ThaiPublica > เกาะกระแส > อัฟกานิสถาน ความผิดพลาดทางประวัติศาสตร์ ที่สั่นคลอนความน่าเชื่อถือของประธานาธิบดีโจ ไบเดน

อัฟกานิสถาน ความผิดพลาดทางประวัติศาสตร์ ที่สั่นคลอนความน่าเชื่อถือของประธานาธิบดีโจ ไบเดน

22 สิงหาคม 2021


รายงานโดย ปรีดี บุญซื่อ

ชาวอัฟกานิสถานต่างพยายามเดินทางหนีออกนอกประเทศ ที่มาภาพ: https://www.aljazeera.com/news/2021/8/22/at-least-7-killed-amid-chaos-near-kabul-airport-live

รัฐเอมิเรตตอลิบาน (The Taliban Emirate) ตั้งขึ้นมาในปี 1996 แต่เมื่อถึงปี 2001 กองกำลังสหรัฐฯ และกลุ่มต่อต้านอื่นๆ ในอัฟกานิสถาน ก็สามารถโค่นล้มอำนาจของกลุ่มตอลิบานลงได้อย่างง่ายดาย หลังจากนั้น ไม่มีใครคาดคิดว่าจะได้ยินคำว่าตอลิบานอีก แม้ในปี 2003 กลุ่มตอลิบานจะคืนชีพขึ้นมาต่อต้านรัฐบาลอัฟกานิสถาน แต่ก็ยากที่กลุ่มนี้จะสามารถท้าทายกำลังทหารของสหรัฐฯ และพันธมิตร

ในช่วง 20 ปีที่ผ่านมา (2001-2021) สหรัฐฯ ใช้เงินไปถึง 80 พันล้านดอลลาร์ ในการสร้างกองกำลังความมั่นคงของอัฟกานิสถาน ที่มีกำลังพลกว่า 300,000 คน แต่ในระยะเวลาอีกไม่กี่สัปดาห์ ที่กองกำลังสหรัฐฯ มีกำหนดจะถอนตัวออกจากอัฟกานิสถาน กองกำลังของตอลิบานที่มีกำลังทหารพียงแต่ 70,000 คน ก็เปิดยุทธการทางทหาร ยึดเมืองสำคัญๆ โดยแทบไม่มีการต่อต้านเลย และในวันอาทิตย์ที่ 15 สิงหาคม 2021 ก็สามารถเคลื่อนเข้ามายึดคาบูล เมืองหลวง

โจ ไบเดน ประธานาธิบดี สหรัฐอเมริกา ที่มาภาพ: https://www.facebook.com/POTUS/photos

แผนการถอนตัวของสหรัฐฯ

เมื่อกลางเดือนเมษายน 2021 ประธานาธิบดีโจ ไบเดน ประกาศว่า เนื่องจากสหรัฐฯ ได้บรรลุภารกิจที่จะไม่ให้อัฟกานิสถานเป็นที่หลบภัยของกลุ่มผู้ก่อการร้ายมานานแล้ว กำลังทหารสหรัฐฯ ทั้งหมดจะถอนตัวออกจากอัฟกานิสถานในวันที่ 11 กันยายน โจ ไบเดน ยังกล่าวว่า สงครามที่ดำเนินมานานเกือบ 20 ปี พิสูจน์แล้วว่า กำลังทหารสหรัฐฯ ไม่สามารภเปลี่ยนประเทศนี้ให้มีประชาธิปไตยที่ทันสมัยและมั่นคง

The Washington Post ฉบับวันที่ 20 สิงหาคม 2021 รายงานว่า หลังจากตัดสินใจที่จะยุติสงครามอัฟกานิสถานแล้ว โจ ไบเดน แจ้งอย่างชัดเจนแก่กระทรวงกลาโหมสหรัฐฯ ว่า ความสำคัญอันดับแรกคือ ให้เกิดการเสียชีวิตน้อยที่สุดแก่สหรัฐฯ จุดนี้ทำให้การถอนตัวของสหรัฐฯ ออกจากอัฟกานิสถานต้องเกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว

แผนการถอนตัวอย่างรวดเร็ว รวมถึงการปิดฐานทัพอากาศบากรัม (Bagram) อย่างเงียบๆ ในต้นเดือนกรกฎาคม เพื่อมาอาศัยสนามบินนานาชาติฮามิดคาไซของกรุงคาบูล เพราะสถานทูตสหรัฐฯ และพันธมิตรต้องอาศัยสนามบินคาบูล เนื่องจากฐานทัพอากาศบากรัมอยู่ห่างจากคาบูล 35 ไมล์

