ThaiPublica > เกาะกระแส > “บิ๊กตู่” ยันจัดเลือกตั้ง หลัง “พระราชพิธีบรมราชาภิเษก” มติ ครม. แก้สิทธิประโยชน์ภาษี ดึงต่างชาติทำวิจัยในไทย

“บิ๊กตู่” ยันจัดเลือกตั้ง หลัง “พระราชพิธีบรมราชาภิเษก” มติ ครม. แก้สิทธิประโยชน์ภาษี ดึงต่างชาติทำวิจัยในไทย

19 มิถุนายน 2018


ที่มาภาพ: www.thaigov.go.th/

เมื่อวันที่ 19 มิถุนายน 2561 ที่ทำเนียบรัฐบาลมีการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) มี พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เป็นประธาน และตอบคำถามสื่อมวลชนเรื่องการเดินทางเยือนสหราชอาณาจักรและสาธารณรัฐฝรั่งเศส ระหว่างวันที่ 20-26 มิถุนายน 2561 ว่า การเยือนอังกฤษเป็นไปตามการปรับมติของสหภาพยุโรป (อียู) ที่ต้องการยกระดับความสัมพันธ์ที่ดีกับประเทศไทยมากขึ้นกว่าเดิม โดยเฉพาะอย่างในประเด็นเศรษฐกิจ การค้า และการลงทุน ซึ่งเป็นเรื่องสำคัญของทุกประเทศ

ยืนยันจัดเลือกตั้งหลัง “พระราชพิธีบรมราชาภิเษก”

พล.อ. ประยุทธ์ ยังกล่าวว่า “ผมไปอังกฤษทำความเข้าใจกับเขาหลายเรื่อง โดยเฉพาะอย่างยิ่งด้านพัฒนาด้านเศรษฐกิจของเรา และการเปิดโรดโชว์เรื่องอีอีซี

ผู้สื่อข่าวถามว่า มีโอกาสไปชี้แจงโรดแมปประเทศไทยด้วยหรือไม่ พล.อ. ประยุทธ์ ตอบว่า “ต้องชี้แจงอยู่แล้วว่าเป็นไปตามโรดแมป ว่าการเลือกตั้งเป็นไปตามกฎหมายที่ต้องรอโปรดเกล้าฯ ลงมา 90 วัน หลังจากนั้นก็จะเดินหน้าไปสู่การเลือกตั้ง”

“ในช่วงที่ผมไม่อยู่ได้มอบหมายให้ พล.อ. ประวิตร วงษ์สุวรรณ เป็นผู้ประชุมชี้แจงขั้นต้นไปก่อน แล้วจะแสวงหาวิธีการปลดล็อกทางการเมืองต่อไป”

นายกรัฐมนตรีกล่าวด้วยว่า “สิ่งสำคัญที่สุดวันนี้ที่ คสช. พิจารณาอยู่คือเรื่องการเตรียมการไปสู่พิธีบรมราชาภิเษก อย่าลืมนะ คนไทยทุกคน เป็นเรื่องสำคัญอีกเรื่องหนึ่งนะ เพราะฉะนั้นอย่าหาว่าผมเอาเรื่องนี้มาอ้าง มันคนละเรื่อง เรื่องนี้ผมต้องการให้ประเทศชาติสงบ มีเสถียรภาพ และมีผลต่อการลงทุนในช่วงระยะเวลานี้ด้วย ส่วนเรื่องการเลือกตั้งก็เดินของเราไป ให้เป็นไปตามครรลองประชาธิปไตย”

ผู้สื่อข่าวถามต่อว่า การเลือกตั้งจะมีขึ้นก่อนหรือหลังพระราชพิธีบรมราชาภิเษก พล.อ. ประยุทธ์ตอบว่า “หลังพระราชพิธีบรมราชาภิเษก”

