ThaiPublica > คอลัมน์ > สงครามเกาหลีเหนือ vs อเมริกา?

สงครามเกาหลีเหนือ vs อเมริกา?

5 กันยายน 2017


ฟูอาดี้ พิศสุวรรณ นักศึกษาปริญญาเอกสาขารัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยอ๊อกซฟอร์ด

คงไม่มีเหตุการณ์ไหนในรอบหลายๆ ปีที่ผ่านมาที่มีความเสี่ยงเกิดเป็นสงครามใหญ่เท่ากับสถานการณ์ความตึงเครียดระหว่างเกาหลีเหนือและสหรัฐอเมริกาในปัจจุบัน เราทุกคนต่างก็สงสัยกันว่าสงครามจะเกิดขึ้นหรือไม่และเมื่อไหร่?

สิ่งนี้เป็นสิ่งที่คาดเดาได้ยาก และไม่อาจจะฟันธงได้ แต่เราสามารถเข้าใจปัจจัยต่างๆ ที่เป็นตัวนำพาสถานการณ์มาสู่ความตึงเครียดในปัจจุบัน ผู้เขียนคิดว่ามีหลายๆ แง่มุม ที่เราสามารถทำความเข้าใจสถานการณ์ในคาบสมุทรเกาหลีนี้ได้ ผู้เขียนขอยกตัวอย่าง 5 ข้อ ดังนี้

1. “จูเช” อุดมการณ์รัฐของตระกูลคิม

เกาหลีเหนือมี “state ideology” หรือ “อุดมการณ์รัฐ” ที่เรียกว่า “จูเช” แปลตรงตัวว่า “การพึ่งตนเอง” ที่มีอิทธิพลต่อการดำเนินนโยบายต่างๆ ของประเทศเกาหลีเหนือมาก “จูเช” เป็นอุดมการณ์การที่ถูกสร้างขึ้นในช่วงปี 1950 โดยคิม อิล-ซ็อง ผู้เป็นปู่ของคิมจองอึนประธานาธิบดีคนปัจจุบัน เพื่อที่จะลดทอนการครอบงำของสหภาพโซเวียตในยุคหลังสงครามเกาหลี “จูเช” ทำให้ประเทศเกาหลีเหนือมีอุดมการณ์รัฐที่เป็นของตนเอง และทำให้เกิดความเชื่อว่าพวกเขาจะต้องอยู่ได้ ถึงแม้ทุกประเทศจะคว่ำบาตรเขา ตระกูลคิมสื่อสารกับประชาชนของตัวเองถึงความแข็งแกร่งและก้าวหน้าของประเทศเขา โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อเปรียบเทียบกับเกาหลีใต้ที่มีสหรัฐฯ หนุนหลัง เหตุผลหลักก็คือเพื่อสร้างความชอบธรรมให้กับระบอบคอมมิวนิสต์ ซึ่งเป็นอุดมการณ์การเมืองที่ถูกนำเข้ามา “จูเช” ทำให้ผู้นำเกาหลีเหนือมีแนวโน้มในการใช้ท่าทีที่แข็งกร้าวและพยายามต่อกรกับมหาอำนาจแบบทำทีว่าตนเองไม่เป็นรอง

หอคอยจูเช กรุงเปียงยาง
ที่มาภาพ: http://www.north-korea-travel.com/image-files/juche-tower-sunset.jpg

2. สงครามที่ถูกกด “pause”

สงครามเกาหลีที่ทำการสู้รบกันตั้งแต่ปี 1950-1953 นั้นตามข้อตกลงแล้วถือว่ายังไม่จบสิ้น ทางฝ่ายเกาหลีเหนือที่มีจีนและโซเวียต (เป็นรัสเซียในเวลาต่อมา) หนุนหลัง และฝ่ายเกาหลีใต้ที่มีสหรัฐฯ เป็นผู้นำ ได้เซ็นเพียงแค่สัญญาพักรบ แต่มิได้ตกลงกันว่าสงครามนั้นสิ้นสุดลงแล้ว ในปัจจุบันเขตชายแดนระหว่างเกาหลีเหนือและเกาหลีใต้ถูกตั้งให้เป็นเขตไร้ทหาร (DMZ, Demilitarized Zone) เพื่อลดความเสี่ยงของการปะทะกันระหว่างกองกำลังทั้งสองฝ่าย

