ThaiPublica > เกาะกระแส > โลกาภิวัตน์ เทคโนโลยีใหม่ และเศรษฐกิจดิจิทัล กับ “การสูญหายของชนชั้นกลาง”

โลกาภิวัตน์ เทคโนโลยีใหม่ และเศรษฐกิจดิจิทัล กับ “การสูญหายของชนชั้นกลาง”

28 กุมภาพันธ์ 2018


รายงานโดย ปรีดี บุญซื่อ

ที่มาภาพ : https://www.youtube.com/watch?v=G06kv6aWjCs

ในช่วง 40 ปีที่ผ่านมา คนชั้นกลางทั่วโลกมีจำนวนเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ทั้งนี้เพราะการเติบโตทางเศรษฐกิจที่สูง ของประเทศกำลังพัฒนาอย่างเช่น จีน อินเดีย และบราซิล แต่ในประเทศตะวันตกที่เจริญแล้ว แนวโน้มกลับสวนทางกับกระแสโลก เมื่อปีที่แล้ว นางคริสตีน ลาการ์ด ผู้อำนวยการ IMF กล่าวต่อที่ประชุมเศรษฐกิจ เมืองดาวอส ว่า “ในสหรัฐฯ สัดส่วนคนชั้นกลางลดลงจาก 60% มาอยู่ที่ 50%” ทั้งนี้เพราะคนชั้นบนสั่งสมความมั่งคั่งมากขึ้น ส่วนคนทั่วไปมีฐานะต่ำลง

ในปีที่แล้ว นางเจเน็ต เยลเลน อดีตประธานธนาคารกลาง สหรัฐฯ ก็กล่าวกับคณะกรรมาธิการการเงิน สภาผู้แทนราษฎร สหรัฐฯว่า งานของคนชั้นกลางมีลู่ทางและโอกาสที่ลดน้อยลงไป ส่วนค่าจ้างของคนชั้นกลางก็ถูกกดดันให้ลดต่ำลง ทั้งนี้เป็นเพราะสาเหตุที่มาจากความก้าวหน้าด้านเทคโนโลยี และเศรษฐกิจแบบโลกาภิวัตน์ ทำให้งานรายได้ปานกลางสูญหายไป

เศรษฐกิจที่ “ไม่กระจาย” ความมั่งคั่ง

นอกจากเศรษฐกิจโลภิวัตน์ และการพัฒนาของเทคโนโลยีอัตโนมัติแล้ว เศรษฐกิจในยุคปัจจุบัน ที่มักจะเรียกว่า เศรษฐกิจดิจิทัล ก็มีผลทำให้จำนวนของคนชั้นกลาง หดตัวลดน้อยลง บริษัทยักษ์ใหญ่ด้านดิจิทัล มีการจ้างงานน้อย Google มีพนักงาน 60,000 คน Facebook มี 12,000 คน Instagram ที่ Facebook ซื้อไป 1 พันล้านดอลลาร์ มีพนักงานแค่ 13 คน

นักหนังสือพิมพ์ออสเตรเลียชื่อ Ian Leslie จึงกล่าวว่า “จุดนี้ทำให้เห็นว่า เทคโนโลยีดิจิทัลทำให้สังคมเปลี่ยนไปอย่างลุ่มลึก ภายใต้เศรษฐกิจดิจิทัล การผลิตซ้ำสินค้าดิจิทัล เช่น ภาพถ่าย อี-บุ๊ค หรือซอฟต์แวร์ แทบจะไม่มีต้นทุนอะไรเลย รวมทั้งการส่งสินค้าดิจิทัลไปทั่วโลก ก็ไม่มีต้นทุนเช่นกัน นักออกแบบหรือวิศวกรที่สร้างผลิตภัณฑ์ดิจิทัล ให้กับคนที่เป็นเจ้าของผลิตภัณฑ์ อย่างเช่น มาร์ก ซักเคอร์เบิร์ก ที่คนทั่วโลกนับพันล้านคนเสียเงินซื้อ แต่ความมั่งคั่งของคนระดับสูงพวกนี้ ไม่ได้ “กระจายต่อ” (trickle down) ไปให้คนระดับล่างๆ เพราะสินค้าดิจิทัลต้องการคน 2-3 คนเท่านั้น จะผลิตมันขึ้นมา”