แจง “โทษประหารชีวิต” เป็นไปตาม กม.-ความต้องการประชาชน

พล.อ. ประยุทธ์ ตอบคำถามกรณีกรมราชทัณฑ์แถลงข่าวได้ประหารชีวิตนักโทษว่า เป็นกฎหมายของประเทศไทยที่ยังมีอยู่ จึงต้องดูว่าความคิดเห็นประชาชนโดยทั่วไปเป็นอย่างไร ซึ่งความเห็นประชาชนส่วนใหญ่เห็นควรให้มีอยู่ ซึ่งเป็นไปตามขั้นตอนกฎหมายกระบวนการยุติธรรม เพราะมีคดีร้ายแรงหลายคดีที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน ก็เพื่อให้บ้านเมืองสงบสุข และเป็นบทเรียนสอนใจ รวมทั้งเป็นเรื่องความจำเป็นของเราเอง และความต้องการของประชาชน

ประมูลคลื่น 1800  เป็นหน้าที่ กสทช. ประชาชน-รัฐต้องไม่เสียประโยชน์

พล.อ. ประยุทธ์ ตอบคำถามกรณีการประมูลคลื่นความถี่ 1800 MHz ว่า จนถึงขณะนี้ยังไม่มีผู้ประกอบการมายื่นประมูล แต่หลักการของรัฐบาลคือทำอย่างไรไม่ให้เกิดผลกระทบกับประชาชนผู้ใช้บริการโทรศัพท์มือถือ ทั้งในแง่ของเทคโนโลยีและการบริการ ที่สำคัญประชาชนต้องได้ประโยชน์ก่อน และรัฐไม่เสียประโยชน์ ส่วนจะมีการประมูลหรือเป็นหน้าที่ของคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ที่ต้องดำเนินการตามกฎหมาย

กำชับทุกหน่วยงานตรวจสอบขยะอิเล็กทรอนิกส์

พล.อ. ประยุทธ์ ตอบคำถามกรณีการแก้ปัญหาขยะอิเล็กทรอนิกส์ว่าได้มอบหมายให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องไปตรวจสอบมานานแล้ว ทั้งการตรวจสอบมาตรฐานอุตสาหกรรม ตรวจสอบการขึ้นทะเบียนทั้งหมด และขณะนี้ก็ได้เร่งรัดการตรวจสอบให้มากขึ้น

“ผมได้กำชับไปว่าขอให้ทุกหน่วยงานได้ลงไปตรวจสอบงานในกิจกรรมของตัวเองให้หมด โดยเฉพาะอย่างยิ่งคณะกรรมการตรวจสอบมาตรฐานทั้งหมด โดยไม่ต้องรอการร้องเรียนอย่างเดียว แต่อย่างไรก็ตามเรื่องนี้เป็นเรื่องของความไม่ซื่อสัตย์ เมื่อจดทะเบียนหรืออนุญาตบริษัทไปแล้ว ก็ไปทำในสิ่งที่ไม่ถูกต้อง เมื่อเข้าไปตรวจจับก็เป็นปัญหาอีก”

“บางเรื่องที่ร้องเรียนมา แก้ไขได้ก็ลงไปแก้ บางเรื่องแก้ไม่ได้ก็ต้องดำเนินการทางคดีทางกฎหมาย เพราะเป็นเรื่องของความไม่ซื่อสัตย์ จนทำให้เกิดภภาระมากมาย เช่น การที่มีปลาวาฬกินถุงพลาสติกเข้าไปในท้อง คงโทษรัฐบาลอย่างเดียวไม่ได้ แต่ต้องไปดูว่าถุงพลาสติกมาจากไหน ใครเป็นคนใช้”

ทั้งนี้ รัฐบาลมีความมุ่งหมายในการลดใช้ถุงพลาสติกให้มากยิ่งขึ้น โดยได้ขอความร่วมมือไปยังผู้ประกอบการร้านค้าต่างๆ ให้ลดการใช้ถุงพลาสติก และส่งเสริมให้ประชาชนหันมาใช้ถุงผ้า แต่ประชาชนต้องเรียนรู้และช่วยกันด้วย หากมัวแต่โทษกันไปมา ก็แก้ปัญหาไม่ได้

