ThaiPublica > เกาะกระแส > ไมค์ ปอมปปีโอ ผู้อำนวยการ CIA บินไปเจรจาลับกับ คิม จองอึน

ไมค์ ปอมปปีโอ ผู้อำนวยการ CIA บินไปเจรจาลับกับ คิม จองอึน

19 เมษายน 2018


รายงานโดย ปรีดี บุญซื่อ

นายไมค์ ปอมปิโอ ผู้อำนวยการ CIA ที่มาภาพ: koreatimes.co.kr

เมื่อวันอังคารที่ 17 เมษายน ที่ผ่านมา The Washington Post เป็นหนังสือพิมพ์ฉบับแรกที่รายงานข่าวว่า ไมค์ ปอมปีโอ (Mike Pompeo) ผู้อำนายการ CIA ที่โดนัลด์ ทรัมป์ แต่งตั้งให้มาดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีต่างประเทศคนใหม่ ได้เดินทางลับไปพบปะและเจรจากับ คิม จองอึน ผู้นำเกาหลีเหนือ ในวันต่อมา ทรัมป์ก็ยืนยันว่า “เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว ไมค์ ปอมปีโอ ได้พบกับคิม จองอึนในเกาหลีเหนือ การพบปะดำเนินไปอย่างดีมาก และความสัมพันธ์ที่ดีได้ก่อตัวขึ้นมา ขณะนี้กำลังดำเนินการเรื่องการประชุมสุดยอด”

การเดินทางลับไปเกาหลีเหนือของปอมปีโอ ทำให้นักวิเคราะห์เปรียบเทียบว่า คล้ายกับเหตุการณ์ในปี 1971 เมื่อครั้งที่เฮนรี คิสซินเจอร์ อดีตรัฐมนตรีต่างประเทศสหรัฐฯ เดินทางแบบลับๆ ไปเยือนจีน เพื่อปูทางการประชุมสุดยอดระหว่างเหมา เจ๋อตุง กับริชาร์ด นิกสัน ในเวลานั้น สหรัฐฯ ถือว่าจีนเป็นศัตรูหมายเลข 1 ในเอเชีย ปัจจุบันนี้ เกาหลีเหนือเป็นศัตรูหลักของสหรัฐฯ ภารกิจลับของปอมปีโอทำให้เกิดการมองการณ์ในแง่ดีต่อการประชุมสุดยอดระหว่างทรัมป์กับคิม จองอึน ที่คาดว่าจะมีขึ้นในปลายเดือนพฤษภาคม หรือต้นเดือนมิถุนายนนี้

ประเด็นการหารือลับ

นักวิเคราะห์คาดว่า การพบปะระหว่างปอมปีโอกับคิม จองอึน จะมีการหารือกันในเรื่องสำคัญๆ 3 ประเด็น ประเด็นแรก สถานที่จัดประชุมสุดยอดระหว่างทรัมป์กับคิม จองอึน ผู้นำสหรัฐฯ และเกาหลีเหนือ ต่างก็มีความต้องการต่างกันเรื่องสถานที่การประชุมสุดยอด รวมทั้งสถานที่ไหนที่ตัวเองไม่ประสงค์จะเดินทางไปประชุม การที่ปอมปีโอได้หารือเรื่องนี้กับคิม จองอึน จึงมีความสำคัญ เพราะปอมปีโอเป็นเจ้าหน้าที่ระดับสูงของสหรัฐฯ ที่ทรัมป์ไว้วางใจมากสุดคนหนึ่ง

ประเด็นที่ 2 เป็นเรื่องที่สำคัญสุด คือวาระการประชุม และสาระสำคัญที่ผู้นำแต่ละคนจะหยิบยกขึ้นมาหารือ รวมทั้งท่าทีเบื้องต้นของแต่ละฝ่าย ประเด็นที่ 3 คือ เรื่องที่ยังมีคนอเมริกัน 3 คน ถูกจับกุมอยู่ในเกาหลีเหนือ การเดินทางไปเกาหลีเหนือครั้งนี้ ปอมปีโอไม่ได้นำคนอเมริกัน 3 คนนี้กลับมา ทรัมป์อาจจะเรียกร้องให้เกาหลีเหนือปล่อยตัวก่อนที่จะมีประชุมสุดยอด เพราะเป็นเรื่องยากที่จะเจรจากับเกาหลีเหนือ หากยังมีคนอเมริกันถูกคุมขังในประเทศนี้อยู่

ที่มาภาพ : koreatimes.co.kr

สถานที่ประชุมสุดยอด

ทรัมป์ให้สัมภาษณ์ว่า มีการพิจารณาสถานที่ 5 แห่ง ที่จะเป็นสถานที่ประชุมสุดยอด แต่ไม่ได้ระบุว่าเป็นที่ไหนบ้าง แต่สำนักข่าว Bloomberg ระบุว่า มีความเป็นไปได้อยู่ 8 แห่ง ได้แก่ กรุงเทพฯ สิงคโปร์ อูลานบาตอร์ เจนีวา เฮลซิงกิ สตอกโฮล์ม ออสโล ปราก และวอร์ซอ

