ThaiPublica > เกาะกระแส > ดาวอสที่ไม่มี “Davos Man” กลุ่มคนชั้นนำที่ได้ประโยชน์มากสุดจากโลกาภิวัตน์

ดาวอสที่ไม่มี “Davos Man” กลุ่มคนชั้นนำที่ได้ประโยชน์มากสุดจากโลกาภิวัตน์

24 มกราคม 2022


รายงานโดย ปรีดี บุญซื่อ

ที่มาภาพ : twitter World Economic Forum

การประชุม World Economic Forum (WEF) ปี 2022 กำหนดที่จะมีขึ้นระหว่างวันที่ 17-21 มกราคม 2022 ที่ดาวอส เมืองติดเทือกเขาแอลป์ สวิตเซอร์แลนด์ แต่การประชุม WEF ต้องถูกยกเลิกออกไปเป็นปีที่ 2 ติดต่อกัน เพราะการแพร่ระบาดของโควิด-19 แต่การประชุม WEF ปี 2022 นี้ ผู้เข้าประชุมสามารถเข้าร่วมประชุมแบบออนไลน์ตามหัวข้อการนำเสนอที่เรียกว่า State of the World
การประชุม WEF ในแต่ละปี ถือเป็นการรวมตัวของกลุ่มคนชั้นนำ และบรรดามหาเศรษฐีที่มีชื่อเสียงที่ใหญ่สุดของโลก บริษัทยักษ์ใหญ่มาแสดงพันธกิจต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศ และนักเศรษฐศาสตร์ชั้นนำอภิปรายเรื่องความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจ การประชุม WEF ปี 2020 นับเป็นครั้งแรกที่ผู้นำโลก รับทราบเรื่องโคโรนาไวรัส ที่ปะทุขึ้นมาที่เมืองอู่ฮั่น การประชุม WEF ปี 2021 เลื่อนไปจัดที่สิงคโปร์ ในช่วงฤดูร้อน แต่ในที่สุดก็เลือนออกไปเช่นกัน

สร้างรายได้ 120 ล้านดอลลาร์แก่สวิส

บทความชื่อ Davos Without ‘Davos’ ของ nytimes.com กล่าวว่า ก่อนเกิดการแพร่ระบาดของโควิด-19 คำว่า “ดาวอส” ไม่ได้มีความเพียงแค่สถานที่จัดประชุมประจำปีของ WEF แต่ยังหมายถึงจิตวิญญาณเรื่อง การสนับสนุนทุนนิยม ประชาธิปไตย และเศรษฐกิจโลกาภิวัตน์ การประชุม WEF ถือเป็นการรวมกลุ่มคนที่มีส่วนได้เสียกับระบบทุนนิยม และเป็นแหล่งทดลองความคิดใหม่ๆ ที่จะหาทางออก เช่นเรื่องโลกร้อน ความยากจนในโลก หรือความขัดแย้งระหว่างประเทศ

การประชุม WEF ที่เกิดขึ้นตลอดสัปดาห์ในกลางเดือนมกราคม ถูกเรียกว่าเป็นกิจกรรมของการประชุม ที่ประกอบด้วยการประชุมย่อยในหัวข้อต่างๆ และกิจกรรมการตลาดของบริษัทยักษ์ใหญ่ แต่หัวใจของ WEF จะอยู่ที่การประชุมใหญ่ที่จัดขึ้นที่ Congress Centre ที่ในปี 2020 แอนเกลา แมร์เคิลและโดนัลด์ ทรัมป์ กล่าวสุนทรพจน์ต่อคนฟัง ขณะที่ผู้บริหารของ Google นำเสนอเทคโนโลยีใหม่ของ Google Map ที่ห้องประชุมข้างเคียง

นอกจากนี้ การประชุม WEF ยังเป็นแหล่งรายได้สำคัญแก่สวิตเซอร์แลนด์ และเมืองดาวอส จากการศึกษาของ University of St. Gallen การประชุม WEF ปี 2020 สร้างรายได้ 120 ล้านดอลลาร์แก่เศรษฐกิจสวิส โดยผู้เข้าร่วมประชุมใช้จ่ายเงิน 70 ล้านดอลลาร์แก่เศรษฐกิจของดาวอส เมืองที่มีประชากร 11,000 คน ในช่วงประชุม WEF จำนวนคนในดาวอสเพิ่มขึ้นเท่าตัว

