1721955
“ทำไมหนังเกาหลีเหนือถึงเอาแต่เชิดชูอุดมการณ์ ไม่มีอะไรแปลกใหม่เลย ทำไมต้องบีบน้ำตากันทั้งเรื่อง มีฉากร้องไห้กันทุกเรื่อง หนังนะไม่ใช่งานศพ หนังเราไม่ได้ไปเทศกาลกันบ้างเลย เกาหลีใต้มีเทคโนโลยีทันสมัยกว่า พวกนั้นเหมือนระดับมหาวิทยาลัย ส่วนเราเหมือนเด็กอนุบาล เป็นกบในกะลา ผมสนใจหนังเกาหลีใต้ เลยถามที่ปรึกษาว่าใครคือสุดยอดผู้กำกับหนัง…เขาตอบว่าผู้กำกับชื่อชิน แล้วต้องทำยังไงให้เขายอมมาเกาหลีเหนือ?” -คิม จ็องอิล
นี่น่าจะเป็นปมเหตุสำคัญของสารคดีที่เคยฉายในเทศกาลซันแดนซ์และเบอร์ลินมาแล้วเรื่องนี้ The Lovers and the Despot (2016)เมื่อท่านผู้นำจอมเผด็จการ คิม จ็องอิล แห่งเกาหลีเหนือ มีดำริอยากจะพัฒนาวงการหนัง แล้วกุนซือก็เสนอชื่อ ชิน ซางอ๊ก ขึ้นมา ‘ปฏิบัติการฉกตัวผู้กำกับ’ จึงเกิดขึ้น
แต่ทำไมต้องเป็นชิน ซางอ๊ก?
บิดาของชิน ซางอ๊ก เป็นแพทย์แผนจีนชื่อดัง เขามีภูมิลำเนาอยู่ในเมืองชงจิน (แถบภาคอีสานของเกาะเกาหลี ปัจจุบันอยู่ในเขตปกครองของเกาหลีเหนือ) เกิดปี 1926 ในช่วงที่ถูกญี่ปุ่นยึดครอง
ถ้าคำนึงถึงกำพืดของซางอ๊ก การเกิดในยุคญี่ปุ่นครองเมือง มีพ่อที่คุ้นเคยกับวิถีจีน แถมยังเกิดในถิ่นที่ตอนนี้อยู่ฝั่งเหนือไปแล้ว น่าจะง่ายต่อการล้างสมอง ดังที่กวีคนสนิทของท่านผู้นำซึ่งแปรพักตร์มาอยู่ฝั่งใต้ได้เล่าไว้ในสารคดีนี้ว่า “เกาหลีเหนือมีระบอบเผด็จการสองทาง คือบังคับร่างกาย และครอบงำจิตใจ คนเกาหลีเหนือถูกชักนำอารมณ์ความรู้สึก ระบอบนี้อยู่ได้ด้วยการครอบงำจิตใจ ที่จริงมันคือลัทธิคลั่งเจ้าเหนือหัวตระกูลคิม …เวลาคิม จ็องอิล ร้องไห้จะมีเรื่องประหลาด พอเขาควักผ้าเช็ดหน้า ทุกคนในห้องจะร้องไห้ระงมเลย… ผมเองก็เคยโดนล้างสมอง…ก่อนเจอตัวจริง ผมนึกว่าคิม จ็องอิล เป็นเทพ (ขำขื่น) ผมนึกว่าเขาไม่ต้องขี้เยี่ยวด้วยซ้ำ เขาเป็นแค่มนุษย์ธรรมดา แต่คนเกาหลีเหนือ 20 ล้านคนกลับก้มหัวให้…’ก็แค่คนคนเดียว บ้าบอสิ้นดี”
แต่เหนืออื่นใด ชิน ซางอ๊ก คือสุดยอดผู้กำกับในเวลานั้น ซึ่งพีคสุดๆ ในช่วงยุค 60 เขาจบการศึกษาด้านวิจิตรศิลป์จากมหาวิทยาลัยโตเกียวไฟน์อาร์ตส์สคูล ก่อนจะโดดสู่วงการหนังด้วยการเป็นผู้ช่วยนักออกแบบโปรดักชันใน Viva Freedom! (หรือ Hurrah! For Freedom-1946) หนังต่อต้านจักรวรรดิญี่ปุ่นที่เล่าเหตุการณ์ช่วงไม่กี่วันสุดท้ายก่อนญี่ปุ่นจะถอนกำลังออกไปหลังพ่ายสงครามโลก ซึ่งนับเป็นหนังเกาหลีเรื่องแรกที่ผลิตออกมาหลังการปลดแอกจากญี่ปุ่นแล้ว อันเป็นช่วงเดียวกับการแบ่งแยกเกาหลีเหนือและใต้ ก่อนที่วงการหนังจะซบเซาลงหลังจากฝ่ายเหนือเข้ารุกรานฝ่ายใต้ในปี 1950 เป็นเวลากว่า 3 ปี อันเป็นแรงผลักสำคัญให้ฝ่ายใต้ลุกฮือขึ้นมาพัฒนาประเทศ ทำให้วงการหนังเกาหลีก้าวหน้าขึ้นด้วยเช่นกัน จนช่วงปี 1955-1965 ถูกเรียกว่า ‘ยุคทองระลอกแรกของวงการหนังเกาหลีใต้’ ซึ่งหนึ่งในผู้กำกับที่แจ้งเกิดจากหนังฟิล์ม 16 มม. เรื่อง Evil Night ในปี 1952 และ Youth ในปี 1955 (ฟิล์มหนังทั้งสองเรื่องถูกทำลายไปในช่วงสงครามหมดแล้ว) จนโด่งดังสุดๆ ก็คือ ชิน ซางอ๊ก