กองกำลังของทั้งสองฝ่ายยังต้องเตรียมพร้อมรบอยู่ตลอดเวลา ในกรุงโซลเมืองหลวงของเกาหลีใต้เอง ก็มีฐานทัพของสหรัฐอเมริกา เกาหลีใต้เป็นประเทศที่มีทหารอเมริกันประจำอยู่มากเป็นอันดับ 3 รองจากญี่ปุ่นและเยอรมัน มีจำนวนค่ายและฐานทัพสหรัฐฯ 83 แห่งทั่วประเทศเกาหลีใต้ และมีกำลังพลอเมริกัน 35,000 คน

การซ้อมรบใหญ่ระหว่างเกาหลีใต้และสหรัฐฯ จะเกิดขึ้นในเดือนสิงหาฯ หรือกันยาฯ ของทุกๆ ปี และที่ผ่านมามีการซ้อม “การโจมตีเด็ดหัว” (decapitated strike) ซึ่งก็คือการซ้อมปฏิบัติการปลิดชีพผู้นำเกาหลีเหนือ ภาวะสงครามที่ยังไม่สิ้นสุดแบบนี้ ทำให้เกาหลีเหนือรู้สึกระวาดระแวง และกลัวการถูกโค่นล้มอำนาจเป็นที่สุด ผู้นำเกาหลีเหนือจึงต้องพยายามตอบโต้กับการรู้สึกถูกคุกคาม โดยการแสดงแสงยานุภาพของเกาหลีเหนือเองบ้าง เพื่อให้มีอำนาจในการต่อรองกับนานาชาติ

การเจรจาข้อตกลงการพักรบระหว่างเกาหลีเหนือและสหรัฐอเมริกา ปี 1953
ที่มาภาพ: http://www.wearethemighty.com/wp-content/uploads/2016/06/s4266845b15d.jpg

3. เหตุผลทางภูมิศาสตร์การเมือง

ปัจจัยทางภูมิศาสตร์เป็นปัจจัยหนึ่งที่ทำให้ประเทศเกาหลีเหนือยังดำรงอยู่ได้จนถึงทุกวันนี้ เกาหลีเหนือเป็น “รัฐกันชน” (Buffer State) ของประเทศจีนกับเกาหลีใต้ ซึ่งเป็นประเทศพันธมิตรหลักของสหรัฐฯ ในทวีปเอเซีย หากเกาหลีเหนือล่มสลายไปการรวมตัวกันของเกาหลีจะทำให้ประเทศจีนมีเส้นเขตแดนร่วมกันกับเกาหลีที่ไม่ใช่เพียงแค่แข็งแกร่งขึ้น แต่ยังเป็นพันธมิตรกับสหรัฐฯ อีก ผู้นำจีนจึงมีไม่อยากเห็นการสู้รบบนคาบสมุทรเกาหลีที่อาจจะเสี่ยง ทำให้เกาหลีเหนือล่มสลายได้

การล่มสลายของเกาหลีเหนือจะมีผลกระทบต่อจีนอีกอย่างคือ จะมีชาวเกาหลีเหนืออพยพและลี้ภัยเข้ามาในเขตประเทศจีนเป็นจำนวนมาก และจะเป็นภาระให้กับประเทศจีน ในปัจจุบันเส้นทางหนีของผู้ลี้ภัยจะเลือกการข้ามเส้นเขตแดนของเกาหลีเหนือที่ติดกับจีนมากกว่าพรมแดนที่ติดกับเกาหลีใต้ เนื่องจากการข้ามเขต DMZ ที่มีทหารอยู่มากมายนั้นแทบจะเป็นไปไม่ได้ หลังจากที่หนีไปจีนแล้ว ผู้ลี้ภัยชาวเกาหลีเหนือส่วนใหญ่จะหนีมาทางตอนใต้ของจีน แล้วข้ามมายังพม่าหรือลาวก่อนจนมาถึงประเทศไทย เพื่อให้เจ้าหน้าที่สถานทูตเกาหลีใต้ในกรุงเทพฯ ส่งตัวไปลี้ภัยที่กรุงโซลต่อไป การล่มสลายของเกาหลีเหนือ และภาวะสงครามบนคาบสมุทรเกาหลี จึงไม่เป็นผลดีต่อประเทศจีน (หรือต่อประเทศไทยเอง) อย่างแน่นอน

