ThaiPublica > เกาะกระแส > ภาวะโลกร้อน เป็นปัญหาระดับโลก แต่ภัยพิบัติที่เกิดซ้ำซาก เป็นปัญหาของท้องถิ่น

ภาวะโลกร้อน เป็นปัญหาระดับโลก แต่ภัยพิบัติที่เกิดซ้ำซาก เป็นปัญหาของท้องถิ่น

8 กุมภาพันธ์ 2019


รายงานโดย ปรีดี บุญซื่อ

เมื่อเดือนกรกฎาคม 2018 ฝนที่ตกหนักทางตอนใต้ญี่ปุ่น ทำให้เกิดน้ำท่วมและดินถล่มอย่างหนัก
ที่มาภาพ : http://www.nationmultimedia.com/detail/breakingnews/30349586

เมื่อเดือนกรกฎาคม 2018 ฝนที่ตกหนักทางตอนใต้ญี่ปุ่น ทำให้เกิดน้ำท่วมและดินถล่มอย่างหนัก มีคนเสียชีวิต 225 ราย และประชาชนจำนวน 8 ล้านคน ต้องอพยพออกจากพื้นที่ 23 เขต หลังจากนั้น ตามมาด้วยคลื่นความร้อนปกคลุมทั่วญี่ปุ่น หลายเมืองในญี่ปุ่นอุณหภูมิสูงเกือบ 40 องศาเซลเซียส ทางองค์การอุตุนิยมวิทยาญี่ปุ่นเรียกว่าเป็น ภัยพิบัติแห่งชาติ

เดือนมิถุนายน 2018 เที่ยวบินจำนวนมากถูกยกเลิกเป็นเวลาหลายวัน ที่สนามบินนานาชาติฟีนิกส์ รัฐแอริโซนา เพราะความร้อนที่ผิดปกติ ทำให้เครื่องบินไม่สามารถทำการบินในสภาพที่อุณหภูมิสูงกว่า 43 องศาเซลเซียส ต่อมาในเดือนกรกฎาคม เกิดน้ำท่วมใหญ่ในเมืองฮุสตัน รัฐเท็กซัส ทำให้คน 40,000 คน ต้องอพยพออกจากที่พักอาศัย ความเสียหายทางเศรษฐกิจเป็นเงิน 100 พันล้านดอลลาร์เดือนกรกฎาคม เกิดน้ำท่วมใหญ่ในเมืองฮุสตัน รัฐเท็กซัส

ผลกระทบเกิดขึ้นในท้องถิ่น

สำหรับคนธรรมดาทั่วไป ปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศ เป็นเรื่องระดับโลก คนที่จะมีความเข้าใจในเรื่องนี้คือ ผู้เชี่ยวชาญด้านสิ่งแวดล้อม การเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศ ยังเป็นเรื่องที่ยังอยู่ห่างไกล ที่จะส่งผลกระทบต่อชีวิตประจำวัน แต่ภัยพิบัติที่ผ่านๆมา แสดงให้เห็นว่า การเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศ ไม่ใช่ปัญหาของคนอื่นๆ แต่เป็นปัญหาระดับท้องถิ่น ที่มีผลกระทบเรื้อรังไปทั่วประเทศ ไม่ว่าจะเป็นสภาพอากาศร้อนที่รุนแรง ระดับน้ำทะเลสูงขึ้น ภาวะน้ำท่วมครั้งใหญ่ หรือ ฤดูหนาวที่อุ่นขึ้น

ภัยพิบัติจากการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศ ทำให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ต้องแบบรับภาวะค่าใช้จ่ายมากขึ้น ในปี 2017 ภัยพิบัติในสหรัฐอเมริกา ที่เกิดจากสภาพอากาศที่เปลี่ยนแปลงจำนวน 16 ครั้ง แต่ละครั้งสร้างความเสียหายที่มากกว่า 1 พันล้านดอลลาร์

ผลกระทบจากสภาพอากาศที่เปลี่ยนแปลงไป ทำให้ธุรกิจต้องปรับรูปแบบการทำธุรกิจออกไป เพื่อไม่ให้เกิดผลกระทบต่อห่วงโซ่อุปทาน นักลงทุนและบริษัทประกันภัย ให้ความสนใจต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศมากขึ้น Swiss Re บริษัทรับประกันภัยต่อ จะไม่รับประกันบริษัทที่ 30% ของรายได้หรือผลิตพลังงานไฟฟ้า มาจากถ่านหิน ศาสนจักรของอังกฤษ (Church of England) ที่มีเงินกองทุนมูลค่า 16 พันล้านดอลลาร์ ประกาศว่า จะไม่ลงทุนในบริษัท ที่ไม่สามารถบรรลุเป้าหมายที่ระบุไว้ใน ข้อตกลงปารีสเรื่อง การเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศ
ความเป็นมาของภาวะโลกร้อน