ฐานทัพอากาศบากรัมเป็นศูนย์กลางปฏิบัติการทางทหารของสหรัฐฯ ในอัฟกานิสถาน ประกอบด้วย 2 ลานบิน โรงพยาบาลสนาม 50 เตียง และ “คุกลับ” ที่มีชื่อเสียง ทหารสหรัฐฯ หลายหมื่นคนเคยประจำการที่สนามบินแห่งนี้ เมื่อสหรัฐฯ ถอนตัวออกจากฐานทัพแห่งนี้ ได้ทิ้งอุปกรณ์ต่างๆ ไว้ถึง 3.5 ล้านชิ้น ที่มีการจำแนกประเภทต่างๆ ไว้อย่างดี เช่น เฟอร์นิเจอร์ อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ อาวุธขนาดเบา รถยนต์ และรถหุ้มเกาะหลายพันคัน อุปกรณ์เหล่านี้ สหรัฐฯต้องการจะทิ้งไว้ให้กับกองกำลังความมั่นคงของอัฟกานิสถาน หลังจากทหารสหรัฐฯ ถอนออกไปอย่างเงียบๆ จากฐานทัพบากรัน ก็เกิดการบุกเข้าไปปล้นสนามบิน

เปรียบเทียบการถอนตัวของโซเวียต

บทความของ New York Times เรื่องการเปรียบเทียบการถอนทหารโซเวียตและสหรัฐฯออกจากอัฟกานิสถาน กล่าวว่า สะพานข้ามแม่น้ำ Amu Darya ที่แบ่งระหว่างอัฟกานิสถานกับอุซเบกิสถาน กลายมาเป็นฉากการสู้รบในอัฟกานิสถานขึ้นมาอีกครั้งหนึ่ง เมื่อกลางเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา กองกำลังความมั่นคงของรัฐบาลอัฟกานิสถาน ถอยออกจากเมือง Mazar-i-Sharif และข้ามสะพานแห่งนี้ เพื่อไปลี้ภัยที่ฝั่งแม่น้ำตรงกันข้าม

ที่มาภาพ : https://en.wikipedia.org/wiki/Afghanistan%E2%80%93Uzbekistan_Friendship_Bridge

เมื่อ 32 ปีที่แล้ว สะพานชื่อ Friendship Bridge แห่งนี้ เคยเป็นเส้นทางสุดท้าย ที่กองทัพของอดีตสหภาพโซเวียต ถอนตัวออกจากอัฟกานิสถาน ในวันที่ 15 กุมภาพันธ์ 1989 รถหุ้มเกราะที่ปักธงแดงได้แล่นข้ามสะพานแห่งนี้ เหตุการณ์ครั้งนั้นเป็นสัญลักษณ์การถอนตัวของกองทัพมหาอำนาจอย่างโซเวียต หลังจากบุกเข้ามายึดครองอัฟกานิสถานและพ่ายแพ้ในที่สุด Alexander Cooley จากมหาวิทยาลัย Columbia กล่าวว่า สะพาน Friendship คือสัญลักษณ์ทางทหารในการแทรกแซง และถอนตัวของมหาอำนาจ

สหภาพโซเวียตมีบทบาทในการยึดครองในอัฟกานิสถานมากกว่าสหรัฐฯ แม้ระยะเวลาการยึดครองจะน้อยกว่า โซเวียตสร้างสะพานแห่งนี้เมื่อปี 1982 เพื่อทำให้ระบบส่งกำลังบำรุงคล่องตัว แก่กำลังทหารที่สู้รบอยู่ในอัฟกานิสถาน ชื่อเป็นทางการคือ “สะพานมิตรภาพ อุซเบกิสถาน-อัฟกานิสถาน” ส่วนน้ำในแม่น้ำ Amu Darya มาจากการละลายของธารน้ำแข็ง จากเทือกเขาฮินดูคุช (Hindu Kush) ฐานทัพอากาศบากรัมทางเหนือของคาบูล ก็สร้างโดยโซเวียต

ภาพทหารโซเวียตออกจากอัฟกานิสถาน เมื่อกุมภาพันธ์ 1989 ที่มาภาพ: https://en.wikipedia.org/wiki/Soviet_withdrawal_from_Afghanistan

การถอนทหารของโซเวียตออกจากอัฟกานิสถาน เป็นไปอย่างเป็นระเบียบ เมื่อรถหุ้มเกราะเคลื่อนมาถึงกลางสะพาน Friendship นายพล Boris Gromov ผู้บัญชาการทหารของโซเวียต ก้าวออกจากรถหุ้มเกราะ และเดินออกมารับช่อดอกไม้จากบุตรชายของเขา ท่ามกลางการจับตามองของบรรดาสื่อมวลชนทั่วโลก นายพล Gromov ประกาศว่า “ไม่มีทหารโซเวียตอยู่ข้างหลังข้าพเจ้าอีกแล้ว”

ผลกระทบต่อบทบาทสหรัฐฯ

บทความของ Washington Post อ้างคำพูดของนาย Josep Borrell หัวหน้าฝ่ายต่างประเทศของ EU ที่กล่าวต่อรัฐสภายุโรปว่า

“ตัวเองขอกล่าวอย่างชัดเจนตรงไปตรงมาว่า สิ่งนี้คือหายนะภัย”

