ThaiPublica > คอลัมน์ > เกาหลีเหนือ-ใต้ กับอนาคตใหม่?

เกาหลีเหนือ-ใต้ กับอนาคตใหม่?

29 เมษายน 2018


ฟูอาดี้ พิศสุวรรณ
นักศึกษาปริญญาเอกสาขารัฐศาสตร์ ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ มหาวิทยาลัยอ๊อกซฟอร์ด

ปฏิเสธไม่ได้ว่าการที่ประธานาธิบดีคิม จองอึน ของเกาหลีเหนือ และประธานาธิบดีมุน แจอิน ของเกาหลีใต้ พบปะกันเมื่อไม่กี่วันที่ผ่านมา (รวมถึงการประชุมสุดยอดระหว่างคิม จองอึน กับประธานาธิบดีโดนัล ทรัมป์ ของสหรัฐฯที่กำลังจะเกิดขึ้นเร็วๆ นี้) นั้นทำให้ความหวังในการเห็นสันติภาพบนคาบสมุทรเกาหลีมีความหวังขึ้นมามากทันที อาจจะเรียกได้ว่าเป็นความหวังที่มากที่สุดเท่าที่เคยมีมานับตั้งแต่ข้อตกลงหยุดยิงสงครามเกาหลีเมื่อ 65 ปีก่อนก็ไม่ผิดนัก

ทั้งนักวิชาการความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ และผู้เชี่ยวชาญเกี่ยวกับคาบสมุทรเกาหลีต่างก็ตื่นเต้นและแปลกใจกับการเปลี่ยนแปลงจากหน้ามือเป็นหลังมือของประธานาธิบดีคิม จองอึน ในครั้งนี้ เพราะก่อนหน้านี้เพียงไม่กี่เดือนเกาหลีเหนือก็ยังทดลองขีปนาวุธข้ามทวีปอยู่

ถึงแม้จะมีสัญญาณเชิงบวกสื่อออกมาตั้งแต่ต้นปีในการแข่งขันกีฬาโอลิมปิกฤดูหนาวที่เกาหลีใต้ที่มีการส่งนักกีฬาเกาหลีเหนือเข้าแข่งขันเป็นทีมเดียวกันและน้องสาวของคิม จองอึน ก็เดินทางมาร่วมพิธีเปิดด้วย แต่กระนั้น ผู้เฝ้ามองและติดตามสถานการณ์บนคาบสมุทรเกาหลี ก็คงไม่มีใครคิดว่าความเป็นไปได้ของสันติภาพระหว่างสองเกาหลีจะสามารถจับต้องได้มากเท่านี้มาก่อน

ผู้เขียนเคยเขียนบทความและให้สัมภาษณ์ไว้ว่า การเริ่มต้นขึ้นอีกครั้งแบบเต็มที่ของสงครามเกาหลีนั้นเป็นไปได้ยาก แต่ผู้เขียนก็คิดไม่ถึงเช่นกันกับเหตุการณ์ที่เหมือนจะดีขึ้นแบบฉับพลันเช่นนี้ ความตื่นเต้นของผู้เขียนกับสถานการณ์ปัจจุบันจึงถูกจำกัดด้วยความไม่แน่นอนของตัวละครทั้งหลายบวกกับคำถามที่ยังค้างคามากมาย ผู้เขียนคิดว่าหนังเกาหลีม้วนนี้ที่เริ่มมาเกือบเจ็ดสิบปีแล้วจะไม่จบลงง่ายๆ อย่างแน่นอน

ในบทความนี้ผู้เขียนจึงอยากขอตั้งคำถามเกี่ยวกับเหตุการณ์ระดับโลกครั้งนี้ ซึ่งเป็นคำถามสำคัญที่จะช่วยทำให้เราเข้าใจถึงโอกาสของสันติภาพและอนาคตใหม่ของชาวเกาหลีอย่างแท้จริง

การประชุมสุดยอดผู้นำเกาหลีเหนือและเกาหลีใต้เกิดขึ้นเป็นครั้งที่สามในประวัติศาสตร์
ที่มาภาพ :https://img.kyodonews.net/english/public/images/posts/5d3e5e49e9c19b5f4be047c062df0837/photo_l.jpg

1. ทรัมป์ต้องการอะไรและจะได้อะไร?