สั่งเกษตรทำข้อมูล แก้สับปะรดราคาตกต่ำ

พล.อ. ประยุทธ์ ตอบคำถามกรณีการแก้ไขปัญหาสับปะรดราคาตกต่ำว่า เกิดจากปริมาณการปลูกเกินความต้องการมากเกินไป จึงสั่งให้กระทรวงมหาดไทย กระทรวงพาณิชย์ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ จัดทำข้อมูลแบบครบวงจรให้เกษตรกรรับทราบ ทั้งเรื่องข้าว มัน ยางพารา สับปะรด ฯลฯ เพื่อนำไปพิจารณาสำหรับการเพาะปลูกในฤดูกาลใหม่ ไม่ให้เกิดปัญหาซ้ำรอยเดิม

ส่วนการแก้ไขปัญหาสับปะรดตกต่ำขณะนี้ รัฐบาลได้หามาตรการแก้ไขที่เหมาะสม โดยไม่ให้ผิด พ.ร.บ.การเงินการคลัง ล่าสุดกระทรวงเกษตรฯ ได้ไปเจรจากับผู้ซื้อให้ซื้อในปริมาณมากขึ้น และคาดว่าประมาณเดือนกรกฎาคมนี้ทุกอย่างจะกลับเข้าสู่ภาวะปกติได้

“ไม่ใช่รัฐบาลไม่สนใจพี่น้องเกษตรกร แต่เราต้องคำนึงถึงการตลาดทั้งภายในและภายนอกด้วยในการเพาะปลูกพืช” พล.อ. ประยุทธ์ กล่าว

วอนทุกฝ่ายดูเนื้อหายุทธศาสตร์ชาติก่อน – ย้ำอย่าดูถูกทำไม่ได้

พล.อ. ประยุทธ์ ยังกล่าวถึงร่างยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปีว่า อยากให้ประชาชนให้ความสำคัญมากขึ้นด้วยการไปดูเนื้อหาข้างในว่ามีสาระสำคัญอย่างไร อย่าให้ใครมาบิดเบือน เพราะเนื้อหาส่วนดีก็มีอยู่มาก ส่วนที่เห็นต่างก็สามารถมาถกเถียงกันได้เพื่อปรับปรุงแก้ไข

“ผมไม่ได้บังคับใคร แต่ว่าทำแล้วตอบคำถาม ตอบตัวชี้วัดให้ได้ ก็เหมือนกับแผนสภาพัฒน์ฯ เมื่อก่อนไม่ค่อยสนใจกัน ต่างคนต่างทำ นโยบายพรรค นโยบายการเมือง ต่างทำกันไป ไม่ได้ตอบสนองแผนของสภาพัฒน์ฯ”

“เพราะฉะนั้น สภาพัฒน์ฯ ทำต่อจากยุทธศาสตร์ชาติ อย่าไปดูถูกตัวเองมากนักว่ายุทธศาสตร์ชาติ 20 ปีจะเป็นไปได้หรือ นั่นแหละคือความท้าทายที่รัฐบาลจะต้องพยายามทำให้ได้ รัฐบาลนี้ทำไม่เสร็จ รัฐบาลต่อไปก็ทำต่อ ก็จะไปสู่เป้าหมายสุดท้ายที่ต้องการ”

แต่ถ้าทำไม่ได้ ก็ต้องมีคำชี้แจงว่าทำไม่ได้เพราะอะไร งบประมาณไม่พอ หรือทำไม่ครบระบบ อย่างนี้ใครจะไปลงโทษได้ ไม่ใช่ว่าทำไม่ได้แล้วลงโทษกันหมด คงไม่ใช่ แต่ไม่ทำเลยนั้นไม่ได้ ต้องมีเหตุมีผล” พล.อ. ประยุทธ์ กล่าว

มติ ครม. มีดังนี้

พล.ท. สรรเสริญ แก้วกำเนิด โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ที่มาภาพ: www.thaigov.go.th

