ThaiPublica > เกาะกระแส > Brexit กับการถอนตัวออกจาก EU ถนนทุกสายล้วนทำให้อังกฤษยากจนลง

Brexit กับการถอนตัวออกจาก EU ถนนทุกสายล้วนทำให้อังกฤษยากจนลง

3 ธันวาคม 2018


รายงานโดย ปรีดี บุญซื่อ

ที่มาภาพ : https://twitter.com/isitworthitbus?lang=en

ธนาคารกลางอังกฤษ หรือ Bank of England ได้จำลองเหตุการณ์ร้ายสุด (worst case scenario) ถึงอนาคตเศรษฐกิจของสหราชอาณาจักร (UK) ที่ประกอบด้วย อังกฤษ สกอตแลนด์ เวลส์ และไอร์แลนด์เหนือ ไว้ว่า หากการถอนตัว (Brexit) ออกจาก EU เป็นไปแบบไม่มีข้อตกลงใดๆ เศรษฐกิจของ UK จะหดตัวลง 8% ภายในเวลาไม่ถึงปี ซึ่งจะรุนแรงและรวดเร็วว่าการตกต่ำของเศรษฐกิจเมื่อครั้งเกิดวิกฤติในปี 2008

นอกจากนี้ การว่างงานจะพุ่งขึ้นเป็น 7.5% เพราะคนหลายแสนคนจะตกงาน อัตราเงินเฟ้อจะเพิ่มขึ้น 6.5% ทำให้ราคาสินค้าพุ่งสูงขึ้น ราคาอสังหาริมทรัพย์ประเภทที่พักอาศัยจะลดลง 30% ส่วนอาคารพาณิชย์จะลดลง 48% เงินปอนด์จะมีค่าลดลง 25% ทำให้เงิน 1 ปอนด์มีค่าต่ำกว่า 1 ดอลลาร์หรือ 1 ยูโร ก่อนหน้านี้ กระทรวงการคลังอังกฤษ ก็เปิดเผยรายงานว่า ไม่ว่าจะเป็นทางออกแบบไหน หลังจากถอนตัวจาก EU แล้ว UK จะยากจนลงนานเป็นเวลา 15 ปี

ปฏิกิริยาจากหนังสือพิมพ์

การคาดการณ์ของธนาคารกลางดังกล่าว ทำให้หนังสือพิมพ์ต่างๆ ของอังกฤษนำไปขึ้นเป็นข่าวพาดหัวในหน้าแรก The Times of London พาดหัวว่า “Brexit ที่ไม่มีข้อตกลง จะเป็นการล้มเหลวฉับพลันที่เลวร้ายสุดของเศรษฐกิจ นับจากทศวรรษ 1930” ส่วน The Independence พาดหัวว่า “วันที่ล้มละลายของ Brexit”

หนังสือพิมพ์อังกฤษส่วนหนึ่ง เขียนบทนำที่แสดงปฏิกิริยาต่อการประเมินของธนาคารกลางและกระทรวงการคลัง The Daily Telegraph บอกว่า “ภาพที่น่ากลัวจากการประเมินของกระทรวงการคลังไม่ได้ทำให้คนเปลี่ยนความคิด” ส่วน Daily Express เขียนว่า “เวลาจะพิสูจน์ให้เห็นว่าเป็นเรื่องผิดพลาด ที่มองว่า Brexit จะทำให้เศรษฐกิจเสียหาย”

Daily Mirror แสดงความกังวลในสิ่งที่เรียกว่า “ต้นทุนแท้จริงของ Brexit” และบอกว่า เมื่อคนอังกฤษลงคะแนนให้ออกจาก EU “พวกเขาไม่ได้ลงคะแนนเพื่อให้ยากจนลง” ส่วน Financial Times เสนอว่า แผนการของนายกรัฐมนตรี เทเรซา เมย์ ควรได้รับการสนับสนุนอย่างมีเงื่อนไข ข้อตกลงที่ทำกับ EU แม้จะไม่สมบูรณ์ แต่ก็เอามาใช้ดำเนินการได้ การปฏิเสธเลยเพราะเห็นว่ามีทางออกที่ดีกว่า และน่าเชื่อถือกว่า คือ สิ่งที่ยังไม่อยู่ในวิสัยที่ใกล้เข้ามา