ที่กรุงเทพฯ และสิงคโปร์ ทั้งสหรัฐฯ และเกาหลีเหนือต่างก็มีสถานทูตอยู่ที่สองเมืองนี้ ส่วนอูลานบาตอร์สะดวกที่ผู้นำเกาหลีเหนือจะเดินทางโดยรถไฟ เพราะมีรายงานข่าวว่า เกาหลีเหนือไม่มีเครื่องบินโดยสารที่สามารถบินไปยังจุดห่างไกล ส่วนเจนีวานั้นเพราะสวิตเซอร์แลนด์เป็นประเทศเป็นกลาง คิม จองอึน ก็เคยศึกษาอยู่ในโรงเรียนของสวิส

ส่วนสำนักข่าว CNN รายงานว่า เจ้าหน้าที่สหรัฐฯ กำลังคัดกรองสถานที่ประชุมสุดยอดให้แคบลงไป และบอกว่าเป็นไปได้น้อยที่จะเป็นวอชิงตัน ปักกิ่ง โซล หรือเปียงยาง ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ สิงคโปร์เป็นไปได้มากสุด แต่ก็มีการพิจารณ์เมืองในเวียดนามและประเทศไทย

ส่วนสวีเดนและสวิตเซอร์แลนด์ ก็มีความเป็นไปได้ รวมทั้งประเทศยุโรปอื่นๆ ที่เกาหลีเหนือมีความสัมพันธ์ทางการทูต เจ้าหน้าที่สหรัฐฯ กล่าวว่า มีหลายปัจจัยในการพิจารณาสถานที่ประชุมสุดยอด เช่น ความเห็นชอบของคิม จองอึน และความเป็นไปได้ที่ผู้นำเกาหลีเหนือจะสามารถเดินทางโดยรถไฟหรือเครื่องบิน หากยังตกลงกันไม่ได้เรื่องสถานที่ประชุม ก็ยังไม่สามารถระบุวันประชุมสุดยอด

9 เมืองที่อาจจะเป็นสถานที่ประชุมสุดยอด ที่มาภาพ : bloomberg.com

ความสำเร็จของการประชุม

การเดินทางลับของปอมปีโอที่ไปพบกับคิม จองอึน แสดงให้เห็นว่า ทั้งสองฝ่ายต่างเอาจริงเอาจังที่จะทำให้การประชุมสุดยอดเกิดขึ้น ทรัมป์เองก็มองการณ์ในแง่ดีต่อวิธีการทางการทูต ในการแถลงข่าวร่วมกับชินโซ อาเบะ นายกรัฐมนตรีญี่ปุ่น ทรัมป์กล่าวว่า “กับเกาหลีเหนือ เราได้เดินทางมาไกลแล้ว เราไม่เคยเดินทางถึงจุดนี้มาก่อน ถ้าเราไม่คิดว่าจะประสบความสำเร็จ เราก็คงไม่ดำเนินการในสิ่งนี้ หากการประชุมไม่เกิดดอกผลอะไร ผมก็จะเดินออกจากที่ประชุม”

เป้าหมายของสหรัฐฯ ประกอบด้วยการยุติสงครามเกาหลีอย่างเป็นทางการ หลังจากมีการประกาศสงบศึกมาแล้วถึง 65 ปี สถาปนาความสัมพันธ์ปกติทางการทูต ล้มเลิกอาวุธนิวเคลียร์และขีปนาวุธพิสัยไกลของเกาหลีเหนือ ที่สามารถโจมตีสหรัฐฯ แต่ทรัมป์ก็คงต้องแลกเปลี่ยนกับอะไรบางอย่าง ในอดีต เกาหลีเหนือต้องการให้สหรัฐฯ ถอนทหารออกจากคาบสมุทรเกาหลี ยุติการคว่ำบาตร และให้การช่วยเหลือทางเศรษฐกิจ

สำหรับท่าทีการเจราจาของทรัมป์ นายอับราฮัม เดนมาร์ก (Abraham Denmark) ผู้อำนวยการโครงการเอเชียของ Wilson Center กล่าวกับเว็บไซต์ dw.com ว่า ทรัมป์ได้กำหนดเป้าหมายไว้แล้วว่าคือการยกเลิกโครงการนิวเคลียร์ของเกาหลีเหนือทั้งหมด ซึ่งรัฐบาลสหรัฐฯ ที่ผ่านมาไม่เคยบรรลุเป้าหมายนี้ ส่วนเกาหลีเหนือเองก็ประกาศว่า เต็มใจที่จะเลิกโครงการนิวเคลียร์ แต่ไม่เคยดำเนินการแต่อย่างใด