กลุ่มคนที่ถูกเรียกว่า Davos Man

Peter S. Goodman นักข่าวสายเศรษฐกิจของ The New York Times เขียนหนังสือที่เพิ่งออกวางตลาดชื่อ Davos Man (2022) กล่าวว่า Samuel H. Huntington นักรัฐศาสตร์ที่มีชื่อของสหรัฐฯ เป็นคนแรกที่ใช้คำว่า “Davos Man” หรือ บุรุษดาวอส คำนี้หมายถึงกลุ่มคนที่สร้างความมั่งคั่งมหาศาลให้กับตัวเอง จากเศรษฐกิจแบบโลกาภิวัตน์

เพราะเหตุนี้ กลุ่มคนพวกนี้จึงเป็นคนที่ไร้รัฐ (stateless) ความสนใจและความมั่งคั่งของพวกเขาไหลข้ามพรมแดนประเทศอสังหาริมทรัพย์และเรือยอร์ชของพวกเขากระจายอยู่ตามทวีปต่างๆ นักลอบบี้และนักบัญชีของมหาเศรษฐีเหล่านี้ เข้าไปเกี่ยวข้องกับอาณาเขตกฎหมายของหลายประเทศ พวกเขาถึงจึงไม่ภักดีต่อประเทศใดประเทศหนึ่ง

คำว่า Davos Man ของ Huntington จึงมีความหมายโดยตรงถึงใครก็ตาม ที่เดินทางไปร่วมการประชุม WEF เป็นประจำ การเป็นส่วนหนึ่งของกิจกรรมของ WEF เป็นหลักฐานช่วยพิสูจน์ว่า พวกเขาคือหนึ่งในผู้ประสบความสำเร็จมากที่สุดจากเศรษฐกิจและชีวิตสมัยใหม่

ที่มาภาพ : https://www.npr.org/

แต่ในหลายปีที่ผ่านมา คำว่า Davos Man คือคำที่สื่อมวลชนและนักวิเคราะห์ ใช้เรียกกลุ่มคนเป็นยอดพีระมิดของโลก พวกมหาเศรษฐีที่มีอิทธิพลทางการเมือง และกลุ่มคนที่พยายามผลักดันแนวคิดต่อเศรษฐกิจของประเทศสำคัญๆว่า กฎเกณฑ์กติการทางเศรษฐกิจที่กำหนดขึ้นมา ทำให้คนที่มั่งคั่งอยู่แล้วมั่งคั่งมากขึ้น ในที่สุดเราทุกคนก็จะได้อนิสงค์ไปด้วย

ความมั่งคั่งกว่า 5 แสนล้านดอลลาร์

หนังสือ Davos Man บอกว่า การประชุมประจำปี WEF ช่วยสะท้อนได้ดีที่สุดว่า Davos Man คือคนเผ่าพันธุ์พิเศษ จากเอกสาร การประชุม WEF เป็นการสัมมนาในเรื่องการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศ ความเหลื่อมล้ำทางเพศ และดิจิทัลในอนาคต แต่สิ่งที่คนมองข้ามคือป้ายวิสัยทัศน์ ที่ติดตามห้องประชุมต่างๆว่า “มุ่งมั่นที่จะปรับปรุงภาวะของโลก” (Committed to Improving the State of the World)

แต่คำขวัญการประชุม WEF สะท้อนสิ่งที่เป็นภาวะย้อนแย้งของกิจกรรม WEF มีการคิดคำนวณกันว่า ในปี 2020 คนที่เข้าร่วมประชุม WEF มีทรัพย์สินความมั่งคั่งรวมกันมากถึง 500,000 ล้านดอลลาร์ หรือพอๆกับมูลค่าเศรษฐกิจของเบลเยียม