ยุคทองระลอกแรก
ชินสร้างความรุ่งเรืองแก่วงการหนังเกาหลีใต้นับตั้งแต่ปี 1958 ด้วยเรื่อง A Flower in Hell หนังแนวหญิงร้ายสุดคลาสสิก (famme fatale) ที่โดดเด่นด้วยฟุตเทจสารคดีจากช่วงสงคราม 3 ปีในยุคก่อนหน้านี้ และเริ่มตั้งคำถามกับสังคม บนฉาบหน้าที่ว่าด้วยความอยู่รอดของคู่รัก ที่ฝ่ายชายเป็นพวกย่องเบาเข้าไปขโมยของในค่ายทหารอเมริกัน ส่วนฝ่ายหญิงเป็นหญิงบริการทหารจีไอ ทั้งคู่ต้องประทังชีวิตให้รอดท่ามกลางหายนะหลังสงครามกลางกรุงโซล จนเมื่อน้องชายของพระเอกจากบ้านนอกเดินทางเข้ามาในโซล ฝ่ายหญิงก็เริ่มเกมเสน่หา ทำให้พี่น้องคู่นี้แตกแยกกัน
แต่หนังที่ทำให้ชินโด่งดังเป็นพลุแตกคืออีกเรื่องในปีเดียวกันนั้น A College Woman’s Confession (1958) ที่ว่าด้วยผลกระทบหลังสงครามเหนือใต้ เมื่อนักศึกษาสาวผู้ใฝ่ฝันอยากจะเป็นนักกฎหมาย จำต้องลาออกจากมหาวิทยาลัย หลังจากยายผู้เป็นที่พึ่งพิงคนเดียวของเธอได้เสียชีวิตลง เธอบากหน้าไปของานทำแต่ไม่มีใครรับ ยกเว้นแต่หนุ่มๆ ที่ปรารถนาในเรือนร่างของเธอ
ตามด้วย A Sister’s Garden (1959) ที่หลังจากโกยรายได้เป็นกอบกำทุนสร้างหนังก็หนาขึ้นด้วย ชินจึงหันไปเล่าครอบครัวที่พลิกวิกฤติในช่วงสงครามจนไต่ขึ้นมาเป็นไฮโซ แต่หลังจากพ่อผู้เป็นเจ้าของธุรกิจได้ตายลง หน้าที่หาเลี้ยงครอบครัวจึงตกเป็นของนางเอกผู้เป็นลูกสาวคนโต เพียงแต่งานถนัดของเธอคือก่อหนี้ และไม่เคยทำงานทำการใดใดมาก่อนเลย
จะเห็นได้ว่าหนังต่างๆ ที่ชินผ่านมามีประเด็นทั้งต่อต้านญี่ปุ่น ตั้งคำถามกับอเมริกา ซึ่งล้วนเป็นศัตรูตัวฉกาจของเกาหลีเหนือ ที่น่าสนใจคือ ชินกล้ากะเทาะเปลือกสังคม เขามีเสรีมากในการท้าทายตั้งคำถามต่างๆ ในหนัง กระทั่งพีคสุดๆ ในยุค 60 ก็เพราะช่วงต้นยุคนั้น ฝ่ายที่กำชัยในตำแหน่งประธานาธิบดีคือนักเคลื่อนไหวเพื่อสังคม ยุน โบซ็อน (1960-62) ซึ่งมาจากพรรคการเมืองฝ่ายเสรีนิยม น่าเสียดายที่ยุนดำรงตำแหน่งนี้ได้เพียง 3 ปี แต่ถึงกระนั้น เฉพาะในยุค 60 ชินก็ผลิตหนังไม่ต่ำกว่า 300 เรื่อง กำกับเองบ้าง อำนวยการสร้างบ้าง ซึ่งกวาดทั้งเงินทั้งรางวัล จนได้ฉายาว่า “วังจา (เจ้าชาย) แห่งวงการหนังเกาหลี”
แต่สิ่งที่ The Lovers and the Despot จงใจจะเล่าข้ามไป หรือเอ่ยเพียงนัยๆ ว่า “วงการหนังเกาหลีใต้เวลานั้นซบเซาลง ชินเป็นหนี้เป็นสินมากมาย ไม่มีปัญญาจ่ายแม้แต่ค่าพิมพ์โปสเตอร์หนัง”
…เกิดอะไรขึ้นกับเกาหลีใต้ในช่วงนั้น?