แก้สิทธิภาษี – หนุนบริษัทข้ามชาติทำวิจัยในไทย

พล.ท. สรรเสริญ แก้วกำเนิด โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ครม. มีมติเห็นชอบในหลักการร่างพระราชกฤษฎีกาออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการลดอัตราและยกเว้นรัษฎากร (ฉบับที่ ..) พ.ศ. …. (การปรับปรุงมาตรการภาษีเพื่อส่งเสริมการจัดตั้งสำนักงานใหญ่ข้ามประเทศ ในส่วนค่าสิทธิที่ได้รับจากวิสาหกิจในเครือ) ตามที่กระทรวงการคลังเสนอ โดยมีสาระสำคัญของร่างพระราชกฤษฎีกาเป็นการปรับปรุงเงื่อนไขการให้สิทธิประโยชน์ทางภาษีของบริษัทของห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลซึ่งประกอบกิจการสำนักงานใหญ่ข้ามประเทศ (International Headquarters หรือ IHQ) จากเดิมซึ่งเป็นการให้สิทธิประโยชน์ทางภาษี สำหรับรายได้ค่าสิทธิที่ได้รับจากวิสาหกิจในเครือที่ตั้งขึ้นตามกฎหมายไทยหรือที่ตั้งขึ้นตามกฎหมายต่างประเทศ เป็น การให้สิทธิประโยชน์ทางภาษีสำหรับค่าสิทธิที่ได้รับจากวิสาหกิจในเครือที่ตั้งขึ้นตามกฎหมายไทยหรือที่ตั้งขึ้นตามกฎหมายต่างประเทศ เฉพาะค่าสิทธิที่เกิดจากผลการวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีที่กระทำขึ้นในประเทศไทยไม่ว่าการวิจัยและพัฒนานั้นจะกระทำโดย IHQ หรือโดยการจ้างผู้อื่น

“แนวคิดของกฎหมายฉบับคือเดิมเราให้สิทธิทางภาษีแก่บรรษัทข้ามชาติที่กว้างเกินไปจากเดิมที่ให้สิทธิลดหรือยกเว้นภาษีจากการวิจัยพัฒนาของบริษัททุกรูปแบบ ซึ่งกลายเป็นว่าหลายบริษัทไปวิจัยพัฒนาในต่างประเทศ แต่เมื่อต้องเสียภาษีกลับขายสิทธิดังกล่าวเข้ามาให้บริษัทในเครือในไทยแทนเพราะมีสิทธิภาษีดังกล่าว ทางรัฐบาลจึงต้องปรับปรุงส่วนหนึ่งเพื่อเป็นการดึงการลงทุนและองค์ประกอบอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องกับการวิจัยพัฒนาเข้ามาอยู่ในไทยตามนโยบาย แทนที่จะไปวิจัยอยู่ในต่างประเทศและขายสิทธิมา อีกด้านก็เป็นการปฏิบัติตามมาตรฐานของ OECD ที่เกี่ยวข้องกับมาตรการภาษีที่เท่าเทียมกันของสมาชิกด้วย” พล.ท. สรรเสริญ กล่าว

เห็นชอบราคาอ้อยขั้นต้น 60/61 – 830-880 บาทต่อตันอ้อย

พล.ท. สรรเสริญ กล่าวว่า ครม. เห็นชอบการกำหนดราคาอ้อยขั้นต้นและผลตอบแทนการผลิตและจำหน่ายน้ำตาลทรายขั้นต้น ฤดูการผลิตปี 2560/2561 เป็น 2 ราคา ตามที่กระทรวงอุตสาหกรรมเสนอ รายละเอียดดังนี้

1) กำหนดราคาอ้อยขั้นต้นฤดูการผลิตปี 2560/2561 ในเขตคำนวณราคาอ้อยที่ 1, 2, 3, 4, 6, 7 และ 9 ในอัตรา 880 บาทต่อตันอ้อย ณ ระดับความหวานที่ 10 ซี.ซี.เอส. และกำหนดอัตราขึ้น/ลง ของราคาอ้อยเท่ากับ 52.80 บาทต่อ 1 หน่วย ซี.ซี.เอส. ต่อเมตริกตัน และผลตอบแทนการผลิตและจำหน่ายน้ำตาลทรายขั้นต้น ฤดูการผลิตปี 2560/2561 เท่ากับ 377.14 บาทต่อตันอ้อย

