนาดจะส่งผลไปถึงกับการเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งของหัวหน้าพรรค หรือกรรมการบริหารของพรรค มีเพียงตุรกีที่ผลของการยุบพรรคการเมืองมีลักษณะที่คล้ายคลึงกับประเทศไทย โดยมีการตัดสิทธิทางการเมืองเป็นระยะเวลา 5 ปี

    ผลกระทบของคำวินิจฉัยศาลธรรมนูญกับระบบพรรคการเมือง

    งานวิจัยพบว่าคำว่าการยุบพรรคการเมืองไม่ได้ส่งผลต่อกลุ่มทางการเมืองแต่อย่างใด เช่น กลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย หรือกลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) แต่ทำให้ในการยุบพรรคการเมืองแต่ละครั้งกลุ่มทางการเมืองกลับมีความเข้มแข็งมากขึ้น นั่นหมายความว่า คำวินิจฉัยยุบพรรคการเมืองได้ทำลายกลุ่มทางการเมืองที่จดทะเบียนเป็นพรรคการเมือง แต่กลับทำให้กลุ่มการเมืองที่ไม่มีสถานะทางกฎหมายมีความเข้มแข็งขึ้น และสามารถแสดงเจตนารมณ์ทางการเมืองหรือดำเนินกิจกรรมได้อย่างเต็มที่ โดยไม่ต้องถูกตรวจสอบจากหน่วยงานของรัฐดังเช่นพรรคการเมือง

    อีกทั้งผลของการยุบพรรคการเมืองแต่ละครั้งไม่ได้กระทบต่อสมาชิกที่รวมกลุ่มกันภายในพรรคการเมือง เพราะท้ายที่สุดกลุ่มการเมืองเหล่านี้ก็จะรวมตัวเพื่อย้ายไปสมัครเป็นสมาชิกของพรรคการเมืองที่ก่อตั้งขึ้นใหม่หรือพรรคการเมืองอื่น และไปสร้างอำนาจต่อรองกับกลุ่มเครือข่ายใหม่ตามปกติ

    นอกจากนี้ ผลการยุบพรรคการเมือง พบว่าส่วนใหญ่เป็นการยุบพรรคการเมืองขนาดเล็ก ซึ่งไม่ได้เป็นการส่งเสริมให้เกิดการแข่งขันทางการเมืองแต่อย่างใด แต่กลับเป็นการตัดตอนหรือทำลายการเจริญเติบโตของพรรคการเมืองขนาดเล็ก อันก่อให้เกิดการผูกขาดเฉพาะพรรคการเมืองขนาดใหญ่ และสุดท้ายผลของการยุบพรรคการเมืองก็ไม่ได้ส่งผลกระทบต่อการพัฒนาระบบพรรคการเมืองในด้านคุณธรรมและจริยธรรม หรือป้องกันแก้ไขไม่ให้บุคคลใดหัวหน้าพรรค หรือกรรมการบริหารพรรคไปดำเนินการในลักษณะที่อาจหมิ่นเหม่ต่อเหตุในการยุบพรรค แต่กลับหลบเลี่ยงหรือทำให้ผลของการยุบพรรคส่งผลกระทบถึงบุคคลภายในพรรคให้น้อยที่สุด เช่น การปรับลดกรรมการบริหารของพรรคในพรรคการเมืองต่างๆ

    ข้อเสนอ

    ในงานวิจัยยังเสนอข้อพิจารณาในการวินิจฉัยคดียุบพรรคการเมืองด้วย โดยเห็นว่ามาตรการในการยุบพรรคการเมืองสามารถกระทำได้ แต่ต้องอยู่ภายใต้หลักความได้สัดส่วนและไม่ทำลายเจตจำนงของประชาชนในการก่อตั้งพรรคการเมืองเกินความจำเป็น โดยมีหลักเกณฑ์ในการนำมาตรการยุบพรรคการเมืองมาใช้บังคับ 3 ประการ ดังนี้

