ThaiPublica > เกาะกระแส > “ทัณฑสถานหญิงเชียงใหม่ ”เรือนจำต้นแบบ“ข้อกำหนดกรุงเทพ” คืนคนดีสู่สังคมอย่างยั่งยืน

“ทัณฑสถานหญิงเชียงใหม่ ”เรือนจำต้นแบบ“ข้อกำหนดกรุงเทพ” คืนคนดีสู่สังคมอย่างยั่งยืน

1 กุมภาพันธ์ 2018


วันที่ 25 มกราคม 2561 ที่ผ่านมา พระเจ้าหลานเธอ พระองค์เจ้าพัชรกิติยาภา ในฐานะทูตสันถวไมตรีด้านหลักนิติธรรมประจำภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ UNODC ทรงนำคณะทูตานุทูต ผู้แทนระดับสูงกรมราชทัณฑ์อาเซียน และผู้แทนองค์การระหว่างประเทศ ศึกษาดูงานการปรับปรุงทัณฑสถานหญิงเชียงใหม่ ที่มาภาพ : สถาบันเพื่อการยุติธรรมแห่งประเทศไทย(TIJ)

“ทัณฑสถานหญิงเชียงใหม่” เป็นหนึ่งในเรือนจำต้นแบบด้านการปรับปรุงเรือนจำตาม “ข้อกำหนดกรุงเทพ” (Bangkok Rules) หรือ “ข้อกำหนดสหประชาชาติว่าด้วยการปฏิบัติต่อผู้ต้องขังหญิงและมาตรการที่มิใช่การคุมขังสำหรับผู้กระทำผิดหญิง” ที่ได้รับการรับรองจากองค์การสหประชาชาติเมื่อปี 2553 ซึ่งเป็นแนวคิดริเริ่มจากพระดำริของพระเจ้าหลานเธอ พระองค์เจ้าพัชรกิติยาภา ที่ทรงเล็งเห็นความจำเป็นในการบริหารจัดการเรือนจำและผู้ต้องขังหญิงโดยคำนึงถึงสิทธิมนุษยชนที่ควรจะได้รับ

ทั้งนี้ ทรงร่วมกับหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง อาทิ สำนักงานป้องกันยาเสพติดและปราบปรามอาชญากรรมแห่งสหประชาชาติ (UNODC), กรมราชทัณฑ์ กระทรวงยุติธรรม, สถาบันเพื่อการยุติธรรมแห่งประเทศไทย (TIJ) ผลักดันให้มีการยกระดับมาตรฐานการปฏิบัติต่อผู้ต้องขังหญิงให้เป็นมาตรฐานเดียวกัน ด้วยการคำนึงถึงศักดิ์ศรีขั้นพื้นฐานของผู้ต้องขัง ปฏิบัติต่อผู้ต้องขังด้วยความเข้าใจและเห็นใจ ขณะเดียวกันได้มุ่งสร้างชุมชนที่ปลอดภัย ด้วยการเตรียมความพร้อมในการดำเนินชีวิตหลังพ้นโทษ

สำหรับทัณฑสถานหญิงเชียงใหม่ สามารถนำแนวทางดังกล่าวไปปฏิบัติได้ผลเป็นอย่างดีและมีประสิทธิภาพ ผ่านการประเมินการปฏิบัติของเรือนจำตามข้อกำหนดกรุงเทพ ที่ครอบคลุมตั้งแต่ระดับการกำหนดนโยบาย ไปจนถึงการปฏิบัติต่อผู้ต้องขังทั้งกระบวนการ จนได้รับการประกาศให้เป็น “เรือนจำต้นแบบ” เมื่อปี 2558