ที่มาภาพ : https://twitter.com/isitworthitbus?lang=en

ถนน Brexit ล้วนทำให้จนลง

นอกจากผลเสียทางเศรษฐกิจจาก Brexit ที่คาดการณ์โดยธนาคารกลางของอังกฤษ การวิเคราะห์ของสถาบันวิจัยเศรษฐกิจต่างๆ ล้วนมีทิศทางเดียวกัน เป็นครั้งแรกที่นักเศรษฐศาสตร์มีความเห็นที่ตรงกันเรื่องผลกระทบจาก Brexit ทุกฝ่ายมองว่าการที่เศรษฐกิจ UK เปิดกว้างน้อยลงกับการค้าและการเคลื่อนย้ายแรงงาน จะทำให้เศรษฐกิจของ UK ลดขนาดลงไป เมื่อเทียบกับที่ยังอยู่ในกลุ่ม EU เพราะเหตุนี้ ในระยะยาว Brexit จะทำให้อังกฤษยากจนลง หากถอนตัวโดยไม่มีข้อตกลงใดๆ ก็เป็นทางเลือกที่ส่งผลรุนแรงที่สุด

ที่มาภาพ : Encyclopedia Britanica

หลังจากการลงประชามติในปี 2016 รัฐบาลอังกฤษประกาศว่า เคารพต่อเจตนารมณ์ของประชามติ ด้วยคำพูดที่ว่า “Brexit คือ Brexit” ซึ่งมีความหมายว่า Brexit จะต้องเกิดขึ้นอย่างแน่นอน แต่คำว่า Brexit คือ สิ่งที่เป็นวัตถุประสงค์ โดยไม่มีใครรู้แน่ชัดว่า ในความเป็นจริงแล้ว ผลลัพธ์จะออกมามีหน้าตาอย่างไร หรือว่าจุดหมายปลายทางของ Brexit จะมีรูปร่างอย่างไร เพราะในการลงประชามติ คนอังกฤษลงคะแนนในประเด็นที่ว่า จะถอนตัวหรือว่ายังอยู่ใน EU ไม่ได้ลงคะแนนในประเด็นที่ว่า หากถอนตัวแล้ว ความสัมพันธ์กับ EU จะเป็นแบบไหน

หนังสือชื่อ Fall Out ของ Tim Shipman บรรณาธิการการเมืองของ The Sunday Times กล่าวว่า แม้แต่พวกรณรงค์ให้ถอนตัว ก็ปิดบังไม่ได้ให้คนรู้ว่า โมเดลความสัมพันธ์กับ EU ในอนาคตจะเป็นอย่างไร ทำให้สังคมอังกฤษเกิดวาทกรรมที่ถกเถียงกันเองว่า ปลายทางของ Brexit ควรจะเป็นโมเดลแบบไหน เช่น โมเดลนอร์เวย์ สวิตเซอร์แลนด์ หรือแคนาดา เป็นต้น

นอร์เวย์เป็นสมาชิกกลุ่ม European Economic Area (EEA) ซึ่งเป็นข้อตกลงระหว่างประเทศที่อนุญาตให้ขยายตลาดเดียว (Single Market) ของ EU ไปรวมถึงประเทศที่ไม่ได้เป็นสมาชิก EU คือนอร์เวย์ ไอซ์แลนด์ และลิกเตนสไตน์ การเป็นตลาดเดียวหมายถึง การเคลื่อนย้ายเสรีด้านสินค้า เงินทุน การบริการ และแรงงาน เนื่องจากอยู่นอกกลุ่ม EU นอร์เวย์จ่ายเงินสมทบให้กับงบประมาณของ EU ยอมรับกฎระเบียบด้านตลาดของ EU ยกเว้นเรื่องการเกษตร ประมง ระบบความยุติธรรม และกิจการภายใน ฐานะของนอร์เวย์จึงเป็น “ประเทศที่ยอมรับกฎระเบียบ” แต่ไม่มีสิทธิเสียง ที่จะมีส่วนกำหนดกฎระเบียบดังกล่าว