จุดสุดยอดของเหตุการณ์ครั้งนี้อยู่ที่การประชุมระหว่างประธานาธิบดีทรัมป์ของสหรัฐฯ และประธานาธิบดีคิม จองอึน ของเกาหลีเหนือ

การประชุมของคิม จองอึน และประธานาธิบดีมุน แจอิน ของเกาหลีใต้เป็นการเรียกน้ำย่อยเพื่อปูทางไปสู่การประชุมสูงสุดของสหรัฐฯ และเกาหลีเหนือ สิ่งที่น่าสงสัยยิ่งนักคือคำถามที่ว่า รัฐบาลสหรัฐฯ หรือตัวทรัมป์เองได้ใช้อะไรเป็นตัวโน้มน้าวให้คิม จองอึน เปลี่ยนท่าที

โดยปกติแล้ว การที่เกาหลีเหนือจะยอมทำอะไรบางอย่างตามที่สหรัฐฯ หรือที่นานาชาติต้องการนั้นต้องแลกมาด้วยความช่วยเหลือทางด้านเศรฐกิจ ที่ผ่านมาก็จะเป็นเรื่องการบริจาคน้ำมันหรือการลดความรุนแรงของการคว่ำบาตรทางเศรษฐกิจ

ทรัมป์คุยโอ้อวดว่าเขาไม่ได้ต้องยอมเสียอะไรให้เกาหลีเหนือเลย และเป็นคิม จองอึน เองทั้งนั้นที่ยอมต่างๆ นานา รวมไปถึงการยอมให้สัญญาที่จะเดินหน้าเจรจาเพื่อปลดระวางอาวุธนิวเคลียร์ แต่ในทางกลับกัน แทบจะเป็นไปไม่ได้ที่ทรัมป์จะไม่ต้องยอมอะไร และ (เกือบ) เป็นไปไม่ได้ที่จะที่คิม จองอึน จะเปลี่ยนท่าทีง่ายๆ แบบนี้

สิ่งหนึ่งที่ทรัมป์ยอมแล้วแน่นอน คือยอมพบกับคิม จองอึน ซึ่งในทางการทูตการประชุมสุดยอดผู้นำ ถือเป็นสิ่งสูงสุดที่ถ้าหากการเจรจาล้มเหลวหรือไม่สำเร็จก็ไม่มีตัวเลือกอื่นอีก และอาจจะทำให้มีค่าเสียหายหากเกิดสงครามขึ้น นั้นมีมากกว่าเดิมเสียอีก การที่ทรัมป์ยอมพบกับคิม จองอึน ทำให้คิม จองอึน ได้รับการยอมรับในฐานะผู้นำของรัฐที่มีอาวุธนิวเคลียร์ในระดับสากล ซึ่งเป็นสิ่งที่คิม จองอึน ต้องการมาตลอด และอาจจะเป็นสิ่งที่คิม จองอึน ต้องการสูงสุดรองจากการคงอยู่ในอำนาจต่อไป

ส่วนทรัมป์เองเขาตกอยู่ในสถานการณ์หลังชนฝา และโดนบีบบังคับให้มีผลงานที่เป็นชิ้นเป็นอันโดยเฉพาะด้านต่างประเทศ สถานการณ์ภายในประเทศของเขาไม่สู้ดีนัก ทั้งเรื่องการถูกสืบสวนเกี่ยวกับการเกี่ยวข้องของรัสเซียกับการเลือกตั้งครั้งที่ผ่านมา หรือการที่ทนายของเขาจ่ายเงินปิดปากอดีตดาวโป๊คนหนึ่งเพื่อปกปิดเรื่องชู้สาว จะสังเกตได้ว่าความสนใจของประชาชนสหรัฐฯ และประชาชนทั่วโลกต่อปัญหาภายในประเทศของทรัมป์นั้นน้อยลงทันทีในช่วงนี้ ทรัมป์น่าจะชูเรื่องบนคาบสมุทรเกาหลีให้เป็นข่าวอยู่เรื่อยๆ เพื่อเบี่ยงเบนความสนใจจากข่าวอื้อฉาวภายในประเทศให้นานที่สุด

2. เกาหลีเหนือจะปลดระวางอาวุธนิวเคลียร์ทำไม?