วันที่ 25 มกราคม 2561 ที่ผ่านมา พระเจ้าหลานเธอ พระองค์เจ้าพัชรกิติยาภา ในฐานะทูตสันถวไมตรีด้านหลักนิติธรรมประจำภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ UNODC ทรงนำคณะทูตานุทูต ผู้แทนระดับสูงกรมราชทัณฑ์อาเซียน และผู้แทนองค์การระหว่างประเทศ ศึกษาดูงานการปรับปรุงทัณฑสถานหญิงเชียงใหม่ ซึ่งเป็นโครงการศึกษาดูงานและสัมมนาวิชาการ “เสริมพลังแก่ชุมชนและสตรีกลุ่มเปราะบาง เพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน” จัดโดย UNODC ร่วมกับ TIJ ระหว่างวันที่ 25-27 มกราคม 2561

ทัณฑสถานหญิงเชียงใหม่ เดิมคือเรือนจำกลางเชียงใหม่ มีเนื้อที่ประมาณ 10 ไร่ ตั้งอยู่ตำบลช้างเผือก อำเภอเมือง จังหวัดเชียงใหม่ มีจำนวนผู้ต้องขังหญิงรวม 1,981 คน มีเจ้าหน้าที่หญิงดูแลจำนวน 75 คน โดยร้อยละ 80 ต้องโทษข้อหาคดียาเสพติด

ภายในเรือนจำ มีการปรับปรุงและการบริหารโดยคำนึงถึงความต้องการที่สอดคล้องกับเพศสภาพของผู้ต้องขังหญิง เริ่มตั้งแต่ขั้นตอนการรับตัว การจัดทำทะเบียนประวัติ การตรวจค้น การดูแลสุขภาพอนามัยและการเจริญพันธุ์ รวมทั้งการจัดโปรแกรมดูแลผู้ต้องขังกลุ่มเฉพาะ เช่น ผู้ต้องขังตั้งครรภ์ ชาวต่างชาติ ชนกลุ่มน้อย และผู้สูงวัย และการพัฒนาทักษะวิชาชีพ

มีการปรับปรุงเรือนจำด้านกายภาพให้มีความสะอาดสวยงาม มีอุปกรณ์ที่มีมาตรฐานซึ่งส่งผลโดยตรงต่อสุขภาวะทางกาย นอกจากนี้ยังมีโปรแกรมการปรับปรุงสภาพจิตใจและทัศนคติ มีการจัดโปรแกรมอบรมให้โอกาสทางการศึกษา มีห้องสมุดเปลี่ยนชีวิตเพื่อช่วยพัฒนาความรู้ มีกิจกรรมสันทนาการตามความชอบของแต่ละคน

โดยเฉพาะ Happy Center “ห้องเปลี่ยนชีวิต ที่บ่มเพาะแรงบันดาลใจ” ห้องที่จัดทำพิเศษเพื่อให้ผู้ต้องขังได้มาเรียนรู้ตนเอง ทั้งจากการแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกันภายในกลุ่ม และจากการพูดคุยกับนักสังคมสงเคราะห์หรือนักจิตวิทยา

ขณะเดียวกันยังมีการเตรียมความพร้อมก่อนปล่อยผู้ต้องขังคืนสู่สังคม ที่ตอบโจทย์ข้อกำหนดกรุงเทพได้เป็นอย่างดี โดยเส้นทางความสำเร็จของการเตรียมความพร้อมก่อนปล่อยตัว อยู่ที่การวางแผนอนาคตผู้ต้องขังรายบุคคลตั้งแต่ช่วงแรกรับ เพื่อให้การเปลี่ยนแปลงชีวิตของผู้ต้องขังในเรือนจำมีประสิทธิภาพ แล้วจึงกำหนดโปรแกรมการพัฒนาเป็นรายบุคคล