น้ำท่วมใหญ่ในเมืองฮุสตัน รัฐเท็กซัส ที่มาภาพ : https://www.houstonchronicle.com/local/article/How-floods-compare-7330750.php

ในบทความชื่อ Climate Change in 2018 ของ Harvard Business School กล่าวว่า ความเสี่ยงเรื่อง การเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศครั้งใหญ่ เป็นหนึ่งในปัญหาสำคัญที่โลกเรากำลังเผชิญอยู่ วงการด้านวิทยาศาสตร์เห็นพ้องเป็นฉันทาคติว่า โลกเรามีสภาพอากาศที่ร้อนขึ้น โดยมีสาเหตุมาจากก๊าซเรือนกระจก และภาวะที่โลกร้อนขึ้น จะส่งผลกระทบที่รุนแรงยิ่งขึ้น

แต่ก็มีความเห็นที่แตกต่างกันในเรื่อง มาตรการที่จะรับมือกับปัญหานี้ นักเศรษฐศาสตร์จำนวนมากเห็นว่า การลดภาวะโลกร้อนจะให้ประโยชน์มากกว่าต้นทุนที่ต้องเสียไป แต่ก็เห็นแตกต่างกันในประเด็นที่ว่า อะไรคือมาตรการที่จะดำเนินการ จะดำเนินการรวดเร็วขนาดไหน และใครควรจะเป็นฝ่ายรับผิดชอบค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้น

แต่คนบางส่วนในสหรัฐฯไม่ยอมรับความเห็นที่เป็นฉันทาคติของวงการทางวิทยาศาสตร์ ในเรื่องภาวะโลกร้อน บางคนเห็นว่า มาตรการบางอย่างมีต้นทุนที่สูงไป และไม่มีประสิทธิภาพ เช่นปัญหาที่เรียกว่า การได้ประโยชน์ โดยไม่มีค่าใช้จ่าย (free riding) การลดภาวะโลกร้อน เป็นเรื่องที่ทุกคนได้ประโยชน์ แต่หากว่า มีเพียงบางประเทศ บางองค์กร และคนบางกลุ่ม เป็นฝ่ายออกค่าใช้จ่าย ในที่สุดแล้ว ก็จะไม่สามารถลดภาวะโลกร้อนได้มาก

แต่ความเสี่ยงจากการเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศ กลายเป็นประเด็นสำคัญของภาคเอกชน ผู้นำธุรกิจบางส่วนมองการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศ เป็นภัยต่อการดำเนินงานของธุรกิจตัวเอง บางธุรกิจมองเห็นเป็นโอกาสที่จะส่งเสริมเทคโนโลยี ที่จะช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก บางธุรกิจล๊อบบี้ไม่ให้รัฐออกมาตรการใดออกมา และบางธุรกิจผลักดันให้รัฐออกมาตรการเกี่ยวกับก๊าซคาร์บอนไดอ๊อกไซด์

บทความ Climate Change in 2018 กล่าวว่า นับจากการปฏิวัติอุตสาหกรรมเป็นต้นมา อุณหภูมิเฉลี่ยของโลก เพิ่มขึ้น ช่วงปี 1880-2015 อุณหภูมิเฉลี่ยของโลกเพิ่มมา 0.9 องศาเซลเซียส ปี 2016 โลกประสบภาวะอากาศร้อนสุดติดต่อกันเป็นปีที่ 3 วงการวิทยาศาสตร์เห็นพ้องกันในประเด็นที่ว่า ภาวะโลกร้อนขึ้น ส่วนใหญ่เกิดจากการเพิ่มขึ้นในบรรยากาศของก๊าซเรือนกระจก หรือ GHG ที่ประกอบด้วย คาร์บอนไดออกไซด์ (CO2) ก๊าซมีเทน (CH4) และไนตรัสออกไซด์ (N2O)