ผู้เขียนมองไม่ออกแน่ชัดว่าคิม จองอึน มีแรงจูงใจอะไรในการตกลงและประกาศว่าเกาหลีเหนือจะยอมทำการเจรจาปลดระวางอาวุธนิวเคลียร์ของตนเอง (denuclearization) และจากการรายงานของทรัมป์ดูเหมือนว่าทางการเกาหลีเหนือไม่ได้ขอแลกการปลดระวางอาวุธนิวเคลียร์กับการที่สหรัฐฯ ต้องถอนกำลังทหารที่ประจำอยู่ในเกาหลีใต้ หรือการลดทอนอะไรบางอย่างลงของความสัมพันธ์ทางการทหารระหว่างเกาหลีใต้และสหรัฐฯ

ฐานทัพยองซานของสหรัฐฯ ในกรุงโซล ที่มาภาพ : https://www.army.mil/yongsan

ในทางยุทธศาสตร์ การกระทำเช่นนี้ทำให้อำนาจการต่อรองในอนาคตของเกาหลีเหนือนั้นลดลงมาก ในทางประวัติศาสตร์มีประเทศเดียวเท่านั้นที่ทำการพัฒนาอาวุธนิวเคลียร์สำเร็จแล้วเลือกที่จะปลดระวางนั่นคือประเทศแอฟริกาใต้ แต่เหตุการณ์นั้นก็ตามมาด้วยการที่นายเดอร์เคิร์กผู้นำที่ตัดสินใจดังกล่าวต้องแพ้การเลือกตั้ง (ให้กับเนลสันแมนเดลา) ส่วนประเทศอื่นๆ ที่ยังพัฒนาไม่สำเร็จแต่ยอมยกเลิกโปรแกรมนิวเคลียร์ เช่น นายกัดดาฟีของประเทศลิเบีย หรือนายซัดดัมของประเทศอิรัก ก็มีจุดจบที่ไม่สวยเอาเสียเลย ส่วนประเทศอิหร่านที่ยอมระงับโปรแกรมการพัฒนานิวเคลียร์แลกกับความสัมพันธ์ที่ดีขึ้นต่อสหรัฐฯ และประชาคมโลกก็โดนนายทรัมป์ขู่ยกเลิกข้อตกลงอีก

การที่นายคิม จองอึน ประกาศที่จะตั้งเป้าหมายที่จะปลดระวางนิวเคลียร์ ในคำแถลงร่วมกับนายมุน แจอิน โดยดูเหมือนว่าไม่มีข้อแม้ใดๆ จึงเป็นเรื่องน่าฉงน และเป็นเรื่องที่ไม่น่าจะเกิดขึ้นได้ในบริบทการเมืองระหว่างประเทศในปัจจุบัน ผู้เขียนมองไม่ออกแน่ชัดว่านายคิม จองอึน ต้องการและได้อะไรจากข้อเสนอนี้ แต่ที่แน่นอนคือเขาต้องคิดอะไรที่ล้ำลึกอยู่

คำถามที่สำคัญเกี่ยวกับเรื่องนี้ที่ต้องจับตาดูกันต่อไปคือเรื่องรายละเอียดของการปลดระวางอาวุธนิวเคลียร์ อาจจะเป็นไปได้ที่ความหมายของ “denuclearization” ของคิม จองอึน กับประชาคมโลกนั้นไม่ตรงกัน และอาจจะมีข้อต่อรองแลกเปลี่ยนที่จะเสนอภายหลัง และหากตกลงเจรจากันได้แล้วความท้าทายอีกอย่างคือทั้งเกาหลีใต้ สหรัฐฯ และประชาคมโลกก็ต้องหาวิธีการตรวจสอบยืนยันให้ได้ว่าการปลดระวางนั้นเกิดขึ้นจริง ซึ่งรายละเอียดเรื่องการตรวจสอบนี้เกาหลีเหนือยังปิดปากเงียบ

3. เกิดอะไรขึ้นกับการเมืองภายในเกาหลีเหนือ?