นโยบายปฏิรูปของท่านผู้นำฝ่ายใต้ เป็นที่รู้กันว่าในปลายสมัยของประธานาธิบดียอน ท่านไม่สามารถใช้อำนาจได้อย่างเต็มที่ เนื่องจากเกาหลีใต้เวลานั้นเปลี่ยนนโยบายไปเป็นระบบสภาซึ่งมีนายกรัฐมนตรีเป็นหัวหน้าฝ่ายบริหาร (เพื่อคานอำนาจประธานาธิบดี) นายกรัฐมนตรีในเวลานั้นคือเผด็จการทหาร ปัก จุงฮี (1961-1963, ขึ้นสู่อำนาจจากการรัฐประหารนองเลือด 16 พฤษภาคม ปี 1961) จนสิ้นสมัยประธานาธิบดียุน ปัก จุงฮี ก็ขึ้นสู่การเป็นประธานาธิบดียาวนานถึง 5 สมัย (1963-1979, ก่อนจะถูกฆาตกรรมโดยทหารสนิท)
นโยบายแรกของ ปัก จุงฮี คือ ปฏิรูปอุตสาหกรรม ไม่เว้นแม้แต่อุตสาหกรรมหนัง ที่มีการใช้กฎหมายภาพยนตร์ 1962 ที่หนุนให้สื่อต่างๆ ควบรวมกันให้แข็งแรงขึ้น มุ่งทำหนังตลาดให้มากขึ้น บังคับให้ทุกค่ายผลิตหนังต้องมีโรงถ่ายและอุปกรณ์เป็นของตัวเอง โดยแต่ละค่ายต้องผลิตหนังไม่ต่ำกว่า 15 เรื่องต่อปี ทำให้ภายในปีเดียว ค่ายหนังที่เคยมีอยู่ในช่วงยุคทองมากถึง 71 ค่าย หดลดลงเหลือแค่ 16 ค่าย กระทั่งเหลือแค่ 4 ค่ายใหญ่ในปีถัดมา
แต่ละค่ายหนังสามารถนำเข้าหนังต่างชาติได้ 1 เรื่องต่อการผลิตหนังในชาติ 3 เรื่อง ดังนั้น ผู้กำกับทุกคนจึงอยู่ภายใต้แรงกดดันมหาศาลให้ต้องเร่งรีบผลิตหนัง ถ่ายทำกันไม่กี่วัน ใช้ดาราซ้ำๆ จำนวนหนังมากขึ้นก็จริง แต่ด้อยคุณภาพลงตามไปด้วย และเป็นไปเพื่อการตลาดมากขึ้น มีแต่หนังวัยรุ่น หนังดราม่า หนังแอ็คชั่น หนำซ้ำยังมีหนังถูกแบนมากมาย ซึ่งส่วนใหญ่โดนก็เพราะวิจารณ์อำนาจรัฐบาลทหาร หรือไม่ก็ส่อในเรื่องทางเพศมากเกินไป (เพราะเผด็จการชูประเด็นอนุรักษนิยม) ซึ่งหนังของชินก็เป็นส่วนหนึ่งที่ถูกแบนด้วย
และนี่เองคือเหตุผลที่ท่านผู้นำ คิม จ็องอิล ใช้กล่อม ผู้กำกับชิน ซางอ๊ก ดังที่ได้ยินเสียงจากเทปลับที่ท่านผู้นำว่า “ต่อไปนี้เวลาเจอใคร บอกเขาด้วยว่าเกาหลีใต้ไม่มีเสรีภาพ รัฐแทรกแซงการทำงานของคุณ ที่นั่นไม่มีอุดมการณ์เสรีภาพ คุณมาที่นี่เพื่อแสวงหาเสรีภาพที่แท้จริง เสรีภาพขนานแท้คือการมีเสรีภาพทางศิลปะอย่างเต็มที่”
อันไปสู่แถลงการณ์ที่ชินกล่าวต่อสื่อเกาหลีใต้ว่า “พวกคุณอยู่ในโลกเสรีคงไม่รู้ว่าเราหวาดกลัวกันขนาดไหน เรากลัวจับขั้วหัวใจ ผมขอย้ำว่าสิ่งที่เราเจอไม่ใช่เรื่องน่าพิสมัย เราได้ทุนสร้างและโอกาสทำหนังก็จริง ได้เดินทางไปยุโรป แต่อย่าหลงคิดว่ามันดี เราเป็นได้แค่เครื่องมือโฆษณาชวนเชื่อสู่สายตาโลก”
หมายเหตุ: เห็นหลายคนบ่นว่าสารคดีหาดูยากเหลือเกิน เลยอยากจะแนะนำอีกหนึ่งช่องทางสะดวกสำหรับคนมีอินเทอร์เน็ต มีซับไทยแปลมาอย่างดี ซึ่งเรื่องนี้ก็มีให้ดูด้วย คลิกที่ลิงก์ http://documentaryclubthailand.com/vod-and-dvd/