2) กำหนดราคาอ้อยขั้นต้นฤดูการผลิตปี 2560/2561 ในเขตคำนวณราคาอ้อยที่ 5 เนื่องจากมีคุณภาพผลผลิตที่ด้อยกว่าในแถบสุพรรณบุรี ในอัตรา 830 บาทต่อตันอ้อย ณ ระดับความหวานที่ 10 ซี.ซี.เอส. และกำหนดอัตราขึ้น/ลง ของราคาอ้อยเท่ากับ 49.80 บาทต่อ 1 หน่วย ซี.ซี.เอส. ต่อเมตริกตัน และผลตอบแทนการผลิตและจำหน่ายน้ำตาลทรายขั้นต้นฤดูการผลิตปี 2560/2561 เท่ากับ 355.71 บาทต่อตันอ้อย

ทั้งนี้ การกำหนดราคาอ้อยขั้นต้นและผลตอบแทนการผลิตและจำหน่ายน้ำตาลทรายขั้นต้น ฤดูการผลิตปี 2560/2561 เป็นการดำเนินการตามประกาศคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย (เรื่อง การจัดทำประมาณการรายได้ การกำหนดและการชำระค่าอ้อย และค่าผลิตน้ำตาลทรายและอัตราส่วนของผลตอบแทนระหว่างชาวไร่อ้อยและโรงงาน) พ.ศ. 2561 ซึ่งเป็นการประมาณการราคาอ้อยขั้นต้นและผลตอบแทนการผลิตและการจำหน่ายน้ำตาลทรายขั้นต้นต้องไม่น้อยกว่า 80% ของประมาณการรายได้ เพื่อให้โรงงานน้ำตาลชำระเงินค่าอ้อยให้กับชาวไร่อ้อยไปก่อนเพื่อให้ชาวไร่อ้อยนำไปใช้หมุนเวียนในการประกอบธุรกิจและสร้างรายได้ให้กับเกษตรกรชาวไร่อ้อย ตลอดจนแรงงานและภาคเศรษฐกิจในชนบท ซึ่งยังไม่ใช่ราคาอ้อยและผลตอบแทนการผลิตและจำหน่ายน้ำตาลทรายฤดูการผลิตปี 2560/2561 ที่ชาวไร่อ้อยและโรงงานจะได้รับจริง

แต่กำหนดเพื่อไม่ให้มีความเสี่ยงที่อาจจะทำให้ราคาอ้อยขั้นสุดท้ายและผลตอบแทนการผลิตและการจำหน่ายน้ำตาลทรายขั้นสุดท้ายต่ำกว่าราคาขั้นต้น โดยให้เกษตรกรชาวไร่อ้อยมีโอกาสได้รับราคาอ้อยขั้นต้นที่ระดับสูงสุดตามราคาที่ประมาณการได้ โดยยึดประโยชน์ของเกษตรกรชาวไร่อ้อยเป็นสำคัญ ซึ่งจะบรรเทาผลกระทบรุนแรงที่อาจจะเกิดต่อเกษตรกร ซึ่งมีปัจจัยจากรายได้จากการจำหน่ายน้ำตาลทรายทั้งภายในและส่งออกที่ได้ประมาณการไว้ตามประกาศคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทรายดังกล่าว

“ในประเด็นนี้นายกฯ ได้สอบถามเพิ่มเติมเกี่ยวกับการเงินกองทุนอุดหนุนเกษตรว่าจะกระทบพิพาทกับบราซิลหรือไม่ในแง่ที่ว่ารัฐแทรกแซงจากการใช้เงินกองทุนอุดหนุนเกษตรกร ทางกระทรวงรายงานว่า ไม่กระทบเพราะเป็นกองทุนที่เก็บจากโรงงานและเกษตรกรโดยตรง เพื่อใช้ป้องกันความผันผวนของราคา ไม่เกี่ยวกับการอุดหนุนของรัฐบาลแต่อย่างใด” พล.ท. สรรเสริญ กล่าว