นอกจากนี้ยังมีโปรแกรมการฝึกอาชีพที่ครอบคลุมหลายสาขา ไม่ว่าจะเป็น อาหาร-เครื่องดื่ม, ขนมไทย-เบเกอรี่, นวดแผนไทย, ท้อผ้าไหม, ทอผ้าฝ้ายฯลฯ และเนื่องจากทัณฑสถานตั้งอยู่ในจังหวัดที่เป็นแหล่งท่องเที่ยว โปรแกรมการนวดแผนไทย งานด้านอาหาร และการบริการ จึงเป็นสาขาอาชีพที่ได้รับความสนใจเป็นพิเศษจากผู้ต้องขัง

ภายในเรือนจำยังจัดให้มีสถานที่สำหรับฝึกการปฏิบัติงานจริงให้กับผู้ต้องขัง โดยพวกเขาจะมีโอกาสได้ฝึกทั้งทักษะภาษา การบริการ และการปฏิบัติจริงเพื่อเสริมสร้างความมั่นใจก่อนก้าวสู่ชีวิตใหม่

ที่มาภาพ : สถาบันเพื่อการยุติธรรมแห่งประเทศไทย(TIJ)

พระเจ้าหลานเธอ พระองค์เจ้าพัชรกิติยาภา ทรงมีพระดำรัสตอนหนึ่งว่า “หลายปีที่ผ่านมา กรมราชทัณฑ์ของไทยและทัณฑสถานหญิงอีกหลายแห่งรวมถึงแห่งที่พวกเราเข้ามาเยี่ยมชมในวันนี้ ได้พยายามอย่างต่อเนื่องที่จะริเริ่มและดำเนินการปฏิรูประบบงานด้านการปฏิบัติและการฟื้นฟูผู้กระทำผิด การปฏิรูปต่างๆ นี้ช่วยยกระดับคุณภาพชีวิตของผู้ต้องขัง อีกทั้งยังมีส่วนสนับสนุนการบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนของสหประชาชาติในภาพรวมด้วย ซึ่งทำได้โดยอาศัยการตอบสนองความต้องการของผู้กระทำผิดในการกลับตัวเป็นคนดี ช่วยลดความเสี่ยงในการกระทำความผิดซ้ำหลังพ้นโทษไปแล้ว ซึ่งถือเป็นกลไกลหนึ่งในการป้องกันอาชญากรรม”

นางบุษบา ศักรางกูร ผู้อำนวยการทัณฑสถานหญิงเชียงใหม่ กล่าวว่า ข้อกำหนดกรุงเทพ เป็นแนวทางที่ทำให้การทำงานกับผู้ต้องขังหญิงมีความชัดเจน ตอบสากลได้ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของการเพิ่มประสิทธิภาพในการทำงาน หรือแม้แต่แนวทางในการจัดการ หรือการปฏิบัติต่อผู้ต้องขังในรูปแบบต่างๆ

คุณออย อดีตผู้ต้องขัง เล่าว่าตนเลือกที่จะเรียนอาชีพทุกอย่างที่อยู่ในเรือนจำ เพราะคิดว่าออกมาแล้วจะไม่เหลือใคร แล้วก็ไม่เหลือใครจริงๆ เราต้องเป็นที่พึ่งให้กับตัวเอง จะมัวมาอ่อนแอ หรือไม่รู้จักคิดก็คงจะไม่ได้

“มันอยู่ที่ความขยัน อยู่ความอดทนของเราเท่านั้นเอง แล้วมันก็จะไปได้ด้วยดี ก็ขอบคุณทุกๆท่าน เพราะว่า ณ ที่ตรงนั้น(ในเรือนจำ) ทุกคนจะมองว่าเป็นที่ที่ไม่ดี แต่สำหรับออย ออยได้สิ่งดีๆ จากที่นั่นเยอะมาก”

ขับเคลื่อนข้อกำหนดกรุงเทพ คืนคนดีสู่สังคม

นายเจเรมี ดักลาส ผู้แทน UNODC ประจำภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และแปซิฟิก กล่าวชื่นชมความมุ่งมั่นของพระเจ้าหลานเธอ พระองค์เจ้าพัชรกิติยาภา ในการปฏิบัติพระกรณียกิจ ในฐานะทูตสันถวไมตรีด้านหลักนิติธรรมสำหรับภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ของ UNODC ในการขับเคลื่อนข้อกำหนดกรุงเทพ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริมความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับหลักนิติธรรม

โดยการศึกษาจากตัวอย่างจริงซึ่งมีการดำเนินงานในประเทศไทย ทั้งในมิติด้านดูแลแก้ไขผู้กระทำผิด โดยคำนึงถึงความต้องการอันมีลักษณะเฉพาะของผู้ต้องขังหญิง และการเสริมสร้างศักยภาพในการทำประโยชน์ให้แก่สังคมและชุมชนเมื่อคนเหล่านี้กลับสู่สังคม ซึ่งจะก่อให้เกิดการพัฒนาอย่างยั่งยืน

พร้อมกันนี้ยังยกย่องความสำเร็จอันยอดเยี่ยมของทัณฑสถานหญิงเชียงใหม่ ที่นำข้อกำหนดกรุงเทพมาบังคับใช้อย่างเต็มรูปแบบ จนกลายเป็นหนึ่งในเรือนจำต้นแบบ เพื่อการศึกษาดูงานให้แก่กรมราชทัณฑ์อื่นๆ ทั้งในประเทศและภูมิภาคอาเซียน

นายเจเรมีกล่าวว่า การขับเคลื่อนข้อกำหนดกรุงเทพ สู่การเป็นเรือนจำต้นแบบของทัณฑสถานหญิงเชียงใหม่ ไม่ใช่เพียงการสนับสนุนด้านงบประมาณและการปฏิบัติทางเทคนิคเท่านั้น แต่การคืนคนดีกลับสู่สังคมนั้น ยังต้องมีความร่วมมือกันอย่างแน่นแฟ้นระหว่างภาครัฐและภาคเอกชน เพื่อให้มั่นใจได้ว่าจะมีพื้นที่ในสังคมสำหรับผู้หญิงที่เคยกระทำผิด กลับมาใช้ชีวิตกับครอบครัว ในสภาพแวดล้อมเดิม โดยไม่หวนไปกระทำผิดซ้ำอีก

ป้องกันอาชญากรรมด้วยมิติการ “พัฒนา”

ศาสตราจารย์พิเศษ ดร.กิตติพงษ์ กิตยารักษ์ ผู้อำนวยการ TIJ ที่มาภาพ : สถาบันเพื่อการยุติธรรมแห่งประเทศไทย(TIJ)

ศาสตราจารย์พิเศษ ดร.กิตติพงษ์ กิตยารักษ์ ผู้อำนวยการ TIJ กล่าวว่า ความร่วมมือระหว่าง TIJ และ UNODC ในครั้งนี้ มุ่งยกระดับประสิทธิภาพของกระบวนการยุติธรรมเพื่อรับมือกับอาชญากรรม และช่วยส่งเสริมประเทศสมาชิกองค์การสหประชาชาติ หน่วยงานที่เกี่ยวข้องอื่นๆ ในการสร้างศักยภาพ ผ่านข้อมูลทางวิชาการและเครือข่ายที่เข้มแข็ง

“ผมเชื่อว่าการสร้างความเชื่อมั่นมีความสำคัญต่อกระบวนการยุติธรรม และจะทำให้เราสามารถบรรลุเป้าหมาย ด้วยการพัฒนาสถาบันในกระบวนการยุติธรรมภายใต้กฎหมายให้มีประสิทธิภาพได้”

