ThaiPublica > เกาะกระแส > ป.ป.ช. ตั้งอนุสอบบิ๊ก พศ. เอี่ยวเงินทอนวัดพนัญเชิง 20 ล้าน – ชง ครม. ออกกฎคุมเข้มทุจริตซื้อยา – ขรก. รับส่วยต่างด้าว

ป.ป.ช. ตั้งอนุสอบบิ๊ก พศ. เอี่ยวเงินทอนวัดพนัญเชิง 20 ล้าน – ชง ครม. ออกกฎคุมเข้มทุจริตซื้อยา – ขรก. รับส่วยต่างด้าว

21 กรกฎาคม 2017


นายสรรเสริญ พลเจียก เลขาธิการ ป.ป.ช. แถลงข่าววันที่ 20 กรกฎาคม 2560

เมื่อวันที่ 20 กรกฎาคม 2560 ที่สำนักงานคณะกรรมการป้องและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) นายสรรเสริญ พลเจียก เลขาธิการ ป.ป.ช. แถลงข่าวว่า ที่ประชุมคณะกรรมการ ป.ป.ช. มีมติเห็นชอบให้สำนักงานคณะกรรมการ ป.ป.ช. ทำข้อเสนอแนะถึงคณะรัฐมนตรี เพื่อใช้เป็นแนวทางในการป้องกันและแก้ไขปัญหาทุจริต 2 เรื่อง คือ มาตรการป้องกันและแก้ไขปัญหาการทุจริตในกระบวนการเบิกจ่ายยา และมาตรการป้องกันและแก้ไขปัญหาการทุจริตในกระบวนการอนุญาตให้คนต่างด้าวพำนักอยู่ในราชอาณาจักรไทยเป็นการชั่วคราว นอกจากนี้ คณะกรรมการ ป.ป.ช. ยังมีมติให้แต่งตั้งคณะอนุกรรมการไต่สวน กรณีการทุจริตเบิกจ่ายเงินงบประมาณในการบูรณปฏิสังขรณ์ วัดพนัญเชิง จังหวัดพระนครศรีอยุธยา วงเงิน 20 ล้านบาท

นายสรรเสริญกล่าวว่า สืบเนื่องจากปัญหาการเบิกจ่ายเงินสวัสดิการรักษาพยาบาลของข้าราชการเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง จาก 20,476 ล้านบาทในปี 2545 เพิ่มขึ้นเป็น 46,481 ล้านบาทในปี 2550 โดยในปี 2559 มีการเบิกจ่ายงบประมาณในส่วนนี้ทั้งสิ้น 71,016 ล้านบาท ดังนั้น คณะกรรมการ ป.ป.ช. จึงมอบหมายให้คณะอนุกรรมการเพื่อศึกษามาตรการป้องกันการทุจริตในกระบวนกเบิกจ่ายยา ร่วมกับสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ (ป.ป.ท.), กรมสอบสวนคดีพิเศษ (DSI), กรมบัญชีกลาง เป็นต้น พบว่าสาเหตุที่ทำให้ค่ารักษาพยาบาลเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องเกิดจากหลายปัจจัยและมีความเชื่อมโยงกับเครือข่ายการทุจริต 3 กลุ่ม คือ กลุ่มผู้ใช้สิทธิและเครือญาติ, กลุ่มสถานพยาบาลและบุคลากรในสถานพยาบาล และกลุ่มบริษัทจำหน่ายยา โดยพฤติกรรมดังนี้

1. โดยมีกลุ่มผู้ใช้สิทธิและเครือญาติ ทั้งที่เป็นผู้ป่วยและไม่มีอาการป่วย ตระเวนใช้สิทธิตามโรงพยาบาลต่างๆ หลายแห่งในช่วงเวลาใกล้เคียงกัน ขอรับยาเกินความจำเป็นทางการแพทย์ บางรายนำยาที่ได้รับจากการรักษาไปขายต่อ

2. โดยบุคลากรในสถานพยาบาลสั่งจ่ายยาเกินความจำเป็น, สั่งจ่ายยาเพิ่มเติมที่ไม่เกี่ยวกับการรักษาโรคของผู้ป่วย, มีการบันทึกข้อมูลสั่งจ่ายยาสูงกว่าที่จ่ายจริง, สั่งจ่ายยาโดยไม่มีการรักษา โดยมีเป้าหมายจ่ายยาออกไปมากๆ เพื่อทำยอด ร่วมกับบริษัทจำหน่ายยา ซึ่งมีการจ่ายค่าคอมมิชชั่น เสนอผลประโยชน์ให้จากยอดจำหน่ายหลายรูปแบบ เช่น ตัวเงิน ยาแถม การดูงานต่างประเทศ เป็นต้น