นักการเมืองและผู้กำหนดนโยบายทั่วยุโรปแสดงความผิดหวัง ที่กลุ่มตอลิบานสามารถยึดครองอัฟกานิสถานได้ทันทีทันใด หลังจากที่สหรัฐฯ ถอนทหารออกไป

พันธมิตรองค์การนาโต้ในยุโรป ได้ลงทุนค่อนข้างมาก ทั้งกำลังคนและทรัพยากรในสงครามที่นำโดยสหรัฐฯ และในโครงการสร้างชาติของอัฟกานิสถาน แต่เวลานี้ คนยุโรปตกตะลึงที่ดอกผลจากการลงทุนของยุโรปสูญหายไปในระยะเวลาไม่กี่วัน

ที่มาภาพ: dawn.com

Norbert Rottgen ประธานคณะกรรมาธิการต่างประเทศ รัฐสภาเยอรมนี กล่าวว่า สิ่งที่เกิดขึ้นสร้างความเสียหายในขั้นมูลฐาน ต่อความน่าเชื่อถือทางการเมืองและจริยธรรมของประเทศตะวันตก

บทความของ politico.eu กล่าวว่า บรรดาเจ้าหน้าที่ประเทศในยุโรปเห็นว่า การถอนตัวจากอัฟกานิสถานถือเป็นความผิดพลาดในระดับประวัติศาสตร์ อังเกลา แมร์เคิล นายกรัฐมนตรีเยอรมัน แม้จะเลี่ยงวิจารณ์ตรงๆ กับไบเดน แต่ในการแสดงความเห็นเป็นการภายใน เธอมองว่าการถอนตัวอย่างรีบเร่งคือความผิดพลาด โดยกล่าวกับที่ประชุมเจ้าหน้าที่พรรค Christian Democratic Union (CDU) ว่า สำหรับคนที่เชื่อในประชาธิปไตยและเสรีภาพ โดยเฉพาะกับสตรี สิ่งนี้คือเหตุการณ์ที่น่าขมขื่น

แม้ยุโรปโดยทั่วไปจะผิดหวังต่อเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในอัฟกานิสถาน แต่ความผิดหวังแสดงออกมาอย่างมากในเยอรมัน สำหรับเยอรมันแล้ว การเข้าร่วมปฏิบัติการทางทหารในอัฟกานิสถาน ไม่ใช่เพียงแค่การช่วยเหลือประเทศพันธมิตร หรือการสร้างชาติของอัฟกานิสถาน แต่เยอรมันต้องการพิสูจน์ต่อโลกว่าบทบาทของเยอรมันเปลี่ยนไปแล้ว เมื่อทหารเยอรมันเข้าไปอยู่ในอัฟกานิสถานแล้ว Peter Struck รัฐมนตรีกลาโหมบอกกับรัฐสภาเยอรมันว่า “ความมั่นคงของเยอรมัน ก็มาจากต่อสู้ป้องกันที่เกิดขึ้นที่เทือกขาฮินดูคุชเช่นกัน”

บทความของ politico.eu บอกอีกว่า เยอรมันลงทุนไปหลายพันล้านดอลลาร์ในอัฟกานิสถาน รับผู้อพยพหลายพันคนจากอัฟกานิสถาน ทหารเยอรมันประจำการอยู่ทางเหนือของอัฟกานิสถาน ที่ค่อนข้างสงบ แต่ทหารเยอรมันก็เสียชีวิตไปเกือบ 60 คน แต่การเข้าร่วมปฏิบัติการทางทหารในอัฟกานิสถาน ก็ยังเป็นเรื่องที่ถกเถียงกันอยู่ในเยอรมัน

ภาพยนตร์ทหารเยอรมันในอัฟกานิสถาน Inbetween Worlds ที่มาภาพ: https://en.wikipedia.org/wiki/

การถกเถียงดังกล่าวได้สะท้อนอยู่ในภาพยนตร์ชื่อ “Inbetween Worlds” ที่เป็นเรื่องราวระหว่างทหารเยอรมันกับล่ามแปลภาษาชาวอัฟกัน หลังจากรอดชีวิตจากการถูกซุ่มโจมตี นายทหารเยอรมันคนนี้พูดกับล่ามอัฟกันว่า “เราได้ทำอะไรที่ทำให้อะไรต่างๆ มันดีขึ้น หรือว่าจริงๆ แล้ว สิ่งที่ทำอยู่เป็นเรื่องที่สูญเปล่า”

เว็บไซต์ politico.eu สรุปว่า เมื่อมาถึง ณ เวลานี้ เยอรมันได้คำตอบแล้วว่า ได้อะไรจากการเข้าร่วมปฏิบัติการทางทหารในอัฟกานิสถาน

เอกสารประกอบ

White House orders for a speedy military withdrawal put pressure on beleaguered Afghans as the Taliban surged, 20 August 2021, washingtonpost.com
An Iconic Bridge Sees US Allies Flee Afghanistan as the Soviet Did, August 16, 2021, nytimes.com
Disbelief and betrayal: Europe reacts to Biden’s Afghanistan “miscalculation” August 17, 2021, politico.eu