ส่วนท่าทีหลังสุดของรัฐบาลทรัมป์คือ ตั้งเป้าหมายให้เกาหลีเหนือเป็นฝ่ายผ่อนปรนยินยอมมากที่สุด เวลาเดียวกัน ฝ่ายสหรัฐฯ ก็จะผ่อนปรนน้อยที่สุด นายจอห์น โบลตัน (John Bolton) ที่ปรึกษาความมั่นคงคนใหม่ของทรัมป์ ก็กล่าวว่า เขาไม่คิดว่าสหรัฐฯ จะใช้แรงจูงใจทางเศรษฐกิจมาทำให้เกาหลีเหนือเลิกล้มโครงการนิวเคลียร์ ท่าทีดังกล่าวค่อนข้างผิดปกติสำหรับการเจรจาต่อรอง เพราะการเจรจาที่จะประสบความสำเร็จนั้นเป็นที่คาดหวังกันว่า แต่ละฝ่ายต่างก็จะผ่อนปรนในเรื่องสำคัญๆ

ที่มาภาพ : koreatimes.co.kr

บทบาทของไมค์ ปอมปีโอ

การที่ทรัมป์เลือกให้ไมค์ ปอมปีโอ เดินทางไปเจรจาลับๆ กับคิม จองอึน มีความหมายสำคัญ ปอมปีโอเคยเป็นวุฒิสมาชิกจากรัฐแคนซัส และทรัมป์แต่งตั้งให้เป็นผู้อำนวยการ CIA ตำแหน่งนี้ทำให้ในแต่ละวันเขาต้องทำหน้าที่สรุปข่าวกรองให้กับทรัมป์ ทำให้ปอมปีโอได้รับวางใจอย่างมากจากทรัมป์ โดยทรัมป์เคยพูดว่า ความคิดของตัวเองกับปอมปีโอมีคลื่นวิทยุเดียวกัน

ก่อนหน้านี้ ปอมปีโอเคยกล่าวทำนองสนับสนุนการเปลี่ยนระบอบของเกาหลีเหนือ เมื่อปีที่แล้ว เขากล่าวต่อที่ประชุม Aspen Security Forum ว่า “เป็นเรื่องดีมากที่จะทำให้คาบสมุทรเกาหลีปลอดนิวเคลียร์” แต่ในทัศนะของฝ่ายบริหาร เป็นเรื่องสำคัญมากที่ต้องแยกระหว่างสมรรถนะดังกล่าว กับคนที่มีอำนาจควบคุมสิ่งนี้

แต่เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว ในการประชุมกรรมาธิการต่างประเทศของวุฒิสภาสหรัฐฯ เพื่อรับรองการดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีต่างประเทศ ปอมปีโอลดการใช้คำพูดที่รุนแรงต่อคิม จองอึน โดยกล่าวว่า “บทบาทของผมในฐานะนักการทูตคือการทำให้มั่นใจว่า เราจะไม่เดินทางไปยังจุดที่เราต้องเผชิญกับสถานการณ์ที่ยากลำบากในเกาหลี ที่ประเทศนี้ได้เดินไปในระยะหลายสิบปีที่ผ่านมา”

ในเรื่องการทำให้เกาหลีเหนือปลอดนิวเคลียร์นั้น เว็บไซต์ japantimes.com รายงานว่า สหรัฐฯ เกาหลีใต้ และญี่ปุ่น มีเป้าหมายที่จะให้เกาหลีเหนือปลอดนิวเคลียร์ในปี 2020 ทรัมป์ต้องการให้เกิดขึ้นเร็วกว่านี้ เพราะจะใช้เป็นประเด็นหาเสียงเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯ ในปี 2020 แหล่งข่าวรัฐบาลจีนก็เปิดเผยว่า ในการพบปะกับสี จิ้นผิง เมื่อปลายเดือนมีนาคม คิม จองอึน ก็กล่าวว่า เกาหลีเหนือจะเสนอให้การปลอดนิวเคลียร์ “เป็นแบบมีขั้นตอนและมีการทำพร้อมกันไป”

แต่นักวิเคราะห์ก็ยังกังวลว่า หากการประชุมสุดยอดระดับผู้นำสูงสุดครั้งนี้เกิดล้มเหลวขึ้นมา จะเป็นการพิสูจน์ว่าทางออกด้วยวิธีทางการทูตนั้นหมดโอกาสแล้ว ทำให้กลายเป็นข้ออ้างของพวกที่มีแนวคิดจะใช้วิธีการทางทหารมาจัดการปัญหานี้

เอกสารประกอบ
With Pompeo to Pyongyang, the U.S. launches diplomacy with North Korea, Robin Wright, April 18, 2018, newyorker.com
North Korea: Prisoner issue looms large after Mike Pompeo’s secret trip, dw.com