ไม่ว่าจะวัดจากหลักเกณฑ์อะไร คนที่มารวมตัวกันที่เมืองดาวอส คือ คนที่มีชัยชนะที่สุดของโลก

หนังสือ Davos Man อธิบายว่า ประวัติศาสตร์ในครึ่งศตวรรษหลังสุดในยุโรป อเมริกา และประเทศสำคัญอื่นๆ ส่วนใหญ่เป็นเรื่องราวความมั่งคั่งที่ไหลขึ้นสู่จุดที่สูง ขณะที่คนทำงานหลายร้อยล้านคน ต้องต่อสู้กับการดำรงชีวิตที่รายได้หดตัวลง สื่อต่างๆรายงานข่าวว่า อินเทอร์เน็ต โลกาภิวัตน์ และระบบอัตโนมัติ มีอิทธิพลกำหนดชีวิตสมัยใหม่ ให้ผลตอบแทนแก่คนทำงานที่มีการศึกษา และทำให้คนทำงานที่มีทักษะน้อยเสียเปรียบ สิ่งที่เกิดขึ้นนี้ ไม่ได้มาจากการออกแบบหรือวางแผนของคนเรา แต่เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นเหมือนกับปรากฎการณ์ธรรมชาติ

แต่หนังสือ Davos Man ระบุว่า ลักษณะของเศรษฐกิจไม่ได้เป็นผลิตผลของสถานการณ์ใดหนึ่ง แต่เป็นฝีมือทางวิศวกรรม ที่มาจากความมุ่งหมายของคนที่สร้างระบบนั้นขึ้นมา เพื่อรับใช้ผลประโยชน์ของพวกเขา เรามีชีวิตอยู่ในโลก ที่ออกแบบโดยพวก Davos Man เพื่อให้ความมั่งคั่งไหลไปสู่พวก Davos Man มากขึ้น

พวก Davos Man มักจะบอกว่า พวกเขารุ่งเรืองมั่งคั่งขึ้นมา เพราะสติปัญญาฉลาดและมีความคิดทางนวัตกรรมมากกว่าคนอื่น คนพวกนี้รังเกียจการเสียภาษีให้รัฐ เพราะเห็นว่า ภาษีคือการลงโทษที่ดูถูกทักษะ และการทุ่มเททำงานของพวกเขา

ในปลายศตวรรษที่ 19 พวกนักอุตสาหกรรมและนายธนาคารในสหรัฐฯ เช่น Andrew Carnegie หรือ J.P. Morgan ถูกเรียกว่าพวก Robber Baron เพราะสร้างความมั่งคั่งจากการเอาประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติ การทำธุรกิจด้วยวิธีที่ผิดจริยธรรมและผิดกฎหมาย แต่คนพวกนี้ก็พอใจกับความมั่งคั่ง เพราะเห็นว่าเป็นเรื่องที่พึงปรารถนา

แต่พวก Davos Man ไม่ได้พอใจกับความมั่งคั่งที่มีอยู่เท่านั้น หากแต่ยังพยายามสร้างภาพลักษณ์ว่า ผลประโยชน์ของพวกเขาก็เหมือนกับผลประโยชน์ของคนทุกคน พวกเขาเป็นคนดูแลสิ่งที่เป็นสาธารณประโยชน์ นอกจากนี้ ความมั่งคั่งของพวกเขาคือเงื่อนไขที่จะนำไปสู่ความก้าวหน้า ที่จะเกิดขึ้นในวงกว้างมากขึ้นในสังคม และเป็นกุญแจสำคัญสู่นวัตกรรมต่างๆ