ดังนั้น “คณะกรรมการ ป.ป.ช. จึงอาศัยอำนาจตามมาตรา 19 (11) แห่ง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2542 และที่แก้ไขเพิ่มเติม เห็นชอบให้มีข้อเสนอแนะต่อคณะรัฐมนตรี เพื่อใช้เป็นแนวทางป้องกันและแก้ไขปัญหาทุจริตในกระบวนการเบิกจ่ายยาตามสิทธิสวัสดิการรักษาพยาบาลข้าราชการ โดยมีข้อเสนอแนะเชิงระบบดังนี้

1. เสนอให้ผลักดันยุทธศาสตร์การใช้ยาอย่างสมเหตุผล (Rational Drug Use: RDU) ตามยุทธศาสตร์ของกระทรวงสาธารณสุข เพื่อให้บุคลากรทางการแพท์คำนึงถึงเหตุผลทางวิชาการในการตัดสินใจจ่ายยามากกว่าคำนึงถึงผลประโยชน์ที่ได้รับจากบริษัทยา

2. เสนอแนะให้มีการจัดตั้งศูนย์ประมวลข้อมูลสารสนเทศด้านยา เชื่อมโยงกับโรงพยาบาลทุกสังกัด และกรมบัญชีกลาง เพื่อตรวจสอบการใช้สิทธิโดยไม่สุจริต และในระหว่างที่ยังไม่มีศูนย์ประมวลข้อมูลสารสนเทศด้านยาดังกล่าว กรมบัญชีกลางต้องมีมาตรการควบคุมค่าใช้จ่ายผู้ป่วยนอกในระบบสวัสดิการรักษาพยาบาลข้าราชการ

3. กำหนดหลักเกณฑ์การจัดซื้อยา เพื่อป้องกันการซื้อยา โดยมีผลประโยชน์ต่างตอบแทน ทั้งนี้ต้องนำเกณฑ์จริยธรรมเกี่ยวกับการส่งเสริมการขายยา และหลักเกณฑ์ตามมาตรา 103/7 และมาตรา 123/5 แห่ง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2542 และที่แก้ไขเพิ่มเติมมาเป็นเกณฑ์ในการจัดซื้อยา

นอกจากนี้ ยังมีข้อเสนอแนะเชิงภารกิจ ดังนี้

1. ให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการบังคับใช้กฎหมายดำเนินการอย่างเข้มงวด

2. ผลักดันให้มีการปฏิบัติตามเกณฑ์จริยธรรมที่เกี่ยวข้องกับการส่งเสริมการขายยา

3. ปลุกจิตสำนึกของบุคลากรของรัฐ และส่งเสริมการมีส่วนร่วมของภาคประชาชน ในการสร้างเครือข่ายเฝ้าระวังพฤติกรรมส่งเสริมการขายยา การสั่งจ่ายยา และการใช้สิทธิอย่างไม่เหมาะสม

4. ผลักดันให้มีการจัดมาตรการควบคุมภายในที่เหมาะสม ตามมาตรา 123/5 แห่ง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2542 และที่แก้ไขเพิ่มเติม เพื่อให้ภาคเอกชนมีมาตรการป้องกันไม่ให้บุคลากรของตนเสนอประโยชน์ให้แก่บุคลากรของรัฐ

สำหรับมาตรการป้องกันการทุจริตในกระบวนการอนุญาตให้คนต่างด้าวพำนักอยู่ในราชอาณาจักรไทยเป็นการชั่วคราว นายสรรเสริญกล่าวว่า จากสถิติ คนต่างด้าวเดินทางเข้า-ออกประเทศไทย และคนต่างด้าวที่ขออยู่ต่อเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยการรวบรวมข่าวสารจากสื่อมวลชน และศึกษาวิเคราะห์ข้อมูลที่มีการกล่าวหาร้องเรียน พบพฤติกรรมการกระทำผิดของคนต่างด้าวหลายกรณี และบางกรณีมีเจ้าหน้าที่ของรัฐรู้เห็นเป็นใจด้วย ตลอดจนปัญหาช่องโหว่ให้เกิดการกระทำผิดหรือทุจริต ดังนี้