อาจจะเป็นไปได้ว่าการคว่ำบาตรทางการค้า (economic sanction) ของประชาคมโลกโดยเฉพาะของทั้งสหรัฐฯ และจีนนั้นมีผลทำให้ปัญหาเศรษฐกิจและปัญหาอื่นๆ ในเกาหลีเหนือนั้นแย่มากจนคิม จองอึน ต้องยอมอ่อนข้อ นอกเหนือจากนั้น ความย่ำแย่ของสภาพบ้านเมืองอาจจะทำให้เกิดความแตกแยกของกลุ่มผู้นำชั้นสูงสุดที่ใกล้ชิดกับคิม จองอึน (regime split) และฐานะผู้นำของเขากำลังถูกท้าทายจากกลุ่มบุคคลภายในก็เป็นไปได้ ทำให้คิม จองอึน ต้องถูกบีบให้เปิดประเทศและสร้างความสัมพันธ์ที่ดีต่อสหรัฐฯ และเกาหลีใต้เพื่อความอยู่รอดของตัวเอง

การปกครองภายในของเกาหลีเหนือมีกลุ่มบุคคลที่ทำงานอยู่เบื้องหลังคิม จองอึน จากการรายงานของผู้แปรพักตร์ระดับสูงคนหนึ่ง Organization and Guidance Department (OGD) คือกลุ่มคนที่กุมอำนาจการบริหารประเทศอยู่เบื้องหลัง และเป็นกลุ่มที่สั่งประหารนายจาง ซองแต็ก ผู้เป็นลุงของคิม จองอึน เมื่อปี 2013 และก็อาจจะเป็นไปได้ที่การฆาตกรรม นายคิม จองนัม พี่ชายนายคิม จองอึน เมื่อต้นปีที่แล้วนั้นเป็นการกระทำของ OGD ไม่ใช่คิม จองอึน ผู้เป็นน้องชาย เรามิอาจรู้ได้ว่าความสัมพันธ์ของ OGD และคิม จองอึน นั้นเป็นอย่างไรในสถานการณ์ปัจจุบัน

คิม จองนัม ผู้เป็นพี่ชายของคิม จองอึน ถูกฆาตกรรมในปี 2017 และจาง ซองแต๊ก ผู้เป็นลุงของคิม จองอึน ถูกประหารชีวิตในปี 2013 ที่มาภาพ : http://sohanews.sohacdn.com/thumb_w/660/2013/ava-b0080-crop1386927053412p.jpg

การเปลี่ยนแปลงในลักษณะนี้เคยเกิดขึ้นมาแล้วในประเทศพม่า ซึ่งปัจจัยสำคัญส่วนหนึ่งคือ regime split ในกลุ่มผู้นำรัฐบาลทหารพม่าในช่วงปลายทศวรรษที่ผ่านมา ปัญหาภายในของเกาหลีเหนือที่ไม่ค่อยมีใครที่รู้ได้ลึกซึ้งจึงน่าจะเป็นอีกปัจจัยหนึ่งที่นำมาซึ่งความเปลี่ยนแปลงค่อนข้างเฉียบพลันครั้งนี้ไม่มากก็น้อย

4. จะรวมชาติยังไง?

ในคำแถลงการร่วมของคิม จองอึน และมุน แจอิน มีการพูดไปถึงการรวมประเทศของสองเกาหลี (unification) เรื่องนี้เป็นเรื่องที่น่ายินดีมากๆ หากเรามองว่าทั้งสองฝ่ายมีความจริงใจ การพูดเช่นนี้ของคิม จองอึน บวกกับคำมั่นที่จะปลดระวางอาวุธนิวเคลียร์ ทำให้มีความเป็นไปได้สูงว่าการรวมชาตินั้นจะเกินขึ้นโดยการที่เกาหลีใต้นั้นจะถือไพ่เหนือกว่า และอาจจะหมายความว่านั่นเป็นจุดสิ้นสุดของความเป็นผู้นำของตระกูลคิม