แหล่งสำคัญในการปล่อยก๊าซเรือนกระจก คือ การเผาผลาญพลังงานจากฟอสซิล ที่ประกอบด้วย ถ่านหิน น้ำมัน และก๊าซ รองลงมาได้แก่การเผาป่า การทำการเกษตร และกิจกรรมอื่นๆ สัดส่วนการการปล่อยก๊าซเรือนกระจกทั้งหมด 21% มาจากการผลิตไฟฟ้าและการทำความร้อน จากการใช้พลังงานฟอซซิล 21% จากการผลิตอุตสาหกรรม 14% จากการขนส่ง 10% จากพลังงานอื่นๆ และ 6% จากอาคารที่ทำงานและพักอาศัย ส่วนที่เหลืออีก 24% มาจากเกษตรกรรม ป่าไม้ และการใช้ประโยชน์ที่ดิน

ปริมาณก๊าซเรือนกระจกที่เพิ่มขึ้นในบรรยากาศ ทำให้อุณหภูมิโลกสูงขึ้น เพราะมาจากการแผ่รังสี หรือ Radiative Forcing ที่เพิ่มขึ้น การแผ่รังสีคือปริมาณพลังงานที่อยู่บนผิวโลก และที่สะท้อนกลับมาที่ผิวโลก อัตราที่แตกต่างกันระหว่างพลังงานเพิ่มขึ้นกับปริมาณที่สะท้อนกลับมา คือ ความร้อนสุทธิ (net heating) ความร้อนนี้จะสะสมอยู่ที่ผิวและใต้ผิวของโลก ทะเล และน้ำแข็ง หลักฐานที่แสดงถึงความร้อนที่สะสมมากขึ้น คืออุณหภูมิผิวโลกเพิ่มขึ้น น้ำทะเลอุ่นขึ้น และน้ำแข็งขั้วโลกละลาย

ผลกระทบจากภาวะโลกร้อน

บทความ Climate Change in 2018 กล่าวว่า ภาวะโลกที่ร้อนขึ้น ทำให้เกิดผลกระทบอย่างกว้างขวาง ประการแรก คือระดับน้ำทะเลที่สูงขึ้น การที่โลกอุ่นขึ้น ทำให้น้ำแข็งขั้วโลกเกิดการละลาย และน้ำในทะเลขยายตัว ปัจจุบัน น้ำทะเลสูงขึ้นเฉลี่ย 0.15 นิ้วต่อปี มีการคาดการณ์กันว่า ในปี 2100 น้ำทะเลจะสูงขึ้น 2 เมตร ซึ่งจะส่งกระทบต่อเมืองใหญ่ๆในโลก ที่ปัจจุบัน 2 ใน 3 ตั้งอยู่ตามที่ลุ่มชายฝั่งทะเล ประเทศหมู่เกาะหลายประเทศ จะจมอยู่ใต้ทะเล ประชากร 46% ของบังคลาเทศ และ 70% ของเนเธอร์แลนด์ อาจต้องอพยพจากถิ่นฐาน
ผลกระทบที่ 2 คือ การเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศที่รุนแรง อุณหภูมิสูงขึ้นทำให้บรรยากาศสามารถเก็บสะสมละอองน้ำได้มากขึ้น ลักษณะของฝนตก จึงไม่ปกติ แต่เมื่อฝนตก ก็มีปริมาณน้ำมากขึ้น ส่วนพื้นที่บางแห่ง กลับแห้งแล้งมากขึ้น ลักษณะการตกของฝนเกิดการเปลี่ยนแปลงไปทั่วโลก นับจากปลายทศวรรษ 1990 ประเทศในแอฟริกาตะวันออก ประสบปัญหาฝนตกที่ต่ำกว่าปกติ ทำให้ผลผลิตการเกษตรลดลง 30%

ผลกระทบที่ 3 คือ การเพาะปลูกอาหาร ที่มีความเกี่ยวพันโดยตรงกับการมีปริมาณน้ำที่พอเพียง ตัวเลขปี 2014 พื้นที่เพาะปลูกในโลก ที่มีระบบชลประทาน มี 16% แต่มีสัดส่วน 36% ของการเก็บเกี่ยวผลผลิตของโลก สภาพอากาศที่ร้อนขึ้น และปริมาณฝนตกที่แปรปรวน ทำให้เกรงกันว่า พื้นที่เพาะปลูกที่มีปัญหาภัยแร้งรุนแรง จะเพิ่มมากขึ้น จาก 1-3% ของพื้นที่เพาะปลูกในปัจจุบัน เป็น 30% ในปี 2090 นอกจากนี้ อากาศร้อนขึ้นทำให้พวกแมลงและวัชพืช มีปริมาณเพิ่มขึ้น อากาศที่ร้อนขึ้นยังกระทบต่อสุขภาพของมนุษย์ และระบบนิเวศธรรมชาติและสัตว์ป่า