1. คนต่างด้าวเดินทางเข้ามาโดยถือวีซ่าประเภทนักท่องเที่ยว แต่เมื่อเข้ามาแล้วมีการลักลอบประกอบอาชีพ เช่น เป็นครูในสถานศึกษา โรงเรียนนานาชาติ สถาบันสอนภาษา หรือปล่อยเงินกู้ ส่งรายได้กลับประเทศทำเป็นขบวนการ

2. อยู่ในประเทศไทยเกินระยะเวลาที่กำหนด (Over Stay) โดยสามารถพำนักและประกอบอาชีพในประเทศไทยต่อไปได้ เนื่องจากมีการจ่ายเงิน หรือ ส่งส่วยเจ้าหน้าที่ของรัฐ

3. คนต่างด้าวอ้างเหตุความจำเป็นกรณีต่างๆ เช่น เพื่อดูแลคู่สมรสชาวไทย โดยมีการว่าจ้างคนไทยจดทะเบียนสมรส เพื่อนำทะเบียนสมรสที่ได้มาโดยมิชอบไปยื่นขออนุญาตพำนักชั่วคราว, การอ้างเหตุเพื่อเข้ามาศึกษาต่อโดยจัดทำบัตรนักศึกษาปลอม และนำบัตรนักศึกษาปลอมไปยื่นขออนุญาตพำนักชั่วคราว, การอ้างเหตุจำเป็นกรณีใช้ชีวิตบั้นปลาย โดยจัดทำเอกสารแสดงการมีรายได้ และหนังสือรับรองเงินเดือนฝากธนาคารเป็นเท็จ นำหลักฐานปลอมดังกล่าวไปยื่นขออนุญาตพำนักชั่วคราว หรือกรณีพระต่างด้าวเข้ามาศึกษาต่อมหาวิทยาลัยสงฆ์ นำหนังสือรับรองสถานการณ์เป็นพระสงฆ์ ไปยื่นขออนุญาตพำนักชั่วคราว เป็นต้น

ดังนั้น คณะกรรมการ ป.ป.ช. จึงอาศัยอำนาจตามมาตรา 19 (11) ตามกฎหมาย ป.ป.ช. เห็นชอบให้มีข้อเสนอแนะต่อรัฐบาลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อใช้เป็นแนวทางป้องกันและแก้ไขปัญหาการทุจริตในกระบวนการอนุญาตให้คนต่างด้าวพำนักอยู่ในราชอาณาจักรไทยเป็นการชั่วคราว โดยมีข้อเสนอแนะต่อรัฐบาลดังนี้

1. กำหนดนโยบายเพื่อให้มีการบูรณาการจัดทำฐานข้อมูลคนต่างด้าวที่พำนักอยู่ในประเทศไทยทั้งระบบ โดยมอบหมายให้สำนักงานตรวจคนเข้าเมือง (ตม.) เป็นหน่วยงานหลัก ร่วมกับ กระทรวงมหาดไทย, กระทรวงการต่างประเทศ, กระทรวงแรงงาน, กระทรวงศึกษาธิการ, สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง จัดทำระบบเชื่อมโยงฐานข้อมูล

2. สั่งการให้มีการปรับปรุงการเชื่อมโยงฐานข้อมูลบุคคลต้องห้ามเดินทางเข้าราชอาณาจักร (Blacklist) ระหว่างกรมการกงสุล กระทรวงการต่างประเทศ กับ ตม. สำนักงานตำรวจแห่งชาติ เพื่อตรวจสอบข้อมูลคนต่างด้าวที่ขออนุญาตเดินทางเข้ามาในราชอาณาจักรไทย

3. ทบทวนนโยบายการพิจารณาให้สิทธิแก่คนต่างด้าวในกลุ่มประเทศซึ่งได้รับสิทธิในการตรวจลงตราเพื่อการท่องเที่ยว ณ ช่องทางด่านตรวจคนเข้าเมือง (Visa on Arrival) และการให้สิทธิแก่คนต่างด้าวในกลุ่มประเทศที่ได้รับยกเว้นการตรวจลงตรา

4. สั่งการให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องร่วมกันพิจารณาความเป็นไปได้ในการจัดทำบัตรประจำตัวคนต่างด้าวในกลุ่มคนที่พำนักอยู่ในประเทศเป็นการชั่วคราวอย่างต่อเนื่อง โดยสามารถระบุประเภท การเข้ามาพำนักในราชอาณาจักรได้ เช่น กลุ่มคนต่างชาติที่เข้ามาพำนักประเทศไทยเพื่อการศึกษา พระต่างด้าว