ส่วนหนึ่งของคำแถลงการร่วมที่พูดถึงการรวมประเทศ ที่มาภาพ : https://edition.cnn.com/2018/04/27/asia/read-full-declaration-north-south-korea/index.html

หากสังเกตการจากคำแถลงของคิม จองอึน และมุน แจอิน คำพูดต่างๆ ดูสวยหรูและไม่ได้พูดถึงการอยู่ร่วมกันอย่างสงบท่ามกลางความแตกต่าง (peaceful coexistence) แต่พูดไปในเชิงที่ส่อให้คิดได้ว่าทั้งสองเกาหลีจะเป็นประเทศเดียวกัน และหากใครได้ฟังบทสนทนาที่ทั้งสองผู้นำคุยกัน ก็จะเป็นเรื่องแปลกมากๆ ที่เราจะได้ยินคิม จองอึน พูดกับพูดกับผู้นำเกาหลีในเชิงยกย่องการพัฒนาและเรื่องต่างๆ ของเกาหลีใต้

การรวมชาติของเกาหลีเป็นเรื่องที่ยิ่งใหญ่มากสำหรับอนาคตของความมั่นคงในเอเซีย ก่อนหน้านี้คำถามที่นักวิชาการให้ความสนใจคือ ถ้าหากมีการรวมประเทศกัน จะเกิดขึ้นในภาวะสงครามแบบเสียเลือดเนื้อหรือผ่านการเจรจาอย่างสงบ สถานการณ์ในปัจจุบันส่อให้เห็นถึงความเป็นไปได้ของการรวมประเทศผ่านการเจรจา คำถามที่ต้องมานั่งคิดกันต่อไปคือประเทศเกาหลีในรูปแบบใหม่นั้นจะมีการปกครองแบบใด มีใครเป็นผู้นำ และจะมีอัตลักษณ์ของเกาหลีเหนือหลงเหลืออยู่เท่าใดเมื่อทั้งสองประเทศรวมตัวกันสำเร็จ

5. จีนกับญี่ปุ่นคิดยังไง?

สองประเทศสำคัญที่ต้องจ้องมองเหตุการณ์บนคาบสมุทรเกาหลีอย่างใกล้ชิดคือประเทศจีนและประเทศญี่ปุ่น

การที่สหรัฐฯ และเกาหลีเหนือมีปฏิสัมพันธ์กันโดยตรงทำให้จีนสูญเสียอำนาจในการควบคุมสถานการณ์บนคาบสมุทรเกาหลีเหนือ ทรัมป์และมุน แจอิน ดูเหมือนจะไม่ให้ความสำคัญกับบทบาทของประธานาธิบดีสี จิ้นผิง ของจีนเท่าที่ควร ทั้งๆ ที่ในอดีตจีนมีบทบาทมากในการเจรจาและอาจกล่าวได้ว่าการเพิ่มมาตราการคว่ำบาตรทางเศรษฐกิจของจีนในช่วงระยะหลังนั้นมีผลกระทบต่อสภาวะทางเศรษฐกิจของเกาหลีเหนือมากกว่าการคว่ำบาตรของสหรัฐฯ ที่ทำเป็นปกติอยู่แล้ว การเสียเปรียบของจีนในสถานการณ์ที่สองเกาหลีสามารถรวมเป็นหนึ่งเดียวนั้นมีหลายอย่าง ตัวอย่างเช่น หากการรวมตัวกันเกิดขึ้นโดยมีเกาหลีใต้และสหรัฐฯ เป็นผู้กำหนดวิธีการ และหากเกาหลีใหม่เป็นประเทศที่เป็นประชาธิปไตยและยังมีกองกำลังของสหรัฐฯ ประจำอยู่ จีนจะรู้สึกถูกคุกคามเป็นอย่างมาก เพราะเปรียบเสมือนมีศัตรูมาจ่ออยู่หน้าบ้านตนเอง