ไต้หวันเปิดมหาวิทยาลัยในอีอีซี – ผลิตวิศวกร ด้านหุ่นยนต์รองรับระบบการผลิตอัตโนมัติ

พล.ท. สรรเสริญ กล่าวว่าๅ ครม. เห็นชอบให้มหาวิทยาลัยอมตะ (Amata University) ของมหาวิทยาลัยแห่งชาติไต้หวันจัดการศึกษาในหลักสูตร Master of Science (M.S.) in Engineering (Intelligent Manufacturing System) ในประเทศไทยตามความในข้อ 4 แห่งคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ที่ 29/2560 เรื่องการส่งเสริมการจัดการศึกษาโดยสถาบันอุดมศึกษาที่มีศักยภาพสูงจากต่างประเทศ ลงวันที่ 26 พฤษภาคม 2560 โดยมีสาระสำคัญของเรื่องดังนี้

1) มหาวิทยาลัยแห่งชาติไต้หวัน (National Taiwan University : NTU) เป็นมหาวิทยาลัยวิจัยแห่งชาติที่มีชื่อเสียงมากที่สุดในไต้หวัน มีวิทยาเขตกลางตั้งอยู่ในนครไทเปและจัดว่าเป็นมหาวิทยาลัยอันดับหนึ่งในไต้หวันจากการรายงานของ QS University Rankings และติดอันดับ TOP 100 ของโลกทุกปี NTU ได้มีการจัดตั้งคณะและสาขาวิชา เช่น คณะศิลปศาสตร์และกฎหมาย คณะวิทยาศาสตร์และการเกษตร คณะวิศวกรรมศาสตร์ และคณะแพทยศาสตร์ นอกจากนี้ NTU ยังเป็นมหาวิทยาลัยลำดับหนึ่งจากการสอบแข่งขันของเด็กมัธยมปลายทั่วไต้หวันและมีศิษย์เก่าที่มีชื่อเสียง เช่น ประธานาธิบดีของไต้หวันเกือบทุกคนจบจากมหาวิทยาลัย NTU ปัจจัยเหล่านี้ล้วนเอื้อให้ NTU เป็นมหาวิทยาลัยที่โดดเด่นและได้รับการยอมรับในสังคมไต้หวัน

2) มหาวิทยาลัยอมตะจะนำหลักสูตรของ NTU ซึ่งเป็นสถาบันอุดมศึกษาที่มีศักยภาพสูงจากไต้หวันเข้ามาดำเนินการจัดการศึกษาในประเทศไทย โดยสรุปรายละเอียดได้ ดังนี้

2.1 หลักสูตรที่จะเปิดสอน คือ Master of Science (M.S.) in Engineering (Intelligent Manufacturing System) ของ NTU เน้นทางด้านการใช้หุ่นยนต์ช่วยในสายการผลิตระบบอัตโนมัติ (Future of Automation) และยานยนต์แห่งอนาคต (Autonomous Vehicle)

2.2 วัตถุประสงค์ เพื่อรองรับการพัฒนาพื้นที่เมืองอัจฉริยะ (Smart City) ให้เกิดขึ้นเป็นรูปธรรม ในพื้นที่ EEC และพัฒนากำลังคนด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเพื่อตอบสนองความต้องการในอุตสาหกรรมเป้าหมาย (S-Curve)

2.3 แนวทางการจัดการเรียนการสอน ใช้มาตรฐานเดียวกับ NTU ที่ไต้หวัน เช่น สาขาวิชา คณาจารย์ การเข้าถึงข้อมูลทางวิจัย และชั่วโมงของอาจารย์ที่ปรึกษา เป็นต้น จัดการเรียนการสอนเป็นภาษาอังกฤษและจีน ใช้ระยะเวลาศึกษา 2 ปี