      1. พรรคการเมืองนั้นต้องมีการกระทำหรือสนับสนุนให้มีการใช้ความรุนแรง หรือใช้ความรุนแรงเป็นเครื่องมือเพื่อล้มล้างระบอบประชาธิปไตย รวมถึงต้องมีเหตุผลจำเป็นเพียงพอและมีพยานหลักฐานที่หนักแน่นพอที่จะบ่งชี้ได้ว่า กิจกรรมของพรรคการเมืองนั้นเป็นอันตรายต่อระบอบประชาธิปไตย เช่น การตั้งกองกำลัง การปลุกระดมสร้างความคิดอันเป็นการล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตย สำหรับพรรคการเมืองที่มีวัตถุประสงค์ที่จะเปลี่ยนแปลงรัฐธรรมนูญโดยสันติวิธี โดยผ่านกระบวนการอันชอบธรรม เช่น การเลือกตั้ง หรือการลงประชามติย่อม ไม่อาจถูกยุบพรรคการเมืองได้

      2. พรรคการเมืองจะต้องรับผิดชอบในการกระทำของกรรมการบริหารของพรรค หรือสมาชิกพรรค ต่อเมื่อมีหลักฐานสนับสนุนว่า กรรมการบริหารของพรรคหรือสมาชิกพรรคคนดังกล่าว ได้กระทำโดยการสนับสนุนจากพรรคการเมือง หรือพฤติกรรมดังกล่าวเป็นผลมาจากการปฏิบัติตามโครงสร้าง และวัตถุประสงค์ของพรรคการเมือง แต่หากไม่สามารถพิสูจน์ถึงเงื่อนไขนี้ได้ ความรับผิดชอบทั้งหมดย่อมตกแก่กรรมการบริหารของพรรค หรือสมาชิกของพรรคผู้กระทำแต่เพียงผู้เดียว

      3. การยุบพรรคการเมืองเป็นมาตรการที่ส่งผลกระทบในวงกว้าง ดังนั้นการนำมาบังคับใช้จึงต้องกระทำโดยเคร่งครัด โดยก่อนที่ผู้มีสิทธิ์ยื่นคำร้องต่อศาลเพื่อขอให้มีคำสั่งยุบพรรคการเมือง รัฐหรือหน่วยงานรัฐ ซึ่งเป็นผู้มีสิทธิ์ยื่นคำร้อง ต้องมีพยานหลักฐานอย่างเพียงพอในการสนับสนุนว่า พรรคการเมืองที่ถูกกล่าวหานั้นกระทำหรือใช้ความรุนแรง หรือมีส่วนเกี่ยวพันกับการก่อการร้าย หรือมีกิจกรรมล้มล้างทางการเมืองอื่นๆ ประกอบกับต้องประเมินสถานการณ์ โดยคำนึงถึงเหตุการณ์ปัจจุบันของประเทศว่า พรรคการเมืองนั้นเป็นภยันตรายต่อประชาธิปไตย หรือสิทธิเสรีภาพส่วนบุคคล หรือต่อสิทธิอื่นๆ มากน้อยเพียงใด และควรพิจารณาว่ามาตรการที่มีความรุนแรงน้อยกว่าการยุบพรรคการเมืองสามารถนำมาปรับใช้ได้หรือไม่ เช่น การปรับ การใช้คำสั่งทางปกครอง หรือการลงโทษเฉพาะสมาชิกพรรคที่กระทำผิด เพื่อให้สอดคล้องกับหลักความได้สัดส่วนของการกระทำความผิด

    ทั้งนี้ งานการศึกษาวิจัยฉบับนี้ ตีพิมพ์ในเดือนสิงหาคม 2558 โดยสำนักงานศาลรัฐธรรมนูญเป็นผู้สนับสนุน

    หมายเหตุ : แก้ไขล่าสุด วันที่ 21 กุมภาพันธ์ 2563