ส่วนความเชื่อมโยงระหว่างกระบวนการยุติธรรมและการพัฒนาอย่างยั่งยืน ควรเน้นถึงองค์ประกอบของการป้องกันอาชญากรรม ด้วยกลยุทธ์อันนำไปสู่การพัฒนาและการเยียวยาผู้ต้องหา กลยุทธ์ดังกล่าว คือขอบข่ายงานที่จะช่วยขยายขอบเขตของการแทรกแซงในกระบวนการยุติธรรมต่างๆ ที่นอกเหนือไปจากขอบเขตอันเป็นแบบแผน ด้วยการรวบรวมองค์ประกอบปัจจัยเสริม ทั้งด้านการพัฒนาระดับบุคคลและชุมชน ซึ่งกลยุทธ์ที่จะนำไปสู่การพัฒนานี้จะมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น ในการจัดการปัญหาอาชญากรรมหรือความรุนแรง หากมุ่งเป้าไปที่สาเหตุต้นตอของปัญหาที่เกิดขึ้น

ดร.กิตติพงษ์ ยังกล่าวว่า มีเหตุจูงใจหลายประการที่ผลักดันให้คนก่ออาชญากรรม ซึ่งส่วนมากมีสาเหตุมาจากสภาพแวดล้อม การเมือง สภาวะทางเศรษฐกิจ สังคม ความยากไร้ การขาดโอกาส รายได้ที่ไม่เพียงพอ ขณะที่รัฐบาลอาจมีนโยบายแผนพัฒนาแห่งชาติและเสริมสร้างความแข็งแกร่งของสถาบันต่างๆ แต่ก็ยังไม่สามารถขจัดปัญหาความขาดแคลนขององค์ประกอบในสังคมและที่นำไปสู่ความเหลื่อมล้ำต่างๆ ได้

“แต่จากการประชุมสามัญขององค์การสหประชาชาติ ได้ลงมติยอมรับ 2030 Agenda for Sustainable เมื่อปี พ.ศ. 2558 ซึ่งเป็นวาระในเวทีโลกเกี่ยวกับการพัฒนาวาระแรกที่ว่าด้วยสันติภาพ ความยุติธรรม ความเข้มแข็งของสถาบันต่างๆ และที่สำคัญยิ่งคือ บทบัญญัติกฎหมายที่เอื้อต่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน การพัฒนาอย่างยั่งยืนและระบบกระบวนการยุติธรรมควรดำเนินไปควบคู่กัน เนื่องจากระบบกระบวนการทางยุติธรรมที่มีศักยภาพ จะมารถขับเคลื่อนไปสู่ความพยายามที่จะก่อให้เกิดการพัฒนาอย่างยั่งยืนได้”

อย่างไรก็ตาม สภาวการณ์ที่มีความเหลื่อมล้ำ ขาดการพัฒนาทางเศรษฐกิจและสังคม มักเป็นสาเหตุพื้นฐานของการก่อความรุนแรงและอาชญากรรม กระบวนการทางยุติธรรมเพียงอย่างเดียวอาจไม่สามารถแก้ปัญหาได้

“เป็นที่ทราบกันดีว่า การป้องกันย่อมดีกว่าการแก้ปัญหา แต่เราจะป้องกันความรุนแรงและการเกิดอาชญากรรมได้อย่างไร และควรใช้นโยบายใดบ้าง ซึ่งคำตอบของคำถามเหล่านี้ไม่ใช่หน้าที่ของฝ่ายกระบวนการยุติธรรมเพียงฝ่ายเดียว หากแต่ผู้มีส่วนร่วมและผู้เกี่ยวข้องในทุกภาคส่วน ตลอดจนสถาบันต่างๆ จะต้องร่วมมือร่วมใจกัน”

ผู้อำนวยการ TIJ กล่าวด้วยว่า สำหรับประเทศไทย เด็กและสตรีมักเป็นกลุ่มเสี่ยง ซึ่งไม่ใช่เพียงด้านความเหลื่อมล้ำทางโครงสร้าง แต่ยังเป็นในด้านความรุนแรงด้วย จากผลการศึกษาวิจัยโดย TIJ ที่ได้สำรวจผู้ต้องขังในทัณฑสถานหญิงที่เคยมีประสบการณ์การถูกทารุณกรรมทางเพศ ทางร่างกาย หรือสภาวะจิตใจโดยคู่สมรส หรือสมาชิกในครอบครัว พบว่ามีกว่า 52%