แต่เศรษฐกิจอุตสาหกรรมแตกต่างจากเศรษฐกิจดิจิทัล บริษัทอุตสาหกรรมยักษ์ใหญ่ในอดีตอย่างเช่น Exxon เคยมีพนักงาน 150,000 คน General Motors มีถึง 600,000 คน หรือ AT&T มี 560,000 คน บริษัทกล้องถ่ายรูป Kodak ตั้งขึ้นมาในปี 1888 แต่อีก 100 ปีต่อมา Kodak มีพนักงานถึง 145,000 คน Kodak จึงเป็นบริษัทที่สร้างงานให้กับพนักงาน ที่มีรายได้พอจะไปเลี้ยงดูสมาชิกในครอบครัว แต่ในปี 2012 Kodak ยื่นเรื่องขอล้มละลาย ณ เวลานั้น มีพนักงานเหลือแค่ 7,250 คน หรือ 5% ของพนักงานที่เคยมีมากสุด

แม้เศรษฐกิจดิจิทัลจะจ้างงานในปริมาณน้อย แต่กำลังกลายเป็นโครงสร้างพื้นฐานของเศรษฐกิจในปัจจุบัน จึงมีความสำคัญต่อภาวะเศรษฐกิจโดยรวม บริษัทที่เติบโตอย่างรวดเร็ว ก็ล้วนเป็นบริษัทที่ทำธุรกิจในรูปแบบใหม่ เรียกว่า Platform ไม่ว่าจะเป็น Google, Facebook, Amazon, หรือบริษัทสตาร์ทอัพ เช่น Uber, Airbnb

การสูญหายของ “คนชั้นกลาง”

ในหนังสือชื่อ The Vanishing Middle Class นักเศรษฐศาสตร์ของ MIT ชื่อ Peter Temin กล่าวว่า ความเหลื่อมล้ำด้านรายได้ที่เพิ่มมากขึ้น เป็นภัยคุกคามต่อคนชั้นกลางในสหรัฐอเมริกา คนที่มีรายได้ระดับกลางลดน้อยลงไป สหรัฐฯถูกแบ่งเป็นกลุ่มคนมั่งคั่งกับคนที่รายได้ต่ำ รายได้ระดับกลางที่เฉลี่ยปีหนึ่ง 60,000 ดอลลาร์ ก็ไม่ได้เพิ่มขึ้นเลย การสูญหายของคนชั้นกลาง ทำให้สังคมมีสภาพเหมือนกับยุคก่อนอุตสาหกรรม ที่มีแต่คนกลุ่มน้อยที่ร่ำรวย กับคนกลุ่มมากที่ยากจน

ที่มาภาพ : The MIT Press

Peter Temin อธิบายสภาพที่เกิดขึ้นนี้ โดยใช้โมเดลทางเศรษฐกิจที่เรียกว่า “เศรษฐกิจคู่ขนาน 2 ภาคส่วน” หรือ Dual Economy โมเดลเศรษฐกิจนี้บางครั้งก็เรียกว่า Lewis Model เพราะคนที่สร้างโมเดลนี้ขึ้นมา เป็นนักเศรษฐศาสตร์รางวัลโนเบลปี 1979 ชื่อ Arthur Lewis ซึ่งเมื่อ 50 ปีที่แล้ว เขาใช้อธิบายภาวะเศรษฐกิจของประเทศยากจนในอดีตว่า ภายในประเทศเดียวกัน แต่มีเศรษฐกิจอยู่ 2 ภาคส่วน ที่ดำรงอยู่คู่กันไป แต่ละส่วนแยกออกจากกัน เพราะระดับการพัฒนา การใช้เทคโนโลยี และมีความต้องการ ที่แตกต่างกัน

Arthur Lewis แห่งมหาวิทยาลัยแมนเชสเตอร์ เสนอแนวคิดการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศกำลังพัฒนาว่า มีสภาพเศรษฐกิจแบบ “คู่ขนาน 2 ภาคส่วน” คือ ภาคเศรษฐกิจทุนนิยม กับภาคเศรษฐกิจพอกินพอใช้ (subsistence) ภาคทุนนิยมมีการผลิตที่สมัยใหม่ ใช้เงินทุนและแรงงาน ส่วนภาคพอกินพอใช้จะเป็นภาคการเกษตร ที่ประกอบด้วยชาวนายากจน แรงงานในภาคเกษตรจึงมีอยู่เหลือเฟือ การเพิ่มแรงงานในการผลิตต่อไร่นา ก็ไม่ช่วยให้ผลผลิตเพิ่มขึ้น เพราะเหมือนกับรถยนต์เพิ่มล้ออีกอันหนึ่งเป็นล้อที่ 5
Lewis กล่าวว่า ค่าแรงในภาคเศรษฐกิจทุนนิยม จะสูงกว่าค่าจ้างภาคเศรษฐกิจพอกินพอใช้ เพราะการผลิตแบบทุนนิยมต้องอาศัยเครื่องจักร และต้องการแรงงานมีฝีมือ นอกจากนี้ ยังต้องการคนงานมากขึ้น เพื่อเพิ่มปริมาณการผลิต ค่าแรงในภาคเศรษฐกิจทุนนิยม จึงสูงกว่าค่าจ้างในภาคการเกษตร