อีกข้อความจริงหนึ่งทางด้านภูมิศาสตร์ที่น่าสนใจคือ เกาหลีเหนือนั้น ไม่ว่าจะทดสอบขีปนาวุธข้ามทวีป (ICBM – Intercontinental Ballistic Missile) ถ้าจะให้สมจริงก็ต้องผ่านน่านฟ้าประเทศอื่น เกาหลีเหนือจะไม่เหมือนกับจีนและอเมริกา คือ มีพื้นที่ระหว่างทวีปติดทะเล และสามารถทดสอบ ICBM ได้โดยไม่ต้องผ่านน่านฟ้าประเทศอื่น เราจึงเห็นได้ว่าเกาหลีเหนือจำเป็นต้องยิง ICBM ข้ามประเทศญี่ปุ่นในการทดสอบ โดยเกาหลีเหนือนั้นยิงในลักษณะนี้มา 3 ครั้งแล้ว (2009, 2013 และล่าสุดเมื่อไม่กี่วันที่ผ่านมา) ทั้งนี้การยิงทดสอบ ICBM ของเกาหลีเหนือสามารถทดสอบได้โดยไม่ต้องผ่านน่านฟ้าญี่ปุ่นมาได้ โดยใช้เส้นโคจรโค้งของการทดลองให้สูงกว่าเดิมตามหลักฟิสิกส์เพื่อย่นระยะทางที่จำเป็นต้องใช้เพื่อการทดลอง แต่นั่นไม่ใช่เป็นการทดสอบเสมือนจริง หรือแสดงแสนยานุภาพที่จริงจังพอ

เส้นทางลี้ภัยของชาวเกาหลีเหนือ
ที่มาภาพ: https://cdn.vox-cdn.com/uploads/chorus_asset/file/9034993/North_Korean_defector_routes_map.png

4. ปัจจัยเรื่องอาวุธนิวเคลียร์

อาวุธนิวเคลียร์ของเกาหลีเหนือที่เริ่มการทดลองครั้งแรกเมื่อปี 2006 และครั้งล่าสุดเมื่อวันอาทิตย์ที่ 3 กันยายนที่ผ่านมา นั้นมีประสิทธิภาพเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ และเป็นอาวุธยุทธศาสตร์สำคัญของเกาหลีเหนือ แต่สิ่งที่อเมริกากลัวที่สุดก็เมื่ออาวุธทำลายล้างสูง (WMD – Weapon of Mass Destruction) เช่น อาวุธนิวเคลียร์ที่เกาหลีเหนือพัฒนาอยู่ มีอำนาจทำลายล้างมากขึ้นและเล็กพอที่จะถูกบรรจุไปใน ICBM สามารถยิงถึงแผ่นดินใหญ่ของสหรัฐฯ ได้ เมื่อ WMD รวมกับ ICBM ได้สำเร็จและทั้งสองส่วนพัฒนามากขึ้น อำนาจการต่อรองของเกาหลีเหนือก็จะมีมากขึ้นตามไปด้วย

เนื่องจากข้อมูลส่วนใหญ่เป็นความลับ เพราะฉะนั้นข้อมูลต่างๆ ที่นานาชาติจะได้มาก็ต้องมาจากสื่อของรัฐบาลเกาหลีเหนือ หรือการคาดเดาตามข้อมูลที่สามารถวัดได้หลังการทดลอง จึงไม่มีใครรู้แน่นอนว่าเมื่อไหร่เกาหลีเหนือจะสามารถพัฒนาอาวุธนิวเคลียร์ได้มีขนาดเล็กพอที่จะอยู่บนหัวของ ICBM และพัฒนา ICBM ที่มีรัศมีบินถึงแผ่นดินใหญ่ของอเมริกาได้ มีรายงานลับของฝ่ายความมั่นคงสหรัฐฯ ที่ไหลรั่วออกมาว่าเกาหลีเหนือนั้นสามารถพัฒนาอาวุธนิวเคลียร์ที่เล็กพอที่จะบรรจุบน ICBM ได้แล้ว เกาหลีเหนือเองก็ประกาศอย่างเป็นทางการเช่นนั้น คำถามต่อมาก็คือ แล้ว ICBM จะสามารถพัฒนาให้มีรัศมีถึงแผ่นดินใหญ่สหรัฐฯ เมื่อไหร่ แล้วเกาหลีเหนือจะมีวิธีการแสดงแสนยานุภาพนี้ยังไง เมื่อสามารถบรรลุเป้าหมายนี้ได้แล้ว