นอกจากนี้ จากผลการวิจัยร่วมระหว่าง TIJ และ UNODC ในเรื่องของการค้ามนุษย์ที่ประเทศกัมพูชา ลาว เมียนมาร์และประเทศไทย พบว่าเหยื่อการค้ามนุษย์ที่เป็นผู้หญิงและเด็กจำนวนมาก ซึ่งมาจากชุมชนที่กันดารและยากไร้ ครอบครัวไม่มีที่ดินของตัวเองและมีหนี้สิน สิ่งเหล่านี้เป็นแรงผลักให้พวกเขาต้องอพยพเข้ามาทำงานเพื่อจุนเจือครอบครัว ทำให้เป็นกลุ่มเสี่ยงที่จะถูกแสวงหาประโยชน์โดยมิชอบ

ทั้งนี้ กลยุทธ์ที่จะลดจำนวนกลุ่มเสี่ยง คือนโยบายที่จะช่วยยกระดับการพัฒนาสภาพสังคมและเศรษฐกิจ ให้ทุกคนมีความเท่าเทียมกันในระดับโครงสร้าง และมีคุณภาพชีวิตที่ดีทัดเทียมกัน

นักอาชญาวิทยาหลายท่านได้มีการหารือในประเด็นที่ว่า จะสามารถการลดปัญหาความรุนแรงและคดีอาญาได้อย่างไร หากมูลเหตุมาจากสภาวะโครงสร้าง จากการศึกษาดูงานทัณฑสถานหญิงเชียงใหม่พบว่า เราควรมุ่งเน้นที่กลยุทธ์ที่นำไปสู่การพัฒนา โดยบ่งชี้ถึงสภาวะปัญหาที่เกิดขึ้นกับกลุ่มเสี่ยงที่นำไปสู่การก่ออาชญากรรม ซึ่งหมายถึงกลุ่มผู้ต้องขัง กลุ่มคนรายได้น้อย และคนในชนบทห่างไกลและยากไร้

นอกจากนี้ยังมีกลยุทธ์ที่ใช้จะให้ประชาชนเป็นแกนกลาง และยกระดับความปลอดภัยและการพัฒนาประชากร อันนำไปสู่การฝึกอบรมทักษะอาชีพเพื่อให้ได้รับโอกาสในการจ้างงาน ส่งเสริมความเท่าเทียมระหว่างเพศ และช่วยให้เด็กๆ เติบโตท่ามกลางสภาพแวดล้อมที่ปลอดภัย ท่ามกลางความสัมพันธ์อันมั่นคงในครอบครัว เพื่อลดโอกาสที่เด็กและผู้หญิงจะถูกกระทำรุนแรง รวมถึงปรับเปลี่ยนกระแสทางสังคมและวัฒนธรรมให้เป็นไปในทางที่ดีขึ้น

หัวใจหลักของเป้าหมายในการพัฒนาอย่างยั่งยืน หรือ SDGs นั้นคือคำมั่นสัญญาว่า จะไม่มีใครถูกทิ้งไว้เบื้องหลัง ซึ่ง “ไม่มีใคร” นี้ไม่ได้หมายถึงเพียงแค่ผู้หญิง เด็ก หรือกลุ่มเสี่ยงเท่านั้น แต่หมายถึงผู้ชายเช่นกัน เพราะทุกคนควรได้รับโอกาสที่จะร่วมมือ กันสร้างสังคมที่มีความปลอดภัยยิ่งขึ้น