2.4 พื้นที่ดำเนินการ จะจัดตั้งในพื้นที่ของนิคมอมตะนคร จังหวัดชลบุรี

แจงความคืบหน้า “บัตรแมงมุม” – เปิดใช้ 23 มิ.ย. 61

พล.ท. สรรเสริญ กล่าวว่ารัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมได้ชี้แจงความคืบหน้าและนำบัตรแมงมุมหรือระบบตั๋วร่วมของบริการขนส่งสาธารณะมารายงานต่อ ครม. ตามนโยบายของ พล.อ. ประยุทธ์ ที่ต้องการให้เกิดความเชื่อมโยงของระบบการขนส่งมวลชน ว่า ปัจจุบันระบบดังกล่าวพร้อมเปิดใช้งานในวันที่ 23 มิถุนายน 2561 สำหรับรถไฟฟ้าใต้ดินสายสีน้ำเงินและสีม่วง ก่อนจะขยายไปยังรถเมล์ขององค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ หรือ ขสมก. และรถไฟฟ้า Airport Rail link ในเดือนตุลาคม 2561

โดยบัตรจะแบ่งเป็น 3 รูปแบบ 1) สีม่วงสำหรับบุคคลทั่วไป 2) สีทองสำหรับผู้สูงอายุ และ 3) สีขาวสำหรับนักเรียนนักศึกษา โดยสามารถซื้อบัตรได้ที่รถไฟฟ้าใต้ดินสายสีน้ำเงินและม่วงทุกสถานีในราคา 150 บาท เป็นมูลค่าบัตร 50 บาทและค่าเดินทางเริ่มต้น 100 บาท ทั้งนี้ บัตรดังกล่าวจะมีสิทธิประโยชน์ตั้งแต่การยกเว้นค่าแรกเข้าระหว่างรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงินและม่วง ใช้อาคารจอดรถของรถไฟฟ้าใต้ดิน และร้านค้าต่างๆ ที่ร่วมรายการสนับสนุนการขาย

ขณะที่บัตรสวัสดิการของผู้รายได้น้อยของผู้อาศัยในกรุงเทพจะสามารถใช้ได้เช่นกันตั้งแต่ 20 กรกฎาคม 2561 ส่วนผู้มีรายได้น้อยในต่างจังหวัดจะต้องไปเปลี่ยนบัตรที่ศูนย์ดำรงธรรมในจังหวัดที่อาศัยอยู่ โดยจะต้องแลกกับสิทธิของรถ บขส. และรถไฟที่จะใช้ไม่ได้ในบัตรแมงมุม

เร่งคลอดกฎหมายสำคัญภายใน พ.ย.นี้

พล.ท. สรรเสริญ กล่าวถึงการออกกฎหมายสำคัญๆ ของรัฐบาลที่ยังคั่งค้าง เช่น กฎหมายภาษีที่ดิน กฎหมายรัฐวิสาหกิจ กฎหมายบริหารจัดการน้ำ และกฎหมายการขัดกันของผลประโยชน์ ว่า พล.อ. ประยุทธ์ สั่งการให้แล้วเสร็จภายในพฤศจิกายน ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่เหมาะสมก่อนการเลือกตั้ง อย่างไรก็ตาม รัฐบาลได้ประกาศประกาศใช้แผนปฏิรูปและยุทธศาสตร์ชาติไปแล้ว ซึ่งครอบคลุมประเด็นสำคัญๆ ในอนาคตและมีผลผูกพันธ์ทางกฎหมายให้รัฐบาลและหน่วยงานรัฐต้องปฏิบัติต่อไป ปัจจุบันก็อยู่ในขั้นตอนของการหารือกับสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) หรือสภาพัฒน์ฯ ที่เป็นหน่วยงานรับผิดชอบว่าในทางปฏิบัติจะทำอย่างไร

อ่านเพิ่มเติมมติ ครม. วันที่ 19 มิถุนายน 2561