ส่วนสวิตเซอร์แลนด์ เป็นสมาชิกสมาคมการค้าเสรีของยุโรป เรียกว่า European Free Trade Association (EFTA) แต่ไม่ได้เป็นส่วนหนึ่งของตลาดเดียว EU การเข้าถึงตลาด EU สวิตเซอร์แลนด์อาศัยการทำข้อตกลงแบบทวิภาคีจำนวนมากในเรื่องเศรษฐกิจสำคัญๆ กับ EU แต่ไม่รวมถึงธุรกิจธนาคารและบริการ ทำให้ยังสามารถทำข้อตกลงการค้าเสรีกับประเทศอื่นๆ สวิตเซอร์แลนด์ออกเงินสมทบให้กับงบประมาณของ EU แต่ในจำนวนที่น้อยกว่านอร์เวย์

ส่วนแคนาดาเพิ่งทำข้อตกลงเศรษฐกิจและการค้าอย่างรอบด้าน (Comprehensive Economic and Trade Agreement – CETA) กับ EU ที่มีการยกเลิกการเก็บภาษีนำเข้าในสินค้าแทบทั้งหมด ยกเว้นการบริการและสินค้าที่มีความอ่อนไหวบางอย่าง สินค้า “ผลิตในแคนาดา” จึงเข้าถึงตลาด EU โดยที่แคนาดาไม่ต้องมีพันธกรณีแบบเดียวกับนอร์เวย์หรือสวิตเซอร์แลนด์

ส่วนทางเลือกอื่นๆ นอกเหนือจากนี้ คือการถอนตัวโดยไม่มีข้อตกลงใดๆ แล้วหันไปใช้กฎระเบียบขององค์การการค้าโลก (WTO) คือ การเก็บภาษีนำเข้าในอัตราต่างๆ โดยเฉลี่ยจะอยู่ที่ 3% แต่กรณีรถยนต์ ที่เป็นอุตสาหกรรมหลักของอังกฤษ จะอยู่ที่ 10% เพราะฉะนั้น คำว่า “Brexit แบบนุ่มนวล” หรือ Soft Brexit จึงหมายถึง การถอนตัว แต่ยังอยู่ในตลาดเดียวของ EU ส่วนคำว่า “Brexit แบบแข็ง” หรือ Hard Brexit หมายถึง การถอนตัวแบบสิ้นเชิง

ที่มาภาพ : https://abcnews.go.com/International/brexit-key-issues/story?id=59402693

ภาพมายาที่แตกสลาย

บทความของวารสาร Foreign Affairs ชื่อ Brexit and Broken Promises กล่าวว่า การที่ UK ออกจาก EU โดยไม่คิดว่าจะมีผลเสียหายใดเลยนั้น นับเป็นจินตนาการที่เฟ้อฝัน ในเดือนมิถุนายน 2016 อังกฤษอ้าแขนรับจินตนาการนี้ เมื่อการลงประชามติ Brexit ได้คะแนนเสียงส่วนใหญ่เพียงเล็กน้อย คือ 52 ต่อ 48 ที่ให้ UK ออกจาก EU พวกสนับสนุน Brexit ประกาศว่า การออกจาก EU จะทำให้มีเงินเหลือ 350 ล้านปอนด์ต่อสัปดาห์ เพื่อเอามาใช้กับระบบประกันสุขภาพแห่งชาติแทน

พวก Brexit รณรงค์ให้ออกจาก EU โดยคาดว่า สิ่งที่จะเกิดขึ้นตามมาคือ UK ยังสามารถรักษาสิทธิประโยชน์ส่วนใหญ่ จากการเป็นส่วนหนึ่งในตลาดเดียวของยุโรป ที่สินค้าและธุรกิจบริการข้ามพรมแดนได้เสรี แต่ไม่ต้องจ่ายค่าสมาชิก EU หรือขึ้นต่อกฎระเบียบของ EU ขณะเดียวกัน พวก Brexit ก็อ้างว่า UK ยังสามารถเจรจาทำข้อตกลงการค้าเสรีกับประเทศอื่น เพื่อประโยชน์ต่อการส่งออกของอังกฤษ