ที่มาภาพ : https://www.foreignaffairs.com/articles/united-states/2018-09-18/climate-change-chronic-condition

ภาวะโลกร้อน เหมือนกับโรคเบาหวาน

บทความชื่อ Climate Change Is a Chronic Condition (2018) พิมพ์ในวารสาร Foreign Affairs กล่าวว่า การเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศ กลายเป็นปัญหาที่เกิดขึ้นเรื้อรังซ้ำซาก คนที่มีอำนาจรับผิดชอบทางนโยบาย จะต้องรับมือกับปัญหานี้ ตามลักษณะที่เป็นไปดังกล่าว รัฐบาล การปกครองท้องถิ่น ธุรกิจ และชุมชนต่างๆ จะประสบกับภาระค่าใช้จ่ายที่เพิ่มมากขึ้น เหมือนกับค่าใช้จ่ายในการดูแลปัญหาสุขภาพ ที่เกิดจากโรคที่เรื้อรัง

บทความเปรียบเทียบปัญหาภาวะโลกร้อน เหมือนกับโรคเบาหวานแบบที่ 2 ที่เกิดจากภาวะน้ำตาลสูงในเลือด และร่างกายขาดอินซูลิน อาการโรคอาจไม่รุนแรง แต่สร้างปัญหาในระยะยาว เช่น หัวใจล้มเหลว เส้นเลือดสมองอุดตัน ตาบอด และไตล้มเหลว เป็นต้น เบาหวานแบบที่ 2 ป้องกันได้ เพราะเกิดจากการรับประทานอาหารที่มีน้ำตาลมากไป และการขาดการออกกำลังกาย ทุกวันนี้ คนอเมริกันเป็นเบาหวาน 30 ล้านคน คาดว่าจะเพิ่ม 54% เป็น 55 ล้านคนในปี 2030 ค่าใช้จ่ายในการรักษาปีหนึ่ง 622 พันล้านดอลลาร์

ทุกวันนี้ ประเทศต่างๆเผชิญปัญหาภาวะโลกร้อน เหมือนกับหน่วยงานสาธารณสุข เผชิญปัญหาโรคเบาหวานในหมู่ประชากร ก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์เปรียบเหมือนน้ำตาล ธรรมชาติ เช่น ป่าไม้และดิน ที่ดูดซับคาร์บอน เปรียบเหมือนอินซูลิน และการปล่อยก๊าซเรือนกระจก เหมือนกับการรับประทานมากเกินไป หากสังคมไม่เปลี่ยนวิธีการจัดการเรื่อง สภาพอากาศที่เปลี่ยนแปลง ก็จะได้รับผลกระทบที่รุนแรงมากขึ้น

บทความของ Foreign Affairs กล่าวว่า ปัจจุบัน ผลกระทบจากภาวะโลกร้อย กลายเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นแบบถาวรกับโลกเรา จุดนี้มีความหมายว่า การบริหารจัดการปัญหานี้ กลายเป็นภาระหน้าที่ถาวร และงานประจำของหน่วยงานต่างๆของรัฐ หน่วยงานรัฐสามารถมีมาตรการหลายอย่าง เพื่อรับมือกับปัญหาโลกร้อน ที่เคยเกิดขึ้นแบบเป็นครั้งคราว มาเป็นการดูแลปัญหาที่เกิดขึ้นเรื้อรังซ้ำซาก

องค์กรของรัฐและท้องถิ่นจะต้องยอมรับความจำเป็น ที่ไม่เพียงแต่การลดปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกเท่านั้น แต่มีความจำเป็นที่จะต้องบริหารจัดการผลกระทบจากภาวะโลกร้อน เช่น การตัดสินใจลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานต่างๆของท้องถิ่น จะต้องมีการประเมินความเสี่ยงในเรื่องภาวะโลกร้อน (climate risk analysis) ด้วย

เอกสารประกอบ
Climate Change in 2018: Implications for Business, Harvard Business School, January 30, 2018.
Climate Change Is a Chronic Condition, Kate Gordon and Julio Friedmann, Foreign Affairs, September 18, 2018.