เมืองดาวอส ที่มาภาพ : https://www.weforum.org/

ปัจจัยทำให้เกิดผู้นำประชานิยม

หนังสือ Davos Man ชี้ให้เห็นว่า การที่พวก Davos Man สามารถคว้าประโยชน์ได้มากสุดและครอบงำเศรษฐกิจโลกาภิวัตน์ คือปัจจัยสำคัญที่ทำให้เกิดผู้นำแบบประชานิยมฝ่ายขวา ความมั่งคั่งที่เกิดขึ้นกลับไปตกอยู่กับพวก Davos Man แต่คนทั่วไปขาดความมั่นคงทางเศรษฐกิจ ทำให้สหรัฐฯได้ผู้นำที่เป็นนักพัฒนาแหล่งคาสิโน ในยามที่ประเทศกำลังเผชิญโรคระบาดโควิด-19 ที่ฆ่าคนอเมริกันมากกว่าที่คนอเมริกันเสียชีวิตจากสงครามโลกครั้งที่ 1 และครั้งที่ 2 รวมทั้งจากสงครามเวียดนาม

ช่วง 30 ปี หลังจากสงครามโลกครั้งที่ 2 เศรษฐกิจทุนนิยมของสหรัฐฯ สามารถกระจายดอกผลการเติบโตทางเศรษฐกิจ ได้อย่างกว้างขวาง และเป็นเวลานานต่อเนื่อง แต่นับจากทุนนิยมที่ถูกควบคุมโดยพวก Davos Man ก็แทบไม่ใช่ระบบทุนนิยมอีกต่อไป เพราะกลายเป็นรัฐสวัสดิการ สำหรับคนที่ต้องการสิ่งนี้น้อยที่สุด แต่เป็นแหล่งหลบภัยสำหรับมหาเศรษฐี เวลาเกิดเพลิงไฟที่เป็นภัยคุกคามต่อธุรกิจ เปลวไฟก็จะถูกดับจากเงินของผู้เสียภาษี ส่วนภัยพิบัติจากการว่างงาน การปิดโรงงาน และการขาดบริการสาธารณสุข ให้ยอมรับเสียว่า เป็นเรื่องเศรษฐกิจแบบเสรีนิยม

ในช่วง 40 ปีที่ผ่านมา คนอเมริกันที่ร่ำรวยที่สุด 1% ได้รับความมั่งคั่งรวมกัน 21 ล้านล้านดอลลาร์ ในเวลาเดียวกัน ฐานะการเงินของครัวเรือนจำนวนครึ่งหนึ่ง หายไป 900,000 ล้านดอลลาร์ นับจากปี 1978 เป็นต้นมา ผลตอบแทนทั้งหมดสำหรับผู้บริหารธุรกิจ พุ่งขึ้นมากกว่า 900% แต่ในช่วงเวลาเดียวกัน ค่าจ้างของคนงานอเมริกัน เพิ่มไม่ถึง 12%

หากการกระจายรายได้ในสหรัฐฯเป็นแบบเดียวกับหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 คนที่อยู่ส่วนล่าง 90% จะมีรายได้เพิ่มขึ้นรวมกัน 47 ล้านล้านดอลลาร์ แต่จำนวนเงินที่ว่านี้ กลับไหลสูงขึ้นสู่ยอดพีระมิด ไปเพิ่มความมั่งคั่งแก่คนไม่กี่พันคน เวลาเดียวกัน ความเหลื่อมล้ำนี้ ก็เป็นสิ่งที่ไปสร้างอันตรายต่อประชาธิปไตยของอเมริกาเอง สิ่งนี้คือสภาพสังคม ที่เกิดขึ้นก่อนการแพร่ระบาดของโควิด-19

หนังสือ Davos Man สรุปว่า โลกเราสามารถมีระบบทุนนิยม ที่ยังมีคุณสมบัติในการสร้างนวัตกรรมและความรุ่งเรือง โดยไม่ไปหยิบยื่นผลต่อการเติบโตแทบทั้งหมดให้แก่พวก Davos Man สิ่งที่ระบบทุนนิยมขาดแคลนคือกลไกภายในระบบ ที่จะสามารถกระจายดอกผลอย่างเที่ยงธรรม จุดนี้คือหน้าที่ความรับผิดชอบของรัฐบาล ที่สามารถดำเนินการภายใต้อาณัติจากประชาชน

เอกสารประกอบ
Davos Man, Peter S. Goodman, HarperCollins, 2022.
Davos Without ‘Davos’, January 16, 2022, nytimes.com