นอกเหนือจากนั้น หากใครติดตามการเมืองโลกอย่างใกล้ชิดจะเห็นได้ว่า เพียงหนึ่งวันหลังจากการประชุมสุดยอดระหว่างสองเกาหลี ประธานาธิบดีสี จิ้นผิง ของจีนกับนายกรัฐมนตรีนเรนทระ โมที ของอินเดีย ก็ประชุมสุดยอดร่วมกันที่เมืองวูฮัน ทางตอนกลางของจีน ซึ่งไม่ใช่เรื่องบังเอิญอย่างแน่นอน

สิ่งที่เราควรจับตาดูต่อไปคือบทบาทของจีนกับความเปลี่ยนแปลงในครั้งนี้ ผู้เขียนเชื่อว่าจีนจะต้องพยายามมีเอี่ยว เพื่อกำหนดทิศทางของเกาหลีเหนือต่อการเจรจาเพื่อเป็นผลประโยชน์ต่อจีนให้มากที่สุด และมีความเป็นไปได้เช่นกันที่จีนจะชักใยอยู่เบื้องหลังคิม จองอึน อยู่แล้ว เพราะก่อนหน้านี้ไม่นานประธานาธิบดีสี จิ้นผิง ก็ประชุมสุดยอดกับคิม จองอึน ทรัมป์เองก็โพสต์ข้อความในทวิตเตอร์ขอบคุณประธานาธิบดีสี จิ้นผิง หลังจากการประชุมสุดยอดของสองเกาหลี แต่เราไม่ทราบแน่ชัดว่าจีนได้ช่วยอะไรมากแค่ไหน

การประชุมสุดยอมระหว่างประธานาธิบดีคิม จองอึน และประธานาธิบดีสี จิ้นผิง เมื่อปลายเดือนมีนาฯ

ประเทศญี่ปุ่นเป็นอีกประเทศหนึ่งที่ได้รับผลกระทบโดยตรงกับความเป็นไปบนคาบสมุทรเกาหลี ประธานาธิบดีทรัมป์ดูจะเอาใจนายกรัฐมนตรีชินโซะ อาเบะ มากพอสมควรในระหว่างการเจรจาของเกาหลีทั้งสอง ทรัมป์โทรไปรายงานกับนายกฯ อาเบะหลังจากเขาพูดคุยกับประธานาธิบดีของมุน แจอิน เกี่ยวกับการประชุมสุดยอดของสองผู้นำเกาหลี ซึ่งเป็นการกระทำที่เข้าใจได้เพราะญี่ปุ่นเป็นพันธมิตรสำคัญของอเมริกา

สิ่งที่ญี่ปุ่นกลัวที่สุดคือ การรวมชาติที่ทำให้เกาหลีแข็งแกร่งขึ้น และไม่อยู่ในการควบคุมทางความมั่นคงของสหรัฐอเมริกา มีคำเปรียบเปรยว่า “คาบสมุทรเกาหลีนั้นคือมีดที่จ่อมากลางใจของเกาะญี่ปุ่น” และหากการรวมชาตินั้นเกิดขึ้นโดยไม่มีการปลดระวางอาวุธนิวเคลียร์ ประเทศญี่ปุ่นน่าจะรู้สึกถูกคุมคามมากกว่าเดิมด้วยซ้ำ

ความเปลี่ยนแปลงบนคาบสมุทรเกาหลีในช่วงนี้เป็นเรื่องที่น่ายินดี แต่จากประวัติศาสตร์ของปัญหาตลอด 68 ปีที่ผ่านมาประกอบกับความไม่แน่นอนของทั้งประธานาธิบดีทรัมป์และประธานาธิบดีคิม จองอึน ทำให้เรื่องที่น่ายินดีนี้ยังคงแฝงไปด้วยความแปลกใจของผู้เฝ้าสังเกตการณ์ ความเสี่ยงที่สถานการณ์จะกลับมาตรึงเครียดเช่นเดิมนั้นยังมีอยู่มาก เราคงต้องติดตามการประชุมสุดยอดระหว่างประธานาธิบดีทรัมป์และประธานาธิบดีคิม จองอึน ที่จะมีขึ้นเร็วๆ นี้ ว่าผลลัพธ์จะออกมาเป็นประโยชน์ต่อความสงบบนคาบสมุทรเกาหลีมากน้อยเพียงใด