“ขอบข่ายงานที่นำไปสู่การพัฒนาจะเป็นประโยชน์ ก็ต่อเมื่อเราสามารถระบุถึง องค์ประกอบที่เกี่ยวเนื่องและลงมือดำเนินการอย่างจริงจังมากพอ ซึ่งยังคงมีความท้าทายต่อเนื่อง แต่ผมเชื่อว่าหากเราได้มีการแบ่งปันประสบการณ์และเข้าไปมีส่วนร่วม ซึ่งจะเป็นข้อพิสูจน์ว่าเป็นแนวทางที่มีประสิทธิภาพ ก็จะก่อให้เกิดผลสำเร็จได้”

สัมมนาวิชาการ “เสริมพลังแก่ชุมชนและสตรีกลุ่มเปราะบาง เพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน” จัดโดย UNODC ร่วมกับ TIJ ระหว่างวันที่ 25-27 มกราคม 2561 ที่มาภาพ : สถาบันเพื่อการยุติธรรมแห่งประเทศไทย(TIJ)

การให้ความสำคัญกับเพศภาวะของผู้ต้องขังหญิง

ดร.มิวะ คาโต ผู้อำนวยการ UN WOMEN ภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก กล่าวว่า การพัฒนา คุณภาพชีวิตของผู้ต้องขังหญิงซึ่งเป็นกลุ่มเปราะบาง เช่นในประเทศไทย สามารถ ผลักดันเรื่องข้อกำหนดกรุงเทพได้อย่างดีเยี่ยม แต่ที่ควรพิจารณามากกว่านั้น คือจะทำ อย่างไรถึงจะป้องกันไม่ให้ผู้หญิงเข้ามาสู่เรือนจำได้

แม้ว่าจะมีนักโทษหญิงในสัดส่วนที่น้อยเมื่อเทียบกับประชากร แต่ในช่วง 15 ปีที่ผ่าน มา สัดส่วนของผู้ต้องขังหญิงมีอัตราเพิ่มขึ้นถึง 50% สังคมจึงควรพิจารณาจากการตั้ง คำถามว่า การกระทำในลักษณะใดจึงจะถือเป็นอาชญากร เพราะผู้ต้องขังจำนวนมากต้องโทษจำคุกเนื่องมาจากการถูกปฏิบัติอย่างไม่เท่าเทียม ปัญหาความรุนแรง ปัญหาพื้นฐานที่ผลักให้พวกเขาต้องเข้าไปอยู่ในเรือนจำ เราจึงต้อง มองปัญหาให้ลึกลงไปถึงรากเหง้าของปัญหา

“ต้องเปลี่ยนมุมมองต่อผู้หญิง สร้างวัฒนธรรมแห่งการเคารพต่อกัน เราควรเริ่มคุยกันว่า จะทำอย่างไรให้มีผลในทางนโยบาย ทำอย่างไรให้จึงจะสามารถเพิ่มขีดความสามารถ หรือศักยภาพของผู้หญิงมากขึ้นได้ เราควรคิดว่าจะผลักดันอย่างไรต่อไปให้เกิดกระแสสังคม การอภิปรายในวงกว้าง เพื่อนำความเปลี่ยนแปลงมาสู่สังคม ประเทศไทยถือว่าเป็นผู้นำ ซึ่งเห็นได้จากการเปลี่ยนแปลงคุณภาพเรือนจำที่เชียงใหม่ เราเห็นแบบอย่างที่ดีที่นี่ แต่อาจไม่เป็นอย่างนี้ในที่อื่นๆ จึงหวังว่าจะเกิดการอภิปรายที่นำไปสู่การปฏิบัติได้จริง ทำให้สังคมเห็นสอดคล้องในเรื่องการร่วมกันลดอาชญากรรม”