5. ให้มีการติดตามประเมินผลการดำเนินงานตามมติ ครม. วันที่ 22 พฤศจิกายน 2559 เรื่องการขยายระยะเวลาพำนักในราชอาณาจักรไทย สำหรับกลุ่มพำนักระยะยาว (Long Stay Visa) โดยมอบหมายให้กระทรวงมหาดไทยเป็นหน่วยงานหลัก ร่วมกับสำนักงานตำรวจแห่งชาติ กระทรวงการต่างประเทศ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง รายงานผลการดำเนินงานให้ ครม. เพื่อทราบอย่างน้อยปีละ 1 ครั้ง

6. กำหนดให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องต้องร่วมกันจัดทำแผนแม่บทและแผนการประเมินผลร่วมกัน และให้นำมาตรการป้องกันการทุจริตในการบวนการอนุญาตให้คนต่างด้าวพำนักในราชอาณาจักรไทยเป็นการชั่วคราวที่ผ่านความเห็นชอบจาก ครม. แล้ว กำหนดในแผนแม่บทดังกล่าวด้วย

เรื่องสุดท้าย ที่ประชุมคณะกรรมการ ป.ป.ช. มีมติให้นายสุรศักดิ์ คีรีวิเชียร กรรมการ ป.ป.ช. เป็นประธานอนุกรรมการไต่สวน กรณีทุจริตเงินอุดหนุนงบประมาณบูรณปฏิสังขรณ์วัดพนัญเชิง จังหวัดอยุธยา โดยนายสรรเสริญกล่าวว่า หลังจากที่กองบังคับการป้องกันปราบปรามการทุจริตและประพฤติมิชอบ (ปปป.ตร.) ส่งสำนวน “คดีทุจริตเงินทอนวัด” มาให้ ป.ป.ช. ทาง ป.ป.ช. ได้แต่งตั้งคณะทำงานแสวงหาข้อเท็จจริง จากนั้นได้รวบรวมพยานหลักฐานทั้งหมดเสนอต่อที่ประชุมคณะกรรมการ ป.ป.ช. และเนื่องจากหลักฐานกรณีของวัดพนัญเชิงค่อนข้างชัดเจน คณะกรรมการ ป.ป.ช. จึงมีมติให้แต่งตั้งคณะอนุกรรมการไต่สวน กรณีการทุจริตเบิกจ่ายเงินงบประมาณในการบูรณปฏิสังขรณ์วัดพนัญเชิง จ.พระนครศรีอยุธยา โดยมีผู้ถูกกล่าวหาเป็นอดีตผู้บริหารระดับสูงสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ (พศ.) 3 ราย คือนายนพรัตน์ เบญจวัฒนานันท์ อดีตผู้อำนวยการ พศ., นายพนม ศรศิลป์ อดีตผู้อำนวยการ พศ. และ น.ส.ประนอม คงพิกุล รองผู้อำนวยการ พศ. พบหลักฐานการมีส่วนร่วมในการเบิกจ่ายงบประมาณในการบูรณปฏิสังขรณ์วัดพนัญเชิญในปีงบประมาณ 2557 และ 2558 มูลค่าความเสียหาย 20 ล้านบาท หลังจากนี้ ป.ป.ช. ทำหนังสือแจ้งคำสั่งแต่งตั้งคณะอนุกรรมการไต่สวนส่งไปให้ผู้ถูกกล่าวหาทั้ง 3 คน รับทราบต่อไป ส่วนคดีที่ ปปป.ตร. ส่งมาให้อีก 11 คดี นั้น อยู่ระหว่างการแสวงหาข้อเท็จจริง เพื่อส่งให้คณะกรรมการ ป.ป.ช. พิจารณาแต่งตั้งคณะอนุกรรมการไต่สวนต่อไป

ต่อข้อซักถามที่ว่าคดีนี้มีพระเกี่ยวข้องหรือไม่ นายสรรเสริญกล่าวว่า สำนวนคดีที่ ปปป.ตร. ส่งมาที่ ป.ป.ช. มีเฉพาะเจ้าหน้าที่ที่กระทำความผิด ไม่ได้กล่าวหาพระ แต่ถ้าวัดมีส่วนรู้เห็น ทาง ป.ป.ช. ต้องเชิญพระและเจ้าหน้าที่ของวัดมาเป็นพยาน

อ่านแถลงข่าว ป.ป.ช. ที่นี่