ประธานาธิบดีคิมจองอึนตรวจสอบระเบิดนิวเคลียร์ ขนาดเล็กที่สามารถบรรจุบนขีปนาวุธได้
ที่มาภาพ : https://c.tribune.com.pk/2017/09/1497623-korea-1504449352-346-640×480.jpg

5. ความไม่แน่นอนของภาวะผู้นำในปัจจุบัน

การได้รับชัยชนะการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯ ของโดนัลด์ ทรัมป์ เป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้การคาดคะเนสถานการณ์บนคาบสมุทรเกาหลีนั้นทำได้ยากกว่าเดิม กล่าวคือ ในอดีตถึงแม้เกาหลีเหนือจะเป็นฝ่ายที่ไม่มีความแน่นอน ทำให้ผู้เชี่ยวชาญวิเคราะห์การกระทำของผู้นำตระกูลคิมในทุกยุคได้ยาก แต่ฝ่ายตรงข้ามในอดีตคือผู้นำอเมริกาที่ยังมีวุฒิภาวะพอที่จะใช้สติแก้ปัญหาได้ แต่การขึ้นสู่อำนาจของโดนัลด์ ทรัมป์ ทำให้สถานการณ์เปลี่ยนไป ในปัจจุบันทั้งคิมจองอึนและทรัมป์มีความไม่แน่นอนสูง มีการใช้วาทศาสตร์ไปในทางก้าวร้าวทั้งสองฝ่าย หากจะให้เปรียบเปรยอาจจะพูดได้ว่าเมื่อก่อนนั้นเป็นการทะเลาะกันระหว่างเด็กที่มีวุฒิภาวะต่ำกับผู้ใหญ่ที่สามารถควบคุมอารมณ์ได้ แต่ในสถานการณ์ปัจจุบันนั้นจะเหมือนกับการที่เด็กสองคนที่มีวุฒิภาวะทางอารมณ์ต่ำและไร้เหตุผลทั้งคู่ เราจึงคาดเดาได้ยากเหลือเกินว่าสถานการณ์จะดำเนินต่อไปอย่างไรในอนาคต

ประธานาธิบโดนัลด์ ทรัมป์ ทวีตข้อความว่าสหรัฐฯ จะหยุดการค้าขายกับทุกประเทศที่ทำธุรกรรมกับเกาหลีเหนือ (ซึ่งเป็นไปไม่ได้ เนื่องจากจีนเป็นคู่ค้าสำคัญกับสหรัฐฯ แต่จีนก็เป็นคู่ค้ากับเกาหลีเหนือเช่นกัน)
ที่มา: https://twitter.com/realDonaldTrump/status/904377075049656322

ปัจจัยที่ซับซ้อนบวกการที่สงครามจะมีผลกระทบเชิงลบต่อทุกฝ่าย ทำให้ในแง่มุมหนึ่ง ก็ทำให้การเกิดสงครามใหญ่บนคาบสมุทรเกาหลีนั้นเป็นไปได้ยาก แต่ในทางกลับกัน รายละเอียดปลีกย่อยต่างๆ มากมายที่ผู้นำทั้งสองฝ่ายต้องคิดและชั่งน้ำหนักให้ดีในการดำเนินนโยบาย ทำให้มีความสุ่มเสี่ยงและมีโอกาสในการเกิดอุบัติเหตุทางเทคนิค หรือเกิดความเข้าใจผิดซึ่งกันและกันง่ายมากขึ้น ทำให้สงครามเกาหลีที่พักรบกันมา 64 ปี อาจจะต้องถูกเปิดฉากขึ้นอีกครั้ง