บทบาทกระบวนการยุติธรรมทางอาญา คืนคนดีสู่สังคมอย่างยั่งยืน

นายวิศิษฏ์ วิศิษฏ์สรอรรถ ปลัดกระทรวงยุติธรรม กล่าวว่า การผลักดันข้อกำหนดกรุงเทพที่ผ่านไปถึงระดับนโยบาย จะทำให้เกิดความยั่งยืน ซึ่ง TIJ ได้ทำหน้าที่อย่างดีในการผลักดันเรื่องนี้ โดยเป็นส่วนหนึ่งของเคพีไอของกรมราชทัณฑ์ และส่วนหนึ่งของกระบวนการยุติธรรมสำหรับเด็กและเยาวชน

การเข้าไปใช้ชีวิตในเรือนจำไม่ใช่ปลายทาง แต่เป็นจุดเริ่มต้นของการใช้ชีวิตในสังคมและด้วยคอนเซ็ปต์ของ reintegration จำเป็นต้องเปลี่ยนมุมมอง ทุกภาคส่วนต้องเข้ามีส่วนร่วม ไม่มีใครที่ไม่ดีมาแต่ต้น

ปลัดกระทรวงยุติธรรม กล่าวว่า เป้าหมายหลักของกระทรวงยุติธรรมในขณะนี้ คือลดการกระทำผิดซ้ำ การพัฒนาคุณภาพชีวิต ซึ่งไม่ได้มีรูปแบบใดรูปแบบหนึ่งโดยเฉพาะ แต่ด้วยจำนวนผู้ต้องขังกับสัดส่วนของจำนวนเจ้าหน้าที่ ไม่มีทางเลยที่จะทำแผนสำหรับผู้ต้องขังแต่ละคน ซึ่งเรื่องนี้ความก้าวหน้าของเทคโนโลยีสามารถช่วยได้

ส่วนการแก้ไขจะเริ่มมีการใช้ big data ใช้โมเดลเพื่อระบุปัญหาที่ชัดเจนว่า อะไรเป็นสาเหตุทำให้พวกเขาต้องกลับเข้ามาใช้ชีวิตในเรือนจำอีกครั้ง แต่สาเหตุบางประเด็นก็เด่นชัดโดยไม่ต้องอาศัยการวิเคราะห์ข้อมูลจากบิ๊กดาต้า เช่น ปัญหาความยากจน
ด้านการฝึกอาชีพ ต้องมองไปไกลๆ ต้องแน่ใจว่าอาชีพที่ฝึกเหมาะกับเขา และสามารถนำไปประกอบอาชีพได้ในอนาคตได้จริงๆ เช่น การประกอบธุรกิจร้านกาแฟ ก็ต้องเชื่อมโยงกับการใช้ชีวิตของคนข้างนอกด้วย

นอกจากนี้ สิ่งที่บางคนขาดอาจไม่ใช่แค่ทักษะอาชีพ บางคนขาดการศึกษา บางคนอาจประสบปัญหาเรื่องสภาพจิตใจ ต้องเปลี่ยน mindset ของเขา บางกรณีเช่น การดำเนินงานด้านเยาวชน เราต้องให้การศึกษาคนที่อยู่ในเรือนจำ ดีกว่าตอนที่เขาอยู่ข้างนอก ไม่เช่นนั้นก็จะไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลงเขา

“เราคาดหวังว่า กระบวนการตั้งแต่เชิงนโยบาย การตั้งเป็นเคพีไอ การเปลี่ยน mindset ของภาคส่วนต่างๆ ที่เกี่ยวข้องในกระบวนการยุติธรรม จะพยายามผลักดันให้เกิดผลอย่างเป็นรูปธรรม และเป็นจุดเริ่มของการเปลี่ยนแปลง”

การฝึกอาชีพสำหรับผู้ต้องขังหญิง ที่มาภาพ : สถาบันเพื่อการยุติธรรมแห่งประเทศไทย(TIJ)
ที่มาภาพ : สถาบันเพื่อการยุติธรรมแห่งประเทศไทย(TIJ)
ที่มาภาพ : สถาบันเพื่อการยุติธรรมแห่งประเทศไทย(TIJ)