เวลาเดียวกัน เจ้าหน้าที่ EU เกรงว่า เมื่อถอนตัวจาก EU แล้ว หาก UK ยังสามารถได้ข้อตกลงแบบนี้ไป ก็จะกลายเป็นแบบอย่างให้กับสมาชิก EU บางประเทศ ที่คิดจะถอนตัวออกไป อันจะเป็นภัยต่อการอยู่รอดของ EU แต่ทั้ง EU และ UK ต่างก็ไม่ต้องการสิ่งที่เรียกว่า Hard Brexit คือ UK ถอนตัวไปโดยไม่มีข้อตกลงใดๆ แต่แนวทางการเจรจาของ EU อยู่ที่ว่า เมื่อออกจากการเป็นสมาชิก EU แล้ว UK จะต้องเป็นฝ่ายขาดทุน

ที่ผ่านมา อังกฤษคิดว่าตัวเองอยู่ในฐานะเหนือกว่าในการเจรจากับ EU เพราะการส่งออกจำนวนมากที่ข้ามช่องแคบอังกฤษล้วนมาจากยุโรป โดยเฉพาะชิ้นส่วนรถยนต์ของเยอรมัน แต่ความได้เปรียบแท้จริงกลับอยู่กับฝ่าย EU สมาชิก EU สามารถอยู่ได้โดยไม่ต้องอาศัยการเข้าถึงตลาดอังกฤษได้อย่างเสรี ในทางกลับกัน UK อยู่ได้ยาก หากไม่สามารถเข้าถึงตลาด EU ได้เสรี กลุ่ม EU เป็นตลาดเดียว ที่มีประชากร 450 ล้านคน ขณะที่ UK มีความหวังอยู่ที่การทำข้อตกลงการค้าเสรีใหม่กับประเทศที่อยู่ห่างไกลออกไป ส่วนสหรัฐฯ ในสมัยโดนัลด์ ทรัมป์ ก็หันไปใช้นโยบายปกป้องการค้ามากขึ้น

บทความของ Foreign Affairs กล่าวว่า จินตนาการแบบเฟ้อฝันดังกล่าว ยังปกคลุมอยู่เหนือการเมืองภายในของอังกฤษ พวกอนุรักษนิยมที่สนับสนุน Brexit สุดโต่งประณามข้อตกลงการถอนตัวที่นางเทเรซา เมย์ ไปทำกับ EU โดยกล่าวว่า ทำให้ UK ยังมีสภาพเป็น “ข้ารับใช้” ของยุโรปอยู่ ส่วนพรรคแรงงานยังคงยืนยันท่าทีว่าจะยอมรับข้อตกลง Brexit หากว่าเงื่อนไขการถอนตัวจาก EU ให้ประโยชน์แก่ UK แบบเดียวกับที่เคยได้รับ เมื่อครั้งยังเป็นสมาชิก EU

ในวันที่ 11 ธันวาคมนี้ สภาสามัญของอังกฤษจะลงมติว่า จะรับข้อตกลงการถอนตัว ที่เรียกว่า Withdrawal Agreement หรือไม่ ข้อตกลงนี้ ผ่านความเห็นชอบแล้วจาก EU กับรัฐบาลนางเทเรซา เมย์ สาระสำคัญมีอยู่ 3 เรื่อง คือ อังกฤษยังต้องจ่ายเงินให้ EU ราวๆ 39 พันล้านปอนด์ สำหรับการถอนตัว เรื่องสิทธิของคนอังกฤษที่อยู่ใน EU กับสิทธิพลเมืองของ EU ในอังกฤษ และวิธีการที่จะหลีกเลี่ยงการมีด่านตรวจพรมแดน ระหว่างไอร์แลนด์เหนือ ที่เป็นส่วนหนึ่งของ UK กับสาธารณรัฐไอร์แลนด์ที่เป็นสมาชิก EU หากสภาสามัญมีมติไม่ยอมรับข้อตกลงนี้ ทาง EU กล่าวแล้วว่า ทางออกคือ UK ถอนตัวแบบไม่มีข้อตกลงใดๆ หรือ Hard Brexit หรือไม่ก็ยังเป็นสมาชิก EU อยู่

ที่มาภาพ : https://twitter.com/isitworthitbus?lang=en

เอกสารประกอบ
Fall Out, Tim Shipman, William Collins, 2018.
Brexit and Broken Promises, Peter Hall, Foreign Affairs, November 16, 2018.