Peter Temin อาศัย Lewis Model มาอธิบายภาวะเศรษฐกิจของอเมริกาในปัจจุบันว่า มี 2 ภาคส่วนที่แยกจากกัน คือ ภาคเศรษฐกิจที่ Peter Temin เรียกว่า FTE (Finance, Technology, Electronics) ซึ่งประกอบด้วยคนทำงานในธุรกิจการเงิน เทคโนโลยี และอิเล็กทรอนิกส์ คนงานในธุรกิจนี้ มีรายได้สูง กับภาคส่วนเศรษฐกิจค่าจ้างต่ำ ที่ประกอบด้วยคนงานที่มีทักษะต่ำ รายได้ไม่เพิ่มขึ้นเลย แบบเดียวกับรายได้ของชาวนา ในภาคเศรษฐกิจพอกินพอใช้ของประเทศที่ยากจน

ในสหรัฐฯ ครอบครัวที่มีรายได้สูง ทำงานในภาคส่วน FTE มีสัดส่วน 20% ของประชากรทั้งหมด ครอบครัวรายได้ปานกลางมีสัดส่วน 50% และครอบครัวรายได้ต่ำมีสัดส่วน 30% ในปี 2015 สถาบันวิจัย Pew Research Center ได้ทำการสำรวจเรื่อง สัดส่วนรายได้ครัวเรือนในสหรัฐฯ เมื่อเทียบกับรายได้รวมทั้งประเทศ ปรากฎว่า ในระยะ 30 ปีที่ผ่านมา รายได้ครอบครัวคนชั้นกลางมีสัดส่วนลดลง ในปี 1970 ครอบครัวคนชั้นกลางมีสัดส่วน 62% ของรายได้ครัวเรือนรวมทั้งประเทศ ในปี 2014 ลดมาอยู่ที่ 43% แต่สัดส่วนรายได้ครัวเรือนคนชั้นสูงเพิ่มจาก 29% เป็น 49% และครัวเรือนระดับล่าง มีสัดส่วนลดลงจาก 10% เป็น 9%

Peter Temin เห็นว่า รายได้ของคนชั้นกลางที่ชะงักงัน ไม่ขยับสูงขึ้นเลย มีสาเหตุมาจากอำนาจต่อรองของสหภาพแรงงานที่หายไป กระแสโลกาภิวัตน์ และเทคโนโลยีใหม่ๆ ความเหลื่อมล้ำด้านรายได้ ทำให้ความเหลื่อมล้ำของความมั่งคั่งเพิ่มมากขึ้นในสหรัฐฯ คนรายได้สูงมีการออมมากกว่าคนรายได้ต่ำ ทำให้คนมีรายได้สูงมีสินทรัพย์ที่เติบโตเพิ่มขึ้นมาก เหมือนกับที่ Thomas Piketty กล่าวไว้ในหนังสือ Capital in the Twenty-First Century ว่า ผลตอบแทนจากสินทรัพย์ มีอัตราเพิ่มที่สูงกว่าอัตราการเพิ่มของเงินเดือนหรือรายได้

แต่การศึกษาจะเป็นตัวเชื่อมของเศรษฐกิจสมัยใหม่แบบ “คู่ขนาน 2 ภาคส่วน” โดยจะทำให้ลูกหลานของคนงานรายได้ต่ำ สามารถเคลื่อนย้ายไปสู่เศรษฐกิจภาค FTE แต่การศึกษาระดับอุดมศึกษาก็ไม่ได้เป็นหลักประกันเสมอไปว่า จะทำให้มีรายได้สูง โดยจะได้ทำงานในภาค FTE เช่นเดียวกับคนในชนบทที่อพยพเข้ามาในเมือง ก็ไม่ใช่หลักประกันว่า จะมีงานที่ดีทำในเมือง แต่ว่างานต่างๆในเศรษฐกิจภาค FTE ล้วนต้องการสิ่งที่เรียกว่า “ทุนทรัพยากรมนุษย์” (human capital)

เอกสารประกอบ
The Vanishing Middle Class: Prejudice and Power in a Dual Economy, Peter Temin, The MIT Press, 2017.